Dead Poet Society
ครูครับ..เราจะสู้!..เพื่อฝัน
~
:
:
:
บทเรียนแรกปี 1959 ณ สถาบันที่มีชื่อเสียง เวลตั้น อคาเดมี่ โรงเรียนเตรียมเข้ามาหาวิทยาลัยที่ผลงานเชื่อถือได้และขึ้นขื่อกับความเคร่งครัดทั้งวิชาการและระเบียบวินัย รวมทั้งเป็นที่คาดหวังของผู้ปกครองว่าลูกหลานของตัวเองจะเข้ามหาวิทยาลัยในคณะดีๆเมื่อผ่านจากสถาบันนี้ วันแรกของการเรียนการสอนอาจารย์แต่ละคนต่างมุ่งมั่นตามประเพณีปฏิบัติของโรงเรียน เปิดหนังสือท่องจำ ท่องศัพท์ ทำตารางสอบเก็บคะแนน เป็นเรื่องปกติที่นักเรียนจะต้องเจอ แต่เมื่อนักเรียนห้องหนึ่งพบเจอกับเรื่องประหลาดที่ผิดคาดเมื่อครูสอนภาษาคนใหม่ท่านหนึ่งเริ่มคลาสเรียนด้วยการเดินผิวปากผ่านจากประตูหน้าแล้วเดินออกประตูหลังก่อนจะหันกลับมาบอกให้นักเรียนในห้องเดินตามออกมา ทิ้งห้องเรียนไว้ข้างหลังเพียงการสอนคลาสแรกแบบไม่เคยมีครูคนไหนปฏิบัติมาก่อน
และชื่อของอาจารย์คนนั้นก็คือ จอห์น คีตติ้ง พร้อมกับบทเรียนแรกที่เป็นภาษาละตินบอกว่า คาเปเดี้ยม(Carpediem) ที่หมายถึงจงฉวยวันเวลาไว้ (To Seize the Day)
จอห์น คีตติ้ง: จงฉวยวันเวลาไว้ เร่งเก็บดอกไม้แรกแย้ม ทำไมเขาเขียนอย่างนั้น
นักเรียน: คงรีบร้อนทำมั้งครับ
จอห์น คีตติ้ง: ผิด ขอบคุณที่ร่วมแสดงความคิดเห็น พวกเราเป็นอาหารของหนอน เพราะเรา....เชื่อหรือไม่ว่า ทุกคนในห้องนี้สักวันต้องหยุดหายใจ ตัวเย็นซีดแล้วก็ตาย ขอให้นักเรียนก้าวมาตรงนี้ (พานักเรียนเข้าไปดูรูปศิษย์เก่าใกล้ขึ้น) พิจารณาหน้าบุคคลในอดีต พวกเธอเดินผ่านวันละหลายหนแต่ก็แค่มองผ่านไป พวกเขามิได้้แตกต่างจากพวกเธอ ผมทรงเดียวกัน ฮอร์โมนเปี่ยมล้นเช่นกัน ยิ่งทะนงเหมือนพวกเธอที่รู้สึกเหมือนโลกอยู่ใต้แทบเท้า มั่นใจว่าอนาคตจะโชติช่วง ตาเป็นประกายของความหวังไม่แตกต่างกันจากพวกเธอ พวกเขาคอยจนสายไปที่จะใช้ชีวิตให้สมกับความสามารถ เพราะบัดนี้สังขารพวกเขาร่วงโรยแล้ว ถ้าเงี่ยหูฟังพวกเธอจะได้ยินเสียงกระซิบ(จากพวกเขา) เอียงหูเข้าไป ฟังดู (ทุกคนเอียงหูเข้าหารูป) ได้ยินไหม คาร์เป...อะไรนะ คาร์เปเดี้ยม จงฉวยวันเวลาไว้ ใช้ชีวิตให้สุดพิเศษ
--------------------------------------------
บทเรียนที่สองในชั่วโมงสอนชั่วโมงหนึ่งขณะเริ่มสอนบทกวี นักเรียนอ่านตำราเรื่องการเข้าใจบทกวี ในตำราอธิบายการเข้าใจบทกวีสามารถตีภาพออกมาเป็นกราฟและตัวเลขเพื่อเปรียบเทียบว่าบทกวีของใครมีคุณค่ากว่ากัน ครูคีตติ้งก็บอกว่าให้นักเรียนฉีกหน้านั้นในตำราทิ้งไป ท่ามกลางความฉงนของนักเรียนทั้งห้อง
