ต้องยอมรับความจริงว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมดื่มนม โดยเฉพาะคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ ที่แทบจะจำไม่ได้ว่าครั้งล่าสุดยกแก้วซดนมกันเมื่อไร ทั้งๆ ที่นมนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย นม 1 แก้วให้พลังงาน 80 แคลอรีพร้อมด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกเพียบ หรือโดดเด่นที่สุดคงหนีไม้พ้น แคลเซียมช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง และรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับพอเหมาะ
สาเหตุที่คนไทยดื่มนมน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่านิยมและความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับนม ผู้เชี่ยวชาญจากผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ได้รวบรวมและไขข้อข้องใจ 6 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการดื่มนม
1. ดื่มนมเป็นประจำทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม
ข้อเท็จจริง : ปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน "ไม่ได้" มาจากสาเหตุการดื่มนมเป็นประจำ แต่มาจากการบริโภคอาหารที่ไม่ได้สัดส่วนที่สมดุลกัน
น้ำหนักของคนเราเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณอาหารที่บริโภคเข้าไปมีมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้ได้หมด ปริมาณส่วนเกินเหล่านี้ ร่างกายจะเก็บไว้ในรูปแบบของไขมัน ปัจจุบัน มีผล
งานวิจัยยืนยันแล้วว่า การบริโภคอาหารที่ให้พลังงานต่ำควบคู่กับการดื่มนมพร่องมันเนยให้มากขึ้น มีความสัมพันธ์กันและมีส่วนทำให้น้ำหนักลดลงได้
2. เราสามารถรับประทานอาหารอื่นแทนการดื่มนม
ข้อเท็จจริง : ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดๆ ให้คุณประโยชน์และสารอาหารสำคัญต่อร่างกายได้เท่ากับนม
นมเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม และยังมีส่วนประกอบอื่นๆ อาทิเช่น โปรตีน สังกะสีและวิตามิน บี ล้วนแล้วแต่เป็นสารอาหารที่จำเป็นกับร่างกาย การดื่มนมเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 แก้ว (แก้วละ 300 มิลลิลิตร) จะให้ปริมาณแคลเซียมกว่า 35% ของปริมาณทั้งหมดที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน
3. น้ำนมวัวไม่เหมาะแก่การนำมาบริโภค
ข้อเท็จจริง : มนุษย์สามารถบริโภคนมวัวได้อย่างไม่มีปัญหา
ตลอดชีวิตของเราสามารถบริโภคนมได้ เนื่องจากในลำไส้ของเรามีเอนไซม์แลตเตส ที่ย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม หากคุณลดการบริโภคนมลง ร่างกายก็จะค่อยๆ ลดการผลิตเอนไซม์แลคเตสลงไปด้วย ซึ่งจะทำให้ร่างกายต่อต้านแลคโตส การดื่มนมเป็ประจำอย่างต่อเนื่องจะทำให้การผลิตเอนไซม์ตัวนี้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้สามารถบริโภคนมได้ตลอด
ในบางคนที่เอนไซม์แลคเตสผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการนั้น ควรบริโภคโยเกิร์ตและชีส แทน เพราะผลิตภัณฑ์จำพวกนี้มีปริมาณแลคโตสต่ำ
4. การดื่มนมอาจทำให้เกิดอาการแพ้
ข้อเท็จจริง : อาการแพ้นมสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ความเป็นจริง อาการแพ้โปรตีนในนมวัวนั้นเกิดในคนจำนวนน้อยมากหรือเฉพาะในทารกเท่านั้น
ตามสถิติ 2 - 4% ของเด็กเล็กเท่านั้นที่จะเกิดอาการแพ้ และอาการแพ้ต่างๆ จะหายไปเองเมื่อเด็กมีอายุ 2 ขวบขึ้นไป สำหรับอาการแพ้ที่เกิดขึ้นบ่อยในผู้ใหญ่นั้น จะเป็นลักษณะของอาการท้องเสียเมื่อดื่มนมขณะท้องว่าง อาการเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะร่างกายไม่คุ้นเคยกับการดื่มนม และไม่มีน้ำย่อยสำหรับย่อยน้ำตาลแลคโตสในน้ำนม
แก้ไขได้โดยการแบ่งน้ำนมออกเป็นส่วนๆ ทยอยดื่มครั้งละน้อย วันละหลายเวลา แล้วระยะหนึ่งร่างกายจะค่อยๆ สร้างน้ำย่อยแลคเตสสำหรับย่อยแลคโตสขึ้นมาเอง
5. การดื่มนมเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
ข้อเท็จจริง : นมและผลิตภัณฑ์จากนม "ไม่" เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ
อาหารที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ คือ อาหารที่ประกอบด้วยไขมันสูง ส่วนการบริโภคนมและโยเกิร์ตพร่องไขมัน จะช่วยให้คุณได้รับประโยชน์เหมือนการบริโภคนม โดยที่ไม่ต้องกังวลกับปริมาณไขมันอีกด้วย
6. การดื่มนมจำเป็นสำหรับเด็กๆ เท่านั้น
ข้อเท็จจริง : นอกจากจะเสริมสร้างการเจริญเติบโตในเด็กแล้ว นมยังป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้ใหญ่ด้วย
หลายคนคิดว่านมเป็นเครื่องดื่มสำหรับเสริมสร้างการเจริญเติบโตในวัยเด็กเท่านั้น เมื่อเติบโตขึ้นแล้วจึงไม่จำเป็นต้องดื่มนมอีก ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ร่างกายของเรายังคงมีความต้องการสารอาหารตลอดเวลาในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะแคลเซียมเพื่อเสริมสร้างกระดูก ซึ่งมีการสลายตัวและสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา วัยเด็กจะมีสัดส่วนการสร้างมวลกระดูกมากกว่าการสลายจนถึงอายุ 20 ปี โดยในช่วงอายุ 25-40 ปี สัดส่วนการสร้างและสลายกระดูกจะสมดุลกัน และเมื่ออายุมากขึ้น การสลายกระดูกจะมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มวลกระดูกลดน้อยลง และเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
ืที่มา กรุงเทพธุรกิจ