ผู้เขียน หัวข้อ: ไซอิ๋ว สายเลือดบริสุทธิ์ ภาวะผู้นำครอบครัว (มีอะไรใน Dragon Ball )  (อ่าน 95 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
มีอะไรใน Dragon Ball ตอนที่ 1 : กระจกสะท้อนวรรณกรรม ไซอิ๋ว



“Dragon Ball หนึ่งในการ์ตูนที่ได้รับความนิยมทั่วโลก แม้จะมีโทนเรื่องที่เน้นการต่อสู้ แต่ผู้เขียนกลับ
แทรกแนวคิดและคติความเชื่อทางศาสนาเอาไว้ได้อย่างแนบเนียน”


หลายท่านคงจะเคยอ่าน Dragon Ball ผลงานมาสเตอร์พีซของ อาจารย์ โทริยามะ อากิระ กันใช่ไหมครับ การ์ตูนในตำนานเรื่องนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากนักอ่านทั่วโลก ไม่ว่าจะแปลเป็นภาษาอะไรก็ล้วนแต่ขายดิบขายดี ในญี่ปุ่นเอง Dragon Ball เป็นหนึ่งในการ์ตูนที่ได้รับความนิยมและมียอดจำหน่ายมากกว่า 300 ล้านเล่ม และเมื่อถูกแปลเป็นภาษาอื่น ก็ยังคงความนิยมในระดับต้น ๆ เช่นกัน

ว่าแต่รู้สึกกันไหมว่า อ.โทริยามะ แกแอบแทรกแนวคิดอะไรหลาย ๆ อย่างลงไปใน Dragon Ball ไม่ว่าจะด้วยความจงใจหรือไม่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดมากคือเรื่องของความเชื่อทางศาสนาที่แทรกเข้าไปในเนื้อเรื่องได้อย่างแนบเนียน


ที่มา : https://www.okaygotcha.com/2021/05/the-new-official-dragon-ball-website.html

หากจำกันได้ในตอนต้นจะว่าด้วยการออกตามหา ลูกแก้ววิเศษทั้งเจ็ด ซึ่งสมาชิกในแก๊งต้องเดินทางไกลผจญภัยต่าง ๆ มากมาย อาจารย์หมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยวิเคราะห์ไว้ในหนังสือชุด การ์ตูนที่รัก (ประเสริฐ, 2554) ว่าการเดินทางในช่วงต้นของ Dragon Ball ไม่ต่างอะไรกับการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกของพระถังซัมจั๋งในเรื่อง ไซอิ๋ว ซึ่งที่แท้จริงแล้ว อ.โทริยามะ เองก็ยอมรับว่าเขาได้นำเอาพล็อตไซอิ๋วมาใช้จริง ๆ


ที่มา : https://www.asialogy.com/dragon-ball-hakkinda-bilmediginiz-50-sasirtici-sey/

“พระถัง” อาจเปรียบได้กับ ศรัทธา “เห้งเจีย” คือ ปัญญา “ตือโป๊ยก่าย” คือ ศีล “ซัวเจ๋ง” คือ สมาธิ ศีล/สมาธิ/ปัญญา ต้องพร้อมกันทั้งหมด โดยมีศรัทธานำ หลายหนที่ตัวละครบางตัวออกนอกลู่นอกทาง เช่น เจ้าหมูตือโป๊ยก่ายลุ่มหลงไปกับอบายมุข หรือเห้งเจียที่ดื้อด้านเอาแต่ใจ นั่นจึงทำให้การเดินทางเกิดอุปสรรค ศรัทธาเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถนำพาไปสู่จุดหมายได้สำเร็จ แต่องค์ประกอบทุกอย่างต้องสอดคล้องและรวมเป็นหนึ่งเดียว

ขณะที่ใน Dragon Ball เราอาจเปรียบ บลูม่า เป็นศรัทธา หรือ พระถัง เพราะเจ้าหล่อนมุ่งมั่นจะขอพรจากเทพเจ้ามังกร (นางอยากได้แฟนหล่อ ๆ ซักคน) เช่นเดียวกับพระถังที่แน่วแน่ในการเดินทางไปชมพูทวีป โงกุน คือตัวแทนของเห้งเจีย เพราะเป็นลิง (มีหาง) มีพลังพิเศษ เจ้าหมูอูรอน คือตือโป๊ยก่ายที่ผิดศีลเป็นประจำ ยามุชา คือซัวเจ๋งที่กลัวผู้หญิงเหมือนกัน ระหว่างการเดินทางก็จะมีเรื่องให้ทะเลาะกันเสมอ ๆ แต่เมื่อเจอสถานการณ์คับขันก็จะกลับมาสามัคคีกันดังเดิม

