ผู้เขียน หัวข้อ: ไตร่ ตรอง มอง หลัก…  (อ่าน 5917 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
ไตร่ ตรอง มอง หลัก…
« เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2010, 05:59:01 pm »



ไตร่ ตรอง มอง หลัก…
โดย เขมานันทะ

บรรยายแก่ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาศาสนาเปรียบเทียบ 
มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

สาระสำคัญแห่งวัชรยานตันตระ





หัวข้อที่กำหนดไว้คือสาระสำคัญแห่งวัชระยาน  ที่จริงชื่อนี้เป็นชื่อที่คนไทยทั่วไปไม่ค่อยคุ้น  ผมเองสนใจและผูกพันกับวัชรยานมานานแล้วและส่วนใหญ่ก็เป็นการคบกับบุคคลที่เป็นชาววัชรยาน  โดยแท้จริงผมอ่านตำราน้อยมาก  ดังนั้นการบรรยายของผมต้องถือเป็นการบรรยายโดยอัตนัยเป็นการบอกข่าวสารที่ตัวเองรับทราบและหลายเรื่องหลายตอนที่ผมเองก็ไม่สู้จะแน่ใจนัก  เพราะตัวเองก็ไม่ใช่ชาวธิเบตที่เกิดในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่าวัชรยาน  พูดเพื่อให้เห็นที่มาและที่ไปก่อน  แม้ผมจะเป็นผู้บรรยายก็จริง โดยแท้จริงแล้วผมเป็นคนหนึ่งที่กำลังศึกษาอยู่

              สิ่งแรกที่ผมจะกล่าวนำในที่นี้คือ  เมื่อเราจะศึกษาสิ่งใดใหม่ จำเป็นมากที่เรา ต้องขยายฐานการสังเกตให้กว้างเข้าไว้  นั่นก็คือเราต้องทำใจกว้างไว้ก่อน  จะโดยสมัครใจหรือหรือไม่ก็ตาม  เมื่อเราเกิดในแผ่นดินนี้  เราจะรับทราบพุทธศาสนาในรูปใดรูปหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง  ดังนั้นทัศนคติของเราจะมีโดยพื้นฐาน  ไม่ว่าเราจะไปบวชมาแล้วหรือไม่ได้บวช  สังคมที่เราอาศัยอยู่เป็นเสมือนเบ้าหลอมทำให้เรารู้สึกโดยไม่รู้ตัว  เช่นทัศนคติแบบเถรวาท เมื่อสมัยที่  ผมเป็นนักบวช  ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่สังคมกำลังต้องการคำตอบจากพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก  เห็นจะประมาณสัก 10 ปีที่แล้ว ผมเคยเสนอที่ประชุมสงฆ์ พูดเล่น ๆ  เพื่อให้รู้สึกถึงความแปลกประหลาด 

ผมเสนอให้พระสงฆ์มีเมียได้  ปรากฏว่าเกิดปฏิกิริยาขึ้นทั่วถึงในที่ประชุมนั้น  เพราะถือว่าพระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์  จะแตะต้องแปดเปื้อนไม่ได้  ที่จริงการที่ผมเสนอเช่นนั้น  ผมไม่ได้หมายถึงให้พระสงฆ์ไปมีภรรยาจริง ๆ   ผมหมายเพียงแต่ว่า  เราต้องขยายฐานของการปฏิบัติธรรมให้กว้าง เช่นให้มีคฤหัสถ์ที่ปฏิบัติธรรม  พระที่บริสุทธิ์และมีคล้าย ๆ กับจะเป็นครึ่งพระครึ่งโยม  ซึ่งมีลูกมีเมีย  ที่จริงสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่  ที่ประเทศอินโดนีเซียและบาหลีนั้น  พระสงฆ์เกิดจากการเลือกตั้ง  ไม่ใช่การบวช ประชาชนในถิ่นนั้นจะเลือกอุบาสกคนหนึ่งหรือกี่คนก็ได้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม  เลือกทั้งตระกูลขึ้นเป็นพระ  เรียกพระปทันตาหรือเปมังกุ  ผมรับทราบครั้งแรกงงๆ  เพราะทัศนะเถรวาทเรานั้น  พระสงฆ์ต้องเกิดจากการบวชหรือสมัครใจ




