ผู้เขียน หัวข้อ: นักรบแห่งตันตระ ( วิจักขณ์ พานิช )  (อ่าน 3113 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
นักรบแห่งตันตระ (๑)



หัวใจแห่งวิถีแห่งพุทธะ คือ พลังแห่งการตื่นรู้ภายในเหนือข้อจำกัดแห่งตัวตน ที่เมื่อปุถุชนคนเดินดินธรรมดาได้ฝึกฝนอย่างมุ่งมั่น ชีวิตของเขาทั้งชีวิตก็จะกลายเป็นศักยภาพแห่งการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่อันไร้ขีดจำกัด


วิถีการฝึกตนที่ว่านี้ได้ถูกส่งผ่านสู่ผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า จากวัฒนธรรมสู่วัฒนธรรมบนพื้นฐานของความเรียบง่าย ด้วยหัวใจของการสร้างความสัมพันธ์กับทุกประสบการณ์ชีวิตอย่างถูกต้อง ผู้คนบนเส้นทางแห่งพุทธะเปรียบได้กับนักรบผู้ไม่เกรงกลัวที่จะเผชิญหน้ากับความไม่รู้ อันเป็นสัจธรรมของการเดินทางแห่งชีวิต ไม่ว่ายามที่เขามีสุขหรือมีทุกข์ ยามประสบกับเคราะห์กรรมสาหัสเพียงไหน เขาก็ยังดำรงไว้ซึ่งหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยพื้นที่ว่างด้านใน ที่จะใช้ทุกวินาทีแห่งการมีชีวิตอยู่เพื่อการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้อื่น


เมื่อกลุ่มผู้ฝึกฝนกลุ่มหนึ่งได้เดินทางเข้าสู่ทิเบตในช่วงคริสตศตวรรษที่ ๗ พวกเขาได้ตระหนักว่า ดินแดนผืนนั้นเต็มไปด้วยความลี้ลับทางจิตวิญญาณที่พวกเขาไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับวิถีแห่ง "บ็อน" (Bön) อันเป็นความเชื่อและวิถีการปฏิบัติท้องถิ่นที่แปลกต่างออกไป


ดูเผินๆแล้วพวกบ็อนนั้นก็เปรียบได้กับหมอผีดีๆ นั่นเอง ผู้อาวุโสทางจิตวิญญาณใช้พิธีกรรมเป็นสะพานเชื่อมสู่มิติแห่งโลกอันศักดิ์สิทธิ์ อันเต็มไปด้วยเหล่าทวยเทพ วิญญาณ และภูตผี พ่อหมอและแม่หมอเหล่านั้นยังทำหน้าที่เป็นผู้เยียวยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ ผู้ให้คำทำนายโชคชะตา ผู้พยากรณ์ลมฟ้าอากาศ ฯลฯ นอกจากนั้นพวกเขายังทำหน้าที่เป็นร่างทรง เชื้อเชิญวิญญาณเข้าสู่ร่างเพื่อให้ผู้คนได้รับฟังข้อความอันศักดิ์สิทธิ์จากโลกในอีกมิติหนึ่ง


แทนที่เหล่านักรบแห่งพุทธะจะรีบเผ่นหนีกลับอินเดียด้วยความหวาดกลัว พวกเขากลับให้ความเคารพต่อวิถีแห่งการปฏิบัติที่แตกต่าง พวกเขาได้ใช้ชีวิตร่วมเรียนรู้ในวัฒนธรรมใหม่อย่างไม่รังเกียจ พวกเขาพบว่าการฝึกฝนตนเองในสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย แม้จะเป็นเรื่องยากลำบาก แต่มันกลับยิ่งทำให้พวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะฝึกจิตใจให้เปิดกว้างอย่างไร้อคติ หลักธรรมคัมภีร์ที่เขาพกติดตัวมาดูจะไม่มีประโยชน์อันใดกับสถานการณ์ที่เขากำลังเผชิญ ในทางตรงกันข้าม ความเป็นคนธรรมดาๆที่อ่อนน้อมและพร้อมที่จะสร้างมิตรภาพกับผู้คนดูจะมีความสำคัญมากยิ่งกว่า


พวกเขาจึงเลือกที่จะผละจากความยึดมั่นในตำรับตำราเหล่านั้น แล้วหันกลับมาให้คุณค่ากับพลังแห่งการตื่นรู้ภายใน ถักทอสายใยแห่งมิตรภาพกับเพื่อนมนุษย์ และเปิดหัวใจสู่โลกลี้ลับแห่งการเรียนรู้ที่แท้...

http://www.prachatai3.info/column-archives/node/1726

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Re: นักรบแห่งตันตระ ( วิจักขณ์ พานิช )
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 01, 2010, 09:37:42 am »
นักรบแห่งตันตระ (๒)


