ผู้เขียน หัวข้อ: ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร ( พระสูตร ที่ผู้หญิงควรอ่าน )  (อ่าน 4799 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
พระสูตรมหายาน
ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร

ฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์ แปลจากภาษาอังกฤษ

ส่วนที่นำลงในเวปนี้คัดลอกเฉพาะพระสูตร และบทนำ ต้นฉบับหนังสือนี้ มีอรรถกถาซึ่งแยกแยะและให้รายละเอียดอย่างชัดเจนและง่ายต่อการเข้าใจอย่างดีเยี่ยม สำหรับผู้สนใจหาชื้อหนังสือ ศรีมาลาเทวีสีนาทสูตร ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์  แปลจากภาษาอังกฤษ ตามร้านหนังสือทั่วไป หรือที่วัดทรงธรรมกัลยาณี นครปฐม

บทนำ

       ศรีมาลาฯ เป็นพระสูตรมหายานที่รจนาขึ้นหลังจากมี ปรัชญาปารมิตาสูตร ซึ่งเป้นพระสูตรหลังได้ไม่นาน งานสำคัญที่สุดในกลุ่มนี้ ได้แก่ อัษฏสาหัสริกา ซึ่งรจนาขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 100 ก่อน ค.ศ.-ค.ศ.200 พระสูตรมหายานแรกๆนั้น กล่าวถึงทฤษฎีทวิกายของพระพุทธเจ้า ได้แก่ รูปกายหมายถึงกายของพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นในโลก และธรรมกายซึ่งเป็นพุทธภาวะส่วนใหญ่ของพระสูตรนี้ กล่าวถึงทฤษฎีทวิกายที่กล่าวถึงนี้ และพระนางศรีมาลาเทวีได้ตรัสสรรเสริญสามเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "รูปกายของพระองค์ และความรู้อยู่เหมือนจินตนาการ พุทธภาวะของพระองค์ไม่เสื่อมสูญ จึงสมควรที่จะยึดพระองค์เป็นสรณะพระมุนีเจ้า" พระสูตรมหายานในสมันต่อมาเช่น อวตังสกะ(ค.ศ.200-400) และลังกาวตารสูตร (ค.ศ.400) ได้แบ่งแยกรูปกายออกไปอีกเป็น สัมโภคกายและนิรมานกาย ศรีมาลาฯ ไม่ได้กล่าวถึงทฤษฎีตรีกาย แต่อาจเป็นไปได้ว่าอยู่ในสมัยเดียวกับพระสูตรที่เริ่มมีการพัฒนาทฤษฎีตรีกายแล้ว  ลังกาวตารสูตร บ่งชี้ชัดถึงกำเนิดของศรีมาลาฯ เพราะในลังกาวตารสูตรนั้น มีการอ้างถึงศรีมาลาฯ

       ข้อบ่งชี้อีกประการหนึ่ง คือการยกย่องศรีมาลาเทวีว่าเป็นกุลธิดาควบคู่กันไปกับกุลบุตร แสดงให้เห็นถึงสมัยที่คณะสงฆ์ต้องพึ่งพาอาศัยราชนิกูล ราชินี และภรรยาขุนนางในตำแหน่งสูง แม้ประวัติศาสตร์อินเดียในสมัยนี้จะกระท่อนกระแท่น บริเวณที่น่าจะเป็นได้มากที่สุดคืออินเดียใต้ โดยเฉพาะอัธระซึ่งมีปูชนียสถานสำคัญทางฝ่ายพุทธ ได้แก่อมรวดีและนาคารชุนนิคณฑ์ ดังที่นักประวัติศาสตร์อินเดียคุ้นกันดีว่าหลังจากที่สาตวาหน จกรวรรดิอินเดียใต้สิ้นสุดลงใน ค.ศ.220 ก็มีการแบ่งแยกเป็นอาณาจักรใหญ่น้อย รวมทั้งอีกษวากุในอันธรประเทศ อาจารย์เอ็น ศาสตรี เขียนว่า

       " พวกอีกษวากุ ปกครองทางด้านกฤษณะคุนตุร...มีกษัตริย์ปกครอง 7พระองค์ ภายในเวลา 57 ปี แต่มีเพียงบางองค์เท่านั้นที่ปรากฏพระนามในศิลารึก...วาสิฐีบุตร ศิริ ชานตมูล ปฐมกษัตริย์ทรงทำพิธีอัศวเมธ และวาชเปยสังเวย ในรัชสมัยของพระโอรสของพระองค์คือ พระเจ้าวีรปุริสทาต พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก เช่นเดียวกับด้านการฑูต พระองค์ได้มเหษีจากราชวงศ์ศัก แห่งแคว้นอุชเชน และพระราชทานพระราชธิดาให้แก่เจ้าชายชุตุ เจ้านายฝ่ายหญิงในราชสำนักส่วนใหญ่เป็นพุทธ พระเจ้าป้าของพระเจ้าวีรปุริสทาตทรงสร้างมหาสถูปที่นาครชุนนิคณฑ์ เพื่อบรรจุธาตุของอาจารย์ นอกจากนั้นยังได้ทรงสร้างวัดวิหารและมณฑป กรณยกิจของพระนางเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติแก่พระราชวงศ์ฝ่ายหญิงทั้งหลาย และดังที่เราได้ทราบจากการกล่าวถึงของโพธิศิริ หญิงชาวเมืองคนหนึ่ง"

       ในการพัฒนาสถูปอมราวตีที่ปากแม่น้ำกฤษณะในคริสต์ศตวรรษที่ 1 และ 2 โรว์แลนด์ได้บันทึกว่า "มีข้อบ่งชี้ที่แสดงว่า สถาบันพุทธศาสนาได้รับการสนับสนุนจากบรรดาพระราชินี ขณะที่พระเจ้าแผ่นดินเองเป็นฮินดู" เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเหล่านี้ อาจทำความเข้าใจได้ว่าส่วนหนึ่ง ศรีมาลาฯ คงเขียนขึ้นเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติพระราชินีและเจ้านายฝ่ายหญิง ที่เป็นกำลังสำคัญทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งในอินเดียใต้ ดังนั้น เราจึงกำหนดว่า ศรีมาลาฯเป็นงานที่รจนาขึ้นในรัชสมัยของอีกษวากุ ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 3 ข้อเสนอแนะนี้บ่งชี้ว่า ตถาคคตครรภ์สูตร อื่นๆคงรจนาขึ้นในสมัยเดียวกันในบรเวณกฤษณะคุณตุรนี้

       บาโรอ้างถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาอันธระในคริสต์ศตวรรษที่ 3 ว่า เป็นนิกายมหาสังฆิกะที่แยกมาในสมัยหลัง คือ พวกปูรวไศละและอุตตรไศละ ศิลาจารึกในปีที่ 14 ของพระเจ้ามาเธรีปุต กษัตริย์อีกษวากุ ได้กล่าวถึงพวกนี้ ศิลาจารึกในศตวรรษที่ 2 และ 3ค้นพบที่เมืองอมราวดี และที่นาคารชุนนิคณฑ์ ระบุถึงนิกายย่อย 2 นิกายนี้ด้วย และกล่าวถึงนิกายย่อยไตตียะ ซึ่งเกิดขึ้นต่อมา เมื่อพระถังซำจั๋งสมณะจีนเดินทางมายังดินแดนแถบนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 พุทธศาสนาเรื่มเสื่อมแล้ว แต่ท่านยังพบว่ามีพระนิกายมหาสังฆิกะถึง 1000 รูปกระจากกันอยู่ในวัด 20 วัด ใกล้เมืองธัณยกฏกะ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของอมราวตี

       ถ้าเรายอมรับว่า ศรีมาลาฯเป็นงานที่รจนาขึ้นในคริศต์ศตวรรษที่ 3 สมัยอันธระ และเราทราบว่า นิกายมหาสังฆิกะเป็นนิกายที่มีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่า ศรีมาลาฯ เป็นงานมหายานที่เกิดจากนิกายมหาสังฆิกะรุ่นต่อมา โชคดีที่มีมหาวัสตุ ซึ่งเป็นงานของนิกายโลกุตตรวาท ซึ่งเป็นนิกายย่อยของมหาสังฆิกะเหลืออยู่ เมื่อนำ ศรีมาลาฯ ไปเปรียบเทียบกับงานชิ้นนี้จึงพบว่า มหาวัสตุ มีคำอธิบายบางตอนที่นำมาอธิบายข้อความในศรีมาลาฯ ที่เข้าใจยากได้ดีทีเดียว เช่นคำว่า "กายอันเกิดจากจิต" และ การเปลี่ยนแปลงอันไม่อาจหยั่งถึง" และการอธิบายถึงขั้นต่างๆในโพธิสัตต์ภูมิ ที่ศรีมาลาฯ เปรียบกับการสละกาย ลมปราณ และสมบัติ ในตอนต้นของมหาวัสดุ อธิบายถึงงานของพระโพธิสัตต์ ซึ่งสอดคล้องเป็นอันดีกับบทแรกของศรีมาลาฯ ซึ่งได้รวมเอาไว้ซึ่งประเด็นหลักของมหาสังฆิกะ เราจึงสรุปว่า ศรีมาลาฯเป็นผลิตผลของนิกายมหาสังฆิกะ ในคริสต์ศตวาษที่ 3 สมัยอันธระ

       ผู้แต่งไม่ปรากฏนามซึ่งได้รจนาพระสูตรมหายานเช่นนี้ ได้สมมุติตัวเอกของเรื่องเป็นพระเทวีชาวพุทธ ในสมัยพุทธกาล แต่พระนางมีตัวตนในประวัติศาสตร์หรือไม่ พระราชบิดาและพระมารดา คือพระเจ้าประเสนจิตแห่งแคว้นโกศล และพระนางมัลลิกา ทั้งสองพระองค์เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกับพระพุทธองค์ พระนามของพระเจ้าแผ่นดินนั้นเขียนว่า ปเสนทิตามแบบบาลี พระนางมัลลิกาเป็นธิดาผู้เลอโฉมของหัวหน้าช่างผู้ร้อยดอกไม้แคว้นโกศล  เมื่อนางได้เฝ้าพระพุทธเจ้าและถวายผลส้มแก่พระองค์ พระพุทธองค์ทรงแย้มพระสรวลและตรัสทำนายแก่พระอานนท์ว่า ต่อไปนางจะเป็นพระมเหษีในพระราชาแคว้นโกศล วันเดียวกัน พระเจ้าปเสนทิทรงทำศึกพ่ายแพ้พระเจ้าอชาตศัตรู พระองค์เสด็จไปในอุทยานนางได้ปลอบประโลมพระทัยพระองค์ เย็นวันนั้น เมื่อพระองค์ทรงส่งราชรถมารับและยกย่องนางเป็นมเหษีเอกของพระองค์ มาลาลเสกระได้อธิบายว่า "พระนางมัลลิก่าทรงมีพระธิดา ไม่มีการกล่าวถึงพระโอรส ทำให้พระเจ้าปเสนทิทรงเสียพระทัย แต่พระพุทธองค์พระราชทานความมั่นพระทัยว่า บางครั้งสตรีนั้นชาญฉลาดกว่าบุรุษด้วยซ้ำไป" คำที่ทำให้เชื่อว่าเป็นพระธิดาคือคำว่า "วชิรี หรือวชิรา" ซึ่งใช้ในตอนที่กล่าวถึงพระราชธิดาองค์เดียวของพระเจ้าปเสนทิพบในมัชฌิมนิกาย มาลาลเสกระอธิบายถึงวชิรกุมารีว่า "เมื่อการศึกระหว่างพระเจ้าปเสนทิกับพระเจ้าอชาตศัตรูยุติลง พระเจ้าปเสนทิทรงมอบวชิราให้อภิเษกกับพระเจ้าอชาตศัตรู และทรงยกหมู่บ้านในแคว้นกาสี อันเป็นเหตุแห่งความบาดหมางนั้นให้เป็นของขวัญการอภิเษก" ซึ่งหมายความว่า การทำศึกต่อเนื่องกันหลายครั้งระหว่างพระเจ้าปเสนทิและพระเจ้าอชาตศัตรูนั้นยืดเยื้อมาตั้งแต่ก่อนพระนางวชิราประสูติ จนกระทั่งพระนางเจริญพระชันษาควรแก่การอภิเษก ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็มีความเป็นไปได้ในทางประวัติศาสตร์ มีวชิราอีกคนหนึ่งเป็นภิกษุณีและมีการกล่าวถึงบ่อยครั้ง แต่อรรถกถาจารย์ไม่คิดว่าเป็นองค์เดียวกับพระราชธิดาของพระเจ้าปเสนทิ

       อย่างไรก็ดี อโยธยาซึ่งในศรีมาลาฯ กล่าวว่าเป็นเมืองหลวงของพระนางศรีมาลาฯ และพระเจ้ายโศมิตร ไม่มีความสัมพันธ์กับพระเจ้าอชาตศัตรู ผู้ทรงมีเมืองราชคฤห์เป็นเมืองหลวงในแคว้นมคธ นอกจากนั้น ทั้งพระนามศรีมาลาและยโศมิตร ไม่ปรากฏในฝ่ายบาลี ดูเหมือนว่าเมืองอโยธยาของพระเจ้ายโศมิตรและพระนางศรีมาลาจะเป็นจินตการของผู้รจนาเอง

       พระนางศรีมาลาในพระสูตรนี้ย่อมสัมพันธ์กับพระนามพระมารดาคือพระนางมัลลิการ อาจย้อนไปถึงเหตุการณ์ครั้งแรกที่พระเจ้าปเสนทิได้ทรงพบกาบมัลลิกาในอุทยาน ในอรรถกถาของจี้ซัง(น6)และพจนานุกรมของโมชิสุกิ(น.2775a) ได้กล่าวถึงทฤษฎีต่างๆโดยเฉพาะ 2 ทฤษฎี ที่กล่าวถึงว่า เมื่อพระนางประสูตินั้น ประชาชนต่างพากันยินดีนำพวงมาลาซึ่งประดับด้วยเพชรนิลจินดามาถวาย พระเจ้าปเสนทิทรงชื่นชมในคุณธรรมและสติปัญญาของพระนาง จึงทรงเรียกขานพระนางว่า "ศรีมาลา" หมายความว่า ขณะที่คนอื่นสวมใส่มาลา แต่พระธิดาของพระองค์นั้น เป็นมาลาทีเดียว และด้วยเหตุนี้จึงเป็นมาลาที่ประเสริฐกว่ามาลาทั้งปวง ในความหมายตามทฤษฎีที่สองนี้ สอดคล้องกันเนื้อหาของพระสูตร เพราะได้มีการกล่าวถึงผู้ที่ปฏิบัติตามพระธรรมอันประเสริฐนั้น ย่อมเป็นผู้ทรงไว้ด้วยธรรมอันประเสริฐนั้น

       โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่าพระสูตรนี้มีพื้นฐานจากกึ่งประวัติศาสตร์ และกึ่งจินตนาการ

ชื่อพระสตูร

       ได้มีการกล่าวถึงพระสูตรนี้ในวรรณคดีสันสกฤตต่างๆกัน ดังนี้

       1 ในลังการวตารสูตร เรียกว่า "ศรีมาลังเทวี อธิกฤตยะ " (เรื่องราวเกี่ยวกับพระนางศรีมาลาเทวี)

       2 ในมหายานสูตราลังการ เรียกว่า "ศรีมาลาสูตร"

       3ในรัตนโคตรวิภาค เรียกว่า "อารยศรีมาลาสูตร"

       4 ในศึกษาสมุจจัย ของศานติเทวะเรียกว่า "ศรีมาลาสิงหนาทสูตร"

