ความตาย ไม่ว่าจะน่ากลัวอย่างไรในสายตาของคนทั่วไป
ก็ยังไม่น่ากลัวเท่ากับ ความกลัวตาย ความตายหากวัดที่การหมดลมหรือหัวใจหยุดเต้น ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์
แต่ความกลัวตายนั้นสามารถหลอกหลอนคุกคามผู้คนนานนับปีหรือยิ่งกว่านั้น ความกลัวเกิดขึ้นเมื่อไร ก็ทุกข์เมื่อนั้น จึงมีภาษิตว่า "คนกล้าตายครั้งเดียว แต่คนขลาดตายหลายครั้ง"
ความกลัวตายยังน่ากลัวตรงที่เป็นแรงผลักดันให้เราพยายามผลักไสความตายออกไปให้ ไกลที่สุด จนแม้แต่จะคิดถึง เรียนรู้ หรือทำความรู้จักกับมัน ก็ยังไม่กล้าทำ เพราะเห็นความทุกข์เป็นศัตรู ยิ่งเมื่อความตายมาอยู่ต่อหน้า แทนที่จะยอมรับ กลับปฏิเสธผลักไสสุดแรง แต่เมื่อไม่สมหวังก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งทุกข์ก็ยิ่งผลักไส ยิ่งผลักไสก็ยิ่งผิดหวัง ผลคือความทุกข์เพิ่มพูนเป็นทวีตรีคูณ หารู้ไม่ว่าหากยอมรับความตาย ความทุกข์ก็จะน้อยลงไปมาก บางคนที่รู้ว่าเครื่องบินกำลังตก รถกำลังพุ่งชนคันหน้า ในชั่วไม่กี่วินาทีที่เหลืออยู่ ทำใจพร้อมรับความตายโดยดุษณี ไม่คิดต่อสู้ขัดขืน ปล่อยวางทุกอย่าง กลับพบว่าจิตใจนิ่งสงบอย่างยิ่ง
คนเรากลัวตายด้วยหลายสาเหตุ กล่าวคือ ความตายนอกจากจะมาพร้อมกับความเจ็บปวด และทำให้เราพลัดพรากไปตลอดกาลจากบุคคลและสิ่งอันเป็นที่รักแล้ว ความตายยังหมายถึงการสิ้นสุดโอกาสที่จะได้เสพสุข ในยุคบริโภคนิยมซึ่งถือว่าการเสพสุขเป็นสุดยอดปรารถนาของชีวิต อย่าว่าแต่การหมดโอกาสที่จะได้ทำเช่นนั้นเลย แม้เพียงการไม่สามารถที่จะเสพสุขอย่างเต็มที่ จะเป็นเพราะความชรา ความเจ็บป่วย ความพิการ หรือความผันแปรของร่างกาย (เช่น เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ) ก็ตาม ถือว่าเป็นทุกข์มหันต์อันยากจะทำใจได้
อย่าง ไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้คนที่ไร้ญาติขาดมิตร ยากจนแสนเข็ญ และกำลังประสบทุกขเวทนาอย่างแรงกล้าเพราะป่วยหนักในระยะสุดท้าย จำนวนมากก็ยังกลัวตาย ทั้งๆ ที่ตอนนั้นโอกาสเสพสุขแทบจะไม่มีเลย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะยังมีความหวังว่าจะหายป่วยและกลับไปเสพสุขใหม่ แต่อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะยังมีความหวงแหนในชีวิต แม้สิ้นไร้ไม้ตอกเพียงใดก็ยังมีชีวิตเป็นสมบัติสุดท้ายที่อยากยึดเอาไว้อยู่
มอง ให้ลึกกว่านั้นก็คือ ยังมีความยึดติดในตัวตน แม้ไม่มีอะไรหลงเหลือในชีวิต แต่ก็ยังมีตัวตนให้ยึดถือ หากตัวตนดับสูญเสียแล้ว จะมีอะไรทุกข์ไปกว่านี้ ในอดีตอิทธิพลทางศาสนาทำให้ผู้คนเชื่อว่าแม้หมดลมแล้ว ตัวตนก็ยังไม่ดับสูญ หากยังสืบต่อในโลกหน้า หรือมีสวรรค์เป็นที่รองรับ จึงไม่หวาดกลัวความตายมากนัก ตรงข้ามกับคนสมัยนี้ ซึ่งไม่ค่อยเชื่อในโลกหน้าหรือชีวิตหน้าแล้ว ความตายจึงหมายถึงการดับสูญของตัวตนอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง แต่สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่ามีอะไรอยู่หลังความตาย ความตายก็ยังน่ากลัวอยู่นั่นเอง เพราะไม่รู้ว่าตายแล้วจะไปไหน อะไรที่เราไม่รู้ ดำมืด ย่อมเป็นสิ่งที่น่ากลัวอยู่เสมอ
ตราบใดที่ ความตายเป็นสิ่งลี้ลับแปลกหน้า มันย่อมน่ากลัวสำหรับเรา แต่เมื่อใดที่เราคุ้นชินกับความตาย มันก็ไม่น่ากลัวอีกต่อไป ความตายก็เช่นกัน การเตรียมใจรับมือกับ ความตายที่ดีที่สุดคือ การทำใจให้คุ้นชินกับมันเป็นเบื้องแรก เพื่อมิให้มันเป็นสิ่งแปลกหน้าสำหรับเราอีกต่อไป เราสามารถทำใจให้คุ้นชินกับความตายได้ด้วยการระลึกนึกถึงความตายอยู่เสมอ นั่นคือเจริญ "มรณสติ" อยู่เป็นประจำ
