โดย : รอบรู้สุขภาพ: ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
หวัดใหญ่ 2009 เช่นเดียวกับโรคซาร์สเป็นตัวอย่างอันดี โดยที่ซาร์สแพร่จากค้างคาวสู่สัตว์ป่ามายังคน ในขณะที่หวัด 2009 มาจากหมู ซึ่งรวมสายพันธุ์หวัดจากนก หมู คน เข้าด้วยกันจากแหล่งต่างๆ ทั้งทวีปอเมริกา เอเชีย และยุโรป จนได้สายพันธุ์ใหม่ติดกันจากคนสู่คนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ความหายนะต่อไปขึ้นกับการที่จะมีระลอก 2-3-4 หรือไม่ ภายในตั้งแต่ 2 เดือน-1 ปี ดังที่เกิดมาแล้วในไข้หวัดสเปน เอเชีย ฮ่องกง โดยระลอกหลังเกิดในฤดูหนาวหรือร้อนก็ได้ และมักมีอัตราความรุนแรงต้องเข้าโรงพยาบาลจนเสียชีวิตมากกว่าระลอกแรก หวัดใหญ่ 2009 มียีน PB2 PB1 PA HA NP และ NS จากหวัดหมูลูกผสมอเมริกาเหนือ (คน-หมู-นก) ในขณะที่ยีน NA และ MP มาจากหวัดหมูยุโรปและเอเชีย ยีน PB2 และ PA มาจากนก และ PB1 มาจากคน
แต่อย่างไรก็ตาม จนบัดนี้ยังไม่ทราบว่าส่วนใดของยีนของหวัดหมู 2009 ที่เป็นตัวกำหนดความรุนแรง รวมทั้งความสามารถที่รุกล้ำทำลายเนื้อปอดที่อยู่ลึกๆ ได้มากกว่าหวัดใหญ่ตามฤดูกาล ตามปกติยีนที่กำหนดความรุนแรงที่พบใน 3 ยีนของไข้หวัดนก และหวัดใหญ่ก็ไม่พบในหวัดหมู ทั้งๆ ที่หวัดหมูรุนแรงกว่าหวัดใหญ่ธรรมดาด้วยซ้ำ ดังนั้น ขณะที่หวัดหมูที่มีการเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมไปเรื่อยๆ จะไม่มีทางบอกจากรหัสพันธุกรรมอย่างเดียวได้ว่าจะเกิดรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่
การทดสอบรหัสพันธุกรรม ต้องถอดรหัสจากกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเป็นพิเศษ และนำข้อมูลรหัสมาเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่รุนแรงมาก นอกจากนั้น อาจเป็นการยากที่จะอธิบายว่าทำไมประชากรในประเทศหนึ่ง จึงมีผู้ป่วยล้มตายมากกว่าประเทศใกล้เคียง ดังในประเทศนอร์เวย์ (ประชากร 4.8 ล้านคน) มีผู้เสียชีวิตแล้ว 15 ราย จนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน และมากกว่าประเทศใกล้เคียง
ทั้งนี้ นอร์เวย์ล้มตายจากหวัดสเปน (H1N1) ไป 28,574 ราย จากที่มีติดเชื้อและมีอาการป่วย 2 ล้านคน (45% ของประชากรทั้งหมด) และตายอีก 2,632 ราย จากหวัดเอเชีย (H2N2) จากที่มีประชากรประมาณ 30-80% ที่ติดเชื้อ และตาย 3,291 ราย จากหวัดฮ่องกง (H3N2) (คิดเป็น 15-40%) และไม่มีรายงานเสียชีวิตเลย จากหวัดรัสเซีย (H2N2) จากผู้ติดเชื้อ 400,000 ราย
ในขณะนี้ นอร์เวย์วางแผนที่จะให้วัคซีนทุกคนในประเทศเหมือนกับในสหรัฐ โดยสหรัฐจะให้ทั้งวัคซีนเชื้อตาย (ครอบคลุมอายุ 6 เดือนถึง 65 ปี) และวัคซีนเชื้อเป็น (จาก 2 ขวบถึง 49 ปี) โดยที่วัคซีนเชื้อเป็นที่พ่นทางจมูก ห้ามให้ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ และผู้ใหญ่แก่กว่า 50 ปี ผู้หญิงท้อง ผู้มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ มีโรคประจำตัว หัวใจ ปอด หอบหืด ตับ ไต เบาหวาน โลหิตจาง โรคเลือดต่างๆ รวมทั้งผู้ใกล้ชิดกับผู้ที่มีภูมิอ่อนแอ และห้ามให้ในเด็กเล็ก หรือเด็กโตที่ต้องรับประทานแอสไพรินเป็นประจำ