       เราจะสังเกตได้ว่ามีแนวโน้มที่จะทำให้ชื่อของพระสูตรนี้ยาวขึ้น

       ชื่อเรียงภาษาสันสกฤตที่ปรากฏในคัมภีร์ฝ่ายธิเบต แสดงถึงว่าได้มีการดัดแปลงงาน รัตนกูฏ ในอินเดียสมัยที่แปลเป็นภาษาธิเบต ใช้ชื่อว่าอารยศรีมาลาเทวีสีหนาท นามมหายานสูตร (แปลว่า มหายานสูตรที่มีชื่อว่า ศรีมาลาเทวีสีหนาท)

       ฉบับของคุณภัทรที่แปลเป็นภาษาจีน ใช้ชื่อว่า ศรีมาลาสีหนาท เอกยาน เอกสัจวิธีบรรลือไกลสูตร ในอรรถกถาของเจ้าชายโชโตกุ ใช้ชื่อสองจากสิบหกชื่อที่ปรากฏในบทสุดท้ายของพระสูตร ชื่อทั้งสองปรากฏดังนี้ "เกาศิกะ ขอจงรักษานามไว้ว่า ศรีมาลาเทวีสีหนาทและเก็บคำอธิบายทั้งมวลที่ปรากฏในพระสูตร เป็นเครื่องกำจัดคความสงสัย พินิจความหมายในประการสุดท้าย และเข้าสู่เอกมรรค" ดังนั้น เราจึงควรทำความเข้าใจชื่อในภาษาจีนว่า "เอกยาน-มหาวิธี" ว่าหมายความถึง "มหาสัจวิธีแห่งเอกยาน" ประโยคที่ว่า เป็นเครื่องกำจัดความสงสัย" และพินิจความหมายในประการสุดท้าย" อาจย่อลงเหลือเพียง "บรรลือไกลสูตร"

       ฉบับแปลของโพธิรุจิ(ไตโช V. II672, NO310-48)ในรัตนกูฏ ใช้ชื่อง่ายๆว่า สภาศรีมาลาเทวี คำว่า "สภา" ในในความหมายของพระสูตร เพราะคัมภีร์แต่ละคัมภีร์ในรัตนกูฏ ฉบับภาษาจีนเรียกว่า สภา และศรีมาลาฯ เป็นคัมภีร์ที่ 48

       นอกจากนั้น ในอรรถกถาของจีน ชื่อพระสูตรตามฉบับของคุรภัทร ย่อลงมาอีก 6 แบบ แบบที่สั้นที่สุด คือ ศรีมาลาสูตร (เฉิงมันจิง)

       ฉบับแปลภาษาจีนของคุณภัทร ได้มีการแปลถ่ายทอดเป็นภาษาญี่ปุ่น โดย โกโยซาไกโนะ ในโคคุยาคุ ได้โซเคียว และแปลโดย ไซจุน ฮาสุซาวะ ในโคคุยาคุ อิสโซเคียว โดยใช้ชื่อตามฉบับจีน โชมัน ชิชิคุอิชิโ ไดโอเบ็น โฮโคะเคียว ชื่อสันที่สุดเป็นโชมันเคียว(ศรีมาลาสูตร)

       ดูเหมือนว่า ตามที่เรากำหนดให้เป็นคริสต์ศตวรรษที่ 3 คงจะเป็นการเพียงพอที่จะเรียกว่า ศรีมาลาสูตร จะเป็นมหายานสูตรฉบับแรกของนิกายนี้ ต่อมาเมื่องานนี้เผยแพร่ออกไปจนได้รับการยกย่องในหมู่ชาวพุทธมหายานทั่วไป ได้รับการกล่าวอ้างถึงบ่อยขึ้นและกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานชิ้นต่างๆในขณะที่ชื่อของพระสูตรก็เริ่มยาวขึ้น

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร

พระสูตรมหายาน

ภาษาอังกฤษแปลจากต้นฉบับเดิม ในภาษาธิเบต จีน ญี่ปุ่น และชิ้นส่วนภาษาสันสกฤต

บทนำ

       ตามที่ข้าฯได้สดับมา สมัยที่พระพุทธองค์ประทับ ณ สวนเชตวัน ของอนาถปิณฑิกะเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี พระเจ้าปเสนจิต แห่ง แคว้นโกศล และพระนางมัลลิการ เพิ่งทรงหันมานับถือคำสอนของพระศาสดาได้ไม่นาน และขณะนี้ทรงสนทนากันอยู่

       "มหาราช ศรีมาลาเทวี ธิดาของเรานั้น มีปรีชาฉลาดลุ่มลึก หากเธอได้เฝ้าพระพุทธองค์ เธอคงสามารถเข้าใจพระธรรมได้โดยไม่ยากนัก และแน่นอน เธอคงได้เข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ โดยปราศจากข้อสงสัย"

       พระเจ้าปเสนจิต ตรัสกับพระนางมัลลิกาว่า

       "เราจะส่งข่าวเพื่อให้เธอเกิดความสนใจ"

       พระนางมัลลิกาน้อมรับว่า

       "ถูกแล้ว สมควรทีเดียว เพคะ"

       พระเจ้าปเสนจิตและพระนางมัลลิกา จึงทรงร่างพระราชสาสน์สรรเสริญพระบารมีอันไพศาลมิรู้จบของพระพุทธองค์ และทรงมอบให้จันทร์ผู้เป็นมหาอำมาตย์ เดินทางไปสู่พระราชวังเมืองอโยธยา และเข้าเฝ้าพระนางศรีมาลาฯเมื่อถวายพระพรและรับพรแล้วจึงได้ทูลเกล้าฯถวายพระราชสาสน์

บทที่ 1 ขจัดความสงสัยทั้งปวง

1       สรรเสริญพระบารมีอันไพศาลของพระตถาคตเจ้า

       พระนางศรีมาลาฯทรงยกพระราชสาสน์ขึ้นเหนือเศียรเกล้า ทรงระลึกถึงพระราชบิดา และพระราชมารดาโดยคราวะและยินดี เมื่อทอดพระเนตรความในพระราชสาสน์แล้ว ทรงเปล่งวาจาว่า "พระราชสาสน์มีความหมายเป็นมงคลยิ่ง" แล้วทรงยอพระราชสาสน์ขึ้นจบพระเศียรเปี่ยมด้วยความปีติและตรัสแก่มหาอำมาตย์จันทร์ ทั้งข้าราชบริพารอื่นว่า

       "กล่าวกันว่า พระสุรเสียงของพระพุทธเจ้านั้น ไม่มีผู้ใดเทียบในโลก ถ้าจริงเช่นนั้น ข้าฯ ขอรับใช้พระองค์ หากแม้พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์ของชาวโลกด้วยพระเมตตาของพระองค์ ขออัญเชิญพระพุทธองค์เสด็จมาโปรดข้าพระองค์ด้วยเทอญ"

       ทันใดนั้น พระพุทธเจ้าทรงปรากฏพระองค์อยู่ในอากาศ ณ เบื้องหน้าและพระนางทรงได้เห็นทิพยกายของพระพุทธเจ้าประทับลอยอยู่ ณ ที่นั้น มีฉัพพรรณรังสีบริสุทธิ์โดยรอบ พระนางศรีมาลาฯ พร้อมข้าราชบริพารต่างพากันน้อมก้มประนมกร  และพระนางตรัสสรรเสริญพระผู้ทรงเป็นครูสอนที่ประเสริฐสุด

       "พระพุทธองค์ ผู้ทรงมีพระกายและฉัพพรรณรังสีอันหาที่เปรียบมิได้ ข้าฯ ขอถวายสักการะแด่พระโลกนาถ ผู้หาที่เปรียบมิได้

       "พระกายและพระญาณของพระองค์มิอาจหยั่งได้ พุทธภาวะของพระองค์ไม่มีวันสูญสลาย  สมควรยิ่งที่จะระลึกถึงพระองค์เป็นสรณะพระมุนีเจ้า ด้วยอุปายะอันเปรียบมิได้ พระองค์ทรงชนะกิเลสทั้งในกายและจิต ข้าฯ ขอสักการะพระธรรมราช ผู้ทรงเข้าถึงในภูมิ โดยปราศจากความเสื่อม

       "พระองค์ผู้ทรงไว้ด้วยธรรมกาย ผู้ทรงหยั่งถึงในญาณ ข้าฯ ขอสักการะพระธรรมราช ผู้ทรงเข้าถึงในภูมิ โดยปราศจากความเสื่อม

       "พระองค์ผู้ทรงไว้ด้วยธรรมกาย ผู้ทรงหยั่งถึงในญาณ ข้าฯ ขอสักการะพระองค์ผู้ทรงเข้าถึงพุทธภาวะอันประเสริฐสุด

       "ขอน้อมสักการะต่อพระองค์ผู้ทรงเป็นนิรันดร์ ขอน้อมสักการะต่อพระองค์ผู้หาที่เปรียบมิได้ ขอน้อมสักการะต่อพระองค์ ผู้ทรงมีธรรมชาติอันมิอาจเทียบได้ ขอน้อมสักการะต่อพระองค์ผู้ทรงมีพระกายอันหาขอบเขตมิได้

       "ขอพระองค์โปรดพระราชทานความคุ้มครองแก่ข้าฯ ขอพีชะแห่งโพธิจงถึงซึ่งความสมบูรณ์โดยเร็ว ขอพระมหามุนีพระราชทานพรแก่ข้าฯ ทั้งในปัจจุบันชาติ และอนาคตชาติ"

       พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "เทวี ในอดีตชาติของพระนางนั้นตถาคตได้นำทางให้พระนางได้ปฏิบัติเพื่อการตรัสรู้ และในอนาคตชาติตถาคตจะคอยดูแลพระนางเช่นกัน" พระนางศรีมาลาฯ จึงกราบทูลว่า "กุศลที่ข้าฯ ได้บำเพ็ญแล้วทั้งในปัจจุบันชาติและอดีตชาติ ด้วยกุศลนั้น ขอให้ข้าฯ ได้เฝ้าพระตถาคตเจ้า และขอพระองค์ได้โปรดช่วยข้าฯ ด้วย"

       จากนั้น พระนางศรีมาลาฯ พร้อมข้าราชบริพารทั้งปวง ประคองอัญชลีน้อมถวายสักการะแทบเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระราชทานพุทธทำนาย ท่ามกลางธรรมสภาว่า พระนางศรีมาลาฯ จะทรงได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

       "เทวี ด้วยปัจจัยแห่งกุศลกรรมที่พระนางได้ทรงสร้างสม โดยการสรรเสริญคุณของพระตถาคตเจ้าในจำนวนกัปป์อันนับไม่ถ้วน พระนางได้ครองบรรลังก์ท่ามกลางทวยเทพ แลมนุษย์ทั้งหลาย และในทุกขาติ พระนางจะได้เฝ้าตถาคตเสมอ เช่นเดียวกับที่พระนางสวดสรรเสริญ ณ เบื้องหน้าตถาคต พระนางจะได้สรรเสริญต่อไป และพระนางจะได้มีโอกาสถวายเครื่องสักการะต่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายอันนับประมาณมิได้

       "เมื่อเวลาผ่านไป 20,000กัปป์ พระนางจะได้ตรัสรู้เป็นพระตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธสมันตปราปต์ ในสมัยนั้น พุทธเกษตร ของพระนางจะปราศจากมารร้ายทั้งปวง ยิ่งกว่านั้น สรรพสัตว์ทั้งหลายจะบำเพ็ญอยู่ในกุศลกรรมบถทั้ง 10 ประการ สรรพสัตว์เหล่านั้นย่อมปราศจากความเจ็บไข้ ความชรา หรือความกังวลใจ แม้ชื่อของอกุศลกรรมบถจะไม่มีการเอ่ยถึง

       "ผู้ใดที่อุบัติในพุทธเกษตรนั้น จะมีความสุขยิ่งกว่าเทวดาในสวรรค์ชั้นปรนิมิตวัสวติน มีรูปวรรณะงดงาม มีอายตนะสมบูรณ์ และมีความสุขอยู่ในประการทั้งปวง

       "พระเทวี สรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่อุบัติขึ้นในพุทธเกษตร ย่อมอยู่ในมหายานด้วย และเช่นเดียวกัน พระเทวี ในสมัยนั้น ผู้ที่ได้สร้างสมบารมีจะได้อุบัติในพุทธเกษตร"

       เมื่อพระนางศรีมาลาฯ ทรงได้ยินพุทธพยากรณ์ ทั้งทวยเทพและมนุษย์ อันประมาณมิได้ ต่างพากันปรารถนาที่จะไปเกิดในพุทธเกษตรและพระผู้มีพระภาคทรงมีพุทธพยากรณ์ว่า  พวกเขาทั้งหลายจะได้ไปเกิดในพุทธเกษตรนั้น

2 มหาทศปณิธาน

       จากนั้น เมื่อพระนางศรีมาลาฯ ทรงสดับพุทธพยากรณ์เกี่ยวกับพระนางเองจากพระโอษฐ์พระผู้มีพระภาคเจ้า พระนางทรงประนมพระหัตถ์น้อมสักการะ และทรงตั้งมหาทศปณิธานว่า

       1 พระผู้มีพระภาคเจ้า นับแต่นี้ไป จนกว่าข้าฯ จะได้บรรลุพระโพธิญาณ ข้าฯ จะขอยึดมั่นในปณิธานข้อแรกว่า ข้าฯ จักไม่ยอมให้เกิดความคิดใดอันเป็นการละเมิดศีล

       2 พระผู้มีพระภาคเจ้า นับแต่นี้ไป จนกว่าข้า จะได้บรรลุพระโพธิญาณ ข้าฯ จะขอยึดมั่นในปณิธานข้อที่สองว่า ข้าฯ จักไม่ยอมให้เกิดความคิดใดอันเป็นการไม่เคารพต่อครูผู้สอน

       3 พระผู้มีพระภาคเจ้า นับแต่นี้ไป จนกว่าข้า จะได้บรรลุพระโพธิญาณ ข้าฯ จะขอยึดมั่นในปณิธานข้อที่สามว่า ข้าฯ จักไม่ยอมให้มีความโกรธ ความมุ่งร้ายแก่สรรพสัตว์

       4 พระผู้มีพระภาคเจ้า นับแต่นี้ไป จนกว่าข้า จะได้บรรลุพระโพธิญาณ ข้าฯ จะขอยึดมั่นในปณิธานข้อที่สี่ว่า ข้าฯ จักไม่มีความริษยาในความเจริญรุ่งเรือง และในบารมีของผู้อื่น

       5 พระผู้มีพระภาคเจ้า นับแต่นี้ไป จนกว่าข้า จะได้บรรลุพระโพธิญาณ ข้าฯ จะขอยึดมั่นในปณิธานข้อที่ห้าว่า ข้าฯ จักไม่มีความมักได้ แม้จะได้อาหารจากการบิณฑบาตเพียงเล็กน้อยก็ตามที

       6 พระผู้มีพระภาคเจ้า นับแต่นี้ไป จนกว่าข้า จะได้บรรลุพระโพธิญาณ ข้าฯ จะขอยึดมั่นในปณิธานข้อที่หกว่า ข้าฯ จักไม่สะสมสมบัติเพื่อตัวข้าฯ เอง แต่จะใช้จ่ายเพื่ออนุเคราะห์คนยากไร้ และอนาถา

       7 พระผู้มีพระภาคเจ้า นับแต่นี้ไป จนกว่าข้า จะได้บรรลุพระโพธิญาณ ข้าฯ จะขอยึดมั่นในปณิธานข้อที่เจ็ดว่า ด้วยปัจจัย 4 แห่งการเป็นพุทธมามกะ ข้าฯ จักใช้เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ โดยมิใช่ชักชวนให้หันมานับถือพุทธศาสนาเพื่อผลประโยชน์แห่งข้าฯ ข้าฯ จักมุ่งชักชวนสรรพสัตว์สู่พุทธธรรม โดยไม่หวังลาภสักการะ อย่างไม่ท้อถอย

