ข้าพเจ้าเพิ่งกลับมาจากงานภาวนา เป็นเวลาสองวันที่เชียงใหม่ เป็นช่วงเวลาที่ดีมากๆ ในการได้พบเจอและเรียนรู้กับครูบาอาจารย์สายวัชรยานอีกสายหนึ่ง ในเบื้องต้นที่ข้าพเจ้าสนใจไปงานภาวนานี้ เนื่องจากพี่สาวที่คุ้นเคยกันแจ้งว่า อจ.กฤษดาวรรณ หงส์ลดารมภ์ จะมางานภาวนานี้ด้วย สิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจก็คือ การได้พบเจอกับอาจารย์ กฤษดาวรรณ มากกว่าจะคิดถึงว่าธรรมาจารย์เป็นใครมาจากไหนด้วยซ้ำ
ข้าพเจ้ารู้จักชื่อของอาจารย์จากหนังสือเล่มหนึ่งที่อาจารย์เขียน ที่มีชื่อว่า “ แทบธุลีดิน “ กัลยาณมิตรที่นับถือกันท่านหนึ่งเคยนำมาให้ยืมอ่าน ข้าพเจ้ารู้สึกทึ่งมากกับเรื่องราวในหนังสือที่อาจารย์เขียนเล่า ที่กล่าวถึงการเดินทางจาริกแสวงบุญ ด้วยการกราบอัษฎางคประดิษฐ์เป็นเวลาถึง 18 วัน เป็นระยะทาง 80 กิโล ของอาจารย์ที่ธิเบต เป็นเรื่องราวที่ใครหลายๆคนอาจจะไม่เข้าใจ แต่ข้าพเจ้ามองเห็นความศรัธทาอันยิ่งใหญ่มากๆ ของอาจารย์ผู้นี้ ศรัทธาที่ข้าพเจ้าไม่เคยมี และถึงแม้จะมีอยู่บ้างก็ไม่ได้มากมายสูงส่งเท่ากับท่าน
ปัจจุบันหลายคนอาจจะรู้จักอาจารย์กฤษฎาวรรณเป็นอย่างดีแล้วจากเรื่องราวในสื่อต่างๆ เรื่องราวของอาจารย์เคยนำเสนอทางโทรทัศน์ด้วย ผู้คนส่วนหนึ่งอาจจะสงสัยในใจว่า ในฐานะที่อาจารย์อยู่ในเมืองพุทธเถรวาท แต่ทำไมจึงสนใจไปศรัทธาในพุทธศานาสายวัชรยานของธิเบต แต่ข้าพเจ้าไม่ได้สงสัยในเรื่องนั้น เนื่องด้วยเหตุและปัจจัยของเราทั้งหลายนั้นไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจ เป็นเรื่องเส้นทางการภาวนาของอาจารย์มากกว่า มีหลายๆครั้งที่เรามักจะพบเจอคนที่มีศรัทธาแก่กล้าในพุทธศานา ศรัทธาในครูบาอาจารย์ และพวกเขาเหล่่านั้นได้ทำอะไรหลายๆอย่างด้วยกำลังศรัทธาที่ล้นเหลือ แต่พอถามว่า แล้วได้ทำสมาธิภาวนาด้วยหรือเปล่า หลายคนกลับตอบว่าไม่ได้ภาวนา
ส่วนข้าพเจ้านั้นอยู่ในหมู่คนจำพวกชอบภาวนา แต่มีศรัทธาไม่แก่กล้าสักเท่าไหร่ในการทำสิ่งต่างๆ แถมมีความสงสัยอยู่ในใจมากมาย และข้าพจ้าไม่ค่อยจะได้กระทำสิ่งใด หรือมีสิ่งใดที่บ่งบอกว่าตนเองมีศรัทธาแก่กล้าในพุทธศาสนา ที่พอจะมองเห็นเป็นรูปธรรมได้ แค่การตื่นแต่เช้า ลุกขึ้นมาใส่บาตรกับพระก็เป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตที่ข้าพเจ้า ต้องเตรียมการเตรียมเวลาล่วงหน้า และต้องมีเหตุและปัจจัยจริงๆ เพราะขนาดในวันเิกิดของตนเอง ข้าพเจ้าก็ไม่คิดที่จะทำบุญใส่บาตร แถมกลับตื่นสายไปทำงานเสียด้วยซ้ำในเช้าวันนั้น วันก่อนเพื่อนที่สนิทและคุ้นเคยกันดีได้โทรศัพท์มาอวยพรวันเกิดแล้วถามว่า เช้าวันนี้ใส่บาตรหรือไม่ ข้าพเจ้าก็ได้แต่ตอบว่า ไม่ได้ใส่ แถมลืมคิดถึงเรื่องนี้ไปด้วยซ้ำ
