ผู้เขียน หัวข้อ: “หยั่งรากวัชรยาน” : แรงบันดาลใจ แนวทางการสอน ความท้าทายของสังฆะวัชรยานในสังคมไทย  (อ่าน 84 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
“หยั่งรากวัชรยาน” : แรงบันดาลใจ แนวทางการสอน และความท้าทายของสังฆะวัชรยานในสังคมไทย



โพสต์โดย วัชรสิทธา

บทความโดย TOON วัชรสิทธา


นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 ที่กองทัพจีนบุกยึดทิเบตและทำให้ประชาชนชาวทิเบตต้องระหกระเหินจากประเทศของตน ทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สิ่งปลูกสร้าง คัมภีร์ทางศาสนา ถูกทำลายย่อยยับ ลามะและผู้คนชาวทิเบตมากมายถูกเข่นฆ่า และจำนวนมากต้องหลบหนีออกจากบ้านเกิดของตัวเอง

แต่น่าอัศจรรย์ ที่เหตุการณ์นี้ไม่ได้ทำให้พุทธศาสนาทิเบตล่มสลายลง กลับกันมันได้ทำให้ผู้นำทางศาสนา คุรุระดับสูงในนิกายต่างๆ รวมถึงลามะมากมาย กระจายออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งโลก ผู้คนเหล่านี้ได้นำเอาหัวใจคำสอน ประสบการณ์ รวมถึงวิถีปฏิบัติติดตัวไปด้วย และได้ส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับเพื่อนมนุษย์ในพื้นที่ที่เขาย้ายไปอยู่อาศัย ไม่ว่าที่แห่งนั้นจะมีความต่างด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือค่านิยมแบบใดก็ตาม เมื่อพุทธศาสนาทิเบตหรือพุทธวัชรยาน ได้ถูกสอนนอกประเทศทิเบตเป็นครั้งแรก พลวัตนี้ก็เริ่มสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหม่และครั้งใหญ่ให้กับพุทธศาสนา โดยมีศูนย์กลางของพลวัตเป็นโลกตะวันตก ซึ่งทำให้รูปแบบการเรียนรู้พุทธธรรมย่างเข้าสู่พื้นที่แห่งการศึกษาเรียนรู้ที่เป็นสากลมากขึ้น

ในประเทศไทยเองมีกลุ่มคนที่สนใจและศึกษาพุทธวัชรยานอย่างลึกซึ้ง โดยได้เดินทางไปศึกษาทั้งจากทิเบตและจากโลกตะวันตก พวกเขาได้นำคำสอนที่มีคุณค่าเหล่านั้นกลับมาเผยแพร่ให้กับลูกศิษย์ชาวไทยเป็นเวลานานกว่าทศวรรษ ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่น่าสนใจว่าพุทธศาสนาวัชรยานนี้กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง คล้ายกับว่ากำลังเริ่มต้น “หยั่งราก” ลงสู่ผืนดินไทย

มูลนิธิพันดาราร่วมกับมูลนิธิวัชรปัญญาจึงได้จัดงานเสวนา “หยั่งรากวัชรยาน” ขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2566 เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสองสังฆะ รวมถึงความคิดเห็นต่อการงานทางธรรมที่จะทำให้พุทธวัชรยานสามารถหยั่งรากในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาคือ อ.กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล, อ.เยินเต็น, วิจักขณ์ พานิช, คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, ตัวแทนสังฆะพันดารา และตัวแทนสังฆะวัชรปัญญา



แรงบันดาลใจในการศึกษาพุทธวัชรยาน

อ.กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล เล่าย้อนไปถึงช่วงที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ว่าตอนนั้นได้มีโอกาสเป็นตัวแทนยุวพุทธเถรวาทที่ได้เดินทางไปทำกิจกรรมร่วมกับตัวแทนจากชาติอื่นๆ ซึ่งในทริปนั้นอาจารย์ได้พบกับพระทิเบตสองรูปซึ่งจุดประกายให้เกิดความสนใจในวิถีและวัฒนธรรมของทิเบต จน 5 ปีหลังจากนั้น อาจารย์ก็ได้ไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านภาษาและวรรณกรรมทิเบต และได้พบกับหนังสือของท่านศานติเทวะที่ชื่อ “โพธิสัตว์จรรยาวจาร” หรือ “จริยวัตรของพระโพธิสัตว์” ซึ่งทำให้เกิดความประทับใจถึงความยิ่งใหญ่ของแนวคิดแบบมหายาน-วัชรยานผ่านตัวอักษรทิเบต

จากนั้นอ.กฤษดาวรรณ ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาภาคสนามที่ประเทศเนปาลเป็นเวลาหนึ่งปี โดยได้ใช้ชีวิตอยู่กับผู้อพยพชาวทิเบตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ กับพระมหาสถูปโพธินาถ ตลอดปีนั้นเป็นช่วงเวลาที่อาจารย์ได้เรียนรู้หลายๆ อย่างจากวิถีการใช้ชีวิตของชาวทิเบตที่ผูกรวมอยู่กับศาสนา

