๓๑ ถาม จากข้อความทั้งหมด เท่าที่อาจารย์ได้กล่าวไปแล้ว ได้ความว่า จิต คือ พุทธะ แต่มันไม่กระจ่างในข้อที่ว่า หมายถึงจิตชนิดไหนในประโยคที่ว่า “จิต” ซึ่งเป็น “พุทธะ” นั้น ?
ตอบ เธอมีจิตอยู่แล้วกี่มากน้อยเล่า ?
ถาม ก็แต่ว่า พุทธะนั้น เป็นจิตธรรมดา หรือจิตที่ตรัสรู้แล้วเล่า ?
ตอบ ก็ในโลกนี้ ที่ตรงไหนเล่า ที่เธอเก็บจิตธรรมดา และจิตที่ตรัสรู้แล้ว ของเธอไว้ ?
ถาม ในคำสอนของ ยานทั้งสาม มีกล่าวไว้ว่า มีจิตอยู่ทั้งสองอย่าง ทำไมท่านอาจารย์จึงปฏิเสธมันเสียเล่า ?
ตอบ ในคำสอนแห่ง ยานทั้งสาม นั้น มีการอธิบายอย่างกระจ่างอยู่แล้วว่าทั้งจิตธรรมดา และจิตที่ตรัสรู้แล้วนั้น ก็ล้วนแต่เป็นมายา เธอไม่เข้าใจเอง ความยึดมั่นต่อความคิดว่าสิ่งทั้งปวงมีอยู่ทั้งหมดนี้เป็นความสำคัญผิด ไปเอาของลวงเหล่านั้นมาเป็นสัจจะ ความคิดต่าง ๆ ชนิดนั้น จะไม่เป็นมายาได้อย่างไรกัน ? เมื่อเป็นมายา มันก็บังจิต นั้นเสียจากเธอ
ถ้า เธอเพียงแต่ขจัดความคิดว่ามีจิตธรรมดา มีจิตตรัสรู้แล้วนั้นออกไปเสียจากเธอเท่านั้น เธอจะพบว่าไม่มีพุทธะอะไรที่ไหนอีกนอกจาก พุทธะ ในจิตของตนเอง
เมื่อ ท่านอาจารย์โพธิธรรม จากตะวันตกมาถึง ท่านได้ชี้ออกไปว่า สิ่งซึ่งคนทุกคนมีส่วนประกอบร่วมอยู่ด้วยนั่นแหละคือ พุทธะ คนจำพวกเธอ พากันเตลิดไปด้วยความเข้าใจผิด คือไปจับฉวยเอาความคิดเช่นว่า “อย่างธรรมดา” หรือ “อย่างตรัสรู้แล้ว” ขึ้นมา พร้อมกันนั้นก็บังคับความคิดต่าง ๆ ของเธอให้เตลิดออกไปข้างนอก สู่ที่ซึ่งมันพากันควบห้อไปเหมือนกะม้า ! ดังนั้นฉันจึงขอบอกเธอ ว่า จิต คือ พุทธะ
ใน ทันทีที่ความคิด หรือความรู้สึกทางอายตนะเกิดขึ้น พวกเธอก็พลัดตกลงสู่คติทวินิยม กาลเวลาทั้งหมด ซึ่งปราศจากการตั้งต้น และขณะซึ่งเป็นปัจจุบันขณะหนึ่งนั้นเป็นของอันเดียวกัน ไม่มีนี้ ไม่มีโน้น การเข้าใจซึมซาบในสัจจะข้อนี้ เรียกว่าการรู้แจ้งเห็นจริงที่สมบูรณ์และไม่มีอะไรเหนือกว่า
ถาม ถ้อยคำที่ท่านอาจารย์กล่าวมานี้ มีรากฐานอยู่บนหลักธรรมอะไร ?
ตอบ เอ้า ! หาหลักหาเหลิกกันทำไมอีกเล่า ? พอสักว่าเธอมีหลักเท่านั้นเธอก็พลัดผลุงลงไปสู่ความคิดแบบคติทวินิยมทันที
ถาม เมื่อตะกี้นี้เอง ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงอดีตซึ่งไม่มีใครรู้ว่าตั้งต้นเมื่อไร กับปัจจุบันนั้น เป็นของอันเดียวกัน ด้วยการกล่าวอย่างนั้น ท่านอาจารย์หมายถึงอะไร ?
ตอบ มันเป็นเพราะการแสวงหาด้วยความอยากของเธอแท้ ๆ นี้ ที่เธอไปทำมันให้มีความแตกต่างกันขึ้น ระหว่างของสองอย่าง ถ้าเธอจะหยุดการแสวงหาด้วยความอยากเสียได้ แล้วมันจะมีความแตกต่าง ๆ ในระหว่างของสองอย่างนี้ได้อย่างไร ?
ถาม ถ้ามันไม่แตกต่างกันแล้ว ทำไมท่านอาจารย์จึงใช้คำเรียกมันต่างกันเล่า ?
ตอบ ถ้าเธอไม่ไปเอ่ยถึง “อย่างธรรมดา” กับ “อย่างตรัสรู้แล้ว” ขึ้นมาแล้ว ใครเล่าจะอยากลำบาก ไปพูดกันถึงเรื่องชนิดนี้ ในเมื่อสิ่งซึ่งจัดเป็นอย่าง ๆ พวก ๆ เหล่านั้น ก็มิได้มีอยู่จริง แล้ว จิต ก็มิได้เป็น “จิต” จริง และเมื่อทั้ง จิต และทั้งสิ่งซึ่งถูกจัดเป็นอย่าง ๆ พวก ๆ เหล่านั้น โดยแท้จริงเป็นมายาแล้ว เธอจะหวังหาสิ่งใด ๆ ได้ที่ไหนกันเล่า ?
ขอบคุณที่มาบันทึกชึนเชา