จอห์น คีตติ้ง: ฉีกต่อไป นี่คือศึกสงคราม มันอาจเป็นหัวใจหรือจิตวิญญาณ เหล่ากองทัพนักศึกษากำลังต่อต้่านการตีค่าบทกวี เก็บเอาไม่ได้ ไม่มีตำราเล่มนี้อีกต่อไป พวกเธอต้องมีความคิดเป็นของตัวเอง ต้องเรียนรู้การลิ้มรส ถ้อยคำและภาษา ไม่ว่าใครจะบอกอะไรเธอ ความคิดอาจเปลี่ยนโลกได้ ทุกคนอาจจะบอกว่าเราควรเรียนตำราต่อไปเพื่อเป็นฐานในการเรียนรู้อย่างอื่น จะบอกความลับให้ล้อมวงเข้าใกล้ๆ.......เราไม่เขียนหรืออ่านบทกวีเพราะมันแค่สดสวย แต่เพราะเราเป็นมนุษยชาติ มนุษยชาติเต็มไปด้วยกิเลส
วิชาแพทย์ กฎหมาย ธุรกิจ วิศวะ เป็นสิ่งที่คนไขว่คว้าไว้เลี้ยงชีพ แต่เรื่องบทกวี ความไพเราะ โรแมนติค ความรัก เป็นสิ่งที่เราดำรงชีพอยู่เพื่อมัน....ถามตัวเอง ใยชีวิตมีปริศนามากมาย ทำไมศรัทธาทอดไกลไม่สิ้นสุด อีกทั้งความโง่งมของมนุษย์ ไหนความดีบริสุทธิ์ท่ามกลางเหล่าชีวี ตอบตัวเอง ใยพวกเราอยู่ที่นี่ เมื่อชีพเรายืนยงและคงด้วยศักดิ์ศรี คอยสร้างสรรค์คุณธรรมและความดี บทกวีชี้พลังเพื่อสังคม
และ.............บทกวีของพวกเธอจะเป็นเช่นไร--------------------------------------------
บทเรียนที่สามขณะที่สอนเรื่องเช็คเสปียร์ ครูคีตติ้งก็เดินขึ้นไปยืนบนโต๊ะของครูแล้วถามว่า ทำไมครูถึงมายืนบนนี้ นักเรียนตอบผิด ครูคีตติ้งก็ตอบว่า ที่ครูมายืนบนนี้ก็เพื่อเตือนใจตัวเองว่าเราต้องมองอะไรในแง่มุมที่แตกต่าง แล้วก็หมุนตัวเองไปบนรอบๆโต๊ะแล้วพูดว่า โลกเราแปลกออกไปเมื่อยืนบนนี้ แล้วครูคีตติ้งก็ให้นักเรียนต่างผลัดกันขึ้นมายืนบนโต๊ะและมองตามรูปแบบตัวเอง
จอห์น คีตติ้ง: (ขณะที่นักเรียนพากันเดินขึ้นไปยืนบนโต๊ะ) พวกเธอคิดว่ารู้อะไรดีแล้ว ลองมองจากอีกมุมหนึ่ง แม้จะดูเหลวไหลก็ต้องลอง
เวลาอ่านอย่าคล้อยตามไปกับผู้เขียน แต่จงใช้หัวคิดของตัวเอง พวกเธอต้องฝ่าฟันหารูปแบบตัวเอง เธอเริ่มต้นเท่าไร ยิ่งหารูปแบบตัวเองยากขึ้น ทอร์โร่บอกว่าคนมักอ่านแบบสิ้นคิด จงอย่าทำตามแบบนั้น แหวกมันออกมา อย่าเดินตามกันต้อยๆแล้วพากันลงเหว ขอบคุณ
กล้าออกความคิด กล้าหาแนวทางใหม่--------------------------------------------
