ปริเฉทที่ ๑๑
โพธิสัตว์จริยาวรรค
ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับแสดงพระสัทธรรม ณ อัมพปาลีวันอันเป็นรมณียสถาน บัดดลถนาสณฑ์นั้นก็บังเกิดมหัสจรรย์แปรเปลี่ยนเป็นภูมิภาพอันแล้วด้วยวิจิตราลงกตพิศาลลักษณ์เลิศเลอพสุธามณฑลอีกทั้งชนทั้งมวล ล้วนรุ่งเรืองด้วยกนกวรรณ ครั้งนั้นแล พระอานนทเถรเจ้าจึงกราบทูลถามพระบรมศาสดาว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ด้วยเหตุปัจจัยใดหนอ จึงมีศุภนิมิตเป็นปานนี้ปรากฏ สรรพสิ่งในไพรพนาสณฑ์นี้ จึงได้พิบูลย์อลงกรณ์ไพจิตรล้ำในฉับพลัน อีกทั้งสรรพชนเหล่านี้เล่า แต่ละล้วนวิโลวรรณโอภาสพระพุทธเจ้าข้า.” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ ศุภนิมิตที่สำแดงอยู่ ณ กาลบัดนี้ มีเหตุปัจจัยเนื่องมาจากวิมลเกียรติอุบาสกแลมัญชุศรีโพธิสัตว์พร้อมด้วยมหาชนซึ่งยกย่องนิยมเธอทั้ง ๒ แวดวงห้อมล้อม ต่างผูกจิตหมายจักมา ณ อุทยานนี้แล.”
ลำดับนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดีก็กล่าวกับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ว่า “ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ เราทั้งหลายจงไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน พร้อมทั้งพระโพธิสัตว์ผู้มาจากพหุสุคันธโลกธาตุเหล่านี้ จักได้มีโอกาสกระทำสักการบูชาในพระสุคตเจ้าพระองค์นั้น.”
พระมัญชุศรี ตอบว่า “สาธุ จงไปด้วยกันเถอะ บัดนี้เป็นการสมควรดีทีเดียว.”
ครั้นแล้ว วิมลเกียรติคฤหบดีจึงบันดาลด้วยอิทธาภิสังขาร นำมหาชนทั้งนั้น พร้อมด้วยสิงหาสนบัลลังก์ทั้งหมด ประดิษฐานบนฝ่าหัตถ์ขวาของท่านเอง แล้วไปเฝ้าพระตถาคตเจ้า ครั้นถึงที่ประทับแล้วจึงว่างมหาชนกับสิงหาสนบัลลังก์ลงยังแผ่นดิน เข้าไปอภิวาทน์พระบาทบงกชของพระสุคตเจ้าด้วยเศียรเกล้า กระทำประทักษิณ ๗ รอบ ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง แม้พระโพธิสัตว์ทั้งหลายต่างก็ละจากอาสนะของตนเข้าไปอภิวาทน์ พระบาทบงกชของพระสุคตเจ้าด้วยเศียรเกล้า กระทำประทักษิณ ๗ รอบ ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่งดุจกัน แม้บรรดาพระอรหันตสาวก ท้าวมหาพรหม ท้าวโกสีย์ ท้าวจตุโลกบาล ทวยเทพนิกรเป็นต้น นอกนี้ต่างก็ละจากอาสนะกระทำอภิวาทน์พระบาทบงกชของพระสุคตเจ้าด้วยเศียรเกล้า กระทำประทักษิณ ๗ รอบ ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสัมโมทนียกถากับมหาชนผู้มาเฝ้าพอสมควร แล้วจึงมีพุทธานุญาตให้ชนทั้งหลายนั่งยังอาสนบัลลังก์ของตน ๆ แล้วมีพุทธดำรัสกับพระสารีบุตรว่า
“ดูก่อนสารีบุตร เธอเห็นอภินิหารอันอิสระ ซึ่งบันดาลโดยพระโพธิสัตว์ ผุ้มหาบุรุษรัตน์ฤๅหนอแล.”
พระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ได้ประจักษ์แล้ว พระพุทธเจ้าข้า.”
“เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ?” ทรงตรัสถาม
พระสารีบุตร “ข้าแต่พระองค์ผู้ควรบูชา ข้าพระองค์เห็นว่าสิ่งทั้งนี้เป็นอจินไตย สุดที่ความคิดอ่านคาดประมาณของข้าพระองค์จักหยั่งทราบไปถึงได้ พระพุทธเจ้าข้า.”
ครั้งนั้น พระอานนท์จึงทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ได้กลิ่นสุคนธ์อันหอมหวนซึ่งมิเคยได้กลิ่นชนิดนี้มาก่อน กลิ่นสุคนธ์นั้นเป็นกลิ่นอะไรหนอแล ?”
