ผู้เขียน หัวข้อ: จะปฏิบัติแบบไหนจึงถูก ? :facebook./AKALIGO  (อ่าน 6387 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




เมื่อรู้วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติ เราก็สามารถที่จะร่วมปฏิบัติกับสำนักแนวทางของทุกสำนักได้ เพราะมันพาไปในที่เดียวกันหมด

จะปฏิบัติแบบไหนจึงถูก ?
แนวทางการปฏิบัติ
ในแนวทางการประพฤติปฏิบัตินั้น เราควรเชื่อว่าคนเราสามารถพัฒนาศักยภาพจิตใจของตนเองให้พ้นจากกองทุกข์ได้ ซึ่งในหลักการแนวทางสติปัฏฐาน ๔ มรรคมีองค์ ๘ ของพระพุทธศาสนาจะเป็นหนทางในการปฏิบัติที่จะชำระจิตใจของตนให้ขาวสะอาดหรือรู้ธรรมเห็นธรรม เมื่อผู้ปฏิบัติมีความตั้งใจจะชำระจิตของตนแล้ว ก็ให้ลองกลับมาพิจารณาหมั่นตรวจสอบศีลของตน มีสติระมัดระวังศีลที่เป็นไปตามสมณะสารูปที่ดำรงอยู่คือ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เพราะศีลนั้นเปรียบเสมือนยานพาหนะที่จะนำพาจิตเราไปสู่ภพภูมิต่างๆ จงรักษาศีลให้เป็นปกติสม่ำเสมอ เพราะศีลเหล่านี้จะเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ ให้เรามีความสุขสงบเย็นทั้งภายในภายนอก

การเริ่มต้นที่ศีลนั้นก็เพื่อเป็นการสร้างความเคยชินให้กับจิตใจของเรามีความระลึกรู้รักษาความเป็นปกติของใจของเราต่อเหตุปัจจัยที่เข้ามากระทบ อารมณ์ยั่วยุต่างๆ ไม่ให้หวั่นไหวคลอนแคลนไปตามกระแสโลก เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับความพร้อมที่จะชำระจิตของตนให้ขาวขึ้นในขั้นต่อ ๆ ไป

สำหรับผู้ที่กำลังปฏิบัติแต่ยังไม่เข้าสู่กระแสนั้นขอให้ตรวจสอบในเรื่องความเข้าใจหลักการ วัตถุประสงค์ต่างๆ ในแนวทางประพฤติหรือวิธีการปฏิบัติ ไม่ปิดกั้นตนเองด้วยการติดยึดหลักการที่มีอยู่ ไม่ยึดติดกับอาจารย์ หรือแนวทางในสิ่งที่ปฏิบัติไปตามๆ กันมา โดยที่อาจไม่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะการศึกษาทางตำรานั้นไม่ควรที่จะยึดติดมากมายเพราะความรู้ที่ได้เป็นเพียงแค่ความจำสัญญาหรือความคิดไม่ใช่ความจริง การชำระจิตให้บริสุทธิ์การทำจิตให้ขาวรอบเพื่อพบสัจธรรมความจริงที่จะรู้ได้นั้นมิใช่อยู่ที่การนึกคิดตรึกเดาตามเหตุผลหรือการตรรกในหลักการ ความจริงจะปรากฏได้ด้วยก็ด้วยผลของการประพฤติปฏิบัติเท่านั้น

หลักปฏิบัติภาวนาที่เป็นวิปัสสนากรรมฐาน
การภาวนาก็คือการสร้างสติ สมาธิ เพื่อให้เกิดญาณวิปัสสนาเห็นกระบวนการเกิดการปรุงแต่งของจิตอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ มิใช่เป็นเพียงสมถะหรือแค่ความสงบแต่ประการเดียว ให้จิตมีสติปัญญาที่ใช้ในการดับความปรุงแต่งหรือละกิเลส ก่อนที่วงจรของกิเลสจะทำงานครบรอบก่อเป็นอุปาทาน เป็นผลให้เกิดภพสร้างชาติตามหลักของ วงจรปฏิจจสมุปบาท การภาวนานั้นเป็นไปเพื่อดับความทุกข์ออกไปจากจิตใจของเรา ด้วยการเจริญสติอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดที่เรียกว่าสมาธิในขั้นต่างๆนั่นเองเพื่อให้จิตมีความเร็ว ไวเพียงพอต่อการรู้เท่าทันการปรุงแต่งของกิเลส เมื่อมีความละเอียดมากความปกติก็มีมากตาม การเห็นต้นเหตุที่แท้จริงแล้วดับไปเองโดยธรรมชาติการรู้ของตัวรู้ จึงมีโอกาสนำไปสู่สงบแห่งจิตใจอย่างถาวรตามความสามารถของจิตในขั้นต่างๆสู่ความเป็นอริยะเจ้า สำหรับแนวทางในการภาวนามีหลายวิธีการด้วยกันดังต่อไปนี้

๑. การตามดูกาย หรืออิริยาบถ
๑.๑ การสร้างจังหวะโดยใช้ร่างกายเป็นอุปกรณ์
การสร้างสติด้วยการสร้างจังหวะโดยใช้ร่างกายเป็นอุปกรณ์ ให้จิตเป็นหนึ่งมีสติตามจดจ่ออยู่ในอิริยาบทกรรมฐานใดกรรมฐานหนึ่ง สร้างความรู้สึกตัวให้มากยิ่งขึ้น มีความละเอียดขึ้น พัฒนาจากแบบที่เป็นการกำหนด หรือจัดสรรที่เป็นสมถะ ไปสู่เป็นสติของตัวรู้หรือธรรมชาติ ถ้าจิตมีสติไวพอเห็นการเกิดดับเป็นวิปัสสนาที่เกิดขึ้นอยู่ในตัวอย่างสมบูรณ์แบบ การสร้างจังหวะโดยใช้ร่างกายเป็นอุปกรณ์เมื่อทำการปฏิบัติสม่ำเสมอก็สามารถเข้าไปสู่สมาธิในชั้นลึกๆ ขั้นอุปจารสมาธิ หรือระดับฌาน ๑ – ๔ ได้โดยธรรมชาติ เป็นสติสมาธิที่เป็นสัมมาสติสัมมาสมาธิที่ถูกหลักในพระพุทธศาสนา การสร้างสติด้วยการสร้างจังหวะโดยใช้ร่างกายเป็นอุปกรณ์ อาจใช้การบริกรรมเปล่งเสียงเป็นการกำกับก่อให้เกิดการตื่นตัวรู้กายและใจมากยิ่งขึ้นก็เป็นการดี

๑.๒ การเดินจงกรม
วิธีการเดินจงกรมจะเดินด้วยรูปแบบใดก็ได้ โดยให้จิตมีสติจดจ่อรู้ถึงการเคลื่อนก้าวเดินหรือการเคลื่อนไหวของเท้าเพียงอย่างเดียว การเดินอาจจะเดินเร็วก็ได้จะเดินช้าก็ได้ หรือเหมือนกับที่เราก้าวเดินปกติในชีวิตประจำวัน ขณะที่ก้าวเดินอาจกำหนดท่องบริกรรมกำกับร่วมด้วย เช่น ก้าวเท้าซ้ายท่อง “พุทธ” ก้าวท้าวขวาท่อง “โธ” หรือกำหนดท่อง “หนอ”เวลาก้าวเท้าซ้ายและก้าวเท้าขวาก็ท่อง”หนอ”เหมือนกัน เป็นต้น บางทีผู้ปฏิบัติอาจจะหาคำบริกรรมแบบใดก็ได้ที่ดีและชอบก็ไม่มีผิดตามแต่จริตของแต่ละท่าน การบริกรรมกำกับจะเปล่งเสียงหรือท่องในใจก็ได้ทั้งสองอย่าง ถ้าเปล่งเสียงก็จะก่อให้เกิดการกำกับสติให้ตื่นตัวอยู่เสมอควรเปร่งเสียงสั้นกระชับโดยมีฐานเริ่มจากช่องท้อง

สำหรับการเดินหรือเร่งจังหวะเร็วเป็นการทำให้จิตตื่นตัวป้องกันการเกิดนิวรณ์หรือใช้แก้ไขเมื่อเกิดนิวรณ์ครอบงำเพื่อปรับภาวะของอารมณ์ให้เข้าสู่ความปกติ การเดินควรเดินในจังหวะที่สม่ำเสมอ อยู่ในจุดหรือที่เดียวกันถึงเแม้ไม่อยากทำก็ตาม พยามยามหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนสถานที่ไปตามความต้องการของกิเลสจะได้ผลดีเร็วกว่า แต่ถ้าเบื่อก็สามารถปรับเปลี่ยนสถานที่ไปก่อนในช่วงแรกก็ได้ แล้วจึงหาทางเอาชนะกิเลสด้วยการให้สติจดจ่ออยู่ที่เท้าจังหวะการเดิน นอกจากการปฏิบัติในรูปแบบนั้นการเดินปกติไปไหนมาไหนในชีวิตประจำวัน ก็ควรมีสติกำหนดรู้การก้าวเดินตลอดเวลาสม่ำเสมอเพื่อฝึกให้เกิดความเคยชิน หรือไม่ว่าจะทำหน้าที่กิจการงานใดๆ เคลื่อนไหวหยุดอยู่อย่างไร ให้มีสติรู้อิริยาบถบ่อยๆต่อเนื่องควรปฏิบัติตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งนอนหลับ

๒. การท่องคำบริกรรมภาวนา
การบริกรรมภาวนานั้นเพื่อเป็นการสร้างสติหรือรักษาสติอันเป็นกุศล เราควรรักษาการบริกรรมตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอน ระหว่างวัน จนเข้านอนจนหลับ สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยบริกรรมก็อาจจะใช้คำบริกรรมภาวนา เช่น ”พุทโธ” “สัมมาอรหัง” หรือ“หนอ” เป็นต้น หรืออาจใช้ร่วมกับการหายใจเข้าออกแล้วบริกรรมเป็นจังหวะพร้อมกันก็ได้ การบริกรรมจะบริกรรมออกเสียง หรือจะท่องอยู่ในใจก็ได้อีกเช่นกัน นี้ก็ก่อให้เกิดองค์ของสัมมาสติสัมมาสมาธิในระดับต่างๆ ได้เหมือนกัน ขอให้ทำอย่างต่อเนื่องจริงจังเสมอๆ

๓. การสร้างสมาธิ
การทำสมาธิควรหาสถานที่เงียบสงบ อากาศถ่ายเท อุณหภูมิที่เหมาะสม สำหรับท่านั่งให้นั่งท่าที่สบายที่สุด หรือใช้ท่านั่งมาตรฐานคือการนั่งขัดสมาธิขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติมั่น หายใจแบบสบายๆ ค่อยๆหลับตา จะภาวนาแบบใดก็ได้ เช่นหายใจเข้าภาวนาในใจว่า “พุทธ” หายใจออกภาวนาในใจว่า “โธ” หรือบริกรรม ”สัมมาอรหัง” “ยุบหนอพองหนอ” เป็นต้น ตามที่ได้เคยเรียนมาแล้วแต่จริตความนัดของแต่ละท่าน การทำสมาธิเป็นการพัฒนาสติชนิดอย่างละเอียดมีความรู้สึกตัวเป็นไปเพื่อให้จิตตั้งมั่น เวลาที่ใช้ควรเริ่มจากน้อยเพิ่มขึ้นจนกระทั่งถึงหนึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านั้นเป็นประจำทุกๆวัน ซึ่งควรอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันของแต่ละวันหรือตามแต่โอกาสอำนวย สำหรับผลของสมาธิเป็นบาทฐานที่สำคัญเป็นพลังในการที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการละอนุสัยของกิเลสที่มีในจิต

การทำสมาธิเมื่อจิตสงบก็จะค่อยๆก่อเกิดปัญญาเห็นการเกิดดับเห็นความไม่เที่ยงของร่างกาย ก็จะเห็นกายกับจิตและอารมณ์ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เห็นความไม่เที่ยงของอารมณ์ภายในจิตใจของเรา จิตก็จะมีความเข้มแข็ง มีอุบายปัญญายกอารมณ์ออกจากจิต สามารถละอารมณ์ที่ไม่ดีออกจากใจของเราได้ ถ้าเกิดการวิปัสสนาเกิดปัญญาขึ้นในจิต ก็ให้มีสติระลึกทำหน้าที่ดู รู้ เท่านั้นไม่ควรเข้าไปช่วยคิดหรือปรุงแต่งใดๆ

