แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

พระสูตรเว่ยหล่าง พุทธทาสภิกขุ แปล

<< < (4/21) > >>

ฐิตา:




ปรัชญาซึ่งมีประจำอยู่ใน  จิตเดิมแท้  ของทุกๆ คนนั้นแล้ว  อาจจะเปรียบกันได้กับฝน  ซึ่งความชุ่มชื่นของมัน  ย่อมทำความสดชื่นให้แก่สิ่งที่มีชีวิตทุกๆสิ่ง  รวมทั้งต้นไม้และพืชพันธุ์ธัญญาหาร   ตลอดถึงสัตว์ทุกชนิด  เมื่อแม่น้ำและลำธารไหลไปถึงทะเล  น้ำฝนที่มันพาไป ย่อมผสมเป็นอันเดียวกันกับน้ำในมหาสมุทร  นี่คือข้ออุปมาอีกข้อหนึ่ง

 ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ที่นี้หากว่าฝน (ที่ทำความสดชื่นให้แก่สิ่งมีชีวิตนั่นเอง) ได้ตกกระหน่ำลงมาขนาดใหญ่ต้นไม้ซึ่งมีรากไม้ลึกพอ  ก็จะถูกน้ำพัดชะถอนรากขึ้นลอยตามน้ำ  และสูญหายไปในที่สุดไม่มีเหลือ  ข้อนี้เปรียบกันได้กับคนที่มีปัญญาทึบเข้าใจอะไรได้ยาก ที่ได้ฟังคำสอนของชั้น  "นิกายฉับพลัน"  แท้ที่จริง  ปรัชญาซึ่งมีอยู่ในบุคคลจำนวนนี้  ก็เป็นอย่างเดียวกันกับที่มีอยู่ในบุคคลจำพวกปัญญาไว  หากแต่ว่าเขาไม่สามารถทำตนให้ตรัสรู้ได้  ในขณะที่มีผู้สอนเขาด้วยธรรมะนั้น  เพราะเหตุใด?

เพราะว่าเขาถูกปกคลุมเสียหนาแน่น  ด้วยความคิดเห็นผิด  และกิเลสซึ่งได้ลงรากลึกแล้ว  ทำนองเดียวกับดวงอาทิตย์ถูกบดบังด้วยเมฆ  ไม่สามารถส่องแสงของตนลงมา (ทั้งที่แสงนั้นมีอยู่)  จนกว่าจะมีลมมากวาดเอาเมฆนั้นไปเสีย  ฉันใดก็ฉันนั้น

        ปรัชญานั้น  ไม่แตกต่างกัน แม้ว่าตัวบุคคลจะแตกต่างกัน ข้อที่แตกต่างกันนั้น  อยู่ตรงที่ว่าใจของเขาสว่างไสว  หรือมืดมนเท่านั้นเอง  คนที่ไม่รู้จักจิตเดิมแท้  ของตนเอง  และยังแถมมีความเขลาไปว่า  การบรรลุพุทธธรรมนั้น  มีได้ด้วยศาสนาพิธีต่างๆ ที่กระทำกันทางภายนอก (ไม่เกี่ยวกับจิต) นี้แหละ คือคนจำพวกที่เข้าใจอะไรได้ยาก
 



คนจำพวกที่เข้าใจคำสอนของ "นิกายฉับพลัน" ไม่รู้สึกว่า
พิธีรีตองต่างๆ เป็นของสำคัญ

และใจของเขาก็ทำหน้าที่พิจารณาอยู่ด้วยสัมมาทิฏฐิอย่างเดียว
 
จนกระทั่งเขาหลุดพ้นเด็ดขาดจากกิเลสหรือมลทินต่างๆ
คนชนิดนี้แหละกล่าวว่า  เป็นผู้ทีได้รู้จัก  จิตเดิมแท้  ของตนเองแล้ว

       ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ขึ้นชื่อว่าใจ  เป็นสิ่งที่ควรได้รับการจัดวางไว้ในกรอบของการปฏิบัติ  ชนิดที่มันจะเป็นอิสระจากอารมณ์  ทั้งที่เป็นภายนอกและภายใน  ให้มีอิสระที่จะมาหรือจะไป  ไม่ถูกพัวพัน  และใสสว่างโดยทั่วถึงปราศจากสิ่งบดบังแม้แต่นิดเดียว  บุคคลที่สามารถทำได้เช่นนี้  ถือว่าดีถึงขนาดที่จะบัญญัติไว้ในสูตรทั้งหลายของนิกาย(มหา)ปรัชญา(ปารมิตา



ฐิตา:



     ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  สูตรและปิฎกทั้งสิ้น  ทั้งฝ่ายมหายานและหินยาน  รวมทั้งคัมภีร์อรรถกถาทั้งสิบสองภาค  ทั้งหมดถูกจำแนกไว้เป็นชั้นๆ  ก็เพื่อให้เหมาะกับความต้องการและอุปนิสัย  ของบุคคลผู้มีอินทรีย์ยิ่งหย่อนกว่ากันเป็นชั้นๆนั่นเอง  โอวาทต่างๆ มีสอนที่อยู่ในพระคัมภีร์เหล่านั้น  บัญญัติขึ้นมาโดยยึดหลักใหญ่ว่า  ตัวปรัชญามีแฝงอยู่ภายในบุคคลทุกคนแล้ว  ถ้าไม่มีคน  ก็ไม่จำเป็นต้องมีธรรมะ

 เหตุนั้น  เราจึงทราบได้ว่าธรรมะนั้นๆ บัญญัติขึ้นสำหรับคนโดยตรง  และสูตรต่างๆ นั้น  เกิดขึ้นเพราะศาสดาผู้ประกาศสูตรนั้นๆ นั่นเอง  เพราะเหตุที่คนบางพวกเป็นคนฉลาด  ซึ่งเราเรียกกันว่า คนเด่น และคนบางพวกเป็นคนโง่เขลา  ในเมื่อคนเขลาประสงค์จะให้สอนด้วยการทำเช่นนี้  คนเขลาก็อาจลุถึงความสว่างไสวชนิดรวดเร็วได้ และใจของเขาก็แจ่มแจ้งได้ด้วยเหตุนั้น  แล้วคนเขลาเหล่านั้น  ก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากคนฉลาดอีกต่อไป

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ถ้าเอาการตรัสรู้ออกเสียแล้ว  ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันระหว่างพระพุทธเจ้ากับคนสามัญอื่นๆ  ความสว่างไสววาบเดียวเท่านั้น  ก็เพียงพอแล้ว  ที่จะทำใครก็ได้ให้กลายเป็นคนเสมอกันกับพระพุทธเจ้า  เพราะเหตุที่ธรรมะทั้งหลาย  เป็นของมีประจำอยู่ในใจของเราแล้ว  จึงไม่มีเหตุผลในข้อที่ว่า เราไม่สามารถเห็นซึมซาบแจ้งชัด  ในสภาวะแท้ของ ตถตา(สภาพที่มีแต่ความเป็นเช่นนั้น จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ) มีข้อความกล่าวไว้ในสูตรชื่อ  โพธิสัตว์ศีลสูตร  ว่า "จิตเดิมแท้ของเรา  เป็นของบริสุทธิ์โดยเด็ดขาด  และถ้าเราได้รู้จักใจของเราเอง  และรู้แจ้งชัดว่าตัวธรรมชาติแท้ของเราคืออะไรแล้ว  เราจะลุถึงพุทธภาวะได้ทุกๆคน (ที่มีความรู้เช่นนั้น)"ข้อความในสูตรชื่อ วิมลกิรตินิเทศสูตร  ก็ได้กล่าวว่า "ทันใดนั้น  เขาตรัสรู้แจ่มแจ้งสว่างไสว  และได้รับใจของเขาเองกลับคืนมา" *(11)

ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  เมื่อพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า  ได้เทศน์ให้อาตมาฟัง  อาตมาได้เกิดความรู้แจ้งสว่างไสว  ตรัสรู้ข้อธรรมะนั้น  ในทันทีที่ท่านพูดจบ  และทันใดนั้นเอง  ได้เห็นแจ้งประจักษ์ชัดในตัวธรรมชาติแท้ของ  ตถตา  ด้วยเหตุนี้เอง  อาตมาจึงมีความมุ่งหมายโดยเฉพาะ  ในการที่จะประกาศคำสอนแห่ง  "นิกายฉับพลัน"  นี้ต่อไป  เพื่อว่าผู้ศึกษาจะได้ประสบกับโพธิ  และเห็นแจ้งชัดในตัวธรรมชาติแท้ของตนเอง  ด้วยการอบรมจิตในวิปัสสนาภาวนา

                           

       ถ้าหากว่า  เขาไม่สามารถช่วยตัวเองให้เกิดความสว่างไสวได้  เขาก็จะได้ขอร้องต่อเพื่อนพุทธบริษัทผู้คงแก่เรียนและใจอารี  ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจคำสั่งสอนของสำนักชั้นสูง  ให้ช่วยชี้หนทางถูกให้แก่เขา  สำนักหลักแหล่งของพุทธบริษัทผู้คงแก่เรียนและมีใจอารี  ทำหน้าที่นำจูงผู้อื่นให้เห็นแจ้งในจิตเดิมแท้นั้น  เป็นสำนักซึ่งอยู่ในตำแหน่งสูงสุด  ด้วยความช่วยเหลือของบุคคลชนิดนี้ผู้อื่นจะถูกชักจูงเข้ามาสู่ธรรมะอันเป็นฝ่ายกุศลทุก ๆ ประการ  บรรดาปัญญาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  ทั้งในอดีต  ปัจจุบัน  และอนาคต  รวมทั้งความรู้ที่เป็นหลักคำสอน  ในพระคัมภีร์ทั้งสิบสองหมวดนั้น  ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในใจของเรามาแต่เดิมแล้ว 

ในกรณีที่เราเองไม่สามารถปลุกให้สว่างไสวขึ้นมาได้ด้วยตนเองนั้น   เราจำต้องแสวงคำแนะนำจากบุคคลผู้คงแก่เรียน  และมีใจอารีเหล่านั้น  แต่ในทางที่ตรงกันข้าม  พวกที่ทำความสว่างไสวให้แก่ตนเองได้โดยลำพังนั้น  ย่อมไม่ต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก  มันเป็นของผิดในการที่จะไปถือคติว่า  ถ้าปราศจากคำแนะนำของผู้คงแก่เรียน  และมีใจอารีแล้ว  เราไม่สามารถจะลุถึงวิมุติ  เพราะเหตุไร? 

เพราะเหตุว่า มันเป็นเพราะปัญญาภายในของเราเองต่างหาก  ที่ทำให้เราเกิดความสว่างไสวได้   ถึงแม้ความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก  และคำพร่ำสอนของเพื่อนผู้คงแก่เรียน  และใจอารี  ก็ยังอาจเป็นหมันไร้ประโยชน์ได้เหมือนกัน  ถ้าหากว่าเราทำไม่ถูกหลงงมงายเสียแล้ว โดยคำสอนที่ผิดและความเห็นผิด  เราควรเพ่งจิตของเราด้วยปัญญาตัวจริง  ความเห็นผิดทั้งมวลก็จะถูกเพิกถอนไปในขณะนั้น   และในทันทีทันใดที่เราได้รู้จักตัว  จิตเดิมแท้  เราย่อมลุถึงสถานะแห่งความเป็นพุทธะในทันใดนั้น