       8 พระผู้มีพระภาคเจ้า นับแต่นี้ไป จนกว่าข้า จะได้บรรลุพระโพธิญาณ ข้าฯ จะขอยึดมั่นในปณิธานข้อที่แปดว่า ในอนาคตเมื่อข้าฯ ได้ประสบกับสรรพสัตว์ ผู้ขาดเพื่อน ถูกจองจำ เจ็บไข้ อยู่ในความลำบาก ยากจนและทนทุกข์ ข้าฯจักไม่ละทิ้งเขาแม้ชั่วขณะ จนกว่าเขาจะได้รับความช่วยเหลือ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อได้เห็นเขาทนทุกข์ ข้าฯ จักช่วยให้เขาพ้นจากทุกข์ภัยเหล่านั้น เมื่อเห็นเขามีสุขแล้ว ข้าฯ จึงจะจากไป

       9 พระผู้มีพระภาคเจ้า นับแต่นี้ไป จนกว่าข้า จะได้บรรลุพระโพธิญาณ ข้าฯ จะขอยึดมั่นในปณิธานข้อที่เก้าว่า เมื่อข้าได้เห็นผู้ประกอบมิจฉาชีพ เช่น พ่อค้าสุกร ผู้ละเมิดพระธรรม และพระวินัย อันทรงแสดงแล้วโดยพระตถาคตเจ้า ข้าฯ จักไม่วางเฉย ไม่ว่าข้าฯ จะอยู่ในหมู่บ้าน ตำบล เขตหรือแคว้น จักทำลายสิ่งที่ควรทำลาย และทำนุบำรุงสิ่งที่พึงทำนุบำรุง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าโดยการทำลายแลทำนุบำรุง พระธรรมอันประเสริฐจึงจะสถิตในโลกได้ ทวยเทพและมนุษย์ย่อมคงอยู่ และมารร้ายย่อมมลายหายไป พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อกงล้อพระธรรมจักรเริ่มเคลื่อนแล้ว ย่อมจะได้หมุนต่อไป

       10 พระผู้มีพระภาคเจ้า นับแต่นี้ไป จนกว่าข้า จะได้บรรลุพระโพธิญาณ ข้าฯ จะขอยึดมั่นในปณิธานข้อที่สิบว่า เมื่อได้น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐแล้ว ข้าฯจักมิมีวันลืมแม้เพียงชั่วขณะความคิด เหตุใดหรือ  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หากแม้บุคคลลืมพระธรรมอันประเสริฐได้ เขาย่อมลืมมหายาน และหากเขาลืมมหายาน เขาย่อมลืมบารมี เมื่อลืมบารมีก็จะปล่อยวางมหายาน ข้าแต้พระผู้มีพระภาคเจ้า พระโพธิสัตต์มหาสัตว์ ผู้ยังไม่มั่นใจมหายาน  ย่อมละเลยในการปฏิบัติตามพระธรรมอันประเสริฐและหมกมุ่นอยู่กับความฟุ้งซ่านของตน ก็ย่อมเข้าสู่การบรรลุสภาพจิตวิญญาณที่ยังไม่พร้อมเช่นปุถุชนทั่วไป ข้อนี้ ข้าฯ เห็นว่าเป็นข้อด้อยและเป็นอันตรายยิ่ง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าฯ ได้เห็นว่าบารมีนั้น ยังประโยชน์แก่ข้าฯอย่างมหาศาล และยังประโยชน์ต่อพระโพธิสัตต์ทั้งหลายในอนาคตในการน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ และข้าฯขอยึดมั่นในปณิธานนี้ เพื่อการน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐนั้น

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าฯขอยึดมั่นในมหาทศปณิธานเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเหตุนั้น ขอพระธรรมาจารย์จงทรงเป็นพยานแก่ข้าฯ เถิด แม้ว่าข้าฯ จะตั้งปณิธานเหล่านนี้เฉพาะพระพักตร์พระพุทธองค์ สรรพสัตว์บางพวกที่มีบารมีเพียงเล็กน้อยอาจคิดแย้งว่า "มหาทศปณิธานเหล่านี้ยากในการปฏิบัติ" เกิดความสงสัยและความลังเลใจในข้าพระองค์ โดยความคิดเช่นนั้น เขาย่อมมีอันตราย และมีความยากลำบากเป็นเวลานาน พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อประโยชน์ในการช่วยบุคคลเหล่านี้ ข้าฯ ขอพระราชทานสัจพรจากพระผู้มีพระภาค ณ โอกาสนี้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยสัจจะแห่งการตั้งมหาทศปณิธานนี้ หากจะเป็นจริงตามปณิธานของข้าฯ ไซร้จงบังเกิดดอกไม้โปรยปรายเป็นสายฝนลงมาตกต้องมนุษย์ทั้งหลายและขอเสียงดนตรีทิพย์จงดังขึ้นให้ได้ยินกันทั่วไป"

       เมื่อพระนางศรีมาลาฯ รับสั่งถ้อยคำเหล่านี้ ดอกไม้ได้โปรยปรายลงมาต้องบริษัททั้งหลาย และต่างได้ยินเสียงดนตรีทิพย์บรรเลงกันโดยทั่ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "เทวี เป็นเช่นนั้น ทันทีที่เทวีขอ สัจพรก็เกิดขึ้น (ตามคำอธิษฐาน) และมิใช่ด้วยเหตุอื่น" ข้าราชบริพารทั้งหลายที่ติดตามต่างได้เห็นปรากฏการณ์อันเป็นอัศจรรย์ ต่างพากันหมดความสงสัย และประสบความชื่นบานเป็นที่ยิ่ง ข้าราชบริพารทั้งปวงพากันอธิษฐานขอติดตามรับใช้พระนางศรีมาลาฯ และพระพุทธองค์พระราชทานพุทธทำนายว่า พวกเขาจะได้ติดตามพระนางไปตลอด

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
บทที่ 2 ตัดสินเหตุ

3 ความปรารถนา 3 ประการ

       ณ เบื้องพระพักตร์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนางศรีมาลาฯ ทรงตั้งความปรารถนา 3 ประการ

       ก. "พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยสัจพร และด้วยกุศลกรรมในการสร้างสมบารมีแห่งการทำประโยชน์ให้แก่สรรพสัตว์อันประมาณมิได้ขอให้ข้าฯ เข้าใจในธรรมอันประเสริฐทุกๆชาติ

       ข. "พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อมีความเข้าใจในพระธรรมอันประเสริฐแล้ว ขอให้ข้าฯได้สอนธรรมะแก่สรรพสัตว์โดยไม่รู้เหน็ดเหนื่อย นี้เป็นความปรารถนาประการที่สองของข้าฯ"

       3. "พระผู้มีพระภาคเจ้า ในขณะที่สอนพระธรรมอันประเสริฐโดยไม่คำนึงถึงกาย พลังชีวิต หรือทรัพย์สมบัติ ขอให้ข้าฯได้ปกป้องเชิดชูพระธรรมอันประเสริฐ นี้เป็นความปรารถนาประการที่สามของข้าฯ"

       จากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเทศนาอธิบายถึงขอบข่ายความปรารถนาของพระนางศรีมาลาเทวี หากรูปกายทั้งหลายจะรวมกันอยู่ในอากาศ ย่อมบรรลุไว้จนล้นออกไปภายนอก เช่นเดียวกัน เมื่อความปรารถนาของพระโพธิสัตต์ทั้งหลายมีจำนวนมากมายดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา รวมกันอยู่ในความปรารถนาทั้งสามประการนี้ และย่อมแผ่กระจากออกมากกว่า

4 การน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ

       พระนางศรีมาลาเทวีกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้

       "ยิ่งกว่านั้น เมื่อข้าพระองค์ได้สอนขอบข่ายของความปรารถนานี้แล้ว ขอพระองค์โปรดพระราชทานบารมี ให้ข้าฯ มีความคล่องแคล่ว(ในการสอนธรรม)"

       สมเด็จพระผู้มีพระภาคมีพระดำรัสว่า "เทวี เป็นเช่นนั้น เทวีจงมีความสามารถในการพูดโน้มใจ"

       พระนางศรีมาลาเทวีจึงกราบทูลพระพุทธองค์ด้วยถ้อยคำดังนี้ "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ความปรารถนาของบรรดาพระโพธิสัตต์อันมีจำนวนมากมายดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา รวมกันอยู่ในความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ นั่นคือ การรวมพระธรรมอันประเสริฐ การน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐจึงเป็นงานใหญ่"

       สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า "เทวี ประเสริฐแล้ว ประเสริฐแล้ว บารมีของพระนางลุ่มลึกนัก เทวี ไม่ว่าสรรพสัตว์ใดที่พระนางทรงสอนพระธรรม เป็นการยากที่พวกเขาจะเข้าใจความหมายและจะมีผู้ที่สั่งสมพระธรรม เป็นการยากที่พวกเขาจะเข้าใจความหมายและจะมีผู้ที่สั่งสมกุศลกรรมมาหลายพุทธกาลแล้ว เทวี เช่นเดียวกับที่พระนางน้อมรับ สอน และอธิบายพระธรรมอันประเสริฐ ในลักษณะเดียวกัน พระตาถคตเจ้าทั้งหลายในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตทรงน้อมรับทรงสอน ทรงอธิบายพระธรรมอันประเสริฐมาแล้ว และจะทรงอธิบายต่อไป เทวี แม้ตถาคตเอง บรรลุพระสัมมาสัมโพธิแล้ว ได้น้อมรับได้สอนพระธรรมอันประเสริฐ และได้อธิบายในหลายรูปแบบ เทวี ในขณะที่ตถาคต น้อมรับ สอน และอธิบายพระธรรมอันประเสริฐนี้ในหลายรูปแบบ บารมีในการน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐหาขอบเขตมิได้ และไม่มีวันหมดสิ้น ทั้งบารมีและความสามารถในการพูดโน้มใจของพระตถาคตเจ้าก็มิมีวันหมดสิ้นเช่นกัน ด้วยเหตุใดหรือ เทวี ด้วยการน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐนี้มีความหมายกว้างไกลและมีคุณประโยชน์ใหญ่หลวงนัก"

       พระนางศรีมาลาฯ จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระบารมีแห่งพระตถาคตเจ้า จงช่วยข้าพระองค์ให้มีความสามารถในการเทศนาธรรมอันมีความหมายอันลึกซึ้งและไพศาล"

       พระพุทธองค์รับสั่งว่า "เทวี พระนางทรงรู้อยู่แล้วว่า เวลานั้นได้มาถึงแล้ว ให้พระนางจงสามารถเทศนาสอนธรรมได้อย่างปรีชาฉลาด"

ก.การสอนในมหาปณิธาน

       โดยพระพุทธานุญาต พระนางศรีมาลาเทวีจึงกราบทูลว่า

       "พระผู้มีพระภาคเจ้า การน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ ย่อมทำให้ธรรมชาติแห่งพุทธะอันมีจำนวนประมาณมิได้นั้นถึงพร้อม การน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ หมายรวมพระธรรม 84.000ธรรมขันธ์ ตัวอย่างเช่นในแยกโลกธาตุใหม่นั้น มีเมฆก้อนใหญ่ที่กลายเป็นสายฝน โปรยปรายเป็นสีต่างๆ และรัตนมณีนานาชนิด ในทำนองเดียวกันการน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐนั้น เปรียบดั่งสายธารแห่งบารมีทีหลั่งมาเป็นรัตนมณีแห่งความรู้อันหาค่ามิได้ ในเวลาที่แยกโลกธาตุใหม่มีอาณาจักรใหม่เกิดขึ้น มีทวีปทั้งสี่ที่มีรูปสีและดาวเคราะห์จำนวนมากมาย เป็นครรภ์ธาตุที่เป็นบ่อเกิดแห่งงานอันวิเศษทั้งหลายทั้งปวงของพระโพธิสัตต์ และมรรควิถึอันนำเข้าสู่พระธรรม เช่นเดียวกับโลกียบารมีทั้งปวง รวมทั้งพระธรรมอันประเสริฐในโลกุตระ ที่ทั้งเทวดา และมนุษย์ไม่เคยประสบมาก่อน

       "พระผู้มีพระภาคเจ้าโลกนี้เป็นที่รองรับภาระที่สำคัญ 4ประการ คือ มหาสมุทร ต้นหญ้า พุ่มไม้ ต้นไม้ พืชพันธุ์ธัญญาหาร และสรรพสัตว์ทั้งปวง ทำนองเดียวกัน กุลบุตรกุลธิดา ผู้ที่น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐย่อมรองรับภาระสำคัญ4 ประการ อันมีความสำคัญยิ่งกว่าภาระของโลกเสียอีก ภาระทั้ง 4 นั้นคืออะไร

       "1 กุลบุตรธิดาจะต้องช่วยเหลือสรรพสัตว์ผู้ขาดการชี้นำทางวิญญาณ ไม่เคยได้ยินและไม่รู้ในพระธรรม ให้หันมาสู่การปฏิบัติธรรมเป็นการสร้างสมบารมีของทวยเทพและมนุษย์ ภาระนี้เป็นภาระที่หนักหนายิ่งกว่าภาระของโลกเสียอีก

       "2 กุลบุตรกุลธิดาผู้ชักนำสรรพสัตว์เข้าสู่สาวกยาน เป็นภาระที่หนักยิ่งกว่าภาระของโลก

       "3 กุลบุตรกุลธิดาผู้ชักนำสรรพสัตว์เข้าสู่ปัจเจกพุทธยาน รับภาระหนักยิ่งกว่าภาระของโลก

       "4 กุลบุตรธิดาผู้ชักนำสรรพสัตว์เข้าสู่มหายาน รับภาระหนักยิ่งกว่าภาระของโลก

       "ทั้ง 4 นี้เป็นภาระสำคัญ กุลบุตรธิดาผู้น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐและรับภาระที่สำคัญทั้ง 4 ประการอันหนักยิ่งกว่าภาระโลกนั้น นับเป็นภาระอันประมาณมิได้ เป็นผู้มีมิตรภาพ มีเมตตากรุณา และปลอบโยนสรรพสัตว์ทั้งหลาย เรียกได้ว่าเป็น โลกมาตาแห่งธรรมะ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หากเปรียบแม้นว่า โลกนี้เป็นปัจจัยแห่งรัตนชาติ 4 ประการ ทั้ง 4 ประการนี้มีอะไรบ้าง เป็นปัจจัยแห่งรัตนมณีอันหาค่ามิได้ เป็นรัตนมณีชั้นสูง เป็นรัตนมณีที่มีค่าปานกลางและเป็นรัตนมณีที่มีค่าด้อย โลกนี้เป็นปัจจัยแก่รัตนชาติทั้ง 4ประการฉันใด สรรพสัตว์ต้องพึ่งพาอาศัยกุลบุตรกุลธิดา ผู้น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ ผู้มีคุณสมบัติยิ่งกว่ารัตนชาติทั้ง 4 ประการฉันนั้น คุณสมบัติ 4 ประการนี้คืออะไร สรรพสัตว์ยังต้องพึ่งพาอาศัย ในฐานะผู้นำทางวิญญาณเพื่อบำเพ็ญกุศลเป็นการสะสมบารมีแห่งทวยเทพ และมนุษย์ สร้างสมคุณธรรมโดยการบำเพ็ญตามแนวทางของสาวกยาน สร้างสมคุณธรรมโดยการบำเพ็ญตามนาวทางของพระปัจเจกพุทธยาน  สร้างสมบารมีโดยการบำเพ็ญตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นนี้สรรพสัตว์ผู้ยังพึ่งพาอาศัยกุลบุตรกุลธิดา ผู้น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ ย่อมมีคุณสมบัติอันประเสริฐ 4 ประการ มีค่า ยิ่งกว่ารัตนชาติทั้ง 4 ชนิด การกล่าวว่า 'ปัจจัยแห่งรัตนสมบัติ หมายถึงการน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐนั่นเอง'