ข้อน่าคิด การทำสมาธิความสงบที่มีลักษณะดิ่งอยู่ในสมาธิโดยขาดสติ ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเหมือนการหลับไป เป็นมิจฉาสมาธิหรือเป็นแค่สมถะ ใช้วิปัสสนาไม่ได้ และไม่เป็นบาทฐานก่อเกิดปัญญาใดๆ เป็นแค่การพักผ่อนกายกับใจเท่านั้น ขอให้ระมัดระวังในการติดความเคยชิน ในขณะที่เราทำสมาธิมีความสงบโดยขาดสติ

ปัญหาอีกอย่างสำหรับผู้ที่ทำสมาธิส่วนใหญ่จะขาดความรู้เท่าทัน เช่นเมื่อเกิดนิมิต ใดๆ ก็ตามก็ไปหมายมั่น เช่นเห็นหน้าคนตาย เจ้ากรรมนายเวร เห็นโอภาสแสงสว่าง เห็นเลขเห็นหวย มีอตีตังคญาณ(รู้อดีตหรือระลึกชาติได้) อนาคตังคญาณ(รู้อนาคต) มักเป็นเรื่องของกิเลสที่ปรุงแต่งในจิตมาหลอก การเห็นนั้นเห็นจริงและสิ่งที่เห็นอาจเป็นจริงหรือไม่จริงก็ได้ ไม่ควรใส่ใจให้ความสำคัญเพราะจะทำให้เราผ่านด่านนี้ไม่ได้ และจะเกิดนิมิตมายามาหลอกในครั้งต่อๆไป ผู้ปฏิบัติควรเป็นแค่ผู้ดูผู้รู้ แล้วนิมิตต่างๆ ก็จะแสดงไตรลักษณ์คือความไม่เที่ยง ไม่น่ายึดถือออกมา จิตก็จะฉลาดขึ้น มีโอกาสเข้าสู่การวิปัสสนาที่แท้จริง

สำหรับประโยชน์ของนิมิตบางทีผู้ปฏิบัติสามารถใช้นิมิตเห็นร่างกายเป็นซากศพก็จงใช้นิมิตนี้มาพิจารณาบ่อยๆ เพื่อลดความหน่ายคลายกำหนัด ความยึดถือยึดมั่นในร่างกาย อาจต้องทำนับร้อยนับพันครั้ง เมื่อความยอมรับเกิดที่จิต จิตก็จะพัฒนาตัวเองดีดตัวออกมาจากกิเลสได้เอง การทำสมาธินั้นควรจำว่าเมื่อจะถอนออกจากสมาธิทุกครั้งผู้ปฏิบัติควรมีสติรักษาความตั้งมั่นทรงอารมณ์ของจิตไว้ก่อนแล้วจึงค่อยๆลืมตาขึ้น ไม่ควรเปลี่ยนอิริยาบถหนีเวทนาโดยทันที



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: จะปฏิบัติแบบไหนจึงถูก ? :facebook./AKALIGO
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 08, 2013, 09:48:37 pm »


                 

๔. หลักการดูจิต
การดูจิตนั้นไม่สามารถจิตดูตรงๆได้เพราะจิตไม่มีตัวตน จึงให้ดูอารมณ์หรืออาการของจิตซึ่งเป็นกิเลส ดูความคิดที่เป็นกุศลกับอกุศล อารมณ์ความพอใจความไม่พอใจที่เกิดขึ้น จากผัสสะที่มากระทบทางอายตนะทั้ง ๖ โดยอาศัยสติที่ต่อเนื่อง บ่อยๆ สร้างให้เป็นเป็นสติธรรมชาติ ซึ่งเป็นสติที่ระลึกรู้ที่ไม่เป็นการจดจ้อง เพ่ง บังคับหรือจัดสรร ตั้งใจ หรือพยายามจนเกินไป หมั่นรู้หมั่นดู มีสติระลึกความรู้สึกนึกคิด ความฟุ้งซ่าน อาการอารมณ์ความปรุงแต่งที่เกิดขึ้น เมื่อหมั่นดูบ่อยๆ ความฟุ้งซ่านปรุงแต่งก็จะค่อยๆ หายไป

การฝึกสติธรรมชาติอาศัยผัสสะที่มากระทบกับทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้มีสติรู้ถึงการกระทบสัมผัสทางกาย รู้ความรู้สึกของใจในเวลาเดียวกัน ให้มีสติรู้มากๆ เห็นความเกิดดับ เมื่อจิตฉลาดขึ้นชำนิชำนาญในการดับและดับเร็วขึ้นในครั้งต่อๆ ไป สติสัมปชัญญะก็จะเพิ่มพูนตามมา ปรับเข้าสู่สภาวะของดุลยภาพของจิตก่อเกิดเป็นวิปัสสนาญาณได้เอง

ข้อควรจำ ถ้าหากเราเผลอมีความคิดปรุงแต่งก่อให้เกิดอารมณ์ต่างๆ การดูจิตเป็นเรื่องที่อาจทำไม่ได้ผล อย่าฝืนทำเพราะจะเป็นการบั่นทอนกำลังใจ ทำให้ท้อถอย หมดกำลังใจ ดังนั้นจึงควรหาอุบายปัญญามาดับหรือตัดอารมณ์นั้นออกไป ดึงจิตของตัวเองไปรับรู้หรือผูกไว้กับกายหรืออิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งก็ได้เพื่อระงับความปรุงแต่งเพื่อให้จิตสงบแล้วจึงเริ่มทำต่อไปแบบสบายๆ ระลึกรู้สึกตัวเบาๆ เสมอๆ

หลักในการสร้างข้อวัตรปฏิบัติ
ในการภาวนานั้นเมื่อทราบแนวทางในการประพฤติปฏิบัติแล้วก็ ขอให้ลองพิจารณาสร้างข้อวัตรในชีวิตประจำวัน หรือหาองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อให้เราสามารถตั้งมั่นในแนวทางของ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่นี้จะขอแนะนำแนวทางสำหรับย่นย่อระยะเวลาในการประพฤติปฏิบัติ เพื่อก่อให้เกิดผลที่เร็วมากขึ้น

วัตถุประสงค์หลักของข้อวัตรปฏิบัติ นั้นมีความสำคัญ ในการที่จะช่วยดูแลควบคุม กาย วาจา และใจของเราให้มีความปกติ สำคัญยิ่งคือการเจริญสติให้เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาให้เป็นสัมมาสติ และสัมมาสมาธิ การสร้างข้อวัตรก็อาจใช้เรื่องของมารยาทอันดีงามของสังคมไทยมาใช้ในชีวิตประจำวัน กำหนดความรู้สึกตัวไม่ว่าจะเป็นยืน เดิน นั่ง นอน การกิน การอยู่ เช่น การเปิดปิดประตูเบาๆ การเดินไม่ลากเท้า การเดินโดยสำรวม การถอดรองเท้าให้เป็นระเบียบในที่ห้ามถอด การรับประทานอาหาร การพูดจา ความเหมาะสมในการแต่งตัวใช้เสื้อผ้า การงดดูสิ่งยั่วยุทางอารมณ์หรือการเที่ยวเตร่ ฯลฯ ให้แยกเป็นข้อจดเอาไว้อาจเป็นร้อยๆ ข้อย่อยเมื่อพยายามทำ ก็จะเห็นความดิ้นรนของกิเลส มีสติรู้ถึงความพลั้งเผลอที่เกิดขึ้น ทำให้การปฏิบัติได้ผลเร็วยิ่งขึ้น


บทสรุปแนวทางปฏิบัติ
ในการประพฤติปฏิบัตินั้นการเจริญสติด้วยวิธีต่างๆ ในแนวทางที่ ๑ – ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ เพราะแต่ละอย่างเมื่อปฏิบัติถึงจุดก็จะเกิดวิปัสสนาและรู้แจ้งได้ทั้งนั้น แต่การปฏิบัติควรทำแค่หนึ่งอย่างไปก่อน หาสิ่งที่ถูกจริตกับตนให้พบและให้ชำนาญ หลังจากนั้นจะใช้วิธีอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยก็ได้ ขอให้ทำอย่างจริงจังต่อเนื่องเท่านั้น

การดูกาย ดูเวทนา ดูจิต หรือเจริญสติด้วยการบริกรรมภาวนา ใช้ร่างกายเป็นอุปกรณ์ ควรทำในทุกอิริยาบถ๔ ไม่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่เลือกหรือแยกว่าเวลานี้ทำงาน เข้าห้องน้ำ ทานข้าว ดูทีวี เวลานี้เดินจงกรม หรือ นั่งสมาธิ ใส่เสื้อผ้าชุดสีขาวหรือชุดทำงาน ชุดต่างๆ ฯลฯ ขอให้ทุกๆเวลาทุกอิริยาบถเป็นการปฏิบัติธรรม ให้มีความสม่ำเสมอ เพียงแต่ในระยะแรกๆ อาจรู้สึกขัดๆ บ้าง หรือขาดช่วงบ่อยๆ สำหรับการตามดูกายหรืออิริยาบถ ตามดูเวทนา อะไรก็ตาม ก็เพื่อเป็นการเจริญพัฒนาสติหันกลับมาดูจิตทั้งสิ้น แต่เนื่องจากการดูจิตโดยตรงนั้นมีโอกาสหลุดเผลอได้ง่าย สำหรับการปฏิบัตินั้นยิ่งรู้ว่าสติหลุดหรือเผลอตัวมากเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดีมากขึ้นเท่านั้น เพราะรู้ว่าหลุดบ่อยก็จะมีความต่อเนื่องมากเท่ากับเราได้มีโอกาสบำเพ็ญบารมียิ่งๆขึ้นไป

สรุปโดยหลักปฏิบัติ ก็คือการสร้างความรู้สึกตัว(กายใจหรือรู้กายรู้ใจ)ให้ต่อเนื่อง ด้วยการเริ่มจากการกำหนดจนกระทั่งเป็นไปเองโดยธรรมชาติ โดยอาศัยสมถะกรรมฐานเป็นพื้นฐานนำไปสู่กระบวนการของวิปัสสนาญาณ การกำหนดอยู่ในสมถะกรรมฐานนั้นเพื่อให้จิตของเราอยู่ในความสงบ มีสติต่อเนื่อง สมาธิตั้งมั่น จนกระทั่งจิตยอมรับและเริ่มปฏิเสธเหตุปัจจัยปรุงแต่งภายนอก เป็นพื้นฐานนำไปสู่กระบวนการวิปัสสนา

                 
       -http://www.facebook.com/AKALIGO.com.thailand


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: จะปฏิบัติแบบไหนจึงถูก ? :facebook./AKALIGO
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤษภาคม 19, 2013, 09:44:09 pm »




.....การอยู่บนวิถีโลกของคนที่ปราถนาธรรม ...
เป็นการยากในการที่จะอยู่ร่วมกับหมู่กลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้ปราถนาไปในแนวทางเดียวกัน
....การผลักตัวเองออกจากสังคมเป็นหนทางอย่างหนึ่ง ซึ่งในที่สุดก็ต้องทำอย่างนั้น....
การเข้าไปคลุกคลีไม่สามารถทำได้ เมื่อยังอยู่ในขั้นฝึกหัด..
เพราะจิตใจมันขัดมันรู้มันไม่ยอมรับการกระทำอันเป็นการหลงโลก
หลงความสุขสนุกสนานที่เขาเป็นกันไป......

