ผู้เขียน หัวข้อ: สติรักษาจิต หลวงปู่สุวัจน์  (อ่าน 1653 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ แปดคิว

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • *
  • กระทู้: 797
  • พลังกัลยาณมิตร 389
    • ดูรายละเอียด
    • http://www.blogger.com/home
สติรักษาจิต หลวงปู่สุวัจน์
« เมื่อ: ตุลาคม 03, 2010, 06:15:41 pm »
จากหนังสือ "ธรรมลังการ" ซึ่งพิมพ์เนื่องในโอกาสที่หลวงปู่เจริญอายุครบ ๘๑ ปี เมื่อวันที่ ๒๙สิงหาคม ๒๕๔๓



"สติรักษาจิต"



เมื่อสมัยพุทธกาลนั้นท่านฟังเทศน์ตั้งใจฟังจริงๆ ฟังด้วยศรัทธาความเชื่อ ฟังด้วยความเลื่อมใสฟังด้วยความตั้งใจ นำไปปฏิบัติจริงๆ อยู่ในหลักว่าตั้งใจฟังด้วยความเคารพจดจำคำที่ท่านแสดงเอาไว้ โดยความเอื้อเฟื้อเคารพแล้วนำไปตรวจตรองพิจารณาด้วยความเคารพ แล้วปฏิบัติตามด้วยความเคารพความเคารพต่อพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็เท่ากับความเคารพต่อพระพุทธเจ้าก็เท่ากับความเคารพต่อพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้านั้นทรงเป็นผู้ค้นคว้าจนได้บรรลุธรรม ส่วนพระธรรมนั้นก็เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าพระสงฆ์เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตาม เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ก็อาศัยพระธรรมนั้นเพราะฉะนั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้ง 3 อย่าง แยกออกโดยเนื้อความแต่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยหลักความจริง

เพราะฉะนั้นการฟังด้วยความเคารพ ก็เพื่อผลประโยชน์แก่ตัวเราเอง เพื่อจะได้ถอนความเห็นผิดเพื่อจะได้ถอนความเข้าใจผิด เพื่อจะได้อ่อนน้อม เพื่อจะได้ปฏิบัติถูกต้องได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตรงทางได้ง่าย เพราะจิตมันอ่อนมันน้อม

ความเคารพก็คือการอ่อนการน้อม ธรรมะจะละเอียด คดเคี้ยวอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่อ่อนน้อมตามมันก็เข้ากันได้ ไม่ขัด ไม่ติด เพราะอาศัยความเคารพ อาศัยความเลื่อมใส ความเคารพนี้ก็ต้องอาศัยเป็นผู้ที่ว่าง่ายสอนง่าย เข้าใจถูกต้องง่ายจิตมันค่อยอยู่ในหลักความจริงได้ง่าย ไม่มัวรีรอ เพราะสงสัย เพราะกลัว เพราะไม่รู้เพราะหลง ทำให้เนิ่นช้า ผู้มีสติปัญญาดี มาพูดสิ่งที่จริงแล้ว จิตดวงนั้นผลลัพธ์มันตรงกัน เข้าใจกันถูกต้องได้เร็ว ไม่ต้องสงสัยโน่นๆนี่ๆเหมือนกับคนที่รู้จัก มีความรู้ ภูมิรู้ได้เรียนหลักวิขาการเสมอกันมีความรู้เท่ากัน เขาพูดในหลักวิชาการ บทนั้นบทนี้ ก็เข้าใจทันทีด้วยกันรับรองมั่นคงด้วยกัน คนหนึ่งเข้าใจ คนหนึ่งไม่รู้ เมื่อพูดแล้ว เมื่อเขาไม่เข้าใจเขาก็ไม่รับรอง เขาก็หาแต่ข้อขัดแย้ง เพราะเขาไม่เห็นด้วยเพราะเขาไม่เข้าใจอย่างนี้แล้ว ผลที่สุดการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลงานก็เลยล่าช้าไม่ทันเวลา ไม่ทันต่อเหตุการณ์ เพราะมัวแต่หาอยู่ ตกลงกันไม่ได้

เราทั้งหลายฟังธรรม ถ้าเราตกลงได้ง่ายกับธรรมะ คำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เราก็รู้เห็นง่าย สงบง่าย