*11 คำว่าได้รับใจของเขาเองกลับคืนมา นี้หมายความว่า ใจเดิมที่บริสุทธิ์และสว่างไสว ไม่ได้ถูกกิเลสหุ้มห่อ  นั้นเรียกว่าใจของเขาแท้  ในปัจจุบันนี้ กิเลสหุ้มห่อจนไม่เป็นใจของเขาเสียแล้ว  เขาสู้รบกับกิเลส กันเอากิเลสออกไปเสีย  และเอาใจของเขาแท้กลับคืนมาได้ (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

ฐิตา:


  ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  เมื่อเราใช้ปรัชญา  (ปัญญาดั้งเดิม)  ของเราในการเพ่งพิจารณาในภายใน  เราย่อมมีความสว่างแจ่มแจ้ง  ทั้งภายในและภายนอก  และเราอยู่ในฐานะที่จะรู้จักใจของเราเอง  การรู้จักใจของเราเองคือการลุถึงวิมุติ (การหลุดเป็นอิสระ)  การลุถึงวิมุติ  ก็คือการลุถึงสมาธิฝ่ายปรัชญา  ซึ่งเป็น  "ความไม่ต้องคิด"  "ความไม่ต้องคิด" คืออะไร?  "ความไม่ต้องคิด"  คือการเห็นและการรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวง (ตามที่เห็นจริง) ด้วยใจที่ไม่มีอะไรห่อหุ้มพัวพัน  เมื่อเราใช้มัน  มันแทรกเข้าไปได้ในทุกสิ่งแต่ไม่ติดแจอยู่ในสิ่งใดเลย 

สิ่งที่เราจะต้องทำนั้น  มีเพียงการชำระจิตให้ใสกระจ่าง  เพื่อว่าวิญญาณทั้งหกเมื่อแล่นไปตามอายตนะทั้งหก (*12) จะไม่ถูกทำให้เศร้าหมองโดยอารมณ์ทั้งหก  เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่ของมันได้โดยอิสระ ปราศจากอุปสรรค  และอยู่ในสถานะที่จะ  "มา"  หรือ  "ไป"  ได้โดยอิสระเมื่อนั้น ชื่อว่าเราได้บรรลุ  สมาธิฝ่ายปรัชญา   หรืออิสรภาพ  สถานะเช่นนี้มีนามว่า  การทำหน้าที่ของ "ความไม่ต้องคิด"   แต่ว่า  การหักห้ามความคิดถึงสิ่งใดๆ ให้ความคิดทั้งหมดถูกกดเอาไว้  ย่อมเป็นการกดธรรมะไว้  (ไม่ให้ปรากฏหรือเป็นไปตามที่ควรจะเป็นไป) และข้อนี้ย่อมเป็นความเห็นผิด


        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  บรรดาบุคคลผู้เข้าใจในวิถีทางแห่ง  "ความไม่ต้องคิด" เหล่านั้น  จะรู้แจ้งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทุกสิ่ง  จะได้ดื่มรสที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้เคยดื่มมาแล้ว  และย่อมบรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้า  ในกาลข้างหน้าต่อไป  ถ้าหากผู้ที่ได้รับคำสอนจากสำนักของอาตมาคนใด  จะให้สัจจปฏิญาณในท่ามกลางหมู่เพื่อนศิษย์ด้วยกันว่าจะอุทิศชีวิตของตนทั้งหมดเพื่อปฏิบัติตามคำสอนแห่ง  "สำนักฉับพลัน"  นี้  โดยไม่ย่อท้อถอยหลัง  ตั้งใจขนาดเดียวกันกับความตั้งใจที่จะปรนนิบัติรับใช้พระพุทธเจ้าแล้วไซร้  เขาก็จักลุถึงวิสุทธิมรรคา  โดยไม่มีการล้มเหลวเป็นแน่แท้ 

