อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

<< < (2/3) > >>

ฐิตา:

ถ้าเราศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง วิญญาณมันไม่ใช่รูปนั้น ไม่ใช่รูปเชิญเข้ามาทรงได้ไม่ใช่รูปที่ว่าออกจากร่างโน้นมาสู่ร่างนี้ได้ แต่วิญญาณในแง่ธรรมะของพระพุทธศาสนาแท้ๆ จริงๆ นั้น มันอยู่ที่การกระทบของอายตนะภายในกับภายนอกคือตากับรูปกระทบกันเกิด ความรู้ทางตานี้เรียกว่า จักขุวิญญาณ อันนี้เรามันต้องจำศัพท์แสงไว้หน่อย เรียกว่าเป็นศัพท์เทคนิค เวลาพูดแล้วมันสั้นดี จักขุวิญญาณคือความรู้ทางตา เสียงมากระทบหูก็เกิดโสตวิญญาณ คือความรู้ทางหู กลิ่นมากระทบจมูกก็เกิดฆานวิญญาณ คือความรู้ทางประสาทของจมูก รสมากระทบลิ้นก็เกิดชิวหาวิญญาณ ความรู้ทางลิ้น สิ่งอันใดมากระทบร่างกาย เราก็รู้เรียกว่าโผฏฐัพพะ แล้วก็เกิดกายวิญญาณ เกิดความรู้ทางกายขึ้นแล้วความรู้เหล่านั้นมันไปถึงใจ ก็เกิดมโนวิญญาณขึ้นมารู้ทางใจ

เราอย่าตั้งปัญหาถามว่าจิตคืออะไร ใจคืออะไร เพราะโดยเนื้อแท้มันไม่มีตัวตน เรื่องจิต เรื่องมโนนี่มันเกิดดับๆ อยู่ ตลอดเวลา อธิบายไม่ได้ว่ามันคืออะไร ไม่มีใครสามารถอธิบายได้

เพราะฉะนั้น ในหนังสือของพวกเซ็น พุทธศาสนาฝ่ายเซ็นในจีน ในญี่ปุ่นสมัยก่อน เดี๋ยวนี้ในจีนไม่มีแล้ว แต่ไปอยู่ในญี่ปุ่น ศาสนาเซ็นในเมืองจีนหายไป ไปอยู่ในญี่ปุ่น

ทีนี้ในสมัยโน้นในเมืองจีนมีลูกศิษย์คนหนึ่ง เข้าไปหาอาจารย์โพธิธรรม
โพธิธรรมนี่เป็นพระอินเดีย ที่นำพุทธศาสนาฝ่ายเซ็น คือฝ่ายปฎิบัติแบบเซ็นไปเมืองจีน เมื่อไปถึงเมืองจีนพระเจ้าแผ่นดินที่เมืองจีนก็มาหา แล้วก็มาบอกว่า ท่านได้ทำอะไรก็มาก ได้บวชคนก็เยอะ ได้สร้างวัดอะไรต่ออะไรก็มาก แล้วก็ถามว่า ที่ทำไปทั้งหมดจะได้กงเต๊กหรือไม่ คือหมายความว่าจะได้กุศลหรือไม่

เราได้ยินคำในเมืองไทยว่า ทำกงเต๊กอยู่บ่อยๆ เช่นว่ามีศพนี่ก็ทำกงเต๊ก แล้วพระเจ้าแผ่นดินท่านก็ถามท่านโพธิธรรม ว่าที่ทำทั้งหมดได้กงเต๊กหรือไม่ ท่านโพธิธรรมท่านตอบอย่างโผงผางตรงไปตรงมาบอกว่า ไม่ได้ความเลย เป็นการทำฉาบฉวยเอาหน้าเอาตาไปเท่านั้นเอง ไม่ได้กุศล กงเต๊กเขาหมายเอากุศล ไม่ฉลาด ไม่ได้ปัญญา เป็นแต่เรื่องทำทานวัตถุภายนอก ไม่ได้ปัญญาอะไรพระเจ้าแผ่นฟังแล้วก็งงเหมือนกัน แต่ทีหลังได้คำอธิบายก็เกิดความรู้ความเข้าใจ

ทีนี้คราวหนึ่งมีคนคนหนึ่ง เป็นนักบวชอยู่เหมือนกันแต่ว่าบวชแบบอื่น ในพุทธศาสนาเมืองจีนมันมีหลายนิกาย นิกายสุขาวดี นิกายอะไรมีอยู่ สวดมนต์ชักลูกประคำ โอม นโม โยมเมธาหุต พระอมิตาภะพุทธ สวดเรื่อยๆ ไป ก็มาหาท่านโพธิธรรม มาถึงก็มายืนอยู่ที่นอกห้อง ท่านก็ไม่เปิดประตูรับ ท่านแกล้งดูว่าจิตใจขนาดไหน มีความอดทนขนาดไหน แล้วฤดูนั้นเป็นฤดูหนาวเสียด้วย อากาศหนาวมากหิมะตกลงบนพื้นดิน