.....การปิดตัวเองจนกระทั่งจิตพัฒนาและวางจิตใจให้สงบระงับ
เพราะเกิดปัญญาเห็นและดับกิเลสที่ต่อต้านภาวะโลกได้
จึงจะกลับมาสู่สังคมในระดับหนึ่ง...เป็นไปอย่างนี้ เป็นธรรมดาของผู้เดินอยู่ในเส้นทางธรรม



สิ่งที่รับรู้
สิ่งที่เราเห็นมากับตาก็ตาม ได้ยินมากับหูก็ตาม สัมผัสรับรู้ด้วยกายก็ดี
ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นจะเป็นอย่างนั้นเสมอไป
เพราะเหตุของสิ่งนั้นอย่างหนึ่ง และ วิจารณญาณของเราที่ยังประกอบด้วย..
อคติ4 อีกอย่างหนึ่ง



ตอนที่ ๑
สาระธรรม จากพระผู้เป็นพุทธบุตร


คนเราเกิดมามีกรรมเป็นตัวกำหนด
.......เหตุที่จะให้ได้รับสุขหรือทุกข์ในชีวิตสิ่งนี้ถือ เป็นเรื่องปกติของคนทุกคน เราควรต้องทำใจให้เห็นความจริงอย่ากลัวที่จะได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน ในเวลาที่ผลแห่งกรรรมชั่วมาถึง จงตั้งใจศึกษาด้วยการพิจารณาในเรื่องนั้นๆให้ดี สำหรับพวกเราที่เป็นชาวพุทธนั้น การที่ใครจะมีความเข้าใจในเรื่องของธรรมชาติของกรรมการให้ผลของกรรมได้เป็นอย่างดี หรือมีการยอมรับว่าความทุกข์เป็นผลของความชั่วที่ตนได้ทำไว้ในอดีตได้ถูกต้องจริงๆนั้น ถือเป็นการเข้าถึงธรรมในระดับหนึ่งสำหรับพุทธศาสนาเรียกว่า การเป็นผู้มีศรัทธา แต่ว่าศรัทธาโดยพื้นฐานจัดเป็นองค์ธรรมที่ ต้องเกิดร่วมกับกุศลธรรมประเภทอื่นเช่นปัญญาในเรื่องนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเข้าใจหรือศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจหมวดธรรมที่ต้องอาศัยเกิดร่วมกันตามหลักวิธีปฏิบัติในพุทธศาสนาด้วยเหตุนี้...ถ้าเราได้สังเกตให้ดีในธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้หมวดธรรมที่
มีศรัทธาอยู่แล้วส่วนมากจะต้องมีปัญญาเป็นตัวร่วมด้วยเสมอเช่น อินทรีย์ห้าเป็นต้น

ในบทความที่จะบรรยายต่อไปนี้จะเป็นข้อสังเกตและวิจารวิธีการสอนในหลักพุทธศาสนา และมีการให้นิยามเกี่ยวกับแนวหรือนัยต่อการที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องความหมายของศัพท์ในมุมที่แตกต่างไปจากที่ใช้ทั่วๆไปรวมถึงการบอกวิธีสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติในกรรมฐานประเภทต่างๆที่เป็นตัวสภาวะจริงจากประสบการณ(ผู้เขียน)โดยเทียบกับหลักฐานตามตำราบ้าง(ไม่ใช่ทั้งหมด)

เริ่มแรกก่อนอื่นเราก็มาดูความหมายแท้จริงของคำว่า ธรรมชาติ หรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินี้ คือถ้าจะพูดให้ได้เห็นภาพชัดเจนครอบคลุมความหมายของคำๆนี้ โดยพื้นฐานคนเราเข้าใจความหมายของคำว่าธรรมชาติค่อนข้างจำกัดส่วนมากจะเห็นกันจะรู้กันเฉพาะในทางวัตถุ สิ่งของต่างๆเช่น ดิน,ฟ้า,อากาศ,ทะเล,ภูเขา,ต้นไม้ฯคำว่าฟ้า อากาศหมายเอา คำพูดทั่วไปไม่เกี่ยวกับศัพท์ในศาสนา พูดง่ายๆก็คือคนไม่ถือว่าคนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติแถมยังคิดที่จะเอาชนะธรรมชาติเสียอีกนี้คือความเข้าใจผิดเป็นอย่างยิ่งฉะนั้น

ก่อนอื่นเพื่อความเข้าใจในนิยามความหมายคำว่าธรรมชาติที่ตรงกันในมติ
คือข้อตกลงของพระพุทธศาสนานั้นท่าน อันหมายถึงพระพุทธเจ้า
ได้กำหนดสิ่งที่เรียก..ธรรมชาติไว้โดยเรียกว่า สังขารโดยย่อมีสองอย่าง,
คือ อุปาทินนกสังขารและ อนุปาทินนกสังขาร

อย่างแรกคือธรรมชาติที่มีใจครองอันหมายถึงสัตว์ทุกๆประเภท,อย่างสองคือธรรมชาติที่ไม่มีใจครองเช่น คือ พืช ก้อนหิน ทะเลภูเขาฯ แต่ เฉพาะคำว่าสังขารนั้นได้ให้ความหมายไว้ว่าธรรมชาติที่ทำหน้าที่ปรุงแต่งคือมันเป็นตัวการทำให้สิ่งต่างๆเป็นไปตามเหตุปัจจัยหรือเป็นไปตามสิ่งที่มาประกอบ..ในการกำหนดแยกประเภท สังขารหรือธรรมชาติเป็นสองส่วนนี้ท่านหมายเอาทุกสิ่งทุกอย่างในอนันต์จักรวาลอันหาที่สุดมิได้เหตุนี้.จึงรวมเอาทั้งพืชและสัตว์อยู่ในนั้นด้วยและในสิ่งที่เรียกว่าสัตว์ก็หมายรวมเอามนุษย์ด้วยอยู่แล้ว

......สำหรับในส่วนจิตท่านก็เรียกจิตทั่วๆไปที่ยังต้องเป็นไปตามสิ่งที่มาประกอบว่าเป็นจิตสังขาร,แต่สำหรับชีวิตซึ่งเป็นสิ่งที่อาศัยเกิดมาจากจิตและกายร่วมกันจึงไม่พ้นไปจากคำว่าสังขาร ต่อไปก็จะได้ใช้คำว่าธรรมชาติและสังขารแทนกันไปเลยส่วนความแตกต่างกันก็จะอธิบายไปตามลำดับของเนื้อหา ว่าดัวยธรรมชาติของจิตก่อนสิ่งที่ทำหน้าที่ในการรับรู้,การคิดนึก,การทรงจำและการเสวยอารมณ์หรือเรียกอีกอย่างว่านามธรรมสี่ประการนี้โดยรวมเรียกว่าจิต,ใจ,มโน,มนัส,วิญญาณและมีอีกหลายคำ ทีนี้ในการทำหน้าที่แต่ละส่วน แต่ละขณะของจิตก็ยังมีชื่อต่างๆกันอีกเช่นในหมวดธรรมกลุ่มขันธ์ห้ามีการเรียกชื่อของจิตต่างๆกันคือ การทำหน้าที่จำเรียก.สัญญา,ในการคิดเรียก.สังขาร,ในการเสวย-อารมณ์เรียก.เวทนา,ในเวลารับรู้อารมณ์ตามระบบประสาทต่างๆที่อาศัยทวารทั้งห้าก็เรียกวิญญาณเช่นทางตาเรียก.จักขุวิญญาณ,ทางหู โสตวิญญาณ,ในเวลารับรู้อารมณ์ในใจเรียก.มโนวิญญาณ,เป็นต้น เหตุที่ต้องกำหนดเอาคำศัพท์ต่างๆตามที่มีอยู่ในตำรามาใช้อธิบายลักษณะของจิตหรือธรรมชาติของจิตไว้หลายคำก็เพราะโดยที่ตัวจิตเองเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง(อสรีระ)หรือที่เรียกว่านามธรรม ฉะนั้นการจะบอกลักษณะของสิ่งที่ไร้รูปร่างยิ่งเป็นการอธิบายการทำงานของมันด้วยแล้วยิ่งเป็นเรื่องยากในการที่จะสื่อสารให้คนอ่านเข้าใจความหมายได้ถูกต้อง

ทีนี้เมื่อเรามีคำที่จะใช้สื่อความหมายแทนลักษณะของสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง
ได้พอสมควรแล้วก็มาทำความเข้าใจกันต่อเลย
สิ่งที่เป็นส่วนประกอบของจิต เรียกชื่อตามหมวดธรรมในกลุ่มขันธ์ห้า
คือสังขารขันธ์.

แต่ศัพท์ในทางอภิธรรมเรียก เจตสิกคำว่าสังขารในที่นี้ความหมายแคบกว่า สังขารที่ยกขึ้นแสดงไว้ตอนต้น เพราะหมายเอาเฉพาะสิ่งที่เกิดร่วมกับจิตจึงจำเป็นต้องใช้ศัพท์ในทางอภิธรรมด้วยคำว่า.เจตสิก. เพราะตรงหรือครอบคลุมความหมายได้ดีกว่า เจตสิกเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นที่ทำให้จิตสามารถทำงานได้โดยท่าน.หมายเอาพระพุทธเจ้ากำหนดจำแนกไว้เอาอย่างย่อๆมีสามคือ.ฝ่ายดี(กุศล),ชั่ว(อกุศล),และฝ่ายกลางๆไม่ดีไม่ชั่ว(อัพยากตา)ทั้งหมดเรียกว่าธรรมคือธรรมชาติหมายถึง.สิ่งที่เกิดขึ้นเองมีอยู่จริง.และยังมีคำที่มีความหมายแทนคำว่าธรรมชาติอีกคำคือคำว่าธาตุ..



มีการกล่าวถึงธาตุไว้มากมายหลายๆหมวดทั้ง...
ธาตุสี่คือ .ดิน,น้ำ,ลม,ไฟ,ธาตุสี่นี้หมายเอาส่วนประกอบในร่างกายทั้งหมด,
ธาตุหก มีการเพิ่มส่วนที่เป็นที่ว่างในกายเช่นช่องหู,ช่องจมูก,เรียก.อากาศธาตุ
และรวมเอาสิ่งที่ทำงานในการรับรู้อารมณ์คือใจว่า.วิญญาณธาตุ...

แต่คำว่าเกิดขึ้นเองในที่นี้มีความหมายกว้างไกลกว่าความเข้าใจกัน
ตามภาษาที่ใช้กันอยู่ทั่วๆไปดังได้เคยอธิบายไว้ตอนต้นในเรื่องธรรมชาติ.
ตามความหมายในมติของพระพุทธศาสนาคือ
การเกิดขึ้นเองโดยอาศัยเหตุปัจจัย ไม่ใช่เกิดเองโดยไม่มีเหตุ
เหมือนความเห็นของพวกลัทธิเดียรถีคือพวกที่ยึดถือคำสอน
ภายนอกพระพุทธศาสนา
สิ่งที่เกิดขึ้นเองที่จะกล่าวถึงในเรื่องเจตสิกที่เป็นส่วนประกอบของจิต
หมายถึงสภาพตามธรรมดา


โดยปกติสิ่งเหล่านี้จะมีอยู่ในสิ่งนั้นๆอยู่แล้วมีครบอยู่แล้วมาแต่เดิมของมันไม่ว่าใครจะปรารถนาหรือไม่ก็ตามเพียงแต่ว่าความมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้จะมีความเข้มข้นมีกำลังมากน้อยต่างกันในจิตแต่ละคนๆความต่างกันของส่วนประกอบในจิตที่ชื่อเจตสิกทั้งฝ่ายดีและไม่ดีนี้ ท่านเรียกว่าความเป็นผู้มีอินทรี อ่อน แก่ ไปตามลำดับผู้มีอินทรีอ่อนคือผู้ที่เจตสิกฝ่ายดีมีกำลังน้อย ฝ่ายไม่ดีมีกำลังมาก ส่วนผู้มีอินทรีแก่ก็ตรงกันข้าม การจะเป็นผู้ปฏิบัติที่ได้ผลตรงตามความประสงค์ของตนจำเป็นต้องมีความเข้าใจและยอมรับในความจริงของส่วนประกอบที่มีอยู่ในจิตใจตนเรียกอีกอย่างว่าการรู้จริตของตนเอง ความเป็นไปตามปกติของใจแต่ละดวงๆหรือแต่ละคนๆเรียกว่าจริต.มีการกำหนดจำแนกประเภทของจริตไว้หกจำพวกคือ

ราคะ,โทสะ,โมหะ,ศรัทธา,วิตก,และพุทธิจริต ลักษณะที่พอสังเกตได้ในบรรดาจริตทั้งหกประเภทคือ
ราคะจริต-จะมีนิสัยชอบสิ่งที่สวยงามชอบความมีระเบียบ สะอาด ชอบสนุก ชอบกินอาหารรสจัด เป็นต้น,
โทสะ.-มักโกรธง่าย หงุดหงิดเดือดดาด,มีอารมณ์รุนแรงในการแสดงออกชอบทำงานที่ออกแรงมากๆ
โมหะ.-มักหลงลืมง่ายไม่รอบคอบ,ไม่ชอบใช้ความคิด,ใช้ชีวิตแบบตามแต่กรรมจะพาไป
ศรัทธา -มักเชื่ออะไรง่ายๆ,ให้ความสำคัญกับคนอื่นในการตัดสินใจแม้ในเรื่องสำคัญๆ
วิตก –มักคิดมาก คิดวกวน แต่คิดไม่มีหลักเกณฑ์,
พุทธิ-ชอบคิดพิจารณาให้เห็นเหตุผลโดยครบถ้วนรอบคอบไม่เชื่ออะไรง่ายๆเป็นต้น..

