Inception ปลูกความคิด ให้ตรงกับความจริง โดย
ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 กันยายน 2553
“Your mind is the scene of the crime”
จิตพิฆาตโลก (Inception) ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์แนวแอ็คชัน-ไซไฟ จากผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่ได้สร้างภาพยนตร์ชั้นยอดมาแล้วอย่าง The Dark Knight เขายังคงรักษาแนวทางการกำกับภาพยนตร์ที่สื่อถึงจิตใต้สำนึกของมนุษย์ได้อย่างลงตัว Inception ได้สร้างความฮือฮากับในวงนักคิด นักจิตวิทยา ว่าเขาสามารถสะท้อนแนวคิดทางจิตวิทยาออกมาได้อย่างลึกซึ้ง เข้าถึงได้ง่าย และเป็นรูปธรรม
เพื่อนหลายคนเชียร์ให้ผมเขียนเรื่องนี้ออกมา แล้วช่วยวิเคราะห์ให้หน่อยว่าประเด็นในเรื่องมันเชื่อมโยงอย่างไรบ้างกับจิตใจของเรา บางคนบอกว่า มันคล้ายกับงานจัดอบรมที่ผมทำมาก จึงคิดว่าได้จังหวะเวลาที่เหมาะสมพอดีกับภาพยนตร์ลาโรงไปสักระยะ เขียนบทความสักชิ้นที่เชื่อมโยงเนื้อเรื่องจากภาพยนตร์เข้ากับประเด็นการทำงานกับจิตใต้สำนึก เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระดับลึกของบุคคล และนี่เป็นเพียงการตีความแค่มุมมองหนึ่งเท่านั้น เนื้อหาต่อจากนี้ จะมีการเปิดเผยเนื้อเรื่องบางตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหยิบยกเนื้อหาสำคัญของเรื่องมาวิเคราะห์ (Spoil Alert!!!)
ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายภาพโลกในอนาคตที่การก่ออาชญากรรม สามารถใช้เทคโนโลยีเจาะเข้าไปในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ เพื่อล้วงข้อมูลความนึกคิดที่เก็บซ่อนไว้ในส่วนลึกของจิตใจ อาชญากรจะอาศัยช่วงเวลาที่คนหลับ เข้าไปจารกรรมข้อมูลในโลกความฝัน อันเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เปราะบาง ไม่รู้ตัว และจิตสำนึกใช้กลไกการป้องกันตัวลดลง การก่ออาชญากรรมเช่นนี้สร้างความกังวลใจแก่บรรดานักธุรกิจและผู้มีอิทธิพลอย่างมาก จึงเกิดคอร์สฝึกอบรมต่อต้านการจารกรรมในความฝัน เพื่อสามารถปกป้องการบุกรุกจากการจารกรรมในขณะที่เจ้าตัวหลับอยู่
ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้ผู้ชมเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า ความฝันมีหลายชั้น ยิ่งความฝันชั้นลึกเข้าไปเท่าไหร่มนุษย์ก็จะยิ่งเปราะบางมากขึ้น ทำให้ง่ายต่อการถูกจารกรรมข้อมูลมากขึ้น แต่การดำเนินเรื่องกลับพลิกผันว่า ภารกิจที่ดอม หัวขโมยระดับพระกาฬ (แสดงโดย ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) ได้รับครั้งนี้ ไม่ใช่การขโมยความคิด เหมือนอย่างที่ผ่านมา แต่เป็นการปลูกความคิด (Inception) ให้กับฟิสเชอร์ ทายาทนักธุรกิจค้าพลังงานที่ครองตลาดครึ่งค่อนโลก ให้เลิกล้มความคิดสานต่อการครอบครองตลาดจากพ่อของเขาที่กำลังจะตาย และภารกิจนี้ก็เป็นโอกาสเดียวที่จะทำให้เขาได้กลับไปหาลูก และเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ลบล้างประวัติอาชญากรของตน