องค์นั้นไปยืนหิมะตกลงมาเรื่อยๆ จนท่วมฝ่าเท้าแล้ว ถึงหน้าแข้งแล้วถึงเข่าแล้วท่านก็ไม่เปิดประตูรับ องค์นั้นก็ไม่ถอยเหมือนกัน เรียกว่าลูกศิษย์ก็สำคัญเหมือนกัน รู้ว่าอาจารย์ลองใจแข็งสู้เอา ยืนอยู่นั่นแหละ ยืนๆ ไปอาจารย์เห็นว่ามันพอได้แล้วเจ้านี่ ทนดีอยู่ ก็เลยเปิดหน้าต่างไม่ได้เปิดประตู เปิดหน้าต่างโผล่หัวออกมาถามว่ามีธุรอะไร ท่านก็บอกว่า อยากจะมาขอร้องให้ท่านอาจารย์ช่วยขูดเกลาจิตให้สักหน่อย

อาจารย์บอกว่าจิตมันอยู่ตรงไหนหยิบออกมาซีจะเกลาให้ ว่าอย่างนั้น พออาจารย์ว่าอย่างนั้น คนที่มาก็เกิดปัญญาขึ้นมา เกิดความรู้โพล่งขึ้นมาทันที บอกว่าจิตมันไม่มี หยิบไม่ได้ ก็อาจารย์บอกว่า หยิบมาซีฉันจะขูดให้ ทีนี้จะหยิบไปให้อย่างไร เมื่อหยิบไปให้ไม่ได้ก็ได้ปัญญา คือได้ปัญญา ว่าจิตไม่มี ได้ความรู้ว่าเป็นอนัตตา เกิดปัญญาขึ้นมาในใจ ว่าอะไรๆ มันไม่มี จะไปจับมันมาขูดได้อย่างไร

ก็เลยบอกกับท่านอาจารย์ว่า ผมรู้แล้ว อาจารย์บอกว่าเข้ามาคุยกันก่อน เปิดประตูให้เข้าทีนี้
แต่ว่ามันพอคุยกันได้อย่างนั้น ก็เลยได้มาคุยกันได้ความรู้ต่อไป เพราะฉะนั้นเรื่องจิตนี่เราอย่าไปเที่ยวค้นให้มันวุ่นวาย เราเพียงแต่บังคับความคิดของเราก็พอแล้ว อย่าไปค้นว่า
อะไรต่ออะไรให้มันวุ่นวายไป ถ้าจะศึกษาเรื่องของจิต ก็หมายความว่าศึกษาถึง เรื่องของอาการที่มันเป็นอยู่

ฐิตา:
อะไรมันเกิดขึ้นในความคิดของเรา ความคิดนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เป็นอะไร
และเมื่อเกิดขึ้นแล้วมันเย็นหรือมันร้อน มันสงบหรือมันวุ่นวาย มันมืดหรือมันสว่าง ให้สังเกตเพียงเท่านั้น
ก็เรียกว่าเป็นการปฎิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนา ถ้าจะค้นให้มันหนักไปกว่ามันก็จะเลยเถิดไป
ไม่เป็นทางที่จะพ้นทุกข์ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงไม่ให้ค้นจนเลยเถิด
ให้ค้นแต่เพียงจุดที่เราต้องการ จุดที่เราต้องการนั้นก็คือ การดับทุกข์ดับร้อนได้ในชีวิตประจำวัน
ไม่ใช่เรื่องอะไรมากมาย ก็ต้องการแต่เพียงว่าทำอย่างไรจะดับทุกข์ได้ แล้วทุกข์มันอยู่ที่ไหน
ก็ทุกข์อยู่ที่ความคิดของเรา ถ้าเราคิดในเรื่องที่เป็นทุกข์ เราก็นั่งเป็นทุกข์ ถ้าคิดในเรื่องที่เป็นสุข เราก็นั่งสบายใจ
ถ้าคิดในเรื่องร้อน เราก็นั่งร้อนอกร้อนใจ ถ้าคิดในเรื่องเศร้า เราก็นั่งเศร้าใจ มันอยู่ที่ความคิดของเราทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นจึงมีคำพูดว่า ความคิดของท่านสร้างความเป็นอยู่ของท่าน
ชีวิตก็คือความคิด ความคิดก็คือชีวิตของเรานั่นเอง มันสร้างกันในรูปอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นเราควรจะรู้ลักษณะอันนี้ได้ ว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ มันเป็นของผสม เกิดขึ้นจากการกระทบกัน
เมื่อของสองอย่างไม่กระทบกันมัน ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น พอกระทบกันมันก็เกิดขึ้น เหมือนกับดนตรีเช่นพิณพาทย์
ไม้ตีกับระนาดมันอยู่คนละที่ ไม่มีเสียง เสียงมันไม่มี แต่พอเอาไม้มาตีลงไปบนระนาดมันก็เกิดเสียงขึ้นมา
เสียงนั้นเกิดขึ้นเมื่อไม้กระทบกัน ถ้าไม่มีไม้กระทบกันแล้วเสียงไม่มี เสียงนั้นจึงไม่มีอยู่ก่อน
แต่มันเกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่ง ระหว่างไม้อันหนึ่ง มากระทบกับอีกอันหนึ่ง มากระทบกันเข้าอย่างนั้น
เมื่อกระทบแล้วก็หายไป เสียงนั้นไม่ปรากฎ มันกระทบแล้วก็หายไปเท่านั้น มันเกิดขึ้นอย่างนั้น

