อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > หลวงปู่ดุลย์ อตุโล

พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้

<< < (5/6) > >>

ฐิตา:
เขาต้องการอย่างนั้นเอง

         แม้จะมีคนเป็นกลุ่ม  อยากฟังความคิดเห็นของหลวงปู่เรื่องเวียนว่ายตายเกิด  ยกบุคคลมาอ้างว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้สามารถระลึกชาติย้อนหลังได้หลายชาติว่าตนเคยเกิดเป็นอะไรบ้าง  และใครเคยเป็นแม่เป็นญาติกันบ้าง

         หลวงปู่ว่า

        "เราไม่เคยสนใจเรื่องอย่างนี้  แค่อุปจารสมาธิก็เป็นได้แล้วทุกอย่าง  มันออกไปจากจิตทั้งหมด  อยากรู้อยากเห็นอะไร  จิตมันบันดาลให้รู้ให้เห็นได้ทั้งนั้น และรู้ได้เร็วเสียด้วย   หากพอใจเพียงแค่นี้  ผลดีที่ได้ก็คือ ทำให้กลัวการเวียนว่ายตายเกิดในภพที่ตํ่า  แล้วตั้งใจทำดี บริจาคทาน รักษาศีล แล้วก็ไม่เบียดเยียนกัน พากันกระหยิ่มยิ้มย่องในผลบุญของตน    ส่วนการที่จะกำจัดกิเลสเพื่อทำลายอวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน  เข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง อีกอย่างหนึ่งต่างหาก."


ไม่มีนิทานสาธก

         อยู่ใกล้ชิดหลวงปู่ตลอดระยะเวลายาวนาน  คำสอนของท่านไม่เคยมีนิทานสาธก หรือนิทานสนุกอะไรที่หลวงปู่ยกมาบรรยายให้ฟังสนุกๆเลย  ไม่ว่าชาดกหรือเรื่องประกอบปัจจุบันฯ

         คำสอนของท่านล้วนแต่เป็นสัจจธรรมขั้นปรมัตถ์  หรือไม่ก็เป็นคำจำกัดความอย่างกะทัดรัด  ชนิดระมัดระวัง หรือคล้ายประหยัดคำพูดอย่างยิ่ง  แม้แต่การสอนพิธีกรรม หรือศาสนพิธีและการทำบุญบริจาคทานอะไร   ในระดับศีลธรรมหลวงปู่ทำในระดับปล่อยวางหมด   ส่วนมากหลวงปู่กล่าวว่า

        "เรื่องพิธีกรรม  หรือบุญกริยาวัตถุต่างๆทั้งหลาย  ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังใ ห้เกิดกุศลได้อยู่  หากแต่ว่าสำหรับนักปฏิบัติแล้ว  อาจถือได้ว่าเป็นไปเพื่อกุศลเพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง."

ฐิตา:
ปฏิปุจฉา

        ด้วยความคุ้นเคยและอยู่ใกล้ชิดหลวงปู่มาเป็นเวลานาน  เมื่ออาตมาถามปัญหาอะไรท่าน  หลวงปู่ท่านมักจะตอบด้วยการย้อนกลับคืน  ทำนองให้คิดหาคำตอบเอาเอง ฯ

        เช่นถามว่า  พระอรหันต์ท่านมีใจสะอาด  สว่างแล้ว  ท่านอาจรู้เลขหวยได้อย่างแม่นยำหรือครับ ฯ
         ท่านตอบว่า "พระอรหันต์  ท่านใส่ใจเพื่อจะรู้สิ่งเหล่านี้หรือ"

         ถามว่า  พระอรหันต์ท่านเคยนอนหลับฝันเหมือนคนธรรมดาด้วยหรือเปล่าครับ ฯ
         ท่านตอบว่า  "การหลับแล้วเกิดฝัน  เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ไม่ใช่หรือ."

         ถามว่าพระปุถุชนธรรมดายังหนาด้วยกิเลส  แต่มีความสามารถสอนคนอื่นให้เขาบรรลุถึงอรหันต์  เคยมีบ้างไหมครับหลวงปู่ ฯ
         ท่านตอบว่า "หมอบางคน  ทั้งที่ตัวเองยังมีโรคอยู่  แต่ก็เคยรักษาคนอื่นให้หายจากโรคได้  มีอยู่ทั่วไปไม่ใช่หรือ."

