อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > หลวงปู่ดุลย์ อตุโล
พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
ฐิตา:
พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
ท่านพระโพธินันทมุนี (สมศักดิ์ ปฺณฑิโต)
ศิษย์ใกล้ชิดท่าน
(ปัจจุบันท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม)ได้บันทึกไว้
ผู้เขียน(webmaster) ขอกราบอารธนาธรรมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ด้วยเล็งเห็นว่าธรรมข้อคิดต่างๆของท่านหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระอริยสงฆ์ แฝงไว้ด้วยแก่นธรรมที่ลึกซึ้ง โดยเฉพาะปฏิจจสมุปบาท, อริยสัจ และขันธ์๕ แต่เป็นไปในลักษณะปริศนาธรรม สั้น กระชับ มีคุณประโยชน์มากแก่ผู้ที่มีพื้นฐานทางธรรมอย่างแท้จริง แต่ยากเกินเข้าใจสําหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานในธรรม จึงได้พยายามอธิบายความหมายตามความเห็นตามความเข้าใจของผู้เขียน เพื่อยังประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย อันอาจมีข้อผิดพลาดสื่อผิดจุดมุ่งหมายบางประการ ก็ต้องกราบขออภัยต่อท่านหลวงปู่ดูลย์ อตุโล, ท่านผู้บันทึก และท่านผู้รวบรวมและเรียบเรียงหนังสือนี้ด้วย, เพราะผู้เขียนกระทําด้วยกุศลจิต และท่านนักปฏิบัติทั้งหลายต้องโยนิโสมนสิการด้วยตัวเองอีก จึงจักเกิดประโยชน์บริบูรณ์ ในคําสอนของท่านที่ได้บันทึกไว้เพื่อประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง
เนื่องด้วยแต่เดิมมี "หลวงปู่ฝากไว้" อยู่ใน Internet แล้ว แต่ในปัจจุบันไม่สามารถใช้งานได้ ผู้เขียน(webmaster)เล็งเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าถ่ายทอดบันทึกไว้ให้กว้างขวาง เพื่อให้นักปฏิบัติตลอดจนอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้ากันได้ เพราะข้อคิดข้อธรรมใน "หลวงปู่ฝากไว้"ของพระอริยเจ้า หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่บันทึกถ่ายทอดมาโดยพระโพธินันทะมุนี (สมศักดิ์ ปฺณฑิโต)นั้นเป็นข้อคิดข้อธรรม ตลอดจนปริศนาธรรมที่สั้นกระชับแต่กินความหมายอันลึกซึ้ง ซึ่งถ้ากระทำการโยนิโสมนสิการด้วยความเพียรแล้ว จะทำให้เข้าใจในสภาวธรรม ตลอดจนแนวการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี สมควรที่จะเผยแผ่แก่ผู้ที่สนใจ จึงได้บันทึกตามต้นฉบับในหนังสือ "อตุโล ไม่มีใดเทียม" โดยแบ่งเป็นฉบับย่อยๆเพื่อความสะดวกในการเข้าเว็บ
[และมีคำอธิบายในวงเล็บสีม่วงท้ายข้อธรรมในบางข้อของท่าน โดยผู้เขียนเอง(webmaster) เพื่อให้ผู้อ่านได้เน้นพิจารณา เพื่อให้เห็นสภาวธรรมบางประการที่ท่านได้กล่าวสอนฝากไว้ได้ชัดง่ายขึ้นบ้าง]
พนมพร [webmaster]
ฐิตา:
ธรรมะปฏิสันถาร
เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมหลวงปู่เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงถามถึงสุขภาพอนามัยและการอยู่สำราญแห่งอริยาบถของหลวงปู่ ตลอดถึงทรงสนทนาธรรมกับหลวงปู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปุจฉาว่า "หลวงปู่ การละกิเลสนั้นควรละกิเลสอะไรก่อน" ฯ
หลวงปู่ถวายวิสัชนา
"กิเลสทั้งหมดเกิดรวมที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อนให้ละอันนั้นก่อน"
[Webmaster-เป็นการปฏิบัติจิตตานุปัสสนาและเวทนานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ กล่าวคือ จิตหรือสติเห็นอาการของจิต(เจตสิก)ดัง ราคะ โทสะ โมหะ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ ฯ. หรือจิตเห็นเวทนา กล่าวคือสติเห็นอันใดแล้วก็ละในสิ่งนั้นๆกล่าวคืออุเบกขาเสียนั่นเอง]
หลวงปู่ไม่ฝืนสังขาร
ทุกครั้งที่ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์เสด็จเยี่ยมหลวงปู่ หลังจากเสร็จพระราชกรณียกิจในการเยี่ยมแล้ว เมื่อจะเสด็จกลับทรงมีพระราชดำรัสคำสุดท้ายว่า "ขออาราธนาหลวงปู่ให้ดำรงค์ขันธ์อยู่เกินร้อยปี เพื่อเป็นที่เคารพนับถือของปวงชนทั่วไป หลวงปู่รับได้ไหม"ฯ
ทั้งๆที่พระราชดำรัสนี้เป็นสัมมาวจีกรรม ทรงประทานพรแก่หลวงปู่โดยพระราชอัธยาศัย หลวงปู่ก็ไม่กล้ารับ และไม่อาจฝืนสังขาร จึงถวายพระพรว่า
"อาตมาภาพรับไม่ได้หรอก แล้วแต่สังขารจะเป็นไปของเขาเอง."
[Webmaster-แสดงสภาวธรรมหรือธรรมชาติของสังขารทั้งปวง แม้แต่ในสังขารกายของพระอริยเจ้า]
ปรารภธรรมะเรื่องอริยสัจสี่
พระเถระฝ่ายกัมมัฏฐานเข้าถวายสักการะหลวงปู่ในวันเข้าพรรษาปี ๒๔๙๙ หลังฟังโอวาทและข้อธรรมะอันลึกซึ้งข้ออื่นๆ แล้วหลวงปู่สรุปใจความอริยสัจสี่ให้ฟังว่า
จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิต เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ
[Webmaster-ข้อธรรมแสดงหลักธรรมอริยสัจ ๔ รวมทั้งหลักปฏิบัติต่อจิต ทั้งเวทนานุปัสสนาและจิตตานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ อย่างแจ่มแจ้ง]
ฐิตา:
สิ่งที่อยู่เหนือคำพูด
อุบาสกผู้คงแก่เรียนผู้หนึ่ง สนทนากับหลวงปู่ว่า "กระผมเชื่อว่า แม้ในปัจจุบันพระผู้ปฏิบัติถึงขั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็คงมีอยู่ไม่น้อย เหตุใดท่านเหล่านั้นจึงไม่แสดงตนให้ปรากฎ เพื่อให้ผู้สนใจปฏิบัติทราบว่าท่านได้บรรลุถึงคุณธรรมนั้นแล้ว เขาจะได้มีกำลังใจและความหวัง เพื่อเป็นพลังเร่งความเพียรในทางปฏิบัติให้เต็มที่" ฯ
หลวงปู่กล่าวว่า
"ผู้ที่เขาตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดว่าเขารู้แล้วซึ่งอะไร เพราะสิ่งนั้นมันอยู่เหนือคำพูดทั้งหมด"
[Webmaster-เป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน และการรู้ ล้วนเป็นเพียงรู้เพื่อนิพพิทาญาณ เพื่อการปล่อยวางเป็นสำคัญ]
หลวงปู่เตือนพระผู้ประมาท
ภิกษุผู้อยู่ด้วยความประมาท คอยนับจำนวนศีลของตนแต่ในตำรา คือมีความพอใจภูมิใจกับจำนวนศีลที่มีอยู่ในพระคำภีร์ ว่า ตนนั้นมีศีลถึง ๒๒๗ ข้อ