อะไรๆ ที่เกิดขึ้นในใจของเราก็เหมือนกัน มันก็เกิดจากการกระทบกันของสิ่งเหล่านั้น
ตามากระทบรูป ก็เกิดความรู้ทางตา เสียงกระทบหู เกิดความรู้ทางหู กลิ่นมากระทบจมูก ก็มารู้ทางจมูก
รสกระทบลิ้น ก็เกิดความรู้ทางลิ้น โผฏฐัพพะมากระทบกาย ก็เกิดความรู้ทางกาย
รู้ทางกายประสาท แล้วใจก็ปรุงแต่ง คือเกิดความคิดต่อไป ตามสิ่งที่มากระทบนั้น
ถ้าจะขีดเป็นเส้นก็มีเส้นมาโดยลำดับ มารวมกันที่จุดหนึ่ง จุดนั้นสมมติว่าเป็นจุดรวมของสิ่งที่เรียกว่าความคิด
รวมกันเข้าแล้วเกิดปรุงแต่งกันขึ้นในรูปต่างๆ อันนี้คือวิถีทางของมัน สิ่งที่มากระทบนั้นจะทำให้เกิดอะไรขึ้นก็ได้
เช่นรูปมากระทบตา เมื่อเกิดความรู้ทางตาแล้ว ตารู้ ความรู้ทางตา สามอย่าง มารวมตัวกันเข้าก็เกิดเป็นผัสสะ
ผัสสะแปลว่าการรวมของสิ่งสามอย่าง

ต่อจากผัสสะก็เกิดความรู้สึกเรียกว่าเวทนาที่เราพูดกันอยู่บ่อยๆ เราสวดมนต์ก็ว่า เวทนาอนิจจา สัญญา อนิจจา
เวทนาไม่เที่ยง เวทนาเป็นอนัตตาด้วย เกิดเวทนาคือเกิดความรู้สึก รู้สึกอย่างไร รู้สึกชอบใจ เรียกว่า สุขเวทนา
รู้สึกไม่พอใจเรียกว่า ทุกขเวทนา
ถ้าเฉยๆ ก็เป็น อทุกขมสุขเวทนา คือความรู้สึกที่ไม่สุขแล้วก็ไม่ทุกข์ มันก็เกิดขึ้นอย่างนี้

ทีนี้มันไม่หยุดเพียงเท่านั้น เมื่อเกิดความรู้สึกว่าเป็นสุขแล้ว ก็เกิดตัณหา คือ อยากจะให้สิ่งนั้นอยู่กับเราต่อไป
เช่น เราได้เห็นรูปเกิดความรู้ทางตา แล้วความรู้ทางตาก็เกิดผัสสะ ผัสสะแล้วก็เกิดชอบใจ คือเวทนา
พอเกิดเวทนาก็เกิดตัณหาคืออยากจะให้รูปนั้นอยู่ในสายตาเราต่อไป ไม่อยากให้รูปนั้นลับหายไปจากตา
อันนี้เรียกว่าเกิดตัณหาในรูปนั้น แล้วความอยากนั้น อยากให้มันอยู่นานๆ
มันก็เรียกว่า อุปาทาน คือเข้าไปยึดไปติดอยู่ในรูปนั้นเอาไปนั่งคิดนั่งฝัน
และเมื่อไม่ได้เห็นรูปนั้นเป็นอย่างไร ก็มีความทุกข์ความเดือดร้อนใจ นี่มันเกิดขึ้นอย่างนี้
สภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเรามันเป็นอย่างนี้ เกิดกิเลสขึ้นมาได้ถ้าหากว่าพอใจเขาเรียกว่าเกิดราคะ
ถ้าไม่พอใจก็เกิดโทสะ ถ้าไม่ชอบใจเรียกว่า อทุกขมสุข คือชอบก็ไม่ใช่ ชังก็ไม่ใช่
มันก็เกิดโมหะขึ้นมาอีกเหมือนกัน มันเป็นอย่างนี้ สามอย่างนี้ ถ้าเกิดราคะก็ร้อน เกิดโทสะก็ร้อน เกิดโมหะก็ร้อน