สำหรับตัวละครเอกอย่าง โงกุน กับ เห้งเจีย นั้น มีทั้งความเหมือนและความต่างที่อาจเป็นไปตามไอเดียของ อ.โทริยามะ เห้งเจียในไซอิ๋วอยากจะอยู่ยงคงกระพันไม่เจ็บไม่แก่ จึงไปฝึกวิชากับเซียนจนมีอิทธิฤทธิ์เก่งกล้า แล้วก็เกิดผยองออกอาละวาดไปทั้งสวรรค์ จนพระยูไลต้องเสด็จลงมาปราบจึงจะสงบลงได้ แต่กิริยาก้าวร้าวนี้เกิดขึ้นกับโงกุนแค่ช่วงแรก ๆ เท่านั้น การถือกำเนิดก็คล้ายกัน เมื่อหินพันปีแตกออกจึงเกิดเป็นเห้งเจีย ก็คล้ายกับยานอวกาศที่ระเบิดออกแล้วพบว่ามีทารกโงกุนอยู่ภายใน คุณปู่ซุนโกฮังจึงเก็บมาเลี้ยงด้วยความเอ็นดู แต่เด็กคนนี้กลับดื้อซนมีกำลังมาก อาละวาดไม่อยู่นิ่ง จนวันหนึ่งเกิดพลัดตกจากหุบเขาหัวกระแทกพื้นอย่างแรง พอคืนสติก็กลายเป็นเด็กเรียบร้อยว่านอนสอนง่าย เห็นได้ว่าพัฒนาการด้านพฤติกรรมของทั้งสองตัวละครมีความคล้ายกันอยู่คือจากก้าวร้าวแล้วค่อยสงบ




ในไซอิ๋วนั้นยังไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าเห้งเจียนั้นนิสัยลึก ๆ เป็นอย่างไรแน่ เขาสงบลงเพราะถูกกำราบจากผู้ที่เหนือกว่า (พระยูไลและเจ้าแม่กวนอิม) อาจหมายความว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้ยอมด้วยใจแต่ยอมเพราะสู้ไม่ได้ เพราะหลายหนที่เห้งเจียแอบไปสร้างความปั่นป่วนชวนปวดหัวให้พระถังต้องคอยดุด่า ขณะที่ใน Dragon Ball โงกุนกลับมีนิสัยไปในทางไม่เดียงสาต่อโลก หากจะวัดความใสสะอาดของจิตใจก็ดูได้จาก เมฆสีทอง ที่ถูกกำหนดไว้ว่าผู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์เท่านั้นจึงจะขี่มันได้ ซึ่งมีตัวละครใน Dragon Ball ไม่กี่ตัวที่ได้สิทธิขี่เมฆสีทอง ขณะที่เมฆวิเศษของเห้งเจียนั้นใช้อิทธิฤทธิ์ล้วน ๆ ความดีความเลวไม่เกี่ยวกัน

คติความเชื่อขงจื๊อ เต๋า และพุทธ รวมเป็นแนวคิดและวิถีปฏิบัติของสังคมจีน มีคติขงจื๊อเป็นแก่นในการชี้นำดำรงตนให้อยู่ในกรอบจารีต มีคติเต๋าและพุทธเป็นเครื่องค้ำชูจรรโลงจิตใจ (สุรสิทธิ์, 2564) ซึ่งทั้งหมดที่ปรากฎในไซอิ๋วก็ถูกนำมาใช้ใน Dragon Ball เช่นกัน ในไซอิ๋วมีการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกเป็นแกนหลักของเรื่อง ระหว่างทางจะมีอุปสรรคมากมายคอยขัดขวางและเป็นบททดสอบทางจริยธรรมและศีลธรรม เช่นเดียวกับใน Dragon Ball ต่างกันตรงที่เป็นการเดินทางตามหาลูกแก้ววิเศษ ความเชื่อเรื่องลัทธิเต๋าในไซอิ๋ว เช่น ยาอายุวัฒนะ ก็พบใน Dragon Ball แต่เปลี่ยนเป็นการขอพรให้มีชีวิตเป็นอมตะ หรือความเชื่อเรื่องเทพเจ้า ก็เปลี่ยนเป็น เทพเจ้ามังกร หรือ พระเจ้า ใน Dragon Ball ที่มีอิทธิฤทธิ์เหนือมนุษย์ รวมถึงความเชื่อในคติขงจื๊อที่มุ่งเน้นคุณธรรมและความกตัญญู ก็พบได้ในเกือบทุกตอนของ Dragon Ball

ในภาคแรกของ Dragon Ball เราจับสังเกตได้ไม่ยากเลยว่าแนวทางของเรื่องเดินตามรอยของไซอิ๋วแบบไม่มีปิดบัง จนกระทั่งเข้าสู่ภาคที่สอง แม้แก่นของเรื่องจะเปลี่ยนเป็นโทนการต่อสู้เต็มรูปแบบ แต่ อ.โทริยามะ อากิระ ก็ยังคงแทรกคติธรรมและแนวคิดทางศาสนาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง

จาก https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=629

<a href="https://www.youtube.com/v//j1NqxqkA_rE" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v//j1NqxqkA_rE</a> 

https://youtu.be/j1NqxqkA_rE?si=oUDDQGJWTRWcA_6s

เด๋วมาต่อ อีกสองตอน :yoyo100:

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 10, 2024, 10:15:14 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
มีอะไรใน Dragon Ball ตอนที่ 2 : ภาวะผู้นำครอบครัว