ภารกิจปลูกความคิดได้เริ่มขึ้นโดยการรวบรวมทีมงานและวางแผน หาจุดเปราะบางของฟิสเชอร์ คือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับตัวเขา พวกเขาต้องการเจาะเข้าไปถึงความฝันชั้นที่สาม ซึ่งเป็นชั้นที่ลึกที่สุด และยากมากที่อาชญากรทั่วไปจะเข้าถึงได้ เพื่อให้แน่ใจว่า การปลูกความคิดนั้นจะมีโอกาสประสบผลสำเร็จมากที่สุด
แนวทางนี้มีความละม้ายคล้ายกันอย่างมากกับกระบวนการเอกซ์เรย์จิต ที่ผมใช้ทำงานเพื่อวิวัฒน์จิตคน กล่าวคือ การเข้าไปทำงานกับจิตในระดับลึก เพื่อปลูกความคิดให้ตรงกับความจริง การเอกซ์เรย์จิตจะพาเราเข้าไปสำรวจและสะท้อนตนเอง ผ่านไปทีละชั้นๆ จนถึงชั้นที่ลึกที่สุด นั่นคือ ความเชื่อใหญ่ หรือสมมติฐานใหญ่ (Big Assumption) ที่แต่ละคนมีไว้เป็นข้อกำกับหรือธรรมนูญชีวิตของแต่ละคน การเอกซ์เรย์จิตเข้าไปในแต่ละชั้นจะเป็นการเปิดเผยและเปราะบางมากขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่า เมื่ออยู่ในการจัดอบรมที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยและไว้วางใจร่วมกัน การเปิดเผยและเปราะบางเป็นสิ่งที่ช่วยให้เข้าใจตัวเองมากขึ้นไปทีละชั้น แตกต่างอย่างมากกับสถานการณ์ในภาพยนตร์ที่เป็นการบุกรุกเข้าไปสู่โลกภายในจิตใจของตัวละคร ฟิสเชอร์เป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ผ่านคอร์สฝึกอบรมต่อต้านการจารกรรมในความฝันมาแล้วอย่างดี ทำให้การเจาะเข้าไปในแต่ละชั้นที่ลึกขึ้นไป ยิ่งมีความยากลำบากในการฝ่าฟันกลไกการป้องกันตนเองที่หนาแน่นตามไปด้วย ผมอยากชวนให้ผู้อ่านใช้โอกาสนี้ ลองทบทวนตนเองดูว่า เรามีกำแพงปกป้องความเปราะบางกี่ชั้น หนาแน่นเพียงไร
สมมติว่า เราเอกซ์เรย์จิตผ่านกันมาได้ทุกชั้น จนเจอกับความเชื่อใหญ่ เราจะพบว่า ความเชื่อใหญ่นั้นทำหน้าที่กำกับทิศทางชีวิตเรามาโดยตลอด ลักษณะสำคัญของความเชื่อใหญ่ประการหนึ่งคือ ความเชื่อนี้หลอกให้เราคิดว่าเราถูกอยู่เสมอ และทุกสิ่งทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม การพบกับความเชื่อใหญ่ ก็เหมือนกับการพบว่าเราหลอกตัวเองมานานแสนนาน และจุดนี้เองจึงจะเปิดโอกาสให้เราได้ปลูกความคิดลงไปใหม่ เพื่อปรับความเชื่อใหญ่ให้ตรงกับความจริงของโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว และโลกก็ไม่ได้หมุนรอบตัวเราอย่างที่เคยคิดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง
ภารกิจปลูกความคิดของดอมและทีม คือการเข้าไปปรับความเชื่อของฟิสเชอร์ที่เขามีต่อพ่อ ...ในโลกความจริง พ่อเรียกให้ฟิสเชอร์เข้าพบก่อนสิ้นใจเพื่อพูดเพียงคำเดียวว่า “ผิดหวัง” และคำพูดนั้นทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดใจอย่างมาก และทำให้ความสัมพันธ์ทางใจระหว่างเขาและพ่อร้าวฉานลง แม้ว่าพ่อจะจากไปแล้ว ...ในโลกความฝันชั้นที่สาม ฟิสเชอร์ได้พบกับพ่ออีกครั้ง ดอมและทีมงานจัดฉากให้ฟิสเชอร์รับรู้ว่า ที่ผ่านมาพ่อยังคงมีเยื่อใยกับเขามาก ทำให้เขาเปิดใจกับพ่ออีกครั้ง เมื่อฟิสเชอร์เข้าไปใกล้พ่อ บทสนทนาก็เกิดขึ้น
พ่อ: (พยายามพูดด้วยความยากลำบาก) “ฉันผะ ผะ ผิดหวะ...”
