อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > หลวงปู่ดุลย์ อตุโล

พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้

<< < (3/6) > >>

ฐิตา:



ทิ้งเสีย
         สุภาพสตรีท่านหนึ่ง เป็นชนชั้นครูบาอาจารย์  เมื่อฟังธรรมปฏิบัติจากหลวงปู่จบแล้ว  ก็อยากทราบถึงวิธีไว้ทุกข์ที่ถูกต้องตามธรรมเนียม  เขาจึงพูดปรารภต่อไปอีกว่า  คนสมัยนี้ไว้ทุกข์กันไม่ค่อยจะถูกต้องและตรงกัน  ทั้งๆที่สมัย ร.๖ ท่านทำไว้เป็นแบบอย่างดีอยู่แล้ว เช่น เมื่อมีญาติพี่น้องหรือญาติผู้ใหญ่ถึงแก่กรรมลง ก็ให้ไว้ทุกข์ ๗ วันบ้าง ๕๐ วันบ้าง  ๑๐๐ วันบ้าง  แต่ปรากฎว่าคนทุกวันนี้ทำอะไรรู้สึกว่าลักลั่นกันไม่เป็นระเบียบ  ดิฉันจึงขอเรียนถามหลวงปู่ว่า  การไว้ทุกข์ที่ถูกต้อง  ควรไว้อย่างไรเจ้าคะ ฯ

         หลวงปู่บอกว่า
         "ทุกข์  ต้องกำหนดรู้   เมื่อรู้แล้วให้ละเสีย    ไปไว้มันทำไม."

[Webmaster-หลวงปู่สอนกิจญาณในอริยสัจ๔,  อ่านรายละเอียดของกิจอันพึงกระทำในแต่ละอริยสัจได้ในบท อริยสัจ ๔]


จริง ตามความเป็นจริง
         สุภาพสตรีชาวจีนผู้หนึ่ง  ถวายสักการะแด่หลวงปู่แล้ว  เขากราบเรียนถามว่า  ดิฉันจะต้องไปอยู่ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรมย์เพื่อทำมาค้าขายอยู่ใกล้ญาติทางโน้น  ทีนี้ทางญาติๆก็เสนอแนะว่า  ควรจะขายของชนิดนั้นบ้าง  ชนิดนี้บ้าง  ตามแต่เขาจะเห็นดีว่าอะไรขายได้ดี   ดิฉันยังมีความกังวลใจตัดสินใจเอาเองไม่ได้ว่าจะเลือกขายของอะไร  จึงให้หลวงปู่ช่วยแนะนำด้วยว่า  จะให้ดิฉันขายอะไรจึงจะดีเจ้าคะ ฯ
        "ขายอะไรก็ดีทั้งนั้นแหละ  ถ้ามีคนซื้อ."


ไม่ได้ตั้งจุดหมาย
         เมื่อจันทร์ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๒  คณะนายทหารประมาณ ๑๐ กว่านายเข้านมัสการหลวงปู่เมื่อเวลาคํ่าแล้ว  ก็จะเดินทางต่อเข้ากรุงเทพ ฯ  ในคณะนายทหารเหล่านั้น  มียศพลโทสองท่าน  หลังสนทนากับหลวงปู่เป็นเวลาพอสมควร  ก็ถอดเอาพระเครื่องจากคอของแต่ละท่านรวมใส่ในพานถวายให้หลวงปู่ช่วยอธิษฐานแผ่เมตตาพลังจิตให้  ท่านก็อนุโลมตามประสงค์  แล้วก็มอบคืนไป  นายพลท่านหนึ่งถามว่า  ทราบว่ามีเหรียญหลวงปู่ออกมาหลายรุ่นแล้ว  อยากถามหลวงปู่ว่ามีรุ่นไหนดังบ้าง ฯ

         หลวงปู่ตอบว่า
         "ไม่มีดัง"