ทีนี้สติของเรายังไม่ทันเข้าใจหลักธรรมอันถูกต้องยอมรับตามความจริง เพราะถึงได้ยินได้ฟังหรือนานๆได้ยินได้ฟัง คิด นึกน้อมไปในเรื่องอื่นนี้มีอยู่ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้นการรู้ธรรมนี่ มันมีโอกาสน้อยเหลือเกิน ไม่มีช่องว่างในจิตในใจให้ธรรมได้ไปยึดอยู่ ให้มีอิทธิพลในความรู้ทางธรรมอิทธิพลทางโลกเหนือจิตใจของเรามากกว่า ทั้งเวลา ทั้งความรู้ ตลอดถึงความชำนาญถึงความคล่องแคล่ว เรื่องทางโลกมันคล่องแคล่วว่องไว รวดเร็วกว่าเพราะเหตุนั้นทางโลกจึงมีบทบาทต่อจิตใจของเรา ทำให้เราอยู่กระทบกระเทือนแบบโลกๆอยากจะเข้าไปสู่ธรรม ธรรมก็ไม่มีกำลังช่วยเราเพียงพอ

เพราะฉะนั้นเราควรพยายามเปิดประตูช่องกว้างให้ฝ่ายธรรมะ เพื่อให้มีกำลังเท่าเทียมกันกับทางโลกหรือให้เหนือกว่าทางโลกก็ยิ่งดี ให้พยายามโอปนยิโก น้อมเข้ามาเห็นอะไรอย่างอื่นก็น้อมเข้ามาให้เป็นธรรม เห็นส่วนไม่ดี ให้น้อมเข้ามาเป็นของจริงเป็นทุกข์ เป็นสัจจะ เป็นของจริงที่มีอยู่ประจำโลก มีให้เราได้พบ ได้รู้ ได้พิจารณาเราสร้างปัญญาไม่ให้ลุ่มหลง

ส่วนความสุขที่มีอยู่ในจิตใจของเราเราก็ควรรู้ไปตามความเป็นจริง เป็นสัจจะ เป็นธรรมความจริงเพราะความสุขมีอยู่จริงในโลก ถ้าความสุขไม่มีแล้วพระพุทธเจ้าพระองค์จะได้ความสุขมาอย่างไร ? ความสุขมันมีอยู่แล้วแต่เราไม่สามารถเอามาเป็นสมบัติของจิตใจ หรือตั้งอยู่ในจิตใจของเราได้เพราะสิ่งอื่นขัดขวาง หรือบรรจุสิ่งอื่นมันเต็มแล้วถึงเราอยากจะเอาเข้าไปก็เข้าไม่ได้ อยู่ไม่ได้ เข้าได้นิดๆหน่อยๆ มันก็อยู่ไม่ได้หลุดออกไปๆ

เพราะฉะนั้น เราควรพยายามหาโอกาสเอาธรรมะในส่วนที่ให้เกิดความสงบ เกิดความสุขมาอยู่ในจิตใจของเราให้มากธรรมะที่จะมาปรากฏในจิตเรานี้ ต้องอาศัยโอปนยิกธรรม คือ เราน้อมเอามาใส่ใจน้อมธรรมเข้ามาในใจ อันนี้ก็เป็นจิตระลึกเข้ามาสู่จิตใจของเราให้เราได้อ่านธรรมที่มีอยู่ในใจของเราให้มาก จะเป็นส่วนไม่ดี คือความทุกข์ความรำคาญ ความวุ่นวาย ทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจ เป็นส่วนธรรม ส่วนที่ไม่ดีที่เราควรเบื่อหน่าย ควรเห็นทุกข์เห็นโทษ เห็นเป็นสิ่งที่น่ากลัวแล้วเราไม่มัวเมาประมาทในธรรมนั้นๆ เราพยายามที่ไม่ให้จิตใจไปพัวพันในธรรมนั้นๆเหมือนกับเราเห็นไฟ หรือเห็นยาพิษ เราไม่ประมาท ไม่ควรจะเอาใส่ลิ้น ไม่ควรเอาใส่ปากมันเป็นภัยอันตรายต่อสุขภาพ เราควรระมัดระวังไม่ให้ยาพิษเหล่านั้นไปแปดเปื้อนการบริโภคต่างๆ มันติดเศษเหลือเข้าไปทำอันตรายเมื่อเราเห็นชัดว่ายาพิษเป็นยาพิษแล้ว ส่วนอาหารเป็นอาหาร ส่วนยาพิษให้เป็นยาพิษเมื่อเราเห็นชัดแล้ว เราก็บริโภค ส่วนที่เป็นอาหาร พอเหมาะพอควร บำรุงร่างกายของเราชีวิตก็จะอยู่ได้ตามปกติธรรมดาฉันใด จิตใจของเราก็เหมือนกัน

ยาพิษที่เราทั้งหลายเบื่อไม่ต้องการ ก็คือทุกข์นั่นเองเมื่อทุกข์มันจะเจือปนอยู่ในประเภทใดๆ เราก็พยายามสำรวม ระมัดระวังที่มาจากเหตุคือความหลง

