๑๐๑) ในสมัยที่คนในโลกอวดกันว่าเจริญด้วยการศึกษานี้ มิได้หมายความว่าจะสามารถหยุดการตามใจตัวเองได้ โดยที่ได้สามารถประดิษฐ์สร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นสนองความอยากของตนจนรู้สึก ว่าอิ่มว่าพอแม้แต่น้อยฯ
(๑๐๒) ยิ่งมีการศึกษามาก ก็ยิ่งรู้จักนึกอยากให้แปลก ๆ วิตถารออกไป ยิ่งประดิษฐ์อะไรขึ้นมาสนองความอยากได้อย่างแปลก ๆ ความอยากก็ยิ่งแล่นออกหน้าสิ่งที่สร้างขึ้นสนองต่อไปอีกฯ
(๑๐๓) สมัยวิทยาศาสตร์ ที่คนสามารถสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นบำเรอซึ่งกันและกัน จนดูคล้ายของทิพย์เข้าไปนั้น ความอยากใหม่ ๆ ในการที่จะตามใจตัวเอง ก็ยิ่งทวีขึ้นตามส่วนฯ
(๑๐๔) การศึกษาอันกว้างขวางของคนในโลกแห่งสมัยนี้ ได้กลายเป็นเพียงเครื่องมือ สำหรับสร้างสรรเหยื่อสำหรับบวงสรวงปีศาจแห่งการตามใจตัวเอง ไปจนหมดสิ้น ซึ่งมีแต่จะทำตัวให้ตกเป็นทาสแห่งอารมณ์มากยิ่งกว่าแต่ก่อนอย่างน่าสมเพชฯ
(๑๐๕) มติมหาชนสมัยนี้ เอาแต่จะให้ทุกคนได้มีความสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนังมากขึ้นไป ไม่มีขีดสุด ภายใต้นามศัพท์อันไพเราะว่า การกินดีอยู่ดี, การศึกษาค้นคว้าก็ต้องหมุนเข็มแห่งความมุ่งหมายมุ่งไปทางนี้, นักการเมือง นักเศรษฐกิจ นักการทหาร ล้วนแต่มีหน้าที่ ทำเพื่อให้สำเร็จ ตามความประสงค์อันนี้ฯ
(๑๐๖) อุบายทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารนั้นเองหากมีโอกาสเมื่อไร คนเราก็ใช้กันไปในทางสำหรับกวาดล้อม เอาประโยชน์ของผู้อื่น มาเป็นของตน ทั้งทางตรงและทางอ้อม, ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เมื่อฝ่ายหนึ่งรู้ทัน ทำการต้านทานหรือป้องกัน, สิ่งที่เรียกว่าสงคราม ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ฯ
(๑๐๗) เมื่อการตามใจตัวเอง เข้ามาเป็นเจ้าเหนือใจคนเราแล้ว การศึกษา ซึ่งควรจะเป็นเครื่องมือสร้างสันติภาพ ก็มากลายเป็นเครื่องมือของปีศาจ แห่งการตามใจตัวเอง สุมเผาสัตว์โลก ให้รุ่มร้อนไปทุกหัวระแหงฯ
(๑๐๘) ความเดือดร้อนระส่ำระสายเกิดขึ้น หรือมีอยู่ในที่ไหน เราจะค้นพบปีศาจแห่งการตามใจตัวเอง ซ่อนตัวอยู่ภายใต้ ในที่นั้นเสมอไปฯ
(๑๐๙) เมื่อปีศาจแห่งการตามใจตัวเอง ยังสิงใจคนในโลกอยู่เพียงใดแล้ว การศึกษาก็ตาม การค้นคว้าก็ตาม การปฏิบัติงานไปตามหลักแห่งการศึกษาค้นคว้านั้น ๆ ก็ตาม ย่อมกลายเป็นเครื่องทำโลกให้ลุกเป็นไฟอย่างไม่มีวันจะดับได้อย่างผิดตรงกันข้าม จากวัตถุที่ประสงค์ของการศึกษา ที่เราเคยพากันหวังว่าจะเป็นเครื่องนำมาซึ่งสันติภาพอันถาวรฯ