“การได้ทุนไปทำวิจัยในทิเบตเป็นจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ของเรา เพราะมันทำให้เราได้เห็นความมหัศจรรย์แห่งจิตวิญญาณของชาวทิเบต แม้เราจะเกิดในดินแดนพุทธ แต่เรารู้สึกว่ามันขาดแรงบันดาลใจบางอย่างที่เสริมสร้างความรู้สึกของการให้ แต่พอได้ไปใช้ชีวิตในทิเบตช่วงนั้นมันเติมเต็มในส่วนนี้ของเรา และทำให้เราได้พบกับชีวิตใหม่”

อาจารย์เล่าต่อว่าแรงบันดาลใจนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใดจากการฟังบรรยายของคุรุอาจารย์ท่านใดท่านหนึ่ง แต่เกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมผ่านการใช้ชีวิตกับชาวทิเบต ได้เรียนภาษาทิเบต ได้อ่านวรรณกรรมทิเบต แล้วก็ได้เดินทางไปอยู่ในทิเบต จนได้พบกับพระปฐมอาจารย์ที่ทำให้อยากจะศึกษาและฝึกปฏิบัติวัชรยานอย่างลงลึก

ด้านวิจักขณ์ พานิช ก็ได้เล่าถึงความสนใจด้านพุทธศาสนาของตัวเองตั้งแต่วัยหนุ่ม โดยเริ่มจากการฝึกปฏิบัติภาวนาในสายปฏิบัติของคุณแม่สิริ กรินชัย (ยุวพุทธิกะสมาคมฯ) ซึ่งในระหว่างการฝึกครั้งนั้นเขาได้มีประสบการณ์บางอย่างที่จุดประกายความอยากรู้อยากเห็นของเขาขึ้นมา

“ในการภาวนาครั้งนั้น เกิดประสบการณ์ที่พาให้ได้เข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติบางอย่างของจิตใจ ซึ่งไม่สามารถอธิบายเป็นถ้อยคำหรือหลักเหตุผลได้เลย ประสบการณ์นั้นทำให้เกิดความคิดที่ชัดขึ้นมาในใจว่า หากจะมีอะไรที่อยากเข้าใจอย่างถ่องแท้ในชีวิต ก็คือสิ่งนี้”

หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย วิจักขณ์ได้บวชอยู่ที่สวนโมกข์เป็นเวลาหนึ่งปี โดยระหว่างนั้นเขาได้เรียนการภาวนากับพระอาจารย์สิงห์ทอง เขมิโย อุปัฏฐากย์ของท่านอาจารย์พุทธทาส

“ช่วงที่อยู่สวนโมกข์ เรามีความดื่มด่ำกับการศึกษาธรรมะมาก เริ่มอินกับการฝึกฝนตนเอง การเข้าถึงความจริงแท้ของธรรมชาติ และฝึกท้าทายตัวเองเรื่องความกลัว นิสัย รูปแบบ และความเคยชินในชีวิตต่างๆ ตอนนั้นชอบชีวิตพระมากเลยนะ แต่ขณะเดียวกันก็เห็นถึงข้อจำกัดด้วย อยากเรียนรู้อะไรที่กว้างขึ้น เลยเริ่มมองหาสถานที่ที่จะได้ทั้งภาวนาและเรียนไปด้วย เลยตัดสินใจว่าจะไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ”

“ช่วงแรกไม่ได้มีความสนใจเกี่ยวกับพุทธวัชรยานเลย แต่ก็เริ่มสัมผัสถึงความเปิดกว้างและได้รู้จักสายปฏิบัติที่หลากหลายตั้งแต่ตอนอยู่ที่สวนโมกข์ เริ่มเห็นว่าเถรวาท มหายาน และวัชรยาน ไม่ได้มีกำแพงกั้นระหว่างกันอย่างที่เคยรับรู้มา ตอนก่อนจะไปนาโรปะ รู้สึกอยู่ลึกๆ ประมาณว่า ทำไมพุทธศาสนาต้องแบ่งแยก ทำไมต้องมีข้อห้ามหรือเงื่อนไขเต็มไปหมด ทั้งเรื่องเพศ สังคม ความเป็นธรรม สังคม การเมือง ฯลฯ ในใจเกิดคำถามว่า จะมีสักที่ไหมที่ตอบความสนใจทั้งหมดของเราตรงนี้”

จนวิจักขณ์ได้เจอกับ อ.เรจินัลด์ เรย์ อาจเรียกว่า การได้พบคุรุถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของเขา


“อาจจะเรียกว่า เราเจอครูก่อน ที่จะเจอวัชรยานก็ได้ เราไม่สนเลยว่าจะชื่อว่าพุทธอะไร แต่เราอยากเรียนกับครูคนนี้ พอได้เจอครูแล้ว จึงค่อยเห็นว่าแผนที่วัชรยานนำไปสู่อะไร แล้วเกิดความรู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่เราตามหา นี่แหละตรงกับความปรารถนาลึกๆ ของเรา ถ้าถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้สนใจวัชรยาน มันคือเรื่องความใกล้ชิดระหว่างศิษย์กับครู ความศรัทธาต่อบางสิ่งบางอย่างที่ใหญ่กว่าตัวเรามากๆ แล้วก็เรื่องของภาษาและประสบการณ์ที่พ้นไปจากการแบ่งขั้วทวิลักษณ์ เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ความรัก ความงาม และการย้อนกลับมาเคารพสังสารวัฏ สัมพันธ์กับผู้คน เพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ อย่างเท่ากันเสมอกัน”