คนละเรื่อง
         มีชายหนุ่มจากต่างจังหวัดไกลสามสี่คนเข้าไปหาหลวงปู่  ขณะที่ท่านพักผ่อนอยู่ที่มุขศาลาการเปรียญ  ดูอากัปกิริยาของเขาแล้วคงคุ้นเคยกับพระนักเลงองค์ใดองค์หนึ่งมาก่อนแล้ว  สังเกตุจากการนั่งการพูด  เขานั่งตามสบาย  พูดตามถนัด  ยิ่งกว่านั้นเขาคงเข้าใจว่าหลวงปู่นี้คงสนใจกับเครื่องรางของขลังอย่างดี  เขาพูดถึงชื่อเกจิอาจารย์อื่นๆ  ว่าให้ของดีของวิเศษแก่ตนหลายอย่าง  ในที่สุดก็งัดเอาของมาอวดกันเองต่อหน้าหลวงปู่  คนหนึ่งมีหมูเขี้ยวตัน  คนหนึ่งมีเขี้ยวเสือ  อีกคนมีนอแรด  ต่างคนต่างอวดอ้างว่าของตนดีวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้  มีคนหนึ่งเอ่ยปากว่า  หลวงปู่ฮะ  อย่างไหนแน่ดีวิเศษกว่ากันฮะ ฯ

        หลวงปู่ก็อารมณ์รื่นเริงเป็นพิเศษยิ้มๆ แล้วว่า
        "ไม่มีดี  ไม่มีวิเศษอะไรหรอก  เป็นของสัตว์เดียรัจฉานเหมือนกัน."

[Webmaster-ท่านกล่าวอย่างตรงไปตรงมาเป็นที่สุด เพราะต่างล้วนแล้วแต่เป็นศรัทธาอย่างอธิโมกข์ ด้วยกำลังของสีลัพพตุปาทาน หรือทิฏฐุปาทาน]

ฐิตา:

ปรารภธรรมะให้ฟัง

         คราวหนึ่ง  หลวงปู่กล่าวปรารภธรรมะให้ฟังว่า  เราเคยตั้งสัจจะจะอ่านพระไตรปิฎกจนจบ  ในพรรษาที่ ๒๔๙๕  เพื่อสำรวจดูว่าจุดจบของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงไหน  ที่สุดแห่งสัจจธรรม  หรือที่สุดของทุกข์นั้น  อยู่ตรงไหน   พระพุทธเจ้าทรงกล่าวสรุปไว้ว่าอย่างไร  ครั้นอ่านไป  ตริตรองไปกระทั่งถึงจบ  ก็ไม่เห็นตรงไหนที่มีสัมผัสอันลึกซึ้งถึงจิตของเราให้ตัดสินใจได้ว่า  นี่คือที่สิ้นสุดแห่งทุกข์  ที่สุดแห่งมรรคผล  หรือที่เรียกว่านิพพาน ฯ

         มีอยู่ตอนหนึ่ง  คือ  ครั้งนั้นพระสารีบุตรออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ  พระพุทธเจ้าตรัสเชิงสนทนาธรรมว่า  สารีบุตร  สีผิวของเธอผ่องใสยิ่งนัก  วรรณะของเธอหมดจดผุดผ่องยิ่งนัก  อะไรเป็นวิหารธรรมของเธอ  พระสารีบุตรกราบทูลว่า "ความว่างเปล่าเป็นวิหารธรรมของข้าพระองค์"  (สุญฺญตา) ฯ

         ก็เห็นมีเพียงแค่นี้แหละ  ที่มาสัมผัสจิตของเรา.


ปรารภธรรมะให้ฟัง

         จบพระไตรปิฎกหมดแล้ว  จำพระธรรมได้มากมาย  พูดเก่งอธิบายได้อย่างซาบซึ้ง  มีคนเคารพนับถือมาก  ทำการก่อสร้างวัตถุไว้ได้อย่างมากมาย  หรือสามารถอธิบายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้อย่างละเอียดแค่ไหนก็ตาม  "ถ้ายังประมาทอยู่  ก็นับว่ายังไม่ได้รสชาติของพระศาสนาแต่ประการใดเลย  เพราะสิ่งเหล่านี้ยังเป็นของภายนอกทั้งนั้น  เมื่อพูดถึงประโยชน์  ก็เป็นประโยชน์ภายนอกคือเป็นไปเพื่อสงเคราะห์สังคม  เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น  เพื่อสงเคราะห์อนุชนรุ่นหลัง  หรือเป็นสัญญลักษณ์ของศาสนวัตถุ  ส่วนประโยชน์ของตนที่แท้นั้น  คือ  ความพ้นทุกข์   "จะพ้นทุกข์ได้ต่อเมื่อรู้ จิตหนึ่ง."