การเจริญมรณสติ คือ การระลึกหรือเตือนตนว่า
(1) เราต้องตายอย่างแน่นอน
(2) ความตายสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ อาจเป็นปีหน้า เดือนหน้า พรุ่งนี้ คืนนี้ หรืออีกไม่กี่นาทีข้างหน้าก็ได้ เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้ว ก็ต้องสำรวจหรือถามตนเองว่า
(3) เราพร้อมที่จะตายหรือยัง เราได้ทำสิ่งที่ควรทำเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง และพร้อมที่จะปล่อยวางสิ่งทั้งปวงแล้วหรือยัง
(4) หากยังไม่พร้อม เราควรใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เร่งทำสิ่งที่ควรทำให้เสร็จสิ้น อย่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่า หาไม่แล้ว เราอาจไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งเหล่านั้นเลยก็ได้
ข้อ (1) และ (2) คือความจริงหรือเป็นกฎธรรมชาติที่เราไม่อาจปฏิเสธหรือขัดขืนต้านทานได้ ส่วนข้อ (3) และ (4) คือสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่เราจะจัดการได้ เป็นการกระทำที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราโดยตรง
การระลึก หรือเตือนใจเพียง 2 ข้อแรกว่า เราต้องตายอย่างแน่นอน และจะตายเมื่อไรก็ได้ หากทำอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เราตื่นตระหนกน้อยลงเมื่อความตายมาปรากฏอยู่เบื้องหน้า เพราะเตรียมใจไว้แล้ว แต่ทันทีที่เราตระหนักว่าความตายจะทำให้เราพลัดพรากจากทุกสิ่งที่มีอยู่ อย่างสิ้นเชิง ในชั่วขณะนั้นเอง หากเราระลึกขึ้นมาได้ว่ามีบางสิ่งบางคนที่เรายังห่วงอยู่ มีงานบางอย่างที่เรายังทำไม่แล้วเสร็จ หรือมีเรื่องค้างคาใจที่ยังไม่ได้สะสาง ย่อมเป็นการยากที่เราจะก้าวเข้าหาความตายได้โดยไม่สะทกสะท้าน ยิ่งความตายมาพร้อมกับทุกขเวทนาอันแรงกล้า หากไม่ได้ฝึกใจไว้เลยในเรื่องนี้ ก็จะทุรนทุรายกระสับกระส่ายเป็นอย่างยิ่ง เพราะไหนจะถูกทุกขเวทนาทางกายรุมเร้า ไหนจะห่วงหาอาลัยหรือคับข้องใจสุดประมาณ ทำให้ความตายกลายเป็นเรื่องทุกข์ทรมานอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ลำพังการ ระลึกถึงความตายว่าจะต้องเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว จึงยังไม่เพียงพอ ควรที่เราจะต้องพิจารณาต่อไปด้วยว่า เราพร้อมจะตายมากน้อยแค่ไหน และควรจะทำอย่างไรกับเวลาและชีวิตที่ยังเหลืออยู่ การพิจารณา 2 ประเด็นหลังนี้จะช่วยกระตุ้นเตือนให้เราไม่ประมาทกับชีวิต เร่งทำสิ่งที่ยังค้างคาอยู่ให้แล้วเสร็จ ไม่ผัดผ่อนไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็
เห็นความสำคัญของการฝึกใจให้ปล่อยวางบุคคลและสิ่งต่างๆ ที่ยังยึดติดอยู่การเจริญมรณสติ รวมทั้งการฝึกตาย หากทำอย่างสม่ำเสมอมากเท่าไร จะมีผลดีต่อจิตใจมากเท่านั้น วิธีที่จะทำให้การฝึกตายเป็นไปอย่างสม่ำเสมอก็คือการทำให้เป็นส่วนหนึ่งของ ชีวิต "ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ" ได้เสนอแนะวิธีการการฝึกตายที่กลมกลืนไปกับการดำเนินชีวิต นั่นคือ "ตายก่อนตาย" หมายถึง ฝึกการตายจากกิเลส หรือตายจากการยึดมั่นในตัวตน คือทำให้ตัวตนตายไปก่อนที่จะหมดลมตัว ตนนั้นมิได้มีอยู่จริง
หากเกิดจากการปรุงแต่งของใจ เมื่อเกิดความสำคัญมั่นหมายในตัวตนแล้ว ก็จะเกิดการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ ตามมาว่าเป็น "
ตัวกู ของกู" ไม่ว่าทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง ความสำเร็จ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่จำกัดเฉพาะสิ่งที่พึงปรารถนา
