ผู้เขียน หัวข้อ: ปวดเมื่อย...นั่งผิดหลักหักโหมงาน สัญญาณอันตราย ออฟฟิศซินโดรม  (อ่าน 1476 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Plusz

  • กล่องแก้วแจ้วเจรจา
  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • *
  • กระทู้: 1555
  • พลังกัลยาณมิตร 376
  • Love yourself cuz no one will
    • extionary
    • Plusz009
    • ดูรายละเอียด

 
เมื่อเอ่ยถึงโรค ออฟฟิศ ซินโดรม หลายคนคงคิ้วชนกัน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมที่อยู่ใกล้ตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทำงานในออฟฟิศ ที่แสดงอาการออกมาด้วยการปวดเมื่อยอวัยวะต่างๆ ทั้ง ไหล่ บ่า แขน ขา เอว ต้นคอ รวมทั้งอาการกล้ามเนื้ออักเสบ

นพ.มนต์ทณัฐ โรจนาศรีรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไคโรแพรคติก อธิบายถึงอาการปวดทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้นว่า โดยปกติลักษณะโครงสร้างของคนเรา ถ้าดูจากทางด้านหน้า ศีรษะ ไหล่ เอว เข่า ข้อเท้าด้านซ้ายและขวา จะต้องมีความสมดุลเท่ากัน หากมองจากด้านข้าง สิ่งที่จะดู คือ ใบหู ไหล่ ลำตัว เอว เข่า และข้อเท้า โดยทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ก็จะต้องมีความสมดุลเท่ากัน

ตามหลักการโครงสร้างคนเราไม่สามารถที่จะพยุงตนเองอยู่ได้ด้วยกระดูกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยในส่วนของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยึด เพื่อพยุงโครงสร้างของร่างกายให้อยู่ในแนวระดับปกติที่ถูกต้อง ซึ่งมาตรฐานของโครงสร้างคนเรามีลักษณะไม่แตกต่างกัน ถ้าโครงสร้างอยู่ในแนวระดับที่ผิดนั้นหมายถึงมีความผิดปกติเกิดขึ้น

"เมื่อมองดูแนวของกระดูกสันหลัง ด้านหน้าจะต้องเรียงตัวในแนวระดับตรง หากมองด้านข้างจะเห็นเป็นคลื่นอยู่ 4 คลื่น คือ ต้นคอ หลังตอนบน เอว และหลังตอนล่าง แต่ละช่วงจะมีการเว้าอยู่ที่ 63 องศา หรือบวก ลบ ไม่เกิน 5 นั่นคือ ลักษณะ โครงสร้างของกระดูกที่สมดุลและเท่ากัน

เมื่อไรก็ตามที่แนวโครงสร้างจุดใดจุดหนึ่งมีปัญหา ร่างกายของคนเราจะมีการปรับแนวโครงสร้างเข้าสู่ความสมดุล ให้ได้ เช่น ถ้าเรามีแนวของหลังที่แอ่นมากกว่าปกติ สิ่งที่จะตามมา คือ หลังตอนบนจะค่อมมากกว่าปกติ เพื่อให้ได้สมดุลซึ่งกันและกัน"

โครงสร้างที่สูญเสียความสมดุลที่ถูกต้องไป สิ่งที่เกิดขึ้น คือ จะมีภาวะการทำงานที่มากเกินไปของตัวข้อเกิดขึ้น ข้อจะแบกภาระน้ำหนักมากขึ้น รวมทั้งเรื่องของการทำงานที่หนักเกินไปตลอดเวลาของกล้ามเนื้อ ที่จะต้องพยุงน้ำหนักที่ถูกถ่วง หรือตกไปอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติเป็นเวลานาน ทั้ง 2 ลักษณะนี้ เมื่อนานวันเข้าการทำงานหนักเกินไปจะก่อให้เกิดการเสื่อมสภาพของโครงสร้างกระดูก


โดยส่วนใหญ่ ถ้าพูดถึงลักษณะการทำงานที่ผิดปกติ ลักษณะท่าทางความผิดปกติของคนเราไม่ว่าจะเป็น ท่านั่ง ท่ายืน ท่าเดิน ท่านอน การก้ม การหยิบของที่สูง ที่ทำให้โครงสร้างผิดจากสมดุลซึ่งจะกระทบในส่วนแรก คือ การขยับในตัวข้อ ต่อมาคือกล้ามเนื้อที่มีภาวะหดเกร็งมากเกินไป

ฉะนั้น กล้ามเนื้อที่ผิดปกติจะเกิดขึ้นใน 2 ลักษณะ คือ ใช้มากเกินไปกับไม่ได้ใช้ ซึ่งจะส่งผลในรูปของอาการปวดเป็นอาการแรกที่แสดงออกมา หากเพิกเฉย โดยที่ไม่มีการดูแลรักษา อาการปวดในส่วนนั้นจะพัฒนามากขึ้น คือ เป็นบ่อยขึ้น

ในส่วนของแนวโครงสร้างถ้ามีการพลิกอยู่ในท่าที่ผิดรูปอยู่เรื่อยๆ บ่อยครั้ง การขยับของตัวข้อก็จะผิดปกติตามไปด้วย เมื่อไรที่ตัวข้อมีความผิดปกติจะส่งผลให้เกิดการเสื่อมสภาพของตัวข้อเกิดขึ้น ข้อจะสูญเสียความมั่นคงและความแข็งแรง ผิวเปลือกนอกของตัวข้อ นานวันเข้าก็จะส่งผลในเรื่องของข้อกระดูกเสื่อม

โรค ออฟฟิศ ซินโดรม เกิดจากการที่ร่างกายทำท่าเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานานทั้งวันและทุกวัน ซึ่งการปฏิบัติหรือมีพฤติกรรมอย่างนี้ทำให้เกิดสภาวะการทำงานหนักเกินไปขึ้นกับร่างกาย เพราะการอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ทุกวัน ทำให้โครงสร้างร่างกายซึ่งก็คือโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อจะถูกฝืน แต่สภาพร่างกายของคนเราสามารถเรียนรู้ที่จะปรับไปตามการใช้งานเสมอ ดังนั้น โครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อจะค่อยๆ พัฒนาตัวเองเพื่อรองรับการใช้งานนั้นๆ ให้ง่ายที่สุด จนเมื่อนานเข้า โครงสร้างส่วนนั้นจะอยู่ผิดรูปในที่สุด และส่งผลให้กล้ามเนื้อและกระดูกส่วนนั้นจะต้องทำงานหนักตลอดเวลาจนเกิดสภาวะที่ทำงานหนักเกินไป

เห็นได้ชัดคือ คนที่นั่งทำงานในออฟฟิศที่ต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานนานๆ มักจะห่อไหล่ นั่งหลังโกง และหลายคนมักจะโน้มตัวไปจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ กระดูกและกล้ามเนื้อของไหล่ หลัง และคอก็จะค่อยๆ พัฒนาตัวเอง คือ กระดูกไหล่จะห่อเข้ามา กระดูกหลังจะงอ กระดูกคอจะยื่นไปข้างหน้าแบบถาวรเพื่อให้รองรับกับการใช้งานที่เราต้องการได้อย่างสะดวก นานวันเข้าก็จะอยู่ผิดรูป และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อจะเสียสมดุล รวมทั้งกระดูกและกล้ามเนื้อส่วนเหล่านั้นจะต้องทำงานหนักตลอดเวลา หากทิ้งไว้นานๆ อาจนำไปสู่ภาวะกระดูกเสื่อมจนขยับร่างกายส่วนนั้นไม่ได้สะดวก หรือในที่สุดมีการพัฒนาจนเป็นเรื่องโรคข้อกระดูกเสื่อมได้

เมื่อมีอาการเหล่านี้ การพบหมอตั้งแต่เนิ่นๆ คือวิธีที่ดีที่สุด หากมีอาการไม่มากนักการรักษาทำได้โดยการฟื้นฟูกลไกการทำงานของร่างกายให้กลับสู่สภาวะปกติ ด้วยการจัดแนวกระดูกสันหลังปรับโครงสร้างร่างกายให้สมดุล ฝึกการบริหารร่างกายที่เหมาะสมเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อต่างๆ ให้ช่วยมาพยุงหรือมาทดแทนในส่วนที่ผิดปกติ แต่ถ้าอาการปวดมีภาวะที่รุนแรง เช่น กระดูกข้อมีการเลื่อนออกจากกัน กล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน ขยับแขนขาไม่ได้ รวมทั้งมีภาวะของระบบประสาทเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ไม่สามารถควบคุมระบบขับถ่ายได้ ถ้าเข้าข่าย ภาวะเหล่านี้การรักษาควรจะเป็นการผ่าตัด

ในแง่ของการฟื้นฟูโดยการจัดปรับโครงสร้างจะเป็นการแก้ปัญหาได้ค่อนข้างดี เพราะมีงานวิจัยพบว่า การจัดปรับโครงสร้าง รวมทั้งการออกกำลังกายอย่างถูกต้อง เป็นวิธีที่ช่วยในเรื่องของการรักษาอาการปวดต่างๆ ทั้ง คอ หลัง ได้ผลดี ไม่ต่างจากการใช้ยา อีกทั้งยังเป็นการรักษาในระยะยาวที่ได้ผลค่อนข้างดีมากด้วย

การป้องกันสามารถทำได้ การดูแลตนเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ เมื่อต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ควรนั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิง เวลานั่งต้องนั่งหลังชิดเบาะ อย่าให้เท้าลอยขึ้นมา ความสูงของโต๊ะกับเก้าอี้ เวลาที่วางแขนควรจะต้องเป็น 90 องศา รวมทั้งเวลานั่ง ช่วงขาท่อนบนกับขาท่อนล่างควรจะเป็น 90 องศา เช่นกัน และควรนั่งทำงานในท่าเดิมๆ ไม่เกิน 1-2 ชม. จะต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ตลอดจนมีการพัฒนาความแข็งแรงของกระดูกและข้อให้ดีขึ้นด้วยการออกกำลังกายให้ถูกต้องเหมาะสม เพราะการออกกำลังกายเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งตรงนี้ต้องทำต่อเนื่องตลอดจึงจะได้ผล


ใส่ใจในสุขภาพ หมั่นสังเกตตัวเองและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาภาวะสมดุลของร่างกายไว้ให้ยั่งยืนตลอดไป
มีความสุข
ทุกครั้งที่เป็นตัวของตัวเอง

===== ได้เวลาวิ่ง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่ =====                                       ===== ได้เวลาวิ่ง กลิ้งนะกลิ้งนะแฮมทาโร่ =====