ผู้เขียน หัวข้อ: วิถีแห่ง ‘วะบิ-ซะบิ’ ความงามที่มีรอยตำหนิและกาลเวลาเป็นกัลยาณมิตร  (อ่าน 662 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



วิถีแห่ง ‘วะบิ-ซะบิ’ ความงามที่มีรอยตำหนิและกาลเวลาเป็นกัลยาณมิตร

• วะบิ-ซะบิ (Wabi-Sabi 侘寂) คือปรัชญาญี่ปุ่นที่โอบรับความไม่สมบูรณ์แบบ มีตำหนิ และร่องรอยอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาของทุกสิ่ง โดยมีรากฐานมาจากความเข้าใจในธรรมชาติของพุทธศาสนาแบบเซ็น

• แนวคิดวะบิ-ซะบิ สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมและหัตถกรรมที่เกี่ยวข้องกับพิธีชงชาของชาวญี่ปุ่น อันได้แก่ เรือนชงชา ซึ่งสร้างจากวัสดุที่ไม่คงทนถาวร และถูกออกแบบให้ทุกคนต้องคลานด้วยมือและเข่าเป็นแถวเดียวเข้าไป ด้วยความสงบและเสมอภาคกัน

• คินสึงิ (Kintsugi) คือเทคนิคศิลปะแบบโบราณที่สะท้อนแนวคิดวะบิ-ซะบิได้เป็นอย่างดี โดยเป็นการซ่อมแซมเครื่องดินเผาหรือเซรามิคด้วยการใช้ยางไม้มาเชื่อมส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน แล้วนำทองมาเขียนตกแต่งลงบนรอยเชื่อมนั้น เกิดเป็นความงามอีกรูปแบบที่มาจากความบุบสลายของวัตถุ



‘ความงาม’ น่าจะเป็นคำที่มีการให้คำจำกัดความและเกณฑ์การตัดสินหลากหลายมากที่สุดคำหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นหัวข้อที่เราสัมผัสในชีวิตประจำวันตลอดเวลา ลองคิดเล่นๆ ดูว่าวันหนึ่งเราตัดสินว่าสิ่งใดงามหรือไม่งามไปกี่ครั้ง ตึกรามบ้านช่อง ถนน ป้ายโฆษณา หน้าตาของผู้คน เสื้อผ้าของพวกเขา กริยาของพวกเขา มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ

แน่นอนว่าความงามย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และวัฒนธรรม เห็นภาพได้อย่างชัดเจนจากตัวแทนสาวงามแต่ละประเทศบนเวทีประกวดนางงามจักรวาล อย่างไรก็ตาม เมื่ออิทธิพลของตะวันตกไหลเข้าสู่ทุกพื้นที่ทั่วโลก เกณฑ์มาตรฐานของความงามแบบตะวันตกได้ถูกสถาปนาขึ้นและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ทุกคนและทุกสิ่งทุกอย่าง—เหมือนนางงามจากแต่ละประเทศทั่วโลกที่พร้อมตบเท้าขึ้นเวทีและยอมรับในเกณฑ์การตัดสินนั้น ฉันก็เช่นเดียวกัน ตั้งแต่จำความได้ ความงามที่ฉันรู้จักคือ ความสมบูรณ์แบบตามอุดมคติ ความสมมาตรและความไร้กาลเวลา  นอกจากนั้น ถือว่าไม่งาม

วะบิ-ซะบิ (Wabi-Sabi 侘寂) โอบรับทั้งหมดที่ฉันโยนทิ้ง ความไม่สมบูรณ์แบบ มีตำหนิ ความอสมมาตร บุบ เบี้ยว และร่องรอยอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา เช่น ริ้วรอยบนใบหน้า แผลเป็นบนเนื้อตัว ร่องรอยบนไม้ หรือสนิมบนเหล็ก

ฉันรู้จักปรัชญาความงามนี้ครั้งแรกจากการอ่านหนังสือ Wabi-sabi for Artists, Designers, Poets & Philosophers ของ Leonard Koren (แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ วะบิ-ซะบิ: สำหรับศิลปิน นักออกแบบกวี & นักปรัชญา โดย กรินทร์ กลิ่นขจร  สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา) หากดูจากความหมายของคำ วะบิ (侘び) หมายถึง ความเรียบง่าย สมถะ ซึ่งย่อมาจากคำว่า “วาบิชี่” (Wabishii 侘しい) ที่แปลว่า รู้สึกแย่ ลำบาก ยากไร้ และอาจแปลได้ว่า ความหยาบอย่างเรียบง่าย ส่วนซะบิ (寂び) คือความเงียบสงัด สภาพจิตใจที่สงบนิ่ง ซึ่งย่อมาจากคำว่า “ซาบิชี่” (Sabishii 寂びしい) ที่แปลว่าเหงา เศร้า เดียวดาย อีกทั้งซาบิในปัจจุบันยังมีความหมายว่าคราบสนิม แต่ในศัพท์ดั้งเดิมแปลว่าแห้งลง มีอายุ ซึ่งหมายถึงคราบที่เกิดขึ้นบนเครื่องใช้ได้ด้วย