เพราะฉะนั้น เราควรมีสติรักษาตัวของเราไม่ให้หลงให้ตั้งอยู่ในสติ มีความรู้ความจริง สิ่งใดเป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจเป็นไปเพื่อความสะสมต่อกองกิเลส เป็นไปเพื่อความอยากได้เป็นไปเพื่อการประกอบกับกองทุกข์ เป็นไปเพื่อความคลุกคลี มัวเมาประมาทนี้ไม่ใช่ธรรมส่วนที่ดี เป็นธรรมที่เราควรละ เราควรทิ้ง ธรรมประเภทนี้มีอยู่ในใจก็ควรชำระสะสาง อย่าไปคิดว่ามีมากๆแล้วเราจะมีความสุข อย่าคิดเลย ได้สิ่งนั้นได้สิ่งนี้มีความสุข สิ่งที่เราว่าหามา ได้มา ถ้าพูดถึงความจริงแล้วมันเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจของเราหลงตัวสมุทัยโดยไม่รู้ตัว ถ้าเราไม่ฉลาดสิ่งเหล่านั้น กลับกลายมาเป็นสมุทัย เป็นปัจจัยให้ทุกข์เกิดเหมือนความรัก

ความรักนี่ จะเป็นสมุทัยก็ได้ ถ้าเราไม่มีปัญญาเพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนว่าปิยโต ชายเต โสโก ปิยโต ชายเต ภยํความทุกข์ ความโศก เกิดขึ้นเพราะความรัก ความรักมีอยู่ที่ไหน ความหวงแหนความอาลัย ความอาวรณ์ ความเป็นภาระ จะต้องคุ้มครองดูแลเอาใจใส่ไม่อยากให้มันเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น อยากให้เป็นของเราอยู่ตลอดเวลาเวลาสิ่งเหล่านั้นมันไม่เป็นไปตามความต้องการของเราก็ทุกข์อีก เกิดความโศกความเสียใจเศร้าใจ เพราะฉะนั้นท่านจึงว่า เมื่อความรักเกิดขึ้นเราก็ต้องรรู้เรื่องของความชังบ้าง มันเป็นของคู่กัน เมื่อความชังเกิดขึ้นเราก็เว้นช่องว่างให้มีความรักเหลืออยู่บ้าง อย่าไปชังทั้งหมดเพื่อให้จิตใจของเราได้อยู่กลางๆ ความรักกับความชัง จะได้อยู่เป็นขอบป้องกันเราเป็นรั้วป้องกันเรา อย่าให้รักทั้งหมด อย่าให้ชังทั้งหมดเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ดีเราก็พยายามสอดส่องสิ่งที่ดีบ้าง มีอยู่ในนั้นเมื่อเราเห็นสิ่งใดที่เป็นโทษ ที่ว่าเป็นโทษเป็นทุกข์ เราก็มองดูให้ดีๆอาจจะมีความสุขส่วนหนึ่งในที่นั้น

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์ได้ความสุขจากากรที่พระองค์ไปทนทุกข์ทรมานต่อสู้ เพื่อศึกษาเพื่อให้รู้ทุกข์ ถ้าพระองค์ไม่ทำอย่างนั้นพระองค์ได้แต่ตั้งจิตปณิธานว่าให้เรามีความสุขแต่ฝ่ายเดียวพระองค์คงจะไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าเลย กายก็ไม่อยากให้กระทบกระเทือน ถูกแดด ถูกร้อนถูกหนาว ถูกโหยหิว อะไรต่างๆ อยากจะให้มันอยู่โดยไม่มีอะไรให้มันสบายเอิบอิ่มอยู่อย่างนั้น ถ้าเป็นเช่นนั้น พระองค์ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าเหตุอย่างนั้น ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะรัก เพราะชัง เพราะไปหลงรัก หลงชังหลงสุข หลงทุกข์ ปรารถนาแต่ความสุข แล้วก็เกลียดทุกข์ พระองค์ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าเพราะมีวิธีการอย่างนั้น พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้ธรรม ได้ความสุขเพราะพระองค์ไม่หลงสิ่งเหล่านั้น ฝึกหัดจิตให้เข้มแข็ง ให้รู้เท่าให้รู้ความจริงสิ่งเหล่านั้น ว่าสิ่งเหล่านั้นกับเรานี่ จะแยกกันออกได้ไหมจะเป็นอันเดียวกันจริงๆหรือ เมื่อมาแยกไปๆ พิจารณา อ้าว! เขาก็ไม่เป็นอะไรเราก็ไม่เป็นอะไร เหมือนกับแขนของเราสองอันนี่ ข้างนี้มันก็ไม่มีเสียงอะไรมันก็ไม่เป็นอะไร เพียงแต่เห็นเท่านั้น เพียงรู้สึกข้างเดียวเราจะทำอย่างไรมันก็ไม่มีเสียง ถ้ามีข้างหนึ่งมารับกันนะ เสียงมันก็ออกมาแต่ก่อนเสียงไม่มี พอเราตบปั๊บเสียงออกมา ให้มันเกิดตามมาเพราะการที่มือสองอันนี้เป็นเหตุอันหนึ่ง มือสองอันแล้วไปหระทบกันนี้ก็เป็นเหตุอันหนึ่ง ถ้ามือสองอันนี่ ต่างคนต่างไม่กระทบกัน เสียงก็ไม่เกิดหรือมือสองอันเคลื่อนไหวทำอะไรก็ได้ แต่อย่าให้มันกระทบกัน เคลื่อนไหวของมันเองเสียงก็ไม่เกิด