(๑๑๐) ความเจริญก้าวหน้าในทางตามใจตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขทางเนื้อทางหนังอย่างไม่มีการอิ่มการพอนี้เอง เป็นมูลเหตุอันแท้จริงของสงคราม ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตฯ
(๑๑๑) แม้จะได้อวดอ้างว่า สามารถจัดการศึกษาให้ถูกต้อง แนบเนียนฉลาดเฉลียวเพียงไร การเห็นแก่ความสุขทางเนื้อหนังยังคงต้องเป็นบ่อเกิดของความยากเข็ญในโลกอย่างเร้นลับลึกซึ้ง แนบเนียน เพียงนั้นอยู่นั่นเองฯ
(๑๑๒) บัดนี้โลกเราตกลึกเช้ามาในหล่มนี้ ถึงเพียงนี้แล้ว เราก็พากันสอดส่ายตาหาลู่ทางสำหรับแก้ไข, แต่ในที่สุดผลก็จะยังคงเป็นความล้มเหลวอย่างเดียวกันอีก นั่นเอง ในเมื่อผู้ที่จะทำการแก้ไข ยังสมัครที่จะบูชาปีศาจแห่งการตามใจตัวเองอยู่ร่ำไปฯ
(๑๑๓) โรคร้ายเกิดขึ้นจากการตามใจตัวเองแล้ว ยังจะขืนใช้ยาแก้ คือการตามใจตัวเองอีก มันก็เหมือนกับเอาน้ำโคลน มาล้างมือที่เปื้อนโคลน ฉันใดก็ฉันนั้นฯ
(๑๑๔) การที่ความยากเข็ญเกิดขึ้นในโลก และทวียิ่ง ๆ ขึ้นไปตามส่วนแห่งความเจริญของการศึกษาก็ตาม, และการที่เราพากันแก้ไขสิ่งร้ายเหล่านี้ให้กลายเป็นดี ไม่ได้ก็ตาม, ทั้งหมดนี้เป็นเพราะอำนาจของปีศาจแห่งการตามใจตัวเอง ตัวเดียวกันแท้ฯ
(๑๑๕) ที่ได้เอ่ยชื่อถึงปีศาจแห่งการตามใจตัวเองมานับด้วยสิบ ๆ ครั้งเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากมันมีความสำคัญในการก่อทุกข์เข็ญขึ้นในโลกอย่างใหญ่หลวงกว้างขวาง ทั้งโดยส่วนบุคคลและส่วนรวมจริง ๆ เราจงมาช่วยกันกำจัดศัตรูอันร้ายกาจของโลกตัวนี้กันเถิดฯ
(๑๑๖) ในการที่จะกำจัดปีศาจแห่งการตามใจตัวเอง อันเป็นศัตรูอันร้ายกาจของโลกตัวนี้ เราต้องใช้อาวุธที่เป็นของตรงกันข้าม กล่าวคือการบังคับตัวเอง, เราต้องเลิกตามใจตัวเอง แล้วหันไปตามใจพระศาสดาของตนฯ
(๑๑๗) การตามใจศาสดาของตน ๆ ก็คือการปฏิบัติตามคำสอนในพระศาสนาอย่างเคร่งครัด, ศาสนาทุกศาสนาตรงกันหมด คือให้บังคับตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ การตามใจตัวเอง ก็สูญหายไปจากโลก และปีศาจร้ายตัวที่สำคัญนั้น ก็จะไม่เยี่ยมกรายมาอีกฯ
(๑๑๘) ในการบังคับตัวเองนี้ จะเป็นทั้งการแก้ไขความทุกข์ที่มีอยู่แล้วให้หมดไป และป้องกันความทุกข์ใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น, ฉะนั้นเราจงตั้งอกตั้งใจในการที่จะอาศัยหลักแห่งพระศาสนา เพื่อการบังคับตัวเอง กันจงทุกคนเถิดฯ
