ผู้เขียน หัวข้อ: จุดประกายเซนในเมืองไทย โดย สุภารัตถะ (๔)  (อ่าน 2414 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


เซนมุ่งปฏิบัติ มหายานมุ่งช่วยเหลือ
โดย สุภารัตถะ
 
ประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทหรือหินยาน โดยแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ ธรรมยุตินิกาย และมหานิกาย มีทางสายเอกเป็นหัวใจของการปฏิบัติคือ สติปัฏฐานสี่ คือ
 
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
และธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

 
แม้จะมีสติปัฏฐานสี่เป็นหัวใจหลักของการปฏิบัติ แต่พุทธบริษัทส่วนใหญ่ก็ใช่ว่าจะจับหลักในการปฏิบัตินี้ได้ ยังคงคุ้นเคยกับประเพณีและรูปแบบพิธีกรรมต่างๆ อีกทั้งมีการพัฒนาพิธีกรรมต่างๆ ให้ดูตระการตา ทันสมัย ยิ่งใหญ่น่าศรัทธา ในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว จนบางครั้งก็กลับหลงกลเข้าไปติดกับเสียเอง กับการไม่กล้าแตะต้องตัวพิธีกรรม ซึ่งแท้จริงก็พัฒนาการมาจากฝีมือมนุษย์เองด้วยความยึดมั่นจนยากจะปล่อยวาง ส่วนพุทธบริษัทบางกลุ่ม อาจไม่สนใจเปลือกนอกเหล่านี้ แต่สนใจการศึกษาอภิธรรมด้านปริยัติ เพลินกับการตีความและติดยึดตัวหนังสือ จนยากต่อการเข้าถึงหัวใจของพุทธได้เช่นกัน ส่วนบางกลุ่มก็มุ่งมั่นฝึกสมาธิ เปรียบได้กับคนที่มีกำลังดี แต่แทนที่จะเอากำลังนั้นไปทำลายกิเลส ก็หลงเอากำลังนั้นมาเสริมกิเลสแทน ชมชอบให้ผู้อื่นยกย่อง มีฌานอภิญญาตั้งตัวเป็นบุคคลสำคัญ เต็มไปด้วยความโลภโกรธหลง
 
จะเห็นได้ว่าคำว่า “สติ” ที่ดูเหมือนจะเข้าใจง่ายแต่กลับทำไม่ง่าย และเพราะการขาดสัมมาทิฏฐิ จึงยากอย่างยิ่งต่อความเข้าใจ และการปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
เช่นกัน พุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งเจริญในเอเชียแถบประเทศ ญี่ปุน เกาหลี เวียดนาม ฯลฯ ก็ยากที่จะหนีปัญหาเหล่านี้ไปได้ ปัญหาที่พุทธศาสนิกชน ยากต่อการเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธ แม้มหายานจะเน้นแนวทางโพธิสัตว์หรือพุทธภูมิ แต่ผู้ที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ได้นั้น จะต้องเข้าใจถึงพุทธภาวะ และการบำเพ็ญบารมีเพื่อความแตกฉานในความรู้ทั้งปวง เพื่อช่วยสรรพสัตว์ให้มากที่สุดเข้าสู่ความจริง ดูจะเป็นการปฏิบัติได้ยากลำบากกว่าอรหันตภูมิของหินยานหลายเท่านัก เพราะผู้ที่หวังพุทธภูมินั้น นอกจากจะต้องเสียสละอดทนอดกลั้น เพียงพอที่จะสอนธรรมให้กับผู้อื่น โดยที่ตัวเองก็ยังต้องอยู่ในหนทางแห่งกองทุกข์แล้ว ยังจะต้องผ่านสถานการณ์อันยากลำบากในการสร้างบารมี เพื่อโพธิญาณในการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไม่มีประมาณ หนทางสายนี้อย่าว่าแต่กลีบกุหลาบเลย แม้แต่ผ้ากระด้างสักผืนที่จะปูรองเส้นทางก็คงหาได้มีไม่ ผู้ที่จะเดินบนเส้นทางสายนี้จึงต้องอาศัย ศรัทธา วิริยะ และขันติ อย่างยิ่งยวด จิตของผู้ที่จะเป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณนั้น เป็นจิตที่ปุถุชนไม่อาจหยั่งได้เลย เพราะเปี่ยมไปด้วยเมตตาและปัญญา อันสุดจะคำนวณวัดได้ แต่ความเจริญในฝ่ายมหายาน ก็ดูจะไม่ต่างจากฝ่ายหินยาน พุทธบริษัทกลับให้ความสนใจแต่การสวดมนต์ อ้อนวอน ร้องขอ ทำให้รูปแบบพิธีกรรม ได้พัฒนาขึ้นหลายรูปแบบเช่นกัน จนผู้ที่ตระหนักถึงจุดหมายหลักในมหายาน ก็คงหาได้ยากที่จะเข้าใจได้จริง
 
ความจริงการนับถือพุทธมหายานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจหมายถึง ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจได้ง่าย เพราะในการช่วยเหลือตัวเองเข้าสู่จิตเดิมของตนอย่างเถรวาท โดยมีพระวินัยและกฏระเบียบเคร่งครัด พุทธบริษัทยังยากจะเข้าใจที่จะปฏิบัติให้ถูก ยังติดอยู่ที่เปลือกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการช่วยเหลือสรรพสัตว์ของโพธิสัตว์อย่างมหายาน ยิ่งยากลำบาก จนจะมีสักกี่คนที่ทำความเข้าใจได้ หลายคนแม้เอ่ยปากว่าตัวเองเป็นพุทธ กลับเอาแต่ร้องขอให้เทพ พรหม พระโพธิสัตว์ หรือพระอรหันต์ ฯลฯ ให้มาช่วยเหลือตนในทางที่ไม่ค่อยสมควรนัก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะมีสักกี่คนเล่า ที่จะรู้ว่า หินยาน มหายาน วัชรยาน สอนอะไรกับเราจริงๆ พระพุทธองค์ต้องเสียเวลาในการศึกษา เพื่อสอนเรื่องเหล่านี้กับพวกเรานานเพียงใด
 
แม้เซนจะถือว่าเป็นหนึ่งในนิกายฝ่ายมหายาน จุดมุ่งหมายอาจคล้ายหินยานในการมุ่งสู่จิตเดิม แต่การปฏิบัตินั้น ไร้รูปแบบ และมีความเป็นอิสระจากกฎเกณท์ต่างๆ อย่างสิ้นเชิง ทำให้หลายคนอาจจะนึกถึงนิกายวัชรยานหรือตันตระ แต่เซนก็เป็นเซน มีเอกลักษณ์ของตนอย่างสมบูรณ์แบบ เราอาจจะรู้สึกว่าหินยานนั้นเคร่งครัดและมีกฎระเบียบ แต่เซนไม่เป็นเช่นนั้น เราอาจจะรู้สึกว่ามหายานช่างงมงายในเทพเซียน และการอ้อนวอนพระโพธิสัตว์ แต่เซนไม่เป็นเช่นนั้น เราอาจจะรู้สึกว่าวัชรยานต้องเปี่ยมไปด้วยปัญญาในภาวะการรู้แจ้ง แต่เซนไม่เป็นเช่นนั้น การปรับตัวให้เรียบง่ายและอยู่รอด เข้าสู่ความจริงตามธรรมชาติ ทำให้เปลือกต่างๆ ของประเพณี พิธีกรรม หรือกฎเกณท์ที่เกิดจากความเชื่อต่างๆ ยากที่จะเข้ามาเกาะยึดอาศัยเซน จนทำให้หักเหคลาดเคลื่อนออกไปจากหัวใจของพุทธะ นี่นับได้ว่าเป็นข้อดีของเซนจริงๆ
 