Dead Poet Society คือภาพยนตร์ในปี 1989 หรือเมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว พร้อมกับคำชมมากมายในแง่ของภาพยนตร์ที่สอนให้ผู้ชมได้เรียนรู้วิธีการของการเรียนรู้และฉกฉวยวันเวลาเมื่อยังสามารถทำได้ไม่ให้ปล่อยเลยไป รวมทั้งการกล้าแสดงความคิดเห็นในรูปแบบของตนเอง แทนรูปแบบการสอนแบบดั้งเดิมที่ตีกรอบให้ทุกคนก้าวเดินไปตามทาง แม้อาจจะเป็นที่ถกเถียงถึงนักเรียนหรือมนุษย์ในช่วงอายุหนึ่งต้องมีกรอบหรือแนวทางเดินแต่ภาพยนตร์ที่ส่งข้อมูลผ่านต่อโดยครูคีตติ้งก็อธิบายว่าทุกคนควรใช้ความคิดได้เองว่าสิ่งใดควรทำตามและสิ่งใดควรเปลี่ยนมุมมอง เหมือนที่บอกว่า วิชาแพทย์ วิศวะ ธุรกิจ เป็นสิ่งที่ทำเพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่่บทกวี ความรักหรือสิ่งที่อ่่อนไหว เราดำรงชีพเพื่อมัน นั่นก็หมายความว่าถ้าทุกคนได้ทุกฝึกให้รู้จักคิดก็จะรู้ว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร ซึ่งแตกต่างจากสังคมที่ห้ามไม่ให้คิด เพราะเมื่อถึงเวลาก็กลายเป็นคิดตามคนอื่นทุกครั้ง จึงไม่ต่างว่ากับคนไม่มีความคิดหรือคนที่ตายไปแล้วนั่นเอง ดังนั้น
สังคมที่คิดไม่เป็นก็เปรียบเป็นสังคมที่ตายไปแล้วเช่นกัน ภาพยนตร์ผ่านพ้นครบ 20 ปีไปเมื่อปีที่แล้ว แต่เป็นที่น่าเสียดายสิ่งดีๆมักถูกละเลยเสมอ พร้อมกับคงด้านมืดในตัวมนุษย์ไว้เพื่อทำลายสังคม สัปดาห์ก่อนต้อนรับวันครูมีโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง(โรงเรียนไหนคงทราบกันดี)ลงโทษลูกศิษย์ตัวเองและกดดันผู้ปกครองเพียงเพราะกล้าแสดงออกในรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับมุมมองทางด้านการเมือง โดยผู้กระทำต่อลูกศิษย์เป็นถึงครูตำแหน่งผู้อำนวยการและครูคนอื่นที่เกี่ยวข้องก็เป็นถึงระดับผู้บริหาร ซึ่งไม่แตกต่างจากตอนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง Dead Poet Society ที่เหล่าครูในเรื่องกดดันนักเรียนเพื่อโยนความผิดให้กับครูคีตติ้ง แม้จะต่างกันในรายละเอียดแต่ก็แสดงความไร้จริยธรรมและไร้ความคิดเฉกเช่นเดียวกัน จนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นวิธีคิดของคนที่มีคำนำหน้าว่า “ครู” และเชื่อว่ายังมีแอบแฝงอยู่ในสังคมไทยอีกมากมาย สังคมต่างยกย่องเด็กที่ออกมาเลียนแบบดารา เต้นโชว์บนหน้าเวทีว่ามีความกล้า เด็กที่จดจำหน้าคนเป็นร้อยว่าฉลาดอัจฉริยะ แต่เด็กประถมที่กล้าคิดทางการเมืองกับถูกลงโทษ สังคมแบบนี้จะยกระดับพัฒนาทางด้านคุณภาพและจิตใจไปได้อย่างไร และเชื่อว่าสังคมที่มีคนเหล่านี้แอบแฝงอยู่ในระบบการศึกษามากเท่าไร สังคมนั้นก็คงไม่ต่างจากตายไปแล้วเท่านั้น เพราะคงหาคนคิดเพื่อนำสังคมผ่านอุปสรรคคงไม่มีเลยสักคน