เพราะฉะนั้น ทุกข์ทั้งหลาย ท่านเรียกว่าอาศัยการเกิดไม่มีโดยตรง โดยเฉพาะมันอาศัยการเกิด เหมือนข้าวสุกนี่มันต้องอาศัยการเกิด ไม่มีข้าวสุกโดยตรง ข้าวสุกโดยตรงมันจะไปแสวงหาข้าวสุกโดยตรงๆโดยดั้งเดิมไม่ได้ ต้องมาจากข้าวสาร ได้มาจากข้าวเปลือกได้มาจากลำต้นที่ปลูกขึ้นในดิน อาศัยน้ำ อาศัยแผ่นดิน มันอาศัยการเกิดอย่างนั้นจึงมามีข้าวสุก แล้วมาบาน บริโภคเป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นบุคคล มีชีวิตเกิดขึ้นมาต้องอาศัยการอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่โดยตรง

เรื่องธรรมะก็เช่นเดียวกันเรื่องความสุข ความทุกข์ ก็เหมือนกัน เป็นแต่เพียงอาศัยการเกิดเท่านั้นถ้าหากจิตของเราหนักแน่น ผู้รู้ของเราฝึกรู้ความจริงให้หนักแน่นไม่ให้หวั่นไหวในสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงก็ดี สิ่งที่มันกระทบกระเทือนก็ดีเพียงแต่รู้เท่าแล้วพยายามรักษาจิตไม่ให้มัวหมอง ไม่ให้เศร้าใจ ไม่ให้ทุกข์ใจเพราะสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลง สิ่งที่มันเกิดดับเรามารู้เท่าสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อเราศึกษาหนักเข้าค่อยชำนาญขึ้นมาค่อยเห็นสิ่งที่เราผ่านไป ที่เราได้เฉยไป ผ่านไปๆ เราก็ทบทวนดูว่าอาการเหตุการณ์ภายนอกอย่างนี้ เมื่อแต่ก่อนเรายังไม่ได้อบรม เราทุกข์ขนาดไหนเราจะนอนไม่หลับ เราจะรับประทานอาหารไม่ได้ จะต้องมีปัญหา มีเรื่องราวตั้งแต่เรามารู้ความจริง เรื่องเหล่านั้นก็ลดลงๆ น้อยลงๆ ที่นี้ความไม่สงบความกระทบกระเทือนในจิตในใจ ก็ค่อยน้อยลงไปด้วย ภาระอันหนักในจิตใจก็ค่อยน้อยลงไปด้วย ความเบาใจ ความสบายในใจก็ค่อยมากขึ้นอันนี้รู้ได้เฉพาะเราเท่านั้นแหละ คนอื่นไม่รู้เพราะมันเป็นที่จิตใจของเรามันปรากฏที่จิตของเรา เมื่อเรารู้ของเราเป็นอย่างนี้ เราก็รับรองความจริงที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา เห็นผลของการปฏิบัติถูกด้วย ตรงด้วยถ้าเราศึกษาก็ตามปฏิบัติก็ตาม ถ้าไม่ถูกไม่ตรง ก็ไม่เห็นชัดในใจก็ไม่มีพยานหลักฐานที่ให้เรามั่นใจ ถึงแม้ว่าเราจะได้ยินได้ฟังจากคำสอนก็ตามถ้าไม่ปรากฏในจิตใจ เลยไม่เป็นพยานให้เราเชื่อมั่นแน่วแน่ มีแต่ความสงสัยเพราะเรายังไม่สัมผัส

เพราะเหตุนั้นการปฏิบัติให้ปรากฏในจิตใจของเรา เป็นสิ่งที่จำเป็น เมื่อต้องการอยากรู้ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนให้เราปฏิบัติ เรียกว่า มรรค โดยย่อๆที่สุดแล้ว ก็มีศีล มีสมาธิมีปัญญา เป็นแนวทาง เพราะฉะนั้น ศีล เป็นฐานรองสมาธิ สมาธิเป็นฐานรองรับปัญญาเมื่อฐานคือศีลไม่มั่นคง สมาธิซึ่งตั้งอยู่บนฐานก็อยู่ไม่ได้ข้อนี้ถ้าเราไม่พิจารณาแล้ว บางแห่ง บางคณะที่พวกฝรั่งเขาว่าศีลไม่จำเป็น