การใช้ชีวิตร่วมกินร่วมนอน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้คนชาวบ็อน ทำให้เหล่านักรบแห่งพุทธะตระหนักว่า โลกของชนพื้นเมืองนั้นช่างเป็นโลกที่แสนมหัศจรรย์ เต็มเปี่ยมไปด้วยความมีชีวิตชีวา วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ดูจะไม่แยกขาดออกจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเทือกเขาอันสูงตระหง่าน ท้องฟ้าผืนกว้าง สายธารอันคดเคี้ยว การเข้าถึงความเต็มเปี่ยมทางจิตวิญญาณของชาวบ็อนก็ดูจะไม่ใช่เป็นวิถีทางของหลักปรัชญาซับซ้อน ผู้คนที่นี่ทำงานหนักตลอดวัน เขียนไม่ได้อ่านไม่ออก แต่พวกเขาก็ดูมีความสุขอย่างเรียบง่ายในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติตามแบบของเขา


จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี พวกเขาได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการร่วมใช้ชีวิตกับคนพื้นเมืองชาวทิเบต พวกเขาให้ความเคารพแก่ภูมิปัญญาพื้นบ้านเสมือนตนเองเป็นส่วนหนึ่งของวิถีวัฒนธรรมนั้น ขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังไม่ลืมที่จะฝึกฝนตนเอง ใช้เทคนิคที่เขาได้เรียนมาจากอาจารย์ สร้างสัมพันธ์กับพลังแห่งการตื่นรู้ด้านใน ในทุกลมหายใจเข้าออก จิตใจที่เปิดกว้าง ว่างจากความคิดหมายมั่น ได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้คนต่างภาษาและวัฒนธรรม งอกงามเป็นมิตรภาพบนพื้นฐานของการเคารพในศักดิ์ศรีและความดีงามของกันและกันอย่างไม่แบ่งแยกเราเขา


การเรียนรู้ร่วมกันก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ทางจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ ชาวบ็อนได้สัมผัสถึงพลังแห่งการตื่นรู้แห่งพุทธะ และชาวพุทธก็ได้เรียนรู้ถึงมิติอันลี้ลับในวิถีแห่งบ็อน พวกเขาต่างเชื้อเชิญกันและกันให้เข้าร่วมในพิธีกรรม ลองฝึกฝนเทคนิคการปฏิบัติ สนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ราวกับเป็นพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน 


จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า วิถีแห่งพุทธะค่อยๆ ซึมซับแง่มุมที่หลากหลายจากวัฒนธรรมบ็อนในทิเบตอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งในเรื่องของพิธีกรรม วิถีการปฏิบัติของพ่อหมอแม่หมอ ความสัมพันธ์กับเหล่าทวยเทพ ภูตผีและวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงเทคนิคการเล่นแร่แปรธาตุ มนตรา และอาคมต่างๆ ในขณะเดียวกันวิถีปฏิบัติพื้นบ้านของชาวบ็อนก็ไม่ได้ถูกกลืนหายตายจาก ยังคงถูกส่งผ่านเป็นธารปัญญามาจวบจนปัจจุบัน  ซึ่งหากใครได้มีโอกาสสัมผัสทั้งวิถีบ็อนและวิถีพุทธในทิเบต ก็ยากที่จะบอกถึงความแตกต่างที่เด่นชัด เพราะทั้งสองวิถีปฏิบัติได้ผ่านการแลกเปลี่ยนผสมผสานบนความเคารพซึ่งกันและกันมาเป็นเวลายาวนาน


บ็อน ถือเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดต่อการงอกงามที่เต็มไปด้วยจินตนาการ พลังอันเร้นลับ และความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของวิถีพุทธตันตระแห่งทิเบต ดังที่เราพบเห็นได้เช่นเดียวกันในวิถีพุทธในดินแดนต่างๆทั่วโลก ที่ต่างก็มีรูปแบบที่หลากหลาย แตกต่างไปตามพื้นฐานวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองดั้งเดิม


ก็ด้วยแนวทางแห่งพุทธหาได้ตั้งอยู่บนการยึดติดอยู่ในรูปแบบ พิธีกรรม หรือวิถีการปฏิบัติใดๆอย่างตายตัว แต่หัวใจกลับอยู่ที่การฝึกฝนให้ผู้ปฏิบัติได้เข้าถึงพลังแห่งการตื่นรู้ภายในอันไร้ข้อจำกัดแห่งตัวตน ไม่ว่าจะเป็นเพศ ภาษา วัฒนธรรม หรือชาติพันธุ์ใดๆ  เมื่อปัจเจกบุคคลคนธรรมดาได้สัมผัสและดำเนินชีวิตด้วยความตื่นรู้ในทุกลมหายใจเข้าออก ชีวิตของเขาก็จะกลายเป็นพลังทางปัญญาที่บานสะพรั่งบนความอ่อนน้อม บนความพร้อมต่อการเรียนรู้ และความเอื้ออาทรในการร่วมทุกข์สุขกับทุกผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เกิดเป็นการสนทนาแลกเปลี่ยน กับเพื่อนต่างชาติเชื้อ ต่างความเชื่อ ต่างวัฒนธรรม เรียนรู้จากกันอย่างเป็นธรรมชาติ


