ARRIVAL ไม่มีต้น ไม่มีปลาย
Arrival เป็นหนังไซไฟแบบชวนติดตามและชวนให้คิดต่ออย่างพิศวงงงงันว่าอะไรเป็นอะไรในมิติที่เลยพ้นไปจากความเข้าใจของมนุษย์โลกอย่างเราๆ
มนุษย์ต่างดาวที่มาเยือนโลกครั้งนี้ มากันด้วยยานสิบสองลำ มาโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย จู่ๆ ก็โผล่ให้เห็นในสถานที่ต่างๆ ทุกทวีปทั่วโลกสิบสองแห่ง ทั้งในมอนตานาของอเมริกา รัสเซีย จีน อินเดีย อเมริกาใต้ ฯลฯ
ยูเอฟโอเหล่านี้มีรูปทรงแปลกพิสดารไม่เหมือนยานใดที่มนุษย์สร้าง เป็นรูปทรงรี และลงจอดในแนวตั้งโดยไม่มีล้อมีฐานใดๆ ทั้งสิ้น
ท่ามกลางความแตกตื่นตกใจของคนทั้งโลก ตลาดหุ้นดิ่งลงเหว ผู้คนกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค มีการปล้นสะดมทั่วไปหมด
และหลายคนมองเห็นว่านี่อาจเป็นอวสานของโลกก็ได้
ขณะที่มหาอำนาจต่างๆ ทั่วโลกที่ประสบเหตุกำลังพยายามค้นหาจุดประสงค์ในการมาเยือนโลกของยานเหล่านี้
ลุยส์ แบงส์ (เอมี่ อาดัมส์) นักภาษาศาสตร์ชั้นนำของอเมริกา ได้รับการติดต่อจากกองทัพสหรัฐที่เข้าควบคุมสถานการณ์ โดยพันเอกวีเบอร์ (ฟอเรสต์ วิตเทเกอร์) มาติดต่อลุยส์ให้แปลเทปการติดต่อระหว่างทีมอเมริกันกับมนุษย์ต่างดาวในมอนตานา ลุยส์บอกว่าไม่รู้จักภาษานั้นเลย และต้องเจอหน้ากันถึงจะสร้างการสื่อสารด้วยภาษาร่วมกันได้
และนั่นคือสิ่งที่ทีมงานของสหรัฐและทีมงานของชาติต่างๆ ทั่วโลกพยายามทำเพื่อให้เข้าใจจุดประสงค์ในการที่มนุษย์ต่างดาวพวกนี้มาเยือนโลก
พวกเขาไม่มีทีท่าเป็นปฏิปักษ์หรือต้องการจะยึดครองโลก
หรือพวกเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการมาสังเกตการณ์หรือเก็บข้อมูล
หรือว่าเป็นแค่นักท่องเที่ยวอวกาศ
ทว่า เราจะไว้ใจได้ละหรือต่อสิ่งมีชีวิตนอกโลกที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าแบบที่เราไม่เข้าใจ
โลกทั้งโลกตกอยู่ในบรรยากาศของความตึงเครียดจากการไม่รู้ว่ามหาอำนาจแต่ละฝ่ายจะจัดการอย่างไรกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะเมื่อความร่วมมือประสานงานกันเพื่อสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาวในทีแรกนั้น มวลมนุษย์โลกเองก็ไม่อาจไว้ใจกันได้เต็มที่ จึง “กั๊ก” ข้อมูลที่รู้ไว้เฉพาะตน
มนุษย์ต่างดาวพวกนี้รูปร่างหน้าตาแตกต่างไปจากมนุษย์โดยสิ้นเชิง พวกเขาดูเหมือนปลาหมึกที่มีหนวดเจ็ดเส้นเหมือนจะเป็นขา ดังนั้น จึงได้รับการขนานนามว่า “เฮ็ปตาพอด” ซึ่งแปลว่า “ขาเจ็ดขา” นอกจากนั้น ยังมีตารอบตัว
กว่าลุยส์จะเริ่มสื่อสารกันพอเข้าใจภาษาของพวกเขาได้ก็เหนื่อยพอดู และได้รู้ว่าภาษาพูดและภาษาเขียนของพวกเขาแทบจะเป็นคนละภาษากันเลย ที่พอจะสื่อสารเข้าใจกันง่ายกว่าคือภาษาเขียน
ลุยส์ทำงานร่วมกับ ดร.เอียน ดอนเนลลี (เจเรมี่ เรนเนอร์) นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎี ซึ่งศึกษาฟิสิกส์ในจักรวาลประมาณเดียวกับไอน์สไตน์ หรือ สตีเฟน ฮอว์กิงส์ กระมัง
เมื่อออกเสียงภาษาเฮปตาพอดด้วยกล่องเสียงของมนุษย์โลกได้ยาก พวกเขาจึงตั้งชื่อให้เฮปตาพอดสองตัวที่มาลงจอดในมอนตานาว่า “แอบบ็อตต์” และ “คัสเตลโล” ซึ่งเป็นคู่หูคู่ฮาในรายการโทรทัศน์สมัยกลางศตวรรษที่ยี่สิบ หลายคนเรียกดาวตลกคู่นี้ว่า “สองเกลอหัวแข็ง”