[Webmaster- รู้จิตหนึ่ง จิตที่มีความหมายถึงจิตในเวทนานุปัสสนาและจิตตานุปัสสนา]


คิดไม่ถึง

         สำนักปฏิบัติแห่งหนึ่ง  ซึ่งเป็นสาขาของหลวงปู่นี่นเอง  อยู่ด้วยกันเฉพาะพระประมาณห้าหกรูป  อยากจะเคร่งครัดเป็นพิเศษ  ถึงขั้นสมาทานไม่พูดจากันตลอดพรรษา  คือ  ไม่ให้มีเสียงเป็นคำพูดออกมาจากปากใคร  ยกเว้นการสวดมนต์ทำวัตร  หรือสวดปาติโมกข์เท่านั้น  ครั้นออกพรรษาแล้ว  พากันไปกราบหลวงปู่  เล่าถึงการปฏิบัติอย่างเคร่งของพวกตนว่า  นอกจากปฏิบัติข้อวัตรอย่างอื่นแล้วสามารถหยุดพูดได้ตลอดพรรษาด้วย ฯ

         หลวงปู่ฟังฟังแล้วยิ้มหน่อยหนึ่ง พูดว่า

         "ดีเหมือนกัน  เมื่อไม่พูดก็ไม่มีโทษทางวาจา  แต่ที่ว่าหยุดพูดได้นั้นเป็นไปไม่ได้หรอก  นอกจากพระอริยบุคคลผู้เข้านิโรธสมาบัติชั้นละเอียดดับสัญญาเวทนาเท่านั้นแหละที่ไม่พูดได้  นอกนั้นพูดทั้งวันทั้งคืน  ยิ่งพวกที่ตั้งปฏิญาณว่าจะไม่พูดนั่นแหละยิ่งพูดมากกว่าคนอื่น   เพียงแต่ไม่ออกเสียงให้คนอื่นได้ยินเท่านั้น."

[Webmaster-กล่าวคือ แม้ไม่ได้พูดคือเป็นวจีสังขารออกมาเป็นคำพูด,  แต่ก็พูดอย่างฟุ้งซ่านอยู่ในใจอยู่เสมอๆเนืองๆด้วยมโนสังขารหรือจิตตสังขารนั่นเอง]

ฐิตา:



อย่าตั้งใจไว้ผิด

         นอกจากหลวงปู่จะนำปรัชญาธรรมที่ออกจากจิตของท่านมาสอนแล้ว  โดยที่ท่านอ่านพระไตรปิฎกจบมาแล้ว  ตรงไหนที่ท่านเห็นว่าสำคัญและเป็นการเตือนใจในทางปฏิบัติให้ตรงและลัดที่สุด  ท่านก็จะยกมากล่าวเตือนอยู่เสมอ เช่น หลวงปู่ยกพุทธพจน์ตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเตือนว่า

         "ภิกษุทั้งหลาย  พรหมจรรย์นี้  เราประพฤติ  มิใช่เพื่อหลอกลวงคน  มิใช่เพื่อให้คนมานิยมนับถือ  มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภสักการะและสรรเสริญ  มิใช่อานิสงส์เป็นเจ้าลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้ฯ  ที่แท้พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติ เพื่อสังวระ-ความสำรวม   เพื่อปหานะ-ความละ   เพื่อวิราคะ-ความหายกำหนัดยินดี   และเพื่อนิโรธะ-ความดับทุกข์   ผู้ปฏิบัติและนักบวชต้องมุ่งตามแนวทางนี้   นอกจากแนวทางนี้แล้วผิดทั้งหมด."