ตรัสว่า “เป็นสุคันธชาติซึ่งเฟื่องฟุ้งออกมาจากขุมโลมาชาติ ณ สรีรกายแห่งพระโพธิสัตว์เหล่านี้.”
พระสารีบุตรจึงพูดกับพระอานนท์ว่า “อาวุโสอานนท์ ขุมโลมาชาติของผมก็พลอยมีสุคันธชาตินี้เหมือนกัน.”
พระอานนท์ถามว่า “ข้าแต่ท่านสารีบุตรผู้เจริญ อันสุคนธชาติดังกล่าวนี้มาแต่หนใดเล่า ?”
พระสารีบุตร “ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี เป็นผู้ไปนำภัตตาหารซึ่งเหลือจากพุทธบริโภค ณ พหุสุคันธโลกธาตุ มาให้พวกผมขบฉันที่คฤหาสน์ของท่าน ผู้ใดได้บริโภคทิพยกระยาหารนี้ ก็จักมีกลิ่นสุรภีออกจากขุมโลมาชาติทุกรูปนาม.”
พระอานนท์จึงหันมาถามท่านวิมลเกียรติว่า “ดูก่อนท่านคฤหบดีสุคันธชาตินี้ ยังจักตั้งมั่นอยู่โดยกาลเพียงใดหนอ ?”
ท่านวิมลเกียรติตอบว่า “จักตั้งอยู่ตราบถึงอาหารนี้ย่อยไปหมดแล้ว.”
ถาม “ก็ทิพยโภชน์ดั่งกล่าวนี้จักย่อยไปโดยกาลเพียงใดเล่า ?”
ตอบ “พลังโอชะแห่งทิพยาหารนี้ ตั้งอยู่ถึง ๗ ทิวาวาร ภายหลังจึงย่อยสลายไป อนึ่ง พระคุณเจ้าอานนท์ หากพระสาวกรูปใดผู้ยังมิได้เข้าถึงภูมิทัศนมรรค เมื่อบริโภคกระยาหารนี้ โอชฃะแห่งอาหารนั้นจักยังดำรงอยู่ตราบถึงสมัยที่พระสาวกรูปนั้นบรรลุทัศนมรรคภูมิ จึงย่อยละลายไป อนึ่ง พระสาวกรูปใดสำเร็จทัศนมรรคภูมิแล้ว เมื่อได้รับบริโภคกระยาหารทิพย์นี้โอชะแห่งอาหารนั้นจำดำรงอยู่ตราบถึงสมัยที่พระสาวกรูปนั้นได้บรรลุเจโตวิมุตติ อาหารนั้นจึงย่อยละลายไป ก็หรือว่าในบุคคลผู้ยังมิได้เกิดจิตปณิธานต่อมหายานธรรม หากได้บริโภคกระยาหารทิพย์นี้ โอชะแห่งอาหารนั้นก็จักยังดำรงอยู่ตราบถึงสมัยที่บุคคลนั้นได้บังเกิดจิตปณิธานในพุทธภูมิ อาหารนั้นจึงย่อยละลายไป อีกประการหนึ่งบุคคลใดที่มีจิตปณิธานในพุทธภูมิอยู่แล้ว แลได้มาบริโภคทิพยโภชน์นี้ โอชะแห่งอาหารนั้นก็จักยังดำรงอยู่ตราบถึงสมัยที่บุคคลนั้นได้บรรลุอนุตปาทธรรมกษานติ อาหารนั้นจึงย่อยละลายไป อนึ่ง บุคคลที่ได้สำเร็จอนุตปาทธรรมกานติแล้วแลมาบริโภคสุคันธโภชน์นี้ โอชะแห่งอาหารนั้นก็จักดำรงอยู่ตราบถึงสมัยที่บุคคลนั้นได้บรรลุเอกชาติปฏิพัทธภูมินั่นแล อาหารดังกล่าวจึงย่อยละลายไป พระคุณเจ้าอานนท์ผู้เจริญ อุปมาด้วยทิพยโอสถ ซึ่งมีนามว่าอุตตรรส บุคคลใดได้บริโภคเข้าไปแล้ว อานุภาพแห่งโอสถนั้นจักดำรงอยู่ตราบเท่าที่พิษโรคยังเหลือมีอยู่ในสรีระ เมื่อพิษสรรพโรคดับสูญสิ้นแล้ว โอสถดังกล่าวจึงย่อยละลายไปฉันใด อันว่าทิพยสุคันธาหารนี้ ก็มีอานุภาพระงับดับพิษอันเกิดแต่สรรพกิเลส เมื่อกิเลสดับสูญสิ้นแล้ว ทิพยโภชน์นี้ก็ย่อมละลายไป มีอุปไมยฉันนั้นแล.”
