"เข้าใจ-ดูแล" สูตรลับพิชิตใจพระในบ้าน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 1 กันยายน 2553 08:18 น.
พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน
คงไม่แปลกเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น สภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลง ย่อมทำให้การดูแลสุขภาพทำได้ไม่เต็มที่เหมือนเช่นเคย บุคคลที่เข้ามารับหน้าที่ดูแลจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ และเอาใจใส่ให้ถูกวิธี ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ
พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดประเด็นเกี่ยวกับความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุในการเสวนา "รักพ่อแม่...ต้องดูแลอย่างเข้าใจ" ที่จัดโดยสำนักพิมพ์ more of life ในเครือบริษัท รักลูกกรุ๊ป ว่า เมื่อพูดถึงผู้สูงอายุ สิ่งที่ผู้ดูแลต้องใส่ใจ คือการดูแลทั้งกายและใจ เนื่องจากปัญหาอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องของสุขภาพ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายถือว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ปัญหาดังกล่าวมีปัจจัยจากหลายด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความรักความอบอุ่นของคนในครอบครัว เพราะเมื่อใดที่ผู้สูงอายุล้มป่วย การดูแลจิตใจถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
"การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในบ้านไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ใช่ดูแลแค่เรื่องการกินการอยู่เพียงเท่านั้น เนื่องจากอาการป่วยที่แสดงออกมานั้นเป็นผลลัพธ์มาจากการมีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ ทำให้ภูมิด้านทานต่ำลงก่อให้เกิดโรคภัยได้ง่าย บางคนอยู่เฉยๆ ก็มีอาการเบื่อหน่าย เหงา ซึมเศร้า ไม่มีกำลังใจในการต่อสู้กับเชื้อโรค จึงทำให้อาการเจ็บป่วยนั้นรุนแรงมากขึ้น"
ดังนั้นการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุในบ้าน พญ. สิรินทร กล่าวแนะนำว่า วัยชราก็เปรียบเสมือนกับต้นไม้ใหญ่ที่แก่ตัวลง ต้องรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เช่นเดียวกับผู้สูงอายุที่ต้องการให้ลูกหลานมาดูแลเอาใจใส่และได้อยู่ในบ้านที่อบอุ่นพร้อมหน้าพร้อมตากัน ลูกหลานบางคนคิดว่าการที่ให้พ่อแม่อยู่ในบ้านที่มีทั้งความสะดวกสบาย ใหญ่โต มีพยาบาลมาคอยดูแลท่านอย่างใกล้ชิดคือความสุขแล้ว แต่ไม่ได้สนใจว่าความสุขที่แท้จริงที่ท่านต้องการคืออะไร
"บางคนพาพ่อแม่ย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่ในตัวเมือง ที่มีแต่ความสะดวกสบาย ส่วนตัวเองก็ออกไปทำงานนอกบ้าน ปล่อยให้พ่อแม่อยู่ในความดูแลของพยาบาล หรือบางคนซื้อข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าที่มีราคาแพงให้พ่อแม่ แต่ท่านกลับใช้ของเดิมที่มีอยู่ และบอกกับลูกว่า ซื้อมาทำไมให้สิ้นเปลือง เราก็ควรเข้าใจในความหวังดีของท่านด้วย คนเป็นลูกต้องอย่ายึดติดกับวัตถุสิ่งของ เพราะผู้สูงอายุเปลี่ยนแปลงยาก อย่าเอาสิ่งแวดล้อมที่เราเคยชินมายัดเยียดให้กับท่าน"