(๑๑๙) ท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัท และโดยเฉพาะเป็นฆราวาสด้วยแล้ว นับว่าโชคดีที่สุด ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประทานธรรมะสำหรับฆราวาสไว้โดยเฉพาะ เพื่อการแก้ไขความทุกข์ ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นแก่ฆราวาสทั้งหลายโดยสิ้นเชิงฯ
(๑๒๐) ฆราวาสธรรม เป็นธรรมสำหรับฆราวาสโดยตรง ในการที่จะแก้ไขปัญหาส่วนตัว ส่วนครอบครัว ปัญหาของบ้านเมือง ของประเทศชาติ หรือของโลกทั้งสิ้นก็ตาม ธรรมะหมวดนี้ย่อมมีอำนาจเพียงพอ ที่จะใช้ได้ในทุกกรณีฯ
(๑๒๑) ท่านจะเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกตามใจตัวในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านก็ต้องใช้ธรรมะหมวดนี้ ซึ่งเป็นแก้วสารพัดนึกสำหรับฆราวาส เราจะบังคับตัวเองให้เว้นอะไร หรือแก้ไขอะไรสำเร็จไม่ได้ ถ้าปราศจากธรรมะหมวดที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม นี้ฯ
(๑๒๒) ฆราวาสธรรม ข้อต้น คือ สัจจะ ความจริงใจ หมายถึงความซื่อตรง ไม่คดโกงต่อบุคคล ต่อเวลา ต่อหน้าที่การงาน ต่อคำพูดของตัวเอง หรือถ้าสรุปความให้สั้นที่สุดแล้ว ก็คือซื่อตรงต่อตัวเอง ซึ่งหมายถึงเกียรติยศ แห่งความเป็นมนุษย์ของตนนั่นเองฯ
(๑๒๓) เมื่อเราเรียกตัวเราว่า มนุษย์ เราก็ต้องซื่อตรงต่อความหมายของคำว่า มนุษย์และเป็นมนุษย์ให้ได้ อย่างถูกต้องตามความหมาย คือ มีใจสูง เพราะใจสะอาด สว่างและสงบฯ
(๑๒๔) หากเราซื่อตรงต่อตัวเอง หรือต่อความเป็นมนุษย์ของเราได้แล้ว ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องกลัว เราย่อมซื่อตรงต่อบุคคล ต่อหน้าที่การงาน ต่อเวลา ต่อคำพูด และต่ออะไรได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นขอให้เราทุกคนจงภาวนาตั้งจิตอธิษฐาน ในการที่จะเป็นมนุษย์ให้ได้จริง ๆ ไม่เป็นแต่เพียงคนฯ
(๑๒๕) ความซื่อตรงต่อตนเองนี้ มิใช่ของง่าย มิใช่จะมีได้ง่าย ๆ อย่างปากพูด, แต่ว่าเราไม่ต้องตกใจ เมื่อใครต้องการจะมีสัจจะให้ได้จริง ๆ ไม่เพียงแต่ปากว่า หรือตั้งใจอยู่แต่ในใจแล้ว ก็มีทางที่จะทำได้สำเร็จ คือมี ธรรมะข้อที่สอง ต่อไป ซึ่งเรียกว่า การบีบบังคับใจ หรือเรียกเป็นภาษาบาลีว่า ทมะฯ
(๑๒๖) การบีบบังคับใจนี้ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสสรุปไว้อย่างไพเราะน่าฟังที่สุดว่า ท่านทั้งหลาย จงบีบบังคับใจของท่านให้อยู่ในอำนาจของท่าน เหมือนความช้างที่ฉลาดสามารถบังคับช้างที่ตกน้ำมันฉะนั้นฯ