สรรพสิ่งที่ผ่านกาลเวลา ย่อมถูกริดรอนหรือแต่งเติมไปตามธรรมดา บางส่วนถูกลดทอน บ้างถึงกับสูญหาย บางส่วนถูกแต่งเติม บ้างพอเหลือเค้า หรือถึงกลับแปรเปลี่ยนเป็นของใหม่ แม้ความจริงแท้ของธรรมยังคงอยู่ แต่คำสั่งสอนให้เข้าใจในธรรม ที่ต้องผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน มีหรือจะไม่คลาดเคลื่อน แม้โชคดียังมีคำสอนเป็นต้นฉบับภาษาบาลี แต่การตีความในยุคปัจจุบัน ไปตามภาษาต่างๆ ในแต่ละประเทศที่พุทธศาสนาไปถึงนั้น ก็ต้องอาศัยผู้ทรงภูมิในทางธรรมอย่างสูง แม้แต่แปลออกมาได้ดีแล้ว ก็ยังต้องอาศัยผู้อ่านที่มีความเข้าใจได้แจ่มชัด ไม่ใช่รับรู้ความไปตามความเข้าใจของตน ยิ่งเป็นการจดจำคำต่อคำมากล่าวสอนกัน ทำให้เกิดปัญหาที่ว่า จะมีแต่การกล่าวตู่อ้างในพุทธพจน์ ว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเช่นนั้นเช่นนี้ แต่จะมีสักกี่คน ที่เข้าใจคำสอนโดยไม่เข้าใจไปตามความคิดตน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากนัก เพราะถ้าหากผู้ฟัง ยังยากที่จะวางอัตตาตัวตน ธรรมนั้นเมื่อฟังแล้วเกิดการยึด ปล่อยวางลงไม่ได้ ก็รังแต่จะเป็นการเข้าใจไปในทางอคติ หรือเข้าใจไปตามที่เข้าข้างตนอยู่นั่นเอง โดยเฉพาะพระสูตรหลายพระสูตรของฝ่ายมหายาน หรือแม้แต่พระสูตรในพระไตรปิฎกฝ่ายหินยาน ซึ่งมีข้อธรรมมากมายที่ลึกซึ้ง ยากแก่การเข้าใจ หากครูบาอาจารย์ตีความไม่ถูกแล้ว ก็มีแต่จะเป็นเหตุให้อธิบายข้อธรรมนั้นๆ ไปตามความเข้าใจของตนเสียเอง โดยเหตุนี้นิกายเซน แม้จะมีคัมภีร์ก็ไม่ติดคัมภีร์ แม้จะมีกฎเกณฑ์แต่ก็อยู่เหนือกฎเกณฑ์ การดำรงชีวิตในสังคมย่อมต้องมีกฎเกณท์ แต่การเข้าถึงซึ่งความเข้าใจแท้ ย่อมไม่ยึดติดอยู่กับกฎเกณฑ์ใดๆ
 
หลายท่านอาจกล่าวว่า ตนเป็นหินยาน บ้างเป็นมหายาน บ้างเป็นเซน บ้างเป็นวัชรยาน แต่ผู้ที่เข้าถึงความว่างเปล่าของจิต อาจเป็นผู้ที่ไม่เคยศึกษาธรรมะตามทฤษฎีรูปแบบใดๆ เลยก็ได้ หากเราเห็นท่านที่ศึกษาด้านปริยัติ กลับมีทิฏฐิติดแน่นอยู่กับภูมิความรู้ของตนเสียแล้ว หรือพวกมหายานที่มีจิตใจคับแคบติดยึดกว่าพวกหินยานเสียอีก แบบนี้แล้ว การหลงคัมภีร์หรือทฤษฎี คงเป็นเรื่องน่ากลัวอย่างยิ่ง
 
อาจเป็นเพราะ ภาษามีข้อจำกัดอยู่มากมาย ยากจะอธิบายสัจจะภาวะได้ คำสอนของเซน จึงมุ่งให้ผู้ฟัง เข้าใจก้าวข้ามภาษาออกไป ตีฝ่าความลวงของอัตตา เข้าสู่ความจริงของสุญตา คำสอนส่วนใหญ่จึงมีลักษณะเป็นปริศนาธรรม (โกอาน) ตรึงให้ผู้ฟังขบคิดอย่างไร้ตัวตนเห็นจิตเดิมแท้ อีกทั้งการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย อาศัยแต่สิ่งจำเป็นต่อรูปขันธ์ สลัดเครื่องร้อยรัดทางวัตถุเกินความจำเป็น พึ่งพาตัวเองได้ ทำให้ผู้ปฏิบัติเซน ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือฆราวาส สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน
 