ข. การสอนความหายอันไพศาล

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า การน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐเรียกได้ว่าผู้น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ พระธรรมอันประเสริฐและผู้น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐมิได้แยกออกจากกัน ผู้น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐคือพระธรรมอันประเสริฐนั่นเอง เขามิได้มีความแตกต่างไปจากบารมี หรือแตกต่างจากพระธรรมอันประเสริฐนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐนั้นเองคือบารมี ด้วยเหตุใด"

       "เมื่อกุลบุตรกุลธิดา ผู้น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ ถึงพร้อมในทานบารมี ถึงพร้อมในการบริจาคอวัยวะใหญ่น้อยในร่างกาย ย่อมเป็นผู้ถึงพร้อมในลักษณะนี้ ผู้ถึงพร้อมย่อมถึงในธรรมอันประเสริฐนั้น นับเป็นทานบารมี

       "และเมื่อเขาโปรดสรรพสัตว์ให้ถึงพร้อมในศีล หากสรรพสัตว์มีความเจริญในการระมัดระวังอายตนะทั้ง 6 และรักษากายกรรม วจีกรรมและมโนกรรม ให้บริสุทธิ์ นับว่าได้น้อมนำสรรพสัตว์ให้มีจิตถึงพร้อมนับว่าเป็นผู้ถึงพร้อมในพระธรรมอันประเสริฐนั้น นับเป็นศีลบารมี

       "เมื่อเขาโปรดสรรพสัตว์ด้วยขันติ หากเขาเหล่านั้น ถูกดุด่า ดูถูกหรือข่มขู่ เขาพึงไม่แสดงความมุ่งร้าย และพยายามอดทนเพื่อแสดงถึงอำนาจของขันติ การรักษาสีหน้าท่าทางให้มั่นคงเป็นการรักษาและพัฒนาจิตใจ เมื่อถึงพร้อมย่อมอยู่ในธรรมอันประเสริฐ นับเป็นขันติบารมี

       "เมื่อเขาโปรดสรรพสัตว์ให้มีวิริยะ เขาจะช่วยนำสรรพสัตว์ให้ถึงพร้อมด้วยการที่ตนเองจะต้องปราศจากจิตใจที่ง่วงซึม ไม่เกียจคร้านมีความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ มีความมุมานะพยายาม ด้วยการควบคุมตนเอง เขาป้องกันและพัฒนาจิต เมื่อถึงพร้อมย่อมเข้าถึงธรรมอันประเสริฐ นับเป็นวิริยะบารมี

       "เมื่อเขาโปรดสรรพสัตว์ให้เข้าถึงฌาน ช่วยพัฒนาพวกเขา โดยการมีจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว มีจิตที่ไม่ซัดส่าย และมีสติ ไม่คิดวอกแวกแม้จะทำหรือพูดอยู่เป็นเวลานาน เขารู้จักปกป้องและพัฒนาจิต เมื่อถึงพร้อมย่อมเข้าถึงธรรมอันประเสริฐ นับเป็นฌานบารมี

       "เมื่อโปรดสรรพสัตว์ในปัญญา เขาพัฒนาผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยการโต้ตอบคำถามอย่างมั่นใจ อธิบายอรรถกถา ศาสตร์ และศิลป์ ในกลวิธีต่างๆ เขาปกป้องและพัฒนาจิตโดยเข้าถึงปัญญาแห่งศาสตร์และศิลป์ ในกลวิธีต่างๆ เขาปกป้องและพัฒนาจิตโดยเข้าถึงปัญญาแห่งศาสตร์และศิลป์ เมื่อถืงพร้อมย่อมอยู่ในธรรมอันประเสริฐ นันเป็นปัญญาบารมี"

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเป็นเช่นนี้ บารมีจึงมิใช่สิ่งหนึ่งและผู้น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง  ผู้น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐคือบารมีนั่นเอง

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขออำนาจแห่งพระตถาคตเจ้า จงช่วยข้าฯ ให้มีความสามารถในการอธิบายความหมายโดยแจ่มแจ้ง"

       จากนั้น พระนางศรีมาลาเทวีได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ นับเป็นการรับพระธรรมอันประเสริฐ ผู้รับและการรับพระธรรมอันประเสริฐ มิได้มีความแตกต่างกัน ผู้น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ คือการรับพระธรรมนั้น ด้วยเหตุใด กุลบุตรกุลธิดา ผู้น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ ได้สละทรัพย์ทั้งสามประการเพื่อน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ ทรัพย์ทั้งสามประการนั้นคือ ร่างกาย พลังชีวิต และทรัพย์สมบัติ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า กุลบุตรกุลธิดาที่ได้สละร่างกายนั้น ย่อมเข้าถึงกายแห่งพุทธะ เป็นที่สุดแห่งสังสาร ย่อมเป็นอิสระจากความชรา ความเจ็บไข้ และความตาย ไม่มีใครทำลายได้ จึงเป็นผู้มีความมั่นคงสงบนิ่ง  เป็นอมตะ เป็นอิสระจากการตาย และถึงพร้อมด้วยบารมีอันมหาศาล เข้าถึงธรรมกายแห่งพระตถาคตเจ้าข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า กุลบุตรกุลธิดาแห่งตระกูล เมื่อได้สละพลังชีวิต ย่อมคงอยู่ในกิจกรรมแห่งคำสอนของพระพุทธองค์ เป็นที่สุดแห่งสังสาร เป็นอิสระจากการตาย และถึงพร้อมด้วยบารมีมหาศาล เป็นนิตย์และหาขอบเขตจำกัดมิได้  เข้าถึงพระพุทธธรรมอันประเสริฐ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า กุลบุตรกุลธิดาแห่งตระกูล เมื่อได้สละทรัพย์สมบัติ ได้รับการยกย่องจากสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นที่สุดแห่งสังสาร ไม่มีใครทำลายได้ ปราศจากความคิดผิด และถึงพร้อมด้วยบารมีอันหาขอบเขตมิได้ ไม่มีสรรพสัตว์อื่นใดเสมอเหมือน เป็นที่สรรเสริญของสรรพสัตว์ทั้งปวง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า กุลบุตรกุลธิดาแห่งตระกูล ผู้น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ และละวางจากทรัพย์ทั้งสามประการนี้ ย่อมเข้าถึงมหาบารมีทั้งสามประการนั้น และนอกจากนั้นยังได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าทั้งปลาย

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในสมัยที่พระธรรมเสื่อมลง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทะเลาะเบาะแว้งกันและกัน และแตกแยกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย กุลบุตรกุลธิดาแห่งตระกูล ผู้มีความชื่นชมในพระธรรม โดยปราศจากความเห็นผิด เพื่อการตั้งมั่นในพระธรรมอันประเสริฐ ก่อตั้งกลุ่มพระโพธิสัตต์ เพราะผู้ที่ถึงธรรมะ ย่อมเป็นกุลบุตรกุลธิดาแห่งตระกูล ที่จะได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ด้วยกิจกรรมนั้น

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์เข้าใจว่า การน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐนั้นเป็นมหาวิริยะ ในกรณีนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเองทรงเป็นดวงตา ทรงเป็นญาณ และรากฐานแห่งธรรมะทั้งปวง พระองค์ทรงสถิตอยู่ทั่วไป และทรงเป็นบ่อเกิด"

       สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงโสมมนัสที่พระนางศรีมาลาตรัสอธิบายว่า การน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐเป็นมหาวริยะ จึงมีพุทธดำรัสว่า

       "เทวี เป็นจริงเช่นนั้น เทวี การน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐนับเป็นมหาวิริยะ

       "เทวี อุปมาดังผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง หากถูกตีจุดอ่อนย่อมเจ็บปวดได้ฉันใด แม้การน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐเพียงน้อยนิด ย่อมทิ่มแทงพญามารและทำให้เขาเจ็บปวดครวญครางได้ฉันนั้น เทวี ตถาคตยังไม่เห็นการน้อมรับคำสอนอื่น ที่จะทิ่มแทงพญามารให้เจ็บปวดคราญคราง เท่ากับการน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐนี้เพียงน้อยนิด

       "เทวี เปรียบดังจ่าฝูง พ่วงพี และสูงใหญ่ มีพละกำลังเป็นเลิศกว่าโคทั้งฝูง ในลักษณะเดียวกัน แม้การน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐแห่งมหายานเพียงน้อยนิด แต่เพราะความไพศาล ย่อมประเสริฐกว่า การน้อมรับคำสอนในสาวกยานและปัจเจกพุทธยาน

       "เทวี ดุจเดียวกันพระสุเมรุ อันเป็นราชาแห่งสิงขร ทั้งสูงเยี่ยมและมหึมา ย่อมเป็นเลิศกว่าเทือกเขาทั้งหลาย ดุจเดียวกัน ผู้ที่ปฏิบัติในมหายาน ปราศจากความกังวลในร่างกายของตนเอง แม้พลังชีวิตและทรัพย์สมบัติก็ยอมสละได้ ด้วยจิตเปี่ยมเมตตา น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ และด้วยความมหาศาล จึงเป็นเลิสกว่าคุณธรรมทั้งหลายของผู้ที่เพิ่งเข้ามาสู่มหายาน ที่ยังยึดติดในร่างกายและพลังชีวิต เขาจึงประเสริฐยิ่งกว่าในยานอื่น

       "เทวี เมื่อเป็นเช่นนี้ พระนางควรส่งเสริมให้สรรพสัตว์ได้น้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ ทำให้เขายึดมั่นเป็นสรณะ เกิดศรัทธาปสาทะและน้อมเข้ามาปฏิบัติตาม เทวี การน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ มีผลมหาศาล และมีคุณอนันต์ เทวี แม้ว่าตถาคตจะได้อธิบายมาแล้วหลายกัปป์จนนับไม่ได้ ในบารมีและคุณแห่งการน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ ตถาคตก็ยังอธิบายได้ไม่ครบถ้วน เทวี การน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ จึงมีบารมีอันประมาณมิได้
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
บทที่ 3 ทำความกระจ่างกับความหมายสุดท้าย

5 เอกยาน

       "เทวี พระนางจงได้แสดงธรรมในการน้อมรับพระธรรมอันประเสริฐ ซึ่งเป็นที่ยึดมั่นในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ดังที่ตถาคตได้อธิบายไปแล้วโดยแคล่วคล่อง" พระนางศรีมาลาทรงน้อมรับพระพุทธบัญชา แล้วกราบทูลพระพุทธองค์ว่า

(อ้างถึงสาวกยานและปัจเจกพุทธยาน)

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เรียกว่า หลักธรรมอันประเสริฐนั้นหมายถึง มหายาน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะบรรดายานทั้งหลายของพระสาวก พระปัจเจกพุทธะ และคุณธรรมทั้งโลกียะและโลกุตระล้วนรวมอยู่ในมหายาน เปรียบได้ดั่งมหานทีทั้ง 4 ที่แยกออกมาจากทะเลสาบอนวตัปตะ(*) ในลักษณะเดียวกัน ยานทั้งหลายของพระสาวก พระปัจเจกพุทธะ และคุณธรรมทั้งโลกียะและโลกุตระ ล้วนเกิดจากมหายาน ดังเมล็ดพืช พันธุ์ไม้ ต้นไม้ ล้วนถือกำเนิดจากพสุธา หยั่งรากแล้วเจริญงอกงามขึ้น ในลักษณะเดียวกัน ยานทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสาวกยานหรือปัจเจกพุทธยาน  รวมทั้งคุณธรรมทั้งโลกียะและโลกุตระล้วนมีพื้นฐานจากมหายาน งอกและเติบโตขึ้นจากมหายานทั้งสิ้น ดังนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อบุคคลตั้งมั่นในมหายาน และน้อมรับหลักธรรมอันประเสริฐ เขาย่อมน้อมรับยานทั้งหลายแห่งสาวกยานและปัจเจกพุทธยาน รวมทั้งคุณธรรม ทั้งโลกียะและโลกุตระด้วย

* มหานทีทั้ง 4 อธิบายว่า คือ คงคา สินธุ วักสุ และสีตา ทะเลสาบนี้ คือสระอโนดาษ ซึ่งอยู่ที่เทือกเขาหิมาลัย

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงได้อธิบายหัวข้อพื้นฐานทั้ง 6 การรักษาหลักธรรมอันประเสริฐ การเสื่อมของหลักธรรมอันประเสริฐ พระปาฏิโมกข์ พระวินัย การเข้าสู่ชีวิตทางศาสนา การบรรพชาอุปสมบท นอกจากนั้น หัวข้อทั้ง 6 นี้ ล้วนมากจากการน้อมรับมหายานนั่นเอง ด้วยเหตุใดหรือข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าการกล่าวว่า "การรักษาหลักธรรมอันประเสริฐ" นั้นหมายถึงมหายาน เพราะการรักษามหายานคือการรักษาหลักธรรมอันประเสริฐนั่นเอง การพูดว่า การเสื่อมของหลักธรรมอันประเสริฐ หมายถึงมหายาน เพราะการเสื่อมของมหายานคือการเสื่อมของหลักธรรมอันประเสริฐ ธรรมะทั้งสองที่เรียกว่า ปาฏิโมกข์และพระวินัย ต่างกันเฉพาะศัพท์ แต่ในความหมายแล้ว หมายถึงอย่างเดียวกัน ที่เรียกว่า พระวินัย คือเครื่องมือในการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติตามมหายาน โดยมีไว้สำหรับความเป็นพระตถาคต และการใช้ชีวิตในทางศาสนาเป็นพระสงฆ์ เมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่เรียกว่าพระวินัย และการใช้ชีวิตทางศาสนา รวมทั้งการบรรพชา อุปสมบท นับรวมหมายถึงการรักษาศีลโดยเคร่งครัดรักษาศีลโดยเคร่งครัดในมหายาน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า การใช้ชีวิตในพระศาสนา และการบรรพชาอุปสมบทนั้น มิใช่อยู่ในขอบข่ายของสาวกยานและปัจเจกพุทธยานทำไม่จึงเป็นเช่นนั้น เพราะการใช้ชีวิตในพระศาสนาและการบรรพชาอุปสมบท มิใช่จุดประสงค์ของสาวกยานและปัจเจกพุทธยาน อย่างไรก็ตาม เพราะมีตถาคตภาวะ พระสาวกและพระปัจเจกพุทธะจึงใช้ชีวิตในพระศาสนาและเข้ารับการบรรพชาอุปสมบท"

(เกี่ยวกับพระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะ)

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น มิได้ยึดพระตถาคตเป็นสรณะเท่านั้น หากยังไม่หลุดพ้นจากความกลัว ทั้งนี้เป็นเพราะทั้งพระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะ ยังยึดอยู่ในความคิดในความกลัวแห่งสังขาร ดุจเดียวกับการที่ต้องเผชิญหน้ากับเพชฌฆาตที่เงื้ออาวุธในมือ ด้วยเหตุนั้น จึงยังไม่บรรลุความเป็นอิสระ ที่เป็นอมตะสุข แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ที่เป็นสรณะย่อมไม่ต้องแสวงหาสรณะ สรรพสัตว์ผู้ไร้ที่พึ่งเป็นสรณะย่อมมีความเกรงกลัว และพยายามมหาทางหลุดพ้นจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ พระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะพึงแสวงหาสรณะในพระผู้มีพระภาคเจ้า