Gather the rosebuds while ye may,Old Time is still a-flying;And this same flower that smiles today, To-morrow will be dying.Welton โรงเรียนที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา ที่มีจารีต ประเพณีที่เข้มงวดสืบทอดกันมา
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชั้นเรียนของครู Keating เขามีวิธีการสอนที่ไม่ยึดถือตามแบบตำรา
โดยให้นักเรียนค้นหาให้พบตัวเอง รู้จักที่จะมีมุมมองในแง่มุมที่แตกต่างในหลายๆแง่มุม
และการรู้จักที่จะตามใจตนเองปรารถนา
คุณครูหัวสมัยใหม่ ผู้มาพร้อมกับแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร ตั้งแต่การมองโลก การใช้ชีวิตและการทำตามความฝันของตน
ด้วยลักษณะเหล่านี้
ในหมู่นักเรียนจึงมีความชื่นชอบในตัวของครู Keating เป็นอย่างมาก
Neil Perry และกลุ่มเพื่อนๆได้การก่อตั้ง ชมรมกวีไร้ชีพ (Dead Poets Society)
Neil Perry ได้เข้าร่วมแสดงละครเวที
โดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากผู้เป็นพ่อ สุดท้ายจึงเกิดโศกนาฎกรรมที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น
เรื่องราวจึงย้อนมากระทบต่อชมรมกวีไร้ชีพ
ครูหัวเก่า ไม่ยอมรับและหาทางขับไล่ครูคีตติ้งออกไป
ท่ามกลางวิถีและกฎเกณฑ์อันเคร่งครัด เขาได้ปลูกฝังค่านิยม
และให้นิยามของการเรียนรู้ที่ต่างออกไปแก่ลูกศิษย์
และนั่นก็ทำให้ชีวิตพวกเขาเปลี่ยนไป..การพบกันระหว่างความคิดแบบเก่าของพ่อแม่ กับ ความคิดระบบใหม่ของคนเป็นลูก
ซึ่งด้วยความที่วัยต่างกันจึงมักจะมองอะไรต่างกันไป
อย่างเรื่องเรียนที่พ่อแม่มักจะมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จและมั่นคงของลูกเป็นสำคัญ
ส่วนลูกจะชอบไม่ชอบเห็นเป็นเรื่องรองลงมา ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญนะครับ
เพียงแต่พวกท่านมักจะคิดว่า ให้ลูกเรียนๆไป เดี๋ยวก็ชอบเองแหละ..
"เบื้องหลังกระดาษแผ่นนึง มีคุณค่าอะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง
หรือเป็นเพียงใบเบิกทางด้านในตำแหน่งงานเท่านั้น"
ตอนจบของเรื่องนี้งดงามมากเพราะอะไร
เพราะว่าคนเขียนบทฉลาดพอจะไม่ตกขอบลงไปในด้านใดด้านหนึ่งอย่างที่เห็นกันง่ายๆ
ว่าไม่สุขก็ทุกข์ ไม่แพ้ก็ต้องชนะ
เรื่องนี้จบลงแบบไม่สมหวัง แต่ว่ามีหวัง เทียนที่ครูจุดให้ลูกศิษย์ไม่มีวันดับ และโลกก็ยังหมุนต่อไปได้ แม้ไม่ใช่ด้วยความสมหวัง
แต่ก็ด้วยความหวัง ซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจมนุษย์มาตั้งแต่ถือกำเนิดจนสิ้นชีวิต.