อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > ท่านพุทธทาสภิกขุ
พุทธทาสกับมหายาน (เซ็น)
ฐิตา:
พุทธทาสกับมหายาน (เซ็น)
สัมภาษณ์ ธีรทาส
ตีพิมพ์บางส่วนใน เสขิยธรรม ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๘ เดือนกรกฎาคม-กันยายน ๒๕๓๖
ภาคสมบูรณ์ ตีพิมพ์ที่ สารสยาม ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๘, ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๓
ขอบคุณ เว็บไซต์เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย (ธรรมานุรักษ์)
"ธีรทาส" หรือคุณธีระ วงศ์โพธิ์พระ เจ้าของงาน ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดพิมพ์เผยแพร่ผลงานของปราชญ์มหายานท่านสำคัญ ๆ ของเมืองไทย
และรู้จักมักคุ้นกับท่านพุทธทาสเป็นอย่างดีในแง่การศึกษาทางมหายานวิทยา
ปัจจุบัน "ธีรทาส"
ปักหลักใช้โรงเจแห่งหนึ่งย่าน คลองเตยเพื่อเผยแพร่ธรรม
ฐิตา:
อาจารย์ได้คุยกับท่านพุทธทาสเรื่องเซ็น เรื่องมหายานอย่างไรบ้าง
ผมพบท่านพุทธทาสที่เชียงใหม่ เมื่ออายุ ๒๓-๒๔ และที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นท่านมาอบรมผู้พิพากษาที่กรุงเทพฯ ทุกปี มาทีหนึ่งก็เดือนหรือเดือนกว่า ผมติดตามบริการท่าน
ตอนพบท่านท่านก็ดีใจ ผมบอกท่านว่า สูตรของเว่ยหล่าง ที่ท่านอาจารย์แปล เตี่ยสอนผมตั้งแต่อายุ ๘-๙ ขวบแล้ว ท่านก็แปลกใจ "๘-๙ ขวบ เตี่ยสอน สอนยังไง" ผมก็ท่องโศลก "กายคือต้นโพธิ์ ใจคือกระจกเงาใส..." ให้ฟัง ท่านก็ถามต่อว่า "ทำไมเมืองไทยรู้เรื่องเซ็นตั้งแต่โน่นเหรอ" ผมบอก "ใช่ เขามาก่อนเตี่ยผมแล้ว อาจารย์ ที่มาแล้วสอนไม่ได้ ไม่อาจถ่ายทอดเป็นภาษาไทย เพราะพูดจีนกลาง ตอนนั้นสมัยรัชกาลที่ ๕ ตอนปลาย จีนกลางใช้ไม่ได้ รวมทั้งแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน" มีพระอาจารย์เซ็นมาจากเมืองจีน ๓ องค์ ยังค้นชื่อที่แน่ชัดไม่พบ แต่พอจะได้หลักฐานเค้ามูลบ้างแล้ว พวกนี้มาถึงก็ปลงสังขารตกว่า ถ้าสอนได้ก็สอน สอนไม่ได้ก็เอาตัวรอดดับขันธ์ไป ไม่กลับเมืองจีน นี่รุ่นเก่าๆ บอกต่อๆ มาว่า อาจารย์ ๓ องค์หายไปในเมืองไทยได้อย่างไร
๑. รูปหนึ่งไปนั่งดับแห้งตายอยู่ในถ้ำเขาน้อย ท่าม่วง (กาญจนบุรี) พี่สาวผมทันเห็นองค์นี้ตอนอายุ ๙ ขวบ ช่วงนั้นฝนไม่ตกมา ๓-๔ ปี ชาวบ้านหาว่าหลวงพ่อแห้งที่อยู่บนถ้ำ ทำให้ฝนไม่ตก จึงอัญเชิญมาเข้ากองฟืนซะ แต่ศพไม่เน่า เพราะเซ็นเก่งเรื่องนี้ เขามีสูตรวิธีทำได้ แต่พวกฉันไม่กล้าแปล เพราะกลัวคนฆ่าตัวตาย