พระพุทธพจน์

         หลวงปูว่า  ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ตราบนั้นย่อมมีทิฎฐิ  และเมื่อมีทิฎฐิแล้วยากที่จะเห็นตรงกัน  เมื่อไม่เห็นตรงกัน ก็เป็นเหตุให้โต้เถียงวิวาทกันอยู่รํ่าไป   สำหรับพระอริยเจ้าผู้เข้าถึงธรรมแล้วก็ไม่มีอะไรสำหรับมาโต้แย้งกับใคร  ใครมีทิฎฐิอย่างไร ก็ปล่อยเป็นเรื่องของเขาไป  ดังพุทธพจน์ตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

         ภิกษุทั้งหลาย  สิ่งใดอันบัณฑิตทั้งหลายในโลกกล่าวว่ามีอยู่ แม้เราตถาคตก็กล่าวสิ่งนั้นว่ามีอยู่   สิ่งใดอันบัณฑิตทั้งหลายในโลกกล่าวว่าไม่มี แม้เราตถาคตก็กล่าวสิ่งนั้นว่าไม่มี   ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่โต้แย้งเถียงกับโลก  แต่โลกย่อมวิวาทโต้เถียงกับเรา (ปุปผสูตร)



นักปฏิบัติลังเล 

         ปัจจุบันนี้  ศาสนิกชนผู้สนใจในการปฏิบัติฝ่ายวิปัสสนา  มีความงงงวยสงสัยอย่างยิ่งในแนวทางปฏิบัติ  โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นสนใจเนื่องจากคณาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาแนะแนวปฏิบัติไม่ตรงกัน  ยิ่งไปกว่านั้นแทนที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจโดยความเป็นธรรม  ก็กลับทำเหมือนไม่อยากจะยอมรับคณาจารย์อื่น  สำนักอื่น ว่าเป็นการถูกต้อง  หรือถึงขั้นดูหมิ่นสำนักอื่นไปแล้วก็เคยมีไม่น้อย ฯ

         ดังนั้น  เมื่อมีผู้สงสัยทำนองนี้มากแล้วเรียนถามหลวงปู่อยู่บ่อยๆ  จึงได้ยินหลวงปู่อธิบายให้ฟังอยู่เสมอๆว่า

         "การเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาภาวนานั้น  จะเริ่มต้นโดยวิธีไหนก็ได้  เพราะผลมันก็เป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว   ที่ท่านสอนแนวปฏิบัติไว้หลายแนวนั้นเพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน  จึงต้องมีวัตถุ  สี  แสง  และคำสำหรับบริกรรม เช่น พุทโธ  อรหัง  เป็นต้น  เพื่อหาจุดใดจุดหนึ่งให้จิตรวมอยู่ก่อน  สงบ  แล้ว คำบริกรรมเหล่านั้นก็หลุดหายไปเอง   แล้วก็ถึงรอยเดียวกัน  รสเดียวกัน  คือมีวิมุตติเป็นแก่น  มีปัญญาเป็นยิ่ง."

[Webmaster-หลวงปู่ท่านหมายถึงการปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่ได้แตกแขนงออกเป็นหลายแนวทางการปฏิบัติตามจริตผู้ปฏิบัติ หรือตามสำนักนั้นๆ จึงมีความแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ความจริงแล้ว ล้วนมุ่งสู่จุดหมายเดียวกันคือละความดำริคือคิดพล่านลงไปเสียก่อน,   แต่ก็มิได้หมายถึงการปฏิบัติแบบผิดๆอันย่อมยังให้เกิดโทษอย่างแน่นอน]

ฐิตา:

อยู่  ก็อยู่ให้เหนือ   

         ผู้ที่เข้านมัสการหลวงปู่ทุกคนและทุกครั้ง  มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  แม้หลวงปู่จะมีอายุใกล้ร้อยปีแล้วก็จริง  แต่ดูผิวพรรณยังผ่องใส  และสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี  แม้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดท่านตลอดมาก็ยากที่จะได้เห็นท่านแสดงอาการหมองคลํ้า  หรืออิดโรย  หรือหน้านิ่วคิ้วขมวดให้เห็น  ท่านมีปรกติสงบเย็น  เบิกบานอยู่เสมอ  มีอาพาธน้อย  มีอารมณ์ดี  ไม่ตื่นเต้นตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ไม่เผลอคล้อยตามไปตามคำสรรเสริญ  หรือคำตำหนิติเตียนฯ

         มีอยู่ครั้งหนึ่ง  ท่ามกลางพระเถระฝ่ายวิปัสสนา สนทนาธรรมเรื่องการปฏิบัติกับหลวงปู่ ถึงปรกติจิตที่อยู่เหนือความทุกข์ โดยลักษณาการอย่างไรฯ
        หลวงปู่ว่า
        "การไม่กังวล  การไม่ยึดถือ  นั่นแหละวิหารธรรมของนักปฏิบัติ."   