วิถีแห่งพุทธที่แท้หาได้ตั้งอยู่บนความอหังการในฐานของอำนาจ บนความยิ่งใหญ่เหนือใครๆ หาใช่ความเป็นศาสนา หรืออารยธรรมนำความเป็นชาติ เพราะเมื่อความเป็นพุทธถูกตัดขาดจากการฝึกฝน จนไร้ซึ่งความเข้าใจในความหมายของการดำรงอยู่อย่างนอบน้อม ปราศจากความพร้อมที่จะสัมผัสและรับฟังทุกข์สุขของกัลยาณมิตรรอบข้าง สังคมบนความเป็นพุทธปลอมๆที่ว่าก็กำลังโงนเงนอยู่บนฐานของความประมาท เสมือนดั่งต้นไม้ใหญ่ที่ไร้แก่น ที่กำลังรอวันล่มสลายตายไปในไม่ช้า


http://www.prachatai3.info/column-archives/node/1894

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Re: นักรบแห่งตันตระ ( วิจักขณ์ พานิช )
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กันยายน 01, 2010, 09:39:55 am »
นักรบแห่งตันตระ (๓): ชีวิตหลุดๆของสิทธาทีโลปะ



เรจินัลด์ เรย์ เขียน
วิจักขณ์ พานิช แปล


ทีโลปะเกิดมาในวรรณะพราหมณ์ ตัดสินใจออกบวชเมื่ออายุยังน้อย เขาศึกษาพระสูตรในวัดซึ่งลุงของเขาผู้เป็นพระให้การอบรมสั่งสอนและดูแลอย่างใกล้ชิด จนวันหนึ่งทีโลปะเกิดนิมิตพบกับหญิงทาคิณีผู้หนึ่ง เธอได้อภิเษกทีโลปะเข้าสู่คำสอนสูงสุดของตันตระในธรรมชาติเดิมแท้ของจิต แล้วบอกให้ทีโลปะนำคำสอนที่ได้ไปปฏิบัติ


"ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จงทำตัวเหมือนคนบ้า สละผ้าเหลือง แล้วแยกตัวไปฝึกฝนภาวนาในที่ลับ" พอพูดจบ เธอก็หายตัวไปในพริบตา


เหมือนกับผู้ปฏิบัติตันตระคนอื่นๆ ด้วยการสละชีวิตนักบวช ใช้ชีวิตเหมือนคนบ้าไม่สมประกอบ ฝึกฝนภาวนาในที่ลับตาผู้คน ทีโลปะได้เลือกเดินบนเส้นทางที่ผิดแปลกไปจากกระแสหลักของสังคม โดยเฉพาะการดำรงชีวิตเยี่ยงคนวิกลจริตนั้น ถือว่าไม่ต่างอะไรกับวรรณะจัณฑาลเลยก็ว่าได้ แม้จะโดนทารุณและดูถูกเหยียดหยามโดยผู้มีวรรณะสูงกว่า แต่เหตุปัจจัยอันยากลำบากเช่นนั้นได้ช่วยให้ทีโลปะได้มองเห็นธรรมชาติแห่งทุกข์อันไม่จีรัง อีกทั้งยังทำให้เขาได้ตระหนักถึงมายาภาพของความสะดวกสบายและความปลอดภัยจอมปลอมที่มีอยู่ในชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม


ทีโลปะได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของนางทาคิณีอย่างเคร่งครัด เร่ร่อนจากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง แสวงหาความวิเวกเพื่อการฝึกภาวนา นอกเหนือจากการใช้ชีวิตอย่างไม่หวาดกลัวต่ออุปสรรคและความยากลำบากใดๆ ทีโลปะได้ออกเดินทางแสวงหาอาจารย์ เขาได้พบกับคุรุผู้รู้แจ้งหลายท่าน รับแก่นคำสอนมาฝึกฝนปฏิบัติอย่างอุทิศชีวิต ต่อมาเขาตัดสินใจเดินทางไปยังเบ็งกอล นำเทคนิคที่เขาได้รับจากอาจารย์ไปฝึกและดำเนินชีวิตอยู่ที่นั่นในฐานะคนรับใช้ของโสเภณีในเวลากลางคืน และงานประจำในเวลากลางวัน คือ การตำเมล็ดงา