แต่โดยความเป็นจริงจริตทั้งหกประเภทก็จะมีปนๆกันอยู่ในใจแต่ละคนที่น่าสังเกตคือมีพวกที่เข้ากันได้..คือมักจะเกิดอยู่ร่วมกันและที่เข้ากันไม่ได้เพราะจะไม่เกิดร่วมกันก็มี เช่นพวกจริตที่มักเกิดด้วยกันคือโมหะมักเกิดร่วมกับศรัทธา..แต่จะไม่เกิดร่วมพุทธิจริต ส่วนวิตกจริต,ราคะ,และโทสะจะเกิดร่วมกันกับพุทธิจริตได้..แต่โดยปกติราคะและโทสจริตจะเกิดร่วมกับจริตอื่นๆได้ทั้งหมด.เหตุที่ท่านกำหนดแยกไว้เป็นหกนั้นหมายถึงถือเอาตามตัวที่มีกำลังมากๆ..เมื่อเราเข้าใจความเป็นไปตามธรรมดาของใจตน ความมีอยู่ของส่วนประกอบตามปกติของใจตนอย่างทั่วถึงถูกต้องแล้วการจะจัดการส่งเสริมเพิ่มกำลังส่วนประกอบในส่วนที่ดีที่เห็นว่ามันยังมีกำลังน้อยอยู่และกำจัดส่วนที่ไม่ดีที่เราเห็นว่ามันมีกำลังมากเกินไปนั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ง่ายการจัดการเพิ่มหรือลดส่วนประกอบที่ดีและไม่ดีในใจ

นี้คือกระบวนการที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรม..แปลความหมายให้เข้าใจง่ายๆว่าการทำให้เกิดผลที่พึงประสงค์ ในความหมายนี้จะไม่ครอบคลุมความหมายว่า.ดีหรือไม่..หากจะมีคำถามเกิดขึ้นมาว่าถ้าเราจะปฏิบัติธรรมแล้วหากไม่ต้องการผลที่ดีแล้วจะต้องการอะไร ถ้าจะตอบให้ถูกต้องที่สุดก็คือในคำสอนของพระพุทธเจ้าคือพุทธศาสนานั้นผลอันพึงประสงค์โดยสูงสุดมิได้หมายเอาผลที่ดีตามที่คนทั่วไปเข้าใจ..แน่นอนว่าอาจจะมีปัญหาต่อไปให้ขบคิดในประเด็นคำตอบที่ได้รับ และนี่คือจุดเริ่มต้นในเนื้อหาที่น่าสนใจต่อลำดับคำที่จะอธิบายต่อๆไป.ในการศึกษาคำสอนพุทธศาสนาที่มีความละเอียดลึกซึ้งและกว้างขวางนั้นเป็นเรื่องยากในการทำความเข้าใจให้ถูกต้องทั่วถึงได้ทั้งหมด.แต่จะอย่างไรก็ตามโดยภาพรวมหรือโดยความเป็นจริงแล้วการที่ใครสักคนจะมีความยินดีในการศึกษาคำสอนของพุทธศาสนาได้นั้น..แม้ว่าจะมีความเข้าใจในคำสอนนี้น้อยหรือไม่มีความเข้าใจเดิมอยู่เลยก็ถือว่าเป็นผู้ได้เคยเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามาแล้วในอดีตเรียกว่ามีบุพเพ กตบุญตาคือเคยทำบุญในศาสนาพุทธมาแล้ว

ส่วนบุญที่เคยสะสมมาจะมากหรือน้อยวัดกันที่อินทรีที่หมายถึงส่วนประกอบที่ดีและไม่ดี,หรืออาการที่เคยเป็นไปตามปกติในใจของแต่ละคนที่เรียกว่าจริตตามที่อธิบายมาตั้งแต่ต้น แต่ถ้าจะให้ถูกตรงจริงๆตามความหมายโดยนิยมสำหรับหมวดธรรมที่ชื่ออินทรีหมายเอาเฉพาะส่วนประกอบที่เกี่ยวกับจิตฝ่ายดีและส่วนประกอบที่เกิดรวมกันในกายที่สิ่งจำเป็นต่อความมีสมรรถภาพในการทำงานของใจโดยไม่อาจจะกำหนดได้ว่าดีหรือไม่(อัพยากตา)นี้หมายเอารูปคือองคาพยพในกาย...ส่วนที่เป็นนามธรรม..เช่นในหมวดอินทรีห้า มีศรัทธา,วิริยะ,สติ,สมาธิ,ปัญญา,ถ้าสังเกตดูองค์ธรรมทั้งห้าตัวจะเห็นได้ว่าทั้งหมดเป็นส่วนประกอบที่เป็นฝ่ายดี ส่วนอินทรีอีกกลุ่มที่เป็นฝ่ายกลางๆที่มีทั้งฝ่ายรูปและนามทำงานด้วยกันก็คือ

จักขุนทรี คือจักขุประสาทรูปและวิถีจิตที่เป็นไปทางตาเรียกอีกอย่างว่าจักขุวิญญาณ,
โสตินทรี โสตประสาทรูปและวิญญาณที่ทำงานทางหู,
ฆานินทรี ฆานประสาทรูปและวิญญาณที่ทำงานทางจมูก,
ชิวหินทรี ชิวหาประสาทรูปและวิญญาณที่ทำงานทางลิ้น,
กายินทรี กายประสาทรูปและวิญญาณที่ทำงานทางกาย,

และ มนินทรี หทยวัตถุ(อาจหมายถึงสมองหรือหัวใจ)
อันเป็นที่เกิดของวิญญาณที่ชื่อมโนวิญญาณหมายถึงจิตหรือใจ
และอีกส่วนที่เหลือเช่น
สุขขินทรี อินทรีคือความสุข,
ทุกขินทรี อินทรีคือทุกข์,ปุริสินทรี อินทรีที่ทำให้รู้ลักษณะว่าเป็นชาย,
อิตถินทรี อินทรีที่ทำให้รู้ว่าเป็นหญิงเป็นต้น

ในกลุ่มนี้เรียกรวมๆว่าอินทรียี่สิบสองคือที่มีอยู่ทั้งหมดมีจำนวนเท่านี้ แต่ที่นำมาแสดงนี้ไม่ได้นำมากล่าวไว้ทั้งหมดเพราะไม่จำเป็นที่ผู้ศึกษาใหม่จะต้องเรียนรู้ทั้งหมดและอาจเป็นปัญหาให้เกิดความเบื่อหน่ายในการจดจำและทำความเข้าใจได้
สำหรับความหมายที่แท้จริงของอินทรีอีกอย่าง.คือธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในกิจของตน เช่นศรัทธาเพราะเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่เชื่อ ส่วนตาเป็นใหญ่ในการเห็นรูป หูเป็นใหญ่ในการฟังเป็นต้น การเข้าใจในธรรมชาติที่มีอยู่ในจิตอย่างถูกต้องตามหลักที่กล่าวไว้ในหมวดธรรมต่างๆจะเป็นเครื่องช่วยในการปฏิบัติให้ได้ผลง่ายขึ้น

แต่ว่ามีปัญหาที่เกิดซ้อนขึ้นมาในเรื่องผลของการปฏิบัติที่ได้กล่าวมาแล้วว่า..ผลอันพึงประสงค์ของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกันตามแต่ความเข้าใจในชีวิต.ในคุณค่าหรือสาระต่อชีวิตซึ่งการเห็นคุณค่าและสาระของชีวิตที่ต่างกันเกิดมาจากการสะสมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องหรือที่ตนพอใจตามธรรมดาของตนซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามความจริงในธรรมชาติก็ได้.ตลอดระยะเวลาที่ยาวนานกับการเกิดตายในวัฏฏะอันเป็นความเป็นมาจริงของชีวิตแต่ละคนเหตุแห่งความรู้และความหลงที่สะสมมาต่างกันนี้เองเป็นที่มาของคำสอนที่กว้างขวางหลากหลายในพุทธศาสนาเพื่อการตอบสนองแก่ความต้องการ และเพื่อความเหมาะสมแก่กำลังความโง่หรือฉลาดของแต่ละบุคคลที่ได้เข้ามาแสวงประโยชน์จากคำสอนพุทธ .

และรวมถึงความหลากหลายในการเกิดศาสดาของแต่ละลัทธิความเชื่อมากมายอีกด้วย สภาพแห่งธรรมชาติของกลุ่มนามธรรม(สังขารขันธ์)ที่รวมกันประกอบอยู่ในจิตของแต่ละบุคคลเรียกอีกหลายอย่างเช่นว่าอุปนิสัย,วาสนา,บารมี,อธิมุติ,จริต,ในบรรดาคำเหล่านี้มีความหมายเกี่ยวข้องสัมพันธ์ใกล้ชิดกันจึงมีความจำเป็นในการนำมาใช้อธิบายสาระที่จะกล่าวถึงในเรื่องผลที่พึงประสงค์อันสูงสุดในการศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา...ในคำสอนจำนวนมากมายที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้มีบทธรรมที่ท่านได้ยกขึ้นแสดงไว้

เป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการกำหนดมติคือข้อตกลงทางความคิดที่สำคัญมากอยู่เรื่องหนึ่งคือ ที่กล่าวไว้ว่า ธรรมทั้งหลายล้วนเกิดจากเหตุตถาคตกล่าวเหตุแห่งธรรมนั้น..ผู้ที่ได้รับประโยชน์ในการได้ยินและเข้าใจลึกซึ้งจากธรรมบทนี้..จนได้เข้าถึงธรรมที่เป็นทางเดินอันมั่นคงในเบื้องต้นของพุทธศาสนา(โสดาบัน)โดยที่ยังเป็นนักบวชนอกพุทธศาสนาอยู่คืออุปติสสะหรือที่เรารู้จักกันดีว่าพระสารีบุตรนี้เป็นตัวอย่างที่จะชี้ให้เห็นความสำคัญหรือความแตกต่างในการสะสมความดีความฉลาดมาจนมากพอแล้วจากอดีต.จนกระทั่งให้เกิดผลที่เป็นสิ่งเหลือวิสัยที่เราจะคาดเดาได้ว่าเป็นไปได้อย่างไร

นี้หมายถึงถ้าจะเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคนเราทั่วๆไปที่ต่างก็เคยได้ยินได้ฟังบทธรรมนี้กันมาแล้ว โดยเฉพาะทุกคนที่เป็นชาวพุทธเหตุที่นำเรื่องนี้มากล่าวก็เพื่อจะใช้เป็นมาตรฐานเครื่องวัดอินทรีอันเป็นสิ่งที่เราสะสมมาและมีอยู่ในใจแต่ละคนว่ามีมากน้อยเพียงใด คือถ้าเราคิดสงสัยว่าเรามีอินทรีอ่อนหรือแก่วัดกันง่ายๆแค่เรื่องนี้ก็ได้..แต่ถ้ายังมีใครที่อาจจะเกิดความสงสัยขึ้นมาอีกว่าก็วิธีการที่จะใช้หลักเกณฑ์นี้มาเป็นเครื่องวัดก็ไม่เห็นบอกไว้เลยว่าจะทำอย่างไร.บอกให้ก็ได้ว่าถ้าไม่เข้าใจแสดงว่าอินทรียังอ่อนชนิดอ่อนเยาว์เลยทีเดียว ......ต่อมาเมื่อสามารถกำหนดได้ว่าตนเป็นผู้มีอินทรีอ่อน,แก่ได้แล้วก็ให้รู้ความเคยชิน(จริต)ตามที่ได้อธิบายมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงการกำหนดจุดมุ่งหมาย..

ในปัญหาความแตกต่างของจุดมุ่งหมายสำหรับแต่ละคน
จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะถ้าจะกล่าวโดยสรุปจริงๆ
คำสอนทั้งหมดทั้งปวงบรรดามีในทุกๆศาสนา ก็คือการสอนให้เห็น
สาระในชีวิตโดยสูงสุดตามความรู้


: https://www.facebook.com/AKALIGO.com.thailand?hc_location=stream


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: พ่อแม่คือพระอรหันต์...??
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2013, 10:18:11 am »
พ่อแม่คือพระอรหันต์...????

......เรามักได้ยินคำเปรียบเปรยว่า พ่อแม่เหมือนเป็นพระอรหันต์ หลายคนก็ต้องคล้อยตามแม้บางคนจะเชื่ออย่างนั้นสนิทใจ แต่ในหลายคนก็ไม่เชื่อเช่นนั้น สงสัยว่าก็พ่อแม่ยังมีกิเลสนั้นจะเป็นไปดั่งพระอรหันต์ได้อย่างไร...แม้ในเรื่องบุญคุณก็ตาม...เหล่านี้ย่อมมีคนสงสัยแต่ไม่กล้าถามไม่กล้าแย้งเพราะกลัวเป็นที่ประณามของสับงคม...