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า มิใช่พระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะยังมีความกลัวเท่านั้น หากยังต้องกลับมาเกิดอีกด้วย เขายังมีอาสวะที่ตกค้าง จึงยังไม่บริสุทธิ์ ยังไม่พ้นจากกรรมทีเดียว จึงยังมีความต้องการต่างๆ นอกจากนั้น เขาก็ยังมีธรรมชาติอื่นๆ ที่ยังต้องขจัดเสียให้สิ้น และเพราะอาสวะเหล่านั้นยังไม่หมดไป พระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะจึงยังอยู่ห่างไกลจากอาณาจักรพระนิพพาน

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เรียกว่าพระนิพพานนั้น เป็นมรรคแห่งพระตถาคตเจ้า เหตุผลคือ พระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงบรรลุพระนิพพาน และทรงถึงพร้อมด้วยพระบารมีทั้งปวงในขณะที่พระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะยังไม่เปี่ยมด้วยบารมีดังกล่าว

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เรียกว่าพระนิพพานนั้น เป็นมรรคแห่งพระตถาคตเจ้า เหตุผลคือ พระตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงเข้าถึงพระนิพพาน ทรงถึงพร้อมในพระบารมีอันประมาณมิได้ ในขณะที่พระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะยังมีบารมีอันประมาณ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เรียกว่าพระนิพพานนั้น เป็นมรรคแห่งพระตถาคตเจ้า เหตุผลคือ พระตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงเข้าถึงพระนิพพาน ทรงถึงพร้อมในพระบารมีอันมิอาจเข้าใจได้ ในขณะที่พระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะยังมีบารมีที่ยังเข้าใจได้

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เรียกว่าพระนิพพานนั้น เป็นมรรคแห่งพระตถาคตเจ้า เหตุผลคือ พระตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงเข้าถึงพระนิพพาน ทรงขจัดอาสวะทั้งปวงให้สิ้น ทรงบริสุทธิ์โดยสมบูรณ์ ในขณะที่พระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะยังมีอาสวะตกค้าง และยังไม่บริสุทธิ์โดยแท้

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เรียกว่าพระนิพพานนั้น เป็นมรรคแห่งพระตถาคตเจ้า เหตุผลคือ พระตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงเข้าถึงพระนิพพาน ในขณะที่พระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะยังอยู่ห่างไกลจากอาณาจักรพระนิพพาน

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในเรื่องที่พระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะได้เข้าถึงความหลุดพ้น และเข้าถึงความรู้ที่ 4 และเข้าถึงขึ้นที่สามารถหยุดลมหายใจได้ และพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายว่า 'เข้าถึงโดยยังมีอาสวะตกค้าง' และ 'ยังมิใช่ความหมายสุดท้าย' นั้นหมายความว่าอย่างไร เพราะมีการตาย 2 ชนิด ตายธรรมดากับการตายที่ไม่สามารถหยั่งถึง การตายที่หมายถึงการตัดขาดนั้น เป็นการตายของสรรพสัตว์ปุถุชนโดยทั่วไป ส่วนการตายที่ไม่สามารถหยั่งถึงนั้น เป็นการดับขันธ์ของมโนมยากายของพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธะ และพระโพธิสัตต์ผู้มีพลัง ขึ้นไปจนถึงการตรัสรู้"

("การเข้าถึงด้วยอาสวะ" และ "มิใช่ความหมายสุดท้าย")

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า การดับขันธ์ 2 ประเภทนั้น เป็นความรู้ในการควบคุมการดับขันธ์ ที่เกิดขึ้นกับพระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะ และเขาคิดว่า 'การเกิดของข้าได้สิ้นสุดลงแล้ว' ด้วยความเข้าใจเช่นนี้ จึงดับขันธ์ทั้งที่ยังมีอาสวะ ทั้งพระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะคิดว่า 'เป็นด้วยพรหมจรรย์' ด้วยความยึดถือว่า ได้ขจัดกิเลสทั้งปวงอันสืบเนื่องในกรรมที่ปรากฏในปุถุชนผู้ยังไม่บรรลุ รวมทั้งเทวดาแลมนุษย์ และได้ขจัดแล้วซึ่งกิเลสอันปรากฏในบุคคลทั้ง 7 ประเภท ซึ่งก่อนหน้านั้นยังไม่เข้าถึง พระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะจึงคิดว่า 'ได้ทำหน้าที่สำเร็จสมบูรณ์แล้ว'

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เขาคิดว่า 'ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องเรียนรู้มากไปกว่านี้ เพราะพระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะสามารถควบคุมกิเลสทั้งปวงอันเกี่ยวเนื่องในสังสาร จึงทำให้เขาคิดว่า 'ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องเรียนรู้มากไปกว่านี้' แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยังคิดว่า 'ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องเรียนรู้มากไปกว่านี้' ยังมิได้ขจัดกิเลสทั้งปวงโดยสิ้นเชิง กับทั้งยังต้องกลับมาเกิดอีก ทำไมเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้เป็นเพราะพระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะยังมีอาสวะที่ยังตกค้างและยังมีปัจจัยแห่งการเกิดที่ยังขัดไม่หมดโดยแท้

       อาสวะนั้นมี 2 ประเภท อาสวะสถิต อาสวะเคลื่อนที่ อาสวะสถิดนั้นจำแนกได้ 4 ชนิด คือความถือมั่นในทัศนะบางประการ ยังมีความต้องการ ยังยึดติดในรูป และยังยึดติดในโลกียะ อาสวะสถิตเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นอาสวะเคลื่อนที่ให้ทำงาน อาสวะเคลื่อนที่นั้นเกิดขึ้นชั่วขณะในรู้และความสัมพันธ์กับธรรมะ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า อาสวะตกตะกอนที่นอนเนื่องอยู่ตั้งแต่กาลอันหาจุดเริ่มมิได้นั้น ไร้สำนึก พลังที่ปรากฏในอาสวะสถิตทั้ง 4 ชนิดนั้น เป็นพื้นฐานแก่อาสวะชั้นรองทุกประเภท แต่อาสวะสถิตทั้ง 4 ชนิดนั้น ไม่อาจเปรียบได้กับอาสวะตกตะกอน ในปริมาณขนาดตัวอย่างหรือปัจจัย เมื่อเป็นเช่นนี้ อาสวะตกตะกอนจึงมีพลังที่สุด เรียกว่าอาสวะสถิตที่ดึงดูดเพื่อการฟักตัวในระดับโลกุตระ เปรียบเช่นพญามารนั้นเป็นเทวดาประเภทปรนิมมิตวศวารทิน เลิศกว่าเทวดาทั้งปวงในรูปสี รัศมี อำนาจ บริวาร และความเป็นใหญ่ ในลักษณะเดียวกันอาสวะตกตะกอนนี้เรียกว่า 'อาสวะสถิตที่ดึงดูดเพื่อการฟักตัวในระดับโลกุตระ' มีอำนาจเหนืออาสวะสถิตทั้ง 4 ชนิด เป็นรากฐานที่มหาศาลยิ่งกว่าจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา มีความเป็นมาร่วมกับอาสวะสถิตทั้ง 4 ชนิดเป็นเวลาช้านาน มิสามารถขจัดได้ด้วยปัญญาญาณของพระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะ จะขจัดได้โดยเฉพาะแต่พระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้าเท่านั้น

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า อาสวะตกตะกอนนั้นมีพลังมหาศาล ตัวอย่างเช่น ด้วยเหตุพื้นฐานแห่งสภาวะและกรรมที่เปลี่ยนแปลงได้นั้นทำให้มีการก่อตัว 3 แบบ ในลักษณะเดียวกัน เมื่ออาสวะตกตะกอนเป็นปัจจัยแห่งสภาวะและกรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นเหตุให้เกิดมโนมยากายขึ้น 3 ชนิด เป็นของพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธะ และพระโพธิสัตต์ผู้บรรลุวศิตา(*) (พลัง) อาสวะตกตะกอนเป็นสภาพที่ทำให้เกิดการปรากฏในกรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลและทำให้เกิดมโนมยากายทั้งสามขึ้นใน3 ขั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อมีสภาพเช่นนี้ จึงมีสภาพเกิดขึ้นตามมา เมื่อเป็นเช่นนั้น อาสวะตกตะกอนจึงเป็นสภาพของกรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลง และทำให้เกิดมโนมยากายทั้งสามขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีชื่อเดียวกับอาสวะสถิตที่ดึงดูดการก่อนตัวในระดับโลกียะ อย่างไรก็ตามการกระทำนี้มิได้เป็นสามัญ เช่นเดียวกับอาสวะสถิตที่ดึงดูดการก่อตัวในระดับโลกียะ เพราะอาสวะตกตะกอนนั้นต่างจากอาสวะสถิตทั้ง 4 ชนิด สามารถขจัดได้โดยภาวะพุทธะ และสามารถขจัดได้อย่างสิ้นเชิงโดยปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อพระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะขจัดอาสวะสถิตทั้ง 4 ชนิดแล้ว เขาก็ยังมิสามารถเอาชนะการเปลี่ยนแปลงและยังไม่สามารถบรรลุได้โดยตรง

*อยู่ในโพธิสัตต์ภูมิที่ 8 ขึ้นไป เป็นผู้ไม่หวนคืน

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า การยุติการเปลี่ยนแปลงเป็นคำที่ใช้กับอาสวะตกตะกอน เมื่อเป็นดังนั้น แม้พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธะและพระโพธิสัตต์ในชีวิตสุดท้าย ยังไม่แจ่มชัด ยังถูกบดบัง ยังถูกปกคลุม และทำให้มืดบอดอยู่ในอาสวะตกตะกอนนี้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่แสวงหา และไม่เข้าใจธรรมชาติของธรรมะนี้ เพราะเขาไม่แสวงหาและไม่เข้าใจในธรรมชาติของธรรมะ เขาจึงไม่ขจัดธรรมชาติของธรรมะนี้ซึ่งควรขจัดและทำให้บริสุทธิ์ และเพราะเขาไม่ขจัดธรรมชาติของธรรมะนี้ ทั้งไม่ทำให้บริสุทธิ์ขึ้น จึงเข้าถึงสภาพความหลุดพ้นทั้งที่ยังมีความหลงผิด จึงนับว่ายังไม่เป็นอิสระจากความหลงผิดอย่างแท้จริง เขายังไม่เข้าถึงความบริสุทธิ์โดยแท้ กุศลของเขาจึงเป็นกุศลที่ยังมีอาสวะตกค้างเพราะยังเป็นกุศลที่ไม่สมบูรณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้า ใครก็ตามที่เข้าถึงความหลุดพ้นโดยยังมีความหลงผิด ยังเป็นอิสระจากความหลงผิดทั้งปวง ผู้ที่ยังข้องอยู่กับความบริสุทธิ์ยังไม่ถึงความบริสุทธิ์โดยแท้ผู้ที่ยังมีกุศลตกค้างและยังมีกุศลไม่สมบูรณ์ นับว่าเป็นผู้ที่ยังมีความทุกข์หลงเหลืออยู่ ยังมีเหตุแห่งทุกข์ที่จะต้องขจัด ยังมีสมุทัยที่จะต้องบรรลุโดยตรง และยังมีมรรคอันจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ที่ต้องพัฒนาอีกต่อไป

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า  ผู้ใดที่ยังมีทุกข์หลงเหลืออยู่ มีสมุทัยที่จะต้องขจัด มีนิโรธที่จะต้องเข้าถึงโดยตรง และมีมรรคอันจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ที่จะต้องพัฒนา เป็นบุคคลที่เข้าถึงพระนิพพานเพียงเสี้ยวเดียว ผู้ที่เข้าถึงพระนิพพานเพียงเสี้ยวเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าเรียกว่า 'อยู่ในทางเข้าสูอาณาจักรพระนิพพาน' ผู้ที่ได้พบทุกข์ทั้งปวงได้ขจัดสมุทัยโดยสิ้นเชิง และได้รู้แจ้งในนิโรธ เป็นผู้ที่ได้พัฒนามรรคอันนำไปสู่ความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงโดยสมบูรณ์แล้ว ได้เขาถึงพระนิพพานอันเป็นอมตะ เป็นความสงบ และเป็นความร่มเย็น พระนิพพานอันทำลายแล้วซึ่งความเป็นอนิจจัง ความเจ็บไข้ และเป็นสรณะแห่งโลก ในโลกที่ปราศจากการคุ้มครองและปราศจากสรณะ ด้วยเหตุใดเล่า เพราะพระนิพพานนั้นมิอาจเข้าถึงได้โดยบุคคลผู้ยังมีการแยกแยะธรรมชาติอันประเสริฐและปุถุชน เป็นที่เข้าถึงแล้วโดยผู้มีความรู้อันสมดุลย์ เข้าถึงแล้วโดยผู้ที่มีความหลุดพ้นอย่างเท่าเทียม เข้าถึงแล้วโดยผู้ที่มีความรู้บริสุทธิ์และทัศนะอันเท่าเทียม ด้วยเหตุนี้ อาณาจักรแห่งพระนิพพานจึงเป็นเอกรส นั่นคือ รสแห่งความรู้และความเป็นอิสระเป็นหนึ่งเดียวกัน พระผู้มีพระภาคเจ้า บุคคลใดยังมิได้ขจัดและทำอาสวะตกตะกอนให้บริสุทธิ์ ยังเข้าถึงเอกรสแห่งอาณาจักรพระนิพพาน นั่นคือสำหรับบุคคลนั้น ความรู้และความเป็นอิสระยังมิได้เป็นรสเดียวกัน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เพราะเขายังมิได้ขจัดเสียให้สิ้น ทั้งยังมิได้ทำให้อาสวะตกตะกอนนั้นบริสุทธิ์ ยังมิได้ขจัดหรือทำให้ธรรมชาติอันพึงขจัดซึ่งมีจำนวนมากมายดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาเสียให้สิ้น และเมื่อเขามิได้ขจัด หรือทำให้ธรรมชาติอันมีจำนวนมากมายดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคานั้นบริสุทธิ์ เขาจึงยังไม่เข้าถึง และยังไม่ประสบโดยตรงกับคุณธรรมทั้งหลาย อันมีจำนวนมากมายดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า  อาสวะตกตะกอนเป็นปัจจัยซึ่งทำให้เกิดกิเลสขั้นแรกและขั้นรอง ซึ่งควรขจัดได้ด้วยสมาธิ ด้วยอาสวะตกตะกอนเหล่านั้น ทำให้เกิดกิเลสขั้นรองขึ้นในความคิด ความสงบ ความมีทัศนะที่ชัดเจน และความมีสมาธิในโยคะ ในความรู้ ในผล ในความเข้าใจ ในพละ ในความกล้า

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า กิเลสขั้นรองซึ่งมีจำนวนมากมายดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา ย่อมสามารถขจัดได้โดยสิ้นเชิง โดยพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า ทั้งหมดนั้นเกิดจากอาสวะตกตะกอนอันเป็นทั้งเหตุและปัจจัยให้เกิดกิเลสขั้นรองรวมทั้งการปรากฏทั้งปวงการแสดงออกของกิเลสนั้นเป็นไปเพียงชั่วครู่ ในขณะของรู้และความสัมพันธ์กับธรรมะนับแต่กาลอันนานประมาณไม่ได้ อาสวะตกตะกอนนี้อยู่ในจิตไร้สำนึก เป็นธรรมชาติที่พึงขจัดเสียให้สิ้น อันมีจำนวนมากมายดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา สามารถขจัดเสียได้โดยพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า ล้วนเป็นธรรมชาติแห่งพื้นฐานของอาสวะตกตะกอนนี้ทั้งสิ้น อุปมาเมล็ดพืชไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ใด จะเป็นต้นหญ้าหรือต้นไม้ ย่อมพินาศไป สลายไป และไม่มีตัวตนฉันนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้า ในลักษณะเดียวกัน ธรรมชาติเหล่านั้นพึงขจัดไปอัน มีจำนวนมากมายดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา อันขจัดเสียได้โดยพระปัญญาตรัสรู้แห่งพระตถาคตเจ้า พบได้ในอาสวะตกตะกอน มีอยู่ในอาสวะตกตะกอน เกิดขึ้นและเจริญเติบโตอยู่  หากอาสวะตกตะกอนถูกขจัดไปหรือทำให้บริสุทธิ์ และสูญสลายไป ก็จะขจัดธรรมชาติเหล่านั้นที่ มีจำนวนมากมายดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา อันสามารถขจัดให้สิ้นไปได้ด้วยพระปัญญาตรัสรู้แห่งพระตถาคตเจ้า ย่อมขจัดได้ ทำให้บริสุทธิ์และสลายไปในที่สุด"