พระอานนท์ จึงกราบทูลพระบรมศาสดาว่า “อัศจรรย์ยิ่งนักแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อันทิพยสุคันธาหารนี้ สามารถทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจได้อย่างดียิ่ง.”
พระพุทธองค์ตรัสว่า “อย่างนั้น ๆ อานนท์ ยังมีพุทธเกษตรลางแห่งได้อาศัยรังสิโยภาสแห่งพระพุทธเจ้า ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจลางแห่งอาศัยหมู่พระโพธิสัตว์ ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจ ลางแห่งอาศัยบุรุษนิรมิตซึ่งพระพุทธเจ้าทรงนิรมิตขึ้น ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณีรยกิจก็มี ลางแห่งอาศัยต้นพระศรีมหาโพธิพฤกษ์ ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจก็มี ลางแห่งอาศัยต้นพระศรีมหาโพธิพฤกษ์ ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจก็มี ลางแห่งอาศัยกาสาวพัสตร์นิสีทนะสันถัตเครื่องอุปโภคของพระพุทธเจ้า ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจก็มี ลางแห่งอาศัยพุทธภัตตาหาร ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรรียกิจก็มี ลางแห่งอาศัยวโนทยานทิพยมณฑิราลัยสถาน ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจก็มี ลางแห่งอาศัยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ แลอนพยัญชนะ ๘๐ ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจก็มี ลางแห่งอาสัยพระพุทธสรีรกาย ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจก็มี ลางแห่งอาศัยอากาศ ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจก็มี สุดแต่ว่าอธิมุตติของสรรพสัตว์จะสมควรแก่เหตุปัจจัยเครื่องชักจูงอย่างไรอันจักเป็นเหตุให้เข้าถึงภูมิแห่งสีลสมาจาร ก็ย่อมปรากฏโดยสภาวธรรมนั้น ๆ ลางแห่งอาศัยความฝัน มายา เงา เสียง ภาพในกระจก ดวงจันทร์ ในท้องน้ำ พยับแดด อุปไมยธรรมต่าง ๆ โดยอเนกหลายหลากอย่างนี้ ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจ ลางแห่งอาศัยสำเนียงจำนรรจาโวหารอัขรบัญญัติ ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจ ฤๅอาศัยความสงัดเงียบปราศจากศัพท์สำเนียงใด ๆ ไม่มีการพูด ไม่มีการแสดง ไม่มีวิญญาณ ทางอายตนะ ไม่มีการกระทำ ไม่มีการปรุงแต่งทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจ ด้วยประการฉะนี้แล อานนท์ สรรพพุทธอิริยาบถทั้งหลาย อีกทั้งการกระทำของพระพุทธะทั้งปวง ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยที่จักไม่เป็นการทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจ.”
“ดูก่อนอานนท์ แม้มารทั้ง ๔ ประเภท แลกิเลส ๘๔,๐๐๐ ประการ อันยังปวงสัตว์ให้เหนื่อยล้าซบเซา แต่สำหรับกับพระพุทธะทั้งหลายไซร้ กิเลสเหล่านี้กลับเป็นเครื่องมืออาศัยทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจ นี้แลชื่อว่าการเข้าสู่ประตูธรรมแห่งสรรพพุทธะทั้งปวง อันพระโพธิสัตว์ใดเข้าสู่ประตูธณรมดั่งกล่าวมานี้ มาตรจักได้ทัศนาเห็นความวิสุทธิไพบูลย์แห่งพุทธเกษตร ก็ย่อมไม่ก่อเกิดความปรีดา ไม่บังเกิดความละโมบ ไม่มีความรู้สึกอติมานะทระนงภาคภูมิ ฤๅโดยประการตรงกันข้าม หากจักได้ทัศนาเห็นพุทธเกษตรที่เศร้าหมองไม่ผ่องแผ้วสะอาดหมดจด ก็ย่อมไม่เกิดความโทมนัส ไม่บังเกิดความขัดข้องแห่งจิต ไม่มีความรู้สึกเอือมระอาหน่ายแหนง แต่พระโพธิสัตว์นั้น ย่อมตั้งจิตอันสะอาดผ่องใส ประกอบด้วยความปสาทะ เคารพนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าทั้งปวงโดยเสมอกัน มีความรู้สึกว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมมีพระคุณเสมอกัน แต่ด้วยกุศโลบายในการโปรดสัตว์ จึงทรงสำแดงพุทธเกษตรให้แตกต่างออกไปเท่านั้น.”