[หมายเหตุ Webmaster - การหลับแล้วฝันเป็นเรื่องของสังขารขันธ์ จึงหมายถึงย่อมเกิดขึ้นแก่ทุกคนที่ยังดำรงขันธ์อยู่  จึงยังคงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา]


ปรกตินิสัยประจำตัวของหลวงปู่

         ทางกาย  มีร่างกายแข็งแรง  กระฉับกระเฉงว่องไว  สมสัดส่วนสะอาดปราศจากกลิ่นตัว  มีอาพาธน้อย  ท่านจะสรงนํ้าอุ่นวันละครั้งเท่านั้น

         ทางวาจา   เสียงใหญ่  แต่พูดเบา  พูดน้อย  พูดสั้น  พูดจริง  พูดตรง  ปราศจากมายาทางคำพุด  คือ ไม่พูดเลียบเคียง  ไม่พูดโอ๋  ไม่พูดปลอบโยน  ไม่พูดประชด  ไม่พูดนินทา  ไม่พูดขอร้อง  ขออภัย  ไม่พูดขอโทษ  ไม่พูดถึงความฝัน  ไม่พูดเล่านิทานชาดกหรือนิทานปรัมปรา  เป็นต้น ฯ

          ทางใจ  มีสัจจะ  ตั้งใจทำสิ่งใดแล้วทำโดยสำเร็จ  มีเมตตากรุณาเป็นประจำ  สงบเสงี่ยมเยือกเย็น  อดทน  ไม่เคยมีอาการกระวนกระวายวู่วาม  ไม่แสดงอาการอึดอัดหงุดหงิด หรือรำคาญ  ไม่แสวงหาของหรือสั่งสมหรืออาลัยอาวรณ์กับของที่สูญหาย  ไม่ประมาท  รุ่งเรืองด้วยสติสัมปชัญญะและเบิกบานอยู่เสมอ  เป็นอยู่โดยปราศจากทุกข์  ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์  ไม่ถูกภาวะอื่นครอบงำ

         ท่านสอนอยู่เสมอว่า

        "ให้ทำความเข้าใจกับสภาวธรรมอย่างชัดแจ้งว่า  เกิดขึ้น  เปลี่ยนแปลง  สลายไป  อย่าทุกข์โศกเพราะสภาวะนั้นเป็นเหตุ."

ฐิตา:
มีเวทนาหนัก  แต่ไม่หนักด้วยเวทนา

         หลวงปู่อาพาธหนักอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ. เป็นวันที่ ๑๗ ของการอยู่โรงพยาบาล  คืนนั้น  หลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียอย่างมากถึงกับต้องให้ออกซิเจนช่วยหายใจโดยตลอด  เวลาดึกมากแล้วคือหกทุ่มกว่า  ท่านอาจารย์ยันตระ  พร้อมบริวารหลายท่าน  เข้าไปขอกราบเยี่ยมหลวงปู่  เห็นเป็นกรณีพิเศษจึงให้ท่านเข้าไปกราบเยี่ยมได้  หลวงปู่นอนตะแคงขวา หลับตาตลอด  เมื่อคณะของอาจารย์ยันตระกราบนมัสการแล้ว  ท่านอาจารย์ยันตระขยับก้มไปชิดหูหลวงปู่แล้วถามว่า "หลวงปู่ยังมีเวทนาอยู่หรือ"

         หลวงปู่ตอบว่า

         "เวทนากับร่างกายนั้นมีอยู่ตามธรรมชาติของมัน   แต่ไม่ได้เสวยเวทนานั้นเลย"

[หมายเหตุ Webmaster - เวทนาหรือทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติของชีวิต  ที่ย่อมต้องเกิดขึ้นจากการผัสสะของอายตนะต่างๆเป็นธรรมดา ในทุกรูปนามหรือทุกบุคคลเขาเรา ท่านจึงคงมีทุกขเวทนาทางกายเป็นธรรมดาโดยธรรมชาติ  แต่องค์ท่านไม่เสพเสวยกล่าวคืิอไม่ไปพัวพัน ไม่ไปปรุงแต่ง หรือไปยึดมั่นจนทุกขเวทนาอันเป็นทุกข์เป็นธรรมดาโดยธรรมชาติหรือเป็นทุกข์ธรรมชาติของชีวิตนั้น  เกิดการแปรปรวนไปเป็นอุปาทานเวทนาคือเวทนูปาทานขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานอันแสนเร่าร้อนเผาลนทุรายกว่าทุกข์ธรรมชาติยิ่งนัก  กล่าวคือไม่เสพเสวยอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นทุกข์ที่แสนเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายอันเกิดจากการฟุ้งซ่านหรือส่งจิตออกนอกไปปรุงแต่ง ดังที่เกิดขึ้นในองค์ธรรมชราในปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง]