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ไตร่ ตรอง มอง หลัก…
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2010, 06:03:58 pm »



              ในเบื้องต้นนี้ ผมใคร่ทำความเข้าใจว่า  เราทำใจให้กว้างในการที่จะรับทราบ  ในสิ่งที่เราอาจจะคิดไม่ถึงหรือไม่เชื่อ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัชรยานหรือเราไปเห็นท่วงท่าหรือการไหวเคลื่อนของเขาแล้ว  เราอาจจะงง  ไม่ว่าศิลปวัตถุ  ประเพณีนิยมต่าง ๆ  หรือธรรมเนียมที่สอนกันมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ  เรื่องที่นำเอาสิ่งที่เถรวาทหรือนิกายอื่นถือว่าเป็นอุปสรรคมาเป็นเครื่องสนับสนุน  พูดตรงๆ ก็คือว่า  ฝ่ายเถรวาทเราถือว่ากิเลสเป็นเรื่องที่ต้องละให้ห่างไกล ฝ่ายวัชรยานหรือบางนิกายในอินเดียกลับถือว่าต้องเอากิเลสเป็นเครื่องผลักดัน    เราต้องรับฟังด้วยใจกว้าง ๆ  ก่อน คือ อย่าเพิ่งเชื่อและอย่าเพิ่งปฏิเสธ  ควรก้าวไปสู่รายละเอียดอย่างมีระบบและด้วยการเห็นชัดเจนว่า  เราจะใช้สิ่งที่เป็นอุปสรรคให้เป็นอุปการะได้อย่างไร  ดังนั้นในการทำความเข้าใจสิ่งใหม่  เราต้องการรากฐานเพื่อที่ไต่ไปตามลำดับ

              สมมติว่าเราได้ยินครั้งแรกว่า  วัชรยานถือเอาพลังทางเพศเป็นเครื่องผลักดัน  เราก็รับไม่ได้เพราะเราคุ้นกับฝ่ายเถรวาท  และโดยทั่วไปนั้นวัชรยานถูกนำเสนอในประเทศนี้อย่างผิดพลาดตั้งแต่ต้นมือ  ประมาณ 20ปีที่แล้วมีหนังสือกล่าวถึงวัชรยานอย่างไร้สติ  ผมได้คุยกับรินโปเช่คนหนึ่งซึ่งเป็นผุ้ใกล้ชิดกับองค์ดาไลลามะถึงหนังสือเล่มนั้น  ซึ่งเขียนโดยนักปราชญ์ของประเทศนี้ เป็นการเขียนที่ไร้สติและเต็มไปด้วยอคติ   จึงทำให้เกิดความเสียหายแก่วัชรยาน  เช่นถือเอาวัชรยานเป็นยานที่ใช้การร่วมเพศกัน  โดยใช้มนตราเพื่อปลุกกระพือแรงราคะ  เขียนเช่นนี้เพื่อให้พังพินาศ รินโปเช่ท่านนั้นได้แสดงความเสียใจเป็นอย่างมาก   เพราะว่าแท้จริงวัชรยานไม่ใช่สิ่งนี้  รินโปเช่คือตำแหน่งสหชาติของดาไลลามะ  เมื่อเลือกองค์ดาไลลามะนั้น  ดาไลลามะจะเลือกคนที่เกิดวันเดียวกันกับพระองค์มาเป็นสหชาติ คล้าย ๆ ตำแหน่งสมเด็จทางสงฆ์ในประเทศเราอะไรทำนองนั้น

