แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์
ธรรมซีรี่ย์... สัญลักษณ์แห่งความดีงาม [ดอกบัว]
ดอกโศก:
สวยมากค่ะ ชอบดอกบัวทุกดอกเลยค่ะ พี่แป๋ม
ขอบคุณค่ะ ที่นำทั้งความและภาพดีๆมาปันให้อ่านและชมค่ะ
ชอบจัง :13:
ฐิตา:
ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของผู้ปฏิบัติธรรม
ในการปฏิบัติธรรม เมื่อบุคคลละสิ่งที่ขัดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในธรรม ได้แก่ นิวรณ์ จิตย่อมเกิดปีติ กายย่อมเกิดความสงบ เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น สงัดจากกามและอกุศลธรรม ความสุขใด ๆ ในโลกียธรรมนั้น ย่อมเปรียบไม่ได้กับความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม ดังนั้น ในการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบความสุขที่เกิดจากการบรรลุตติยฌานกับดอกบัวไว้ ดังนี้
เปรียบเหมือนในกอบัวเขียว (อุบล) กอบัวหลวง (ปทุม) หรือกอบัวขาว (บุณฑริก) ดอกบัวเขียว ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าที่เกิดเจริญเติบโตในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ มีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็นตั้งแต่ยอดถึงเหง้า ไม่มีส่วนไหนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น
นอกจากนี้ พระพุทธโฆษาจารย์อธิบายถึงเหตุที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญผู้ได้บรรลุธรรมขั้นตติยฌานนี้ไว้ว่า ผู้ที่บรรลุตติยฌานซึ่งเป็นยอดสุดแห่งความสุข เป็นผู้มีสติตั้งมั่น เป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติ อยู่เป็นสุข
ฐิตา:
ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ธรรม
พระมหาปันถก เมื่อบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้รับความสุขจากการหลุดพ้น สิ้นจากกิเลส (สิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมอง) และอาสวะ (กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน) ทั้งปวง มีความปรารถนาจะให้จูฬปันถกผู้เป็นน้องชายมีความสุขเช่นนั้นบ้าง จึงได้ขออนุญาตธนเศรษฐีผู้เป็นตาผู้ซึ่งมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ได้อนุญาตให้จูฬปันถกออกบวช จูฬบันถกก็ได้รับอนุญาตจากธนเศรษฐีให้ออกบวชได้ พระมหาปันถกผู้พี่ชายได้สอนคาถาพรรณนาคุณบทหนึ่งแก่พระจูฬปันถก ความว่า
ดอกบัวชื่อโกกนุท บานในเวลาเช้า ยังไม่สิ้นกลิ่น ยังหอมอยู่ ฉันใด
ท่านจงดูพระอังคีรส ผู้ไพโรจน์อยู่ เหมือนดวงอาทิตย์รุ่งโรจน์อยู่ในอากาศ ฉันนั้น
เพียงคาถาบทเดียวนี้เท่านั้น พระจูฬปันถกเรียนอยู่นานถึง ๔ เดือนก็ยังจำไม่ได้ พระมหาปันถกผู้พี่ชายพยายามให้เธอเรียนอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดเห็นว่าพระน้องชายเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา จึงตำหนิพระน้องชายแล้วขับไล่ออกจากสำนักไป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องนี้จึงเสด็จไปเทศนา ได้ประทานผ้าขาวผืนหนึ่งให้แก่พระจูฬปันถก ตรัสบอกให้บริกรรมด้วยคาถาว่า “รโชหรณํ รโชหรณํ” (ผ้าเช็ดธุลี ผ้าเช็ดธุลี) พร้อมกับให้พระจูฬปันถกลูบคลำผ้าผืนนั้นไปด้วยขณะบริกรรมคาถา ในเวลาไม่นาน พระจูฬปันถกได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ คือ ปัญญาอันแตกฉาน ๔ ประการ ได้แก่
อัตถปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในอรรถ)
ธัมมปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในธรรม)
นิรุตติปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ คือ ภาษา)
ปฏิภาณปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ)
และได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นหนึ่งในอสีติมหาสาวก (พระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ องค์) ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา ผู้เนรมิตกายสำเร็จด้วยใจ ๑ ผู้ฉลาดในการเปลี่ยนแปลงทางใจ ๑ จูฬปันถกเป็นเอตทัคคะแล.....”