เดินทางลัด ที่ปลอดภัย

         เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๖  ก่อนที่หลวงปู่จะกลับจากโรงพยาบาลจุฬาฯ  ได้ชักชวนกันทำบุญถวายสังฆทาน  เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่บรรพชนที่สร้างโรงพยาบาลฯ ที่ล่วงลับแล้วฯ

         เมื่อพิธีถวายสังฆทานผ่านไปแล้ว  มีนายแพทย์และนางพยาบาลจำนวนหนึ่งเข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่  แสดงความดีใจที่หลวงปู่หายจากอาพาธครั้งนี้  พร้อมทั้งกล่าวปิยวาจาว่า  หลวงปู่มีสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี  หน้าตาสดใสเหมือนไม่ได้ผ่านการอาพาธมา คงจะเป็นผลจากการที่หลวงปู่มีภาวนาสมาธิจิตดี  พวกกระผมมีเวลาน้อยหาโอกาสเพียรภาวนาสมาธิได้ยาก  มีวิธีใดบ้างที่จะปฏิบัติได้ง่ายๆ หรือโดยย่อที่สุด ฯ

         หลวงปู่ตอบว่า

         "มีเวลาเมื่อไร  ให้ปฏิบัติเมื่อนั้น,   การฝึกจิต  การพิจารณาจิตเป็นวิธีลัดสั้นที่สุด."

ฐิตา:
ทั้งหมดอยู่ที่ความประพฤติ

        ตลอดชีวิตของหลวงปู่  ท่านไม่ยอมรับกับการถือฤกษ์งามยามดีอะไรเลย  แม้จะถูกถามถูกขอให้บอกเพียงว่า  จะบวชวันไหน  จะสึกวันไหน  หรือวันเดือนปีไหนดีเสียอย่างไร  หลวงปู่ก็ไม่เคยเผลอเอออวยด้วย  มักจะพูดว่าวันไหนเดือนไหนก็ดีทั้งนั้นแหละ  คือ  ถ้ามีผู้ขอเช่นนี้  ท่ายมักให้เขาหาเอาเอง  หรือมักบอกว่าวันไหนก็ได้  ถ้าสะดวกดีแล้วเป็นฤกษ์ดีทั้งหมด ฯ

         หลวงปู่สรุปลงว่า

        "ทุกอย่างรวมอยู่ที่ความประพฤติ  คือ  ฤกษ์ดี  ฤกษ์ร้าย  โชคดี  โชคร้าย  เรื่องเคราะห์  กรรม  บาป  บุญ  อะไรทั้งหมดนี้  ล้วนออกไปจากความประพฤติของมนุษย์ทั้งนั้น"

[หมายเหตุ Webmaster - หลวงปู่สอนไว้ อันเป็นจริงยิ่ง และถูกต้องตามหลัก"อิทัปปัจจยตา"  อันมีสาระสำคัญว่า"เพราะเหตุนี้มี  ผลนี้จึงเกิดขึ้น" หรือธรรมใดเกิดแต่เหตุ อันคือกรรมที่หมายถึงการกระทำ-ความประพฤตินั่นเอง  ล้วนมิได้เกิดแต่ฤกษ์ผานาทีเป็นสำคัญ  ความสำคัญจึงขึ้นอยู่ที่กรรมคือการประพฤติหรือการกระทำเป็นสำคัญ อันเป็นดั่งพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า "บุคคลประพฤติชอบเวลาใด  เวลานั้นได้ชื่อว่า  เป็นฤกษ์ดี  เป็นมงคลดี  เป็นเช้าดี  อรุณดี  เป็นขณะดี  ยามดี  และ(นับด้วยว่า)เป็นอันได้ทําบูชาดีแล้วในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย  แม้กายกรรมของเขาก็เป็นสิทธิโชค  วจีกรรมก็เป็นสิทธิโชค  มโนกรรมก็เป็นสิทธิโชค  ประณิธานของเขาก็(ย่อมต้อง)เป็นสิทธิโชค  ครั้นกระทํากรรม(การกระทําใดๆ)ทั้งหลายที่เป็นสิทธิโชคแล้ว เขาย่อมได้ประสบแต่ผลที่มุ่งหมายอันเป็นสิทธิโชค"  (สุปุพพัณหสูตร)]


