'อาหารเสริม' โฆษณาเกินจริง ภัยร้ายแรงที่ต้องระวัง
วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2010 เวลา 12:43 นายนกกระจอก จอมขุดข่าว
กระแสรักสุขภาพกำลังมาแรงในยุคนี้ จะเห็นได้จากสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมสุขภาพถูกนำออกสู่ท้องตลาดมาก ขึ้น ขณะที่ยอดขายก็มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แม้จะมีส่วนช่วยเสริมจากการรับประทานอาหารตามปกติ แต่โฆษณาแฝงข้อความเกินจริงของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ก็เป็นอีกหนึ่งภัยร้ายแรงต่อผู้บริโภค
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือที่เรียกติดปากว่า “อาหารเสริม” ออกมาจำหน่ายหลายยี่ห้อ และมีการแข่ง ขันทางการตลาดสูง บางรายมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น รับประทานแล้วทำให้ฉลาด สมองดี หรือรับประทานแล้ว ช่วยป้องกันหรือรักษาสารพัดโรคได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภค เกิดความสับสนและเข้าใจผิดได้
สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. ปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 ชนิด แบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทวิตามิน, กลุ่มผลิต ภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยลดการดูดซึมของไขมัน, กลุ่มผลิต ภัณฑ์เสริมอาหารที่เพิ่มการเผาผลาญพลังงาน, กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สกัดมาจากธัญพืช, กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สกัดมาจากสมุนไพร, กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดการเกิดโรคมะเร็ง, กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยชะลอความแก่ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย
โดยกลุ่มที่มียอดจำหน่ายสูงคือ กลุ่มที่ชะลอความแก่ และเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถช่วยลดความอ้วนได้
รองเลขาธิการ อย. กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา อย. ทำหน้าที่กำกับดูแลความปลอดภัยและคุณภาพมาตรฐานของอาหาร โดยจะตรวจสอบและดูแลผลิตภัณฑ์ก่อนออกวางจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย ข้อความบนฉลาก รวมทั้งข้อแนะนำ คำเตือน สำหรับผลิตภัณฑ์ว่า เป็นไปอย่างถูกต้องตามมาตรฐานตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 หรือไม่
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ Dietary Supplement Products เป็นอาหารที่ใช้รับประทานเสริม นอกเหนือจากอาหารหลัก ไม่ใช่รับประทานแทนอาหารเหมือนอย่างคำโฆษณา และมีจุดมุ่งหมายสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติ ไม่ใช่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยรับประทาน แต่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส่วนใหญ่จะ มีรูปแบบและส่วนผสมที่ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ยา ทำให้ผู้บริโภคหลายรายเกิดความสับสน
จึงมีผู้ประกอบการหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์บางรายใช้เป็นจุดขายในการโฆษณาผ่าน สื่อหรือการขายตรง โดยแสดงคุณสมบัติในทางยาว่าช่วยรักษาโรคต่าง ๆ ได้ เช่น ลดความอ้วน บำรุงสมอง หรือใช้โฆษณาเป็นอาหารที่ใช้ควบคุมน้ำหนัก หรือโฆษณาว่า เมื่อรับประทานแล้วสามารถป้องกัน หรือลดโอกาสเป็นมะเร็งได้
ทำให้ผู้บริโภคบางคนหลงเชื่อและใช้จ่ายเงินในการซื้อหาผลิตภัณฑ์จำนวนมาก
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ได้มีคุณสมบัติตามที่มีการโฆษณา เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีคุณสมบัติเพียงการเสริมอาหาร และอาจช่วยให้เกิดการเผาผลาญพลังงานมากขึ้น แต่ไม่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคหรือลดความอ้วนได้
รองเลขาธิการ อย. ฝากถึงผู้บริโภคว่า ควรใช้วิจารณญาณ ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อย่าตัดสินใจตามคำโฆษณา เพราะร่างกายที่แข็งแรง ตามหลักการแพทย์นั้น เกิดจากการรับประทานอาหารหลักครบ 5 หมู่ การลดความอ้วนสามารถทำได้ด้วยการรับประทานอาหารแต่พอเหมาะ และออกกำลังกายทุกวัน
และหากจะใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วย ควรจะพิจารณาการโฆษณาอย่างรอบคอบ!!.
...
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี ที่ 12 สิงหาคม 2553
แก้ไขล่าสุด ( วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2010 เวลา 12:46 )
'อาหารเสริม' โฆษณาเกินจริง ภัยร้ายแรงที่ต้องระวัง
http://www.consumerthai.org/main/index.php?option=com_content&view=article&id=1272:2010-08-15-05-46-37&catid=102:2009-11-13-05-31-43&Itemid=125