....ในคำเปรียบดังกล่าวนั้นหากเปรียบเทียบเรื่องคุณคงไม่ถูกต้องนัก...เพราะไม่ได้เป็นเช่นนั้น เป็นบุญเป็นคุณตามสถานภาพฐานะทางชาติกำเนิด....แต่...ที่บอกว่าเป็นดังพระอรหันต์นั้นหมายถึง โทษที่จะได้รับเมื่อได้กระทำการ ฆ่าบิดา มารดา หรือ ปิตุฆาต ซึ่งเป็นอนันตริยกรรม เป็นกรรมหนักที่ให้ผลทันทีที่ตายโดยกรรมอื่นไม่อาจให้ผลก่อนได้ ซึ่งกรรมหนักนี้เท่ากับทำกับพระอรหันต์ ซึ่งเป็นกรรมหนักหนึ่งในอนันตยกรรมมี ๕ ประการ

....ดังนั้นความเทียบเท่าดังคำกล่าวจึงขอควรทำความรู้ความเข้าใจเสียใหม่...ในตรงนี้....อันจะได้ไม่เป็นความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนจากความหมายที่แท้จริงจนผิดไปตามกระแสของสังคม

อนัตรยกรรม ๕ ประการ
มาตุฆาต - ฆ่ามารดา
ปิตุฆาต - ฆ่าบิดา
อรหันตฆาต - ฆ่าพระอรหันต์
โลหิตุปบาท - ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อ ขึ้นไป เช่น พระเทวทัตได้ทำร้ายพระพุทธองค์ ในสมัยพุทธกาล
สังฆเภท - ยังสงฆ์ให้แตกกัน ทำลายสงฆ์

>>> อกาลิโก แปลว่าไม่ประกอบด้วยกาล


สิ่งภายนอกที่ต้องระมัดระวังให้มาก ?
คือ มารยาของคน
คนที่มีมารยาจะสามารถ !!!
พูดรักในสิ่งที่ตนเกลียด พูดให้ดีกลายเป็นร้าย
พูดไม่อยากได้ในสิ่งที่ตนเองสุดปรารถนา
พูดให้ตัวเองดูดี โดยการออกตัวตำหนิตนเอง
พูดดำให้กลับเป็นขาวพูดขาวให้เป็นดำ

พูดใช้เสียงสำเนียงวาทะสลับให้ผู้ฟังมีอารมณ์คล้อยตาม(คนไทยเรียกว่าคนสองเสียง คบยาก)
พูดให้คนฟังสนุก เคลิ้ม ตายใจแล้วค่อยๆเปลี่ยนเรื่องหลอกถามในสิ่งที่ตนอยากรู้เป็นข้อมูล
ชอบสอดรู้เรื่องคนอื่น
ชอบสอดรู้ส่องหาความผิดพลาดในอดีตของคนอื่น
ชอบเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น
ชอบโอ้อวดเสมอเมื่อมีโอกาส

เมื่อต้องอยู่กับคนประเภทนี้. จึงควรมีใจที่หนักแน่น ไม่หูเบาใจเบา เพราะจะตกเป็นเหยื่อคนประเภทนี้ได้ง่าย เพราะสิ่งที่รู้มักไม่จริง สิ่งที่จริงมักไม่รู้. ให้รู้ดูอยู่ห่างๆ หรือไม่ควรใส่ใจสนใจเกี่ยวข้อง ให้เราใส่ใจสนใจแต่เรื่องของเราก็เพียงพอ ถ้าจะต้องเกี่ยวข้องก็ให้น้อยที่สุด
คนที่มีความประพฤติเช่นนั้น ไม่นานก็จะเฉาตายไปเอง ถ้าหากยังไม่รู้ตัวแก้ไขปรับปรุง
ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาย่อมพิสูจน์คนได้เสมอ
การที่คนๆนึงจะแก้ไขจิตใจความประพฤติที่ไม่ดี ต้องใช้เวลา ยิ่งถ้าเคยสะสมกิเลสแห่งความไม่ดีมามาก ยิ่งใช้เวลามาก ไม่มีใครหลอกที่คิดว่าอยากให้ตนเองดีแล้วเปลี่ยนตัวเองได้เลยตราบที่ยังคิดว่าที่เป็นอยู่ก็ดีแล้ว ไม่เห็นต้องแก้ไขอะไรมาก

พาลย่อมเป็นไปตามวิถีของคนพาล บัณฑิตย่อมเป็นไปตามวิถีของบัณฑิต
ความลับไม่มีในโลก
คนที่อาบน้ำธรรมมาก่อน ย่อมเห็นกิเลสในใจของตน เพราะคอยดูตนสอดส่องตนอยู่เสมอ แม้ในส่วนที่แอบซ่อนไว้จากในอดีตชาติ แล้วใยจะไม่เห็นคนอื่น ดังที่ว่าสูงย่อมเห็นต่ำเป็นธรรมดา พระอริยะเจ้าย่อมเห็นปุถุชน บัณฑิตย่อมเห็นพาลชน
คนทำบาป จะปกปิดบาปด้วยการทำบาปซ้ำเสมอๆ บาปจึงทวีคูณเป็น 2,3,4.... เท่าตราบใดที่ยังไม่ละ ศีล๕ ไม่มีจริงในใจ

คนดีอ่านแล้วเห็นจริงตามนั้น
คนไม่ดีอ่านแล้วเหมือนด่าตนเอง
คนกำลังจะดีอ่านแล้วคิดปรับปรุงตนเอง

:http://www.facebook.com/AKALIGO.com.thailand
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 12, 2015, 11:53:33 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำอธิษฐาน 10 ประการ :facebook./AKALIGO
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กันยายน 23, 2015, 12:51:27 pm »

คำอธิษฐาน 10 ประการ
โดย "อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ"

ข้าพเจ้ามีคำอธิษฐาน 10 ประการดังต่อไปนี้
1. ขออย่าให้ข้าพเจ้าเป็นคนที่คิดจะได้ดีอะไรอย่างลอยๆ นั่งนอนคอยแต่โชควาสนา โดยไม่ลงมือทำความดีหรือไม่เพียรพยายามสร้างความเจริญ ก้าวหน้าให้แก่ตน ถ้าข้าพเจ้าจะได้ดีอะไรก็ขอให้ได้เพราะได้ทำความดีอย่างสมเหตุสมผล

2. ขออย่าให้ข้าพเจ้าเป็นคนลืมตน ดูหมิ่นเหยียดหยามใครๆ ซึ่งอาจด้อยกว่าในทางตำแหน่ง ฐานะการเงิน หรือในทางวิชาความรู้ ขอให้ข้าพเจ้ามีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ให้เกียรติแก่เขา ตามความเหมาะสมในการติดต่อเกี่ยวข้องกันเถิด อย่าแสดงอาการข่มขู่เยาะเย้ยใครๆ ด้วยประการใดๆ เลย ก็ขอให้มีความอ่อนโยน นุ่มนวล สุภาพเรียบร้อยเถิด

3. ถ้าใครพลาดพลั้งลงในการครองชีวิต หรือต้องประสบความทุกข์ ความเดือดร้อนเพราะเหตุใดๆ ก็ตาม ขออย่าให้ข้าพเจ้าเหยียบย้ำซ้ำเติมคน เหล่าน้ั้น แต่จงมีความกรุณา หาทางช่วยเหลือ เขาลุกขึ้น ช่วยผ่อนคลายความทุกข์ร้อนแก่เขา เท่าที่จะสามารถทำได้

4. ใครก็ตามที่มีความรู้ความสามารถขึ้นมาเท่าเทียมหรือ เกือบเท่าเทียมข้าพเจ้า ก็ดี มีความรู้ความสามารถ หรือมีผลงานอันปรากฎดีเด่น สูงส่งอย่างน่านิยมยิ่งกว่าข้าพเจ้า ขออย่าให้ข้าพเจ้ารู้ริษยา หรือกังวล ใจในความเจริญของผู้นั้น เลยแม้แต่น้อย ขอให้ข้าพเจ้าพลอยยินดีในความดี ความรู้ ความสามารถ ของบุคคลเหล่านั้นด้วยใจจริง ช่วยส่งเสริมสนับสนุน และให้กำลังใจแก่คนเหล่านั้น อันเข้าลักษณะ การมีมุทิตาจิต ในพระพุทธศาสนา ซึ่งตรงกันข้ามกับความ ริษยา ขออย่าให้เป็นอย่างบางคน ที่เกรงนักหนาว่าคนอื่นจะดีเท่าเทียม หรือดียิ่ง กว่าตน คอยหาทางพูดจาติเตียนใส่ใคล้ให้คนทั้งหลายว่าคนนั้นยังบกพร่อง อย่านั้นอย่านี้ ขอให้ข้าพเจ้ามีน้ำใจสะอาด พูดส่งเสริมยกย่องผู้อื่น ที่ควรยกย่องเถิด

5. ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่มีน้ำใจเข้มแข็งอดทน อย่าเป็นคนขี้บ่น ในเมื่อมีความยากลำบาก อะไรเกิดขึ้นขอให้มีกำลังใจต่อสู้กับความยากลำบากนั้น ๆโดยไม่ต้องอ้อนวอนให้สิ่งศักสิทธิ์ มาช่วย ขออย่าเป็นคนอ่อนแรเหลียวหาที่พึ่ง เพราะไม่รู้จักทำตนให้เป็นที่พึ่งของตน ขออย่าให้ข้าพเจ้าเป็นคนชอบได้อภิสิทธิ์ คือสิทธิเหนือคนอื่น เช่นไปตรวจที่โรงพยาบาล ก็ขอให้พอใจในการนั่งคอยตามลำดับ อย่าวุ่นวายจะเข้าตรวจก่อน ทั้งที่ตนไปถึงทีหลัง ในการสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกใดๆ ขออย่าให้ข้าพเจ้าคิดหาวิธีลัด หรือวิธีทุจริตใด ๆ รวมทั้งขออย่าวิ่งเต้นเข้าหาคนนั้นคนนี้ เพื่อให้เขาช่วยให้ได้ผลดีกว่าคนอื่น ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้าอาจมีคะแนนไม่สู้คนอื่นเถิด

6. ข้าพเจ้าทำงานที่ใด ขออย่าให้ข้าพเจ้าคิดเอาเปรียบ หรือคิดเอาแต่ได้ในทางส่วนตัว เช่น เถลไถล ไม่ทำงาน เลิกงานก่อนกำหนดเวลา ขอจงมีความขยันหมั่นเพียร พอใจในการทำงานให้ได้ผลดี ด้วยความตั้งใจและเต็มใจ เพื่อประโยชน์ของตนเอง ฉะนั้นเถิด อันเนื่องมาแต่ความไม่คิดเอาเปรียบ ในข้ออันนี้ ถ้าข้าพเจ้า บังเอิญก้ำเกินข้าวของ ของที่ทำงานไปในทางส่วนตัว บ้าง เช่นกระดาษ ซอง หรือเครื่องใช้ใด ขอให้ข้าพเจ้าระลึกอยู่เสมอว่าเป็นหนี้อยู่ และพยายามใช้หนี้คืน ด้วยการซื้อใช้ หรือทำงานให้มากเกินที่กำหนด เพื่อเป็นการชดเชยความกล้ำเกินนั้น ทั้งนี้ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเอาเปรียบชาติบ้านเมือง เช่นในเรื่องการเสียภาษี อากร ถ้ารู้ว่ายังเสียน้อยกว่าที่ควร หรือตามที่กฎหมายกำหนด ขอให้ข้าพเจ้ามีความตั้งใจที่จะชดใช้ชาติบ้านเมือง อยู่เสมอ เมื่อมีโอกาส ตอบแทนเมื่อไร ขอให้ตอบแทนโดยทันที เช่น ในรูปการบริจาคบำรุงให้แก่โรงพยาบาล บำรุงการศึกษา หรือบริจาคเพื่อสาธารณะประโยชน์อื่น ๆ แบบบริจาคให้มากกว่า รู้สึกว่าเป็นหนี้ชาติ บ้านเมือง อยู่เสมอ และในข้อนี้ ขอให้ข้าพเจ้าปฏิบัติแม้ต่อเอกชนใด ขออย่าให้ข้าพเจ้าคิดเอาเปรียบหรือโกงใครเลยแม้แต่น้อย แม้แต่จะซื้อของถ้าเขาทอนเงินเกินมา ก็ขอให้ข้าพเจ้า ยินดีคืนเงินให้กับเขาไปเถิด อย่ายินดีว่ามีลาภ เพราะเขาทอนเงินเกินมาเลย