“อานนท์! เธอเห็นจำนวนปริมาณแห่งพุทธเกษตรทั้งหลายได้อยู่แต่จักเห็นจำนวนปริมาณของอากาศความว่างเปล่าย่อมไม่ได้ เช่นเดียวกับที่เธอเห็นจำนวนปริมาณแห่งพระสรีรรูปของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ แต่จักเห็ฯจำนวนปริมาณของพระคุณมีพระปัญญาคุณ อันปราศจากขอบเขตของพระพุทธเจ้าทั้งปวงย่อมมิได้ ดูก่อนอานนท์ อันพระพุทธกายทั้งหลายอานุภาพ พุทธวงศ์ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ พละอภยะ อเวณิกธรรม มหาเมตตา มหากรุณา วัตตสมาจาร กับทั้งพระชนม์ชีพ การแสดงพระสัทธรรมวิสุทธิอลังการพุทธเกษตร ความสมบูรณ์ในธรรมแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าย่อมมีฐานะเสมอเท่ากันทั้งหมด เพราะเหตุนั้นแลจึ่งได้พระนามว่า สัมมาสัมพุทธะ พระนามว่า ตถาคตะ รพนามว่า พุทธะอานนท์! หากเราจักอธิบายความหมายแห่งพระนามทั้ง ๓ นี้โดยพิสดารไซร้ แม้อายุของเธอจักยืนอยู่เป็นกัลป์ ๆ ก็ยังไม่สามารถจักสดับฟังได้จบสิ้นถึงมาตรว่าสรรพสัตว์ในมหาตรีสหัสสโลกธาตุ มีคุณธรรมเช่นเดียวกับเธอคือเป็นเอตทัคคะทางพหูสูต มีสติจำทรงอย่างเยี่ยมยอด แลสัตว์ทั้งหลายนี้ล้วนมีอายุยืนเป็นกัลป์ ๆ ก็ยังมิสามารถจักสดับฟังได้จบสิ้น ด้วยประการฉะนี้แล อานนท์! พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึ่งไม่มีประมาณไม่มีขอบเขต พระปัญญาปฏิภาณของพระพุทธเจ้าจึ่งเป็นอจินไตย.”
พระอานนทเถรเจ้ากราบทูลพระบรมศาสดาว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นับตั้งแต่กาลบัดนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์มิอาจสำคัญตนเองว่า เป็นบุคคลผู้พหูสูตอีกแล้ว พระพุทธเจ้าข้า.”
พระพุทธองค์จึงมีพระดำรัสว่า “สำแดงอานนท์ เธออย่าได้มีจิตท้อถอยอย่างไรเกิดขึ้นเลย อันตัวเธอนั้นเป็นเอตทัคคะพหูสูตบุคคลในหมู่แห่งพระสาวกทั้งหลาย มิได้หมายถึงในหมู่แห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายด้วยเลย เธอจงระงับมนสิการนั้นเสียเถิด ดูก่อนอานนท์ บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมไม่คิดประมาณหยั่งภูมิแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายเลย อันห้วงมหาสมุทรที่ล้ำลึกทั้งปวง ยังเป็นฐานะที่จักประมาณหยั่งเอาได้ แต่ภูมิของพระโพธิสัตว์มีฌานสมาบัติ ปรัชญา ธารณี ปฏิภาณ พร้อมด้วยคุณสมบัติหลากหลาย ย่อมไม่เป็นฐานะที่จักประมาณหยั่งเอาได้เลย อานนท์! พวกเธอทั้งหลายเป็นผู้สละคืนซึ่งโพธิสัตว์จริยาเสียหนอ โดยประการดังนี้วิมลเกียรติอุบาสกจึงได้สำแดงอานุภาพแห่งคุณาภินิหารให้เป็นไปปรากฏอยู่ซึ่งพระอรหันตสาวกทั้งหลาย พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้าทั้งหลายในกัลป์นับด้วยร้อยเป็นอเนก นับด้วยพันเป็นอเนก ต่างพยายามสำแดงอภินิหารอย่างถึงขีดสุด ก็ยังมิอาจกระทำสำแดงให้เป็นนั้นได้.”