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
("ความหมายสุดท้าย" และ "เอกยาน")

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่ออาสวะกิเลสทั้งมวล และกิเลสชั้นรอง ถูกขจัดออกไปเสียแล้ว บุคคลย่อมเข้าถึงพุทธภาวะอันมิอาจหยั่งถึงได้ มีจำนวนมหาศาลกว่าเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา เมื่อนั้นพระตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมเข้าถึงธรรมชาติทั้งปวงโดยไม่มีอุปสรรคทรงเป็นผู้รู้รอบและทรงเป็นสัพพัญญู ทรงเป็นอิสระจากความเห็นผิด ทรงถึงพร้อมอยู่ในกุศลอันสมบูรณ์ ทรงเป็นพระธรรมราชเจ้า ผู้เข้าถึงสถานะอันเป็นใหญ่เหนือธรรมชาติทั้งปวง ทรงเปล่งพระสุรสีหนาทว่า 'การเกิดได้ยุติลงแล้ว ถึงซึ่งชีวิตอันบริสุทธิ์เป็นที่สุดแล้ว หน้าที่ได้สำเร็จแล้ว ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้' เมื่อเป็นเช่นนี้ พระสุรสีหนาทแห่งพระตถาคตเจ้าย่อมเป็นความหมายสุดท้าย และได้อธิบายความหมายนี้โดยเที่ยงตรงแน่วแน่

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า มีความรู้ 2 ชนิดที่บ่งชี้ เมื่อพูดว่า 'ไม่มีอะไรที่จะต้องเรียนรู้มากไปกว่านี้'

       "พระตถาคตเจ้า ได้ทำลายมารทั้ง 4 ลงด้วยชัยชนะอันประมาณมิได้ของพระพุทธเจ้า ได้เข้าถึงธรรมกายซึ่งประเสริฐกว่าโลกทั้งมวลอันมิอาจเข้าถึงได้โดยสรรพสัตว์ เมื่อได้เป็นพระธรรมราช อันปราศจากอุปสรรคในขั้นตอนทุกขั้นของการรู้ พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นว่าไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากนี้ที่จะต้องทำความเข้าใจอีกต่อไป เสด็จสู่ภาวะสมบูรณ์อันประมาณมิได้ ทรงปราศจากความกลัว ทรงถึงพร้อมในทศพล และทรงเข้าถึงความรู้ทั้งปวงโดยปราศจากอุปสรรค พระองค์จึงทรงเปล่งพระสุรสีหนาทด้วยความรู้ที่ว่า 'ไม่มีอะไรจะต้องรู้อีกแล้วนอกจากนี้'

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธะสามารถเอาชนะอันตรายจากสังสาร และเข้าถึงความสุขแห่งการหลุดพ้น ได้เห็นโดยถูกต้องว่า 'ข้าฯเป็นอิสระแล้วจากอันตรายแห่งสังสาร จะไม่ต้องประสบกับความทุกข์ในสังสารอีกต่อไป' พระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะตระหนักว่า 'ไม่มีอะไรที่จะต้องรู้มากไปกว่านี้' จึงได้ตัดสินใจว่าเข้าได้เขาถึงพระนิพพานในขั้นของการหยุดการหายใจได้ นอกจากนั้น เมื่อเขาได้ตระหนักเช่นนี้ เขาก็ย่อมตกอยู่ในความยึดมั่นในความคิดว่า 'ข้าฯ เข้าถึงพระนิพพาน โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น ข้าฯจึงเป็นผู้บรรลุการตรัสรู้โดยไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน'

       "ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะสาวกยานและปัจเจกพุทธยานนั้น ล้วนรวมอยู่ในมหายาน พระผู้มีพระภาคเจ้า มหายานนั้นมีความหมายถึงพุทธยาน ในลักษณะนี้  ยานทั้งสามนับรวมกันเป็นหนึ่งคือเอกยานการตระหนักใน 'เอกยาน' คือการเข้าถึงการตรัสรู้สัมมาสัมพุทธญาณโดยสมบูรณ์ การตรัสรู้พระสัมมาสัมพุทธญาณโดยสมบูรณ์คือความหมายของอาณาจักรพระนิพพาน อาณาจักรพระนิพพานหมายถึงธรรมกายของพระตถาคตเจ้า การบรรลุในพระธรรมกายโดยสมบูรณ์ คือการหยั่งรู้ในเอกยาน พระผู้มีพระภาคเจ้า พระตถาคตมิได้ต่างจากพระธรรมกาย พระตถาคตนั่นเองคือพระธรรมกาย การหยั่งรู้พระธรรมกายโดยสมบูรณ์คือการบรรลุในเอกยานโดยสมบูรณ์นั่นเอง โดยปรมัตถ์ของเอกยานคือความหมายของเอกยานสัมบูรณ์นั่นเอง ด้วยเหตุใดเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเหตุที่ว่า พระตถาคตมิได้ทรงจำกัดอยู่ในกาล พระตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสถิตอยู่ในกาลอันไม่มีขอบเขตจำกัด พระองค์มิได้ทรงมีขอบเขตจำกัดในพระกรุณาที่จะเยียวยารักษาโรค เมื่อประชาชนอุทานว่า 'พระองค์เปี่ยมด้วยพระกรุณาเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกโดยหาขอบเขตจำกัดมิได้' พวกเขาหมายถึงพระตถาคตเองทีเดียว เมื่อประชาชนอุทานว่า 'เพื่อประโยชน์สุขแห่งชาวโลก พระองค์ทรงเป็นสรณะอันมีธรรมชาติที่มิอาจทำลายได้ เป็นนิรันดร์ ทรงมีธรรมชาติอันมั่นคง' เขาพูดถึงพระตถาคตนั่นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเป็นเช่นนี้ พระตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าสถิตอยู่ในโลกที่ขาดสรณะ  ขาดผู้คุ้มครอง ย่อมทรงเป็นสรณะอันเป็นนิรันดร์ เป็นสรณะที่มั่นคง และไม่มีผู้ใดทำลายได้

       "พระผู้มีพระภาคเจ้า 'ธรรม' หมายถึงคำสอนในมรรคแห่งเอกยาน 'พระสงฆ์' หมายถึงที่รวมแห่งยานทั้งสาม สรณะประการที่สองเป็นสรณะที่ขึ้นอยู่กับสรณะประการแรก มิใช่สรณะสูงสุด ด้วยเหตุใดหรือ เพราะพระธรรมซึ่งสอนในมรรคแห่งเอกยานนั้น เป็นความรู้แจ้งแห่งธรรมกาย และนอกเหนือไปจากนั้น ไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะเกี่ยวข้องกับพระธรรมที่สอนมรรคแห่งเอกยาน เจ้าภาพแห่งยานทั้งสามจึงพากันยึดในสรณะ ยึดในพระตถาคตเพราะความกลัว แล้วแสวงหาวิธีการในการเข้าสู่ชีวิตทางศาสนา ศึกษาและปฏิบัติ และมุ่งเข้าสู่วิถีทางแห่งการตรัสรู้โดยสมบูรณ์ ดังนั้น สรณะประการที่สองจึงมิใช่สรณะที่สูงสุด เป็นสรณะที่ยังมีขอบเขตจำกัด

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อสรรพสัตว์ที่พระตถาคตจะกล่อมเกลานี้ เข้าหาพระตถาคตเพื่อยึดเป็นสรณะ เขามีศรัทธาอันเกิดจากธรรมชาติแท้ ดังนั้น เขาจึงยึดในพระธรรมและพระสงค์ด้วยว่าเป็นสรณะ และด้วยศรัทธาอันเกิดจากธรรมชาติแท้นี้เอง ที่เขายึดเอาสรณะทั้งสองว่าเป็นสรณะที่พึ่ง แต่เมื่อเขายึดในพระตถาคตว่าเป็นสรณะนั้น เขามิได้มีศรัทธาอันเกิดจากธรรมชาติแท้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เขายึดในพระตถาคตเป็นสรณะ เป็นการยึดเป็นสรณะโดยแท้ โดยเหตุที่พระตถาคตมิใช่สิ่งหนึ่ง และสรณะทั้งสองเป็นอีกสิ่งหนึ่งต่างกันออกไป พระผู้มีพระภาคเจ้า พระตถาคตนั้นเองทรงเป็นสรณะทั้งสาม ทั้งนี้เพราะพระธรรมซึ่งสอนมรรคแห่งเอกยาน เป็นพระวจนะของพระตถาคต ดุจราชาแห่งโคทั้งปวง และเป็นสุรสีหนาทของพระตถาคตอันเปี่ยมในความมั่นใจทั้ง 4 ประการ(*)และเป็นเพราะว่าไม่ว่าจะด้วยความเชื่อในสิ่งในสิ่งใด เขาก็ถึงพร้อมมนมหายาน เช่นที่พระตถาคตทำให้ถึงพร้อมด้วยมรรคในยานทั้งสอง เมื่อไม่มีศัพท์คำใดสำหรับยานทั้งสองนี้ จึงเป็นที่สุดว่าเอกยานนั้น เป็นยานที่แท้ และเป็นที่รวมของยานทั้งสาม"

* ราชสีห์เป็นเจ้าป่า ย่อมปราศจากความกลัวภยันตรายเป็นที่พึ่งแห่งตนเป็นผู้มั่นคง (ในสมาธิ)และเป็นพระชินะ (คือเอาชนะกิเลสทั้งปวง)

6 พระอริยสัจอันประมาณมิได้

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธะมีความรู้เพียงด้านเดียวในการทำความเข้ามจในอริยสัจ 4 เขากำจัดอาสวะสถิตบางประเภทออกไปได้ ด้วยความรู้เพียงด้านเดียวนั้น เขาก็เข้าถึงกุศลทั้ง 4 และแยกแยะวัตถุทั้ง 4 ประเภท ตามธรรมชาติที่แท้ของเขา พระผู้มีพระภาคเจ้า ในความรู้ขั้นโลกุตระนั้น จึงไม่มีการก้าวหน้าในความรู้ในอริยสัจ 4 และไม่มีการก้าวหน้าในการแสวงหาความรู้นั้น ในโลกุตรธรรมนั้นมีลักษณะดุจเพชร ไม่มีธรรมชาติในการก้าวหน้า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ทั้งพระสาวกและพระปัจเจกพุทธะย่อมขึ้งในอริยสัจประการแรก ซึ่งขจัดเสียซึ่งอาสวะสถิต แต่ไม่ได้เข้าถึงอริยสัจประการที่สอง เพื่อขจัดอาสวะอื่นๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า พระตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอยู่นอกขอบข่ายแห่งประสาทสัมผัสของพระสาวกและพระปัจเจกพุทธะ และทรงขจัดเสียซึ่งอุปกิเลสทั้งหลายด้วยความรู้ในสุญญตาอันประมาณมิได้ ความรู้ขั้นปรมัตถ์ที่ทำลายอุปกิเลสทั้งปวงนั้นเรียกว่า สัมมาญาณ ความรู้ในอริยสัจประการแรกยังมิใช่ความรู้ปรมัตถ์  แต่เป็นความรู้ในมรรคที่มุ่งสู่สัมมาสัมโพธิญาณ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า คำว่า 'อริยะ' นั้น มิได้หมายถึงพระสาวกหรือพระปัจเจกพุทธะ ทั้งสองยังมีกุศลจำกัด และเพราะกุศลของเขายังขึ้นอยู่กับพระสาวกและพระปัจเจกพุทธ จึงยังเรียกว่า 'อริยะ' อริยสัจมิใช่สัจจะของพระสาวกและพระปัจเจกพุทธะ พระผู้มีพระภาคเจ้า สัจจะเหล่านี้ค้นพบโดยพระตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า และเมื่อได้ทรงตรัสรู้โดยถ่องแท้แล้ว จึงทรงนำมาเปิดเผยและโปรดชาวโลกผู้ยังอยู่ในห้วงแห่งอาสวะ นี่เป็นวิธีที่เราควรทำความเข้าใจในอริยสัจ"

7 ตถาคตครรภ์

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า   การอธิบายความหมายของคำว่า อริยสัจ นั้น ควรจัดเป็นเรื่องสุขุมละเอียดอ่อน ยากที่จะเข้าใจได้ ยากที่จะตัดสิน และมิได้อยู่ในขอบข่ายของตรรกะ ผู้ที่เข้าใจได้ต้องเป็นผู้มีปัญญาญาณ ย่อมไม่ใช่ความสนใจของปุถุชน ด้วยเหตุใดหรือ เพราะคำสอนอันสุขุมนี้ อธิบายถึงตถาคตครรภ์ ตถาคตครรภ์เป็นอาณาจักรของพระตถาคตเจ้า มิใช่อาณาจักรของพระสาวกหรือพระปัจเจกพุทธะ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตถาคตครรภ์เป็นจุดกำเนิดของการอธิบายความหมายของอริยสัจ เพราะจุดกำเนิดของตถาคตครรภ์สุขุมเช่นนี้ ความหมายของอริยสัจจึงละเอียดอ่อน สุขุม ยากแก่การเข้าใจ ยากแก่การตัดสิน มิได้อยู่ในขอบข่ายแห่งตรรกะ ผู้มีปัญญาญาณเท่านั้นจึงจะเข้าใจได้ มิได้อยู่ในความสนใจของปุถุชน

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ใครก็ตามที่ไม่สงสัยว่าตถาคตครรภ์หุ้มห่ออยู่ในกิเลส ย่อมไม่สงสัยว่า ธรรมกายของพระตถาคตนั้นเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง เมื่อจิตผู้ใดก็ตามที่เข้าถึงปรมัตถ์แห่งตถาคตครรภ์ ธรรมกายแห่งพระตถาคต และอาณาจักรอันประมาณมิได้ของพระพุทธเจ้า เขาย่อมมีความเชื่อมั่นในการอธิบาย 2 แบบ ของอริยสัจ การอธิบาย 2 แบบนี้ ยากที่จะรู้และยากที่จะเข้าใจ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า การอธิบาย 2 แบบในความหมายของอริยสัจนี้ หมายความว่าอย่างไร คือการอธิบายในแบบที่สร้างขึ้นและมิได้สร้างขึ้น (*) ในความหมายของอริยสัจ การอธิบายแบบสร้างขึ้นนั้น  อธิบายอริยสัจ 4 ในขอบเขตของปัญญา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อบุคคลยังอาศัยคนอื่นอยู่ เขาย่อมไม่ได้แสวงหาความทุกข์ทั้งปวงขจัดเสียซึ่งเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง เข้าถึงความสิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงโดยตรง และพัฒนามรรคเพื่อนำไปสู่ความพ้นทุกข์นั้น  เมื่อเป็นเช่นนี้  จึงมิได้มีเพียงสังขารสังสารและอสังขารสังสารเท่านั้น หากยังมีทั้งสังขารนิพพาน และอสังขารนิพพานอีกด้วย การอธิบายแบบไม่ได้สร้างขึ้นในความหมายของอริยสัจนั้น เป็นการอธิบายอริยสัจโดยปราศจากขอบเขตจำกัดทางปัญญา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะหากหวังพึ่งตนเองแล้ว บุคคลก็จะแสวงหาความทุกข์ที่รู้สึกได้ลึกที่สุด ขจัดสาเหตุแห่งความทุกข์นั้น ตระหนักในสาเหตุแห่งความทุกข์นั้น และพัฒนามรรคอันนำไปสู่การถึงที่สุดแห่งความทุกข์นั้น เมื่อเป็นดังนี้คำอธิบายในเรื่องอริยสัจของพระตถาคต จึงกลายเป็นอริยสัจ 4 ประการ (คือคำอธิบายสร้างขึ้น 4 และไม่สร้างขึ้นอีก 4)