ฐิตา:
อีกเรื่องหนึ่ง อดีตนายช่างทอง ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริก (เป็นคำเรียกผู้ที่ได้รับอุปสมบท ถ้าอุปสมบทต่อพระอุปฌายะองค์ใดองค์หนึ่ง ก็เป็นสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌายะองค์นั้น) ของพระสารีบุตร เมื่อบวชเป็นภิกษุ พระสารีบุตร สวยงาม จึงให้ภิกษุหนุ่มพิจารณาอสุภกรรมฐาน๓๗ เธอพยายามพิจารณาอสุภกรรมฐานอยู่ตลอด ๔ เดือน ยังไม่พบคุณวิเศษแต่ประการใด พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระสัพพัญญุตญาณ คือ พระปรีชาญาณหยั่งรู้ ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ว่า ภิกษุหนุ่มผู้นี้เคยเป็นนายช่างทองมาแล้วถึง ๕๐๐ ชาติ การทำงานอยู่กับทองซึ่งเป็นสิ่งของสวยงาม ประกอบกับมีอุปนิสัยละเมียดละไมรักสวยรักงาม (ราคะจริต) จึงควรนำสิ่งที่สวยงามเช่นดอกบัวเพื่อใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน
วันหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงพาภิกษุนั้นเที่ยวจาริกไปในวิหาร แล้วทรงนิรมิตสระโบกขรณีสระหนึ่งในอัมพวัน และนิรมิตดอกปทุมใหญ่ดอกหนึ่งในกอปทุม แม้นั้น แล้วรับสั่งให้นั่งลงด้วยพระดำรัสว่า ภิกษุ เธอจงนั่งแลดูดอกปทุมนี้เข้าใจว่าภิกษุหนุ่มอดีตนายช่างทองรูปนี้อายุยังน้อย จิตใจจะต้องน้อมอยู่ในการรักความงาม ดอกปทุมนั้นมีขนาดเท่าจักร พระพุทธองค์ทรงทำให้เหมือนมีหยาดน้ำหลั่งลงมาจากใบและก้านเพื่อให้เหมาะกับอัธยาศัย ภิกษุหนุ่มได้นำดอกบัวไปวางไว้ที่กองทรายท้ายวิหาร
นั่งขัดสมาธิตรงหน้า แล้วบริกรรมว่า “โลหิตกํ โลหิตกํ” (สีแดง สีแดง)
จากนั้น ขณะที่ท่านกำลังเพลิดเพลินอยู่กับสีแดงอันสวยสดของดอกบัวนั้น พระพุทธองค์จึงทรงเนรมิตให้ดอกบัวซึ่งมีความสวยสดงดงามค่อย ๆ เหี่ยวเฉาลง สักครู่เดียวเกสรดอกบัวก็ร่วงไปเหลืออยู่เพียงฝักบัว เป็นเหตุให้ภิกษุหนุ่มพิจารณาเปรียบเทียบถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของสังขารทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยงถาวรเช่นกัน เมื่อจิตของภิกษุนั้นลงสู่วิปัสสนาญาณแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงเปล่งโอภาส (แสงสว่าง) ไป ได้ตรัสว่า “เธอจงตัดความสิเนหาของตนเสีย เหมือนคนตัดดอกโกมุทอันเกิดในสารทกาล เธอจงพอกพูนทางแห่งความสงบ เพราะนิพพาน ตถาคตแสดงไว้แล้ว”
จากการที่ภิกษุหนุ่มใช้ดอกปทุมทองเป็นเครื่องหมายกรรมฐาน และได้
น้อมนำจิตใจให้เลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขณะปฏิบัติกรรมฐาน จึงทำให้ได้สำเร็จอรหัตตผลในเวลาไม่นาน
ฐิตา:
ดอกบัวเปรียบกับพระนิพพาน
ในคัมภีร์มิลินทปัญหา พระยามิลินท์ ทรงโต้แย้งพระนาคเสน๕๓ที่กล่าวว่า พระนิพพานเป็นสุขโดยส่วนเดียวนั้นตนไม่เชื่อ พระนิพพานนั้นเจือด้วยทุกข์ เพราะบุคคลผู้แสวงหาพระนิพพานนั้น มีอันต้องทำกายและจิตให้ร้อนรุ่ม ต้องกำหนดการยืน กำหนดการเดิน กำหนดการนอนและกำหนดอาหาร ต้องกำจัดความโงกง่วง ต้องบังคับอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ต้องสละทั้งกายทั้งชีวิตและยังต้องละทิ้งทรัพย์สนและญาติมิตรอันเป็นที่รัก
พระนาคเสนจึงได้ถวายพระพรว่า พระนิพพานเปรียบเหมือนดอกบัว ดังนี้
พระนิพพานนั้นเป็นสุขโดยส่วนเดียวโดยมิได้เจือด้วยทุกข์ เปรียบเหมือนพระราชาเมื่อกำจัดข้าศึกได้แล้วก็ได้เสวยสุขโดยส่วนเดียว บุคคลก็เช่นกัน เมื่อต้องกำหนดการยืน การเดิน การนั่ง การนอนและอาหาร ต้องกำจัดความโงกง่วงแล้ว จึงได้เสวยพระนิพพานอันเป็นสุขโดยส่วนเดียว
เมื่อได้อธิบายโดยแจ่มแจ้งแล้ว พระนาคเสนยังได้เปรียบคุณของดอกบัวกับพระนิพพานว่า
ธรรมชาติของดอกบัว น้ำย่อมไม่ซึมติดอยู่ได้ฉันใด พระนิพพานอันกิเลสทั้งปวงไม่ซึมติดได้ฉันนั้น นี้แล คุณแห่งดอกบัวประการหนึ่ง ซึ่งควรคู่กับพระนิพพาน เปรียบเหมือนว่า น้ำฉาบติดดอกปทุมมิได้ ฉันใด ขอถวายพระพร กิเลสทั้งหลายทั้งปวง ก็ฉาบติดพระนิพพานมิได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร นี้คือคุณอย่างหนึ่งของดอกปทุมที่เทียบกันได้กับพระนิพพาน
ขอบคุณที่มาภาพจาก น้องต้อง ค่ะ...
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version