(๑๒๗) คำหนึ่ง ซึ่งท่านจะต้องสนใจจริง ๆ คือ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า หมอช้างที่ฉลาด มิได้ตรัสว่าหมอช้างเฉย ๆ หรือหมอช้างที่โง่เขลา. เพราะถ้าเป็นหมอช้างธรรมดา หรือหมอช้างที่โง่เขลาแล้ว ก็รังแต่จะถูกช้างสลัดให้ตกลงมา และเหยียบหรือทำอันตรายให้แหลกราญไปเท่านั้นฯ
(๑๒๘) ใจของคนเรา ที่มีปีศาจแห่งการตามใจตัวเอง เพื่อความสุขทางเนื้อทางหนังเข้าสิงอยู่นั้นมันเป็นสิ่งที่กลับกรอกและดุร้ายยิ่งกว่าช้างที่ตกน้ำมันเป็นไหน ๆ แล้วเราเป็น หมอช้างที่โง่เขลาจะบังคับมันได้อย่างไรฯ
(๑๒๙) การบีบบังคับใจให้อยู่ในอำนาจ เพื่อรักษาสัจจะเอาไว้ให้ได้นั้น เราต้องอาศัยการทำตนให้เหมือนหมอช้างที่ฉลาดสามารถรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของช้างทุกประการฯ
(๑๓๐) มารยาหรือเล่ห์เหลี่ยมของใจที่คอยแต่จะเถลไถล มีอยู่อย่างไรในใจเรา เราก็พอจะรู้ แต่ดูเหมือนเราไม่สมัครที่เป็นหมอช้างที่ฉลาดนั้นมากกว่า โดยหาทางแก้ตัวต่าง ๆ นานา จนได้เป็นหมอช้างที่เหลงไหลไม่ได้เรื่องฯ
(๑๓๑) เมื่อการบีบบังคับใจให้อยู่ในอำนาจแล้ว ก็ย่อมจะต้องเกิดการเจ็บปวดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นเราจำต้องมี ธรรมะข้อที่สาม ต่อไป ซึ่งเรียกว่า ความอดกลั้น หรือ ขันติ หมายถึงความอดทนได้ รอได้ คอยได้ จนกว่าจะประสบความสำเร็จฯ
(๑๓๒) ขอให้คิดดูเถิดว่า แม้ในกรณีที่ทำชั่วทำเลว ก็ยังต้องอาศัยความอดกลั้นอดทนรอได้ คอยได้เหมือนกัน แล้วเหตุใดในกรณีที่เป็นการทำความดี ซึ่งยากไปกว่าการทำชั่วนั้น จะไม่ต้องมีความอดกลั้นอดทนกันเล่าฯ
(๑๓๓) โจรขโมย ที่พยายามทำการปล้นสดมถ์ หรือตัดช่องย่องเบา เขายังต้องอดทน จนกว่าจะทำโจรกรรมนั้น ๆ ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการอดกลั้นอดทน รอได้คอยได้อยู่ไม่น้อย แม้ในกรณีที่ทำชั่ว, แล้วทำไมมนุษย์ที่จะทำการบีบบังคับใจ เพื่อแก้ไขความทุกข์ยากในโลก ซึ่งนับว่าเป็นความดีอันใหญ่หลวงนี้ จะไม่ต้องพยายามทำการอดกลั้น อดทน รอได้ คอยได้เล่าฯ
(๑๓๔) เนื่องมาจากความปราศจากการอดทน รอได้ คอยได้นี่เอง ที่พาเราพากันไม่สามารถกำจัดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาให้สำเร็จลงไปได้. ฉะนั้นในกรณีที่เราจะเป็นผู้บังคับใจให้สำเร็จ เราจะต้องอดกลั้นอดทน แม้จะต้องทน จนเลือดตาไหลฯ