พระอาจารย์เซนรุ่นบุกเบิกที่โด่งดังอีกท่านหนึ่ง ท่านซ่านฮุ่ยโพธิสัตว์ ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในนามฟู่ต้าสื้อ ครั้งหนึ่งท่านได้รับการอาราธนาจากพระเจ้าเหลียงหวู่ตี้ เพื่อไปแสดงธรรมวัชรปรัชญาปารมิตตสูตร ท่านขึ้นธรรมาสน์แสดงธรรมโดยการเอาไม้เคาะธรรมาสน์นั้นจนเกิดเสียงดัง และลงมาจากธรรมาสน์นั้น โดยทูลถามพระเจ้าเหลียงหวู่ตี้ว่าเข้าใจธรรมะแล้วหรือยัง เพราะท่านแสดงธรรมจบแล้ว และอีกครั้งหนึ่ง ที่พระเจ้าเหลียงหวู่ตี้เห็นท่านสวมหมวกนักพรตเต๋า ห่มจีวรพระ และสวมรองเท้าลัทธิขงจื้อ พระเจ้าเหลียงหวู่ตี้ตรัสถามท่านซ่านฮุ่ยว่า ท่านเป็นพระหรือ? ท่านซ่านฮุ่ยกลับชี้ไปที่หมวก เมื่อถามว่าเช่นนั้นท่านเป็นนักพรตหรือ? ท่านซ่านฮุ่ยกลับชี้ไปที่รองเท้า เมื่อถามว่าเช่นนั้นท่านก็เป็นบัณฑิตลัทธิขงจื้อ? คราวนี้ท่านซ่านฮุ่ยชี้ไปที่จีวรซึ่งท่านสวมอยู่ และกล่าวว่า หมวกเต๋ารองเท้าขงจื้อจีวรพระ รวมสามลัทธิธรรมเป็นหนึ่งเดียว นับว่านิกายเซนนั้น ประสานข้อเด่นของพุทธศาสนา ลัทธิขงจื้อและลัทธิเต๋าเข้าด้วยกัน เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันโดยกลมกลืนกับโลก และไม่ขัดแย้งกับผู้ใด ทำให้เซนมีข้อเด่นต่างจากพุทธนิกายใดๆ โดยสามารถปรับใช้ข้อเด่นต่างๆ นั้น เพื่อการดำรงอยู่ ในการปฎิบัติเข้าสู่ความเป็นพุทธะ อย่างไม่ติดยึดกรอบหรือรูปแบบใดๆ ทั้งปวง โดยมีหลักการถ่ายทอดสู่กันเกินถ้อยคำ ไม่ยึดติดตำรา ชี้ตรงไปที่จิต สลัดอัตตา พุทธภาวะย่อมปรากฏ (สุญตา)
 
ความที่แตกต่างจากหินยานผู้คร่ำเคร่ง และมหายานผู้มากไปด้วยศรัทธา ทำให้เซนไร้กฎเกณท์ เป็นอิสระไม่ติดยึดรูปแบบ ดำเนินชีวิตเรียบง่าย ไม่พร่ำบ่น ไม่วุ่นวาย ไม่เป็นภาระ ไม่ขัดแย้ง มีก็เหมือนไม่มี ฯล การปรับแต่ข้อดี ของลัทธินิกายอื่นๆ มาใช้ เพื่อการดำรงอยู่ของชีวิตอย่างไม่ติดเปลือก แต่มีจุดมุ่งหมายแท้จริงอยู่ภายใน ทำให้เซนมุ่งปฏิบัติ เพื่อปล่อยวางทุกสิ่งสู่ความว่าง คืนสู่สัจจะภาวะที่เป็นหนึ่งเดียวกับทุกสรรพสิ่ง ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีแปลกแยก สัจธรรมเช่นนี้ ไม่เพียงภิกษุหรือภิกษุณีที่ปฏิบัติได้ ฆราวาสก็ปฏิบัติได้ จนกว่าท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลาย จะเข้าถึงพุทธภาวะแห่งจิตเดิมนั้นแล้วจริงๆ



 
- ผู้ที่สนใจประวัติพุทธศาสนาแลพุทธมหายาน หาอ่านได้จากหนังสือ
ปะวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา และปรัชญามหายาน ของท่านเสถียร โพธินันทะ

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=suparatta&month=11-2005&date=17&group=14&gblog=3
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 17, 2016, 11:34:41 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: จุดประกายเซนในเมืองไทย โดย สุภารัตถะ (๔)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ตุลาคม 09, 2010, 10:27:46 pm »
 :13: อนุโมทนาครับพี่แป๋ม^^
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~