ตลอดการใช้ชีวิตที่ดูไม่ค่อยปกติของเขา ทีโลปะได้อุทิศเวลาทุกวินาทีให้กับการภาวนาอย่างลับๆ เขาตัดสินใจที่จะสละวิถีชีวิตในแบบที่สังคมคาดหวัง อาศัยอยู่ในกระท่อมมุงจากเล็กๆพอกันแดดกันฝน ใช้เวลามุ่งมั่นกับการฝึกฝนจิตใจจนในที่สุดเขาได้ตื่นรู้สู่การพบกับธรรมชาติของสรรพสิ่งตามที่เป็นจริง ในนิมิตของ พระพุทธวัชรดารา ณ วินาทีนั้นทีโลปะปรารภว่า " ฉันไม่มีคุรุผู้เป็นมนุษย์ คุรุผู้เดียวของฉันคือพระสัพพัญญู ฉันได้สนทนาและรับคำสอนจากพระพุทธวัชรดาราโดยตรง"


หลังจากเข้าสู่ภาวะความตื่นรู้ของจิตโดยสมบูรณ์ ทีโลปะออกเดินทางร่อนเร่ไร้จุดหมายอีกครั้ง สั่งสอนผู้คนเข้าสู่สายธรรมอย่างไม่เลือกชั้นวรรณะ ผู้คนรู้จักเขาในนาม สิทธาทีโลปะ ตันตราจารย์ผู้ดำเนินชีวิตนอกกระแสสังคม ดำเนินชีวิตอยู่กับปัจจุบันอย่างที่ไม่มีใครสามารถคาดหมายได้ว่าเขาคิดจะทำอะไรในวินาทีถัดไป บ่อยครั้งที่ทีโลปะพูดหรือทำอะไรที่สร้างความตื่นตระหนกและความขุ่นเคืองให้กับผู้คนรอบตัวเขาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ภาวนาอยู่ตามป่าช้า ฝึกฝนและสอนภาวนาให้กับนักเรียนที่สนใจ ยามที่เขาต้องถกเถียงกับอาจารย์ในลัทธิและศาสนาอื่นๆ เขามักจะแสดงปาฏิหาริย์จากพื้นที่ว่างอันศักดิ์สิทธิ์ของจิตที่เป็นอิสระ แทนที่จะมัวแต่นั่งโต้เถียงกันในหลักพุทธปรัชญาแห้งๆอย่างไม่มีวันจบสิ้น


แม้ก่อนหน้าการรู้แจ้งเขาจะได้พบกับคุรุมากมาย ความสำคัญของทีโลปะในฐานะต้นน้ำแห่งสายคากิวของพุทธศาสนาทิเบตนั้น เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่เขาได้พบกับพระพุทธวัชรดาราโดยตรง แก่นคำสอนของทีโลปะประกอบด้วยคำสอนในธรรมชาติเดิมแท้ของจิต (มหามุทรา) ที่เขาได้รับถ่ายทอดโดยตรงจากวัชรดารา คำสอนในปราณโยคะ (inner yoga) ที่ประกอบด้วย ๖ เทคนิคสำคัญอันรู้จักกันในนามของ "โยคะทั้งหกของนาโรปะ" (six yogas of Naropa) และ คำสอนในเรื่องอนุตตรโยคะตันตระ ซึ่งถือเป็นคำสอนตันตระในขั้นสูงสุด อันประกอบด้วย ปิตุโยคะ (father tantra) มาตุโยคะ (mother tantra) และอทวิโยคะ (nondual tantra)


http://www.prachatai3.info/column-archives/node/2461
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Re: นักรบแห่งตันตระ ( วิจักขณ์ พานิช )
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กันยายน 01, 2010, 09:41:11 am »
นักรบแห่งตันตระ (๔): นาโรปะ จากพระนักปราชญ์สู่มหาสิทธา



เรจินัลด์ เรย์ เขียน
วิจักขณ์ พานิช แปล


หากตัดสินกันอย่างผิวเผินแล้ว คนบ้าๆ บอๆ อย่างทีโลปะคงไม่สามารถอบรมสั่งสอนใครให้รู้แจ้งขึ้นมาได้ แต่ที่น่าทึ่งก็คือ ศิษย์เอกของทีโลปะคือ นักปราชญ์มหาบัณฑิตนาโรปะผู้เลื่องลือ