ครั้งนั้นแล บรรดาพระโพธิสัตว์ที่มาจากพหุสุคันธพุทธเกษตรต่างพากันกระทำอัญชลีศิราภิวาทพระบาทพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลขึ้นว่า
“ข้าแต่พระสุคต กษณะแรกเมื่อข้าพระองค์ทั้ง ๒ ได้มาทัศนาโลกธาตุนี้ ก็บังเกิดความรู้สึกนึกหมิ่นแคลนในภูมิสถานดังกล่าว แต่ครั้นมาบัดนี้สิ ข้าพระองค์ทั้งหลายต่างสำนึกว่า จินตนาการเห็นปานนั้นเป็นความผิดไม่บังควรอย่างยิ่ง จึงได้สละมนสิการนั้นเสีย ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ก็เพราะว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมมีอุปายโกศลอันเป็นอจินไตย แต่เพื่อโปรดสรรพสัตว์และเพื่อให้เหมาะกับอธิมุตติอัฐฌาสัยของส่ำสัตว์นั้นจึงทรงสำแดงให้สำเร็จเป็นพุทธเกษตร ผิดแปลกแตกต่างกันออกไป โอ้ข้าแต่พระองค์ผู้ควรบูชา ขอพระองค์ทรงพระกรุณาประสาธน์ธรรมานุศาสน์แม้เพียงส่วนน้อยให้แก่ข้าพระองค์ทั้งปวง เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายนิวัตคืนสู่โลกาตุที่อาศัยแล้ว จักได้เป็นพุทธานุสสติอนุสรณ์รำพึงถึงพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า.”
พระผู้มีพระภาค จึงมีพุทธบรรหารว่า
“มีวิมุตติธรรมทวารบท ว่าด้วยอันตธรรมแลอนันตธรรม อันพวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกศึกษาไว้ ก็อันตธรรมนั้นเป็นไฉนเล่า ? บรรดาสังขตธรรมทั้งปวง ชื่อว่าอันตธรรม อนันตธรรมนั้นเป็นฉันใด ? กล่าวคืออสังขตธรรมนั่นเอง ชื่อว่าอนันตธรรม.”
“บุคคลผู้เป็นโพธิสัตว์ ย่อมไม่สละสังขตธรรมจนหมดสิ้น ในขณะเดียวกันก็ย่อมไม่ยึดถือตั้งอยู่ในอสังขตธรรม คำใดซึ่งตถาคตกล่าวว่าไม่สละสังขตธรรมจนหมดสิ้นนั้นเป็นไฉน ? อธิบายว่า พระโพธิสัตว์ย่อมมีจิตไม่ห่างจากมหาเมตตา ไม่เว้นจากมหากรุณา มีจิตปณิธานมุ่งต่อสรรเพชุดาญาณอย่างลึกซึ้งเสถียรภาพ บ่ห่อนจักได้หลงลืมคืนคลาย อนึ่งพระโพธิสัตว์ย่อมมุ่งแสดงธรรมสั่งสอนสรรพสัตว์ โดยบังเกิดความเหนื่อยหน่ายเอือมระอาใด ๆ ย่อมปฏิบัติตนในสังคหวัตถุธรรมเป็นนิรันดร์ย่อมอภิบาลรักษาพระสัทธรรมให้โรจนาภาสโดยจิรายุกาล มิเสียดายแม้กระทั่งชีวิตของตน อนึ่งเล่า ย่อมมีพิริยะอาจหาญบำเพ็ญสร้างสมสรรพกุศลินทรีย์โดยมิท้อแท้ ตั้งหฤทัยธำรงมั่นในอุดมคติไม่วิจละคลอนแคลนใด ๆ พระโพธิสัตว์นั้นย่อมอุทิศมุ่งต่อพระโพธิญาณด้วยปัญญาโกศล หมั่นศึกษาเรียนเล่าในพระสัทธรรมโดยมิเกียจคร้าน แสดงธรรมแก่ผู้อื่นโดยปราศจากธรรมมัจฉริยะ แลย่อมเพียรถวายสักการบูชาในพระพุทธเจ้าทั้งหลายมิเชือนแช เมื่อพระโพธิสัตว์ใดปฏิบัติได้ พระโพธิสัตว์นั้นย่อมไม่บังเกิดความเกรงขามต่อชาติแลมรณะ ไม่บังเกิดโสมนัสฤๅโทมนัสในยามเสวยอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ และไม่บังเกิดความดูแคลนต่อบุคคลผู้ยังมิได้ศึกษา แต่จักให้ความเคารพ ประหนึ่งว่าเขาเป็นพระพุทธพระองค์หนึ่งฉะนั้น สัตว์เหล่าใดตกเป็นกิเลสทาส พระโพธิสัตว์ย่อมชักนำให้สัตว์เหล่านั้นได้วิโมกข์สถิตอยู่ในสัมมาทัศนะ ผู้ใดประพฤติตนเป็นผู้ห่างไกลจากโลกิยสุข พระโพธิสัตว์ย่อมไม่สำคัญกว่านั่นเป็นจรรยาอันวิเศษ* พระโพธิสัตว์ย่อมไม่ถือประโยชน์สุขแห่งตนเป็นสำคัญ แต่จักมีมุทิตาจิตในความสุขของสรรพสัตว์เป็นสำคัญ.