              ถ้าให้ผมพูดถึงสาระสำคัญของวัชรยานตามหัวข้อก็ตอบได้เลยและจบการบรรยาย  นั่นคือสาระสำคัญของวัชรยาน  ก็คือวัชรญาณ นั่นเองคือ ญาณสายฟ้า สายฟ้าแลบหรือญาณที่คมประดุจเพชร  เครื่องตัดอวิชชาเป็นญาณที่เกิดอย่างฉับพลันทันใด  และเปลี่ยนชีวิตคนได้  หากแต่สาระต้องประกอบด้วยเนื้อหาด้านอื่น  ผมเองมีความเชื่อว่า รูปแบบและเนื้อหามาด้วยกัน

  ดังนั้นเราต้องพิจารณาถึงฐานหรือฐานะที่มาของวัชรยานและประกอบกับฐานะที่เป็นจริงในโลกปัจจุบัน  พูดถึงปัจจุบันเสียก่อนเพราะว่าง่ายและสั้น    เดี๋ยวนี้ถ้าใครคิดจะสัมผัสแนวคิดหรือระบบของวัชรยานนั้นต้องมุ่งตรงไปที่สิกขิม  ภูฐาน  แต่เดิมนั้นเรามี      ทิเบต  แต่ว่าปัจจุบันเรารู้กันดีว่า จีนได้ฮุบแผ่นดินทิเบตรวมทั้งทำลายรากฐานทิเบตไปไม่ใช่น้อย แม้ปัจจุบันจีนจะประกาศให้ทิเบตกลับบ้านได้  แต่ต้องทำวีซ่าผ่านปักกิ่งเท่ากับเป็นการบังคับให้ชาวทิเบตเป็นชาวจีนโดยไม่มีทางต่อสู้

             เมื่อผมพูดถึงวัชรยานย่อมกินความรวมไปถึงนิกายต่าง ๆ ทุกนิกายของทิเบตด้วย  โดยแท้จริงแล้ววัชรยานไม่ใช่ชื่อของนิกายแต่เป็นชื่อของญาณ  ฉะนั้นทุกนิกายของทิเบตจะมีความเชื่อหรือแนวโน้มเอียงที่จะเชื่อว่าตัวเองคือวัชรยาน  นิกายของทิเบตนั้นก็มีหลายนิกาย  เช่น ศากยะ เกลุกปะ  กักยุกปะ  และฌิงมา  ผมเชื่อว่าทุกท่านได้รับการอธิบายไว้มากพอสมควรแล้ว

ในอินเดียครั้งกระโน้นหรือแม้เดี๋ยวนี้  เมื่อผมพูดว่าอินเดียครั้งกระนั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากเดี๋ยวนี้มากนัก  โดยแท้จริงแล้วอินเดียเป็นชาติที่เหมือนพิพิธภัณฑ์โบราณ  นักบวชเปลือยยังเดินตามถนนในกัลกัตตา อินเดียยังเป็นอินเดีย  เมื่อนักวิชาการฝรั่งเข้าไปช่วยพัฒนาก็เจอปัญหามาก  เพราะว่าอินเดียไม่ได้เป็นไปตามหลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์  โดยเฉพาะเนห์รูได้พูดว่า  เขาจะไม่ยอมปรับอินเดียให้เหมือนนักคิดฝรั่ง  เพราะว่าอะไรที่อินเดียเป็น  อันนั้นก็คืออินเดีย




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ไตร่ ตรอง มอง หลัก…
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2010, 06:06:19 pm »