นาโรปะโตมาในครอบครัววรรณะกษัตริย์ โดยเขาถือเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของตระกูลเลยก็ว่าได้ บิดามารดาต่างก็คาดหวังให้นาโรปะแต่งงานมีครอบครัว และสืบทอดอำนาจและทรัพย์สมบัติของครอบครัวต่อไป นาโรปะทำตามความคาดหวังดังกล่าว แต่งงานมีครอบครัวไปได้นานถึงแปดปี จนวันหนึ่งเขาตัดสินใจที่จะออกบวชจากโลกียวิสัย เขาได้แยกทางกับภรรยาเพื่อเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ใช้ชีวิตสมณะ ศึกษาพระธรรมอยู่ในมหาวิทยาลัยพุทธที่มีชื่อเสียงอย่างนาลันทา



นาโรปะใช้เวลาหลายปีศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยจนทะลุปรุโปร่ง ไม่ว่าจะเป็นในคัมภีร์พระไตรปิฎก ทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม คัมภีร์ปรัชญาปารามิตาสูตรของฝ่ายมหายาน รวมถึงคำสอนในขั้นของตันตระ จนในที่สุดเขาได้ถูกเลือกให้เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยนาลันทา ทุกคนรู้จักนาโรปะในฐานะพระนักปราชญ์มหาบัณฑิตที่เก่งกาจที่สุด



วันหนึ่ง ขณะที่นาโรปะกำลังนั่งอ่านหนังสือเกี่ยวกับหลักปรัชญาและตรรกะ อยู่บนสนามหญ้าภายในมหาวิทยาลัยนาลันทา เงามืดได้ทอดผ่าน นาโรปะจึงผละจากหนังสือแล้วหันไปมองเงาอันน่าสะพรึงกลัวนั้น เขาได้เผชิญหน้ากับหญิงแก่ ผิวหม่นคล้ำเป็นสีน้ำเงินเข้ม ตาสองข้างสีแดงที่จมฝังอยู่ในเบ้าตาอันเหี่ยวย่น ผมสีน้ำตาลจางๆสลับหงอกขาว ริมฝีปากเหี่ยวย่นและบิดเบี้ยว กับฟันที่ผุเน่าเหม็น เธอเดินกระเผลกๆ ด้วยไม้เท้าเก่าๆ เข้ามาหานาโรปะ

จากนั้นเธอจึงเอ่ยถามว่า "เจ้ากำลังอ่านอะไรอยู่" นาโรปะตอบไปว่าเขากำลังคร่ำเคร่งอยู่กับหนังสือหลักปรัชญาพุทธศาสนาอันลึกล้ำ หญิงแก่จึงถามต่อไปว่า "เจ้าเข้าใจตัวอักษรหรือเข้าใจความหมายที่แท้" นาโรปะจึงตอบไปว่าเขาเข้าใจทุกประโยค ทุกตัวอักษรที่กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนั้นเป็นอย่างดี หญิงแก่ได้ยินเช่นนั้นก็ดีใจ เต้นรำควงไม้เท้าไปมาอย่างลิงโลด นาโรปะเห็นเธอมีความสุขเช่นนั้น จึงบอกเธอเพิ่มไปว่า เขามีความเข้าใจในความหมายที่แท้ของมันด้วย แต่เมื่อได้ยินเช่นนั้น หญิงแก่ก็เริ่มตัวสั่นเทา ร้องไห้ สะอึกสะอื้น แล้วทรุดฮวบลงไปกับไม้เท้าเก่าๆ ด้ามนั้น นาโรปะเห็นเช่นนั้นจึงถามหญิงแก่ถึงสาเหตุที่ทำให้อารมณ์ของเธอเปลี่ยนไปอย่างกระทันหัน เธอจึงบอกนาโรปะไปว่า "เมื่อนักปราชญ์มหาบัณฑิตอย่างเจ้ายอมรับว่า เจ้าเข้าใจเพียงความหมายตามตัวอักษรของหลักธรรมะที่เจ้าอ่าน เจ้าพูดความจริง อันทำให้ข้ามีความสุข แต่เมื่อเจ้าโกหกว่าเจ้าเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งของหลักธรรมนั้นๆ มันทำให้ข้ารู้สึกเศร้าใจยิ่งนัก"



นาโรปะได้ยินเช่นนั้นก็ตกใจจนพูดอะไรไม่ออก เขารู้แก่ใจว่าสิ่งที่หญิงแก่พูดเป็นความจริงทุกประการ แรงบันดาลใจแห่งการค้นหา "ความหมายแห่งชีวิตที่แท้" ได้ผุดบังเกิดขึ้นในใจ เขาจึงได้ถามหญิงแก่ไปว่า "แล้วใครกันที่เข้าใจความหมายที่แท้ แล้วฉันจะสามารถรู้แจ้งในความหมายที่ว่านั้นได้ด้วยวิธีการใด" หญิงแก่ยกไม้เท้าชี้ไปที่ป่าทึบพร้อมกล่าวว่า "เขาผู้นั้นคือ "น้องชาย"ของข้า จงออกเดินทางตามหาด้วยตัวเจ้าเอง แสดงความเคารพ แล้วขอให้เขาสอนความหมายที่แท้แห่งธรรมะให้แก่เจ้า" พอกล่าวจบทาคิณีในคราบหญิงแก่อัปลักษณ์ก็หายตัวไปในบัดดล "ราวกับเงารุ้งในฟากฟ้า"