"ส่วนที่ตั้งใจปฏิบัติให้ได้นั้น จะมีสักกี่ข้อ"
[Webmaster-กล่าวแสดง การพ้นทุกข์ว่าไม่ใช่ด้วยการถือศีลแต่ฝ่ายเดียว ต้องประกอบด้วยการมีจิตที่มี สติ สมาธิที่หมายถึงตั้งใจมั่น เพื่อให้บรรลุถึงปัญญา]
จริง แต่ไม่จริง
ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทำสมาธิภาวนา เมื่อปรากฎผลออกมาในแบบต่างๆ ย่อมเกิดความสงสัยขึ้นเป็นธรรมดา เช่น เห็นนิมิตในรูปแบบที่ไม่ตรงกันบ้าง ปรากฎในอวัยวะของตนเองบ้าง ส่วนมากมากราบเรียนหลวงปู่เพื่อให้ช่วยแก้ไข หรือแนะอุบายปฏิบัติต่อไปอีก มีจำนวนมากที่ถามว่า ภาวนาแล้วก็เห็น นรก สรรรค์ วิมาน เทวดา หรือไม่ก็เป็นองค์พระพุทธรูปปรากฎอยู่ในตัวเรา สิ่งที่เห็นเหล่านี้เป็นจริงหรือ ฯ
หลวงปู่บอกว่า
"ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง"
[Webmaster-หมายเตือนเรื่องนิมิต ที่ไปยึดหมาย อันจะก่อให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสเป็นที่สุด, หลวงปู่กล่าวดังนี้เพราะ ผู้ที่เห็นนั้น เขาก็อาจเห็นจริงๆตามความรู้สึกนึกคิดหรือสังขารที่เกิดขึ้นจากส่วนหนึ่งของสัญญาเขา เพียงแต่ว่าสิ่งที่เห็นนั้น ไม่ได้เป็นจริงตามนั้น อ่านรายละเอียดความเป็นไปได้ในบทนิมิตและภวังค์]
ฐิตา:
แนะวิธีละนิมิต
ถามหลวงปู่ต่อมาอีกว่า นิมิตทั้งหลายแหล่ หลวงปู่บอกยังเป็นของภายนอกทั้งหมด จะเอามาทำอะไรยังไม่ได้ ถ้าติดอยู่ในนิมิตนั้นก็ยังอยู่แค่นั้น ไม่ก้าวต่อไปอีก จะเป็นด้วยเหตุที่กระผมอยู่ในนิมิตนี้มานานหรืออย่างไร จึงหลีกไม่พ้น นั่งภาวนาทีไร พอจิตจะรวมสงบก็เข้าถึงภาวะนั้นทันที หลวงปู่โปรดได้แนะนำวิธีละนิมิตด้วยว่า ทำอย่างไรจึงจะได้ผล
หลวงปู่ตอบว่า
เออ นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า วิธีละได้ง่ายๆก็คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น "ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง"
[Webmaster-ผู้เห็น หมายถึงจิตหรือสติ จึงหมายถึงกลับมาอยู่กับสติเสียนั่นเอง, ส่วนผู้ที่เห็นนิมิตอยู่เสมอๆเนื่องจากการปฏิบัติสั่งสมดังนั้นมานานโดยไม่รู้คือตามหรือเชื่อในนิมิต จนเป็นสังขารองค์ธรรมในปฏิจจสมุปบาทธรรมนั่นเอง จึงมักเกิดขึ้นเองเสมอๆ แม้โดยไม่ได้เจตนา]
เป็นของภายนอก
เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๔ หลวงปู่อยู่ในงานประจำปี วัดธรรมมงคล สุขุมวิท กรุงเทพฯ มีแม่ชีพราหมณ์หลายคนจากวิทยาลัยครูพากันเข้าไปถาม ทำนองรายงานผลของการปฏิบัติวิปัสสนาให้หลวงปู่ฟังว่า เขานั่งวิปัสสนาจิตสงบแล้ว เห็นองค์พระพุทธรูปในหัวใจของเขา บางคนว่า ได้เห็นสวรรค์เห็นวิมานของตนเองบ้าง บางคนว่าเห็นพระจุฬามณีเจดีย์สถานบ้าง พร้อมทั้งภูมิใจว่าเขาวาสนาดี ทำวิปัสสนาได้สำเร็จ
หลวงปู่อธิบายว่า
"สิ่งที่ปรากฎเห็นทั้งหมดนั้น ยังเป็นของภายนอกทั้งสิ้นจะนำเอามาเป็นสาระที่พึ่งอะไรยังไม่ได้หรอก."