ฐิตา:
ร้อนหรือไม่ เราลองมาคิดดู เวลาเราอยากได้อะไรๆ ใจมันร้อนหรือไม่
อยากจะไปตลาด หรือว่าอยากจะไปดูนิทรรศการของกรมราชทัณฑ์เขาแสดง
นิทรรศการสินค้าของผู้ต้องขังในเรือนจำ เขาว่ามีตู้มีโต๊ะมีเครื่องมุก เครื่องอะไรๆ ต่างๆ ที่เป็นฝีมือผู้ต้องขัง
ราคามันก็พอสมควรแต่ว่าของมันดี ใจอยากดู ได้ยินข่าว ได้ยินข่าวว่าเขาแสดงนิทรรศการที่สวนสราญรมย์
ทีนี้ใจมันอยากจะไป สั่งคนรถว่า เตรียมรถไว้ให้พร้อมฉันจะไปซื้อของ ของผู้ต้องขังหน่อย เราแต่งตัวเสร็จก่อน
พอแต่งตัวเสร็จก่อนแล้ว ออกมาที่ประตู เรียกหาคนรถสมมติว่าคนรถชื่อ แก้ว "แก้ว" รถพร้อมแล้วหรือยัง
ยังครับใจเป็นอย่างไรตรงนั้น นึกเคืองๆ อ้ายแก้วนี้เหลือเกินทำไมมันช้า ไม่แต่งรถให้ได้ทันใจ
ใจมันร้อนจะไปไวๆ นี่เกิดไฟเผาลนจิตใจแล้ว

พอรถเสร็จเรียบร้อยก็ไปนั่งใน รถติดแอร์ เปิดแอร์เย็นหน่อย ขับรถไปถึงย่านสุขุมวิท รถมันติดเหลือเกิน
อ้ายถนนสายนี้ เอาแล้ว รถติดไม่สบายใจใจมันอยากจะไปไวๆ ความจริงมันนั่งอยู่ในที่มีแอร์มันก็เย็นเจี๊ยบอยู่แล้ว
แต่ใจมัน ร้อนจะให้ไปทะลุไปไวๆ ให้ถึงสวนสราญรมย์ไวๆ ขณะนั่งอยู่นั้นร้อนใจ ร้อนเพราะอะไร
ร้อนเพราะอยาก คืออยากที่จะไปให้เหมือนใจ ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะราคะ คืออยากที่จะไปได้เหมือนใจ
แต่ก็ไปไม่ได้ เกิดเป็นปัญหาร้อนอกร้อนใจ พอเคลื่อนไปหน่อยหนึ่ง ดีใจ ไปติดอีกแล้ว
แหม! ถนนสายนี้มันติดจริงๆ จะทำอย่างไร อ้าย กทม. มันมัวแต่ทะเลาะกันอยู่ ถนนหนทางไม่ทำให้ดีขึ้นสักที
ไปว่า กทม. เข้าอีกแล้ว ว่ามัวแต่ทะเลาะกันอยู่ สัมภาษณ์ด่ากันอยู่ตลอดเวลา ถนนไม่ดีขึ้นเลย ทีนี้ก็กลุ้มใจ
คือราคะมันร้อน ร้อนอย่างนี้ร้อนเพราะอยากจะไปดูให้ได้ ไปดูของ เห็นของชอบอกชอบใจ แล้วก็อยากจะซื้อ
เตรียมเงินมาให้พร้อม วันนี้มาดูก่อน พอไปถึงจะซื้อ เพื่อนเอาเงินซื้อไปเสียแล้ว เสียดายอีก
แหม! หมายตาไว้แล้วเมื่อวานนี้ มันผิดที่ไม่ได้มัดจำไว้ คนอื่นเขาซื้อไปเสียก่อน
ใจมันร้อน ร้อนเรื่องอยากทั้งนั้นไม่มีเรื่องอะไร