เราอาจจะปฏิเสธความน่าเชื่อถือของตำนานที่ว่านี้ เพราะมันออกจะเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อเกินกว่าที่จะจริงจังไปกับมัน โดยเฉพาะคนที่มีชื่อเสียงและความสำเร็จอย่างนาโรปะด้วยแล้ว ออกจะเป็นเรื่องง่ายที่จะหันกลับไปยึดมั่นกับความสำเร็จทางโลกที่เขาสั่งสมมาอย่างที่ไม่จำเป็นจะต้องไปให้ความสำคัญกับคำพูดของคนแปลกหน้าอย่างหญิงแก่นางนั้น แต่ในกรณีของนาโรปะ วินาทีนั้นบ่งบอกถึงบางสิ่งบางอย่างในตัวเขาที่อยู่เหนือความคับแคบของอัตตา อันเป็นสิ่งที่เขาโหยหามานานแสนนาน เขาพร้อมที่จะอุทิศชีวิตที่เหลือของเขาในการค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ที่แท้ นาโรปะจึงตัดสินใจประกาศลาออกต่อหน้าที่ประชุมของเหล่าพระนักปราชญ์ทั้งหลาย เพื่อออกเดินทางตามหาบุคคลที่เขาแทบจะไม่รู้แม้กระทั่งความจริงที่ว่า "น้องชาย" ของหญิงแก่ที่ว่านั้นมีชีวิตอยู่บนโลกนี้จริงๆ หรือไม่



พระสงฆ์ที่นาลันทาต่างก็คิดว่านาโรปะได้เสียสติไปแล้ว พวกเขาพยายามหว่านล้อมนาโรปะให้หันกลับมาให้คุณค่ากับวิถีชีวิตของพระสงฆ์ที่ต่างเพียบพร้อมไปด้วยการศึกษาและศีลจรรยาที่สูงส่ง อันแสดงถึงเป้าหมายที่ชัดเจนของพุทธศาสนา ความคิดที่จะทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่านั้นจึงถูกมองเป็นบาปหนักต่อโพธิ์ใหญ่แห่งพุทธธรรมที่งอกงาม



เหล่าเพื่อนๆ ของนาโรปะต่างช่วยกันทุกวิถีทาง ให้นาโรปะได้หวนคิดถึงช่วงเวลาและสิ่งต่างๆ ที่เขาได้ทุ่มเทไปกับการศึกษาร่ำเรียน หน้าที่การงานในมหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ อีกทั้งชื่อเสียงเกียรติยศที่เขาได้สั่งสมมาในฐานะนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ อันไม่ควรถูกทิ้งขว้างอย่างง่ายดายด้วยเช่นนี้ กษัตริย์ในมณฑลนั้นจะต้องโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ และหากนาโรปะยืนยันต่อการตัดสินใจครั้งนี้ ก็จะเป็นที่แน่นอนว่า ชื่อเสียงทั้งหมดของเขาจะถูกทำลายป่นปี้ อย่างไม่มีทางจะเรียกคืนกลับมาได้เหมือนเก่า



อย่างไรก็ดี นาโรปะไม่ได้หวั่นไหวไปกับคำขู่เหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย เขาสละหนังสือและพระคัมภีร์ทั้งหลายทิ้งไปอย่างไม่เสียดาย หยิบเพียงบาตร ย่ามและสิ่งของติดตัวไม่กี่อย่าง แล้วมุ่งหน้าไปยัง "ทิศตะวันออก" สู่ป่าทึบสลับกันทะเลทรายผืนกว้าง เพื่อตามหาคุรุของเขา



