อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > หลวงปู่ดุลย์ อตุโล
พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
ฐิตา:
อุทานธรรม
หลวงปู่ยังกล่าวธรรมกถาต่อมาอีกว่า สมบัติพัสถานทั้งหลายมันมีประจำอยู่ในโลกมาแล้วอย่างสมบูรณ์ ผู้ที่ขาดปัญญาและไร้ความสามารถ ก็ไม่อาจจะแสวงหาเพื่อยึดครองสมบัติเหล่านั้นได้ ย่อมครองตนอยู่ด้วยความฝืดเคืองและลำบากขันธ์ ส่วนผู้ที่มีปัญญาความสามารถ ย่อมแสวงหายึดสมบัติของโลกไว้ได้อย่างมากมายอำนวยความสะดวกสบายแก่ตนได้ทุกกรณีฯ ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านพยายามดำเนินตนเพื่อออกจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ไปสู่ภาวะแห่งความไม่มีอะไรเลย เพราะว่า
"ในทางโลก มี สิ่งที่ มี ส่วนในทางธรรม มี สิ่งที่ ไม่มี"
อุทานธรรมต่อมา
เมื่อแยกพันธะแห่งความเกี่ยวเนื่องจิตกับสรรพสิ่งทั้งปวงได้แล้ว จิตก็จะหมดพันธะกับเรื่องโลก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จะดีหรือเลว มันขึ้นอยู่กับจิตที่ออกไปปรุงแต่งทั้งนั้น แล้วจิตที่ขาดปัญญาย่อมเข้าใจผิด เมื่อเข้าใจผิดก็หลง ก็หลงอยู่ภายใต้อำนาจของเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ทั้งทางกายและทางใจ อันโทษทัณฑ์ทางกายอาจมีคนอื่นช่วยปลดปล่อยได้บ้าง ส่วนโทษทางใจ มีกิเลสตัณหาเป็นเครื่องรึงรัดไว้นั้น ต้องรู้จักปลดปล่อยตนด้วยตนเอง
"พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านพ้นจากโทษทั้งสองทางความทุกข์จึงครอบงำไม่ได้"
อุทานธรรมข้อต่อมา
เมื่อบุคคลปลงผม หนวด เคราออกหมดแล้ว และได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์เรียบร้อยแล้ว ก็นับว่าเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเป็นภิกษุได้ แต่ยังเป็นได้แต่เพียงภายนอกเท่านั้น ต่อเมื่อเขาสามารถปลงสิ่งที่รกรุงรังทางใจ อันได้แก่อารมณ์ตกตํ่าทางใจได้แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นภิกษุในภายในได้ฯ
ศีรษะที่ปลงผมหมดแล้ว สัตว์เลื้อยคลานเล็กน้อยเช่นเหา ย่อมอาศัยอยู่ไม่ได้ฉันใด จิตที่พ้นจากอารมณ์ ขาดจากการปรุงแต่งแล้ว ทุกข์ก็อาศัยอยู่ไม่ได้ฉันนั้น ผู้มีปกติเป็นอยู่อย่างนี้ควรเรียกได้ว่า "เป็นภิกษุแท้"
ฐิตา:
พุทโธเป็นอย่างไร
หลวงปู่รับนิมนต์ไปโปรดญาติโยมที่กรุงเทพฯ เมื่อ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๑ ในช่วงสนทนาธรรม ญาติโยมสงสัยว่าพุทโธ เป็นอย่างไร หลวงปู่ได้เมตตาตอบว่า
เวลาภาวนาอย่าส่งจิตออกนอก ความรู้อะไรทั้งหลายทั้งปวงอย่าไปยึด ความรู้ที่เราเรียนกับตำหรับตำรา หรือจากครูบาอาจารย์ อย่าเอามายุ่งเลย ให้ตัดอารมณ์ออกให้หมด แล้วก็เวลาภาวนาไปให้มันรู้ รู้จากจิตของเรานั่นแหละ จิตของเราสงบเราจะรู้เอง ต้องภาวนาให้มากๆเข้า เวลามันจะเป็น จะเป็นของมันเอง ความรู้อะไรๆให้มันออกมาจากจิตของเรา
ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั่นแหละเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด ให้มันรู้ออกมาจากจิตนั่นแหละมันดี คือจิตมันสงบ
ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว อย่าส่งจิตออกนอก ให้จิตอยู่ในจิต แล้วให้จิตภาวนาเอาเอง ให้จิตเป็นผู้บริกรรมพุทโธ พุทโธอยู่นั่นแหละ แล้วพุทโธ เราจะได้รู้จักว่า พุทโธ นั้นเป็นอย่างไร แล้วรู้เอง...เท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรมากมาย.