เรื่องราคะก็คือความอยากนั่นเอง ให้เราสังเกตมันร้อนบ่อยๆ ในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ ร้อนอยู่ตลอดเวลา
ในขณะที่ไฟมันเผาเราให้ร้อนนี้ เรารู้สึกอย่างไร กายมันก็พลอยร้อนไปด้วย ทำไมกายจึงพลอยร้อน
เพราะขณะที่ความรู้สึกรุนแรง หัวใจมันทำงานหนัก หัวใจทำงานเพิ่มขึ้นฉีดโลหิตแรงไปเลี้ยงร่างกาย
เมื่อโลหิตไปเลี้ยงร่างกายมาก เกิดความร้อนขึ้นในร่างกาย อุณภูมิในร่างกายมันสูงขึ้น เมื่ออุณภูมิสูงขึ้น
ก็รู้สึกว่าเหงื่อไหล ทั้งๆ ที่อยู่ในรถติดแอร์ เหงื่อมันยังออกมาจนได้ นี่แสดงว่าข้างในมันเผาเหลือเกินแล้ว มันร้อน
ไฟอย่างนี้แหละสำคัญ และถ้าคนใดมีความร้อนเผาจิตเผาใจอยู่บ่อยๆ จะมีความเป็นอยู่ที่เรียกว่ากระวนกระวาย
จิตใจไม่ปกติล่อแหลมต่อการเป็นโรคหลายอย่าง เช่น โรคอาหารไม่ย่อย โรคหัวใจพิการ คือมันเต้นไม่สม่ำเสมอ
คือ เต้นช้าบ้างเร็วบ้าง แล้วก็เป็นโรคทางประสาท โรคนอนไม่หลับโรควิตกกังวล มีความหวาดกลัวขึ้นในจิตใจ

นี่มันเป็นอย่างนี้ มันยุ่งทั้งนั้น อะไรๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา มันเกิดจากความคิดไม่ใช่น้อย คิดไม่ดี คิดไม่ถูก
แล้วมันก็สร้างปัญหาขึ้นในจิตใจ มีโรคหลายโรคที่เกิดจากความคิดที่วุ่นวาย

เพราะฉะนั้น การบังคับตัวเองให้มีความคิดเป็นระเบียบนี่สำคัญ
ให้รู้จักดับร้อนที่เกิดขึ้นในจิตใจได้ทันท่วงทีก็สำคัญเหมือนกัน ไม่ให้มันร้อนนาน คือพอเผาขึ้นมาก็ระงับได้ทันที
แล้วใจสบาย อายุมันยืน อาหารดี นอนหลับดีเป็นปกติ เพราะไม่มีอะไรทำให้ร้อน
เรื่องของความอยากคือราคะร้อนนักหนา ร้อนวุ่นวายกันบ่อยๆ เป็นปัญหาบ่อยๆ
จนบางคนเป็นคนที่เรียกว่า หงุดหงิดอารมณ์หงุดหงิด คนอารมณ์ หงุดหงิดร้อนบ่อยๆ ประเดี๋ยวร้อนๆ
เราจึงเห็นว่าเป็นคนดินประสิวล่อแหลมต่อไฟไม่ได้ เขาเรียกว่า ไวไฟ ใจมันไวประเดี๋ยวโกรธ อะไรกระทบไม่ได้
คนที่โกรธบ่อยๆ นั้นรู้ไหมว่ามันเป็นตัวตลกของผู้อื่น เด็กในบ้านเห็นแล้วน่าขำไป

ฐิตา:
สมมติว่าคนใช้ ถ้าเราเป็นนายเขาโกรธบ่อยๆ เขาแอบไปมุมห้องแล้วหัวเราะ
บางทีก็เจอเพื่อนเขาเอาอีกแล้ว เขาหัวเราะเรา เป็นนายกลายเป็นตัวตลกของคนใช้ มันเรื่องอะไร
มันเรื่องอะไรที่เรารับอาสาเป็นตัวตลกให้คนใช้หัวเราะ นี่แหละเขาเรียกว่าไม่เข้าเรื่อง
ไปแสดงเป็นตัวตลกให้คนใช้หัวเราะซุบซิบกัน ซุบซิบว่า แหมตื่นเช้าเอาอีก มันไม่ไหวอย่างนี้มันไม่ไหว
แสดงว่าเรานี้ยังไม่เป็นนายตัวเอง เป็นนายคนอื่นเขา จะบังคับคนอื่นแต่ไม่บังคับตัวเอง
คนเราจะเป็นนายคนอื่นนั้นต้องเป็นนายตัวเองก่อน จะบังคับคนอื่นก็ต้องบังคับตัวเองก่อน
อย่าให้มันไปลุกบ่อยๆ อย่า ให้มันร้อนบ่อยๆ แต่ให้สงบให้เย็นไว้ให้เป็นปกติ
คนที่มีความสงบเย็นนั้นเป็นคนน่าเกรงขาม แต่ถ้ามีอารมณ์รุนแรงอ่อนไหวง่าย ไม่น่าเกรงขามอะไร
เพราะแสดงออกมาปรากฏ โกรธก็แสดงออกมา เกลียดก็แสดงออกมา ไม่น่าเกรงขามอะไร
ให้เราสังเกตใครที่ใจหนักแน่น นิ่งๆ ไม่ค่อยพูดอะไรนี่น่า กลัว ไม่รู้ว่าข้างในเป็นอะไร น่ากลัวมาก
นี่เป็นเรื่องสำคัญอยู่ไม่ใช่น้อย