“ครอบครัว” เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิต ไม่ว่าจะสังคมใดต่างให้ความสำคัญอย่างที่สุด หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมนี้จะดำรงอยู่ได้ด้วยปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ นอกจากจะอยู่รอดแล้วยังมีอิทธิพลต่อชีวิตของสมาชิกแต่ละคนด้วย

ในการ์ตูน Dragon Ball เราใกล้ชิดและผูกพันกับตัวละครเอก โกคู ตั้งแต่เป็นเด็กกำพร้าจนกระทั่งเติบใหญ่มีครอบครัวจนถึงเป็นคุณปู่ในตอนท้ายสุด ตามโครงสร้างทางสังคมของญี่ปุ่นก็คงนับว่าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ครอบครัวหนึ่ง แต่หากพิจารณาตามประสาคนคิดมากอย่างผู้เขียน ก็ยังสงสัยว่าเขาได้ทำหน้าที่ “ผู้นำครอบครัว” ได้ดีเพียงพอหรือยัง (บทความนี้อ้างอิงถึงเนื้อหาที่สิ้นสุดใน Dragon Ball Z เท่านั้น)

ครอบครัวญี่ปุ่น

โครงสร้างของครอบครัวในสังคมญี่ปุ่นหรือจะสังคมไหน ๆ ก็มีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือผู้ชายเป็นใหญ่ในฐานะ “ผู้นำครอบครัว” มาตั้งแต่เริ่มต้น ในสังคมญี่ปุ่นยุคเก่าครอบครัวมีธรรมเนียมการสืบทอดโดยผู้ชายซึ่งไม่ค่อยมีความผูกพันทางอารมณ์มากนัก (ดุสิต, 2536) เนื่องจากผู้ชายต้องออกไปทำสงครามหรือไม่ก็ทำงาน แต่เขาจะเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในครอบครัว ดูแลและหาทรัพย์สิน จึงทำหน้าที่เสมือนผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในการดูแลและต้องรับผิดชอบครอบครัว ผู้นำครอบครัวจึงได้อภิสิทธิ์บางอย่างเหนือผู้อื่นในครอบครัว ซึ่งยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กินข้าวก่อนคนแรก ตำแหน่งการนั่งบนโต๊ะอาหาร ได้แช่น้ำก่อนคนแรก มีอำนาจเด็ดขาดในการอนุญาตหรือไล่สมาชิกคนใดคนหนึ่งให้อยู่หรือออกจากบ้าน ขณะที่ภรรยาอยู่ในฐานะต่ำสุดในบ้าน ทำงานทุกอย่างภายในบ้าน ตื่นนอนก่อน ทำอาหาร ต้มน้ำอาบ แต่ได้อาบหลังสุด

ตำแหน่งผู้นำครอบครัวจะส่งผ่านไปยังลูกชายคนโต เมื่อแต่งงานจะยังได้สิทธิ์อยู่ในบ้านของพ่อแม่เพื่อสืบสายครอบครัวโดยตรง ลูกชายคนอื่นจะแยกไปสร้างครอบครัวของตนเองเป็นครอบครัวสาขา ธรรมเนียมนี้ยังคงดำรงอยู่ในสังคมญี่ปุ่น แม้จะไม่เคร่งครัดเหมือนก่อนก็ตาม ยุคเกษตรกรรมในอดีต สิทธิ์สำหรับลูกชายคนโตเป็นที่น่าอิจฉาในหมู่พี่น้อง เพราะจะได้ครอบครองที่ดิน บ้าน และอำนาจการปกครองของครอบครัว มีสิทธิ์ที่จะขับไล่สมาชิกออกจากครอบครัว ในยุคปัจจุบันก็ยังคงธรรมเนียมให้ลูกชายคนโตสืบทอดกิจการของครอบครัว จนกระทั่งยุคสมัยเปลี่ยนแปลง สิทธิ์ของลูกชายคนโตที่ต้องสืบทอดตำแหน่งผู้นำครอบครัวเริ่มไม่น่าอิจฉาเหมือนเดิม เพราะต้องแบกรับภาระทุกอย่างไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เพราะนั่นหมายถึงการทำลายครอบครัว ขณะที่พี่น้องคนอื่น ๆ แยกตัวออกไปเรียนต่อหรือทำงานได้อย่างอิสระ

จะเห็นได้ว่าหน้าที่ของ “ผู้นำครอบครัว” ในสังคมญี่ปุ่น ต้องแบกรับความรับผิดชอบมากมาย อยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลไม่ว่าจะเป็นการสานต่อกิจการ การดูแลทุกข์สุขของสมาชิก หาเงินเข้าบ้าน รักษาตระกูลให้มั่นคง ยิ่งในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมถูกคลายเกลียวไปมาก คนญี่ปุ่นสร้างครอบครัวเดี่ยวมากยิ่งขึ้น ถอยหากจากครอบครัวหลัก หรือกระทั่งเกิดพฤติกรรมการอยู่ลำพัง สถิติการแต่งงานของชาวญี่ปุ่นลดลงอย่างมาก ผลก็คือสายป่านของครอบครัวถูกตัดขาด