วัคซีนหวัด 2009 ในประเทศไทยจะเข้ามาในเดือนธันวาคม มกราคม เป็นเชื้อตาย เป็นจำนวน 2.8 ล้านโด๊ส ดังนั้น อาจจะให้แบบสหรัฐไม่ได้ที่ตั้งเป้าครอบคลุมคนทั้งประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ผู้หญิงท้อง ผู้ที่ต้องดูแลเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน (เนื่องจากเด็กเล็กกว่า 6 เดือน ให้วัคซีนไม่ได้) บุคลากรสาธารณสุขที่ต้องดูแลผู้ป่วย ประชากรตั้งแต่อายุ 6 เดือนถึง 24 ปี เนื่องจากกลุ่มนี้ พบว่าเป็นกลุ่มที่แพร่โรคได้เก่ง (Super spreader) ทั้งจากพฤติกรรมรวมอยู่เป็นกลุ่มหมู่ มีกิจกรรมร่วมในสังคม และจากการที่เกิดโรคได้ง่าย และเป็นหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลและแพร่ไวรัสได้เก่ง ซึ่งแตกต่างจากหวัดใหญ่ฤดูกาลอย่างชัดเจน และกลุ่มต่อไป คือ อายุ 25 จนถึง 64 ปี ที่มีโรคประจำตัว จากนั้นจะให้ทุกกลุ่มจนหมดประเทศ รวมถึงที่แก่กว่า 65 ปี โดยที่กลุ่มหลังนี้พบว่ามีภูมิต้านทานอยู่แล้วบ้าง ในประเทศไทย 2.8 ล้านโด๊ส อาจไม่ครบที่จะครอบคลุมกลุ่ม Super spreader ได้หมด คงจะคลุมได้บ้างบางส่วนของกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรครุนแรง และบุคลากรทางการแพทย์
ยกเว้นแต่วัคซีนเชื้อเป็นที่ประเทศไทยทำเองว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่ก็มีข้อจำกัด โดยวัคซีนเชื้อเป็นต้องใช้ในคนที่ไม่มีความเสี่ยงเท่านั้น และไม่มีโรคประจำตัว ที่น่ากังวลคือ เด็กโตและวัยทำงานที่ไม่มีโรคประจำตัวก็เสียชีวิตได้ไม่ต่ำกว่า 25-30% สำหรับวัคซีนรอบหลังที่จะมาประเทศไทย จะเป็นวัคซีนเชื้อตายที่รวมหวัดหมู หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเข้าด้วยกัน โดยที่จะเข้าประเทศเดือนเมษายน-พฤษภาคม
ดังนั้น จึงต้องเข้มงวดในการรักษาสุขภาพล้างมือ ปิดปากจมูกเวลา ไอ จาม กินร้อนช้อนกลาง ไม่พาตัวเข้าที่แออัด ซ้ำร้ายหวัด 2009 ยังอาจวกกลับไปหมูจากคนที่ติดเชื้อและหมูอาจไม่มีอาการใดๆ โดยหมูยังสามารถเพาะบ่มไวรัสหวัดใหญ่จากสายหวัดนก คน เข้าด้วยกัน และอาจเกิดดื้อยาหรือร้ายกาจขึ้นในปี 2002 เชื่อกันว่า หวัดใหญ่ตามฤดูกาล H1N1 ไม่ควรต้องกังวลกับการที่เชื้อจะดื้อยา Oseltamivir เพราะแม้ดื้อยาก็ไม่เก่งในการติดต่อสู่คนอื่นๆ หรือทำให้เกิดโรครุนแรง แต่แล้วในปี 2007 -2008 หวัดใหญ่ H1N1 ที่ดื้อยาเหล่านี้ ก็แพร่กระจายและก่อโรครุนแรงได้ การดื้อยา Oseltamivir นั้น แม้จะเกิดตามการใช้ยามากในกลุ่มประชากรหนึ่ง แต่ในประเทศนอร์เวย์ ซึ่งมีการใช้ยาอย่างจำกัด พบการดื้อยาถึง 67.3% ในช่วง 2007-2008 ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2009 ประเทศนอร์เวย์ รายงานว่าไวรัส 2009 มีการกลายพันธุ์ในผู้ป่วย 3 ราย (จากการตรวจประมาณ 70 ราย) โดย 2 รายเสียชีวิต และอีก 1 รายอาการหนัก แต่ทางการนอร์เวย์ปฏิเสธว่าการกลายพันธุ์ดังกล่าวไม่มีผลต่อการดื้อยาหรือต่อวัคซีน