ทำจิตให้สงบได้ยาก

         การปฏิบัติภาวนาสมาธินั้น  จะให้ผลเร็วช้าเท่าเทียมกันเป็นไปไม่ได้  บางคนได้ผลเร็ว  บางคนก็ช้า  หรือยังไม่ได้ผลลิ้มรสแห่งความสงบเลยก็มี  แต่ก็ไม่ควรท้อถอย  ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรทางใจ ย่อมเป็นบุญกุศลขั้นสูงต่อจากการบริจาคทานรักษาศีล  เคยมีลูกศิษย์จำนวนมากเรียนถามหลวงปู่ว่า  อุตส่าห์พยายามภาวนาสมาธินานมาแล้ว  แต่จิตไม่เคยสงบเลย  แส่ออกไปข้างนอกอยู่เรื่อย  มีวิธีอื่นใดบ้างที่พอจะปฏิบัติได้ ฯ

         หลวงปู่เคยแนะวิธีอีกอย่างหนึ่งว่า
         "ถึงจิตจะไม่สงบก็ไม่ควรให้มันออกไปไกล  ใช้สติระลึกไปแต่ในกายนี้  ดูให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภสัญญา  หาสาระแก่นสารไม่ได้  เมื่อจิตมองเห็นชัดแล้ว  จิตก็จะเกิดความสลดสังเวช  เกิดนิพพิทา   ความหน่าย  คลายกำหนัด  ย่อมตัดอุปาทานขันธ์ได้เช่นเดียวกัน."

[Webmaster- เนื่องจากฌานสมาธิ เป็นอจินไตย ขึ้นอยู่กับจริต การสั่งสม ความเพียร แนวทางปฏิบัติ ฯลฯ.]


หลักธรรมแท้

         มีอยู่อย่างหนึ่งที่นักปฏิบัติชอบพูดถึง  คือ  ชอบโจษขานกันว่า นั่งภาวนาแล้วเห็นอะไรบ้าง[Webmaster-หมายถึงนิมิตที่ย่อมรวมโอภาสด้วย]  ปรากฎอะไรออกมาบ้าง  หรือไม่ก็ว่า ตนนั่งภาวนามานานแล้วไม่เคยเห็นปรากฎอะไรออกมาบ้างเลย  หรือบางคนก็ว่า ตนได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เสมอ  ทำให้บางคนเข้าใจผิดคิดว่า ภาวนาแล้วตนจะได้เห็นสิ่งที่ต้องการเป็นต้น ฯ

         หลวงปู่เคยเตือนว่า  การปรารถนาเช่นนั้นผิดทั้งหมด  เพราะการภาวนานั้นเพื่อให้เข้าถึงหลักธรรมอย่างแท้จริง
         "หลักธรรมที่แท้จริงนั้น  คือ  จิต  ให้กำหนดดูจิต  ให้เข้าใจจิตตัวเองให้ลึกซึ้ง  เมื่อเข้าใจจิตตัวเองได้ลึกซึ้งแล้ว  นั่นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรม."

[Webmaster-จิต ที่หมายถึงเวทนานุปัสสนา หรือจิตตานุปัสสนา  หรือแม้แต่กายานุปัสสนาและธัมมานุปัสสนาที่ต่างล้วนอาศัยจิตเช่นกัน]

ฐิตา:


                     

มีปรกติไม่แวะเกี่ยว
         อยู่รับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่เป็นเวลานานสามสิบกว่าปี  จนถึงวาระสุดท้ายของท่านนั้น  เห็นว่าหลวงปู่มีปฏิปทา ตรงต่อพระธรรมวินัย ตรงต่อการปฏิบัติ เพื่อพ้นทุกข์อย่างเดียว  ไม่แวะเกี่ยวกับวิชาอาคม  ของศักสิทธิ์  หรือสิ่งชวนสงสัยอะไรเลยแม้แต่น้อย  เช่น  มีคนขอให้เป่าหัวให้ ก็ถามว่า เป่าทำไม  มีคนขอให้เจิมรถ ก็ถามเขาว่า เจิมทำไม  มีคนขอให้บอกวันเดือนหรือฤกษ์ดี ก็บอกว่าวันไหนก็ดีทั้งนั้นฯ   หรือเมื่อท่านเคี้ยวหมาก  มีคนขอชานหมากฯ

         หลวงปู่ว่า
         "เอาไปทำไมของสกปรก."