            อินเดียนั้น  เป็นแหล่งกำเนิดของความเชื่อทางศาสนาที่เหลือจะคาดคิดเอาได้  ดังที่เราได้อ่านจากเรื่อง กามนิต-วาสิฏฐี  แล้วทุก ๆ ความเชื่อทุก ๆ กิจกรรมของชาวอินเดีย  ทุก ๆ การกระทำถือเอาเป็นทาง  เป็นมรรควิถี ( The Way of Life ) ทั้งสิ้น  ดังนั้นการที่เขาเลือกเป็นโจรก็เป็นมรรคในพระสูตรของเถรวาทนี้พระพุทธเจ้าสอนโจรกลุ่มหนึ่ง  เพราะโจรถามว่าทำอย่างไรก๊กโจรถึงจะตั้งมั่นได้  พระพุทธเจ้าทรงตรัสสนอง  เราต้องรู้ต้องเข้าใจพระพุทธเจ้าว่า ท่านไม่ใช่นักจริยธรรมอย่างเดียว  ท่านเป็นผู้รู้ รู้ทางเจริญทางเสื่อมของทุกสิ่ง  สาวกของพระพุทธเจ้ามีหลายอาชีพ โจรก็มีโสเภณีก็มี   เมื่อโจรถามพระพุทธเจ้าว่า  ก๊กโจรจะตั้งมั่นได้ด้วยธรรมอย่างไร พระพุทธเจ้าสอนว่า  ประการแรกอย่าปล้นราชทรัพย์  แล้วก็อย่าข่มขืนสตรีจะเสื่อมเสียก๊กโจร  อย่าปล้นใกล้ถิ่น  แล้วว่าท่านก็สอนไปเรื่อย  แล้วก็มีข้อหนึ่ง  ข้อสุดท้ายท่านสอนว่า เมื่อถึงเวลาอันควร ควรเลิกเป็นโจรเสีย  ท่านสอนเพื่อให้เขาได้ในสิ่งที่เขาต้องการและชี้ช่องทางที่ประเสริฐกว่าด้วย  ในอินเดียการเป็นโสเภณีนั้นถือเป็นมรรควิถีหรือวิถีธรรมด้วยเช่นกัน

        นางระบำคาบูกิในญี่ปุ่นเข้าถึงการตรัสรู้ในขณะที่รำฟ้อนอยู่  หรือเจ้าสำนักซามูไรอย่างมิยาโมโตะ มูซาซิ  ตรัสรู้ในขณะที่กำลังจะฟาดฟันกับศัตรู

             ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่า  ธรรมนั้นคือทาง   แม้สิ่งที่เรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยคนั้น  ไม่ใช่อะไรอื่นเป็นแนวคิดที่ว่าด้วยการเสพกามนี้เพื่อให้ถึงการหลุดพ้น  อย่าคิดว่ากามสุขัลลิกานุโยคคือ  การเสพสุขสามัญ  มันเป็นทางเป็นลัทธิ  พระพุทธเจ้าจึงบอกปฏิเสธกามสุขและการทรมานตนเอง คือท่านปฏิเสธแนวคิดแนวทางสุดสวิง 2 แนวในอินเดียในครั้งกระนั้น แล้วท่านเสนอแนวทางใหม่ ชาวเถรวาทถือว่าทางสายกลางป็นทางใหม่ในเมื่อชาววัชรยานถือลักษณะข้างบวก ( Positive )  โอบอุ้มไว้ทุก ๆ นิกาย แต่วัชรยานไม่ใช่กามสุขัลลิกานุโยคโดยทั่วไป

            เมื่อเราพูดถึงวัชรยานเรามักจะพูดรวม ๆ ถึง “ ตันตระ “ ที่จริงพอเราได้ยินตันตระ  เราปฏิเสธทันที  ถ้าเราเป็นเถรวาท นั่นเกินไป  ตันตระไม่ใช่วัชรยาน  ตันตระเป็นชื่อของยุคสมัยหนึ่งที่ทิศทางของมัน  เนื้อหาสาระแผ่คลุมไปทุกลัทธิ  ถ้าพูดให้ถูกเราต้องพูดว่าพุทธตันตระ หรือชินะตันตระหรือฮินดูตันตระจึงจะถูก

            ดังนั้นถ้าเรามองผ่านสัญลักษณ์อันนี้จะพบว่า  วัชรยานไม่ใช่ลัทธิตันตระธรรมดา  แต่เป็นลักษณะของตันตระแบบพุทธ  และดังนั้นหนังสือที่เขียนโจมตีอย่างมีอคติเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องเสียหายแก่วัชรยาน วัชรยานรับเอาตันตระมาด้วยวินัยชั้นสูง 