ในวงเสวนายังมี อ.เยินเต็น อีกหนึ่งท่านที่เข้ามาร่วมพูดคุยด้วยกัน โดย อ.เยินเต็น เป็นหนึ่งในคุรุประจำสังฆะพันดาราซึ่งเดินทางมาจากทิเบตโดยตรง อ.ตุล จึงชวนพูดคุยถึงสถานการณ์และความเป็นไปของศาสนาพุทธในทิเบตในปัจจุบัน

อ.เยินเต็น เริ่มจากการอธิบายว่าส่วนใหญ่แล้ว ชาวทิเบตจะบวชเรียนกันตั้งแต่เด็ก โดยมีพ่อแม่พาไปบวช โดยมีประเพณีว่า หากครอบครัวไหนมีลูกชายสองคน หนึ่งในนั้นจะต้องบวช (แต่ในปัจจุบันประเพณีนี้เริ่มมีน้อยลง) ซึ่งนักบวชรุ่นใหม่ๆ เหล่านี้จะได้เรียนพุทธธรรมแบบ “ข้ามนิกาย” ซึ่งนับว่าเป็นรูปแบบการศึกษาแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมลามะทิเบต

“ชาวทิเบตมีนิกายมากมายและแต่ละนิกายก็มีรายละเอียดของหลักสูตรไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะในส่วนของคำสอนขั้นสูง ซึ่งในสมัยก่อนนิกายเหล่านี้ไม่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันข้ามสาย แต่ทุกวันนี้สังคมทิเบตเปลี่ยนไปแล้ว แต่ละนิกายพร้อมที่จะเปิดรับองค์ความรู้จากนิกายอื่นๆ วัดขนาดใหญ่จะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างนิกายมาบรรยายและแลกเปลี่ยนในลักษณะของงานเสวนาอย่างที่เราทำกัน สิ่งนี้นับว่าเป็นอนาคตของพุทธธรรมในทิเบตที่ทำให้เหล่านักบวชรุ่นใหม่ๆ สามารถเรียนรู้หลักปฏิบัติที่หลากหลายและรุ่มรวยของนิกายวัชรยานในทิเบต”



จุดเด่นของพุทธศาสนาวัชรยาน

อ.กฤษดาวรรณ เล่าว่ามีหลายอย่างในพุทธวัชรยานที่เธอประทับใจ ช่วงแรกอาจจะเป็นเรื่องของความรัก ความกรุณา การได้พบคุรุแล้วเกิดแรงบันดาลใจจากท่าน แต่เมื่อเดินบนเส้นทางไปเรื่อยๆ ผ่านการฝึกฝนปฏิบัติ ความประทับใจแรกจะพัฒนาสู่ความหมายและการเติบโตของคำว่า “โพธิจิต” ที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะช่วยให้คนอื่นได้ตื่นรู้และเห็นความหมายของชีวิต โดยพร้อมที่จะเผชิญกับอุปสรรคนานา

“เรารู้สึกว่าวิถีนี้มันช่างนำพาเราไปโดยไม่ให้สนใจจุดมุ่งหมายของตัวเองเลย เป้าหมายของตัวเองมันไม่มี เพราะเป้าหมายของเราและชีวิตอื่นคือสิ่งเดียวกัน นั่นคือการหลุดพ้น อีกสิ่งที่ประทับใจมากๆ ตั้งแต่วันแรกคือคำว่าคุรุ สิ่งที่คุรุทำให้กับศิษย์ เราไม่ต้องไปหาพระโพธิสัตว์ที่ไหนไกลเพราะท่านอยู่กับเราตรงนี้แล้ว เราพบกับท่านในฐานะบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดัง และการที่เรามีเขาอยู่ เราจึงเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ใช่หน้าตาของท่าน ไม่ใช่เสื้อผ้าที่ท่านสวมใส่ หมวกที่ท่านมี หรือบัลลังก์ใหญ่ที่ท่านได้รับ แต่มันคือหัวใจที่ท่านพร้อมจะให้กับศิษย์ เพราะท่านอุทิศตัวเองที่จะช่วยเราและคนอื่น”

“เมื่อเราฝึกวัชรยาน ขอให้เราเปิดกว้าง อย่ารีบหาคำตอบสำหรับสิ่งใด เพราะความเข้าใจนั้นไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูป มันเป็นเพียงคำตอบของคนอื่นหรือเป็นการท่องจำข้อความในหนังสือ ความเข้าใจในวัชรยานจะมาพร้อมกับความเข้าใจในความหมายของสายสัมพันธ์คุรุ-ศิษย์ หรือความเข้าใจเรื่องโพธิจิต ซึ่งแม้จะสวดมนตราเป็นแสนๆ ครั้งก็อาจจะยังไม่เข้าใจ เพราะความเข้าใจเกิดขึ้นผ่านการเปลี่ยนจากข้างใน ไม่ใช่เรื่องของจำนวนการสวดมนตรา”