[Webmaster-จิตอยู่ในจิต หมายถึง จิตอยู่กับสติ, ส่วนคำบริกรรมพุทโธ หรือสัมมาอรหัง หรือการตามลมหายใจ หรือยุบหนอพองหนอ หรือการเคลื่อนไหวร่างกายหรือส่วนหนึ่งของร่างกาย ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงนั้นล้วนด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือใช้เป็นอารมณ์ คือสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องล่อคือเครื่องกำหนดของจิต ให้จิตไม่ดำริ(คิด)พล่านออกไปปรุงแต่งต่างๆนา จนเป็นสมาธิตั้งใจมั่นในกิจที่ปฏิบัตินั้นๆ]
อยากได้ของดี
เมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๒๖ คณะแม่บ้านมหาดไทย โดยมีคุณหญิงจวบ จิรโรจน์ เป็นหัวหน้าคณะ ได้นำคระแม่บ้านมหาดไทยไปบำเพ็ญสังคมสงเคราะห์ทางภาคอีสาน ได้ถือโอกาสแวะมนัสการหลวงปู่ เมื่อเวลา ๑๘.๐๐ น.ฯ
หลังจากกราบมนัสการและถามถึงอาการสุขสบายของหลวงปู่และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกจากหลวงปู่แล้ว เห็นว่าหลวงปู่ไม่ค่อยสบาย ก็รีบออกมา แต่ยังมีสุภาพสตรีท่านหนึ่ง ถือโอกาสพิเศษกราบหลวงปู่ว่า ดิฉันขอของดีจากหลวงปู่ด้วยเถอะเจ้าค่ะ ฯ
หลวงปู่จึงเจริญพรว่า ของดีก็ต้องภาวนาเอาจึงจะได้ เมื่อภาวนาแล้ว ใจก็สงบ กายวาจาก็สงบ แล้วกายก็ดี วาจาใจก็ดี เราก็อยู่ดีมีสุขเท่านั้นเอง
ดิฉันมีภาระมาก ไม่มีเวลาจะนั่งภาวนา งานราชการเดี๋ยวนี้รัดตัวมากเหลือเกิน มีเวลาที่ไหนมาภาวนาได้คะ ฯ
หลวงปู่จึงต้องอธิบายให้ฟังว่า
"ถ้ามีเวลาสำหรับหายใจ ก็ต้องมีเวลาสำหรับภาวนา"
มี แต่ไม่เอา
ปี ๒๕๒๒ หลวงปู่ไปพักผ่อน และเยี่ยมอาจารย์สมชายที่วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี ขณะเดียวกันก็มีพระเถระอาวุโสรูปหนึ่งจากกรุงเทพฯ คือพระธรรมวราลังการ วัดบุปผารามเจ้าคณะภาคทางภาคใต้ไปอยู่ฝึกกัมมัฏฐานเมื่อวัยชราแล้ว เพราะมีอายุอ่อนกว่าหลวงปู่เพียงปีเดียว ฯ
เมื่อท่านทราบว่าหลวงปู่เป็นพระฝ่ายกัมมัฏฐานอยู่แล้ว ท่านจึงสนใจและศึกษาถามถึงผลของการปฏิบัติ ทำนองสนทนาธรรมกันเป็นเวลานาน และกล่าวถึงภาระของท่านว่า มัวแต่ศึกษาและบริหารงานการคณะสงฆ์มาตลอดวัยชรา แล้วก็สนทนาข้อกัมมัฏฐานกับหลวงปู่อยู่เป็นเวลานาน ลงท้ายถามหลวงปู่สั้นๆว่า ท่านยังมีโกรธอยู่ไหม ฯ
หลวงปู่ตอบเร็วว่า
"มี แต่ไม่เอา"
[Webmaster-หมายถึงมีความโกรธเกิดขึ้นในระดับของขันธ์ ๕ ธรรมดาในลำดับแรก แล้วไม่เอาไปคิดนึกปรุงแต่งต่อซึ่งย่อมไม่มีสังขารเกิดขึ้นใหม่อีก ดังนั้นเวทนาก็่เกิดขึ้นใหม่ไม่ได้จึงระงับไปเช่นกัน เมื่อดับเวทนา(ที่หมายถึง ไม่ปรุงแต่งให้เกิดเวทนาขึ้นอีก)เสียแล้ว ตัณหาและอุปปาทานความเป็นตัวตนของตนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อันเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทธรรม, ความโกรธจะไปอาศัยเหตุเกิดกับสิ่งใดได้ จึงต้องดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่เกิดอาการ เกิดดับๆๆๆ จนต่อเนื่องแลเป็นสายเดียวกันคือยืดยาวนาน อันเป็นทุกข์]
สายลมที่หวังดี:
อนุโมธนา สาธุค่ะ :45:
:13:ขอบคุณนะค่ะพี่แป๋ม
ฐิตา:
รู้ให้พร้อม
