ผู้เขียน หัวข้อ: ใบหน้ากระตุก เสียบุคลิก  (อ่าน 1524 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Plusz

  • กล่องแก้วแจ้วเจรจา
  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • *
  • กระทู้: 1555
  • พลังกัลยาณมิตร 376
  • Love yourself cuz no one will
    • extionary
    • Plusz009
    • ดูรายละเอียด
ใบหน้ากระตุก เสียบุคลิก
« เมื่อ: ตุลาคม 08, 2010, 01:29:44 pm »

รักษาถูกวิธี...ฟื้นความมั่นใจ
ใบหน้า ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญส่วนหนึ่งของร่างกาย เป็นปราการด่านแรกในการเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ดูดี ดังนั้นทุกคนจึงพยายามดูแลรักษาใบหน้าของตนเองให้สดใสสวยงาม แต่หากใครบางคนมีใบหน้าอยู่ในสภาวะ "กระตุก"คงทำให้เกิดความรู้สึกขาดความมั่นใจไม่น้อย
พันเอก นายแพทย์ สิรรุจน์ สกุลณะมรรคา ประสาทศัลยแพทย์ รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดใบหน้ากระตุกให้ฟังว่า อาการใบหน้ากระตุก ส่วนใหญ่มักเป็นข้างเดียว และส่วนที่กระตุกจะอยู่นอกเหนือการ ควบคุม บางครั้งก็เห็นได้ชัด บางครั้งมองไม่เห็นเพียงแค่เจ้าตัวรู้สึกเท่านั้น มีทั้งแบบที่เป็นชั่วคราวแล้วหายเอง และแบบที่เป็นถาวร พบได้ทั้งหญิงและชาย แต่จะพบในผู้หญิงมากกว่า โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 40-70 ปี

ลักษณะของใบหน้ากระตุก คือ การที่กล้ามเนื้อ ที่ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งเกิดอาการกระตุกนอกเหนือการควบคุม โดยอาการแรกเริ่มจะเริ่มจากการกระตุกของใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งเพียงเล็กน้อยก่อน เริ่มจากที่เปลือกตาด้านล่างก่อน แล้วกระจายมาที่เปลือกตาด้านบน จากนั้นจะลามมาที่แก้มและมุมปาก ในบางครั้งเป็นมากขึ้นอาจจะลามไปถึงคอได้ หรือในบางรายอาจจะไม่ได้เรียงลำดับการเกิดอย่างที่กล่าวมาก็ได้

"ใบหน้ากระตุก เป็นโรคที่ส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดแดงในสมองบริเวณแถบก้านสมองเกิดการคดงอเนื่องจากอายุที่มากขึ้น จึงทำให้หลอดเลือดมีการแข็งตัว หลอดเลือดที่คดงอนี้จะไปสัมผัสกับเส้นประสาทที่มาควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ซึ่งเป็นเส้นประสาทสมอง คู่ที่ 7 ที่อยู่ติดกับก้านสมอง

เมื่อเส้นเลือดเต้นตามจังหวะหัวใจ หลอดเลือดจะกระแทกเส้นประสาทนี้ทำให้เส้นประสาทส่งกระแสประสาทนอกเหนือการสั่งของสมอง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก ในด้านนั้นเกิดอาการเขม่น กระตุกอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้"


โรคนี้ไม่ได้ทำได้เกิดการเป็นอัมพาต และอัมพฤกษ์ รวมทั้งไม่ได้เป็นโรคอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด แต่อาจจะทำให้ผู้ที่เป็นเกิดความรำคาญ เสียบุคลิก รบกวนการทำงานในชีวิตประจำวัน เมื่อมาตรวจ แพทย์จะซักประวัติเพื่อแยกโรคใบหน้ากระตุกออกจากกลุ่มที่เป็นโรคนอกเหนือจากหลอดเลือดที่ไปสัมผัส หรือกระตุ้นเส้นประสาทคู่ที่ 7 เช่น โรคเนื้องอกในสมอง โรคเนื้องอกบริเวณก้านสมอง โรคเปลือกตากระตุก หรือกล้ามเนื้อเปลือกตาเขม่น เพราะสาเหตุและปัจจัยในการเกิดโรคแตกต่างกัน โดยเริ่มจากการให้ยาไปทาน ถ้าทานยาแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ แพทย์จะทำการเอกซเรย์ เอ็ม อาร์ ไอ สมองเพื่อแยกโรค