เมื่อสองคำนี้รวมกัน จึงให้แนวคิดของการหวนคำนึงถึงความหวานปนขมของชีวิตแต่เป็นการหวนคำนึงอย่างเข้าใจ  และยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นปรัชญาความงามที่โอบรับว่า คน สัตว์หรือ สิ่งของ ทุกสิ่งล้วนไม่สมบูรณ์แบบ และมีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

ที่เป็นเช่นนี้เพราะวะบิ-ซะบิมีรากฐานมาจากความเข้าใจในธรรมชาติของพุทธศาสนาแบบเซ็นจึงเห็นความงามและคุณค่าของความไม่จีรัง ความไม่สมบูรณ์แบบ และความไม่เสร็จสมบูรณ์อันเป็นความจริงแท้ของทุกสิ่งในโลกใบนี้ แนวคิดของปรัชญาความงามนี้สะท้อนให้เห็นชัดจากคำถามในข้อเขียน Tsurezuregusa (Essays in Idleness) ของพระเค็นโค (Yoshida Kenkō) กวีคนสำคัญของญี่ปุ่นที่มีชีวิตอยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 14

“เราจะมองต้นซากุระเพียงเวลาที่ดอกของมันบานสะพรั่ง



สวนญี่ปุ่นที่สะท้อนแนวคิดแบบ วะบิ-ซะบิ คือการนำเอาวัสดุจากธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้นมาอยู่ร่วมกัน โดยให้ผู้คนได้ซึมซับความสมถะและแบบฟอร์มที่ไม่สมบูรณ์แบบ ของพืช หิน หรือทราย รวมถึงมอส รา ที่จะมาพร้อมกับเวลาที่ผ่าน


แนวคิดวะบิ-ซะบิ ที่ถูกนำมาใช้ในการออกแบบตกแต่งภายในยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้ วะบิ-ซะบิยังสะท้อนให้เห็นได้ชัดผ่านสถาปัตยกรรมและหัตถกรรมที่เกี่ยวข้องกับพิธีชงชาของชาวญี่ปุ่น อันได้แก่ เรือนชงชา ซึ่งแยกตัวจากสิ่งปลูกสร้างอื่น มีขนาดเล็กแค่เพียงพอดีกับกิจกรรม สร้างขึ้นจากวัสดุที่ไม่มีลักษณะความคงทนถาวรที่จะต้องเสื่อมสลายไปซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น เช่น ตัวบ้านทำจากไม้ และบานประตูทำจากกระดาษ ซึ่งต่างจากสถาปัตยกรรมโมเดิร์นของตะวันตกที่ถูกสร้างให้มีภาพลักษณ์ของความสมบูรณ์ เป็นอมตะและไม่สามารถทนต่อปัจจัยที่มากระทำผ่านกาลเวลาได้ จึงต้องทาสีหรือซ่อมแซมอยู่เสมอ (ลองนึกถึงตึกสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งตรง ขาวโพลนทั้งด้านในและด้านนอก)

ถัดมาที่ห้องในเรือนชงชามักออกแบบให้คนเข้าไปได้ไม่เกินครั้งละ 5 คน ประตูทางเข้าของแขกมีความสูงเพียง 80 เซนติเมตร ทุกคนต้องคลานด้วยมือและเข่าเป็นแถวเดียวเข้าไปด้วยความสงบและเสมอภาคกัน อันเป็นการลดทิฐิและทำให้เกิดความเรียบง่ายในการอยู่ร่วมกัน

ภายในห้องมีถ้วยชามอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีซึ่งทำมากวัสดุตามธรรมชาติ แต่ละชิ้นมีร่องรอย มีคราบผ่านการเวลาในแบบฉบับของตนเอง นอกจากนี้ยังมีการประดับห้องด้วยชาบานะ (Chabana) ซึ่งหมายถึงดอกไม้สำหรับพิธีชงชา ซึ่งเป็นการจัดดอกไม้ที่มีรากฐานมาจากอิเคบานะ (Ikebana) หรือการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นที่เน้นความอสมมาตรและการนำดอกไม้และพืชพันธุ์ชนิดอื่นมาจัดรวมกันอย่างกลมกลืนโดยเน้นรูปทรงตามธรรมชาติให้ดูมีชีวิตชีวา