๒. หลวงพ่อกวงโพธิ์ อยู่ในถ้ำเมืองกาญจน์ มีพระธุดงค์มาเล่าให้ฟังว่า ธุดงค์เข้าไปในแดนกะเหรี่ยง มีกะเหรี่ยงที่พูดภาษาไทยได้บอกว่า มีถ้ำแปลก เขาบอกว่าคนนั่งตาย นอนตาย ตัวแห้งแข็ง พระท่านก็สงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร เข้าไปแล้วไม่ออก (เรื่องนี้ ในฝ่ายเซ็นมีคำว่า "ป่าช้าเซ็น" เข้าไปแล้วไม่ออก หมายถึงตั้งใจเข้าไปตาย) ท่านก็เลยให้กะเหรี่ยงคนนั้นพาไป และถ่ายรูปหลวงพ่อกวงโพธิ์ออกมาได้ ศพนั่งแห้งจนนึกว่าปั้น แทบไม่น่าเชื่อ เรื่องนี้ทำให้พอจะจับเค้าได้ว่า สมัยก่อนพระมหายานมาเมืองไทย ก็จะเข้าเมืองกาญจน์หมด
๓. อีกองค์หนึ่ง มีเชื้อพระวงศ์ชื่ออะไรก็จำไม่ได้ บอกว่า ปู่ของเขาแล่นเรือออกไปทางสมุทรปราการ ยิงนก ตกปลาเล่น พอ ลองเอากล้องส่องทางไกล ไปเจอพระนั่งนิ่งอยู่ไกลๆ อีก ๕ วันกลับมา ก็ยังเห็นพระนั่งอยู่อย่างนั้น จึงแวะไปดู สืบรู้ว่าเป็นพระมาจากเมืองจีน ท่านบอกว่าตั้งใจจะลาโลกแล้ว เพราะเจตนาจะมาสอนธรรมในเมืองไทย แต่ไปไม่รอด เพราะติดเรื่องภาษา เจ้าองค์นั้นจึงนิมนต์หลวงพ่อไปอยู่กรุงเทพฯ แล้วบอกว่าจะหาช่วยวิธีถ่ายทอดธรรมะให้ แต่อยู่ได้ไม่ถึง ๒ อาทิตย์ ท่านก็บอกว่าอยากจะกลับที่เดิม ไม่ช้าพระรูปนั้นก็มรณภาพไปนี่เป็น ๓ องค์ที่ได้เค้าว่าเป็นพระเซ็นแน่ๆ
ฐิตา:
ท่านพุทธทาสรับฟังแล้วว่าอย่างไรบ้าง
ผมก็เล่าให้ท่านฟังว่า เตี่ยผมเรียนเซ็น สายอุบาสกมาจากเมืองจีน มาเมืองไทย ก็ไม่อาจถ่ายทอดหนังสือที่หอบมาด้วยได้ เพราะ ว่าหนังสือรุนแรงเกินไป สภาพการณ์ทั่วไปยังรับไม่ได้ คุณเสถียร โพธินันทะ ยังมองเลยว่ายุคนั้นยังรับไม่ได้ เพราะถือเป็นของต่างด้าว มาอยู่ในสมาคมต่างด้าว เอาออกไปไม่ได้ เลยรอกาลเวลาเป็นขั้นตอน
เมื่อท่านแปล สูตรของเว่ยหล่าง แล้วก็มา แปล คำสอนฮวงโป พอแปลเสร็จ เมื่ออบรมผู้พิพากษาก็เอามาด้วย มาหาหมอตัน ม่อ เซี้ยง ตรวจภาษาจีนทุกตัวอักษร ๑ เดือนเต็ม ทุกๆ คืนจากสี่ทุ่มถึงตีหนึ่ง ฉัน ๓ คน คือหมอตัน ม่อ เซี้ยง เจ้าคุณพุทธทาส และฉัน จะมาตรวจทุกตัวอักษร หมอตัน ม่อ เซี้ยง อ่านก่อนแล้วแปล เจ้าคุณฯ ก็เอามาเทียบ ฮวงโป จึงแปลได้ดีที่สุด ใกล้ภาษาจีนที่สุด เทียบตรวจกันอยู่เดือนกว่าๆ จึงเสร็จ
กลางวันท่านอบรมผู้พิพากษา กลางคืนมาที่วัดปทุมคงคา นี้เป็นความจริง แต่ตอนนั้นไม่ได้เอ่ยถึงชื่อหมอตัน ม่อ เซี้ยง ฉันมาจัดพิมพ์ถึงได้จารึกไว้ ส่วนต้นฉบับ ฮวงโป หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ (สวัสดิวัตน์) เอาไปให้เจ้าคุณฯ แล้วหมอตัน ม่อ เซี้ยง แปลเป็นภาษาไทยให้เจ้าคุณฯฟัง ท่านก็ยังฉงน ผม ก็แก้ไขเพิ่มเติมบางอย่างว่าอย่างนี้ๆ เจ้าคุณฯ ก็งงว่า "ธีระรู้ได้อย่างไร" ผมบอก "เตี่ยผม อธิบายให้ฟังตั้งแต่เก้าขวบ สิบสองขวบ แต่ผมรู้แบบนกแก้วนกขุนทอง ท่องเป็นคาถากันผี ผู้ใหญ่เขาบอกแบบนั้น"