[Webmaster-เป็นเพียงสังขารขึ้นมา ไม่ใช่ของเที่ยงแท้ที่นำพาให้พ้นทุกข์ หรือดับภพชาติ จึงยังไม่เป็นสาระที่ไปยึดหมาย สิ่งที่เห็นยังเป็นเพียงนิมิตอยู่เท่านั้นเอง และพึงแยกแยะหรือพิจารณาให้ดีว่ามาปฏิบัติสมถสมาธิ(สมาธิ)แต่เพียงอย่างเดียว อันอาจเสียการ, หรือปฏิบัติสมถวิปัสสนา อันดีงาม]
หยุดเพื่อรู้
เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๗ มีพระสงฆ์หลายรูป ทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติได้เข้ากราบหลวงปู่เพื่อรับโอวาทและรับฟังการแนะแนวทางธรรมะที่จะพากันออกเผยแผ่ธรรมทูตครั้งแรก หลวงปู่แนะวิธีอธิบายธรรมะขั้นปรมัตถ์ ทั้งสอนผู้อื่นและเพื่อปฏิบัติตนเอง ให้เข้าถึงสัจจธรรมนั้นด้วย ลงท้ายหลวงปู่ได้กล่าวปรัชญาธรรมไว้ให้คิดด้วยว่า
คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงรู้ แต่ต้องอาศัยความคิดนั้นแหละจึงรู้
[Webmaster-คิดทั้ง ๓ ต้องจำแนกแตกความให้ถูกต้อง แต่ละคิดมีความหมายดังนี้ คิดนึกปรุงแต่ง(หมายถึงการคิดฟุ้งซ่านเท่า่นั้น)เท่าไรก็ย่อมไม่รู้จักนิโรธ-การดับทุกข์ ต่อเมื่อหยุดการคิดฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่ง อันยังให้ไม่เกิดเวทนาอันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาและทุกข์ในที่สุด นั่นแหละจึงจักรู้หรือพบนิโรธหรือความสุขสงบ แต่ก็ต้องอาศัยการคิดพิจารณาธรรมคือการโยนิโสมนสิการ(ธรรมวิจยะ)เสียก่อนจึงจักรู้เข้าใจด้วยตนเองจึงเกิดกำลังของปัญญา ในโทษของการคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่าน]
ฐิตา:
ทั้งส่งเสริมทั้งทำลาย
กาลครั้งนั้น หลวงปู่ได้ให้โอวาทเตือนพระธรรมทูตครั้งแรกมีใจความตอนหนึ่งว่า ฯ
"ท่านทั้งหลาย การที่จะออกจาริกไปเพื่อเผยแผ่ ประกาศพระศาสนานั้น เป็นได้ทั้งส่งเสริมศาสนาและทำลายพระศาสนา ที่ว่าเช่นนี้เพราะองค์ธรรมทูตนั่นแหละตัวสำคัญ คือ เมื่อไปแล้วประพฤติตัวเหมาะสม มีสมณสัญญาจริยาวัตร งดงามตามสมณวิสัยผู้ที่ได้พบเห็น หากยังไม่เลื่อมใส ก็จะเกิดความเลื่อมใสขึ้น ส่วนผู้ที่เลื่อมใสแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสมากขึ้นเข้าไปอีกฯ ส่วนองค์ที่มีความประพฤติและวางตัวตรงกันข้ามนี้ ย่อมทำลายผู้ที่เลื่อมใสแล้วให้ถอยศรัทธาลง สำหรับผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสเลย ก็ยิ่งถอยห่างออกไปอีกฯ จึงขอให้ทุกท่านจงเป็นผู้พร้อมไปด้วยความรู้และความประพฤติ ไม่ประมาท สอนเขาอย่างไร ตนเองต้องทำอย่างนั้นให้ได้เป็นตัวอย่างด้วย"
เมื่อถึงปรมัตถ์แล้วไม่ต้องการ
ก่อนเข้าพรรษาปี ๒๔๘๖ หลวงพ่อเถาะ ซึ่งเป็นญาติของหลวงปู่ และบวชเมื่อวัยชราแล้ว ได้ออกธุดงค์ติดตามท่านอาจารย์เทสก์ ท่านอาจารย์สาม ไปอยู่จังหวัดพังงาหลายปี กลับมาเยี่ยมนมัสการหลวงปู่ เพื่อศึกษาข้อปฏิบัติทางกัมมัฎฐานต่อไปอีกจนเป็นที่พอใจแล้ว หลวงพ่อเถาะพูดตามประสาความคุ้นเคยว่า หลวงปู่สร้างโบสถ์ ศาลาได้ใหญ่โตสวยงามอย่างนี้ คงได้บุญได้กุศลอย่างใหญ่โตทีเดียว ฯ
หลวงปู่กล่าวว่า
"ที่เราสร้างนี่ก็สร้างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์สำหรับโลก สำหรับวัดวาศาสนาเท่านั้นแหละ ถ้าพูดถึงเอาบุญเราจะมาเอาบุญอะไรอย่างนี้."
[Webmaster- เพราะการดับทุกข์แห่งตน คืออานิสงส์ ผลของบุญอันสูงสุดแล้ว ไม่มีอานิสงส์ของสิ่งใดสูงส่งไปกว่านี้อีกต่อไปแล้ว กิจอันควรทำยิ่งได้ทำแล้วโดยบริบูรณ์]
ทุกข์เพราะอะไร
สุภาพสตรีวัยเลยกลางคนผู้หนึ่ง เข้านมัสการหลวงปู่ พรรณาถึงฐานะของตนว่าอยู่ในฐานะที่ดี ไม่เคยขาดแคลนสิ่งใดเลย มาเสียใจกับลูกชายที่สอนไม่ได้ ไม่อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดี ตกอยู่ภายใต้อำนาจอบายมุขทุกอย่าง ทำลายทรัพย์สมบัติและจิตใจของพ่อแม่จนเหลือที่จะทนได้ ขอความกรุณาหลวงปู่ให้ช่วยแนะอุบายบรรเทาทุกข์ และแก้ไขให้ลูกชายพ้นจากอบายมุขนั้นด้วย ฯ
หลวงปู่ก็แนะนำสั่งสอนไปตามเรื่องนั้นๆ ตลอดถึงแนะอุบายทำใจให้สงบ รู้จักปล่อยวางให้เป็น ฯ
เมื่อสุภาพสตรีนั้นกลับไปแล้ว หลวงปู่ปรารภธรรมะให้ฟังว่า
"คนเราสมัยนี้ เขาเป็นทุกข์เพราะความคิด."
[Webmaster-ความคิด นี้ท่านหมายถึงความคิดชนิดฟุ้งซ่าน หรือความคิดนึกปรุงแต่งไปต่างๆนาๆ มิได้หมายความถึงความคิดทั้งมวล แบบยึดถือว่าความว่างอย่างผิดๆ]
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version