7 ขออย่าให้ข้าพเจ้ามักใหญ่ใฝ่สูง อยากมีหน้ามีตาอยากมีอำนาจ อยากเป็นใหญ่เป็นโต ขอให้ข้าพเจ้าใฝ่สงบ มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ไม่ต้องเดือดร้อนในเรื่องการแข่งดีกับใครๆ ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าพอจะเดาได้ว่าความมักใหญ่ใฝ่สูง ความอยากมีหน้ามีตา ความอยากมีอำนาจ และอยากเป็นใหญ่เป็นโตนั้น มันเผาให้เร่าร้อน ยิ่งต้องแข่งดีกับใครๆ ด้วย ก็ยิ่งทำให้เกิดความคิดริษยา คิดให้ร้ายคู่แข่งขัน ถ้าอยู่อย่างใฝ่สงบ มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ก็จะเย็นอกเย็นใจ ไม่ต้องนอนก่ายหน้าผากถอนใจ เพราะเกรงคู่แข่งจะชนะ ไม่ต้องทอดถอนใจเพราะไม่สมหวัง ขอให้ข้าพเจ้ามีความเข้าใจซาบซึ้งในพระพุทธภาษิตที่ว่า “ ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ละความชนะความแพ้เสียได้ ย่อมอยู่เป็นสุข ” ดังนี้เถิด แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า เมื่อใฝ่สงบแล้ว ข้าพเจ้าจะต้องอยู่อย่างเกียจคร้าน ไม่สร้างความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม ข้าพเจ้าทราบดีว่าพระพุทธศาสนามิได้สอนให้คนเกียจคร้านงอมืองอเท้า แต่สอนให้มีความบากบั่นก้าวหน้าในทางที่ดี ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม และความบากบั่นก้าวหน้าดังกล่าวนั้น ไม่จำเป็นต้องผูกพันอยู่กับความทะยานอยากหรือความมักใหญ่ใฝ่สูงใดๆ คงทำงานไปตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ผลดีก็จะเกิดตามมาเอง

8 ขอให้ข้าพเจ้าหมั่นปลูกฝังความรู้สึกมีเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้อื่น และมีกรุณาคิดจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ซึ่งพระพุทธเจ้าแนะนำให้ปูพื้นจิตใจด้วยเมตตากรุณา ดังกล่าวนี้อยู่เสมอ จนกระทั่งไม่รู้สึกว่ามีใครเป็นศัตรูที่จะต้องคิดกำจัดตัดรอนเขาให้ถึงความพินาศ ใครไม่ดีใครทำชั่วทำผิดให้เขาคิดได้ กลับตัวได้เสียเถิด อย่าทำผิดทำชั่วอีกเลย ถ้ายังขืนทำต่อไป ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เขาจะต้องรับผลแห่งกรรมชั่วของเขาเอง เราไม่ต้องคิดแช่งชักให้เขาพินาศ เขาก็จะต้องถึงความพินาศของเขาอยู่แล้ว จะต้องแช่งให้ใจเราเดือดร้อนทำไม ขอให้ความเมตตาคิดจะเป็นสุข และกรุณาคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ ซึ่งข้าพเจ้าปลูกฝังขึ้นในจิตนั้น จงอย่าเป็นไปในวงแคบและวงจำกัด ขอจงเป็นไปทั้งในมนุษย์ และสัตว์ทุกประเภท รวมทั้ง
สัตว์ดิรัจฉานด้วย เพราะไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์เหล่านั้น ต่างก็รักสุขเกลียดทุกข์ รู้จักรักตนเองปรารถนาดีต่อตนเองด้วยกันทั้งสิ้น

9 ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นคนโกรธง่าย ต่างว่าจะโกรธบ้าง ก็ขอให้มีสติรู้ตัวโดยเร็วว่ากำลังโกรธ จะได้สอนใจตัวเองให้บรรเทาความโกรธลง หรือถ้าห้ามใจให้โกรธไม่ได้ ก็ขออย่าให้ถึงกับคิดประทุษร้ายผู้อื่น หรือคิดอยากให้เขาถึงพินาศ ซึ่งนับเป็นมโนทุจริตเลย ขอจงสามารถควบคุมจิตใจให้เป็นปกติได้โดยรวดเร็ว เมื่อมีความไม่พอใจหรือความโกรธเกิดขึ้นเถิด และเนื่องมาจากความปรารถนาข้อนี้ ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นคนผูกโกรธ ให้รู้จักให้อภัยทำใจให้ปลอดโปร่งจากการผูกอาฆาตจองเวร ขอให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยรู้จักเปรียบเทียบกับตัวข้าพเจ้าเองว่าข้าพเจ้าเองก็อาจทำผิด พูดผิด คิดผิด หรืออาจล่วงเกินผู้อื่นได้ ทั้งโดยมีเจตนาและไม่เจตนา ก็ถ้าข้าพเจ้าเองยังทำผิดได้ เมื่อผู้อื่นทำอะไรผิดพลาดล่วงเกินไปบ้าง ก็จงให้อภัยแก่เขาเสียเถิด อย่าผูกใจเจ็บหรือเก็บความรู้สึกไม่พอใจนั้นมาขังอยู่ในจิตใจ ให้เป็นพิษเป็นภัยแก่ตัวเองเลย

10 ขอให้ข้าพเจ้ามีความรู้ความเข้าใจ และสอนใจตัวเองได้เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนา ทั้งทางโลกและทางธรรม กล่าวคือ พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักสร้างความเจริญแก่ตนในทางโลกและสอนให้ประพฤติปฏิบัติยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นให้มีปัญญาเข้าใจปัญหาแห่งชีวิต เพื่อจะได้ไม่ติดไม่ยึดถือ มีจิตใจเบาสบายอันเป็นความเจริญในทางธรรม ซึ่งรวมความแล้วสอนให้เข้ากับโลกได้ดี ไม่เป็นภัยอันตรายแก่ใครๆ แต่กลับเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ แต่ก็ได้สอนไปในทางธรรมให้เข้ากับธรรมได้ดี คือให้รู้จักโลก รู้เท่าทันโลก และขัดเกลานิสัยใจคอให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อบรรลุความดับทุกข์ ความพ้นทุกข์ ขอให้ข้าพเจ้ามีความเข้าใจดีทั้งทางโลกทางธรรม และ ปฏิบัติจนให้ถูกต้องได้ทั้งสองทาง รวมทั้งสามารถหาความสงบใจได้เอง และสามารถแนะนำชักชวนเพื่อนร่วมชาติร่วมโลก ให้ได้ประสบความสุขได้ตามสมควรเถิด

ความปรารถนาหรือคำอธิษฐาน รวม 10 ประการของข้าพเจ้านี้ ข้าพเจ้าตั้งไว้เพื่อเป็นแนวทางเตือนใจหรือสั่งสอนตัวเอง เพราะปรากฏว่าตัวข้าพเจ้าเองยังมีข้อบกพร่อง ซึ่งจะต้องว่ากล่าวตักเตือน คอยตำหนิตัวเองอยู่เสมอ ข้าพเจ้าจึงคิดว่า ถ้าได้วางแนวสอนตัวเองขึ้นไว้เช่นนี้ เมื่อประพฤติผิดพลาดก็อาจระลึกได้ หรือมีหลักเตือนตนได้ง่ายกว่าการที่จะนึกว่าข้าพเจ้าดีพร้อมแล้ว หรือเป็นบุคคลที่สมบูรณ์แล้ว ซึ่งนับเป็นความประมาทหรือลืมตัวอย่างยิ่ง

รางวัลที่ ๑ เป็นเรื่องลำดับที่ ๒๙ ใน "ลีลาชีวิต"
หนังสือรวมเรื่องสั้นอิงหลักธรรม ๓๐ เรื่อง
ของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
>> อกาลิโก แปลว่าไม่ประกอบด้วยกาล :facebook./AKALIGO

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ช่วงชีวิต&สมบัติผู้ดี
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: มกราคม 21, 2016, 08:06:05 pm »
ยุงมีอายุประมาณ 15 วัน
ผีเสื้อมีอายุประมาณ 30 วัน
ไก่มีอายุ ประมาณ 4 ปี
หมามีอายุประมาณ 15 ปี
คนมีอายุประมาณ 75 ปี
ทุกๆชีวิต ก็คิดว่า ตนอายุยืนแล้ว..เมื่อมีจำนวนวันเดือนปีดังกล่าวข้างต้น

ถ้าคนเราแบ่งชีวิตเป็น 3 ช่วงๆละ 25 ปี
25 ปีแรก ชีวิตเสียไปกับการศึกษา
25 ปีต่อมา ชีวิตเสียไปกับเรื่องทำมาหากิน
25 ปีสุดท้าย ชีวิตควรเสียไปกับการถือศีลภาวนา
25 ปีแรก หากดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีที่เหลือดีก็ดีหมด
25 ปีต่อมา หาก 25 ปีแรกไม่ดี 25 ปีต่อมาดี ชีวิตก็ยังมีทางแก้ไข

25 ปีสุดท้าย หาก 50 ปีแรกไม่ดี มาดีช่วงสุดท้าย ชีวิตก็จวนเจียนจะเป็นคนดีจริงนั้นยากเพราะที่ผ่านมาเป็นนิสัยสันดานแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ แต่อาจจะมีสัก 1 % ที่เอาดีจนได้
25 ปีแรก คนเรานั้นควรทำช่วงชีวิตของตนให้ดีตั้งแต่เริ่มแรก เพราะชีวิตที่ดีตั้งแต่เริ่มนั้นจะเป็นการสะสมอุปนิสัยที่ดีให้มีรากฐานที่แข็งแกร่ง มีสติปัญญาในการทำความดีจนเกิดความชำนาญและด้อยประสิทธิภาพในสิ่งไม่ดี
25 ปีต่อมา ควรนำความรู้ ประสบการณ์จาก 25 ปีแรกเป็นพื้นฐานเป็นบทเรียนเพื่อให้ 25 ปีนี้ได้เกิดพัฒนาการในชีวิตที่ดีๆทุกๆด้าน
25 ปีสุดท้าย ควรจะเป็น 25 ปีที่ร่างกาย และจิตใจมีความพร้อมต่อสัจธรรมที่จะเกิดขึ้นจากการถือศีล ภาวนา
คนที่อายุ ระดับ 50 ปีขึ้นไป หากยังไม่มีภาพลักษณ์ของการเป็นคนดี ที่มีองค์ประกอบ สองเรื่อง คือ การถือศีล ภาวนา นั้น จะจัดเป็นคนดีไม่ได้ จะสังเกตุว่าเราไม่เอาเรื่องของทาน เข้ามาพิจารณา เพราะเรื่องของทานเป็นความดี แต่มิใช่สัญลักษณ์ของความเป็นคนดีทั้งหมด

ในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี ควรมีการทบทวนสอดส่องและพัฒนาชีวิตของตนอยู่เสมอๆ เพื่อที่บั้นปลายจะได้ไม่เป็นโมฆะบุรุษ เป็นผู้ที่สูญเปล่าไร้แก่นสาร ไม่เป็นคนไร้สาระ อันเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานไปในทางที่ดี
การเขียนบทความนี้เพื่อเป็นการเตือนสติแก่คนโดยทั่วๆไป ในสำหรับผู้มีวิสัยแห่งความเป็นบัณฑิตย่อมพิจารณาได้ถึงสิ่งที่ตนดำเนิน
ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้
ลูกหลาน คือใครมาเกิดก็ไม่รู้ เกิดมาแล้วเราหลงไปยึดไปรักเอง หลงเอง บ้าไปเอง

กินของอร่อยแค่ไหน ก็กลายเป็นขี้
กินของอร่อยปราณีต แค่ไหน ความก็อร่อยได้แค่คะแนนเต็มสิบเท่ากับคนไม่มั่งมีที่กินของอร่อยที่เขาพอใจ
ไปเที่ยวไกล พบสิ่งแปลกใหม่แค่ไหน ก็มีความสุขไม่ยิ่งไปกว่า แหละยังด้อยกว่า คนที่สามารถมีความสุขกับความสงบได้
ทั้งหมดทั้งมวล "คนมีปัญญาเท่านั้นจึงรู้และเข้าใจลึกซึ้ง"

อกาลิโก แปลว่าไม่ประกอบด้วยกาล กับ พัชรี เด่น และ บ้านป่า อกาลิโก
>> อกาลิโก แปลว่าไม่ประกอบด้วยกาล :facebook./AKALIGO

***********************************************
อกาลิโก แปลว่าไม่ประกอบด้วยกาล
ได้แชร์โพสต์ของ ชมรมเพื่อนคุณธรรม สร้างสรรค์สื่อสร้างเสริมคุณธรรม [Fan] Club

"ลักษณะของผู้ปฏิบัติธรรมเป็นอย่างไร?"

"การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ผู้ปฏิบัติต้องกอรปด้วยความเพียร ถอนความพอใจไม่พอใจออกเสียได้ด้วยการ "มีสติรู้เท่าทัน"

การปฏิบัติธรรม คือ การเจริญสติ เปรียบเหมือนการเดินทาง ระหว่างทางเราต้องประสบกับทั้งสิ่งที่น่าพึงพอใจและไม่พอใจ ผู้ปฏิบัติธรรม จึงต้องเป็นผู้รู้เท่าทันอารมณ์ที่ตนประสบ

-รู้จักใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ
-มีชีวิตที่เรียบง่าย ถูกต้องดีงาม ไม่ใช่มักง่าย
-"ความเย็น" เป็นอุปนิสัยของผู้ปฏิบัติธรรม ใครอยู่ใกล้ก็มีแต่ความเย็นอกเย็นใจ
-รู้จักยืดหยุ่น ผ่อนสั้นผ่อนยาว รอได้ คอยได้
-เป็นผู้ไม่ถือสาหาความ รู้จักให้อภัย
-ทำสิ่งที่มากให้น้อย
-ทำสิ่งที่ใหญ่ให้เล็ก
-ทำสิ่งที่ยากให้ง่าย
-ปล่อยวาง ไม่ยึดติดในสิ่งที่หลายทั้งปวง
-ไม่เป็นคนเจ้าทุกข์ คือ รู้จักยอมรับความจริง
-มีสติอยู่เสมอๆ ในทุกแห่ง ทุกสถานที่ ทุกเวลา

เราจะดูคนที่มีคุณธรรม มีธรรมะมากน้อย ก็ดูที่ "สติ"
นักปฏิบัติธรรมต้องมีนิสัย ไม่เพ่งโทษผู้อื่น
เพราะทำให้ไม่มีความสุข ในทางตรงกันข้าม มักจะกลับมาดูใจตนเองแทน ไม่ทำตนแปลกแยกจนดูขัดเขินด้วยทิฎฐิมานะ ด้วยการสร้างภาพ นั่นมาจากใจที่ไม่เป็นอิสระ

เรายังพูดคุยกันอย่างปกติ แต่พูดคุยอย่างมีสติ ไม่หลงลืมตน นักปฏิบัติธรรม(ตัวจริง)
-จะไม่วางฟอร์ม
-มีเรื่องพูดก็พูด หมดธุระก็หยุด
-พูดเมื่อจำเป็น แต่เป็นผู้ฟังอย่างมีสติ
-ใครพูดผิดเราก็ฟังได้ ใครพูดถูกเราก็ฟังได้"

กราบวาทะธรรมท่านอ.กำพล ทองบุญนุ่ม
,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,



การพยามทำในแบบอย่างคุณสมบัติผู้ดีเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง
ในชีวิตประจำวัน ที่คนปฏิบัติพึงเริ่มต้นทำ

สมบัติของผู้ดี มีอะไรบ้าง
ภาค ๑ ผู้ดี ย่อมรักษา ความเรียบร้อย
กายจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ใช้กิริยาข้ามกรายบุคคล.
(๒) ย่อมไม่อาจเอื้อมในที่ต่ำสูง.
(๓) ย่อมไม่ล่วงเกินถูกต้องผู้อื่นซึ่งไม่ใช่หยอกกันฐานเพื่อน.
(๔) ย่อมไม่เสียดสีกระทบกระทั่งกายบุคคล.
(๕) ย่อมไม่ลุกนั่งเดินเหินให้พรวดพราดโดนผู้คนหรือสิ่งของแตกเสียหาย.
(๖) ย่อมไม่ส่งของให้ผู้อื่นด้วยกิริยาอันเสือกไสผลักโยน.
(๗) ย่อมไม่ผ่านหน้าหรือบังตาผู้อื่น เมื่อเขาดูสิ่งใดอยู่ เว้นแต่เป็นที่เฉพาะไป.
(๘) ย่อมไม่เอิกอึงเมื่อเวลาผู้อื่นทำกิจ.
(๙) ย่อมไม่อื้ออึงในเวลาประชุมสดับตรับฟัง.
(๑๐) ย่อมไม่แสดงกิริยาตึงตัง หรือพูดจาอึกทึกในบ้านแขก.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่สอดสวนวาจาหรือแย่งชิงพูด.
(๒) ย่อมไม่พูดด้วยเสียงอันดังเหลือเกิน.
(๓) ย่อมไม่ใช้เสียงตวาด หรือพูดจากระโชกกระชาก.
(๔) ย่อมไม่ใช้วาจาอันหักหาญดึงดัน.
(๕) ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำอันหยาบคาย.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านกำเริบหยิ่งโยโส.
(๒) ย่อมไม่บันดาลโทสะให้เสียกิริยา.

สมบัติของผู้ดี
ภาค ๒ ผู้ดี ย่อมไม่ทำอุจาดลามก
กายจริยา คือ
(๑) ย่อมใช้เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวอันสะอาด และแต่งโดยเรียบร้อยเสมอ.
(๒) ย่อมไม่แต่งตัวในที่แจ้ง.
(๓) ย่อมไม่จิ้มควักล้วงแคะแกะเการ่างกายในที่ชุมชน.
(๔) ย่อมไม่กระทำการที่ควรจะทำในที่ลับในที่แจ้ง.
(๕) ย่อมไม่หาวเรอให้ปรากฏในที่ชุมชน.
(๖) ย่อมไม่จามด้วยเสียงอันดังและโดยไม่ป้องกำบัง.
(๗) ย่อมไม่บ้วนขากด้วยเสียงอันดัง หรือให้เปรอะเปื้อน ให้เป็นที่รังเกียจ.
(๘) ย่อมไม่ลุกลนเลอะเทอะมูมมามในการบริโภค.
(๙) ย่อมไม่ถูกต้องหรือหยิบยื่นสิ่งที่ผู้อื่นจะบริโภคด้วยมือตน.
(๑๐) ย่อมไม่ล่วงล้ำ ข้ามหยิบ ของบริโภคผ่านหน้าผู้อื่น ซึ่งควรขอโทษและขอให้เขาส่งได้.
(๑๑) ย่อมไม่ละลาบละล้วงเอาของผู้อื่นมาใช้ในการบริโภค เช่น ถ้วยน้ำ และผ้าเช็ดมือ.
(๑๒) ย่อมไม่เอาเครื่องใช้ของตน เช่น ช้อนส้อมไปล้วงตักสิ่งบริโภคซึ่งเป็นของกลาง.
(๑๓) ย่อมระวัง ไม่พูดจาตรงหน้าผู้อื่นให้ใกล้ชิดเหลือเกิน.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งโสโครกพึงรังเกียจในท่ามกลางประชุมชน.
(๒) ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งควรปิดบังในท่ามกลางประชุมชน. มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมพึงใจที่จะรักษาความสะอาด. ภาคสาม ผู้ดี ย่อมมีสัมมาคาราวะ.

สมบัติของผู้ดี
ภาค ๓ ผู้ดี ย่อมมีสัมมาคารวะ
กายจริยา คือ
(๒) ย่อมนั่งด้วยกิริยาสุภาพเฉพาะหน้าผู้ใหญ่
(๓) ย่อมไม่ขึ้นหน้าผ่านผู้ใหญ่.
(๔) ย่อมไม่หันหลังให้ผู้ใหญ่.
(๕) ย่อมแหวกที่หรือให้ที่นั่งอันสมควรแก่ผู้ใหญ่หรือผู้หญิง.
(๖) ย่อมไม่ทัดหรือคาบบุหรี่ คาบกล้อง และสูบให้ควันไปรมผู้อื่น.
(๗) ย่อมเปิดหมวกเมื่อเข้าชายคาบ้านผู้อื่น
(๘) ย่อมเปิดหมวกในที่เคารพ เช่น โบสถ์ วิหาร ไม่ว่าแห่งศาสนาใด.
(๙) ผู้น้อยย่อมเคารพผู้ใหญ่ก่อน.
(๑๐) ผู้ชายย่อมเคารพผู้หญิงก่อน.
(๑๑) ผู้ลาย่อมเป็นผู้เคารพก่อน.
(๑๒) ผู้เห็นก่อนโดยมากย่อมเคารพก่อน.
(๑๓) แม้ผู้ใดเคารพตนก่อน ย่อมต้องตอบเขาทุกคน ไม่เฉยเสีย.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่พูดจาล้อเลียนหลอกลวงผู้ใหญ่.
(๒) ย่อมไม่กล่าวร้ายถึงญาติมิตรที่รักใคร่นับถือของผู้ฟังแก่ผู้ฟัง.
(๓) ย่อมไม่กล่าววาจาติเตียนสิ่งเคารพหรือที่เคารพของผู้อื่นแก่ตัวเขา.
(๔) เมื่อจะขอทำล่วงเกินแก่ผู้ใด ย่อมต้องขออนุญาตตัวเขาก่อน.
(๕) เมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใด แก่บุคคลใด ควรออกวาจาขอโทษเสมอ.
(๖) เมื่อผู้ใดได้แสดงคุณต่อตนอย่างไร ควรออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมเคารพยำเกรงบิดามารดาและอาจารย์.
(๒) ย่อมนับถือนอบน้อมต่อผู้ใหญ่.
(๓) ย่อมมีความอ่อนหวานแก่ผู้น้อย.

สมบัติของผู้ดี
ภาค ๔ ผู้ดี ย่อมมีกิริยาเป็นที่รัก
กายจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ฝ่าฝืนเวลานิยม คือ ไม่ไปใช้กิริยายืนเมื่อเขานั่งกับพื้นและไม่ไปนั่งกับพื้นเมื่อเวลาเขายืนเดินกัน.
(๒) ย่อมไม่ไปนั่งนานเกินสมควรในบ้านของผู้อื่น.
(๓) ย่อมไม่ทำกิริยารื่นเริงเมื่อเขามีทุกข์.
(๔) ย่อมไม่ทำกิริยาโศกเศร้าเหี่ยวแห้งในที่ประชุมรื่นเริง.
(๕) เมื่อไปสู่ที่ประชุมการรื่นเริงย่อมช่วยสนุกชื่นบานให้สมเรื่อง.
(๖) เมื่อเป็นเพื่อนเที่ยว ย่อมต้องกลมเกลียวและร่วมลำบากร่วมสนุก.
(๗) เมื่อตนเป็นเจ้าของบ้าน ย่อมต้องต้อนรับและเชื้อเชิญแขกไม่เพิกเฉย.
(๘) ย่อมไม่ทำกิริยาบึกบึนต่อแขก.
(๙) ย่อมไม่ให้แขกต้องคอยนานเมื่อเขามาหา.
(๑๐) ย่อมไม่จ้องดูนาฬิกาในเวลาที่แขกยังนั่งอยู่.
(๑๑) ย่อมไม่ใช้กิริยาอันบุ้ยใบ้หรือกระซิบกระซาบกับผู้ใด ในเวลาเฉพาะเมื่อตนอยู่ต่อหน้าผู้หนึ่ง.
(๑๒) ย่อมไม่ใช่กิริยาอันโกรธเคือง หรือดุดันผู้คนบ่าวไพร่ต่อหน้าแขก.
(๑๓) ย่อมไม่จ้องดูบุคคลโดยเพ่งพิศเหลือเกิน.
(๑๔) ย่อมต้องรับส่งแขกเมื่อไปมา ในระยะอันสมควร.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่เที่ยวติเตียนสิ่งของที่เขา ตั้ง แต่ง ไว้ในบ้านที่ตนไปสู่.
(๒) ย่อมไม่กล่าวสรรเสริญรูปกายบุคคลแก่ตัวเขาเอง.
(๓) ย่อมไม่พูดให้เพื่อนเก้อกระดาก.
(๔) ย่อมไม่พูดเปรียบเปรยเกาะแกะสตรีกลางชุมชน.
(๕) ย่อมไม่ค่อนแคะติรูปกายบุคคล.
(๖) ย่อมไม่ทักถึงการร้ายโดยพลุ่งโพล่งให้เขาตกใจ.
(๗) ย่อมไม่ทักถึงสิ่งอันน่าอายน่ากระดากโดยเปิดเผย.
(๘) ย่อมไม่เอาสิ่งที่น่าจะอายจะกระดากมาเล่าให้แขกฟัง.
(๙) ย่อมไม่เอาเรื่องที่เขาพึงซ่อนเร้นมากล่าวให้อับอายหรือเจ็บใจ.
(๑๐) ย่อมไม่กล่าวถึงการอัปมงคลในเวลามงคล.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมรู้จักเกรงใจคน.