การได้พบอาจารย์กฤษฎาวรรณจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใมาก และในการไปครั้งนี้ก็ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้แนวทางภาวนาของวัชรยาน เพิ่มเติมอีกสายหนึ่งคือสายเพิน และซกเช็น แถมข้าพเจ้าได้เรียนรู้วิถีีแห่งการภาวนาของอาจารย์กฤษดาวรรณด้วย และพบว่าอาจารย์เข้าใจในวีถีของคนธิเบตแถมพูดภาษาธิเบตได้ อีกทั้งอาจารย์เป็นผู้ที่สนใจในการภาวนา และคงจะเป็นเส้นทางแห่งการภาวนาที่เปี่ยมไปด้วย พลังแห่งศรัทธาอันยิ่งใหญ่ แถม มีคุณค่า และมีความหมายเป็นอย่างยิ่ง
งานภาวนานี้ ยังเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ข้าพเจ้า ได้พบ ธรรมาจารย์ที่้เป็นพระลามะชาวธิเบตนามว่า พระอาจารย์ลาตรี เคนโป ญีมา ทรักปา ริมโปเช ท่านเป็นพระลามะที่ใจดีมีเมตตาแถมอารมณ์ดีมากๆ อายุท่านประมาณห้าสิบปี ท่านมีท่าทีที่ดูสบายๆเอามากๆ ท่านสอนให้เรานั่งสมาธิและสอนหลักการภาวนาอยู่หลายอย่าง และทำให้เราได้รู้จักภาพรวมกว้างๆของการภาวนาในแนวทางของเพินและซกเช็น
ท่านกล่าวว่าในการนั่งภาวนาทุกครั้งไม่ได้ขึ้นว่านั่งนานเท่าไหร่ การที่เรานั่งนานๆแต่ไม่มีคุณภาพ และไม่มีสติ ไม่มีความคมชัด เป็นการนั่งที่ไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ท่านกล่าวว่าเวลาไม่สำคัญอะไร แต่คุณภาพนั้นสำคัญ แม้กระทั่งเพียง 5 นาที ในการนั่งภาวนาแต่ถ้าเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ จะเกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง และอาจจะเกิดประโยชน์มากกว่าการนั่งเป็นชั่วโมงๆ ก็เป็นได้ ดังนั้นสำหรับผู้เริ่มต้นใหม่ๆ ท่านแนะนำให้เริ่มต้นด้วยเวลาเพียงห้านาทีสิบนาทีก่อน ถ้าเราทำวันละหลายๆครั้งวันละ 10 นาที เช่นทำวันละ สามครั้ง เราก็เหมือนนั่งได้ถึงสามสิบนาที เช่นกัน การนั่งสมาธิแต่ละครั้งต้องมีความคมชัด ไม่ซึม ไม่เบลอแบบคนง่วงงาวหาวนอน เพราะบางทีถ้าเป็นแบบนั้นสักครู่เราก็จะหลับ
ท่านริมโปเชสอนว่า เราสามารถภาวนาได้ทุกเวลาทุกขณะที่ใช้ชีวิตประจำวัน การภาวนาจนถึงความสงบของจิตจะเกิดความสุข แต่เราจะไม่หยุดอยู่เพียงนั้น เราต้องเข้าสู่ปัญญาและพิจารณาสิ่งต่างๆ เพื่อจะได้มองเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของสรรพสิ่งทั้งหลาย
การภาวนาจะนำเราเข้าสู่จิตที่ใสสว่างกระจ่างแจ้ง จิตเดิมแท้ที่แต่เดิมมีเมฆหมอกแห่งอวิชชา แห่งกิเลสมาบดบังไว้ เมื่อเมฆหมอกสูญสลายไปเราก็จะพบจิตที่สว่างไสวข้างใน ในหลักการนี้ทุกสิ่งนั้นแต่เดิมดีอยู่แล้ว เราทุกคนมีจิตอันสว่างไสวนี้อยู่ข้างใน นั่นคือเรามีความเป็นพุทธะอยู่ข้างใน ไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน เราทุกคนมีความสามารถที่จะเข้าถึงจิตนี้แบบพระพุทธเจ้าได้ เพราะสิ่งนี้มีอยู่ในตัวเราทุกคน