อ.กฤษดาวรรณเล่าย้อนไปถึงก้าวแรกที่ตัดสินใจเดินบนเส้นทางของการทำงานทางธรรม ที่จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 20 มาแล้ว

“ไม่เคยเลยที่จะรู้สึกว่าเวลาที่ผ่านมาเป็นสิ่งน่าเสียดาย แต่อาจจะมีวันที่รู้สึกกังวลบ้างว่าเราจะไปอย่างไรต่อ เพราะเราไม่เคยได้วางแผนเส้นทางเอาไว้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นมันคือการลงมือทำมาตลอด คิดจะทำแล้วก็ทำเลย บางวันจึงอาจจะมีความกังวลเกิดขึ้นมาบ้างซึ่งมันมาแล้วก็ผ่านไป แต่ความสุข ความเบิกบาน ความสบายใจมีเยอะมาก ทั้งยังภูมิใจที่เราได้นำคำสอนเหล่านี้มาบอกเล่าแก่ผู้อื่น”

ด้านของวิจักขณ์เล่าว่า เมื่อได้ก้าวขาเข้าสู่โลกวัชรยานแล้ว ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเด่นชัดคือ “Enlightenment is real” ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตล้วนแต่เป็นเส้นทางที่พาเราไปสู่การตื่นรู้

“การตรัสรู้ การรู้แจ้ง การสัมพันธ์กับครูบาอาจารย์ สายปฏิบัติ สังฆะ หรือแม้แต่จักรวาลที่ทำงานกับเราในแต่ละขณะ มันไม่ได้เป็น myth อีกต่อไป ทุกสถานการณ์ที่เราต้องเข้าไปสัมพันธ์ด้วย อุปสรรค ความท้าทาย และปัญหาทั้งหมด คือส่วนสำคัญของเส้นทางสู่ Enlightenment เมื่อฝึกวัชรยาน เรารู้สึกได้จริงๆ ว่าทั้งหมดทั้งปวงที่เข้ามาทำงานกับเรา มาช่วยให้เราหลุดพ้น คำว่า “ตรัสรู้” ที่เคยอ่าน เคยเรียน เคยได้ยิน แต่ลึกๆ ยังไม่เชื่อว่ามันเป็นไปได้จริง แต่วัชรยานทำให้สัมผัสได้จริง เราอยู่ในมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์ อยู่ในอ้อมกอด การเกื้อหนุน และความรักของครูบาอาจารย์ และพรที่ส่งมาอย่างไม่ขาดสาย”

“ในการทำงานทางธรรม ผมก็รู้สึกคล้ายกับ อ.กฤษดาวรรณ คือบ่อยครั้ง ไม่รู้จะไปต่อยังไง แต่แล้ว ก็มักจะมีสัญญาณ หรือสิ่งนำทางเกิดขึ้นในชีวิตอยู่โดยตลอด หลายคนอาจคิดว่าที่ทำมูลนิธิวัชรปัญญา สร้างสังฆะ ทำวัชรสิทธา หรือโครงการต่างๆ มาจากการวางแผน แต่จริงๆ ผมไม่เคยวางแผนอะไรสักอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนคือ พรจากครูบาอาจารย์”

“เหมือนจู่ๆ เราก็หลุดเข้าไปอยู่ในวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ของครูบาอาจารย์ จนทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้อีกแล้ว เพราะนี่คือสิ่งที่งดงามและมีค่าที่สุด ซึ่งจริงๆ ตัวเองก็ไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่จะมาทำอะไรแบบนี้เลยนะ แต่รู้ตัวอีกทีก็ทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว ตอนกลับไทยมาใหม่ๆ ยังมีความลังเลนะว่าจะทำอะไรดี แต่ทั้งหมดเริ่มต้นด้วยความปรารถนาที่จะถ่ายทอดสิ่งที่เรียนมาจากอาจารย์ให้กับคนอื่น เพราะมันคือสิ่งมีค่ามาก ที่เราไม่อยากให้มันหายไป”

นอกจากนี้วิจักขณ์ยังเสริมว่า จริงๆ แล้ววัชรยานมีฐานเป็นมหายาน ซึ่งก็คือโพธิจิต หรือศักยภาพของจิตใจที่เปิดกว้าง โอบรับทุกความเป็นไปได้ ทุกแง่มุมของมนุษย์ ทั้งในตัวเราเองและคนอื่น วัชรยานจะยิ่งทำให้โพธิจิตนี้เบ่งบานและเปล่งประกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่งดงามและมีค่ายิ่ง

“วัชรยานจะมีความภูมิใจเรื่อง unbroken lineage หรือ “ความไม่ขาดสาย” ของสายปฏิบัติ เพราะวัชรยานเป็นธรรมะที่มีชีวิต ส่งผ่านจากจิตสู่จิต เป็นธรรมะที่มอบให้กันด้วยความรัก เหมือนที่อาจารย์กฤษดาวรรณบอกว่า คำสอนวัชรยานต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนักเพื่อที่จะได้รับมา ในแต่ละรุ่นมีคนที่อุทิศตนเพื่อรับและส่งต่อสิ่งนี้ ซึ่งเมื่อผมเองก็ไปรับมาแล้ว เราเลยไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้นอกจากหาวิธีส่งต่อมันให้กับคนอื่น ซึ่งแม้มันจะยาก ก็ถือเป็นเกียรติของชีวิตนะ ที่ได้ทำสิ่งนี้”