เราเห็นอะไรในครอบครัว Dragon Ball


ตัวละครเอกในเรื่องที่สร้างครอบครัวอย่างจริงจังคือ โกคู และ เบจิต้า ซึ่ง อ.โทริยาม่า อากิระ ผู้เขียน ผสมผสานธรรมเนียมของครอบครัวญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ

โกคูแต่งงานสร้างครอบครัวกับ จีจี้ ทั้งสองมีลูกชาย 2 คน หลานสาว 1 คน คือ โกฮัง โกเท็น และ ปัง ตามลำดับ (หากนับภาคพิเศษก็จะรวม โกคูจูเนียร์ โหลนที่เกิดจากปัง) ส่วนเบจิต้าสร้างครอบครัวกับ บลูม่า มีลูกชายและลูกสาวอย่างละ 1 คน คือ ทรังคซ์ และ บูร่า สองครอบครัวรักใคร่กลมเกลียวกันดี แม้ว่าผู้นำครอบครัวจะเคยเป็นอริต่อกันก็ตาม

ในสถานะเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าทั้งโกคูและเบจิต้า อยู่ในฐานะผู้นำครอบครัวรุ่นที่หนึ่ง หรือหากจะนับเป็นครอบครัวสายตรงก็ได้เช่นกัน เพราะต่างเป็นลูกชายคนโต ทั้งคู่สร้างครอบครัวของตนเองขึ้นมาหลังจากที่ครอบครัวถูกสังหาร รวมถึงกระทั่งเผ่าพันธุ์ไซย่าทั้งหมดที่ถูกกวาดล้าง จึงอาจกล่าวได้ว่านอกจากการเป็นผู้นำครอบครัวของตัวเองแล้ว ทั้งสองยังเป็นสองคนสุดท้ายของเผ่าพันธุ์ที่เป็นสายเลือดโดยตรงของเผ่าไซย่า หรือเป็นผู้นำครอบครัวไซย่ารุ่นใหม่

ทีนี้ลองมาดูกันว่าทั้งสองทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวตามอุดมคติได้ดีเพียงใด


ครอบครัวโกคู
ที่มา https://images6.fanpop.com/image/photos/34900000/Son-Family-dragon-ball-females-34990459-720-522.jpg

สิ่งแรกที่เห็นชัดเจนที่สุดคือทั้งคู่ไม่ได้ทำงานทำการอะไรนอกจากต่อสู้ รายได้ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่มาจุนเจือครอบครัวคือเงินรางวัลจากการต่อสู้ในศึกชิงเจ้ายุทธภพ ฝั่งโกคูนั้นลำบากหน่อยเพราะเท่าที่ดูรายได้อย่างเดียวที่มีมาจากรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน (รองชนะเลิศสองครั้งในวัยเด็ก และชนะเลิศหนึ่งครั้งในวัยผู้ใหญ่) ซึ่งหลังจากนั้นเขาก็แต่งงานอยู่กินกับจีจี้จนกระทั่งเสียชีวิต เมื่อโกฮังขออนุญาตจีจี้ลงแข่งขัน เธอรีบอนุญาตทันทีเมื่อรู้ว่าเงินรางวัลชนะเลิศสูงถึงสิบล้าน “ลงแข่งเลยลูก เหมือนฟ้ามาโปรด สมบัติของพ่อใกล้จะหมดลงทุกที แม่กำลังคิดอยู่เลยว่าจะทำยังไงดี” (อนิเมะ Dragon Ball, ตอนที่ 205) ถึงตรงนี้ต้องชื่นชมความสามารถของจีจี้ในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยว ระยะเวลาสิบกว่าปี เธอสามารถประคับประคองครอบครัวด้วยรายได้อันจำกัดได้อย่างน่าทึ่ง


ครอบครัวเบจิต้า
ที่มา https://comicbook.com/anime/news/dragon-ball-super-vegeta-family-man-fan-reactions


ขณะที่ฝั่งเบจิต้าดูจะสบายมากกว่าเข้าทำนองตกถังข้าวสาร เมื่อเขาใช้ชีวิตคู่กับบลูม่า ทายาทมหาเศรษฐีนักประดิษฐ์เจ้าของ แคปซูล คอร์ปอเรชั่น เบจิต้าไม่ต้องกังวลเรื่องทำมาหากิน วัน ๆ เอาแต่ฝึกฝนวิชา (เพื่ออะไรก็ไม่รู้) ในอนิเมะตอนที่ 205 บลูม่าบ่นกับโกฮังเรื่องนี้ว่า “หมอนี่ไม่รู้จักทำงานเเหมือนพ่อเธอเลย ชาวไซย่ารู้จักทำงานกันบ้างรึเปล่านะ" แต่เธอก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะมีอันจะกินไปทั้งชาติอยู่แล้ว