เขาจักถ่ายทอดคำสอนที่พระสังฆปริณายกองค์หนึ่ง  ได้มอบหมายลงมายังพระสังฆปริณายกองค์ต่อๆ มา  ออกจากดวงใจของเขา  แล้วส่งลงไปยังดวงใจของบุคคลอื่น  ซึ่งสมควรแก่การนี้เป็นช่วงๆ กันไป  และพยายามที่จะไม่ปิดบังซ่อนเร้นคำสอนที่ถูกต้องไว้แม้แต่น้อย  สำหรับบุคคลพวกที่อยู่ในสำนักอื่นในนิกายอื่น  ซึ่งความเห็นและจุดมุ่งหมายของเขาผิดไปจากของพวกเรานั้น  ไม่ความจะถ่ายทอดหลักธรรมะอันนี้ไปให้เลยเพราะจะมีแต่ผลร้ายโดยประการต่างๆ ไม่มีผลดี การที่มีข้อยกเว้นไว้ดังนี้ ก็โดยเกรงว่า  พวกคนเขลาซึ่งไม่สามารถเข้าใจหลักคำสอนอย่างของเรา  จะมีคำกล่าวตู่ป้ายร้ายให้แก่คำสอนระบอบนี้  และข้อนั้นเองจะเป็นการทำลายเมล็ดพืชแห่งความเป็นพุทธะ  ซึ่งมีอยู่ในคนพวกนั้นให้เหือดแห้งเป็นหมันไป  ตลอดเวลาหลายร้อยกัลป์พันชาติ[/size]


*12 วิญญาณทั้งหกคือ  จักขุวิญญาณ  โสตวิญญาณ  ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ  มโนวิญญาณ  ได้แก่จิตส่วนที่ไมทำหน้าที่รู้สึกตามทวารต่างๆ  คือ ตา หู  เป็นต้น
อายตนะหก  หมายถึง  ตา หู จมูก ลิ้น  กาย  มโน  ที่ยังมีประสิทธิภาพ  คือให้วิญญาณทำหน้าที่ได้  เป็นสื่อระหว่างวิญญาณกับอารมณ์ 
อารมณ์หก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ได้แก่ของข้างนอก  ที่จะเข้าไปพบของข้างใน  คือวิญญาณโดยอาศัยอายตนะเป็นสนาม  (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

ฐิตา:



  ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  อาตมามีโศลกอันกล่าวถึง "นิรรูป"(*13)อยู่หมวดหนึ่ง  สำหรับท่านทั้งหลายท่องบ่นกัน  ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตควรปฏิบัติตามคำสอนซึ่งมีอยู่ในโศลกนั้น  ซึ่งถ้าปราศจากการปฏิบัติเสียแล้วมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร  ในการที่จะจำเอาถ้อยคำของอาตมาไปเปล่าๆ ท่านทั้งหลายจงคอยฟังโศลก ดังต่อไปนี้:-

"อาจารย์ผู้บัญญัติคัมภีร์พุทธธรรม  รวมทั้งคำสอนในสำนักนิกายธยานนี้ด้วย
อาจเปรียบกันได้กับดวงอาทิตย์  ซึ่งกำลังแผดแสงจ้า อยู่ ณ กึ่งกลางนภากาศ
บุคคลเช่นนี้จักไม่สอนอะไร  นอกจากธรรมะเพื่อให้เห็นแจ้ง  จิตเดิมแท้  อย่างเดียว
และความมุ่งหมายในการที่ท่านมาสู่โลกนี้ ก็เพื่อขจัดพรรคมิจฉาทิฏฐิฯ
เราจะแบ่งแยกธรรมปฏิบัติ  ออกเป็นชนิด "ฉับพลัน" และชนิด "เชื่องช้า"
ได้โดยยากก็จริง แต่ก็ยังมีคนบางพวก ที่จะรู้แจ้งได้เร็วกว่าคนพวกอื่นมากฯ

