ครม.ไฟเขียว ห้ามโทรทวงหนี้หลัง 2 ทุ่ม ห้ามข่มขู่ลูกหนี้
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
http://hilight.kapook.com/view/52043 ครม. มีมติผ่านร่างกฎหมายควบคุมธุรกิจทวงหนี้ ย้ำบริษัททวงหนี้ต้องจดทะเบียน ห้ามข่มขู่ โทษหนักคุก 3 ปี ปรับ 3 แสน
กรณีการ ติดตามทวงหนี้ที่เจ้าหนี้มักข่มขู่ลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวาจา การใช้กำลัง ทำให้ลูกหนี้เกิดความเสียหายและไม่สะดวกใจ จึงทำให้กระทรวงการคลังได้มีการร่างพระราชบัญญัติขึ้นเพื่อให้มีการควบ คุมธุรกิจทวงหนี้ให้เหมาะสม
ทั้งนี้นายกรณ์ จาติกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติทวงหนี้อย่างเป็นธรรม ตามที่ทางกระทรวงการคลังได้เสนอ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการทวงหนี้ เพราะบริษัทส่วนใหญ่มักใช้บริการจาก บริษัทรับจ้างทวงหนี้ ซึ่งถือเป็นบุคคลที่อยู่นอกเหนือประกาศจากธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากประกาศดังกล่าวครอบคลุมแค่สถาบันการเงิน
ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ชี้แจงว่า การ ร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้น ก็เพื่อควบคุมให้บริษัททวงหนี้ทั้งหมด อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่และมีการจดทะเบียนถูกต้อง โดยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและข้อห้ามต่าง ๆ ดังนี้
1. ต้องขึ้นทะเบียนกิจการทวงหนี้
2. ให้ติดต่อลูกหนี้ได้ในเวลา 08.00 – 20.00 น. ยกเว้นวันหยุดราชการให้ติดต่อได้ไม่เกิน 18.00 น.
3. ห้ามติดต่อลูกหนี้ทางไปรษณียบัตร
4. ห้ามใช้ภาษา หรือสัญลักษณ์ ที่บ่งบอกให้เห็นว่าเป็นการทวงหนี้บนซองจดหมายหรือหนังสือที่ให้กับลูกหนี้
5. ห้ามทวงหนี้เกินกว่าเหตุ และก่อความรำคาญ หรือโทรวันละหลายครั้ง
6. ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น เสียดสี ถากถาง กับผู้ที่เป็นลูกหนี้
7. ห้ามเปิดเผยข้อมูลลูกหนี้ให้กับบุคคลอื่น
8. ห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมทวงหนี้
หากทำผิดกฎข้อบังคับมีโทษดังนี้
1. ปรับไม่เกิน 300,000 บาท จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
2. เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการทวงหนี้
ขณะเดียวกันมีการตั้งคณะกรรมการติดตามหนี้สิน โดยมีประธานคือ ปลัดกระทรวงการคลัง และมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ , ปลัดกระทรวงยุติธรรม , เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค , เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รวมถึง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นคณะกรรมการ
โดย นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว น่าจะช่วยแก้ปัญหาการติดตามทวงหนี้ ที่อยู่เหนือความควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ เพราะกฎหมายที่มีอยู่ ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถควบคุมดูแลได้เพียงแค่สถาบันการเงินเท่านั้น จึงต้องมีกฎหมายใหม่มาคุ้มครอง
ทั้งนี้ การทวงหนี้ที่มากเกินกว่าเหตุ ผู้ทวงหนี้ยังผิดกฎหมายอาญา เช่น มาตรา 323 มาตรา 326 มาตรา 327 มาตรา 328 มาตรา 337 เป็นต้น และอาจถูกดำเนินคดีจำคุก 5 ปีอีกด้วย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก คมชัดลึก
.
.