อาตมาเคยไปอบรมเทศน์เรื่อง ทาน ศีลอยู่ทางออสเตรเลีย พอเทศน์เสร็จแล้ว มีคนไทยบอกว่า เขาไม่อยากฟังเท่าไร เรื่องทานศีล เขารู้แล้ว เขาอยากจะฟังแต่ปรมัตถธรรม เรื่องสมาธิภาวนาสูงๆเราก็เลยไม่อยากพูดมาก เมื่อเขาพูดอย่างนั้น เราก็พูดไปกลางๆว่า อ้าว!นึกว่าพระพุทธเจ้า แสดงศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางที่สมบูรณ์บริบูรณ์ ถ้าหากขาดศีลแล้วสมาธิมันจะมั่นคงได้อย่างไร ถ้าเราไปพิจารณาโดยอารมณ์ สิ่งที่มากระทบ สมมติว่าเราทำผิดศีลนะ ผิดศีลแล้วสิ่งที่มากระทบคืออะไรบ้าง ที่ทำให้เราไม่สงบที่ทำให้เราเดือดร้อน เมื่อเราประพฤติผิดแล้ว ไม่รักษาศีลแล้วมันต้องมีเรื่องกระทบมาก มีเรื่องก่อกวนมาก เพราะไปฆ่าเขา เขาก็ไม่ชอบหรือไปลักของเขา เขาก็ไม่ชอบ ประพฤติผิดประเวณี มันก็จะมีแต่ปัญหามันจะมีสมาธิได้อย่างไร เมื่อไปกินเหล้า แล้วไปโกหกอยู่อย่างนั้นเราพิจารณาดูศีลจึงเป็นฐานรองที่สำคัญที่สุด แม้ศีลห้า ถ้าเราตรวจดูถ้าเราชอบดื่มเหล้าอย่างนี้ สมาธิมันจะตั้งได้อย่างไร แต่ละข้อๆ ทำไมจึงว่าศีลเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ

เพราะฉะนั้น พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านรู้ธรรมส่วนละเอียดเท่าไร ส่วนศีลของท่าน ท่านก็รักษาให้บริสุทธิ์ท่านไม่ได้ปล่อยละเลย ที่เราเลื่อมใสเพราะว่าศีลท่านบริสุทธิ์ ยิ่งเป็นพระอรหันต์ยิ่งสะอาดกว่าปุถุชนอีก ท่านบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เหมือนกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะฉันไม่หลง อยากทำอะไรก็ทำ อยากพูดอะไรก็พูด ไม่มีในวิสัยของพระพุทธเจ้าท่านยิ่งสำรวม ยิ่งรักษา ยิ่งเป็นเนติแบบฉบับทุกอย่าง ท่านไม่ได้ปล่อยเลยจนมรณภาพจนดับขันธ์สู่ปรินิพพาน พระอริยสงฆ์ก็เหมือนกัน

พระกัสสปะเคยปฏิบัติธุดงควัตร แต่เบื้องต้นอย่างไร เมื่อท่านเป็นพระอรหันต์แล้วท่านก็ยังปฏิบัติอยู่อย่างนั้นท่านรักษาของท่านอยู่อย่างนั้นด้วยปกติ

ทีนี้มีปัญหาว่าถ้าท่านไม่รักษา กิเลสจะกลับกำเริบกลับมาอีก? มีอีกไหม? ถึงกิเลสไม่มี ท่านก็ทำอย่างนั้นไม่ได้ ถึงจะไม่กำเริบอีกท่านก็ทำอย่างนั้นไม่ได้เพราะอะไร? เพราะถึงกิเลสอาสวะ ที่จะตบแต่งภพชาติข้างหน้าหรือกาลต่อไปแต่งไม่ได้แล้ว แต่เมื่อการกระทำที่ไม่ดี ที่ผิดเมื่อทำได้เหมือนปุถุชนคนอื่นทำทั่วไปแล้วเสียงจากปุถุชนที่ไม่รู้ต้องเข้าหูท่านแน่นอน มีเสียงตำหนิติเตียนแน่นอนหูต้องได้ยินแน่นอน เพราะหูมันเป็นวิบาก กายก็ยังเป็นวิบาก แต่อดีตมาเป็นผลปัจจุบันเพราะฉะนั้น กายก็ต้องมีเจตนา มีขันธ์ ยังเหลืออยู่ ก็ต้องมีผัสสะ มีเวทนาอยู่เพราะกายไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ประสาทหู ประสาทตา ประสาทจมูก ประสาทลิ้นที่อยู่วิญญาน ส่วนนี้เป็นส่วนวิญญาณวิบากไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ย่อมรับรู้สิ่งเหล่านี้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นเราไม่ควรมองข้ามเมื่อเราทั้งหลายต้องการความมั่นคงของการปฏิบัติ เพื่อให้มีผลใหญ่ ให้มีอานิสงส์ความสำรวม ตั้งอยู่ในศีล สำรวมกาย สำรวมวาจา โดยความระมัดระวังก็เท่ากับเราสร้างสติอยู่ตลอดเวลา เมื่อสติของเรามีการระลึกการกระทำ ควบคุมการกระทำควบคุมการพูดของเราไม่ให้ผิด เป็นการทุจริต ในทางกาย ทางวาจาแล้วชื่อว่าเราเดินตามทาง

