ไม่มีธรรมอื่นอีกแล้ว ที่ขจัดข้อสงสัยได้เหมือน “โยนิโสมนสิการ”
หากท่านใด มีข้อสงสัยในข้อธรรมใดๆ พระพุทธเจ้าแนะนำให้ใช้ "โยนิโสมนสิการ"
แก้ข้อสงสัยนั้น เพื่อนๆท่านใดยังไม่เข้าใจคำว่า “โยนิโสมนสิการ” เชิญพิจารณาได้เลยครับ
โยนิโสมนสิการ การใช้ความคิดถูกวิธี คือ
- การกระทำในใจโดยแยบคาย
- มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสาย
- แยกแยะออก พิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบ และโดยอุบายวิธีให้เห็นสิ่งนั้น ๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
- โยนิโสมนสิการนี้ อยู่ใน ฝ่ายปัญญา
..
..
พระพุทธพจน์ที่กล่าวถึง โยนิโสมนสิการ มีดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
“เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนโยนิโสมนสิการ ภิกษุผู้มีโยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”
“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญยิ่งขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”
“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความสงสัยที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกขจัดเสียได้ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”
“โยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ
..
..
ธรรมข้ออื่น ที่ได้รับยกย่องคล้ายกับโยนิโสมนสิการนี้ ในบางแง่ ได้แก่
อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท),
วิริยารัมภะ (การปรารภความเพียร, ทำความเพียรมุ่งมั่น),
อัปปิจฉตา (ความมักน้อย, ไม่เห็นแก่ได้),
สันตุฏฐี (ความสันโดษ),
สัมปชัญญะ (ความรู้ตัว, สำนึกตระหนักชัดด้วยปัญญา);
กุสลธัมมานุโยค (การหมั่นประกอบกุศลธรรม);
ฉันทสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งฉันทะ),
อัตตสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งตนคือมีจิตใจซึ่งพัฒนาเต็มที่แล้ว),
ทิฏฐิสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ),
และ อัปปมาทสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งอัปปมาทะ)
อ้างอิง สํ.ม.๑๙/๕-๑๒๙/๒-๓๖; องฺ.เอก.๒๐/๖๐-๑๘๖/๑๓-๔๑; ขุ.อิติ. ๒๕/๑๙๔/๒๓๖
ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม (ป.อ.ปยุตโต)
-------------------------------------
อัปปมาทะ ความไม่ประมาท คือ
ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ หรือ ความเพียรที่มีสติเป็นเครื่องเร่งเร้าและควบคุม ได้แก่
- การดำเนินชีวิตโดยมีสติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติปฏิบัติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังตัว ไม่ยอมถลำไปในทางเสื่อม แต่ไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความดีงามและความอันจะต้องรับผิดชอบ ไม่ยอมปล่อยปละละเลย
- การทำการด้วยความจริงจัง รอบคอบและรุดหน้าเรื่อยไป
- ข้อนี้เป็น องค์ประกอบภายใน และเป็น ฝ่ายสมาธิ
..
..
พระพุทธพจน์ที่กล่าวถึง อัปปมาทะ มีดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
“ธรรมเอก ที่มีอุปการะมาก เพื่อการเกิดขึ้นแห่งอารยอัษฎางคิกมรรคที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญบริบูรณ์ เหมือนอย่างความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทนี้เลย”
“รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลาย ชนิดใด ๆ ก็ตาม ย่อมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด, รอยเท้าช้าง เรียกว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น โดยความใหญ่ ฉันใด กุศลธรรมทั้งหลายอย่างใดๆ ก็ตาม ย่อมมีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาทได้ทั้งหมด ความไม่ประมาท เรียกได้ว่าเป็นยอดของธรรมเหล่านั้นฉันนั้น”
“ผู้มีกัลยาณมิตร พึงเป็นอยู่โดยอาศัยธรรมเอกข้อนี้ คือ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย”
“ธรรมเอกอันจะทำให้ยึดเอาประโยชน์ไว้ได้ทั้ง ๒ อย่าง คือ ทั้งทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์เฉพาะหน้า หรือประโยชน์สามัญของชีวิต เช่น ทรัพย์ ยศ กามสุข เป็นต้น) และสัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์เบื้องหน้าหรือประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไปทางจิตใจหรือคุณธรรม) ก็คือความไม่ประมาท”
“สังขาร (สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น) ทั้งหลาย มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ที่มุ่งหมายให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
“ความไม่ประมาท ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ
อ้างอิง ที.ม.๑๐/๑๔๓/๑๘๐; สํ.ส.๑๕/๓๗๘-๓๘๔/๑๒๕-๑๒๙; สํ.ม.๑๙/๑๓๕-๒๖๒/๓๗-๖๖; องฺ.เอก.๒๐/๖๐-๑๑๖/๑๓-๒๓; อํ.ฉกฺก.๒๒/๓๒๔/๔๐๗; องฺ.ทสก.๒๔/๑๕/๒๓
ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม (ป.อ.ปยุตโต)
---------------------------------------------
โยนิโส โดยแยบคาย, โดยถ่องแท้, โดยวิธีที่ถูกต้อง, ตั้งแต่ต้นตลอดสาย, โดยตลอด
มนสิการ การทำในใจ, ใส่ใจ, พิจารณา
อัปปมาท ความไม่ประมาท, ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ, ความไม่เผลอ, ความไม่เลินเล่อเผลอสติ, ความไม่ปล่อยปละละเลย, ความระมัดระวังที่จะไม่ทำเหตุแห่งความผิดพลาดเสียหาย และไม่ละเลยโอกาสที่จะทำเหตุแห่งความดีงามและความเจรญ, ความมีสติรอบคอบ
ความไม่ประมาท พึงกระทำในที่ ๔ สถาน คือ
๑) ในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต
๒) ในการละวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต
๓) ในการละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต
๔) ในการละความเห็นผิด ประกอบความเห็นที่ถูก;
อีกหมวด หนึ่งว่า
๑) ระวังใจไม่ให้กำหนัด
๒) ระวังใจไม่ให้ขัดเคือง ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
๓) ระวังใจไม่ให้หลง ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง
๔) ระวังใจไม่ให้มัวเมา ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา
ที่มา
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ (ป.อ.ปยุตโต)raponsan
- http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=585.0