สำหรับโรคที่คล้าย ๆ กัน ได้แก่ เปลือกตาเขม่น ซึ่งมีปัจจัยภายนอกกระตุ้นได้หลายปัจจัย เช่น ร่างกายอ่อนล้า เครียด มีภาวะการอดนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมทั้ง การใช้สายตามากเกินไป ดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนมากไป จะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดอาการได้ โดยโรคสามารถหายเองได้ เมื่อตัดปัจจัยกระตุ้น

โรคใบหน้ากระตุก เมื่อเป็นแล้ว การรักษาสามารถทำได้ 3 วิธีด้วยกัน เริ่มจาก การรักษาด้วยยา โดยใช้ยาชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งยาที่รักษาได้ผลดีจะเป็น กลุ่มยากันชัก รวมทั้งยากดการทำงานของเส้นประสาท เพื่อลดการส่งกระแสที่ผิดปกติ ซึ่งอาจจะมีฤทธิ์ข้างเคียงที่พบบ่อย คือ ทำให้ง่วงนอนได้

"ผู้ป่วยจะต้องทานยาไปเรื่อย ๆ เพื่อลดอาการจนกระทั่งดีขึ้น มีอาการใบหน้ากระตุกน้อยลง สำหรับปริมาณยาที่แพทย์จะให้กับผู้ป่วย นั้น จะเริ่มให้จากปริมาณ น้อยก่อน จากนั้นจะเพิ่มยาขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงในระดับที่สามารถควบคุมโรคได้ หรือ บางรายอาจจะต้องเพิ่มยามากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป"

การรักษาอีกวิธีหนึ่ง คือ การฉีดยาเฉพาะที่ เพื่อระงับการแพร่กระจายของกระแสประสาทที่ไปสู่กล้ามเนื้อ เป็นการยับยั้งกล้ามเนื้อกระตุก วคราว ซึ่งเป็นยาชนิดเดียวกันกับยาที่ฉีดให้หน้าตึง การฉีดยาลบรอยย่นหรือลดการเกร็งแขน ขา โดยระยะเวลาในการฉีดจะห่างกันประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งการฉีดในแต่ละครั้งจะต้องฉีดหลายจุด ตามตำแหน่งที่มีการกระตุก การรักษาด้วยการฉีดยา มีข้อจำกัดอยู่ที่ หากมีการฉีดยามากเกินไป ก็อาจทำให้หน้าเบี้ยว หนังตาตกได้ รวมทั้งมีค่าใช้จ่าย ในการรักษาที่ค่อนข้างสูง


สุดท้ายของการรักษาโรคใบหน้ากระตุก คือ การผ่าตัดสมอง เป็นการรักษาเพื่อเขี่ยหลอดเลือดที่สัมผัสกับเส้นประสาทออก โดยจะทำการผ่าตัดที่บริเวณหลังใบหู การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการแก้ไขที่ตรงจุดและถาวร แต่ ผู้ป่วยที่เป็นมักรู้สึกไม่ดีกับการผ่าตัด และอาจมีความเสี่ยงเหมือนการผ่าตัดสมองทั่ว ๆ ไป เช่น มีเลือดออกหลังผ่าตัด แผลติดเชื้อ การ ได้ยินลดลง เพราะทำการผ่าตัดที่บริเวณใกล้เส้นประสาทหู โดยรวมอาการแทรกซ้อนพบได้ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม อัตราการหายขาดเป็นที่น่าพอใจมาก อยู่ที่ประมาณ 70-90 เปอร์เซ็นต์

การดูแลตัวเองสามารถทำได้โดยหากพบว่าตนเองมีอาการในลักษณะเช่นนี้ควรรีบพบแพทย์ ประการแรก คือ มี การเขม่นของใบหน้า หรือตา เป็นเวลาติดต่อกันมากกว่า 1-3 สัปดาห์ ประการต่อมา ใบหน้า ตา กระตุกหรือเขม่น ร่วมกับอาการผิดปกติทางระบบประสาทอื่น เช่น หนังตาบน หนังตาล่าง แก้ม ใบหน้าชาหรือแสบ ใบหน้าเบี้ยว หนังตาตก ใบหน้าเคลื่อนไหวผิดปกติ บิดเบี้ยว รวมทั้งมีการกระตุกของส่วนอื่นในร่างกายร่วมด้วย ตลอดจน อาการที่มีลักษณะเปลือกตาปิดสนิทเมื่อมีอาการตาเขม่น รวมทั้ง ใบหน้า หรือตากระตุก หรือเขม่น ร่วมกับตาบวมแดง