เมื่อเราเดินตามทางที่ตรงถูกต้องแล้วนับแต่ตั้งแต่ก้าวแรก เราก็ขยับเข้าใกล้จุดหมายปลายทางทุกก้าวไป

แต่ถ้าเราเดินทางผิดแล้ว ก้าวไปเท่าไร มันก็ยิ่งห่างจากความจริงห่างจากจุดหมายปลายทาง ยิ่งเราก้าวไปนานเท่าไร รวดเร็วเท่าไรยิ่งจะห่างเร็วมากขึ้นเพราะมันผิดทาง

เพราะฉะนั้น ทางคือศีลเราก็ควรพยายามสำเหนียกศึกษา สำรวมระวังเข้ามา แล้วก็พยายามที่จะช่วยกันเป็นเครื่องอุดหนุนกัน ถ้าคนหนึ่งไม่มีสติ คนหนึ่งมีสติ พยายามสำรวมพยายามสงบหนักเข้าๆก็มีความสำรวม ความเรียบร้อย ความงาม ความสงบ นี่ทำให้มีพลังทางกายทางใจด้วย

เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีศีล สำรวมกาย วาจา เป็นพื้นฐานสะอาดแล้ว เราจะใช้สติสำรวมใจ เพราะเราปิดประตูสองประตูได้แล้วข้าศึกมันเข้ามาก่อกวนไม่ได้ ประตูทั้งสองซึ่งปิดคือ ประตูกายและประตูวาจาศัตรูเข้ามาไม่ได้ ยังมีประตูใจ อาจจะเล็ดลอดเข้ามาได้ เราก็ตั้งสติเฉพาะประตูเดียวไม่ต้องกังวลประตูอื่นเราก็สามารถที่จะเอาชัยชนะต่ออารมณ์ที่มาก่อกวนจิตใจของเราให้มัวหมองทำให้จิตใจของเราไม่สะอาด เราอยู่ในประตูเดียว มีช่อง มีโอกาสที่เรามีกำลังที่จะเอาชัยชนะได้มากกว่า ถ้าประตูของเราไม่มั่นคง เข้าทางกายก็ได้เข้าทางวาจาก็ได้ เข้าทางจิตใจก็ได้ แต่สติมีอันเดียว เวลามาอยู่ประตูนี้ประตูนั้นก็ว่าง เป็นช่องว่างให้ศัตรูเข้ามา

เพราะฉะนั้นเราพึงตั้งสัจจะอธิษฐาน รักษาประตูหรือปิดประตูของเราให้ดี เหลือประตูอันเดียวแล้วพยายาม แต่สมัยพุทธกาลท่านจึงอุปมาร่างกายของเราเปรียบเสมือนจอมปลวกใหญ่อันหนึ่ง ร่างกายของเรามีหกประตูคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นประตูหกด้วยกัน ท่านว่าเมื่อต้องการจับเหี้ยเหี้ยมันเข้าไปอยู่ในจอมปลวกนั้น เมื่อต้องการจับเหี้ยแล้ว ท่านว่าให้ปิดให้อุดประตูทั้ง 5 ให้แน่น แล้วเราก็เปิดไว้ช่องหนึ่ง สำหรับเราอยู่เฝ้าต้องคอยคุมตามช่องนั้น ขุดไปๆ ก็จะได้พบตัวเหี้ยจับตัวเหี้ยได้เพราะมันออกไปทางไหนไม่ได้ เราปิดแล้วทีนี้ ถ้าหากว่าเราไม่ปิดหรือปิดไม่หมด มีช่องใดช่องหนึ่ง ตัวเหี้ยมันก็กลัวตายเหมือนกันไม่อยากตายเหมือนกัน มันก็ต้องดิ้นหาช่องออก เมื่อเห็นช่องไหนออกได้ มันก็ออกไปเลยจับตัวมันไม่ได้ จิตใจของเราก็เหมือนกัน มันมีประตูออก

เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้สำรวม ให้เหลือแต่ประตูเดียว รักษาประตูเดียวให้ดีการรักษาปฏิบัติให้ดี เกี่ยวเนื่องด้วยการงานทางจิตใจ เป็นสิ่งที่ละเอียดมากจะบังคับมากโดยวิธีการเหมือนกับเราทำงานอย่างอื่น ของหยาบก็ไม่ได้ เราจะปล่อยมันก็กลับตัวเร็ว เหมือนน้ำอยู่ในใบบัว

การประคับประคองจิตเหมือนประคับประคองน้ำอยู่ในบัวนี้แหละ ให้ถือว่าอย่างนั้น น้ำที่อยู่ในใบบัวกลิ้งไปกลิ้งมา นี่เผลอไม่ได้

การภาวนาที่ดูจิตของเราที่ทำจิตใจให้สงบเหมือนกับว่า เราสำรวมระวังน้ำในใบบัวนั้นเรากับน้ำในใบบัว เราจะกำแรงก็ไม่ได้ เราจะเคลื่อนไหวแรงมากก็ไม่ได้เราก็ต้องพยายามทำด้วยใจดี ใจระมัดระวัง ไม่ใช่เป็นของหนัก ใบบัวนี่ไม่หนักเลยเราจะถึงได้โดยจิตใจที่เที่ยงตรง นี่ก็เหมือนกัน เรามามองดูด้วยทิฏฐชุกัมม์ทำความเห็นให้ตรงด้วยอุบายแยบคาย กระทำจิตใจของเราให้เห็นตรง เห็นรวบรัดเข้ามาโดยเฉพาะ ธรรมทั้งหลาย มีใจถึงก่อน สำเร็จด้วยใจ เรารวบรัดเอาที่นี้ เราดูที่ใจแล้วใจทั้งหลายมันก็ต้องมีอยู่ ในที่นี้ ถ้าไม่มีใจแล้ว ธรรมทั้งหลายจะเป็นกุศลอกุศล อดีต อนาคต ปัจจุบัน ก็ไม่มีในที่นี้

เพราะฉะนั้นเมื่อเรารวบรัดอยู่ที่ใจฉะนี้แล้ว เราก็พยายามเหมือนกันกับว่าเราตั้งใจอย่าให้มันดิ้นรนไปตามอารมณ์ต่างๆ ที่หลอกไปสิ่งที่กระทบหระเทือนเหมือนกับน้ำในใบบัวที่มันกลิ้งไปตามสิ่งที่กระทบกระเทือนเราก็พยายามดูให้ตั้งมั่นด้วย แม้แต่ลมหายใจ ก็ละเอียดตามลำดับ แม้แต่ความรู้ก็ละเอียดตามลำดับ ทำความสบายด้วย ถ้าจิตใจไม่สบายขัดข้องอะไรต่างๆ เราก็ใช้อุบายทำไมมันคิดไม่ดี มันก็ยังคิดได้ คิดไม่ให้สงบ มันก็ยังคิดได้ มันสร้างขึ้นได้เราจะสร้างความสงบ ไม่ได้หรือ เราจะสร้างความดีในใจ ไม่ได้หรือความไม่ดีก็ยังคิดได้ มันก็ต้องได้ซิ ไปได้แต่ทางเดียวทางนี้ไม่ได้ ได้ยังไงธรรมเป็นคู่นี่ เพราะฉะนั้น เราพยายามคิดแต่จะให้มันสงบ คือคำว่า ความสงบ นี่คือไม่ใช่ว่ามันไม่มีอะไรเสียเลย