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 28, 2023, 12:39:40 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


แนวทางการสอนและฟูมฟักสังฆะ

อ.กฤษดาวรรณ เล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีมันเกิดจากแรงบันดาลใจในการปฏิบัติ จากนั้นจึงนำไปสู่ความสนใจในการสร้างสถานปฏิบัติภาวนาแบบวัชรยาน ที่ที่สามารถกราบอัษฎางคประดิษฐ์ สวดบริกรรมมนตราแบบทิเบต โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าคนจะเข้าใจหรือไม่ จึงเริ่มมองหาที่ดินจนมาพบที่ดินในอำเภอหัวหินบ้านเกิด หลังจากนั้นก็ได้ลงมือสร้างสถานที่ เมื่อสถานที่เริ่มพร้อม จึงทำหลักสูตรการเรียนการสอนของพันดาราขึ้น

 “คอร์สแรกที่เปิดคือคอร์ส ‘เตรียมตัวตาย’ โดยเอาคัมภีร์มรณศาสตร์ของทิเบตมาสอน ซึ่งตอนแรกก็สอนไม่เป็น เพราะไม่เคยไปเรียนคอร์สแบบนี้ ที่ผ่านมาเราเรียนจากครูบาอาจารย์ชาวทิเบต เวลาที่ฝึกหรือจำศีลก็ฝึกคนเดียว พอวันหนึ่งต้องมาเปิดคอร์สสอนก็ทำไม่เป็น จึงลองผิดลองถูก ตั้งแต่การทำแบบกระบวนกร ฉายภาพยนตร์ เล่นเกม ฯลฯ ซึ่งสุดท้ายมันก็เหมือนจะไม่ใช่ทางที่เราถนัดและสนใจ”

“จนวันหนึ่งเกิดความรู้สึกว่าแบบนี้ไม่ใช่เรา เราอยากสอนธรรมะแบบที่ลงลึกจริงๆ จึงตัดสินใจว่าเราจะสอนแบบที่เราเคยเรียนมา ซึ่งหลังจากนั้นก็ปรากฏว่ามีคนมาเรียน และหลายคนก็ยังอยู่ด้วยกันมาจนถึงทุกวันนี้ เราเลยได้พบว่าเราต้องนำสิ่งที่เราถนัด สิ่งที่หล่อหลอมความเป็นเราออกมา แล้วเราจะทำมันได้ดีที่สุด เราจะสอนคนอื่นได้ ถ้าเราใช้ประสบการณ์และองค์ความรู้ของเราเอง ตั้งแต่นั้นเราก็เริ่มทำหลักสูตรของพันดาราเรื่อยมา”

เป็นเวลากว่าทศวรรษที่มูลนิธิพันดารามีสังฆะที่ฝึกฝนกันอย่างต่อเนื่อง โดย อ.กฤษดาวรรณ และ อ.เยินเต็น ได้พาลูกศิษย์เรียนรู้คำสอนในระดับที่ลงลึกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง อ.กฤษดาวรรณ เชื่อว่าวันหนึ่งคนในสังฆะจะสามารถเกิดความเข้าใจในธรรมชาติของ “จิตเดิมแท้” และพร้อมเป็นผู้สืบทอดคำสอนต่อไป

“ผู้สืบทอดคำสอนจะต้องมีใจที่กว้างใหญ่ ต้องละทิ้ง 7 เก่าๆ ที่ไม่ใช่วิธีคิดแบบมหายานไป เพราะการที่จะเป็นครูทางธรรมของวัชรยาน จะต้องมีความเข้าใจในมหายาน ต้องเชื่อมั่นในความเท่าเทียม ทั้งกับมนุษย์รวมไปถึงสัตว์ทั้งหลาย เราต้องให้ทุกชีวิตอยู่ในอ้อมแขนของเรา มันเป็นอะไรที่ท้าทาย สนุก และเบิกบานใจ พันดารามีวิธีการเช่นนี้ในการสร้างครูสอนธรรม เพื่อให้คำสอนได้งอกงามในรุ่นต่อๆ ไป”

วิจักขณ์เสริมในส่วนนี้ว่า “ฟังอาจารย์กฤษดาวรรณแล้วรู้สึกเหมือนกันว่า เส้นทางของครูสอนธรรมะ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางทีผู้เรียนอาจมีความคิดว่าจะต้องไปเรียนธรรมะกับคนที่ ‘ถึงแล้ว’ แต่ในวัชรยาน เส้นทางของการเป็นอาจารย์มีความน่าสนใจ เพราะคำสอนหรือกระบวนการที่เราเอามาใช้กับศิษย์ก็วิวัฒน์ไปพร้อมๆ กับประสบการณ์ที่มากขึ้นของเรา Enlightenment is real และ Transformation ที่เกิดขึ้นบนเส้นทางก็ real ด้วยเช่นกัน”