เอาแค่เรื่องการหารายได้เข้าบ้าน ผู้นำครอบครัวทั้งสองบ้านต่างก็สอบตกทั้งคู่

เรื่องการดูแลครอบครัวไปจนถึงการอบรมสั่งสอนลูกยิ่งไปกันใหญ่ เมื่อผู้นำครอบครัวเอาแต่ต่อสู้อาจเพราะนั่นคือสิ่งที่ทั้งคู่ทำได้ดีที่สุดแล้วในชีวิต ภาระทั้งหมดจึงตกไปอยู่กับภรรยา นอกจากงานในฐานะแม่บ้านแล้ว จีจี้และบลูม่ายังต้องทำหน้าที่ประคับประคองครอบครัวแทนผู้นำครอบครัวที่ไม่ทำอะไร จีจี้นั้นงานหนักกว่าแยะ ตามเนื้อเรื่องเราก็ไม่ได้เห็นว่าเธอทำงานทำการอะไรเช่นกัน รายได้จึงน่าจะมาจากมรดกของพ่อ (ปีศาจวัว) และเงินที่โกคูทิ้งไว้ให้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจีจี้จึงพยายามปลูกฝังให้โกฮังทุ่มเทกับการเรียน เพื่อจะได้มีการงานทำเป็นเรื่องเป็นราว ใช้ชีวิตแบบปุถุชนทั่วไป เช่นเดียวกับบลูม่า ที่แม้จะรู้ดีว่าในอนาคต ลูกชายจะกลายเป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ แต่ขณะเมื่อโลกสงบสุข ชีวิตก็ต้องดำเนินไปด้วยการทำงานทำการเหมือนคนอื่น ในภาคท้าย ๆ เราจึงเห็นทรังคซ์ในมาดผู้บริหารบริษัทใหญ่

ตรงข้ามกับผู้นำครอบครัวที่ไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็น โกคูอาจจะพออ้างได้ว่าเพราะเขาเสียชีวิตไปแล้ว จึงใช้เวลาส่วนใหญ่ในอีกภพหนึ่ง กับโกฮังเราพอจะเห็นความผูกพันระหว่างพ่อลูกใน Dragon Ball Z ตอนต้น ๆ กับโกเท็นเราก็ยังเห็นส่วนที่อ่อนโยนและการแสดงความรักแบบไม่ขัดเขินของโกคูในตอนที่ได้พบกันเป็นครั้งแรก สวนทางเบจิต้าที่แสดงความรักไม่เป็นเอาเสียเลย เขาไม่เคยกอดลูกชายจนกระทั่งตอนใกล้จะตาย เข้าทำนองรักนะแต่ไม่แสดงออก ตรงนี้โกคูทำได้ดีกว่าด้านการแสดงความรักต่อครอบครัว ด้วยคาแร็คเตอร์ที่ถูกวางไว้ให้เป็นคนซื่อ ๆ ตรงข้ามกับเบจิต้าที่หยิ่งทะนงและไม่เคยแคร์ความรู้สึกของคนอื่น

เรามักจะได้ยินคำแนะนำทำนองที่ว่า “ทำในสิ่งที่รักไปให้สุด ๆ เลย” แต่เราลืมบอกไปหรือเปล่าว่าโลกความจริงมันไม่ได้เป็นจริงในทุกสิ่งที่เราหวัง สิ่งที่เรารักอาจไม่สามารถค้ำชูชีวิต เราอาจต้องเลือกสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตมากกว่าสิ่งที่รักด้วยซ้ำ ทั้งโกคูและเบจิต้าเลือกในสิ่งที่เขาถนัดโดยมองข้ามภาระหน้าที่หรือทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ คนหนึ่งรักการต่อสู้ มีความสุขกับการได้ประลองกับคนเก่ง ๆ อีกคนก็มุ่งมั่นเฉพาะเรื่องของตัวเองกับการฟื้นฟูเผ่าพันธุ์ เราสรุปได้ไหมว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับตัวเองมากกว่าเรื่องอื่น จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม และแบบนี้เราโทษพวกเขาได้ไหมว่าเขาสนใจเรื่องของตัวเองมากกว่าครอบครัว จนกลายเป็นว่าผู้นำครอบครัวที่แท้จริงคือ จีจี้ และ บลูม่า

อีกตัวละครที่เป็นข้อเปรียบเทียบและพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำในสิ่งที่รักควบคู่ไปกับการทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวได้คือ คุริริน หลังโลกสงบสุขเขาอยู่กินสร้างครอบครัวกับ หมายเลข 18 ประกอบอาชีพเป็นตำรวจ ด้านหนึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สังคมได้ ไม่ต่างจากโกคูกับเบจิต้าที่พิทักษ์โลก ขณะเดียวกันก็ดูแลครอบครัว หารายได้เข้าบ้าน ทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวตามธรรมเนียมอย่างสมบูรณ์