ถ้ามีอาการใบหน้ากระตุกอย่าตกใจ ต้องทำการแยกโรคก่อนเป็นลำดับแรก ว่าเราจัดอยู่ในกลุ่มโรคใด เพื่อจะได้รักษาอย่างถูกต้อง แม้จะเป็นโรคที่ต้องใช้เวลาในการรักษา อาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ป่วยได้ แม้ไม่ใช่โรคที่อันตรายร้ายแรง แต่ก็ ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะการแพทย์ในปัจจุบันสามารถรักษาได้ โดยที่ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้หลังจากการรักษา.
สรรหามาบอก
- สำนักเสริมศึกษาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเชิญผู้สนใจรับฟังบรรยายความรู้ด้านสุขภาพ เรื่อง "มะเร็งตับ ทางเดินถุงน้ำดีและอาการหอบเหนื่อย" โดยคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน วันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2552 เวลา 10.00-15.00 น. ณ อาคารวิทยาลัยนวัตกรรมชั้น 5 ห้อง 513 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ กท. สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2613-3822-5, 0-2623-5072

- โรงพยาบาลพญาไท 2 ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการรณรงค์การให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอในปี 2552 เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดในประเทศกลุ่มเสี่ยงจากการแพร่เชื้อโปลิโอกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองของเด็กให้เห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์จากการรับวัคซีน โดยทางโรงพยาบาลพญาไท 2 จะจัดให้บริการหยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอฟรี !! ที่ศูนย์สุขภาพเด็กชั้น 2 อาคาร 2 ครั้งที่ 1 วันพุธที่ 23 ธันวาคม 2552 และครั้งที่ 2 วันพุธที่ 27 มกราคม 2553 ผู้ปกครองสนใจสอบถามรายละเอียดได้ ที่กุมารแพทย์และพยาบาล ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2 โทร. 1772

- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
จัดสัญจรมอบบริการตรวจสุขภาพฟรี พร้อมเชิญชวนผู้ที่รักสุขภาพ โดยเฉพาะผู้สูงวัยร่วมงาน "สุขภาพดีเพื่อการท่องเที่ยว..สัญจร" หนึ่งในกิจกรรมเพื่อสุขภาพภายใต้โครงการ "โบนัสแห่งวัย ปี 3" โดยภายในงานจะมีการจัดกิจกรรมแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ อาทิ โซนฟิตร่างกายให้พร้อมก่อนเดินทาง โซนเที่ยวแบบผู้สูงวัย ฯลฯ ใน วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2552 ณ สวนรมณีนาถ บริเวณลานเต้นแอโรบิก ประตูด้านถนนมหาไชย และ วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม 2552 ณ สวนหลวง ร.9 บริเวณลานออกกำลังกาย ข้างสวนกล ประตูมณฑารพ ทางเข้าด้านเสรีเซ็นเตอร์ ตั้งแต่เวลา 06.00-10.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย 1672 หรือ 0-2652-0777-80 ต่อ 109.

เคล็ดลับสุขภาพดี
แนะเทคนิคช่วยบรรเทาอาการ 'เมารถ'

เทศกาลปีใหม่นี้เชื่อว่าหลายคนคงมีเป้าหมายคล้าย ๆ กัน นั่นคือ การเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนา โดยจุดหมายปลายทางนั้น บางคนอาจอยู่ใกล้ หรือบางคนอยู่แสนไกลต้องอาศัยยวดยานพาหนะ ไม่ว่า จะเป็นรถ เรือ เครื่องบิน จนบางครั้งทำให้เกิดอาการเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า วิงเวียนศีรษะ วันนี้เคล็ดลับสุขภาพดีมีเทคนิคการป้องกันและแก้ไขอาการวิงเวียน เมารถ เมาเรือ มาแนะนำกันค่ะ

อาการเมารถเกิดจากขณะเคลื่อนไหวสมองเกิดความสับสน ประสาทหลอน (Hallucination) เนื่องจากข้อมูลที่รายงานเข้ามาจากหูและตาไม่สอดคล้องกับข้อมูลจากอวัยวะคุมการทรงตัวของร่างกาย (Balancing organ) ที่อยู่ในหูชั้นใน ถ้าหยุดการเคลื่อนไหวอาการเมาก็จะค่อย ๆ หายไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
หัวหน้าศูนย์สุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท 2 แนะนำเทคนิคในการช่วยบรรเทาอาการเมายานพาหนะว่า เริ่มจากการป้องกันก่อนคือ ก่อนเดินทางอย่ารับประทานอาหารให้อิ่มจนเต็มท้องเพราะถ้ามีของเต็มกระเพาะจะมีแนวโน้มที่จะอาเจียนออกมาง่าย โดยเฉพาะของมันหรือเลี่ยนเพราะย่อยยากค้างอยู่ในกระเพาะนานจะทำให้อาเจียนได้และควรขับถ่ายให้เรียบร้อยเพราะการอั้นอุจจาระขณะเดินทางจะทำให้ลำไส้ทำงานผิดปกติ

