เวลาพักกลางวันมาถึงแล้ว ครั้นจะชวนเพื่อนๆ ร่วมงานไปกินข้าว ก็เหมือนกับไม่มีใครอยากลุก หันไปทางซ้าย หัวหน้าก็ขะมักเขม้นกับงานตรงหน้า ไม่กล้าเรียก หันทางขวาเพื่อนร่วมงานก็กำลังเครียดกับเอกสารสารพันบนโต๊ะ สรุปว่าไม่มีใครไปกินข้าวเลยหรอ? นี่หรือเปล่าที่ทำให้คนทั้ง 2 บ่นปวดท้อง ไม่ว่าจะก่อนกิน หรือหลังกิน
สาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะ ผู้ร้ายตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะคือ ‘เชื้อโรค' ที่ชื่อว่า เอช.ไพโลไร (Helicobacter pylori)* ซึ่งเป็นแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร มันจะอยู่ภายในกระเพาะอาหารของผู้ติดเชื้อไปตลอดชีวิต โดยจะอยู่บริเวณด้านล่างของกระเพาะอาหาร เชื้อนี้จะไปกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในกระเพาะอาหาร ทำให้กรดถูกขับออกมามากขึ้น จนเกิดการอักเสบที่เยื่อบุกระเพาะ นำไปสู่การเกิดแผลเลือดออกในกระเพาะอาหาร และลำไส้ส่วนบนนั่นเอง
* แบร์รี เจ มาร์แชลล์ แพทย์ด้านทางเดินอาหาร และ
เจ โรบิน วาร์เรน แพทย์ด้านพยาธิวิทยา ได้ค้นพบเชื้อแบคทีเรีย
‘เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร' (Helicobacter pylori) และได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์
การป้องกันการเกิดโรคกระเพาะอันดับแรกเลยคือ
ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่ได้หมายความว่าต้องกินให้ครบ 3 มื้อ ถ้าปกติกินแค่ 2 มื้อ ก็ขอให้ตรงเวลาทั้งสองมื้อนั้น เช่น รับประทานอาหารตอนเช้า 9.00 น. กลางวัน 12.30 น. และตอนเย็น 16.00 น. ก็ควรที่จะตามนี้ทุกวัน หากหิวก่อนเวลา ให้ดื่มน้ำ หรือน้ำข้าวแทน ให้คิดว่ากระเพาะเหมือนแฟนคนหนึ่ง ถ้ามากินข้าวไม่ตรงเวลาก็อาจมีหงุดหงิดแสบร้อนได้จนถึงเป็นแผล!
อย่านอนดึก พอเรายิ่งดึกเราก็จะยิ่งหิว เพราะกรดถูกหลั่งออกมาในท้องมากเกินไป เราเลยหิว ถ้าหิวเมื่อไรก็ให้เข้านอนไปเลย อย่ากิน ดีออก! เป็นวิธีควบคุมน้ำหนักไปในตัวด้วย
เลี่ยงอาหาร ‘มัน' ที่ดูอร่อยลิ้น เพราะความมันจะอยู่ในกระเพาะได้นาน ทำให้น้ำย่อยมีโอกาสหลั่งออกมาท่วมท้นมากกว่าปกติ อาการปวดท้องก็จะตามมาติดๆ รวมทั้งอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด และสิ่งที่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น น้ำอดลม ยาแก้ปวดแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ เป็นต้น
ที่สำคัญ
ควรงดเหล้าและบุหรี่ เพราะมันมีส่วนกระตุ้นการหลั่งของกรดในท้องเช่นกัน ส่วนสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็น วิ่งเหยาะๆ เดินเร็ว ขี่จักรยาน หรือว่ายน้ำ เพื่อขจัดความเครียดที่ซึมซาบอยู่ทุกอณูของร่างกาย การล้างความเครียดเห็นท่าจะง่ายกว่าการไม่เครียด เยอะ!
โรคกระเพาะถามหาแล้ว จะรักษาอย่างไร... ไม่อยากกินยาใครๆ ก็คงไม่อยากไปหาหมอ หรือกินยาเป็นกำ การรักษาโรคกระเพาะก็ต้องเริ่มจากการกิน คือ ให้กินกล้วยแบบสุกแข็ง เช่น กล้วยหักมุก หรือกินกะหล่ำปลีปรุงสุกบ่อยๆ เพราะกะหล่ำปลีมีสารที่ช่วยสมานแผลในกระเพาะ (ผลจากงานวิจัย Thaly H. A new therapy of peptic ulcer: The anti-ulcer factor of cabbage. Gaz Med Fr 1965; 72:1992-3) อย่ากินวิตามินที่เป็นกรดมากเกินไป อย่าง วิตามินซี เพราะอาจไประคายเยื่อกระเพาะอ่อนๆ ได้ โดยเฉพาะเมื่อกินตอนก่อนนอน
กดจุดปรับการทำงานของกระเพาะและม้าม**ใช้นิ้วหัวแม่มือกดลงไปที่จุดบริเวณใต้ขอบล่างของสะบ้าลงมา 4 นิ้วมือ และห่างจากสันหน้าแข้งมาทางด้านนอก 1 นิ้วมือ กดนวดจุดหนักๆ ด้วยหัวแม่มือ นาน 2 นาที นวดทั้ง 2 ขา ว่ากันว่า จุดนี้จะปรับการทำงานของกระเพาะอาหารและม้ามได้
ใช่ว่าคนที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารจะติดเชื้อ H.pylori กันทุกคน แต่จากสถิติผู้ติดเชื้อ 60-70% ของประชากรทั้งประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อนี้ประมาณ 80-90% และกว่า 90% สามารถหายจากโรคนี้ได้อย่างถาวร แต่ถ้าแผลดังกล่าวไม่หาย และเชื้อนี้ยังไม่หายไป ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารได้
อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกคนใส่ใจดูแลสุขภาพ ระวังอย่าให้เกิดแผลในกระเพาะ หากเกิดแล้วต้องรีบรักษาให้หายโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยการกินแบบธรรมชาติ หรือการกินยาลดกรด ยาเคลือบกระเพาะอาหาร แต่หากปล่อยไว้เรื้อรัง มะเร็งวายร้ายตัวการใหญ่สุด อาจจะมาคุกคามคุณได้นะคะ เอื้อเฟื้อข้อมูลนพ.กฤษดา ศิรามพุช พบ.(จุฬา) ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ
**หนังสือ รักษาโรคด้วยวิธีธรรมชาติ : รีดเดอร์ส ไดเจสท์
มูลนิธิหมอชาวบ้าน
-
- ขอขอบคุณ : Be Magazine ผู้สนับสนุนเนื้อหา