อนึ่งเล่า พระโพธิสัตว์นั้นย่อมมนสิการว่า การเข้าสู่ฌานสมาบัติมีอุปมาฉันเดียวกันกับเข้าสู่ภูมินรก
________________________
* หมายความว่าผู้ที่สละโลกิยสุขเอาตัวรอดแต่ผู้เดียว ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์จะต้องทำหน้าที่ช่วยสัตว์ต่อไป ไม่ยอมมุ่งความพ้นทุกข์ส่วนตน.
แลความว่ายเวียนเกิดตายในสงสารสาครมีความสุขครุวนาเช่นการคมนาการสู่อุทยานอันแสนจะรื่นรมย์๑ ทัศนา
เห็นบุคคลผู้มาขอศึกษาธรรม ประหนึ่งเขาผู้นั้นมีฐานะเป็นครูบาที่ดีของเรา๒ พระโพธิสัตว์ย่อมสามารถสละสรรพสมบัติ ด้วยตั้งอยู่ในสรรเพชุดาญาณสัญญาโดยสมบูรณ์มิบกพร่อง ทัศนาเห็นบุคคลผู้ทุศีลอลัชชี พระโพธิสัตว์ย่อมเกิดความมุ่งมาด ที่จักอนุเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลนั้นให้กลับตนตั้งอยู่ในกุศลภูมิ.
อนึ่ง พระโพธิสัตว์ย่อมสำคัญสรรพบารมีธรรมเป็นประดุจชนกชนนีแลย่อมสำคัญว่า โพธิปักขิยธรรมทั้งหลายเป็นประดุจบริวารแวดล้อม มุ่งบำเพ็ญกุศลินทรีย์โดยไม่มีเขตสุด เอาสรรพไพจิตราลังการแห่งปวงวิสุทธิโลกธาตุ มาปรุงสำเร็จเป็นพุทธเกษตรแห่งตน บำเพ็ญอนันตบริจาคธรรม ยังศุภลักษณะให้ไพบูลย์ พระโพธิสัตว์นั้น ย่อมกำจัดอกุศลธรรมทั้งหลาย ยังกายทวาร วจีทวาร มโนทวาร ให้สะอาดหมดจด มีความแกล้วกล้าอาจหาญย่นย่อต่อการเวียนเกิดเวียนตายในกัลป์ อันเป็นปอระไมยเพื่อโปรดสรรพสัตว์ อนึ่ง ครั้นได้สดับสรรพคุณาลังการอันประมาณมิได้ของพระพุทธเจ้า มนัสแห่งพระโพธิสัตว์ก็ไม่บังเกิดความเหนื่อยหน่ายท้อถอยใด ๆ พระโพธิสัตว์นั้นย่อมเอาปัญญาญาณเป็นพระขรรค์เข้าพิฆาตเข่นฆ่าโจร กล่าวคือกิเลส มีตนวิโมกข์หลุดรอดจากความผูกมัด กล่าวคืออุปาทานในขันธ์ ธาตุ อายตนะ ประกอบกิจโดยการประคับประคองสรรพสัตว์ให้ถึงวิมุตติธรรมโดยอันตกาล พระโพธิสัตว์ย่อมบำเพ็ญมหาพิริยธรรมบำราบข่มขี่โยธีมารให้พ่ายแพ้ ย่อมมุ่งต่อปัญญาญาณในพระนิพพาน อันเป็นอนารัมมณธรรม พระโพธิสัตว์นั้นย่อมมีอัปปิจฉตากอปรทั้งสันตุฏฐิธรรมเป็นปกติจริยา แต่ก็มิได้ปลดปลงประดาโลกิยธรรมเสียเลยทีเดียว พระโพธิสัตว์ย่อมไม่ทำลายสมาจารวัตร แต่ก็สามารถอนุโลมตามโลกจรรยาได้ มิขัดข้องกีดขวางกันเลย ย่อมอาจสามารถใช้อภิญญาโกศล ชักจูงสั่งสอนนิกรสัตว์ พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ย่อมได้บรรลุสมฤติธารณธรรม ได้สดับฟังเรื่องราวใด ๆ ย่อมอาจจดจำมิเลือนรางเครื่องคล้อยไป.