ในสังฆะวัชรปัญญา วิจักขณ์ใช้รูปแบบวิธีการถ่ายทอดที่ต่างออกไป หากใครรู้จัก เชอเกียม ตรุงปะ มาบ้าง อาจพอทราบว่าตรุงปะเลือกที่จะถอดความเป็นทิเบตออกจากธรรมะ อีกทั้งได้ simplify และ minimalize องค์ประกอบของพุทธศาสนาวัชรยาน ในการสื่อสารกับลูกศิษย์ชาวตะวันตก โดยท่านได้เลือกใช้ทรรศนะแบบ ‘ไตรยาน’ เป็นเส้นทางหลักในการสอน

การเรียนการสอนในสังฆะวัชรปัญญา จึงถอดรูปแบบจากสิ่งที่วิจักขณ์ได้รับมาจากธรรมาจารย์เรจินัลด์ เรย์ (ศิษย์ของ เชอเกียม ตรุงปะ) เป็นระบบการฝึกแบบไตรยานที่ต้องเรียนรู้วิวัฒนาการของเส้นทางจิตวิญญาณในสามขั้น ได้แก่ หินยาน มหายาน และวัชรยาน


“ช่วงเริ่มต้น ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะสอนอย่างไร ก็สอนแบบที่เรียนมา คือเอาเทคนิค bodywork หรือ somatic meditation ที่อาจารย์ของผมพัฒนาขึ้นมาถ่ายทอด แม้ดูจากภายนอกอาจจะไม่ทิเบตเลย และไม่วัชรยานเลย แต่สำหรับผม bodywork หรือ somatic meditation มีความเป็นวัชรยานในตัวเอง มันคือกระบวนการที่สอนให้เราได้สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับปัญญาญาณหรือศักยภาพของการตื่นรู้ในกาย ทำความรู้จัก subtle Body ปราณ ช่องกลางกาย หรือ จักระต่างๆ เพียงแต่เราจะไม่ได้ใช้ภาษาแบบนี้ในการสอนเท่านั้นเอง เราพาคนที่มาเรียนให้รู้จักร่างกายในฐานะมณฑลแห่งการตื่นรู้ มันเปลี่ยนท่าทีที่เราสัมพันธ์กับร่างกาย แล้วค่อยๆ ทำงานกับตัวเองผ่านภาวะของ embodiment รู้จักอาการเกร็ง อาการคลายในร่างกาย รู้จักพลังงานรูปแบบต่างๆ และที่สำคัญคือรู้จักธรรมชาติของ space หรือพื้นที่ว่าง อาจกล่าวได้ว่า somatic meditation พาเราไปทำความรู้จักกับ “กายโพธิจิต” นั่นเอง

“โพธิจิตถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ปฏิบัติจำนวนมากในบ้านเราที่เคยคุ้นเคยกับการภาวนาแบบเถรวาทมาก่อน การทำงานกับโพธิจิตจะพลิกเปลี่ยนท่าทีในการสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ไปพอสมควรเลย เราฝึกที่จะสัมพันธ์อยู่ในความว่าง ความเปิดกว้าง การดำรงอยู่ ณ ตรงนั้น เวลาที่เราสัมพันธ์กับผู้อื่น ในขั้นมหายาน เราจะเริ่มเชิญชวนให้ผู้ปฏิบัติเปิดตัวเองสัมพันธ์กับผู้อื่น ด้วยการมาทำงาน มารับใช้ครู รับใช้สังฆะ รับใช้พระอวโลกิเตศวร อย่างการดูแล “อวโลกิตะ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งศูนย์ภาวนาของมูลนิธิ ถือเป็นแบบฝึกหัดในการดำรงอยู่ตรงนั้นเพื่อผู้อื่น โดยไม่หวังผลลัพธ์ เป็นการฝึกที่จะไม่เอาอัตตาเป็นศูนย์กลางในการทำงานทางธรรม ดูเหมือนหลายคนจะเริ่มมีประสบการณ์และความเข้าใจคำสอนวัชรยานเพิ่มขึ้นจากการไปร่วมทีมดูแลอวโลกิตะ”







“ถ้าเรามองในแง่บวกมันคงไม่ได้มีอะไรที่ท้าทาย ทุกอย่างคือการเรียนรู้” อ.กฤษดาวรรณ เกริ่นตอบด้วยประโยคนี้ ก่อนจะเล่าต่อว่าภารกิจใหญ่ของพันดารา คือการระดมทุนเพื่อสร้างพระมหาสถูป ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นความท้าทายหรือเป็นเส้นทางก็ได้ เพราะการสร้างพระมหาสถูป คือการมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่จะเติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กับการปฏิบัติภาวนาของสังฆะ ซึ่งนอกจากภารกิจด้านนี้แล้ว อ.กฤษดาวรรณยังเล่าต่อถึงงานด้านการสอนภาวนาด้วย