(๑๓๕) เราจะต้องอดกลั้นต่อทุกขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะโรคภัยไข้เจ็บ ; เราต้องอดทนต่อดินฟ้าอากาศความเหนื่อยยากลำบากหรืออุปสรรคอื่น ๆ อันจะเกิดขึ้นในขณะที่เราประกอบการงานอันเป็นหน้าที่ของเรา. เราต้องอดกลั้นต่อคำนินทาว่าร้าย ประมาท ดูหมิ่นของคนจำพวกหนึ่ง ซึ่งจำเป็นจำต้องมีอยู่ในโลกนี้ด้วยเหมือนกันฯ
(๑๓๖) เราต้องอดทนต่อความยั่วเย้าของอารมณ์ซึ่งเป็นเหยื่อล่อของปีศาจแห่งการตามใจตัวเองได้ทุก ๆ อย่าง แล้วเราก็จะเป็นผู้ที่บังคับใจได้สำเร็จ มีความจริงใจในการเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องได้สำเร็จ สมตามความประสงค์ฯ
(๑๓๗) เพื่อมิให้ต้องอดทนมากไป จนถึงกับทนไม่ไหว พระพุทธเจ้าท่านยังได้ทรงประทานธรรมะสำหรับ ฆราวาสข้อที่สี่ ไว้ให้อีก เรียกว่า การระบายสิ่งชั่วร้ายออกจากใจอยู่เสมอ หรือเรียกเป็นภาษาบาลีว่า จาคะฯ
(๑๓๘) การระบายสิ่งที่ไม่ควรอยู่ในใจ ให้ออกไปเสียจากใจอยู่เสมอ ๆ นั้น เป็นการช่วยให้มีสัจจะได้โดยง่าย ช่วยให้มีการบีบบังคับใจได้สำเร็จโดยง่าย และช่วยให้ไม่มีอะไรที่ต้องทนจนมากเกินไป เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อสุดท้าย หรือข้อสำคัญที่จะต้องตั้งใจทำกันจริง ๆ โดยไม่มีระยะว่างเว้นฯ
(๑๓๙) จงพยายามซักฟอกใจ เหมือนเราใช้สบู่ซักฟอกผ้าจนผ้าขาวสะอาด. สบู่ซักใจก็คือ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม ตลอดขึ้นไปถึงข้อวัตรปฏิบัติ ตามทางแห่งศาสนา มีการสวดมนต์ภาวนา การควบคุมกายวาจา จิต การนึกถึงโลกหน้า นึกถึงความตาย นึกถึงบุญกุศล นึกถึงบรรพบุรุษ นึกถึงเกียรติของความเป็นมนุษย์อันถูกต้องของเราเองฯ
(๑๔๐) จงพยายามทำการบริจาคสิ่งที่ไม่ควร ที่จะมีอยู่ในใจให้หมดไปจากใจ จนมีใจสะอาด สว่าง และสงบเย็นเถิด สิ่งร้ายก็จะถูกแก้ไขให้กลายเป็นดี และไม่มีสิ่งร้ายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกต่อไป ปัญหาต่าง ๆ ก็จะหมดสิ้นเองฯ
(๑๔๑) การที่ฆราวาส เพียงแต่พยายามทำการบำเพ็ญฆราวาสธรรม ๔ ประการคือ สัจจะ ทมะ ขันติ และ จาคะ ให้ครบถ้วนบริบูรณ์เท่านั้น จะเป็นการประพฤติธรรมะหมดทั้งพระไตรปิฎกอย่างครบถ้วนทีเดียว, เพราะพระไตรปิฎกมีใจความสำคัญอย่างเดียว กล่าวคือ การบังคับตัวเองได้ ซึ่งหมายความว่า การเอาชนะใจตนเองได้โดยเด็ดขาดฯ
(๑๔๒) บุคคลจะเป็นผู้ชนะทุกอย่าง ทุกประการ ชนะทั้งในโลกนี้และชนะทั้งโลกหน้า ไม่มีอะไรเหลืออยู่เป็นข้อบกพร่องได้ ก็เพราะอาศัยฆราวาสธรรม ๔ ประการ. พระพุทธเจ้าจึงทรงท้าของท่านไว้ว่า ไม่เชื่อก็จงลองไปถามสมณพราหมณ์ พวกอื่นเป็นอันมากดูเถิดว่า มีธรรมะเหล่าไหนอีกเล่า ที่เหมาะสำหรับฆราวาส ยิ่งไปกว่าธรรมะ ๔ ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ และ จาคะ นี้ฯ