* สร้างขึ้น "คือการมุ่งที่จะพ้นทุกข์โดยไม่ได้เข้าถึงอย่างแท้จริง" ไม่สร้างขึ้น "คือการพ้นทุกข์ที่ถึงพร้อมด้วยธรรมชาติแห่งพุทธะทั้งหลาย และเข้าถึงโดยสมบูรณ์ด้วย"

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอธิบายความหมายของอริยสัจที่ไม่สร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์ ทั้งพระสาวกและพระปัจเจกพุทธะยังไม่ถึงซึ่งความสมบูรณ์ ด้วยเหตุที่ยังไม่เข้าใจในอาณาจักรของพระนิพพาน โดยการเข้าใจในธรรมชาติว่าเหนือกว่า ปานกลาง และต่ำกว่า ถ้าเช่นนั้นพระตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงอธิบายความหมายที่ไม่ได้สร้างขึ้นของอริยสัจให้สมบูรณ์เล่านั้นเป็นเพราะพระตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้ในความทุกข์ในอนาคต แล้วขจัดเสียซึ่งเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงอันนับเนื่องในอาสวะประเภทแรกหรือประเภทรอง  และหยั่งรู้ในการดับทุกข์ ที่เป็นการดับขันธ์เกิดแต่จิตทั้งปวง"

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
8-9 ธรรมกายและความหมายแห่งสุญญตา

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า การพ้นทุกข์มิใช่การสิ้นสุดแห่งธรรมะ ด้วยเหตุใดหรือ เพราะพระธรรมกายของพระตถาคตนั้นได้ชื่อว่า 'เป็นที่สุดแห่งทุกข์' ไม่มีจุดกำเนิด มิได้ถูกสร้างขึ้น ไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย เป็นอิสระจากความตาย เป็นนิรันดร์ มั่นคง สงบ อมตะ มีความบริสุทธ์จากภายใน เป็นอิสระจากอาสวะทั้งปวง ถึงพร้อมอยุ่ในธรรมชาติแห่งพุทธะอันมีจำนวนมากกว่าเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา มีความเปิดเผย เป็นอิสระและหยั่งมิได้ ธรรมกายแห่งพระตถาคตนี้ เมื่อยังไม่เป็นอิสระจากอาสวะเรียกว่า ตถาคตครรภ์

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ความรู้ในตถาคตครรภ์คือ รู้ในสุญญตาแห่งพระตถาคตเจ้า ตถาคตครรภ์เป็นสิ่งที่ไม่เห็น  ไม่ได้ยินมาก่อนโดยพระสาวกและพระปัจเจกพุทธะ  เป็นสิ่งที่เข้าใจได้โดยตรง โดยพระผู้มีพระภาคเจ้า ความรู้ในสุญญตาแห่งตถาคตครรภ์นั้นมี 2 ชนิด ดังนี้

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตถาคตครรภ์เป็นสูญจากกิเลสทั้งปวงที่ปกปิด และที่รู้ว่ายังไม่เป็นอิสระ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตถาคตครรภ์มิได้เป็นสูญจากธรรมะแห่งพุทธะอันเปิดเผย มิอาจหยั่งได้ มีจำนวนมากกว่าเม็ดทราบในแม่น้ำคงคา และรู้กันว่าเป็นอิสระ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ความรู้แห่งสุญญตาทั้งสองแบบแห่งตถาคตครรภ์นี้ ย่อมทำให้เกิดศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยเฉพาะกันพระสาวกทั้งหลาย  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ความรู้ในสุญญตาของพระสาวกและพระปัจเจกพุทธะยังข้องอยู่ในวัตถุทั้ง 4 (*) เมิ่อเป็นเช่นนั้น ทั้งพระสาวกและพระปัจเจกพุทธะจึงไม่เห็นไม่เข้าใจมาก่อนในที่สุดแห่งทุกข์ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงหยั่งถึงโดยตรงและทรงเข้าใจโดยถ่องแท้ และทั้งพระองค์ยังได้เอาชนะกิเลสทั้งปวง และได้พัฒนามรรคอันเป็นหนทางสู่การสิ้นสุดแห่งทุกข์"

* ได้แก่ความยึดมั่นว่าอนิจจังเป็นนิจจัง เป็นต้น

10 เอกสัจ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า อริยสัจทั้ง 4 ประการนี้ สัจจะ 3 ประการยังนับว่าเป็นอนิจจัง มีสัจจะเดียวที่เป็นนิจจัง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะสัจจะทั้ง 3 นั้น ยังมีสังขารลักษณะ และอะไรก็ตามที่ยังมีสังขารลักษณะย่อมเป็นอนิจจัง สิ่งใดก็ตามที่เป็นอนิจจังย่อมมีธรรมชาติมายา ทุกสิ่งที่มีธรรมชาติมายาย่อมไม่เป็นจริง เป็นอนิจจัง และเป็นสรณะมิได้ ดังนั้นอริยสัจแห่งทุกข์ สมุทัย และมรรค นับว่าไม่จริงเป็นอนิจจัง และเป็นสรณะมิได้  พระผู้มีพระภาคเจ้า ในอริยสัจ 4 นี้ มีเพียงอริยสัจเดียวคือนิโรธ ซึ่งตัดขาดจากอาณาจักรแห่งสังขารลักษณะสิ่งใดที่ตัดขาดจากสังขารลักษณะย่อมเป็นนิจจัง สิ่งใดที่เป็นนิจจังย่อมไม่มีธรรมชาติมายา และสิ่งใดที่ปราศจากธรรมชาติมายาย่อมเป็นจริงเป็นนิจจัง และเป็นสรณะ ดังนั้น อริยสัจคือ นิโรธ จึงมีความจริงเป็นนิจจัง และเป็นสรณะ

11 - 12 เอกสรณะ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นิโรธอยู่เหนือการสัมผัสของสรรพสัตว์ทั้งหลาย มิอาจหยั่งได้ และทั้งมิได้อยู่ในขอบข่ายของความรู้ของพระสาวก หรือพระปัจเจกพุทธะ เปรียบดังคนตาบอดที่ไม่อาจเห็นรูปหรือทารกอายุ 7 วันที่ไม่เคยเห็นดวงอาทิตย์ เช่นเดียวกัน นิโรธ มิใช่อริยสัจที่สัมผัสได้โดยปุถุชนผู้ยังไม่เจริญ ทั้งมิใช่ความรู้ในขอบข่ายของพระสาวกหรือพระปัจเจกพุทธะ พระผู้มีพระภาคเจ้า 'ผัสสะของปุถุชนผู้ยังไม่เจริญ' เป็นศัพท์ที่ใช้ในทัศนะสุดขั้ว 2 ประการ 'ความรู้ของพระสาวกหรือพระปัจเจกพุทธะ' เป็นศัพท์ที่ใช้ในความหมายของความรู้บริสุทธิ์  'ทัศนะสุดขั้ว 2 ประการ'  เป็นศัพท์ที่ใช้ในการให้เหตุผลของปุถุชนผู้ยังไม่เจริญ ยังมีตัวตนมีที่ยึดมั่นอยู่ในเบญขันธ์ พระผู้มีพระภาคเจ้า  'ทัศนะสุดขั้ว'  มี 2 ประการนี้คืออะไร คือ อุจเฉททิฏฐิ กับ สัสสตทิฏฐิ ยังมีการมองเห็นว่า 'สังขารนั้นเป็นอนิจจัง' นี่อมเป็นอุจเฉททิฏฐิ และมิใช่ทัศนะที่ถูกต้อง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งถือว่า 'พระนิพพานเป็นนิจจัง' นี่เป็นสัสสตทิฏฐิ ย่อมมิใช่ทัศนะที่ถูกต้องเช่นกัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า หากผู้ใดเห็นว่าร่างกาย ประสาทสัมผัส ความรู้สึก และความจำได้หมายรู้ เสื่อมลงในชีวิตปัจจุบัน และไม่สามารถเข้าใจและไม่สามารถค้นพบการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ทัศนะของเขาด้วยเหตุผลนั้นย่อมเป็นทัศนะที่สับสน เป็นอุจเฉททิฏฐิ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อบุคคลมีความสับสนในเรื่องวิญญาณ และไม่เข้าใจการสิ้นสุดชั่วขณะของวิญญาณ ทัศนะของเขาด้วยเหตุผลเช่นนั้น เป็นทัศนะแบบสัสสตทิฏฐิ พระผู้มีพระภาคเจ้า ในลักษณะนั้น ทัศนะที่ใช้เหตุผลประกาศว่า ควรจะเป็นเช่นนั้น เขาก็ยึดมั่นในอุจเฉททิฏฐิบ้าง หรือยึดมั่นในสัสสตทิฏฐิบ้าง เพราะทัศนะของเขาไปไกลกว่าความหมาย หรือไม่ถึงความหมาย หรือเป็นทัศนะที่มีลักษณะผสมปะปนกัน พระผู้มีพระภาคเจ้า สรรสัตว์ย่อมหลงไปในเบญจขันธ์ มีความคิดว่า อนิจจังเป็นนิจจัง ความทุกข์เป็นสุขอนัตตาเป็นอัตตา ความไม่บริสุทธิ์เป็นความบริสุทธิ์

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอบเขตของความรู้อันเป็นธรรมกายของพระตถาคตนั้น ไม่มีใครเห็นมาก่อน แม้โดยความบริสุทธิ์ของพระสาวกและพระปัจเจกพุทธะ เมื่อสรรพสัตว์มีศรัทธาในพระตถาคต และสรรพสัตว์เหล่านั้นเข้าถึงพระองค์ด้วยความมั่นคง ความสุข อัตตา ความบริสุทธิ์ และไม่หลงผิดไป สรรพสัตว์เหล่านั้นมีทัศนะที่ถูกต้องทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะธรรมกายของพระตถาคตมีความสมบูรณ์ในความเป็นนิจจัง มีความสมบูรณ์อยู่ในความสุข มีความสมบูรณ์ในอัตตา และสมบูรณ์ในความบริสุทธิ์ เมื่อใดก็ตามที่สรรพสัตว์เห็นธรรมกายของพระตถาคตในลักษณะนี้ เรียกได้ว่าเขาเห็นถูกต้อง ผู้ใดเห็นถูกต้องนับว่าเป็นพุทธบุตร เกิดจากพระหฤทัย เกิดจากพระโอษฐ์ เกิดจากธรรมะ ผู้ปฏิบัตินี้เป็นเยี่ยงปรากฏของพระธรรมและประดุจเป็นทายาทแห่งพระธรรม

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า  'ความรู้บริสุทธิ์" คือความรู้สมบูรณ์ของพระสาวกและพระปัจเจกพุทธะ จึงนับเป็นความรู้บริสุทธิ์ ในเมื่ออริยสัจคือนิโรธนั้น มิได้อยู่ภายในขอบข่ายหรือเป็นวัตถุแห่งความรู้บริสุทธิ์ อริยสัจคือนิโรธนั้นมิใช่ขอบข่าย มิใช่วัตถุของผู้ที่มีความรู้เพียงอาศัย 4 (*) ด้วยเหตุใดหรือ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่เริ่มต้นในยานทั้งสามจะได้ไม่หลง และเข้าใจในความหมายที่แท้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอธิบายในอาศัย 4 แล้ว อาศัย 4 นี้เป็นโลกียะ  พระผู้มีพระภาคเจ้าสรณะเดียว คืออริยสัจนิโรธ เป็นเลิศในสรณะทั้งหลายในโลกกุตระ นั่น คืออาศัยที่แท้จริง นั่นคือสรณะ"

* สิ่งที่บุคคลพึงพัฒนา โดยยึดในอรรถะและมิใช่พยัญชนะ ยึดในธรรมะมิใช่ตัวบุคคล ยึดในความรู้ (ญาณ) มากกว่าสัมผัส ยึดในคัมภีร์อันมีความหมายเป็นที่สุดมหากกว่าความหมายรอง

13 ความบริสุทธิ์ภายในแห่งจิต

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า  สังสารนั้นขึ้นอยู่กับตถาคตครรภ์ในความหมายที่เกี่ยวเนื่องในตถาคตครรภ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอธิบายว่า 'มันไม่มีขอบเขตในอดีต' เพราะมีตถาคตครรภ์ จึงเป็นปัจจัยให้พูดถึงเรื่องสังสาร พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยสังสารนี้ไม่ทันที่อายตนะแห่งสัมผัสจะผ่านไป ตถาคตครรภ์ก็ยึดถือในสัมผัสนั้น และนั่นเองคือสังสาร พระผู้มีพระภาคเจ้า ธรรมชาติทั้งสองคือการ 'ดับไป' และ 'การเกิด' เป็นศัพท์ที่สมมุติเพื่อใช้กับตถาคตครรภ์ พระผู้มีพระภาคเจ้า คำว่า 'ดับไป' และ 'เกิดขึ้น' เป็นศัพท์สมมุติที่ใช้ในโลก 'ดับไป' คือการดับของสัมผัส 'เกิดขึ้น'  คือการได้สัมผัสอีก แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตถาคตครรภ์นั้นไม่มีเกิด ไม่มีตาย ไม่มีการดับสูญ เพื่อมาเกิดอีก ตถาคตครรภ์ไม่มีสังขารลักษณะ(คือไม่ประกอบขึ้น) ตถาคตครรภ์เป็นนิจจังมั่นคงเป็นนิรันดร์ ดังนั้นตถาคตครรภ์จึงเป็นผู้สนับสนุนเป็นผู้รักษา เป็นรากฐานแห่งสังขาร(แห่งธรรมชาติพุทธะ) อันไม่ปกปิดเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง และยิ่งไปกว่านั้น เป็นผู้สนับสนุน เป็นผู้รักษา เป็นรากฐานแห่งสังขารลักษณะภายนอกที่ปกปิด และรู้ว่ายังไม่เป็นอิสระ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หากไม่มีตถาคตครรภ์ แล้วย่อมไม่มีความต้องการที่จะพ้นทุกข์ ทั้งไม่มีความปรารถนา ความมุ่งมั่น และความศรัทธาในพระนิพพาน ด้วยเหตุไดหรือ ไม่ว่าอายตนะทั้ง 6  จะเป็นอย่างไร ไม่ว่าผัสสะอื่นจะเป็นอย่างไร ธรรมชาติทั้ง 7(*) มิได้คงอยู่เป็นไปเพียงชั่วขณะและไม่รับรู้ทุกข์ ธรรมชาติเหล่านี้จึงไม่สอดคล้องกับการหลีกหนีทุกข์ และไม่แสวงหาไม่ปรารถนาพระนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้า ตถาคตครรภ์มีปรมัตถ์สารรัตถะอันปราศจากจุดกำเนิดและปราศจากจุดจบ มีธรรมชาติที่ไม่มีเกิดไม่มีตาย และรับรู้ในทุกข์ ดังนั้น ตถาคตครรภ์จึงสมควรที่จะหลีกหนีทุกข์ และแสวงหานิพพาน