เคยลองถามบุคคลที่เคยเป็นผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ใกล้พระเจ้าแผ่นดิน มีคนคนหนึ่งแกเป็นราชการในราชสำนัก
เดี๋ยวนี้ก็แก่มากแล้ว อยู่ใกล้ชิดในหลวงรัชกาลที่ ๖ อยู่ใกล้ชิดที่สุดคือในห้องพระบรรทม
ในหลวงรัชกาลที่ ๖ นี้ท่านดีอยู่อย่างหนึ่ง เวลาเข้าห้องพระบรรทมต้องมีคนคอยนวดอยู่ตลอดเวลา
นวดอยู่นั่นแหละหยุดนวดไม่ได้ พอหยุดนวดตื่นทันที คนนวดก็เลยเผลอไม่ได้ คนนวดคอยนวดอยู่อย่างนั้น
นวดเส้นนวดสายไปตามเรื่อง แม้เวลาเสวยพระกระยาหาร คนก็ไปนั่งใต้โต๊ะคนหนึ่ง แล้วท่านก็ไปนั่งใต้เท้า
นวดอยู่อย่างนั้น เสวยไปคุยไป โต๊ะใหญ่ไม่ใช่เสวยเร็วๆ เสวยไปคุยไป
ถามคนนั้นคนนี้ราชการงานเมือง ท่านก็ปรึกษากันที่โต๊ะกระยาหาร
คนนวด นวดไปเหงื่อไหลต้องมีผ้าซับเหงื่อ ทำอยู่อย่างนั้นด้วยความจงรักภักดี เวลากลางคืนก็ทำอย่างนั้น


เขาเล่าให้ฟังหลายเรื่องก็น่าฟังดีเหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องในราชสำนัก เคยถามว่า ในหลวงนี้เขาว่า
มีทศพิศราชธรรมอยู่ข้อหนึ่ง อโกธัง คือไม่โกรธ อวิหิงสัญจะ คือไม่เบียดเบียนใคร
ในหลวงรัชกาลที่ ๖ นี้เคยโกรธบ้างไหม ไม่เคยเจอท่านกริ้วเลย ไม่ค่อยกริ้วแม้ใครทำให้โกรธท่านก็ไม่ค่อยกริ้ว
ท่านนั่งเฉยๆ ถ้ารู้ว่าทำอะไรไม่ดีถ้าสังเกตก็จะรู้สึกว่าท่านกดพระทนต์แน่น กดนิ่งเฉยอย่างนั้นแหละ นี่แสดงว่า
มีอาการแล้วแต่ไม่แสดงออก บังคับตัวเองมากเหลือเกิน ไม่ค่อยแสดงออกไป
บางทีมหาดเล็ก ทำอะไรไม่เหมาะไม่ควร ท่านเรียกมาดุไม่รุนแรงนัก ซุ่มซ่าม
นี่เรียกว่าขนาดดุแล้ว เท่านั้นแหละไม่มีอะไรมากกว่านั้น
เดี๋ยวเขาจะหาว่าพระเจ้าแผ่นดินเลี้ยงคนไม่เป็น พวกนั้นก็รู้ว่าท่านไม่พอใจ แล้วก็ชวนกันแก้ไขอะไรต่อไป

ถ้าจะกริ้วขนาดเรียกว่ารุนแรงนี้ไม่มี นี่แหละเขาเรียกว่าผู้ดีจริง ผู้ดีสืบต่อกันมานานหลายชั่วคน
กลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีในครอบครัว ไม่โกรธไม่กริ้ว ไม่แสดงอะไร
แม้จะโกรธก็ไม่ใช้คำหยาบคายขึ้นอ้ายขึ้น อันนี้เป็นตัวอย่าง นี่คือคนที่ไม่ถูกเผาใจ ใจสงบเย็นไม่ถูกไฟเผา
ร่างกายก็ปกติตามเรื่องตามราว เรื่องมันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องดับไฟในร่างกายนี้ต้องระวัง

ไฟอยากนี้อย่างหนึ่ง อีกตัวหนึ่งเขาเรียกว่าไฟโทสะ โกรธนั่นแหละ โทสะก็คือโกรธ จิตมันคิดประทุษร้าย
ไม่ชอบใจก็เกิดความโกรธ อันนี้แรงมากไฟอันนี้ ทำไมจึงได้โกรธ มันเกิดจากไฟคือราคะ คือไฟอยากมันเกิดขึ้น
อยากแล้วไม่ได้สมใจ ไม่ได้ดังใจ ไม่ได้เหมือนใจก็โกรธ ตัวโกรธมาทีหลัง เกิดความโกรธขึ้นทันที
แสดงอาการออกมาด้วยการพูด หน้าตา กิริยาท่าทาง