(๑๔๓) ฆราวาสจงได้สนใจ ในธรรมะ ๔ ประการ อันเป็นเหมือนแก้วสารพัดนึกของฆราวาส ที่พระองค์ทรงประทานไว้ เป็นของขวัญอันประเสริฐสุดดวงนี้ ด้วยความไม่ประมาทอย่างยิ่งเถิด ท่านจะสามารถแก้ปัญหายุ่งยากทุก ๆ ชนิดที่เข้ามาเผชิญหน้าท่าน ให้ลุล่วงไปได้ทุกอย่างจริง ๆฯ
(๑๔๔) ผู้ประพฤติธรรม แม้จะประพฤติเพื่อประโยชน์สุขของตนเป็นเบื้องหน้าก็ตาม แต่ผลได้นั้นจะแผ่ซ่านไปทั่วโลก ทำให้กลายเป็นผู้ประพฤติประโยชน์แก่โลกทั้งโลก ไปโดยไม่รู้ตัวฯ
(๑๔๕) โลกทั้งโลกนี้ เปรียบเหมือนเรือลำเดียว ทุกคนที่อยู่ในโลกที่ยังมีจิตใจเป็นอย่างวิสัยโลก ย่อมได้รับผลอันเป็นขะตากรรมของโลกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทางร้ายหรือทางดี. เมื่อโลกนี้เร่าร้อนพลโลกก็พลอยเร่าร้อนกันไปหมด ไม่มากก็น้อยฯ
(๑๔๖) หากใครคนหนึ่ง ที่นั่งไปด้วยกันในเรือลำเดียวกันเกิดอาละวาดขึ้นมา จนทำให้เรือลำนั้นจมลงไป หรือเอียงวูบวาบก็ย่อมทำให้คนทุกคนต้องจมน้ำ หรือเวียนศีรษะกันไปทั้งลำเรือไม่ยกเว้นว่าใคร เป็นตัวการหรือนั่งอยู่เฉย ๆ หรือถึงกับพยายามถ่วงป้องกันเอาไว้ไม่ให้เรือเอียงฯ
(๑๔๗) เมื่อใครคนใดคนหนึ่ง พยุงเรือเอาไว้ได้ ไม่ทำให้คว่ำลงไป ทุกคนที่นั่งอยู่ในเรือก็รอดจากการเปียกน้ำ หรือการเวียนศีรษะเพราะเรือโคลง, ไม่ว่าเขาจะเป็นพวกที่เขย่าเรือให้จม หรือเป็นพวกที่นั่งอยู่เฉย ๆ หรือเป็นพวกที่พยายามช่วยพยุงเรือไว้ฯ
(๑๔๘) ผู้ประพฤติธรรมในโลกนี้ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติประโยชน์แก่โลก โดยส่วนรวมอยู่เสมอไป. ธรรมะยังมีผู้ประพฤติอยู่ในโลกแม้เพียงคนเดียวอยู่เพียงใด โลกก็ยังชื่อว่ามีธรรมเป็นร่มโพธิ์ไทร คุ้มครองโลกไม่ให้ล่มจม อยู่เพียงนั้นฯ
(๑๔๙) เราไม่ต้องวิตกว่า คนส่วนมากเขาไม่ประพฤติธรรมะกัน, เพราะว่า อธรรม นั้นมีกำลังน้อย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า คนดีแม้มีน้อย ก็สามารถเอาชนะคนไม่ดี แม้มีจำนวนมากได้ ทั้งนี้เพราะว่าธรรมะเป็นสิ่งที่มีกำลัง อธรรมเป็นสิ่งไม่มีกำลังฯ
(๑๕๐) เพียงแต่พวกพุทธบริษัทเรา ซึ่งมีอยู่ในโลกนี้พากันประพฤติธรรมะเท่านั้น ก็จะสามารถเป็นลูกตุ้มถ่วงเรือโลกลำนี้เอาไว้ไม่ให้ล่มจม หรือแล่นไปสู่ความล่มจมช้าเข้าเป็นอย่างน้อย เรือโลกยังไม่ล่มจมหรือล่มจมช้าไปเพียงใด นั่นย่อมเป็นผลแห่งการประพฤติธรรมของพวกพุทธบริษัทในฐานะผู้มีความกรุณาต่อพลโลกทั้งมวลฯ