แม้สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาก็ยังอดยึดไม่ได้ว่าเป็น "ตัวกู ของกู" ด้วยเหมือนกัน เช่น ความโกรธ (ของกู) ความเกลียด (ของกู) ศัตรู (ของกู) ความยึดมั่นในตัวกูของกูนี้เองที่ทำให้เรากลัวความตายเป็นอย่างยิ่ง เพราะความตายหมายถึงการพลัดพรากสูญเสียไปจากสิ่งทั้งปวง และสิ่งที่เรากลัวที่สุดคือ พลัดพรากจากตัวตนหรือการดับสูญของตัวตน
เมื่อ ใดก็ตามที่เราสามารถปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนได้ ความตายก็จะไม่น่ากลัวอีกต่อไป เพราะจะไม่มีความพลัดพรากสูญเสียใดๆ เลย ในเมื่อไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย ที่สำคัญที่สุดคือไม่มี "เรา" ตาย เพราะตัวเราไม่มีตั้งแต่แรกแล้ว ด้วยเหตุนี้การฝึกใจให้ปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน จึงเป็นวิธีเตรียมตัวตายที่ดีที่สุด
"ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ" ได้แนะนำวิธีปฏิบัติหลายประการเพื่อการละวางตัวตน วิธีหนึ่งก็คือฝึก "ความดับไม่เหลือ"กล่าวคือ ทุกเช้าหรือก่อนนอนให้สำรวมจิตเป็นสมาธิ แล้วพิจารณาให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นเรา หรือของเรา แม้แต่สักอย่างเดียว
รวมทั้งพิจารณาว่า การ "เกิด" เป็นอะไรไม่ว่าเป็นแม่ เป็นลูก เป็นคนรวย เป็นคนจน เป็นคนดี เป็นคนชั่ว เป็นคนสวย เป็นคนขี้เหร่
ก็ล้วนแต่มีทุกข์ทั้งนั้น "เกิด" ในที่นี้ท่านเน้นที่ความสำคัญมั่นหมายหรือติดยึดว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เมื่อเห็นแล้วให้ละวางความสำคัญมั่นหมายดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิด "ตัวกู" ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (
แต่การทำหน้าที่ตามสถานะหรือบทบาทดังกล่าวก็ยังทำต่อไป) เป็นการน้อมจิต
สู่ความดับไม่เหลือแห่งตัวตนเมื่อทำจนคุ้นเคย ก็นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เมื่อใดที่ตาเห็นรูป หรือหูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัส หรือจิตนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมา
ก็ให้มีสติเท่าทันทุกคราวที่ "ตัวกู" เกิดขึ้น นั่นคือ เมื่อเห็น ก็สักว่าเห็น ไม่มี "ตัวกู" ผู้เห็น เมื่อโกรธ ก็เห็นความโกรธเกิดขึ้น ไม่มี "ตัวกู" ผู้โกรธ เป็นต้น การปฏิบัติดังกล่าวเป็นไปเพื่อดับ "ตัวกู" ไม่ให้เหลือ
ซึ่งก็คือ ทำให้ตัวกูตายไปก่อนที่ร่างกายจะหมดลม หากทำได้เช่นนั้นความตายก็ไม่น่ากลัวอีกต่อไป หรือกล่าวอย่างถึงที่สุด ความตายก็ไม่มีด้วยซ้ำ เพราะไม่มีผู้ตายตั้งแต่แรก ดังนั้น จึงเท่ากับเป็นวิธีเอาชนะความตายอย่างแท้จริงแต่ ถึงแม้ตัวกูจะไม่ตายไปอย่างสิ้นเชิง ยังมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูอยู่ เมื่อจวนเจียนจะตาย "ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ" ได้แนะนำให้น้อมจิตสู่ความดับไม่เหลือเช่นเดียวกัน
นั่นคือละวางความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงว่าเป็นตัวกูของกู วิธีการนี้ท่านเปรียบเสมือน "ตกกระไดแล้วพลอยกระโจน" กล่าวคือ เมื่อร่างกายทนอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว จิตก็ควรกระโจนตามไปด้วยกัน ไม่ห่วงหาอาลัยหรือหวังอะไรอย่างใดอีกต่อไป ไม่คิดจะเกิดที่ไหนหรือกลับมาเกิดใหม่อีกต่อไป
นาที สุดท้ายของชีวิตเป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่จิตจะปล่อยวางตัวกูเพื่อหลุดพ้นจาก ความทุกข์อย่างสิ้นเชิง จึงนับว่าเป็น "นาทีทอง" อย่างแท้จริง
ที่มา board.palungjit.com/พระไพศาล วิสาโล