* คืออายตนะ 6 ได้แก่ วิญญาณที่เกิดจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิญญาณที่ 7 คือวิญญาณที่ควบคุมการทำงานของมโนวิญญาณ และเป็นตัวรับรู้ธรรมะ ทางฝ่ายมหาสังฆิกะ เรียกวิญญาณที่ 7 นี้ว่า มูลวิญญาณ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตถาคตครรภ์ทั้งมิใช่อัตตา หรือสรรสัตว์ มิใช่วิญญาณ มิใช่บุคคล ตถาคตครรภ์มิได้อยู่ในขอบข่ายของสรรพสัตว์ผู้ตกอยู่ในข่ายความเชื่อเรื่องบุคคลก็ดี หรือผู้ที่ยึดอยู่ในทัศนะหนึ่งก็ดี หรือผู้ที่มีความคิดยึดติดอยู่ในสุญญตาก็ดี พระผู้มีพระภาคเจ้า ตถาคตครรภ์นี้ เป็นพีชะแห่งธรรมธาตุอันประเสริฐ เป็นพีชะแห่งธรรมกาย เป็นพีชะแห่งโลกุตรธรรม เป็นพีชะแห่งธรรมะอันบริสุทธิ์ภายใน

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ความบริสุทธิ์ภายในแห่งตถาคตครรภ์แปดเปื้อนด้วยกิเลสจรอยู่ในขอบข่ายของพระตถาคต ผู้ทรงเป็นนายอันมิอาจหยั่งได้ ด้วยเหตุใดหรือ วิญญาณบริสุทธิ์ เป็นเพียงชั่วขณะ ไม่แปดเปื้อนด้วยกิเลส และวิญญาณที่ไม่บริสุทธิ์ ก็เป็นเพียงชั่วขณะ ไม่แปดเปื้อนด้วยกิเลสเช่นกัน พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อกิเลสมิอาจแปดเปื้อนวิญญาณนั้นได้ ทั้งวิญญาณนั้นก็มิได้สัมผัสกิเลส ในลักษณะนี้วิญญาณซึ่งมีธรรมชาติที่ไม่ติดอยู่จะสัมผัสกิเลสได้อย่างไร พระผู้มีพระภาคเจ้า ที่จริงแล้วมีทั้งกิเลสและวิญญาณที่แปดเปื้อน ดังนั้น ความหมายของคำว่ากิเลสที่แปดเปื้อนวิญญาณบริสุทธิ์ภายใน จึงเป็นเรื่องที่ยากแก่การเข้าใจ พระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นที่ทรงมีพระเนตรและพระปัญญาหยั่งรู้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นรากฐานแห่งหลักธรรมทั้งปวง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้รู้ทั่ว และทรงเป็นสรณะ"

       ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงสดับพระนางศรีมาลาตรัสอธิบายเรื่องยากแก่ความเข้าใจ ทรงชื่นชมและมีพุทธดำรัสว่า

       เทวี เป็นเช่นนั้น ความหมายแห่งวิญญาณบริสุทธิ์ภายใน ในสภาพที่ยังข้องกิเลสนั้นเป็นเรื่องยากแก่การเข้าใจ หลักธรรมทั้งสองนี้ยากแก่การเข้าใจ วิญญาณที่บริสุทธิ์ภายในก็ยากแก่การเข้าใจ และความแปดเปื้อนของวิญญาณเป็นเรื่องยากแก่การเข้าใจ เทวี พระนางทรงเป็นเช่นเดียวกับพระโพธิสัตต์ ผู้เข้าถึงคำสอนอันยิ่งใหญ่(*) สามารถรังฟังหลักธรรมทั้งสอง เทวี พวกที่เหลือคือพระสาวก ยอมรับหลักธรรมทั้งสองเพียงเพราะศรัทธาในพระตถาคตเจ้า"

*หมายถึงต้องเป็นโพธิสัตต์ในภูมิที่ 8 ขึ้นไป เป็นโพธิสัตต์ที่ไม่หวนคืนแล้ว

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
บทที่ 4 การเข้าสู่เอกยานมรรค

14 พุทธบุตรแห่งพระตถาคตเจ้า

       "เทวี ไม่ว่าสาวกคนใดของพระตถาคตผู้มีศรัทธา และตั่งมั่นอยู่ในศรัทธา และด้วยการตั้งมั่นอยู่ในศรัทธานั้น มีความรู้ในขอบข่ายแห่งธรรมะ ย่อมเข้าถึงฐานะนี้ เทวี 'ความรู้ในขอบข่ายแห่งธรรมนั้น'  เป็น ก. ภาพตัวแทนของประสาทสัมผัสในจิต  ข. เป็นภาพการเจริญของกรรม  ค. เป็นภาพกาหลับของพระอรหันต์  ง. เป็นภาพความปีติและและความสุขในฌานของผู้ที่ควบคุมจิตดีแล้ว จ.เป็นภาพอิทธิฤทธิ์ของพระอริยะ อันเป็นของพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธะ และพระโพธิสัตต์ผู้มีวศิตา เทวี เมื่อมีอำนาจในการเห็นภาพทั้ง 5 นี้แล้ว เขาเหล่านั้น แม้ในขณะนี้ หรือเมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว ในอนาคตย่อมเป็นสาวกผู้มีศรัทธา ตั้งมั่นอยู่ในศรัทธา ยึดมั่นในประทีปแห่งศรัทธา มีความรู้ในขอบข่ายแห่งธรรมะ ที่ทำให้เขาเข้าถึงความบริสุทธิ์ภายใน และเข้าใจในความแปดเปื้อนแห่งวิญญาณ เทวี ด้วยความแน่วแน่ของพวกเขาย่อมเป็นปัจจัยให้เขาอยู่ในมหายานมรรค เมื่อเป็นเช่นนี้ ด้วยศรัทธาในพระตถาคต เขาย่อมไม่ละวางในคำสอนอันสุขุม เขาย่อมยังประโยชน์ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย"

15 สีหนาทแห่งพระนางศรีมาลาเทวี

       พระนางศรีมาลากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ "ขออำนาจแห่งพระตถาคตเจ้า ให้ข้าพระองค์มีความสามารถในการเทศนาโน้มใจเพื่อสามารถอธิบายความหมายอันปราศจากมลทิน" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เทวี พระนางจงมีความสามารถในการเทศนาเถิด"

       พระนางศรีมาลาเทวีจึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า

        "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า กุลบุตรกุลธิดาแห่งตระกูลนั้นมี 3 ประเภทในการรักษาพระธรรมโดยไร้มลทิน และไม่ให้เสื่อมเสีย ก่อกำเนิดบุญกุศลและเข้าสู่มหายานมรรค ทั้ง3 ประเภทนี้มีใครบ้าง พระผู้มีพระภาคเจ้า ก. กุลบุตรกุลธิดาแห่งตระกูล ผู้มีความรู้ในพระธรรมโดยการพินิจพิจารณา  ข. กุลบุตรกุลธิดาแห่งตระกูล ผู้มีความรู้ในขอบข่ายของธรรมะ  ค. กุลบุตรกุลธิดาแห่งตระกูลผู้ถดถอยจาการเข้าถึงความรู้ในหลักธรรมอันประเสริฐ โดยคิดว่า 'ฉันไม่เข้าใจดอกความหมายอันลึกซึ้งนี้จะเข้าใจได้โดยพระตถาคตเจ้าเท่านั้น' และด้วยความยึดมั่นในพระผู้มีพระภาคเจ้าเช่นนี้ จนพระพุทธองค์ปรากฏในจิตบุคคลเหล่านี้ เป็นบุคคล 3 จำพวกของกุลบุตรกุลธิดาแห่งตระกูล

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ยังมีสรรพสัตว์ที่แตกต่างจากกุลบุตรกุลธิดา 3 จำพวกนี้ ที่หมกมุ่นอย่างจริงจังกันพระธรรมอันประเสริฐ แต่ยึดติดอยู่กับความคิดเห็นผิด ตั้งตัวเป็นครูและพูดมาก พระผู้มีพระภาคเจ้าขอให้ข้าพระองค์สามารถเอาชนะผู้ที่หันหลังให้กับหลักธรรมอันประเสริฐ และผู้ที่มีรากเหง้าอันชั่วร้ายของเดียรถีย์ ขอให้ข้าพระองค์เอาชนะรากเหง้าอันชั่วร้ายนี้โดยบารมีแห่งเทวดา มนุษย์ และอมนุษย์"

       เมื่อพระนางศรีมาลาเทวีได้กราบทูลขอพระราชทานเช่นนี้ ข้าราชบริพารของพระนางพากันก้มลงกราบแทบเบื้องพระบาทบงกชสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสแก่พระนางศรีมาลาเทวีว่า "ประเสริฐแท้ ประเสริฐแท้ คำอธิบายของพระนางในวิธีการที่จะคุ้มครองตนเองให้อยู่ในหลักธรรม และคำอธิบายของพระนางในการเอาชนะศัตรูแห่งหลักธรรมอันประเสริฐ เหมาะกับกาลที่เดียว เทวี การถวายสักการะต่อพระพุทธเจ้าจำนวนแสนพระองค์ยังอัศจรรย์น้อยกว่าคำอธิบายของพระนางในความหมายนั้น"

       จากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแผ่ฉัพพรรณรังสีต้องข้าราชบริพารทุกคน และส่องสว่างสูงขึ้นไปเทียมต้นตาล 7 ต้น แล้วทรงเหาะไปด้วยปาฏิหาริย์ยังทิศทางกรุงสาวัตถี ขณะนั้น พระนางศรีมาลาเทวีพร้อมข้าราชบริพารพากันประณมหัตถ์น้อมนมัสการตามทิศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไป เมื่อส่งเสด็จจนสุดสายตาแล้ว พระนางศรีมาลามีพระพักตร์เปี่ยมด้วยความปีติยินดี เช่นเดียวกับเหล่าข้าราชบริพาร ต่างแซ่ซ้องสาธุการพระพุทธบารมี แล้วคืนสู่กรุงอโยธยา

บทส่งท้าย

       เมื่อพระพุทธองค์เสด็จกลังถึงสวนเชตวัน ทรงมีพระพุทธดำรัสให้พระอานนท์เถระเข้าเฝ้า และทรงระลึกถึงทิเวนทราสักระ(ท้าวสักกะเทวราช) ในขณะนั้น ทิเวนทราศักระก็ปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระพุทธองค์ พรั่งพร้อมด้วยเทพยดาบริวาร เมื่อนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้มีพุทธาธิบายพระสูตรนี้ แก่ทิเวนทราศักระและพระอานนท์เถระ

       "เกาศิกะ จงรักษาพระสูตรนี้ไว้ เกาศิกะ จงอธิบายพระสูตรนี้แก่เทวดาทั้ง 33 องค์ อานนท์ เธอจงรักษาพระสูตรนี้ไว้ และอธิบายพระสตูรนี้แก่พุทธบริษัททั้ง 4 ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา"

       จากนั้น ทิเวนทราศักระได้กราบทูลสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระสุคตเจ้า พระสูตรนี้จักมีนามว่าอะไร และข้าพระองค์จะรักษาไว้ได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า" พระโลกนาถตรัสตอบว่า "เกาศิกะ พระสูตรนี้ มีกุศลอนันต์ หากพระสาวกและพระปัจเจกพุทธะ มิอาจหยั่งรู้ มิอาจเข้าใจได้ แล้วสรรพสัตว์อื่นๆเล่า จะมิยิ่งไม่เข้าใจหรือ เกาศิกะ ในลักษณะเช่นนั้น พระสูตรนี้ละเอียดอ่อนและเป็นปัจจัยแห่งมหากุศล ดังนั้น ตถาคตจะให้นามพระสูตรนี้เพื่อแสดงความหมายถึงบารมีแห่งพระสูตร จงตั้งใจฟังและจดจำใส่ใจให้ดี" ทิเวนทราศักระและพระอานนท์เถระพร้อมกันกราบทูลพระพุทธองค์ว่า "ประเสริฐยิ่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์จักตั้งใจฟังพระพุทธบรรหาร" สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมีพุทธดำรัสว่า "ขอให้รักษาพระสตูรนี้ไว้โดยถือว่าเป็นคำสรรเสริญบารมีอันเที่ยงแท้ และกว้างใหญ่ไพศาลของพระตถาคตเจ้า
จงรักษาไว้ในฐานะที่เป็น 'มหาปณิธาน'
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นความปรารถนาอันยิ่งใหญ่อันเป็นที่รวมแห่งความปรารถนาทั้งปวง
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นคำสอนของหลักธรรมอันประเสริฐมิอาจหยั่งได้
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นคำสอนเพื่อเอกยานมรรค
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นอริยสัจอันหาขอบเขตมิได้
รักษาไว้ในฐานะเป็นคำสอนเรื่องตถาคตครรภ์
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นคำสอนเรื่องธรรมกาย
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นคำสอนลับในความหมายของสุญญตา
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นคำสอนเอกสัจ
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นคำสอนเรื่องเอกสรณะอันเป็นนิจจัง มั่นคง สงบ และนิรันดร์
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นคำสอนเพื่อการก้าวสู่ขั้นสูงขึ้นไป
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นคำสอนแก่พุทธบุตรที่แท้แห่งพระตถาคต
       เกาศิกะ รักษาไว้ในฐานะที่เป็นศรีมาลาเทวีสีหนาท  รักษาคำอธิบายทั้งหลายที่ปรากฏในพระสูตรนี้ อันจะช่วยขจัดความสงสัยตัดสินปัญหา ทำให้ความหมายสุดท้ายชัดเจน และเข้าสู่เอกยานมรรค เกาศิกะ ตถาคตขอมอบพระสูตรอันสอนถึงศรีมาลาเทวีสีหนาทนี้ไว้ในหัตถ์ของท่าน ตราบเท่าที่หลักธรรมอันประเสริฐยังวัฒนาการอยู่ในโลก ขอให้พระองค์ทรงท่องบ่นและสอนโลกทั้งทศทิศ"

       ทิเวนทราศักระทรงน้อมรับว่า "ประเสริฐแล้วพระพุทธเจ้าข้า" เมื่อได้น้อมรับพระสูตรนี้ต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าและท่องจำจนขึ้นใจ ทิเวนทราศักระ พระอานนท์เถระเจ้า และบริษัทในธรรมสภานั้น ทั้งเทวดา มนุษย์ อมนุษย์ พร้อมคนธรรพ์ พากันโมทนาสาธุการ ต่อพระพุทธดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า

จบ ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร เพียงนี้     

 :yoyo106:

http://www.mahayana.in.th/tmayana/พระสูตร/ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร.html
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
 :13: อนุโมทนาครับพี่มด^^
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
 
 

 
 :02: :13:   ลิ้งค์ค่ะ  :45:
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 19, 2014, 09:37:39 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ตถตา

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 326
  • พลังกัลยาณมิตร 154
    • ดูรายละเอียด
เทวี เป็นเช่นนั้น ความหมายแห่งวิญญาณบริสุทธิ์ภายใน ในสภาพที่ยังข้องกิเลสนั้นเป็นเรื่องยากแก่การเข้าใจ หลักธรรมทั้งสองนี้ยากแก่การเข้าใจ วิญญาณที่บริสุทธิ์ภายในก็ยากแก่การเข้าใจ และความแปดเปื้อนของวิญญาณเป็นเรื่องยากแก่การเข้าใจ

อิอิ ทำความเข้าใจในความหมายเสียก่อน

ความบริสุทธิ์
ความข้อง
ความแปดเปื้อน

แล้วเอาความเข้าใจนั้น เข้าไปดูให้เห้นจริง
จะเข้าถึงใจ
อิอิ