อนึ่ง พระโพธิสัตว์ย่อมมีอินทรีย์ปโรปริยัตติญาณ สามารถตัดวิมุตติกังขาแห่งปวงสัตว์ได้ ย่อมเป็นผู้ยินดีในการเทศนาอบรมสั่งสอนจำแนกธรรมได้ โดยปราศจากอุปสรรคข้องขัดแต่อย่างใด บำเพ็ญกุศลกรรมบถ ๑๐ อันยังผลให้เสวยเทวสมบัติ บำเพ็ญอัปปมัญญาภาวนา ๔ เบิกวิถีพรหมโลก อนึ่ง เพราะพระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญกุศลจรรยา ด้วยการอาราธนาพระพุทธองค์แสดงพระสัทธรรม และได้มีจิตสัมปสาทนียอนุโมทนาในการแสดงพระสัทธรรมนั้น จึงได้วิบากคือ สุรเสียงสำเนียงของพระพุทธะไว้กับตน แลอาความที่กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของพระโพธิสัตว์นั้นสุจริต จึ่งได้วิบากคืออิริยาบถอากัปจรรยาของพระพุทธะไว้กับตน แลเนื่องด้วยพระโพธิสัตว์ได้ศึกษาบำเพ็ญในกุศลธรรมดันสุขุมคัมภีรภาพล้ำลึก จริยาวัตรแห่งพระโพธิสัตว์นั้นจึงยิ่งวิเศษอุดมเลิศ ย่อมอาศัยมหายานศาสน์เป็นหลักปฏิบัติสำเร็จเป็นโพธิสัตว์สงฆ์จิตตั้งอยู่ในอัปปมาทธรรม มีกุศลธรรมทั้งหลายไม่เสื่อมหาย ผู้ใดปฏิบัติตามวิถีธรรมดังพรรณนามานี้ ย่อมชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ไม่สละสังเขตธรรมจนหมดสิ้น.
อีกประการหนึ่ง ชื่อว่าพระโพธิสัตว์ ย่อมไม่ยึดถือตั้งอยู่ในอสังขตธรรม อสังขตธรรมนั้นเป็นไฉน ? กล่าวคือพระโพธิสัตว์บำเพ็ญสุญญตวิโมกขธรรม ย่อมเป็นผู้ไม่ถือเอาสุญญตาเป็นธรรมอันตนจักบรรลุบำเพ็ญอนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ ก็ย่อมไม่สำคัญถือเอาอนิมิตตธรรมอัปณิหิธรรมนั้นเป็นธรรมอันตนจัก
บรรลุ ฤๅเมื่อบำเพ็ญอนุตปาทธรรมก็ย่อมไม่สำคัญถือเอาอนุตปาทธรรม เป็นธรรมอันตนจักบรรลุ พระโพธิสัตว์มีอนิจจานุปัสสนา แต่ก็ไม่บังเกิดความเบื่อหน่ายต่อการบำเพ็ญสร้างสมกุศลสมภาร พระโพธิสัตว์ย่อมพิจารณาโลก
__________________________
๑. หมายความว่า พระโพธิสัตว์ไม่ติดในฌานสุข เห็นฌานสุขดุจทุกข์ในนรก และย่อมไม่กลัวต่อชาติภพ เพราะหากกลัวชาติภพเสียแล้ว ก็ไม่สามารถจะทำหน้าที่ช่วยสัตว์ได้ พระโพธิสัตว์จึงยินดีในการเวียนว่ายตายเกิด เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์.
๒. เพราะเป็นเหตุให้พระโพธิสัตว์มีโอกาสบำเพ็ญบารมีสั่งสอนธรรมแก่เขา จึงเท่ากับเขาเป็นครูทำให้พระโพธิสัตว์ได้เพิ่มพูนบารมี.