“ในส่วนของการฝึกฝนภาวนานั้นค่อนข้างราบรื่น มีผู้คนที่เปิดใจและเกิดแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงตัวเองเมื่อได้ลองมาฝึกฝนปฏิบัติ บางคนได้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อจัดสรรเวลาให้กับการการจำศีลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าลูกศิษย์ในสังฆะมีความสนใจจริง

แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความท้าทายในการหาวิธีที่จะทำให้เขาเข้าใจวัชรยานจากข้างในหัวใจของเขาเอง ปัจจุบันสิ่งนี้ยังไม่สามารถเกิดได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะแต่ละคนก็มีพื้นฐานหรือ framework เดิม เวลาที่เขาเจอปัญหา เขายังไม่ได้มองโลกจากมุมมองแบบวัชรยานทั้งหมด เขาจะมีมุมมองแบบนั้นเพียงตอนที่ฝึกฝนในขทิรวัน แต่เวลาที่เขาได้เจอความทุกข์ หรือสถานการณ์ในการทำงาน เขาจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบที่อาจจะไม่ได้มาจากมุมมองแบบวัชรยาน ซึ่งตรงนี้ก็อาจมองได้ว่าเป็นความท้าทายในแง่ของสังฆะ เราต้องเอาจิตวิญญาณใหม่หรือสิ่งที่เราเรียนรู้จากวัชรยานมาใช้เป็น framework ของชีวิต ซึ่งนี่เป็นโจทย์ที่เราจะต้องทำงานกันต่อ”

 ด้วยปณิธานและการทำงานกับโจทย์ใหม่ๆ บนเส้นทาง ในปีนี้มูลนิธิพันดาจึงได้ริเริ่มการสร้างโรงเรียนที่มีลักษณะเป็น “ห้องภาวนา” ในกรุงเทพฯ ที่ชื่อ “เตเช็น” ซึ่งแปลว่า มหาสุข

“พวกเราสองสังฆะอาจทำอะไรที่สวนทางกัน ปีนี้วัชรปัญญากำลังจะกลับไปสู่ป่า ส่วนเรากำลังจะเข้ามาในเมือง เพราะเราพบว่าลูกศิษย์ 95 เปอร์เซ็นต์มาจากกรุงเทพ แล้วทุกคนก็ต้องผ่านทุกข์โศกในแต่ละวัน บางวันอาจพบความสูญเสีย บางวันอาจได้รับสิ่งที่ยิ่งใหญ่แล้วอยากบอกกล่าวครูหรือเพื่อน แต่ก่อนหน้านี้เราอยู่ไกลกัน ในปีนี้เราจึงตัดสินใจว่าจะสร้างพื้นที่ที่เราพบปะกันได้ในกรุงเทพฯ และเราอยากให้มองว่าที่แห่งนี้จะเป็นบ้านอีกหนึ่งหลังสำหรับสังฆะวัชรปัญญาด้วย”

ด้านวิจักขณ์เสริมว่าสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานทางธรรม คือจะต้องไม่ละทิ้งการปฏิบัติของตัวเอง คือทำงานไปด้วยปฏิบัติไปด้วย ซึ่งผู้เรียนธรรมะในบ้านเราอาจมีมุมมองที่ต่างออกไป เช่น การมองว่าครูสอนธรรมะจะต้อง “ถึง” ก่อนถึงจะออกมาสอนคนอื่นได้ แต่ในวัชรยานจะมองเรื่องนี้ต่างออกไป โดยมีมุมมองว่าตัวครูผู้สอนเองก็มีเส้นทางการฝึกฝนเรียนรู้ในแบบของครู สอนไปด้วย ปฏิบัติไปด้วย พัฒนาการรู้แจ้งให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นจากการเปิดสัมพันธ์กับสถานการณ์

นอกจากนี้วิจักขณ์ยังพูดถึงข้อจำกัดด้านอื่นๆ ในการสอนวัชรยานในไทย ที่ยังถือเป็นสิ่งใหม่ในทุกๆ มิติ ตั้งแต่ระดับปัจเจกที่เป็นเงื่อนไขส่วนตัวของผู้สอน การสื่อสารออกไปสู่ผู้เรียนหรือสังคมภายนอกที่อาจจะยังไม่เข้าใจเนื้อหาหรือแนวทางแบบวัชรยาน แต่ทั้งหมดนี้วิจักขณ์มองว่ามันไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นกระบวนการที่จำเป็นและท้าทาย ที่ทั้งตัวผู้ที่นำคำสอนมาถ่ายทอด ศิษย์ สังฆะ จะต้องทำงานอย่างเข้มข้นไปด้วยกัน นั่นคือหนทางเดียวที่การเติบโตและหยั่งรากของความเข้าใจในคำสอนวัชรยานที่จริงแท้จะเกิดขึ้นได้