ฐิตา:
อาจารย์เคยได้ยินไหม ที่ท่านพุทธทาสพูดว่าทำไมถึงมาสนใจในเรื่องของเซ็น
ท่านมองว่าปรัชญาขงจื๊อเป็นขั้นโลกีย์ ขงจื๊อเป็นโลกียปราชญ์ที่พระเจ้าแผ่นดินจีนทรงนับถือทุกยุคทุกสมัย ยังไม่มีนักปราชญ์คนใดในโลกนี้ ที่พระเจ้าแผ่นดินทุกราชวงศ์เอาหมด มองโกลเข้ามาก็เอา เราต้องยอมรับ ว่าท่านมีความเป็นอมตะ คำพูดนี้เป็นความจริง แสดงว่าขงจื๊อต้องมีอะไรดี ในขั้นโลกีย์ขงจื๊อปูฐานไว้ให้จีนดีมาก ส่วนภาคโลกุตตระ เต๋าเยี่ยม กึ่งๆโลกุตตระ ดูถูกไม่ได้ ท่านบอก อย่าดูถูก ท่านอบรมพระธรรมทูตแต่ละรุ่น ต้องเติมคำนี้ "คัมภีร์เต๋าเขาอย่าไปดูถูกนะ" ส่วนเซ็นนั้นมาทีหลัง
ที่จริงเซ็นมาก่อนแล้วในสมัยราชวงศ์ฮั่น พระเจ้าฮั่นเม่งตี่ ต้นตระกูลสามก๊ก อัญเชิญพระไตรปิฎก แล้วสร้างวัดม้าขาวเมื่อสองพันปีเศษ เป็นประวัติศาสตร์ที่ยอมรับกัน อันนั้นก็มีเซ็นปรากฏอยู่แล้ว และพวกฉันยังเชื่อว่าพุทธศาสนาเข้าสู่เมืองจีนตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าแล้ว ไปแบบพระธุดงค์ไม่เป็นทางการ มีประวัติศาสตร์อ้างอิงอยู่ อย่างในประวัติศาสตร์จีนสมัยเลียดก๊ก "เศ็กเกียม่อนี้ฮุดโจ้ว" นี้คือศากยมุนี สมัยเลียดก๊กทำไมถึงรู้จัก แสดงว่าชาติใหญ่มีความสัมพันธ์กันมาแต่โบราณ (ศาสนาพุทธ) จึงไปแบบพระธุดงค์ ไม่เป็นทางการ พระเจ้าฮั่นเม่งตี่อัญเชิญ (พระคัมภีร์) มาแปล เป็นเรื่องทางการ
จากฮั่นเม่งตี่อีก ๕๐๐-๖๐๐ ปี ถึงมีโพธิธรรม นำนิกายเซ็น เอาบาตร จีวรของพระพุทธเจ้า หนีสงครามใหญ่ที่เผาอินเดียทั้งหมด โดยอ้อมแหลมมลายูมาไว้เมืองจีน เพราะมองดูว่าอินเดียจะถูกภัยสงครามใหญ่แน่นอน [อาจารย์เสถียร (โพธินันทะ) บอกว่า สงครามครั้งนั้นเป็นสงครามอิสลาม แต่ภาษาจีนบอกแค่ว่า "สงครามใหญ่"]
เจ้าคุณพุทธทาสท่านมองเห็นคุณค่าของมหายาน แต่หาคนถ่ายทอดเป็นภาษาไทยไม่ได้ ท่านว่าได้พยายามบอกให้คนจีน ที่รู้ภาษาไทย (ให้ช่วย) เสร็จแล้วท่านไปเจอ สูตรของเว่ยหล่าง พระยาลัดพลีชลประคัลภ เอามาให้อ่าน (ฉบับภาษาอังกฤษ) อ่านดูก็ตกใจว่า "จีนมีของดี" แล้วมาเจอ คำสอนฮวงโป (ฉบับภาษาอังกฤษ) ยิ่งเชื่อมั่นใหญ่เลย
ท่านบอกให้อาจารย์เสถียร บอกให้พวกผมพยายามแปลเป็นภาษาไทย เรายังไม่มีปัญญาเอาจีนมาเป็นไทย ต้องไปอาศัยมือฝรั่ง (หมายถึงหนังสือทั้งสองเล่มในภาษาไทย ท่านพุทธทาสถ่ายทอดมาจากฉบับภาษาอังกฤษอีกทีหนึ่ง)
เมื่อก่อนนี้คนไทยมักจะดูถูกพระจีนว่า เป็น "พระกงเต็ก" ทำพิธีกรรม เผากระดาษ งมงาย เสร็จแล้วพอ สูตรของเว่ยหล่าง ออกไป ปัญญาชนไม่กล้าดูถูก ของดีจีนเขามี เราไม่อาจจะเอื้อมถึง ปัญญาของสามก๊ก เลียดก๊ก เป็นโลกียปัญญาที่สุดยอด จีนเก่งปรัชญาโลกีย์อยู่แล้ว