หลักคำสอนของเพินและซกเช็น คือการมองสรรพสิ่งอย่างเข้าใจ และเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของสิ่งทั้งหลาย ความทุกข์ความเศร้าความโกรธหรืออะไรๆที่เกิดขึ้นในจิตใจเรานั้น ริมโปเชท่านสอนว่าให้เราเพียงแค่มองดู แค่รู้ ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องไปหลีกหนี ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในจิตใจเรานั้นเมื่อถึงเวลา มันก็จะสูญสลายไปได้เอง เราไม่จำเป็นต้องไปทำอะไร กับสิ่งเหล่านี้ เราไม่ต้องเดินหนี ไม่ต้องหลีกเลี่ยง ทั้งไม่ต้องไปพยายามเปลี่ยนแปลง หรือจัดแจงอะไรๆ
เมื่อมีความทุกข์หรืออะไรๆ ก็ตามเกิดขึ้นกับเรา ท่านสอนให้มองเข้ามาในจิตในใจของเราก่อน สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราเป็น และเหตุทั้งหลายทั้งปวงมาจากข้างในทั้งสิ้น เข้าทำนองว่าเมื่อเราคิดดีทำดีจากภายใน สิ่งภายนอกทั้งหลายก็จะดีด้วย
ท่านสอนว่าเมื่อตื่นนอนตอนเช้า ขอให้เราทั้งหลายเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการตั้งปณิธาน ตั้งจิตตั้งใจในการทำสิ่งที่ดีๆ นั่นคือ เริ่มต้นวันใหม่ด้วย Good motivation และทั้งวันของวันนั้นขอให้เป็น Good action ตามปณิธานที่เราตั้งใจไว้ และให้จบวันนั้นด้วย Dedication ก่อนเข้านอนให้เราระลึกถึงสิ่งต่างๆ ที่เราได้กระทำมาทั้งวัน ให้พิจารณาว่าเราได้ทำอะไรบ้างที่ดีงามและได้ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นอะไรบ้างตามปณิธานที่ตั้งใจไว้ ท่านให้เรานึกถึงความดีทั้งหลายที่ได้กระทำไปในวันนั้น และนึกถึงความดีทั้งหลายที่ใครก็ตามได้ทำไปในวันนั้น จากนั้นขอ ให้เราอนุโมทนาบุญพร้อมกับอุทิศส่วนกุศลที่ทำทั้งหมดมอบแด่สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งใกล้และไกลทุกสารทิศ
ท่านริมโปเช ยังพูดคำว่า “อนุโมทนา “ เป็นภาษาไทยอยู่หลายครั้ง ดูเหมือนท่านประสงค์จะพูดคำนี้เพื่อสื่อให้เราเข้าใจ แม้ท่านจะบรรยายธรรมเป็นภาษาอังกฤษอยู่ก็ตาม
การภาวนาท่านกล่าวว่าครูบาอาจารย์เป็นเพียงแรงบรรดาลใจ และแบ่งปันหนทาง สุดท้ายแล้วเราต้องปฎิบัติและภาวนาด้วยตัวเอง แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่อาจช่วยอะไรเราได้ เราต้องเป็นอาจารย์ของตัวเอง สิ่งที่เราอ่านนั้น ท่านกล่าวว่ามันเป็นเพียงข้อมูล ( information ) เราไม่อาจประจักษ์แจ้งเรื่องอะไรๆจากการอ่านเพียงประการเดียวได้ถ้าไม่เข้าสู่วิถีการปฎิบัติ ท่านเปรียบเทียบว่า อาหารที่วางอยู่ตรงหน้า ถ้าเราได้แต่มอง ได้แต่รู้ข้อมูลว่ามันมีรสชาดเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ทว่าหากเราไม่หยิบเข้าปากลองชิมดูเอง เราก็จะไม่สามารถรู้รสชาดที่แท้จริงได้