อีกทั้งการเข้าพิธีชงชาในแต่ละครั้งคือการเรียนรู้สุนทรียะแบบวะบิ-ซะบิในความเงียบตั้งแต่ก้าวแรกบนทางเดินผ่านสวนไปที่เรือนชงชาเพราะทางเดินเข้าสู่เรือนชงชาจะปูด้วยหินหรือเขียงไม้ โดยวางห่างกันให้พอดีกับการก้าว เป็นการฝึกสมาธิในทุกย่างก้าวไม่ให้เหยียบทำลายต้นหญ้าหรือกรวด







เทคนิคทางศิลปะอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นที่ถ่ายทอดจากโบราณมาจนถึงปัจจุบันซึ่งสะท้อนปรัชญาของวะบิ-ซะบิได้ดีมากและยังแฝงปริศนาธรรมเอาไว้ด้วย คือ คินสึงิ (Kintsugi) หรือการซ่อมแซมถ้วยชามที่ทำมาจากเครื่องดินเผาหรือเซรามิคด้วยการใช้ยางไม้มาเชื่อมส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน แล้วนำทองมาเขียนตกแต่งลงบนรอยเชื่อมนั้น

ผลที่ออกมาคือภาชนะชิ้นนั้นกลับมาใช้ได้เหมือนเก่าแต่แสดงร่องรอยสีทองที่พื้นผิวซึ่งทำให้สวยไปอีกแบบ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความงามนั้นไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบเพียงอย่างเดียวแต่กลับโดดเด่นด้วยเส้นสีทองที่ไหลไปตามเส้นทางของรอยร้าว รอยแตกหักที่เคยเกิดขึ้นกับชีวิตของภาชนะใบนั้นต่างหาก









งานศิลปะโดย Yeesookyung ที่ต่อยอดมาจากเทคนิคแบบคินสึงิ

อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับปรัชญาที่มีมาแต่โบราณ ณ ที่อื่นๆ ของโลก วะบิ-ซะบิยังคงหยั่งรากลึกในสังคมญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนแต่ก็ถูกซ้อนทับด้วยกระแสความคิดแบบใหม่ตามสมัยนิยม เพราะมิใช่ว่าคนญี่ปุ่นทุกคนจะยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบและการเปลี่ยนแปลงจากความแก่ชราเสียเมื่อไหร่ เราก็เห็นอยู่ว่าอุตสาหกรรมความงามยังคงทำเงินได้ สินค้าจากสายพานโรงงานที่สมบูรณ์แบบเหมือนกันทุกชิ้นก็ยังคงไปได้ดี

ทุนนิยมที่กระตุ้นความอยากและทำให้เรารู้สึกว่ายังมีไม่พอ ยังดีไม่พอ ยังคงทำหน้าที่ของมันได้ดีเสมอ จึงเป็นหน้าที่ของตัวเราเองที่จะต้องหาสมดุลในความคิดของตนเองให้ได้ เพื่อจะหายใจอยู่บนโลกนี้ได้อย่างสบายใจขึ้น



ฉันหลงใหลวะบิ-ซะบิและใช้แนวคิดนี้อธิบายกับตัวเองว่า ไม่เป็นไร ที่จะไม่งามอย่างคำจำกัดความของความงามที่ฉันเคยรู้จัก ไม่เป็นไรที่จะสอบตกเกณฑ์การตัดสินของความงามแบบนั้น สิ่งที่ยิ่งใหญ่และสำคัญอย่างยิ่งคือการที่ฉันได้รู้ว่า ยังมีนิยามความงามแบบอื่นอยู่ในโลกใบนี้ ยังมีปรัชญาและสุนทรียะทางความงามแบบอื่นอยู่ในโลกใบนี้

วะบิ-ซะบิ กระซิบบอกว่าความไม่สมบูรณ์แบบและกาลเวลานั้นไม่ใช่ศัตรู อีกทั้งยังให้นิยามที่โอบรับฉัน ไม่ใช่แค่ฉันในตอนนี้ แต่เป็นฉันในทุกช่วงเวลาของชีวิต

จาก https://themomentum.co/wabi-sabi/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...