คำว่า ความดับ มันมีอยู่แต่สิ่งที่ดับก็คือทุกข์ สิ่งที่รู้มันต้องมีอยู่ ใครจะไปดับความรู้ได้เหมือนกับแสงสว่าง เมื่อเป็นธรรมชาติ ใครจะไปดับได้ เมื่อเราต้องการมืดเราก็ดับตาของเรา ถึงจะมีแสงสว่างอยู่เท่าไหร่ก็ตาม แต่ตาของเราหลับแล้วมันก็มืดได้เหมือนกัน เมื่อเราต้องการแก้มืด ก็ไม่ต้องไปดับดวงอาทิตย์ ไม่ต้องเราไม่ต้องไปหาอันอื่น เพราะมีอยู่แล้ว เรามาแก้ที่ดวงตาของเรานั้นแหละเราลืมตาขึ้นมา โผล่ขึ้นมา ได้สัมผัสกับแสงสว่าง เราก็ได้เห็นรูปต่างๆผลที่สุดเราก็มาแก้ที่ตาของเรา เพราะสว่างก็มีอยู่แล้ว วัตถุก็มีอยู่แล้วจะมืดหรือจะสว่างมันอยู่ที่ตาของเรา ฉันใดก็ดี ธรรมทั้งหลายมีอยู่แล้วที่พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ได้ตรัสรู้ในโลกนี้ ในชาติมนุษย์นี้ ในเดือนปีอันนี้ในจักรวาลอันนี้ ในดวงอาทิตย์อันนี้ ในโลกอันนี้ ในธรรมอันนี้ ความเกิด แก่ เจ็บตาย อันนี้ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ไม่ใช่จะมีแต่เฉพาะเรา กิเลสทั้งหลายก็ไม่ใช่เพิ่งมีแต่เฉพาะเราเกิดสุดท้ายภายหลัง มันมีตั้งแต่ไหนแต่ไรมาความทุกข์ไม่ใช่เพิ่งมี แต่พวกเรามีแต่อดีตมานานแล้ว เป็นของประจำโลกเป็นของประจำธรรม พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้โลก ตรัสรู้ธรรม ที่มีอยู่แล้วเพราะอาศัยพระองค์มาแก้ดวงตาของพระองค์ให้ใสสะอาด สมามรถมองเห็นสิ่งต่างๆที่ละเอียดที่คนทั้งหลายไม่เห็น ที่คนธรรมดาไม่เห็น ที่คนธรรมดาไม่รู้ พระองค์เห็นแล้วศึกษาจนรู้จนเข้าใจ ในสิ่งที่พระองค์รู้ พระองค์เห็นนั้นๆ เอาใช้ให้เกิดประโยชน์ความสุขอย่างพึงพอใจ

เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายควรสำเหนียกศึกษาให้เข้าใจธรรมะที่ละเอียด ในส่วนที่ละเอียดในส่วนที่หยาบ ในส่วนที่ประณีต เราก็ต้องใช้สติ ใช้ปัญญาให้เหมาะสม ในธรรมนั้นๆในส่วนนั้นๆ เราก็จะเห็นได้ ธรรมส่วนละเอียด แต่สติปัญญาของเราหยาบอารมณ์จิตใจของเราหยาบ มันก็รับกันไม่ได้ รับไว้ส่วนละเอียดไม่ได้ที่เหลืออยู่ก็เหลือแต่ส่วนหยาบที่เสมอกัน เมื่อเราต้องการรู้เห็นธรรมะส่วนละเอียดจะต้องอาศัยความสงบ จะต้องอาศัยความวิเวก ต้องอาศัยสติ ต้องอาศัยความเพียรเราก็ต้องหาที่สงบ ที่วิเวก ต้องมีสติ มีความเพียร ไม่ลดละไม่เป็นสิ่งที่เหลือวิสัย เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายควรพยายามสำเหนียกศึกษาเฉพาะที่เรามีโอกาสอันดี เหมือนในสมัยเวลานี้ ในปัจจุบันนี้ เป็นโอกาสที่ดีไม่น้อยเป็นสิ่งที่ง่ายในปัจจุบันนี้ แต่อาจจะเป็นสิ่งที่หายากในอนาคตก็ได้เพราะฉะนั้นเมื่อเหมาะสมในการที่เราจะศึกษาประพฤติปฏิบัติแล้ว ควรจะสละเวล่ำเวลาตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง จะอยู่บ้านก็ตาม จะอยู่ป่าก็ตามให้พยายามตั้งใจประพฤติปฏิบัติอยู่ในธรรมเหล่านั้นถ้าเราทั้งหลายปฏิบัติได้อยู่อย่างนี้แหละ ความรู้ของเรา เกี่ยวด้วยธรรมะย่อมปรากฏมีบทบาทในจิตใจ ให้เราได้สัมผัสความพึงพอใจ ความหนักแน่น ความสงบสุขย่อมเกิดขึ้นในตัวของเราแน่นอน เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว พากันจดจำไว้ให้ดีนำไปประพฤติปฏิบัติตาม ด้วยความไม่ประมาท เราก็จะได้ประสบพบเห็น ความสุข ความเจริญดังกล่าวมา สมควรแก่เวลายุติเพียงเท่านี้

...พระโพธิธรรมาจารย์เถร (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ)...

http://www.agalico.com/board/showthread.php?t=24979
http://www.watkoh.com/forum/index.php?topic=1199.0
*8q*

ก่อนเกิดใครเป็นเรา
เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร

สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่
ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า

ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน
มองในสิ่งที่ไม่เห็น
ทำในสื่งที่ไม่มี   

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: สติรักษาจิต หลวงปู่สุวัจน์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ตุลาคม 03, 2010, 09:04:36 pm »
 :13: อนุโมทนาสาธุครับ ขอบคุณครับพี่แทน
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~