ไม่เคยกระทำแบบแสดง

         หลวงปู่ไม่มีมารยาในทางอยากโชว์  เพื่อให้เด่น  ให้สง่าแก่ตนเอง  เช่นการถ่ายรูปของท่าน  ถ้าใครอยากถ่ายรูปท่าน  ก็ต้องหาจังหวะให้ดี  ระหว่างที่ท่านห่มผ้าสังฆาฏิเรียบร้อย  เพื่อลงปาฎิโมกข์หรือบวชนาคหรือเข้าพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง  แล้วขอถ่ายรูปท่านในจังหวะนี้ย่อมได้ถ่าย  เมื่อท่านอยู่ตามธรรมดา แล้วขอร้องท่านให้ลุกไปนุ่งห่มมาตั้งท่าให้ถ่าย แบบนี้หวังได้ยากอย่างยิ่ง  เช่น  มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งจากกรุงเทพฯ  นำผ้าห่มชั้นดีมาถวายหลวงปู่เมื่อหน้าหนาว  พอถึงเดือนห้าหน้าร้อน  เผอิญเขาได้ไปกราบหลวงปู่อีก  จึงขอให้ท่านเอาผ้ามาห่มให้เขาถ่ายรูปด้วย เพราะตอนถวายไม่ได้ถ่ายไว้  หลวงปู่ปฏิเสธว่า  ไม่ต้องหรอก  แม้เขาจะขอเป็นครั้งที่สองที่สาม  ท่านก็ว่าไม่จำเป็นอยู่นั่นเองฯ

         เมื่อสุภาพสตรีนั้นลากลับไปแล้ว  อาตมาไม่ค่อยสบายใจจึงถามท่านว่า  โยมเขาไม่พอใจ  หลวงปู่ทราบไหม ฯ

         หลวงปู่ยิ้มแล้วตอบว่า

        "รู้อยู่  ที่เขามีความไม่พอใจ  ก็เพราะใจเขามีความไม่พอ"

ฐิตา:
สิ้นชาติขาดภพ

         พระมหาเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน  สนทนาธรรมะขั้นปรมัตถ์กับหลวงปู่หลายข้อ  แล้วลงท้ายด้วยคำถามว่า  พระเถระนักปฏิบัติบางท่าน  มีปฏิปทาดี  น่าเชื่อถือ  แม้พระด้วยกันก็ยอมรับว่าท่านเป็นผู้มั่นคงในพระศาสนา  แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด  ถึงขั้นต้องสึกหาลาเพศไปก็มี  หรือไม่ก็ทำไขว้เขวประพฤติตนมัวหมองอยู่ในพระธรรมวินัยก็มี จึงไม่ทราบว่าจะปฏิบัติถึงขั้นไหนอีก จึงจะตัดวัฏสงสารให้สิ้นภพสิ้นชาติได้ ฯ

         หลวงปู่กล่าวว่า

        "การสำรวมสำเหนียกในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด  และสมาทานถือธุดงค์นั้น  เป็นปฏิปทาที่ดีงามอย่างยิ่ง น่าเลื่อมใส  แต่ถ้าเจริญจิตไม่ถึงอธิจิิต  อธิปัญญาแล้ว  ย่อมเสื่อมลงได้เสมอ  เพราะยังไม่ถึงโลกุตตรภูมิ  ที่จริงพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้รู้ในขันธ์ ๕  แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท  หยุดการปรุงแต่ง  หยุดการแสวงหา  หยุดกริยาจิต  มันก็จบแค่นี้  เหลือแต่ บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง มหาสุญตา ว่างมหาศาล


อยู่อย่างไรปลอดภัยที่สุด

         จำได้ว่าเมื่อปี ๒๕๑๙  มีพระเถระ ๒ รูป เป็นพระฝ่ายวิปัสสนากัมัฏฐานจากอีสานเหนือแวะไปกราบมนัสการหลวงปู่  แล้วสนทนาธรรมเรื่องการปฏิบัติ เป็นที่เกิดศรัทธาปสาทะ  และดื่มด่ำในรสพระธรรมอย่างยิ่ง  ท่านเหล่านั้นกล่าวย้อนถึงคุณงามความดีตลอดถึงภูมิธรรมของครูบาอาจารย์ที่ตนเคยไปพำนักศึกษาปฏิบัติมาด้วยเป็นเวลานานว่า  หลวงปู่องค์โน้นมีวิหารธรรมคืออยู่กับสมาธิตลอดเวลา  อาจารย์นี้อยู่กับพรหมวิหารเป็นปรกติ คนจึงนับถือท่านมาก  หลวงปู่องค์นั้นอยู่กับอัปปมัญญาพรหมวิหาร ลูกศิษย์ของท่านจึงมากมายทั่วสารทิศไม่มีประมาณ ดังนี้เป็นต้น ท่านจึงมีแต่ความปลอดภัยอันตรายตลอดมา ฯ

         หลวงปู่กล่าวว่า

         เออ  ท่านองค์ไหนมีภูมิธรรมแค่ไหน  ก็อยู่กับภูมิธรรมนั้นเถอะ  เราอยู่กับ " รู้ "

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version