นาโรปะพบว่าการเดินทางแสวงหาอาจารย์ของเขาเต็มไปด้วยความยากลำบาก ความสับสน และความท้อแท้ สิ้นหวัง หลายต่อหลายครั้งที่เขาพบกับเหตุการณ์ประหลาดๆ ที่นาโรปะคิดไปว่ามันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการตามหาอาจารย์ของเขา แต่กลับมาตระหนักได้ในภายหลังว่าเหตุการณ์เหล่านั้นคือร่องรอยการปรากฏตัวของทีโลปะ ดูเหมือนยิ่งเดินท่องไปมากเท่าไร นาโรปะก็ยิ่งต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคภายในจิตใจของเขาเองมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นหลักธรรมะที่มีอยู่เต็มหัว ความหลงทนงตนที่ถูกสะสมมาตลอดช่วงเวลาของการร่ำเรียน และความอวดดีว่าตัวเองนั้นเข้าใจถึงความเป็นไปของทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ ในที่สุดนาโรปะก็มาถึงจุดที่เขารู้สึกเหนื่อยล้าเต็มทนกับการพยายามตามหาทีโลปะ จิตของเขาทั้งฟุ้งและวิ่งวุ่นอย่างไม่มีหยุดพัก ร่างกายรู้สึกราวกับจะระเหิดหาย ส่วนจิตใจก็ตกสู่ภาวะสิ้นหวังอย่างถึงที่สุด โชคชะตาดูเหมือนจะกำลังเล่นตลกกับเขา ชีวิตเก่าก็ได้โยนทิ้งไปหมดสิ้น ส่วนชีวิตใหม่ตามหาเท่าไรก็ไม่มีที่ท่าว่าจะพบ



ในขณะที่รู้ดีว่า เขาคงไม่มีทางหวนกลับไปใช้ชีวิตแบบเก่าได้อีก หนทางข้างหน้าก็ดูจะเต็มไปด้วยอุปสรรคที่กีดขวางการค้นพบศักยภาพภายในตัวเขา ความสิ้นหวังได้พานาโรปะมาถึงจุดที่เขาเชื่อว่า คงเป็นเพราะบาปกรรมที่เขาได้ทำไว้ในอดีตชาติ ที่ทำให้ชาตินี้เขาคงไม่มีทางที่จะได้พบกับคุรุที่เขาเฝ้าตามหา เขาจึงตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตาย นาโรปะได้หยิบมีดขึ้นมาแล้วเตรียมที่จะปาดคอตัวเอง



ทันใดนั้น ทีโลปะในร่างของชายผิวน้ำเงินคล้ำได้ปรากฏตัวต่อหน้านาโรปะ ทีโลปะบอกกับนาโรปะว่า "ตั้งแต่วินาทีที่เจ้าตัดสินใจออกเดินทางตามหาคุรุ ข้าได้อยู่เคียงข้างเจ้าตลอดเวลา เป็นเพียงเพราะกิเลสตัณหาพรางตาไม่ให้เจ้าเข้าใจความจริงในข้อนี้ แต่กระนั้นเจ้าก็ดูจะเป็นภาชนะที่คู่ควรต่อสายธารธรรม ข้าเชื่อว่าเจ้าจะสามารถรับการถ่ายทอดคำสอนสูงสุดได้ ดังนั้นข้าจึงยินยอมที่จะรับเจ้าเป็นศิษย์"



ช่วงเวลาสิบสองปีหลังจากนั้น นาโรปะผู้ได้กลายเป็นศิษย์ของทีโลปะ ได้ผ่านกระบวนการฝึกฝนที่ยากลำบากเหลือประมาณ ทีโลปะได้ให้แบบทดสอบทั้งต่อร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ความเข้มข้นของกระบวนการฝึกได้แสดงถึงความใส่ใจและความเข้าใจที่ทีโลปะมีต่ออุปสรรคภายในที่นาโรปะสะสมมาในอดีต แต่ละถ้อยคำสอนดูเหมือนจะบาดลงไปยังตัวตนของนาโรปะอย่างไม่ปรานี จนหนีไม่พ้นกับความรู้สึกที่ว่าการกระทำของทีโลปะดูช่างไร้ศีลธรรม และได้ทำร้ายชีวิตและจิตใจของศิษย์ผู้นี้อย่างเลวร้ายที่สุด แต่กระนั้นทีโลปะก็ได้เผยให้นาโรปะได้เห็นการดำรงอยู่ของชีวิตที่เป็นอิสระ กว้างใหญ่ ใสชัด ประภัสสร อันเป็นคุณลักษณะที่ก้าวพ้นทวินิยมถูกผิดและการเกิดดับของอัตตาที่คับแคบ ตลอดช่วงเวลาที่ว่านี้ทีโลปะแทบจะไม่ได้พูดสอนอะไรมากมาย คำสอนที่นาโรปะได้รับเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ไม่ต้องการคำอธิบาย เป็นประสบการณ์ตรงของความทุกข์ ความเจ็บปวด รวมถึงการกระทำที่ดูไร้ความหมายแต่กลับมีนัยให้เขาได้ลองปฏิบัติตาม การเดินทางของนาโรปะดูจะปราศจากความปลอดภัย และคำยืนยันใดๆ ทั้งสิ้น แต่เขาก็สามารถยืนหยัด อดทน ด้วยความศรัทธาต่อตันตราจารย์ทีโลปะอย่างไม่สั่นคลอน นาโรปะไม่เคยมีความคิดที่จะย้อนกลับไปสู่ทางเลือกอื่น เพราะเขาตระหนักดีว่าเส้นทางชีวิตของเขาดูจะไม่มีทางเลือกอีกต่อไป