ตัวอย่างเช่นธรรมปฏิบัติระบอบนี้  ที่สอนมุ่งให้เห็นแจ้งจิตเดิมแท้
เป็นระบอบที่คนโฉดเขลา  จะเข้าใจไม่ได้ฯ
เราอาจจะอธิบายหลักธรรมะระบอบนี้ได้โดยวิธีต่างๆ ตั้ง 10,000วิธี
แต่ว่าคำอธิบายทั้งหมดนั้น  อาจจะลากให้หวนกลับมาสู่หลักดุจเดียวกันได้ฯ
การที่จะจุดไฟให้สว่างขึ้น ในดวงหฤทัยอันมืดมัว  เพราะเกรอะกรังไปด้วยกิเลสนั้น
เราจักต้องดำรงแสงสว่างแห่งปรัชญา  ไว้เนืองนิจฯ



มิจฉาทิฏฐิ  ย่อมทำเราให้ติดจมอยู่ในห้วงกิเลสฯ
ส่วนสัมมาทิฏฐิ  ย่อมเปลื้องเราออกจากกองกิเลสนั้นๆ
แต่เมื่อใด  เราอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าทิฏฐิทั้งสองอย่างนี้
เมื่อนั้น  เราย่อมบริสุทธิ์  โดยเด็ดขาดฯ
โพธิ  เป็นสิ่งมีประจำอยู่แล้วภายใน  จิตเดิมแท้  ของเรา
การพยายามมองหาโพธิจากที่อื่นนั้น  เป็นความเขลาฯ
จิตที่บริสุทธิ์นั้น จะหาพบได้ภายในจิตอันไม่บริสุทธิ์ของเรา นั่นเอง



ในทันใดที่เราดำรงจิตถูกต้อง  เราย่อมเป็นอิสระ
จากสิ่งบดบัง 3 ประการ
( คือ กิเลส  บาปกรรม  และการต้องทนใช้บาปอยู่ในนรก)
ถ้าเราเดินอยู่ในมรรคาแห่งการตรัสรู้
เราไม่จำต้องกลุ้มใจด้วยสิ่งที่จะทำให้เราสะดุดล้มฯ
ถ้าเราคอยสอดส่ายตา  ระวังความผิดของเราเองอยู่เสมอ
เราก็เดินไกลออกไปนอกหนทางที่ถูกไม่ได้ฯ


* คำว่า "นิรรูป" แปลว่า ไม่มีรูป โดยศัพท์ตรงกับคำว่า อรูป,แต่คำว่า อรูป นั้นได้ใช้กันมาก่อนแล้ว หมายถึง อรูปสมาบัติ โดยเฉพาะ ถ้าไปใช้คำว่าอรูปเข้าในที่นี้อีก จะทำให้ผู้อ่านฟั่นเฝือ จึงแปลเสียว่า นิรรูป,ซึ่งหมายความคล้ายกัน คำว่าไม่มีรูปตามความหมายของนิกายนี้ หมายความว่าเขาไม่เห็นว่ารูปธรรมเป็นของสำคัญ หรือกล่าวให้ถูกต้องยิ่งขึ้นไปอีก ก็กล่าวว่ารูปไม่มี เพราะอะไรๆ ก็คือ จิตเดิมแท้ ไปทุกสิ่งทุกอย่าง จงมีแต่ใจเท่านั้น สนใจแต่เรื่องใจอย่างเดียวก็พอแล้ว. - ผู้แปลเป็นไทย พุทธทาส

ฐิตา:




เพราะเหตุที่ชีวิตทุกๆแบบ ย่อมมีวิถีทางแห่ง
ความรอดพ้นเฉพาะของมันเอง ทุกแบบ
ฉะนั้น ชีวิตทั้งหลายจะไม่ก้าวก่าย หรือกระทบกระทั่งซึ่งกันและกันฯ
แต่ถ้าเราผละไปจาก ทาง ชนิดที่เป็นของเรา ไปแสวงหาทางอื่น
เพื่อจะรอดพ้น เราจะไม่พบความรอดพ้นได้เลย
แม้ว่าเราจะหาเรื่อยไป จนกระทั่งความตายมาถึงเราก็ดี