สังคมญี่ปุ่นเริ่มโดดเดี่ยวมากขึ้นทุกที สถิติการแต่งงานลดลงอย่างมาก หมายความว่าครอบครัวเกิดใหม่จะลดลง ครอบครัวอาจกลายเป็นตัวถ่วงสำหรับปัจเจกชน ยิ่งภาระหน้าที่อันหนักหนาของผู้นำครอบครัวด้วยแล้ว คนรุ่นใหม่จึงเลือกที่จะไม่มีครอบครัวดีกว่า เพื่อจะได้เดินตามทางของตัวเองอย่างอิสระ ไม่ต้องมีปัญหาว่าใครจะนำใครในครอบครัว ต่างคนต่างใช้ชีวิต ซึ่งก็คงเป็นผลดีสำหรับคนที่ตั้งใจใช้ชีวิตลำพัง ที่น่าห่วงคือครอบครัวที่เกิดใหม่ หรือกำลังจะเกิด หรือจำเป็นต้องเกิด ด้วยความจำเป็นในขณะที่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคู่ชีวิตที่ยังอายุน้อยและยังขาดวุฒิภาวะ

มีหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่จูงมือกันพาครอบครัวไปได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอีกหลายครอบครัวที่ไปกันไม่รอด ในยุคสมัยแห่งความเท่าเทียม ความเป็น “ผู้นำครอบครัว” อาจจะไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ที่ผู้ชายอีกต่อไป ซึ่งนั่นคงไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับความสามารถในการนำพาครอบครัวเดินหน้าไปอย่างมั่นคง ภาระในฐานะผู้นำครอบครัวของสังคมญี่ปุ่นอาจจะดูหนักหนา แต่ผู้นำครอบครัวในสังคมอื่น ๆ ก็มีความรับผิดชอบไม่ต่างกัน ความรัก ความเข้าใจ และความร่วมมือกันของทุกคนในครอบครัว จึงน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการประคับประคองครอบครัวให้ดำรงอยู่อย่างมีความสุข

จาก https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=688
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
มีอะไรใน Dragon Ball ตอนที่ 3 : สายเลือดบริสุทธิ์



มีความเชื่อในหมู่ชาวยิวว่าชนชาติของพวกเขาพิเศษสุด เพราะเป็นชนชาติที่ได้รับการเลือกจากพระเจ้า ดังนั้น พวกเขาจึงภาคภูมิใจในสายเลือดของตน และพยายามรักษาความเข้มข้นของสายเลือดให้คงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของเผ่าพันธุ์ ในยุคโบราณจึงยากนักที่ชาวยิวจะไปอยู่กินกับชนชาติอื่น เพราะจะทำให้สายเลือดบริสุทธิ์ (ที่พระเจ้าเลือกแล้ว) ต้องเจือจาง และคงจะต้องถูกประนามจากคนในเผ่าพันธุ์เดียวกัน

เพื่อคงไว้ซึ่งสายเลือดบริสุทธิ์ การแต่งงานในหมู่เครือญาติจึงเกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ในยุคสมัยที่ประชากรโลกไม่ได้มากมายเหมือนยุคนี้ อับราฮัม (หลานของ โนอาห์) ก็อยู่กินกับ ซาร่าห์ ซึ่งนับดูแล้วหล่อนก็เป็นน้องสาวต่างมารดาของเขาเอง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบัดสี ชาติไหน ๆ ก็เป็นเช่นนี้เพื่อคงความบริสุทธิ์ของสายเลือดตามความเชื่อของพวกเขา ยิ่งในระบอบกษัตริย์ด้วยแล้ว เรื่องนี้ยิ่งเป็นเรื่องปกติ ในจีน อียิปต์ อังกฤษ พม่า ฯลฯ ทุกมุมโลกก็เป็นไปเช่นนี้

ในตอนแรกอับราฮัมกับซาร่าห์ไม่มีบุตรด้วยกัน ซาร่าห์จึงยอมให้ ฮาการ์ ซึ่งเป็นคนรับใช้ชาวอียิปต์เป็นอนุจนมีบุตรชายคนแรกให้อับราฮัมคือ อิชมาเอล แต่ต่อมาก็เกิดปาฏิหารย์เมื่อซาร่าห์ให้กำเนิดบุตรชายเหมือนกันคือ อิสอัค ว่ากันว่าเพราะพระเจ้าบันดาลให้นางตั้งครรภ์ ก็น่าแปลกที่ถ้าพวกเขาคือผู้ที่พระเจ้าเลือก ทำไมไม่ช่วยอับราฮัมเสียแต่แรกเล่า มารอให้มีฮาการ์ก่อนทำไม เมื่อเกิดลูกจากเมียหมายเลขหนึ่งแต่ดันเกิดหลังเมียซึ่งเป็นอนุ แถมยังเป็นทาสเสียด้วย ปัญหาครอบครัวก็เกิดขึ้นให้อับราฮัมต้องปวดหัวเมื่อในยามชรา

ด้วยความยึดมั่นในสายเลือดของเผ่าพันธุ์ แม้จะเป็นลูกชายคนโต แต่อิชมาเอลไม่ใช่เลือดบริสุทธิ์ ต่อมาเชื้อสายของอิชมาเอลก็คือ ชาวอาหรับ ก็ต้องมาทำสงครามกับเชื้อสายของน้องชายเพื่อแย่งชิงสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน



ภาพเขียนสีน้ำมัน อับราฮัมกับซาร่าห์ ผลงานโดย Giovanni Muzzioli
ที่มา https://henryzaidan.medium.com/giovanni-muzzioli-abraham-and-sarah-in-the-court-of-pharaoh-01-works-religious-art-120d2a8f56e8

รักษาสายเลือดบริสุทธิ์ เพื่อตระกูลหรือเผ่าพันธุ์

กรณีของอับราฮัมที่ซาร่าห์ภรรยาหมายเลขหนึ่งยอมให้มีอนุได้ นั่นก็เพื่อกำเนิดบุตรให้สืบสายตระกูล แสดงว่าขอให้มีลูก จะกำเนิดจากหญิงใดก็ได้ใช่หรือไม่ เพราะฮาการ์เป็นทาสชาวอียิปต์ ลูกที่เกิดมาย่อมไม่ใช่สายเลือดบริสุทธิ์แล้ว คำถามต่อมาคือถ้าซาร่าห์ไม่ให้กำเนิดบุตรล่ะ บุตรที่เกิดจากทาสชาวอียิปต์จะได้รับการยกย่องให้สืบสายตระกูลไหม

บรรดาราชวงศ์กษัตริย์ทั่วโลก รวมถึงตระกูลใหญ่ ๆ ต่างยึดถือธรรมเนียมการรักษาสายเลือดบริสุทธิ์เอาไว้ หมายความว่าสังคมยอมรับการสืบทอดอำนาจตามสายเลือด ซึ่งจะมีวิธีใดดีไปกว่าการมีสัมพันธ์ในกลุ่มเครือญาติ  ศาสนาโซโรแอสเทรียนในอิหร่าน มีความเชื่อว่าการมีความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและพี่น้องเป็นสิ่งที่ดีงาม ในชุมชนของชาวโดนด์และบริตตานี ในปากีสถาน เชื่อว่าการแต่งงานระหว่างพี่น้องจะทำให้สายตระกูลมีความบริสุทธิ์ และยังเป็นการรักษาทรัพย์สมบัติของครอบครัวไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของคนอื่น ในราชวงศ์ของไทย ญี่ปุ่น จีน ธิเบต และเกาหลี ก็มีธรรมเนียมการแต่งงานระหว่างลูกพี่ลูกน้องที่เป็นญาติ ในสังคมของชาวทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของอินเดีย ก็พบธรรมเนียมการแต่งงานระหว่างญาติพี่น้อง ซึ่งอาผู้ชายสามารถแต่งงานกับหลานสาวได้ ในอาณาจักรอินคาและอาณาจักรในแอฟริกากลางและเหนือ คนในตระกูลกษัตริย์สามารถแต่งงานกับญาติพี่น้องได้ เช่นเดียวกับราชวงศ์ต่างๆ ในยุโรปก็มีธรรมเนียมการแต่งงานกับญาติพี่น้อง ราชวงศ์ของชาวซูลู สวาซี และเทมบู ในเขตแอฟริกาตอนใต้จะมีการแต่งงานกันในกลุ่มชนชั้นนำ1

แนวคิดชาติพันธุ์นิยมที่สุดโต่งที่สุดเห็นจะไม่พ้นความเชื่อที่ว่า “ชาติเยอรมันเหนือกว่าชาติใด ๆ” ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งนอกจากจะเทิดทูนชาติพันธุ์ของตนแล้วยังชิงชังเชื้อชาติอื่นถึงขั้นสังหารแบบล้างเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะกับชาวยิวที่เขาเกลียดชังที่สุด เมื่อเถลิงอำนาจแล้วเขาดำเนินแผนการปลูกฝังค่านิยมนี้ให้พลเมืองเยอรมันให้ภาคภูมิใจในสายเลือดของตน และยังออกกฎหมายสนับสนุนสองฉบับ คือ กฎหมายเพื่อคุ้มครองสายเลือดเยอรมันและเกียรติภูมิเยอรมัน โดยห้ามชาวเยอรมันสมรสหรือมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสกับชาวยิว ห้ามหญิงชาวเยอรมันที่อายุต่ำกว่า 45 ปี รับทำงานในครัวเรือนชาวยิว และกฎหมายว่าด้วยความเป็น “พลเมืองไรช์” (Reich Citizenship) ซึ่งบัญญัติว่า ผู้มีสายเลือดเยอรมันหรือสายเลือดที่เกี่ยวข้องเท่านั้นจึงจะเป็นพลเมืองไรช์ ส่วนคนที่เหลือจัดเป็น "พสกนิกรของรัฐ" (State Subject) โดยไม่มีสิทธิพลเมือง2

การดำรงเผ่าพันธุ์ใน Dragon Ball

แต่ใน DGB เรื่องวุ่น ๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยกับ “ชาวนาเม็ก” ที่นำมาเปรียบเทียบกันก็เพราะว่าชาวนาเม็กคือผู้ที่พระเจ้าองค์ก่อนเลือกให้สืบทอดตำแหน่ง “พระเจ้าของโลก” ต่อจากตัวเอง ไม่ต่างจากที่ชาวยิวเชื่อว่าพวกเขาคือเผ่าพันธุ์ที่พระเจ้าเลือก แม้ว่าใน DGB พระเจ้าองค์ก่อนจะไม่มีตัวเลือกอื่นก็ตาม แต่ก็พอสรุปได้ว่าชาวนาเม็กคือเผ่าพันธุ์ที่ถูกเลือกเหมือนกัน