สิบสองปีผ่านไป วันหนึ่งขณะที่นาโรปะกำลังยืนอยู่กับทีโลปะกลางพื้นที่ราบแห่งหนึ่ง ทีโลปะกล่าวว่าถึงเวลาแล้วที่เขาจะส่งทอดสายธรรมอันลึกล้ำให้แก่นาโรปะ ผ่านคำสอนปากเปล่าที่ใครๆ ต่างก็ปรารถนา เมื่อทีโลปะถามถึงเครื่องบรรณาการ นาโรปะผู้ซึ่งไม่หลงเหลือของมีค่าติดตัวจึงตัดสินใจมอบนิ้วมือและเลือดของเขา ดังที่ลามะธารนารถกล่าวไว้ว่า

"หลังจากทีโลปะได้เก็บรวบรวมนิ้วมือของนาโรปะ ทันใดนั้นทีโลปะก็ถอดรองเท้าแตะออกมาฟาดหน้าศิษย์ของเขาอย่างแรง จนนาโรปะล้มหมดสติไป พอตื่นขึ้นมานาโรปะก็ได้พบกับสัจธรรมสงสุด อันได้แก่ ความเป็นเช่นนั้นเองของสรรพสิ่ง นิ้วมือของเขาถูกต่อกลับอย่างไม่มีร่องรอยของบาดแผล ณ วินาทีนั้นเขาได้รับการส่งทอดคำสอนปากเปล่าอันเป็นหัวใจแห่งสายธรรมเดิมแท้ นาโรปะได้กลายเป็นเจ้าแห่งเหล่าโยคี"



นาโรปะได้รับการถ่ายทอดหัวใจคำสอนแห่งมหามุทราจากทีโลปะ รวมถึงโยคะทั้งหก และอนุตตรโยคะตันตระ จนท้ายที่สุดเขาได้กลายเป็นสิทธาผู้รู้แจ้งในสายการปฏิบัติที่สืบทอดมาจากอาจารย์ของเขา บ่อยครั้งที่ผู้คนเห็นนาโรปะเดินท่องไปอย่างไร้จุดหมายในป่าทึบ บ้างก็สะพายธนูออกล่ากวาง บ้างก็อยู่ในกามามุทรา บ้างก็ราวกับเด็กน้อยกำลังเล่นสนุก หัวเราะ สะอื้นไห้



ในฐานะตันตราจารย์ผู้รู้แจ้ง นาโรปะรับศิษย์เข้าฝึกกับเขา และแม้พฤติกรรมของเขาจะดูประหลาดพิลึกในมุมมองคนทั่วไปสักเพียงไร นาโรปะก็ได้แสดงถึงพลังแห่งการตื่นรู้เหนือหลักการ เปี่ยมด้วยปัญญาญาณ ความรัก ความเมตตา และพลังแห่งจิตอันลึกล้ำเหนือคำบรรยาย อีกด้านหนึ่งนาโรปะยังคงความเป็นนักปราชญ์ผู้สามารถประพันธ์งานเขียนในขั้นวัชรยานอันทรงคุณค่า ดังเห็นได้พระคัมภีร์เท็นเจอ ที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่โยคีผู้ปฏิบัติ



นาโรปะถือเป็นธรรมาจารย์คนสำคัญในวิวัฒนาการของสายคากิว โดยเฉพาะการรวมเอาเทคนิคตันตระกับหลักปรัชญาพุทธดั้งเดิมเข้าด้วยกัน ผลลัพธ์ก็คือสายปฏิบัติอันมีชีวิตที่เปี่ยมด้วยการอุทิศตนสู่สายธรรมเดิมแท้เหนือหลักตรรกะ กับหลักปรัชญาพื้นฐานอันแสดงความเข้าใจที่ถูกต้องในเส้นทางการฝึกตน ก็เพราะนาโรปะนี่เองที่ทำให้คำสอนอันลึกซึ้งตามวิถีโยคีอนาคาริกของทีโลปะ สามารถเดินทางออกจากป่าทึบในอินเดียตะวันออก สู่รูปแบบการฝึกฝนในแบบโยคีผู้ครองเรือนที่ได้ถูกปรับให้เหมาะสมตามเหตุปัจจัยในยุคสมัยโดยศิษย์เอกของนาโรปะที่ชื่อมาร์ปะ


http://www.prachatai3.info/column-archives/node/2575
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...