สมบัติของผู้ดี
ภาค ๕ ผู้ดี ย่อมเป็นผู้มีสง่า
กายจริยา คือ
(๑) ย่อมมีกิริยาอันผึ่งผายองอาจ.
(๒) จะยืนนั่ง ย่อมอยู่ในลำดับอันสมควร ไม่เป็นผู้แอบหลังคนหรือหลีกเข้ามุม.
(๓) ย่อมไม่เป็นผู้สะทกสะท้านงกเงิ่นหยุด ๆ ยั้ง ๆ .

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมพูดจาฉะฉานชัดถ้อยความ ไม่อุบอิบอ้อมแอ้ม.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมมีความรู้จักงามรู้จักดี.
(๒) ย่อมมีอัชฌาสัยอันกว้างขวาง เข้าไหนเข้าได้.
(๓) ย่อมมีอัชฌาสัยเป็นนักเลง ใครจะพูดหรือเล่นอันใดก็เข้าใจและต่อติด.
(๔) ย่อมมีความเข้าใจว่องไวไหวพริบ รู้เท่าถึงการณ์.
(๕) ย่อมมีใจอันองอาจกล้าหาญ.

สมบัติของผู้ดี
ภาค ๖ ผู้ดี ย่อมปฏิบัติการงานดี
กายจริยา คือ
(๑) ย่อมทำการอยู่ในระเบียบแบบแผน.
(๒) ย่อมไม่ถ่วงเวลาให้คนอื่นคอย.
(๓) ย่อมไม่ละเลยที่จะตอบจดหมาย.
(๔) ย่อมไม่ทำการแต่ต่อหน้า.

วจีจริยา คือ
(๑) พูดสิ่งใดย่อมให้เป็นสิ่งที่เชื่อถือได้.
(๒) ย่อมไม่รับวาจาคล่อง ๆ โดยมิได้เห็นว่าการจะเป็นได้หรือไม่.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมเป็นผู้รักษาความสัตย์ในเวลา.
(๒) ย่อมไม่เป็นผู้เกียจคร้าน.
(๓) ย่อมไม่เข้าใจว่า ผู้ดีทำอะไรด้วยตนไม่ได้.
(๔) ย่อมไม่เพลิดเพลินจนละเลยให้การเสีย.
(๕) ย่อมเป็นผู้รักษาความเป็นระเบียบ.
(๖) ย่อมเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาเมื่ออยู่ในหน้าที่.
(๗) ย่อมมีมานะในการงานไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก.
(๘) ย่อมเป็นผู้ทำอะไรทำจริง.
(๙) ย่อมไม่เป็นผู้ดึงดันในที่ผิด.
(๑๐) ย่อมปรารถนาความดี ต่อการงานที่ทำอยู่เสมอ.

สมบัติของผู้ดี
ภาค ๗ ผู้ดี ย่อมเป็นผู้ใจดี
กายจริยา คือ
(๑) เมื่อเห็นใครทำผิดพลาดอันน่าเก้อกระดาก ย่อมช่วยกลบเกลื่อนหรือทำไม่เห็น.
(๒) เมื่อเห็นสิ่งของของใครตก หรือจะเสื่อมเสีย ย่อมต้องหยิบยื่นให้หรือบอกให้รู้ตัว.
(๓) เมื่อเห็นเหตุร้าย หรืออันตรายจะมีแก่ผู้ใด ย่อมต้องรีบช่วย.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่เยอะเย้ยถากถางผู้กระทำผิดพลาด.
(๒) ย่อมไม่ใช้วาจาอันข่มขี่.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่มีใจอันโหดเหี้ยมเกรี้ยวกราดแก่ผู้น้อย.
(๒) ย่อมเอาใจโอบอ้อมอารีแก่คนอื่น.
(๓) ย่อมเอาใจช่วยคนเคราะห์ร้าย.
(๔) ย่อมไม่เป็นผู้ซ้ำเติมคนเสียที.
(๕) ย่อมไม่เป็นผู้อาฆาตจองเวร.

สมบัติของผู้ดี
ภาค ๘ ผู้ดี ย่อมไม่เห็นแต่แก่ตัวถ่ายเดียว
กายจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่พักหาความสบายก่อนผู้ใหญ่.
(๒) ย่อมไม่เสือกสนแย่งชิงที่นั่งหรือที่ดูอันใด.
(๓) ย่อมไม่เที่ยวแย่งผู้หนึ่งมาจากผู้หนึ่ง ในเมื่อเขาสนทนากัน.
(๔) เป็นผู้ใหญ่ จะไปมาลุกนั่งย่อมไว้ช่องให้ผู้น้อยมีโอกาสบ้าง.
(๕) ในการเลี้ยงดูย่อมแผ่เผื่อ เชื้อเชิญแก่คนข้างเคียงก่อนตน.
(๖) ในที่บริโภค ย่อมหยิบยกยื่นส่งสิ่งของแก่ผู้อื่นต่อ ๆ ไป ไม่มุ่งแต่กระทำกิจส่วนตน.
(๗) ย่อมไม่รวบสามตะกลามสี่กวาดฉวยเอาของที่เขาตั้งไว้เป็นกลาง จนเกินส่วนที่ตนจะได้.
(๘) ย่อมไม่แสดงความไม่เพียงพอใจในสิ่งของที่เขาหยิบยกให้.
(๙) ย่อมไม่นิ่งนอนใจให้เขาออกทรัพย์แทนส่วนตนเสมอ เช่น ในการเลี้ยงดูหรือใช้ค่าเดินทางเป็นต้น.
(๑๐) ย่อมไม่ลืมที่จะส่งของ ซึ่งคนอื่นได้สงเคราะห์ให้ตนยืม.
(๑๑) การให้สิ่งของหรือเลี้ยงดูซึ่งเขาได้กระทำแก่ตน ย่อมต้องตอบแทนเขา.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ขอแยกผู้หนึ่งมาจากผู้หนึ่ง เพื่อจะพาไปพูดจาความลับกัน.
(๒) ย่อมไม่สนทนาแต่เรื่องตนถ่ายเดียว จนคนอื่นไม่มีช่องจะสนทนาเรื่องอื่นได้.
(๓) ย่อมไม่นำธุระตนเข้ากล่าวแทรกในเวลาธุระอื่นของเขาชุลมุน.
(๔) ย่อมไม่กล่าววาจาติเตียนของที่เขาหยิบยกให้แก่ตน.
(๕) ย่อมไม่ไต่ถามราคาของที่เขาได้หยิบยกให้แก่ตน.
(๖) ย่อมไม่แสดงราคาของที่หยิบยกให้แก่ผู้ใดให้ปรากฏ.
(๗) ย่อมไม่ใช้วาจาอันโอ้อวดตนและหลบหลู่ผู้อื่น.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่มีใจมักได้
(๒) ย่อมไม่ตั้งใจปรารถนาของรักเพื่อน.
(๓) ย่อมไม่พึงใจการหยิบยืมข้าวของทองเงินซึ่งกันและกัน.
(๔) ย่อมไม่หวังแต่จะพึ่งอาศัยผู้อื่น.
(๕) ย่อมไม่เป็นผู้เกี่ยงงอนทอดเทการงานตนให้ผู้อื่น.
(๖) ย่อมรู้คุณผู้อื่นที่ได้ทำแล้วแก่ตน.
(๗) ย่อมไม่มีใจริษยา.

สมบัติของผู้ดี
ภาค ๙ ผู้ดี ย่อมรักษาความสุจริตซื่อตรง
กายจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ละลาบละล้วงเข้าห้องเรือนแขกก่อนเจ้าของบ้านเชิญ.
(๒) ย่อมไม่แลลอดสอดส่ายโดยเพ่งเล็งเข้าไปตามห้องเรือนแขก.
(๓) ย่อมไม่เที่ยวฉวยโน่นหยิบนี่ของผู้อื่นดูจนเหลือเกิน ราวกับว่าจะค้นหาสิ่งใด.
(๔) ย่อมไม่เที่ยวขอหรือหยิบฉวยดูจดหมายของผู้อื่นที่เจ้าของไม่มีประสงค์จะให้ดู.
(๕) ย่อมไม่เที่ยวขอหรือหยิบฉวยดูสมุดพกหรือสมุดจดรายงานบัญชีของผู้อื่น ซึ่งตนไม่มีธุระเกี่ยวข้องเป็นหน้าที่.
(๖) ย่อมไม่เที่ยวนั่งที่โต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น.
(๗) ย่อมไม่เที่ยวเปิดดูหนังสือตามโต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น.
(๘) ย่อมไม่แทรกเข้าหมู่ผู้อื่นซึ่งเขาไม่ได้เชื้อเชิญ.
(๙) ย่อมไม่ลอบแอบฟังคนพูด.
(๑๐) ย่อมไม่ลอบแอบดูการลับ.
(๑๑) ถ้าเห็นเข้าจะพูดความลับกัน ย่อมต้องหลบตาหรือลี้ตัว.
(๑๒) ถ้าจะเข้าห้องเรือนผู้ใด ย่อมต้องเคาะประตูหรือกล่าววาจาให้เขารู้ตัวก่อน.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ซอกแซกไต่ถามธุระส่วนตัวหรือการในบ้านของเขาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแก่ตน.
(๒) ย่อมไม่เที่ยวถามเขาว่า นั่นเขียนหนังสืออะไร.
(๓) ย่อมไม่เที่ยวถามถึงผลประโยชน์ที่เขาหาได้เมื่อตนไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง.
(๔) ย่อมไม่เอาการในบ้านของผู้ใดมาแสดงในที่แจ้ง.
(๕) ย่อมไม่เก็บเอาความลับของผู้หนึ่งมาเที่ยวพูดแก่ผู้อื่น.
(๖) ย่อมไม่กล่าวถึงความชั่วร้าย อันเป็นความลับเฉพาะบุคคลในที่แจ้ง.
(๗) ย่อมไม่พูดสับปลับกลับกลอกตลบตะแลง.
(๘) ย่อมไม่ใช้คำสบถติดปาก.
(๙) ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำมุสา.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่เป็นคนต่อหน้าอย่างหนึ่งลับหลังอย่างหนึ่ง.
(๒) ย่อมเป็นผู้รักษาความไว้วางใจแก่ผู้อื่น.
(๓) ย่อมไม่แสวงประโยชน์ในทางที่ผิดธรรม.
(๔) ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเที่ยงตรง.

สมบัติของผู้ดี
ภาค ๑๐ ผู้ดี ย่อมไม่ประพฤติชั่ว
กายจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่เป็นพาลเที่ยวเกะกะระรั้วและกระทำร้ายคน.
(๒) ย่อมไม่ข่มเหงผู้อ่อนกว่า เช่น เด็กหรือผู้หญิง.
(๓) ย่อมไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเจ็บอาย เพื่อความสนุกยินดีของตน.
(๔) ย่อมไม่หาประโยชน์ด้วยอาการที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน.
(๕) ย่อมไม่เสพสุราจนถึงเมาและติด.
(๖) ย่อมไม่มั่วสุมกับสิ่งอันเลวทราม.
(๗) ย่อมไม่หมกมุ่นในการพนัน เพื่อจะปรารถนาทรัพย์.
(๘) ย่อมไม่ถือเอาเป็นของตน ในสิ่งที่เจ้าของไม่ได้อนุญาตให้.
(๙) ย่อมไม่พึงใจในหญิงที่มีเจ้าของหวงแหน.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่เป็นพาลพอใจทะเลาะวิวาท.
(๒) ย่อมไม่พอใจนินทาว่าร้ายกันและกัน.
(๓) ย่อมไม่พอใจพูดส่อเสียดยุยง.
(๔) ย่อมไม่เป็นผู้สอพลอประจบประแจง.
(๕) ย่อมไม่แช่งชักให้ร้ายผู้อื่น.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ปองร้ายผู้อื่น.
(๒) ย่อมไม่คิดทำลายผู้อื่นด้วยประโยชน์ตน.
(๓) ย่อมมีความเหนี่ยวรั้งใจตนเอง.
(๔) ย่อมเป็นผู้มีความละอายแก่บาป.
>> อกาลิโก แปลว่าไม่ประกอบด้วยกาล :facebook./AKALIGO
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 09, 2017, 11:27:38 am โดย ฐิตา »