ในวันนั้นริมโปเชยังให้การบ้านว่า ให้เราทั้งหลายกลับไปพินิจพิจารณา และหาคำตอบว่า “ ฉันนี้คือใคร?? ฉันคนที่คิดที่นึก ฉันที่โกรธ ฉันที่อยากมีนั่นมีนี่ ฉันคนที่เราทั้งหลายพยายามปกป้องอยู่ทุกวันนี้ คือใคร ? “
นี่คือการบ้านที่เราผู้เข้าร่วมภาวนาทั้งหลายต้องไปค้นหา ไปภาวนาเพื่อทำความเข้าใจ แล้วนำมาตอบท่านในวันรุ่งขึ้น
นี่เป็นการบ้านที่ข้าพเจ้าเองก็ยังหาคำตอบไม่ได้ื และได้ค้นหามาตลอดชีวิต และได้ตั้งคำถามมาตลอดชีวิตเช่นกัน
มันออกจะน่าแปลกใจอยู่ที่เราทั้งหลายมักจะอยากรู้จักเรื่องราวของคนอื่นๆ อยากเข้าใจและอยากทำความคุ้นเคยกับคนอื่นๆ ที่เราสนใจ แต่เมื่อถึงเวลาที่เราต้องถามตัวเองและทำความคุ้นเคยกับตัวเอง เราก็พบว่า อันที่จริงแล้วคนที่เราไม่เคยรู้จักและไม่ค่อยคุ้นเคยเลยก็คือตัวของเรานี่เอง
เรามักจะบิดเบือนปิดบังและตกแต่ง “ฉัน” ที่เรายังไม่คุ้นเคย แถมไม่ค่อยจะรู้จักดีนักนี้ด้วยวิธีการต่างๆ บางครั้งเราไม่กล้าแม้แต่จะยอมรับความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราเอง เรามักจะสรรสร้างปั้นแต่งตัวตนของเราตามความคิดเห็นของเราเอง ว่ามันควรจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ เราควรจะเป็นคนแบบนั้นแบบนี้ ควรจะเป็นคนดีอย่างนั้นอย่างนี้ บางครั้งภาพลักษณ์ของ “ฉัน” จึงเป็นเพียงภาพลวงตาที่เราสร้างขึ้นมาไว้หลอกตัวเอง แต่เมื่อใดหรือใครก็ตามมาวิพากษ์วิจารณ์เรา และไม่ตรงตามที่เราเสกสรรปั้นแต่งไว้ เราก็จะไม่พอใจและโกรธ ทั้งๆที่บางครั้งสิ่งที่เขากล่าวถึงนั้นมีความจริงอยู่หลายส่วน แต่เราก็ยอมรับไม่ได้ สุดท้ายแล้วเราไม่เคยรู้จักตัวเองเลย ไม่เข้าใจตัวเอง อย่างแท้จริงเลย แถมไม่เคยยอมรับความต้องการที่แท้จริงของตัวเองแม้สักครั้ง เราจึงไม่เคยรู้จักตัวตนที่บอกว่า “ คือตัวฉัน” แม้แต่น้อย
คำว่า “ฉันคือใคร” จึงเป็นเรื่องที่หลายๆคนต้องรู้สึกสะเทือนใจและไม่อาจที่จะทนค้นหาต่อไปได้ และเป็นที่แน่ชัดว่า บางครั้งเราก็ไม่ได้รู้จัก “ ฉัน” คนที่ว่าแม้แต่น้อย สุดท้ายกลายเป็นว่าสิ่งที่เราควรจะค้นหา ควรจะเรียนรู้ ควรจะพยายามมองเข้าไปอย่างลึกซึ้งก็คือตัวตนของเรานี่แหละ ตราบใดที่เรายังไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของเรา มันก็คงยากอยู่ที่จะไปรู้จักคนอื่นๆ และไปทำความคุ้นเคยกับคนอื่นๆ อย่างเข้าใจถ่องแท้ได้
ข้าพเจ้านึกถึงคำสอนของท่านเชอเกียมตรุงปะ ในหนังสือชัมบาลาขึ้นมาได้ บทที่กล่าวถึงขั้นตอนของการเป็นนักรบ มันคงถึงเวลาและ ถึงขั้นตอนของการถอดหน้ากากของตัวเองออกแล้วกระมัง หน้ากากที่เราห่อหุ้มปรุงแต่งไว้มากมายหลายชั้น รวมทั้งถึงเวลาของการยอมศิโรราบต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในตัวเรา เพื่อเราจะได้รับรู้ว่าแท้จริงแล้วฉันคือใคร ??