สองเกลอหัวแข็งดูจะให้ความร่วมมือแก่ทีมทำงานของมนุษย์โลกอย่างดี จนกระทั่ง ดร.ลุยส์ แบงส์ สามารถสื่อสารด้วยพอเข้าใจได้ระดับหนึ่ง
แต่เมื่อพวกเขาตอบคำถามถึงจุดประสงค์ของการมาเยือนโลกว่า “เพื่อมอบอาวุธ” ให้
นั่นคือจุดปะทุของความไม่ไว้ใจของมหาอำนาจจีน ซึ่งประกาศกร้าวจะใช้กำลังอาวุธโจมตีสิ่งที่ดูเหมือนเป็นการรุกรานจากนอกโลก
ขณะที่ลุยส์พยายามอธิบายว่าคำว่า “อาวุธ” อาจหมายถึง “เครื่องมือ” หรือ “เทคโนโลยี” ก็ได้
เรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเบื้องหลังเรื่องราวชีวิตส่วนตัวและความสัมพันธ์ของลุยส์กับลูกสาวที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคร้าย
คำตอบหนึ่งที่ได้จากเฮปตาพอดคือ พวกเขามาเยือนโลกเพื่อกอบกู้โลกไว้ เพื่อที่อีกสามพันปีข้างหน้าโลกจะได้ช่วยพวกเขาบ้าง นั่นคือ เฮปตาพอดมองเห็นอนาคตล่วงหน้าได้ทะลุปรุโปร่ง
มีทฤษฎีเกมแบบหนึ่งที่เรียกว่า เกมที่ไม่มีใครแพ้ไม่มีใครชนะ แต่ทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะหมด ซึ่งเรียกในภาษาวิชาการว่า non-zero-sum game หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า win-win situation
ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกันช่วยกันหาทางออกแก่ปัญหาที่เผชิญอยู่ ทุกฝ่ายก็มีสิทธิที่จะเป็นผู้ชนะได้ ไม่ใช่ใน zero-sum game ซึ่งต้องลงท้ายด้วยการมีผู้ชนะและผู้แพ้
จุดสำคัญในเรื่องคือลุยส์จะเปลี่ยนใจนายพลชาง (จิ หม่า) ผู้นำจีนผู้แข็งกร้าวได้หรือเปล่า
และที่สุดของที่สุดแล้ว คำถาม (เชิงปรัชญา) ก็คือ เราจะเปลี่ยนอนาคตไหมถ้าเรารู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น และถ้าเราตัดสินใจเปลี่ยน อนาคตก็จะไม่เป็นสิ่งที่เรารู้ล่วงหน้าอีกต่อไป
ดังเรื่องราวในหนัง แม้จะรู้อนาคตล่วงหน้า บางคนก็ยังทำอย่างที่ทำอยู่ ในขณะที่บางคนรับอนาคตไม่ได้ และเลือกที่จะหลีกหนีไปเสียก่อน
นี่เป็นหนังที่ส่งบทบาทของ เอมี่ อาดัมส์ ให้โดดเด่นแทบจะคนเดียว เจเรมี่ เรนเนอร์ เป็นแค่บทประกอบที่เสริมแคแร็กเตอร์ของตัวเอก
เช่นเคย เมื่อดูหนังดีๆ ที่สร้างเรื่องราวจากหนังสือ ผู้เขียนก็อดไม่ได้ที่จะซื้อหนังสือมาอ่านตามหลังหนังในทันที Arrival สร้างจากเรื่องสั้นในชื่อว่า The Story of Your Life ของ Ted Chiang ซึ่งอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อเดียวกันนั้น
นอกจากให้ความกระจ่างในหลายจุดของเรื่องราวที่ชวนคิด (ไม่ออก) แล้ว ผู้เขียนยังได้อ่านเรื่องสั้นอื่นๆ ในเล่ม และพบเรื่องราวน่าสนใจและชวนคิดต่ออีกหลายเรื่อง
Arrival เป็นหนังดีมากนะคะ แต่ต้องขอเตือนว่าไม่ใช่หนังไซไฟอวกาศแบบที่มนุษย์ต่อสู้ฟาดฟันกับมนุษย์ต่างดาว เป็นหนังที่อาศัยเรื่องราวของมนุษย์ต่างดาวเป็นฐานให้เราย้อนกลับมามองดูความเป็นไปและชีวิตของเราเอง
โดยเฉพาะในแง่ที่เกี่ยวกับปัจจุบันกาลและอนาคตกาล
จาก
https://www.matichonweekly.com/column/article_22043https://www.youtube.com/v//tFMo3UJ4B4g