ในที่สุด เราจะพบแต่ความรู้สึกเสียใจภายหลัง
ว่า เราทำพลาดไปแล้วฯ
ถ้าท่านปรารถนาจะค้นหางทางที่ถูกต้อง
การทำให้ถูกวิธีจริงๆ เท่านั้น  ที่จะนำท่านดิ่งไปถึงได้
แต่ถ้าท่านไม่มีการดิ้นรนเพื่อลุถึงพุทธภูมิ
ท่านก็จะมัวคลำคว้าอยู่ในที่มืด  และไม่มีโอกาสพบเลยฯ

ผู้ที่ด่วนเดินมุ่งแนวไปตามทางที่ถูกต้องนั้น
ย่อมไม่มองเห็นความผิดต่างๆ ในโลกนี้
ถ้าเราพบ ความผิด ในบุคคลอื่น
เราเองก็ตกอยู่ในความผิดนั้นด้วยเหมือนกันฯ

เมื่อผู้อื่นทำผิด เราไม่จำต้องเอาใจใส่
เพราะมันจะเกิด ความผิดขึ้นแก่เราเอง ในการที่จะ
ไปรื้อหาความผิดฯ
โดยการ สลัดนิสัย ที่ชอบค้นหาความผิดของคนอื่น
ออกไปเสียจากสันดาน เราย่อมตัดวิถีทางการมาของกิเลส
ได้เป็นอย่างดีฯ เมื่อใดความชัง (คนเกลียด)
และความรัก (คนรัก)
ไม่กล้ำกรายใจของเรา เราหลับสบายฯ

บุคคลใดตั้งใจจะเป็นครูสอนคนอื่น เขาเอง
ควรจะมีความคล่องแคล่ว
ในวิธีเหมาะสมนานาประการ ที่จะนำผู้อื่นเข้าถึงความสว่างฯ
เมื่อศิษย์พ้นจากความสงสัยสนเท่ห์ โดยประการทั้งปวง
มันย่อมแสดงว่า
เขาได้พบ  จิตเดิมแท้  ของเขาแล้วฯ
จักรวรรดิของพระพุทธเจ้า(*13) อยู่ในโลกนี้

*13 จักรวรรดิของพระพุทธเจ้า หรือ Kingdom of the Buddha หมายถึงพุทธเกษตร หรือเขตที่อยู่ในอำนาจของพระพุทธเจ้า  ในการที่สิ่งทั้งหลายจะได้เป็นไปตามกฎแห่งธรรมะ  เช่นปฏิบัติเช่นนี้ ได้ผลเช่นนี้  ปฏิบัติถึงนิพพาน  ได้ผลถึงนิพพานเป็นต้น  ซึ่งเป็นเครื่องรับประกันให้หายห่วง ในการที่จะเกิดกลัวไปว่ากรรมจะไม่ให้ผลเป็นต้น 

หรือคำสอนของพระองค์ใช้ไม่ได้ในที่นี้ (ทำนองกฏหมายในเมืองไทย ใช้บังคับที่เมืองจีนไม่ได้เป็นต้น) แม้ว่าจะมีคำกล่าวในที่อื่น  ว่าพุทธเกษตรมีหลายเกษตรเพราะพระพุทธเจ้ามีหลายองค์  แต่ในที่นี้พิจารณากันแต่ในแง่ว่า  พระพุทธเจ้าทุกองค์มีปัญญาอย่างเดียวกัน ตรัสรู้และสอนอย่างเดียวกัน  หรือเป็นองค์เดียวกัน  นั่นเอง  การแบ่งเป็นองค์ๆ เป็นความเข้าใจผิด  หรือมิฉะนั้นก็เป็นการกล่าวอย่างสามัญตามสมมุติ ผู้แปลไทยพุทธทาส)

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version