ระหว่างที่หลวงปู่พักรักษา ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ในรอบดึกมีจำนวนหลายท่านด้วยกัน เขาเหล่านั้นมีความสงสัยและอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง โดยที่สังเกตว่า บางวันพอเวลาดึกสงัดตีหนึ่งผ่านไปแล้ว ได้ยินหลวงปู่อธิบายธรรมะนานประมาณ ๑๐ กว่านาที แล้วสวดยถาให้พร ทำเหมือนหนึ่งมีผู้มารับฟังอยู่เฉพาะหน้าเป็นจำนวนมาก ครั้นจะถามพฤติการที่หลวงปู่ทำเช่นนั้นก็ไม่กล้าถาม ต่อเมื่อหลวงปู่ทำเช่นนั้นหลายๆครั้ง ก็ทนสงสัยต่อไปไม่ได้ จึงพากันถามหลวงปู่ตามลักษณาการนั้นฯ
หลวงปู่จึงบอกว่า
"ความสงสัยและคำถามเหล่านี้ มันไม่ใช่เป็นแนวทางปฏิบัติธรรม"
ประหยัดคำพูด
คณะปฏิบัติธรรมจากจังหวัดบุรีรัมย์หลายท่าน มีร้อยตำรวจเอกบุญชัย สุคนธมัต อัยการจังหวัด เป็นหัวหน้า มากราบหลวงปู่ เพื่อฟังข้อปฏิบัติธรรมแลเรียนถามถึงการปฏิบัติยิ่งๆขึ้นไปอีก ซึ่งส่วนมากก็เคยปฏิบัติกับครูบาอาจารย์แต่ละองค์มาแล้ว และแสดงแนวทางปฏิบัติไม่ค่อยจะตรงกัน เป็นเหตุให้เกิดความสงสัยยิ่งขึ้น จึงขอกราบเรียนหลวงปู่โปรดช่วยแนะแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง และทำได้ง่ายที่สุด เพราะหาเวลาปฏิบัติธรรมได้ยาก หากได้วิธีที่ง่ายๆ แล้วก็จะเป็นการถูกต้องอย่างยิ่ง ฯ
หลวงปู่บอกว่า
"ให้ดูจิต ที่จิต"
[Webmaster- จิต นี้มีความหมายถึงจิตตสังขารหรือเจตสิกคืออาการของจิต เช่น จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ฯลฯ. และอาจหมายรวมถึงเวทนาอีกด้วยก็ได้, จึงมิได้มีความหมายถึง จิตที่เป็นดวง เป็นแสงเป็นโอภาส หรือวิญญาณในลักษณะเจตภูต หรือเป็นนิมิตใดๆทั้งสิ้น]
ง่าย แต่ทำได้ยาก
คณะของคุณดวงพร ธารีฉัตร จากสถานีวิทยุทหารอากาศ ๐๑ บางซื่อ นำโดยคุณอาคม ทันนิเทศ เดินทางไปถวายผ้าป่า และกราบนมัสการครูบาอาจารย์ตามสำนักต่างๆทางอีสาน ได้แวะกราบมนัสการหลวงปู่ หลังจากถวายผ้าป่า ถวายจตุปัจจัยไทยทานแด่หลวงปู่ และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกจากท่านแล้ว ต่างคนต่างก็ออกไปตลาดบ้าง พักผ่อนตามอัธยาศัยบ้าง
มีอยุ่กลุ่มหนึ่งประมาณสี่ห้าคน เข้าไปกราบหลวงปู่แนะนำวิธีปฏิบัติง่ายๆ เพื่อแก้ไขความทุกข์ความกลุ้มใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ ว่าควรปฏิบัติอย่างไรจึงได้ผลเร็วที่สุด ฯ
หลวงปู่บอกว่า
"อย่าส่งจิตออกนอก."
[Webmaster-อย่าส่งจิตออกนอก ไปคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านคือไปเสวยอารมณ์(รูป เสียง กลิ่น ฯ.)ภายนอก หรือให้พิจารณาอยู่ในกาย, เวทนา, จิต, ธรรม ในสติปัฏฐาน ๔
ข้อควรระวัง พิจารณาอยู่ในกายหรือภายในกาย ไม่ใช่หมายถึง "จิตส่งใน" ที่จิตเคยเป็นสมาธิหรือฌาน แล้วคอยสอดส่องหรือจับสังเกตุแต่กายหรือจิตของตนเอง ด้วยความเคยชินสั่งสมจากการเสพรสอันสุขสบายจากอำนาจของฌานหรือความสงบจากสมาธิ และมักขาดการวิปัสสนา อย่างนี้จัดเป็นอันตรายอย่างยิ่งในภายหลัง ที่ย่อมสั่งสมจนเป็นสังขารในปฏิจจสมุปบาทธรรมในที่สุด จึงกล้าแข็งเป็นสังโยชน์ขั้นละเอียด ที่แก้ไขได้ยากมาก]
แก้วจ๋าหน้าร้อน:
:13: อนุโมทนาครับพี่แป๋ม ขอบคุณครับ^^
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version