โดยทุกขานุปัสสนาแต่ก็ไม่บังเกิดความอางขนางหน่ายแหนงใจชาติมรณะ พระโพธิสัตว์ย่อมมีอนัตตานุปัสสนา แต่ก็ทำหน้าที่โปรดสัตว์โดยไม่เอือมระอาเหน็ดเหนื่อย พระโพธิสัตว์ย่อมมีนิโรธานุปัสสนา แต่ก็ไม่ยังตนให้ถึงความดับเองโดยอนันตกาล พระโพธิสัตว์ย่อมถึงพร้อมด้วยวิราคานุปัสสนา แต่ตั้งกายใจของตนบำเพ็ญกุศลธรรม พระโพธิสัตว์ย่อมพิจารณาความปราศจากที่ไป๑ แต่ก็มีกุศลธรรมเป็นที่ไป พระโพธิสัตว์ย่อมบำเพ็ญอนุตปาทานุปัสสนา แต่ก็อาศัยอุปปาทธรรมเพื่อเกื้อกูลสรรพสัตว์ พระโพธิสัตว์ย่อมบำเพ็ญนาสวานุปัสสนา แต่ก็ไม่สละถอนปวงอาสวธรรมเสียจนสิ้น ฯลฯ พระโพธิสัตว์เมื่อยังมีปณิธานไม่เต็มเปี่ยมสำเร็จสมไพบูลย์ ย่อมไม่ละเลยต่อการสร้างสมบารมีธรรมเข้าไว้ มีอาทิ เช่น ฌาน สมาธิ ปรัชญา เป็นต้น พระโพธิสัตว์ใดบำเพ็ญธรรมปฏิบัติดั่งพรรณนามานี้ ย่อมชื่อว่าเป็นสัตว์ผู้ไม่ยึดถือตั้งอยู่ในอสังขตธรรม แลเพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์มีบารมีธรรมอันไพบูลย์พร้อมพรั่ง ดั่งนั้นจึงเป็นผู้ไม่ยึดถือตั้งอยู่ในสังขตธรรม อนึ่งเพราะเหตุที่โพธิสัตว์มีปรัชญาสมบูรณ์ ดั่งนั้นจึงเป็นผู้ไม่สละสังขตธรรมเสียจนหมดสิ้น แลเพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์ดำรงอยู่ใจภูมิธรรมแห่งมหาเมตตามหากรุณา ดั่งนั้นจึงเป็นผู้ไม่ยึดถือตั้งอยู่ในอสังขตธรรม อนึ่งเพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์ยังปณิธานให้เต็มรอบ ดั่งนั้นจึงเป็นผู้ไม่สละสังขตธรรมเสียจนหมดสิ้น และเพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์พึงสร้างสมสุขในสรรพสัตว์ ดั่งนั้นจึงเป็นผู้ไม่ยึดถือในอสังขตธรรม อนึ่งเพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์จักต้องจ่ายแจกธรรมโอสถให้แก่ประชาสัตว์ ดั่งนั้นจึงเป็นผู้ไม่สละสังขตธรรมเสียจนหมดสิ้น เพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์จักต้องรู้ชัดในพยาธิภัยแห่งปวงสัตว์ ดั่งนั้นจึงเป็นผู้ไม่ยึดถือตั้งอยู่ในอสังขตธรรม อนึ่ง เพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์จักมีภารกิจดับพยาธิทุกข์ (หมายถึงกิเลส) ของสรรพชีพนั้น ดั่งนั้นจึงเป็นผู้ไม่สละสังขตธรรมเสียจนหมดสิ้น ดูก่อนปวงสัมมาจารีชน พระโพธิสัตว์ใดหากได้บำเพ็ญธรรมานุธรรมปฏิบัติดั่งตถาคตพรรณนามา เป็นผู้ไม่สละสังขตธรรมจนหมดสิ้น ในขณะเดียวกันก็ย่อมไม่ยึดถือตั้งอยู่ในสังขตธรรม พระโพธิสัตว์นั้นแลชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงวิมุตติธรรมทวารบท ว่าด้วยอันตธรรม อนันตธรรม อันพวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกศึกษาไว้ด้วยประการฉะนี้.”
ครั้งนั้นแล บรรดาพระโพธิสัตว์เหล่านั้น ได้สดับพระธรรมบรรยายนี้แล้ว ต่างก็บังเกิดความโสมนัสปรีดายิ่งนัก ต่างก็ได้นำบุปผาชาตินานาพรรณอันมีสุคันธชาติหอมหวนผิดแผกแตกต่างกัน เกลี่ยโปรยกระจายไปทั่วมหาตรีสหัสสโลกธาตุ เป็นพุทธครุสักการบูชา กับทั้งเป็นการชูชาพระธรรมเทศนานั้น แลพระโพธิสัตว์บริษัทอื่น ๆ อีกด้วยวย ครั้นแล้วเหล่าพระโพธิสัตว์ผู้มาแต่พหุสุคันธพุทธเกษตรนั้น ก็ได้อภิวาทน์พระบาทบงกชของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า กล่าวสดุดีในพระธรรมเทศนาว่าเป็นอัศจรรย์ ต่างกราบทูลขึ้นว่า
“อัศจรรย์ยิ่งนักพระพุทธเจ้าข้า ในการที่พระผู้มีพระภาคศากยมุนีพุทธเจ้า ทรงสำแดงกุศโลบายจริยาในสหโลกธาตุได้เห็นปานเช่นนี้.”
เมื่อกล่าวจบแล้ว ก็อันตรธานหายไปในบัดดล พากันกลับคืนสู่พหุสุคันธพุทธเกษตรด้วยประมารฉะนี้.
ปริเฉทที่ ๑๑ โพธิสัตว์จริยาวรรค จบ.
__________________________
๑. คือสภาวธรรม ย่อมปราศจากที่มาที่ไป หรือการมาการไปโดยปรมัตถ์.
http://www.mahayana.in.th/tmayana/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3.html#ปริเฉทที่_๑๑_โพธิสัตว์จริยาวรรค_