ฐิตา:
ถ้าเป็นคนที่รุนแรงหน่อย จับอ้ายนั่นอ้ายนี่ขว้างเปรี้ยงปร้างไปเลย แตกไปกี่ใบก็ไม่รู้ แตกไปเรื่อยๆ นี่คือความโกรธ ความโกรธนี้รุนแรง อันนี้ก็น่ากลัวเหมือนกันเรื่องนี้ เรื่องนี้ต้องระวังหน่อย โทสะนี้ต้องคอยควบคุมไว้
อย่าให้มันเกิดขึ้นมาปรากฏแก่คนอื่น ต้องหัดเหมือนกัน คือถ้าฝึกฝนแล้วมันดีขึ้นเรื่อยๆ ความรู้สึกมันค่อยทันกัน พอตัวสติมันมาทันแล้ว มันก็หยุด แต่ถ้าสติมาไม่ทันแล้วก็เอาไม่อยู่ มันโกรธรุนแรงขึ้นทันที

เพราะฉะนั้นต้องมีสติควบคุมไว้ เราต้องเรียนรู้อาการของจิต ว่าที่โกรธนั้นเพราะอารมณ์ประเภทใด
ได้เห็นอะไรได้ยินอะไรจึงทำให้โกรธ คอยสำเหนียกเหตุที่จะทำให้โกรธไว้ รวบรวมเอามา คิดนึกตรึกตรองไว้บ่อยๆ ว่า เหตุอย่างนั้นจะเกิดความโกรธ เหตุอย่างนั้นจะเกิดอารมณ์อย่างนั้น เราคอยสังเกต เช่นว่าเราไปสถานที่ใด สถานที่นั้นมีอะไรเป็นเหตุให้เกิดความโกรธ พบคนใด ทำ พูด กิริยาท่าทางอันจะเป็นเหตุให้เกิดความโกรธมีไหม ต้องคอยสำเหนียก คอยคุมจิตของเราไว้ พอจะเข้าไปที่นั่น ต้องเตือนไว้ว่าระวังนะ อย่าไปแสดงอาการโกรธให้เขาเห็น มันไม่ดี คนขนาดเราโกรธแล้วมันไม่เหมาะ เสียมารยาท เสียกิริยา เขาจะดูหมิ่นได้ว่าเป็นคนอ่อนแอ ไม่รู้จักควบคุมตนเอง คอยเตือนอย่างนั้น กับคนกับใครก็เหมือนกัน ต้องควบคุมไว้คอยบังคับตนเองไว้บ่อยๆ

ถ้าเราคอยควบคุม คอยบังคับตัวเองอย่างนี้ นานๆ เข้ามันจะเปลี่ยนเป็นคนใจเย็นใจสงบขึ้นมา มีอะไรกระทบนิดกระทบหน่อยก็ยิ้ม มีอะไรก็รู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งนั้น และถ้าหากว่ามันเผลอเกิดอารมณ์ โกรธขึ้นมา อย่าให้ไปเฉยๆ ต้องเอามาแยกแยะวิเคราะห์วิจัยในเรื่องนั้นว่าทำไมจึงได้โกรธ โกรธเรื่องอะไร เรื่องที่ทำให้โกรธมันเรื่องอะไร บุคคล เหตุการณ์ ดินฟ้า อากาศ หรืออะไรก็ตาม เอามา คิดมาวิเคราะห์ว่าทำไมจึงโกรธ ทำไมจึงร้อนใจ มันเกิดขึ้นเพราะอะไรในเรื่องนี้ เอามาพิจารณาแยกออกไป แยกออกไปแล้วก็พบว่าไม่มีอะไร ไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไร มันเป็นเรื่องแก้ได้ มันไม่ควรจะเกิดขึ้นกับเราอย่างนั้น แต่ว่าเราเผลอไปหน่อยจึงได้เกิดขึ้น แล้วก็กำชับตัวเองว่าอย่านะ วันหลังต้องระวังไว้ให้ดี อย่าให้เกิดขึ้นอย่างนี้ขึ้นอีกเป็นอันขาด