ดังนั้น ความรุนแรงและการดื้อยาอาจมีปัจจัยส่งเสริมหลายอย่าง รวมทั้งจากที่มีการติดเชื้อในผู้ป่วยที่มีภูมิอ่อนแอ ซึ่งจะทำให้มีการปลดปล่อยไวรัสได้นานขึ้นและดื้อยาได้มากขึ้น การผ่าเหล่าตำแหน่ง H274Y จะมีผลต่อการดื้อยา Oseltamivir ของไวรัสที่มี Neuraminidase กลุ่ม 1 (N1,N4,N5,N8) มากกว่าไวรัสกลุ่ม 2 (N2,N3,N6,N7,N9) ดังนั้น หวัดนก H5N1 ก็มีโอกาสดื้อยาได้เช่นกัน และยิ่งถ้าหวัดนกรวมกับหวัดหมู 2009 อาจจะซ้ำร้ายมากขึ้น
รายงานจากอังกฤษ (20 พ.ย. 2009) มีการแพร่หวัด 2009 ซึ่งดื้อยา Oseltamivir จากผู้ป่วยสู่ผู้ป่วยอีก 5 รายด้วยกันและเกิดโรค โดยที่ผู้ป่วยเหล่านี้มีโรคประจำตัวและมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยที่ก่อนหน้าที่ยังไม่เคยมีรายงานปรากฏอย่างชัดเจนมาก่อน ทั้งนี้ 2 รายหายแล้ว อีก 1 รายอาการหนัก และ 2 รายสุดท้ายยังอยู่ในการรักษา เหตุการณ์นี้เน้นถึงการให้ความสำคัญกับบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งติดเชื้อได้ง่าย และกว่าจะหายใช้เวลานาน และนอกจากจะแพร่เชื้อได้นานกว่าธรรมดาแล้ว โอกาสที่จะก่อให้เกิดไวรัสดื้อยาก็มากขึ้น และยังถ่ายทอดเชื้อที่ดื้อยาสู่คนอื่น และเกิดอาการรุนแรงได้
ปี 2010 ภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วม น้ำขัง อากาศแปรปรวน น่าจะเกิดมากขึ้นเป็นทวีคูณ มีการขยาย การอพยพของสัตว์ต่างๆ เข้าหาที่ปลอดภัยกว่า รวมทั้งสัตว์ฟันแทะ หนู จนถึงค้างคาว นก สัตว์เหล่านี้เป็นพาหะที่ดีของไวรัสต่างๆ โดยแพร่เชื้อกันเองหรือต่อสัตว์ คน โดยตรงหรือผ่านทาง ยุง ไร ริ้น เห็บ ปี 2010 เป็นปีที่ควรจับตาโรคสมองอักเสบ โดยที่ 49% ของไวรัส RNA ที่ทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ก่อให้เกิดสมองอักเสบ
ไวรัสชานดิปุระ (Chandipura) นำจากริ้นฝอยทราย โดยมีตัวซ่องสุมโรคในวัว ควาย ระบาดในอินเดียระลอกแล้วระลอกเล่าจากปี 2003 (ตาย 183 ราย จากผู้ป่วย 329 ราย) ระหว่างปี 2005-2006 (ตาย 49 ราย จาก 90 ราย)
หลังจากนั้น ยังมีประปรายอยู่เรื่อยๆ ทั้งนี้ สมองอักเสบจากชานดิปุระก็จะมาปะทะกับสมองอักเสบจากค้างคาวที่ระบาดต่อเนื่อง จากมาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย บังกลาเทศ ตั้งแต่ปี 1998 จนปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นสมองอักเสบ ทั้งที่มีปอดบวมร่วมหรือไม่ก็ตาม 475 ราย เสียชีวิต 247 ราย ทั้งนี้จะมีการแพร่ได้จากค้างคาวมาหมู และหมูมาคน หรือจากค้างคาวมาคน และคนแพร่สู่คนด้วยกันจากไอ จามรดกัน ติดทางฝอย น้ำลาย เสมหะ หรือแม้แต่การหายใจ
เพราะฉะนั้นสำคัญที่สุด คือ การรักษาสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล และถ้ามีอาการป่วยถ้าไม่รุนแรงควรอยู่กับบ้าน และระวังการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นที่มา:ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน fmedthm@gmail.com