การนั่งรถควรเลือกนั่งรถแถวหน้า ๆ หันหน้าไปทางหน้ารถ เพราะการนั่งหน้ารถและมองไปข้างหน้าจะทำให้ตาและหูของเรารับรู้การเคลื่อนไหวของรถไปพร้อม ๆ กับอวัยวะควบคุมการทรงตัวที่หูชั้นในจึงมีโอกาสเมาน้อยกว่า และอย่าอ่านหนังสือหรือตั้งใจมองอะไรที่เป็นของเล็ก ๆ เขย่า ๆ หรือเคลื่อนไหวบนรถ เพราะการเคลื่อนไหวของตัวเรากับวัสดุในรถจะไม่ไปด้วยกันทำให้สมองสับสนถึงตำแหน่งที่แท้จริงของตัวเอง

นอกจากนี้ การมองไปไกล ๆ จับเส้นขอบฟ้าไว้เป็นครั้งคราวเพื่อให้สมองมั่นใจว่าอะไรอยู่บน อะไรอยู่ล่าง อะไรอยู่ซ้าย อะไรอยู่ขวา ขณะที่รถหรือยานพาหนะเคลื่อนไหววนไปมา ต้องมองหาอะไรที่ไกล ๆ และนิ่ง ๆ และรู้ตัวว่าเรากำลังเคลื่อนไหวไปขณะที่จุดนั้นนิ่งเพื่อ ให้สมองทราบสถานะและตำแหน่งของตัวเองถูกต้องก็จะไม่มีอาการเมาเกิดขึ้น สำหรับใครต้องการจะใช้ยาในการป้องกันอาการเมารถนั้น ควรรับประทานก่อนออกเดินทางครึ่งชั่วโมง เช่น ยาแอนตี้ฮิสตามีน ชื่อ ดรามามีน จำนวน 1 เม็ด ยาชนิดนี้จะทำให้มีอาการง่วงได้หรือใช้แผ่นปลาสเตอร์แปะแก้เมา ชื่อ ทรานส เดิร์ม สค็อป แปะไว้ที่หลังหูล่วงหน้าก่อนเดินทาง 2-3 ชั่วโมงขึ้นไป ยานี้มีฤทธิ์ป้องกันได้นาน 72 ชั่วโมง แต่หากป้องกันแล้วหรือไม่ได้ป้องกัน มีอาการท้องไส้ปั่นป่วนมาก การดื่มน้ำอัดลมในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยบรรเทาได้

หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ การสูดหายใจลึก ๆ รับลมเย็น ๆ หรือใช้ผ้าเย็นเช็ดหน้าผากและใบหน้าจะช่วยลดอาการได้ นอกจากนี้ควรพกยาดม ยาลม ยาหอมและกลิ่นสมุนไพรไว้สูดดมแก้อาการวิงเวียนหรืออาจจะ ใช้กลิ่นเปลือกส้มเขียวหวาน บีบเปลือกให้แตกพ่นกลิ่นออกมาเพื่อสูดดมก็ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้า มีอาการแย่ไม่ไหวจริง ๆ ให้นอนลงแล้วหลับตาเพื่อปิดการส่งสัญญาณภาพเข้าสมองเป็นการลดความสับสนให้สมองได้รับสัญญาณจากอวัยวะคุมการทรงตัวที่อยู่ที่หูชั้นในเพียงอย่างเดียว อาการจะดีขึ้น ถ้าม่อยหลับไปจริง ๆ จะยิ่งดี เพราะขณะนอนหลับสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายจะปิดรับสัญญาณเข้าใด ๆ ความสับสนที่สัญญาณขัดแย้งกันไม่มี อาการเมาก็จะหายไปเอง

ทราบเทคนิคกันหลากหลายวิธีเช่นนี้แล้วหวังว่าผู้อ่านจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หากมีอาการเมารถหรือยานพาหนะอื่น ๆ เพื่อจะได้ท่องเที่ยวอย่างสนุกสนานในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ และขอให้เดินทางโดยปลอดภัยนะคะ.
มีความสุข
ทุกครั้งที่เป็นตัวของตัวเอง

===== ได้เวลาวิ่ง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่ =====                                       ===== ได้เวลาวิ่ง กลิ้งนะกลิ้งนะแฮมทาโร่ =====