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุบางคนจะอาละวาด เมื่อไม่ได้ดั่งใจอะไรบางอย่าง ถึงกับบอกว่า "ไม่ต้องมายุ่ง ฉันดูแลตัวเองได้" ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ บอกว่า ผู้ดูแลหรือลูกหลานควรมีการพูดคุยกับท่านอย่างเข้าใจว่า ทำไมเรื่องนี้ต้องห้าม อันนี้ทำไมทำไม่ได้ เช่นเรื่อง "อาหาร" ที่มักจะเป็นสาเหตุให้เกิดความไม่เข้าใจกัน ผู้สูงอายุบางคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน แต่ก็ชอบกินของหวาน ลูกหลานก็คอยต่อว่าห้ามปรามไม่ให้กิน ควรจะบอกว่า มันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ลูกเป็นห่วงและไม่อยากให้พ่อแม่ต้องมีล้มป่วยอีก ดังนั้นควรกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพจะดีกว่า
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุรายนี้บอกว่า ผู้สูงอายุจะรู้สึกรำคาญกับเสียงสูง ดังนั้นไม่ควรตะโกนโหวกเหวกใส่ท่าน ควรพูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลเป็นคำสั้นๆ ที่สื่อความหมายได้ดี อีกอย่างควรถนอมน้ำใจกัน เพราะผู้สูงอายุจะอ่อนไหวกับคำพูดที่สะเทือนใจ บางคนก็เก็บความรู้สึก เพราะกลัวว่าลูกหลานจะลำบากใจ จนเกิดอาการซึมเศร้า เบื่ออาหาร จนล้มป่วยได้ อีกทั้งในบางครั้งพ่อแม่อยากจะช่วยลูกทำงานบ้าน แต่ลูกกลับบอกว่า "แม่ไม่ต้องช่วยหรอก เดี๋ยวจะยิ่งเลอะเทอะกันไปใหญ่" ซึ่งในความเป็นจริงงานบ้านบางอย่างผู้สูงอายุสามารถทำได้ แต่ลูกหลานกลับมองว่าจะสร้างความวุ่นวายและเดือดร้อน การที่ให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมกับงานในบ้าน ทำให้ท่านคิดว่าตัวเองมีค่าและสามารถช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในบ้านอีกด้วย
"ครอบครัวโห่กุศลสินธุ์"
ด้าน "จิต-จิตตพัฒน์ โห่กุศลสินธุ์" ที่จูงมือคุณพ่อมาร่วมกิจกรรมนี้ เล่าให้ทีมงานฟังว่า ปกติที่บ้านจะใส่ใจดูแลคุณพ่อคุณแม่เรื่องอาหารการกิน ต้องให้ท่านรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะที่ผ่านมา เนื่องจากที่บ้านเป็นครอบครัวของคนจีน จึงมีความนิยมรับประทานอาหารจำพวก หมู เห็ด เป็ด ไก่ และอาหารทอดๆ ย่างๆ ทำให้คุณพ่อมีไขมันในเลือดสูง
อีกประการหนึ่งคือการพาคุณพ่อไปปฏิบัติธรรม ซึ่งพี่จิตบอกว่า "พี่จะพาคุณพ่อไปปฏิบัติธรรมอยู่บ่อยๆ เพื่อให้ท่านมีจิตใจที่สงบ เพราะเชื่อว่าการที่ทำให้พ่อแม่มีจิตใจที่สงบ เมื่อถึงเวลาที่ทุกคนไม่อยากให้มันเกิด แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นตอนไหน หากมีการเตรียมตัว เตรียมใจ ให้พ่อแม่จากไปอย่างสงบและไม่มีความกังวลใจใดๆ ท่านจะมีความสุข และสิ่งๆ นี้คงจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่พี่จะได้ตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ได้ เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าชาติหน้าหรือภพหน้าเราจะได้เกิดมาเป็นลูกของท่านอีกหรือไม่"
ทั้งนี้ พี่จิตยังได้ฝากข้อคิดเตือนใจกับลูกๆ ทุกบ้านว่า การดูแลผู้สูงอายุในบ้านไม่ใช่เรื่องยากและไม่เหลือบ่ากว่าแรงของคนเป็นลูก เพียงเราเข้าใจในความต้องการของท่าน อย่าให้ท่านมาทำตามสิ่งที่เราต้องการ แม้มันจะเป็นความหวังดีของเราก็ตามแต่มันก็ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงของท่านเลย บางคนบอกว่าผู้สูงอายุยิ่งแก่ก็ยิ่งดื้อ ไม่มีเหตุผล อยากให้ลูกหลานทุกคนลองคิดถึงตอนที่เรายังเป็นเด็กท่านเลี้ยงดูเรามาทั้งๆ ที่ตอนเด็กเราก็ดื้อ ซน งอแง ปวดหัว เป็นไข้ไม่แพ้กัน แต่ทำไมท่านถึงอดทนและเลี้ยงดูเราจนเติบใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ได้ อย่าคิดว่าสิ่งของราคาแพงจะมีค่ามากกว่าความรักความอบอุ่นที่มีให้แก่กันเลย
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000121519]Life & Family