มีคำพูดหนึ่งที่พี่สาวผู้เป็นศิษย์เดิมแท้ของทักโปควกิวกล่าวเสมอก็คือคำว่า “ความชัดเจนในตัวเอง” คำนี้มีความสำคัญอย่างมากทีเดียว ถ้าเราไม่ชัดเจนในตัวเอง เราจะไม่เข้าใจตนเอง แถมคนอื่นๆก็จะไม่เข้าใจตัวเราเองด้วย ทุกวันนี้เราหลายคนมีปัญหาในการแสดงเจตจำนงที่แท้จริงในจิตใจเรา เราไม่กล้าที่จะบอกว่าเราไม่ชอบอะไร ไม่อยากทำอะไร ด้วยเพราะว่าเราเกรงใจคนรอบข้าง การที่เราไม่บอกอะไรไปตรงๆ มักจะกลับกลายเป็นการสร้างความอึดอัดใจให้อีกฝ่ายหนึ่งเสมอ หลังๆข้าพเจ้าพบว่า การชัดเจนในความคิดความรู้สึก ในความต้องการของเราจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าในการไปสื่อสารกับคนรอบข้าง ข้าพเจ้าว่าบางครั้ง ความเกรงใจก็ไม่อาจจะแก้ปัญหาที่แท้จริงได้
เราควรจะชัดเจนพอที่จะบอกว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และต้องการอะไร
กลับมาที่การบ้านของท่านริมโปเชในงานภาวนานี้ ในวันสุดท้ายก็ถึงเวลาที่เราจะต้องตอบคำถาม มีหลายคนไม่อยากจะตอบ อาจจะเป็นเพราะยังคิดไม่ออกและบอกไม่ถูก แถมอาจจะเป็นเรื่องยากทีเดียวในการอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ และข้าพเจ้าเองก็ไม่คิดจะส่งการบ้านนี้กับท่านริมโปเช เหตุก็เพราะ ข้าพเจ้าเองก็ไม่อาจจะหาคำตอบได้ว่า “ ข้าพเจ้านี้คือใคร ฉันคนนี้คือใคร”
แต่ในที่สุดข้าพเจ้าก็ตัดสินใจตอบการบ้านท่าน ริมโปเช หลังจากที่มีใครหลายๆคนตอบการบ้านไปบ้างแล้ว ข้าพเจ้าก็มีแรงบรรดาลใจที่จะกล่าวถึงคำตอบที่ยังไม่รู้อย่างแท้จริงแก่ท่าน
ข้าพเจ้าได้ตอบการบ้านไปดังนี้
“ ฉัน .. คือใคร “
“ นี่คือคำถามที่ข้าพเจ้าเพียรถามตัวเองมาตั้งแต่เด็ก ฉันคือใคร มาจากไหน และมาทำไม เพื่ออะไร และไม่เคยหาคำตอบได้เลย แต่หลังจากเข้าสู่วิถีแห่งการภาวนามาได้เกือบสามปี และศึกษาเรียนรู้แนวทางภาวนาทั้งในสายเถรวาท มหายาน และวัชรยาน ก็พยายามค้นหาว่าฉันคือใครมาตลอด ขณะนี้พบว่า ฉันไม่ใช่ร่างกายนี้ เพราะถ้าร่างกายนี้ไม่มีความคิดไม่มีความรู้สึกก็ไม่มีฉันอยู่ ฉันก็ไม่ใช่ที่ความคิดนี้เพราะความคิดนี้ที่มีเกิดขึ้นมันเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว สักครู่มันก็หายไป และในความคิดนี้ก็ไม่ได้มีฉันอยู่ด้วยทุกครั้ง เพราะบางทีก็มีตัวรู้หรือสิ่งหนึ่งที่เป็นผู้รับรู้ได้มองเห็นความคิดต่างๆ นั้น เป็นเหมือนใครอีกคนที่เป็นเพียงผู้ดู ผู้รู้ ผู้มองเห็น แถมตัวผู้รู้นี้ ถ้าถูกกระทบกระเทือนจากภายนอกก็จะมีความรู้สึกว่า นี่คือฉัน นี่คือของฉันเกิดขึ้น แถมตัวรู้นี้ บางครั้งมันก็มีอยู่ บางครั้งมันก็หายไป และบางครั้งมันก็กลับมาอีก
ฉันจึงไม่ใช่ร่างกายนี้ที่มีอยู่ ไม่ใช่ความคิดนี้ที่เกิดขึ้น และไม่ใช่อยู่ที่ตัวผู้รู้นี้ที่มองเห็นความคิดทั้งหลาย ข้าพเจ้าจึงยังรู้สึกงุนงงและสงสัยอยู่ว่า ฉันคือใคร และใครคือฉันกันแน่ จากการภาวนาและได้ประจักษ์แจ้งในใจขณะนี้ก็พบว่า “ ฉัน” ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน และไม่อาจจะหาคำตอบที่แท้จริงได้ว่า “ฉันคือใคร “
ตอนที่กล่าวมาถึงตรงนี้ต่อหน้าริมโปเช ข้าพเจ้าก็รู้สึกสะเทือนใจอยู่ภายใน ข้าพเจ้าเริ่มมองเห็นอย่างชัดเจนว่า ข้าพเจ้าหาตัวตนที่แท้จริงไม่ได้ และ “ ฉัน “ ก็ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน รู้แต่เพียงว่ามันมาเป็นพักๆและจากไปเป็นพักๆ ด้วยเหตุปัจจัยอะไรบางอย่าง ได้ก่อเกิดความเป็นฉันและตัวฉันขึ้น ด้วยกาย ด้วยจิต ที่ก่อเกิดรวมกันขึ้นจากผัสสะทั้งหลาย เกิดความรู้สึกนึกคิด เกิดความจำได้หมายรู้ เกิดการปรุงแต่งของสิ่งที่เกิดขึ้นในจิต แล้วเกิดมีฉันขึ้น ฉันที่ไม่เคยดำรงอยู่อย่างแท้จริง และถาวรเลย .. แล้วทำไมที่ผ่านมา ข้าพเจ้าถึงยังยึดมั่นถือมั่นกับคำว่า “ตัวฉันของฉัน” มากมายนัก เพราะตัวฉันที่แท้จริงไม่เคยมี มันเพียงแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับหายไป แถมวนเวียนเกิดมีขึ้นแล้วหายไปแบบนั้นตลอดทั้งวันทั้งคืน ทุกเวลานาที ทุกลมหายใจเข้าออก และทุกขณะจิต …
สิ่งที่ข้าพเจ้าเข้าใจในขณะนี้ก็คือ ฉันที่แท้จริงไม่เคยมีมาก่อน แต่ทำอย่างไรจิตจะปล่อยและยอมรับว่า “ ฉัน “ แท้ที่จริงแล้วไม่เคยมี คำตอบลึกๆในใจก็คือ ข้าพเจ้าต้องภาวนาต่อไป ….
ขอบคุณภาพประกอบ .. โดยคุณหมอนกยักษ์
http://gotoknow.org/blog/sunmoola/303924