ฟิสเชอร์: “ผมรู้ครับพ่อ ว่าพ่อผิดหวังที่ผมไม่สามารถเป็นได้อย่างที่พ่อเป็น”
พ่อ: “ไม่ ไม่ ไม่ พ่อผิดหวังที่เธอพยายาม (จะเป็นเหมือนพ่อ)”
และน้ำตาของฟิสเชอร์ก็ร่วงหล่นลงจากเบ้าตา
แม้เหตุผลของการปลูกความคิดในภาพยนตร์จะแตกต่างอย่างมากกับการทำงานวิวัฒน์จิต กล่าวคือ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์บางอย่างของผู้บงการ และพ่อตัวจริงอาจจะไม่ได้พูดเช่นนี้ แต่ “กระบวนการ” ทำงานกับจิตใจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีความคล้ายกันมาก ตรงที่เมื่อเราเอกซ์เรย์จิตจนพบกับความเชื่อใหญ่แล้ว เราจะทำงานกับความเชื่อใหญ่ เพื่อปรับความเชื่อใหญ่นี้ให้ตรงกับความจริง
ความเชื่อใหญ่ของฟิสเชอร์ในเรื่องนี้คือ “ฉันไม่เป็นที่รัก” (พ่อผิดหวังในตัวลูก) และ “ฉันไม่สามารถ” (ไม่สามารถเป็นอย่างพ่อได้) และประโยคสั้นๆ ที่ทีมปลูกความคิดใส่เข้าไป เป็นการทำงานกับจิตใต้สำนึกเพื่อไปปรับความเชื่อใหญ่ให้กลายเป็น “ฉันเป็นที่รัก” (พ่อไม่ได้ผิดหวังในตัวลูก) และ “ฉันสามารถ” (ลูกประสบความสำเร็จได้อย่างที่ลูกเป็น) เมื่อได้ปลูกความคิดลงไปในความฝันชั้นที่สามแล้ว ทีมปลูกความคิดก็ค่อยๆ พาฟิสเชอร์กลับขึ้นมาทีละชั้นๆ และตรวจสอบให้แน่ใจว่า เมื่อตื่นขึ้นมาจากความฝันในแต่ละชั้น เขาได้ปรับเปลี่ยนความคิดในการสร้างธุรกิจใหม่ โดยหันมาเชื่อมั่นในวิถีทางของตนเอง ไม่ได้เดิมตามรอยพ่อที่จะครอบครองตลาดโลก และทำอยู่บนพื้นฐานของความรักที่มั่นคงระหว่างเขากับพ่อ
แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นการไปปรับเปลี่ยนความเชื่อของคนอื่น แต่การทำงานวิวัฒน์จิตกลับตรงข้ามกัน คือ เป็นการปรับเปลี่ยนความเชื่อของตัวเราเอง ให้ตรงกับความจริง ไม่มีใครจะปลูกความคิดให้กับใครได้ นอกจากตัวเราเอง และตัวเรานั้นเองคือผู้ที่รับผิดชอบ และเลือกว่าจะหยุดอยู่กับที่ หรือปรับเปลี่ยนถึงขั้นรากฐาน ตัวเราเองนั่นแหละที่จะเป็นผู้วิวัฒน์จิตตัวเอง…
วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553 at ที่
10:00 by knoom
http://jitwiwat.blogspot.com/