“เรากำลังสื่อสารสิ่งใหม่ วัชรยานไม่มีจุดอ้างอิงให้เลย ไม่มีอะไรการันตี ยิ่งการสื่อสารคำสอนวัชรยานในวัฒนธรรมใหม่ด้วยยิ่งไม่มีจุดอ้างอิงไปใหญ่ อาจมีช่วงเวลาที่เราไม่แน่ใจว่าจะไปยังไงต่อ ทำไมเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น สอนแบบนี้ถูกไหม แต่พอเราวางใจได้ ประสบการณ์จะช่วยขัดเกลาเราไปเรื่อยๆ พอวางใจได้มากขึ้น ทั้งในการสอนและในการงานทางธรรม เราจะเริ่มเห็นว่า ทั้งหมดคือกระบวนการที่ครูบาอาจารย์กำลังทำงานกับเรา พอมองย้อนกลับไป ไม่มีเหตุการณ์ไหนเลยที่เป็นเรื่องบังเอิญ หรือเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเสียเวลา ทุกอย่างเป็นปัจจัยที่ทำให้เราเป็นแบบนี้ เป็นอาจารย์แบบนี้ ทำงานกับคำสอนแบบนี้ เกิดสังฆะแบบนี้ เกิดการงานทางธรรมแบบนี้ เจอความท้าทายแบบนี้ …ซึ่งมันวิเศษมาก”

วิจักขณ์พูดถึงความเฉพาะตัวของผู้ปฏิบัติแต่ละคนว่า ไม่มีใครเหมือนกันเลยแม้แต่คนเดียว ทุกคนต่างมีกรรมต่างกัน นั่นทำให้ทุกชีวิตมีเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัว ซึ่งน้่นดูจะเป็นสิ่งที่การรู้แจ้งในระดับวัชรยานสนใจ

“เราต้องซื่อตรงกับสิ่งที่เราเป็น เราก็ไม่รู้หรอกว่าไปเอาความมั่นใจมาจากไหนถึงกล้าทำสิ่งที่ทำอยู่ แต่ถ้ามีอะไรสักอย่างที่ภูมิใจในการทำบทบาทนี้ คือเราเป็นตัวเอง …เพราะเป็นคนอื่นไม่ได้จริงๆ (ฮา) แล้วสิ่งนี้ทำให้คนที่มาเรียนกับเรากล้าที่จะเป็นตัวเองด้วย เราสร้างสังฆะกันโดยที่ไม่ได้พยายามที่จะทำให้คนออกมาเหมือนๆ กัน แต่เราจะเป็นวัชรสังฆะที่ทุกคนสามารถสำแดงความจริงแท้ออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือลบ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้เป็นสิ่งงดงามที่กำลังปลดปล่อยเรา ให้กลายเป็นแสงสว่างที่นำไปมอบให้แก่ผู้คนที่ต้องการได้”

วิจักขณ์ยังเห็นว่าสถานการณ์ในสังคมไทยตอนนี้ถือเป็นช่วงวิกฤติทางจิตวิญญาณ การที่ทั้งสองสังฆะเริ่มต้นการงานทางธรรมมากว่าทศวรรษ กระทั่งเติบใหญ่ขึ้น วันหนื่งเมื่อผู้คนต้องการ ก็จะออกดอกออกผลได้ทันการพอดี

“เราจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ ต้องเผชิญกับความทุกข์ของโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะโรคซึมเศร้า ความอยุติธรรมทางการเมือง สถาบันทางศาสนาที่พึ่งพาไม่ได้ สถาบันครอบครัวที่ล่มสลาย สุดท้ายเขาไม่มีที่พึ่งอะไรเลย แทบไม่มีต้นทุนทางสังคมใดๆ เหลือให้พวกเขาใช้ได้อีกแล้ว”

เป็นคำถามทิ้งท้ายให้กับสองสังฆะวัชรยาน ว่าเราจะสร้างต้นทุนแบบไหนให้กับคนรุ่นต่อไปดี ความทุกข์บนโลกใบนี้มีมากมายเหลือเกิน เราจะสร้างสังฆะกันยังไง ที่จะทำให้คนรุ่นต่อไปสามารถมาเก็บเกี่ยวดอกผลได้ทัน โดยที่ไม่ต้องมานั่งไถพรวนดินแบบรุ่นเรา หากมองในแง่นี้ “หยั่งรากวัชรยาน” อาจหมายถึงพันธกิจร่วมกันบางอย่างในฐานะผู้ปฏิบัติ การปฏิบัติภาวนาจะช่วยพัฒนาเราให้มองเห็นภาพใหญ่นั้นร่วมกันได้ เป็นการแชร์วิสัยทัศน์แห่ง enlightenment กับครูบาอาจารย์ การค้นพบศักยภาพแห่งตื่นรู้ในตัวเองและในสรรพชีวิต ที่ไปพ้นจากเส้นแบ่งของสายปฏิบัติ กระทั่งไปพ้นความเป็นพุทธศาสนาเสียด้วยซ้ำ





++++++++++++++++++++++++++++++++

หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซท์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8






วัชรสิทธา

สถาบันวัชรสิทธา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน
จาก https://www.vajrasiddha.com/article-sewanavajrayana/


<a href="https://www.youtube.com/v//DdoJjxf6p0k" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v//DdoJjxf6p0k</a>

https://youtu.be/DdoJjxf6p0k?si=Cu6KPmkH1Gu3DWtL

Playlist อีกมากมาย ตามไปเลย https://youtube.com/@vajrasiddha?si=jFdwKhszg3pzoThD
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 28, 2023, 12:42:14 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...