[Webmaster-แสดงให้เห็นสีลัพพตปรามาสในการปฏิบัติหรือยึดถือ]

ทำโดยกริยา
         บางครั้งอาตมานึกไม่สบายใจ  เกรงว่าตัวเองจะมีบาป  ที่เป็นผู้มีส่วนทำให้หลวงปู่ต้องแวะเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ได้สนใจหรือไม่ถนัดใจครั้งแรก  คือ วันนั้นหลวงปู่ไปร่วมงานเปิดพิพิธภัณฑ์บริขารท่านอาจารย์มั่น ที่วัดป่าสุธาวาส สกลนคร  มีพระเถระวิปัสสนามากประชาชนก็มาก  เขาเหล่านั้นจึงถือโอกาสเข้าหาครูบาอาจารย์ทั้งหลายเพื่อกราบเพื่อขอ  จึงมีหลายคนที่มาขอให้หลวงปู่เป่าหัว  เมื่อเห็นท่านเฉยอยู่ จึงขอร้องท่านว่า  หลวงปู่เป่าให้เขาให้แล้วๆไป ท่านจึงเป่าให้  ต่อมาเมื่อเสียไม่ได้ก็เจิมรถให้เขา  ทนอ้อนวอนไม่ได้ก็ให้เขาทำเหรียญ และเข้าพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล ฯ

         แต่ก็มีความสบายใจอย่างยิ่งเมื่อฟังคำหลวงปู่ว่าฯ
         "การกระทำของเราในสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงกริยาภายนอกที่เป็นไปในสังคม  หาใช่เป็นกริยาที่นำไปสู่ภพ ภูมิ หรือมรรคผลนิพพานแต่ประการใดไม่."


ปรารภธรรมะให้ฟัง
         คำสอนทั้ง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น  เป็นเพียงอุบายให้คนทั้งหลายหันมาดูจิตนั่นเอง  คำสอนของพระพุทธองค์มีมากมายก็เพราะกิเลสมีมากมาย  แต่ทางดับทุกข์ได้มีทางเดียว พระนิพพาน  การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรมที่ถูกทางเช่นนี้มีน้อยนัก  หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไปเราจะหมดโอกาสพ้นทุกข์ทันในชาตินี้   แล้วจะต้องหลงอยู่ในความเห็นผิดอีกนานแสนนาน เพื่อที่จะพบธรรมอันเดียวกันนี้  ดังนั้น  เมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว  รีบปฏิบัติให้พ้นเสีย  มิฉนั้นจะเสียโอกาสอันดีนี้ไป  เพราะว่าเมื่อสัจจธรรมถูกลืม  ความมืดมนย่อมครอบงำปวงสัตว์ให้อยู่กองทุกข์สิ้นกาลนาน.

[Webmaster-จิต ที่หมายถึงเวทนานุปัสสนา หรือจิตตานุปัสสนา  หรือแม้แต่กายานุปัสสนาและธัมมานุปัสสนาที่ต่างล้วนอาศัยจิตเช่นกัน]


ปรารภธรรมะให้ฟัง
         มิใช่ครั้งเดียวเท่านั้นที่หลวงปู่เปรียบเทียบธรรมะให้ฟัง  มีอยู่อีกครั้งหนึ่ง  หลวงปู่ว่า
         ปัญญาภายนอกคือปัญญาสมมติ  ไม่ทำให้จิตแจ้งในพระนิพพานได้  ต้องอาศัยปัญญาอริยมรรคจึงเข้าถึงพระนิพพานได้  ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์เช่น ไอสไตน์ มีความรู้มาก มีความสามารถมาก  แยกปรมาณูที่เล็กที่สุด จนเข้าถึงมิติที่ ๔ แล้ว  แต่ไอสไตน์ไม่รู้จักนิพพาน  จึงเข้าพระนิพพานไม่ได้  "จิตที่แจ้งในอริยมรรคเท่านั้นจึงเป็นไปเพื่อการตรัสรู้จริง  ตรัสรู้ยิ่ง  ตรัสรู้พร้อม  เป็นไปเพื่อการดับทุกข์  เป็นไปเพื่อนิพพาน."


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version