ถ้าว่าด้วยเรื่องของความบริสุทธิ์ของเผ่าพันธุ์ ชาวนาเม็กก็หมดห่วง เพราะพวกเขากำเนิดจาก “ผู้เฒ่าสูงสุด” เหมือน ๆ กัน นั่นคือชาวนาเม็กไม่มีผู้หญิง ทุกคนจะเกิดจากผู้เฒ่าสูงสุดสำรอกไข่ออกมา ทีนี้ก็แล้วแต่โชคชะตาว่าจะกำเนิดเป็นสายนักสู้อย่างพิคโกโร่ สายเวทมนตร์แบบเดนเด้ หรือเป็นเกษตรกร ดังนั้นชาวนาเม็กทุก ๆ คนก็คือครอบครัวเดียวกัน


ชาวดาวนาเม็กที่มีแต่ผู้ชาย
ที่มา https://dragonball.fandom.com/wiki/Namekian

แนวคิดเรื่อง “ชาติพันธุ์นิยม” นี้ยังถูกหยิบขึ้นมาใช้กับชาวไซย่าคือ ราดิช และ เบจิต้า ทั้งสองต่างมีความทะนงและภาคภูมิใจกับสายเลือดชาวไซย่ามาก โดยเฉพาะเบจิต้าที่มีศักดิ์เป็นถึง “เจ้าชายเบจิต้า” ผู้สืบทอดบัลลังก์ของชาวไซย่า หลายหนที่เขาพร่ำบ่นถึงเผ่าพันธุ์ที่ล่มสลายไปแล้วด้วยความภาคภูมิใจ แม้กระทั่งก่อนสิ้นใจก็ยังตอกย้ำแนวคิดนี้ให้กับโกคู ผู้ที่เขาดูถูกมาตลอดว่าเป็นนักรบชั้นต่ำ เพราะถ้าเขาตายไป โกคูก็จะกลายเป็นชาวไซย่าสายเลือดแท้ที่เหลืออยู่เป็นคนสุดท้ายในจักรวาล

จะว่าไปเบจิต้า (ในตอนเริ่มต้น) ก็สะท้อนเงาของฮิตเลอร์ไว้ชัดเจน สมัยที่ยังกร่างไปทั่วจักรวาล พี่แกทำลายดวงดาวและสังหารหมู่เผ่าพันธุ์บนดาวดวงนั้น แม้จะทำเพื่อธุรกิจแต่ส่วนหนึ่งในใจก็ทำไปเพื่อความสนุก แฝงด้วยความรังเกียจเผ่าพันธุ์อื่นว่าอ่อนแอ ไม่มีประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องเห็นอกเห็นใจ และชาวไซย่าคือผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด ไม่ต่างจากที่ฮิตเลอร์ยึดมั่นความคิดที่ว่าสายเลือดเยอรมันนั้นเป็นเลิศ



ผู้เขียนเชื่อว่า อ.โทริยามา คงไม่ได้คิดลึกขนาดนี้ แต่ก็อดเปรียบเทียบไม่ได้จริง ๆ ชาวยิวที่พระเจ้าเลือกแท้ ๆ ทำไมต้องลำบากลำบนระหกระเหินไม่มีแผ่นดินอาศัย แต่พวกเขาก็มีบางสิ่งที่เหนือกว่าชาติพันธุ์อื่น ไม่อย่างนั้นคงไม่สามารถสร้างความเจริญได้มากเท่าปัจจุบัน ชาวนาเม็กเองก็ไม่ต่างกัน “พระเจ้าของโลก” แต่ไม่ใช่มนุษย์ กลับเป็นชาวนาเม็ก และเมื่อพระเจ้ารวมร่างกับพิคโกโร่ พระเจ้าองค์ถัดมาคือเดนเด้ ก็ยังคงเป็นชาวนาเม็ก เหมือนกับว่าชาวนาเม็กจะได้สิทธิพิเศษบางอย่าง และยิ่งชวนคิดต่อไปว่าถ้าหมดวาระของเดนเด้แล้ว พระเจ้าของโลกคนต่อไปจะยังเป็นชาวนาเม็กอยู่อีกหรือไม่ เพราะพระเจ้าก่อนหน้านี้ (รวมถึงเดนเด้) มาจากการคัดเลือก ไม่ใช่สืบทอดโดยสายเลือด โดยเฉพาะเดนเด้ที่ถูกเลือกให้เป็นพระเจ้าจากชาวนาเม็กด้วยกัน แม้ว่าจะอยู่ในสถานะจำยอมหรือไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่านี้ก็ตาม ก็อดคิดไม่ได้ว่าพระเจ้าคนก่อนเลือกปฏิบัติ คือเลือกจากเผ่าพันธุ์เดียวกัน

จาก https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=663
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...