ฐิตา:
ไม่ทราบว่า การที่ท่านพุทธทาสสนใจประวัติศาสตร์ของไชยา เป็นเหตุให้ท่าน สนใจมหายานหรือเปล่า อย่างการที่ท่าน สนใจเรื่องรูปปั้นพระอวโลกิเตศวร
ใช่ ท่านอ่านจากหลักฐานภาษาอังกฤษ และมีระฆังใบหนึ่งขุดได้ที่ไชยา เดี๋ยวนี้ตัวจีนหายไปแล้ว เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ผมบอกอาจารย์ธรรมทาส (น้องชายท่านพุทธทาส) ว่า อย่าให้ระฆังตากฝน เสียดายตัวภาษาจีนว่า "ก๊ก ไถ่ มิ้ง อัง กวง เตี๊ยว โหว สุก" คำพูด นี้ผมเอามาให้หมอตัน ม่อ เซี้ยง ดู แกบอกว่า ระฆังนี้ต้องเป็นกษัตริย์พระราชทาน แต่เดี๋ยวนี้หนังสือจีนหายหมดแล้ว เพราะตากน้ำฝน ฉะนั้น กรุงศรีวิชัยจึงมีความสัมพันธ์กับจีน อันนี้คงเป็นเรื่องที่เร้าอารมณ์ท่านให้ศึกษาเรื่องมหายาน ท่านพุทธทาสมองว่ามหายานต่างจากเซ็นอย่างไร
ท่านมองว่ามหายานทั้งหมดเป็นเรื่องงมงาย เป็นเทวนิยม ของผมนี่ก็เทวนิยมนะ แล้วปัจจุบันร้อยละ ๙๐ ในเมืองไทยก็เทวนิยม บวงสรวง กราบไหว้วิงวอน ขอโชคลาภ เจ้าคุณฯ ท่านมองว่าทั่วๆ ไปในมหายานเป็นเทวนิยม ยังมิใช่อเทวนิยม ไม่ใช่พุทธศาสนาจริงๆ เจ้าชายสิทธัตถะประสูติในดงเทวนิยมทั้งหมด บวงสรวง ฆ่าสัตว์ บูชายัญ กระทั่งฆ่าคน เสร็จแล้วท่านมองทะลุด้วยปัญญาที่เหนือเขา จึงเห็นว่านั่นขาดหลักวิชาการ งมงาย (ถือ) อารมณ์เกินกว่าเหตุผล ระยะยาว จะไปไม่รอด จึงหนีออกบวช ก็ไปตรัสรู้หลักธรรม อเทวนิยม อนัตตานิยม กรรมนิยม นิพพานนิยม อันนี้กำมือเดียว ฟังได้ทุกคน แต่ปฏิบัติทันทีไม่ได้หมดนะ เคยมีคนกล่าวเป็นโศลกเปรียบเทียบไว้ว่า คน ศึกษาธรรมมีมากเท่าขนสัตว์ แต่ที่บรรลุธรรมมีจำนวนแค่เขาสัตว์เท่านั้น แล้วท่านพุทธทาสชอบเจออาจารย์เสถียร โพธินันทะ เจอพวกผมทีไรมักจะถามทุกที เจออาจารย์เสถียรยิ่งชอบ ชอบถามเรื่องพระสูตร สรุปแล้วพุทธศาสนาของจีนที่บริสุทธิ์จริงๆ คือ มหาสุญญตาสูตร ชื่อเต็มๆ คือ มหาปรัชญาปารมิตาสูตร ๖๐๐ ผูก พระถังซำจั๋งแปลไว้เป็นภาษาจีน พุทธศาสนาไม่ใช่เทวนิยม เป็นอเทวนิยมตาม มหาสุญญตาสูตร
ตอนแรก กษัตริย์หลี ซี หมิน (ถังไท่จง) ไม่สนพระทัย เพราะมองว่า จีนมีศาสนาขงจื๊อ เต๋า อยู่แล้ว ถ้าไปเพิ่มอีกจะปกครองยาก อีกเรื่องคือ พระองค์มองพุทธศาสนาผิดไป นึกว่าเป็นเทวนิยม เหมือนขงจื๊อ เหมือนเต๋า พระถังซัมจั๋งจับจุดได้ จึงทูลว่า พระอรหันต์ไม่เหมือนกับเต๋า เพราะเหนือบุญเหนือบาป ดับกิเลสตัณหาอุปาทานได้ ดังนั้น พุทธศาสนาจึงไม่ใช่เทวนิยม เป็น อเทวนิยม อันนี้เป็นประวัติศาสตร์
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version