พรุ่งนี้เราแก่กว่าวันนี้ มะรืนนี้เราแก่กว่าวันพรุ่งนี้ อายุเรามากขึ้นต้องมีความหนักแน่นมากขึ้น ต้องมีเหตุผลมากขึ้น อย่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ อย่าใจร้อน อย่าใจเร็ว เตือนตัวเองบ่อยๆ ก็เรียกว่า เสกตัวเอง ปลุกเสกตัวเองตัวเราเองบ่อยๆ คอยบอกคอยเตือนเอาไว้ นานๆเข้า.. ใจมันก็เย็น สงบเข้าต่อทุกเรื่อง เรื่องที่เข้ามากระทบ มีอะไรมากระทบพอจะทำให้เกิดได้ เราก็เฉยๆ ไม่โกรธ นั่นเรียกว่าเอาชนะมันได้ ฆ่าความโกรธได้อยู่เป็นสุข

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "โกธํ ฆตฺตวา สุขํ เสติ" "ฆ่าความโกรธได้ อยู่เป็นสุข" เป็นความสงบทางใจ เราฆ่าความโกรธไม่ได้อยู่ตลอดเวลา ถูกเผา ความโกรธมันฆ่า ถ้าเราไม่ฆ่ามันมันก็ฆ่าเรา เป็นศัตรูที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตเรา เราจึงฆ่ามันเสีย ทำลายมันเสีย อย่าให้มันมาแทรกแซงอยู่ในชีวิตของเราเป็นอันขาด ค่อยบรรเทาเบาบางไป แล้วจะรู้สึกว่าอะไรๆ เปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนเราเป็นคนมักโกรธ ต่อมาเราเป็นคนใจเย็น เรียกว่าเปลี่ยนแปลงไปมาก การเป็นการอยู่อะไรดีขึ้น ชีวิตสดชื่นแจ่มใสมีสภาพเป็นปกติ ก็ไม่ร้อนต่อไป ไฟตัวนั้นแหละ เรา ดับลงได้ด้วยสติด้วยปัญญา นี่เป็นตัวหนึ่งเหมือนกัน

อีกตัวหนึ่งคือตัวโมหะ คือความไม่รู้ไม่เข้าใจ ทำให้ร้อนเหมือนกัน ร้อนของโมหะนี้มันร้อน แบบอยู่ในที่ไม่มีแสงสว่าง คล้ายๆ กับอยู่ในห้องมืด ทั้งร้อนทั้งมืด อันตราย มันมืดแล้วก็มันร้อนด้วย น่ากลัว คิดดูมันมืดไปหมด ไม่เห็นช่องทาง อันตราย เพราะฉะนั้นเราต้องแก้ตัวนี้ไม่ให้เกิดขึ้น

โมหะนี้มันเป็นเจ้าตำรับใหญ่ ต้นฐานมันอยู่ที่โมหะ แล้วเกิดความอยาก เกิดความโกรธ มันต่อกันไปเพราะเราจะต้องคอยศึกษาแยกแยะอะไรต่างๆ ที่เราเรียกว่าเจริญวิปัสสนา ตามหลักพระพุทธศาสนา โดยเนื้อแท้ก็คือ หมั่นวิเคราะห์ แยกแยะเหตุการณ์สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรา ให้มันเห็นว่า อะไรเป็นอะไรมากขึ้น ไปนั่งอยู่คนเดียว ไปยกอะไรมาพิจารณาแยกแยะออกไป ให้ชัดเจนแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นๆ แล้วความหลงใหลความยึดมั่นถือมั่น จะผ่อนคลายหายไปโดยลำดับ เราก็จะมีชีวิตสดใส

แม้แดดจะร้อน เราก็ไม่ร้อน อากาศมันจะเปลี่ยนแปลงเราก็เฉยๆ เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องมีอารมณ์หงุดหงิดเพราะดินฟ้าอากาศ เพราะสิ่งนั้นสิ่งนี้มากระทบจิตใจของเรา อันนี้จะช่วยให้เราเป็นสุขทางใจในหน้าร้อน เพราะไม่มีความร้อนในภายใน มาร่วมกับความร้อนในภายนอก ให้มันร้อนแต่เพียงผิวกายเถอะ แต่อย่าให้ใจของเราต้องร้อนไปด้วยเลย

หลักนี้สำคัญที่เราควรจะได้ปฏิบัติ แล้วก็รู้สึกว่ามีชีวิตเป็นสุข คนเราถ้าไม่ร้อนแล้วเป็นสุขที่สุด ทุกๆ หน ทุกๆ แห่ง ไม่ว่าอะไรมันจะเป็นอย่างไร แต่เรามีใจสดชื่นรื่นเริงตามธรรมชาติของชีวิตร่างกาย นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด นำมาเล่าให้ญาติโยมทั้งหลายฟังไว้ เพื่อเป็นเครื่องเป็นแนวทาง ดังที่ได้แสดงมา ก็สมควรแก่เวลา.


โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๐
ที่มา : http://www.panya.iirt.net
: http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=anotherside&month=12-2009&date=23&group=1&gblog=258
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ...

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version