ดังนั้นข้อสรุปอีกข้อหนึ่งในเบื้องต้นคือว่า  วัชรยานนั้นเป็นวิธีปฏิบัติของผู้ที่พร้อมไปด้วยวินัยแล้ว คือสมบูรณ์พร้อมไปด้วยพลังของสติ  พลังของมนสิการอย่างพอเพียงและดังนั้นพลังอันนี้จะเปลี่ยนกิเลสให้เป็นโพธิ์ได้  พูดง่าย ๆ เมื่อกิเลสปรากฎและเห็นมันด้วยพลังของสติ  พลังของมนสิการอย่างพอเพียง และดังนั้นพลังอันนี้จะเปลี่ยนกิเลสให้เป็นโพธิได้  พูดง่าย ๆ เมื่อกิเลสปรากฏและเห็นมันด้วยพลังของสติสมาธิ  เมื่อนั้นกลับกลายเป็นปัญญาเกิดความสว่างไสวทางปัญญา ปราศจากกิเลสก็ไม่มีปัญญา  กิเลสนั่นเองทำให้ได้ปัญญา




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ไตร่ ตรอง มอง หลัก…
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2010, 06:08:30 pm »



           ถ้าผมปูรากฐานแล้วก็พอฟังได้  แต่ประโยคนี้ถ้าไปพูดในวัด ถ้าไม่ปูรากฐานแล้วบอกว่า  กิเลสนี่คือปัญญาคงลำบาก  พระสงฆ์จะเข้าใจไม่ได้ด้วย  แล้วชาวบ้านก็เข้าใจไม่ได้ว่ากิเลสมันเป็นปัญญาอย่างไร  ผมกลัวว่ารากฐานจะยังไม่พอ

            ความคิดของชาวจีนในครั้งโบราณนั้นมีความเชื่อต่อพลังชีวิต ( Chi ) ซึ่งเป็นที่มาของหนังจีนกำลังภายใน  ชาวจีนนี่ตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างจากพลังชีวิต  พัฒนาทุกสิ่งจากพลังชีวิต  เชื่อกันว่าผู้หญิงก็ได้ผู้ชายก็ได้สามารถสะสมพลังได้มาก  และกลับกลายเป็นคนพิเศษถึงระดับเซียน  เซียนก็คือเทพ ถึงระดับเทพ คนคนหนึ่งสู้คนเป็นร้อยได้ มีแนวคิดเบื้องหลัง เป็นการมองทุกสิ่ง  การเปลี่ยนแปลงความตาย  โดยผ่านทางชิ – พลังชีวิต  และพลังชีวิตนั่นเองสามารถเปลี่ยนผุ้คนจากคนธรรมดาให้กลายเป็นเซียนได้ และความเชื่ออันนี้สอดคล้องกับแนวคิดของตันตระ  ที่เรียกว่าทฤษฎีกุณฑลินีที่กำหนดระดับชีวิตจิตใจที่ตำแหน่งในร่างกาย  เรียกจักรา คือศูนย์หรือฐานพลังภายใน คนจีนเชื่อว่าที่ตำแหน่งใต้สะดือมีเตาปฏิกรณ์พลังชีวิตเรียกว่าตันเถียน  ซึ่งมนุษย์สามารถดึงพลังชีวิตขั้นตามศูนย์ต่าง ๆ แล้วแต่นิกายไหนจะบัญญัติศูนย์กี่ศูนย์ จนกระทั่งว่าพลังชีวิตนั้นขึ้นมาสู่หน้าผากหรือหลุดออกไปทางกระหม่อม  ก็บรรลุถึงความเป็นเซียน และก็จะทำทุกอย่างได้ เหาะเหินเดินอากาศได้

           อย่าเพิ่งถามผมว่าจริงหรือไม่จริง  เชื่อหรือไม่เชื่อนั้นเอาไว้ก่อนแต่ว่าโครงสร้างของแนวคิดนี้สำคัญนัก  เชื่อว่าคนสามารถเปลี่ยนได้ จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเป็นขบวนการอัลเคมีของตะวันออก คือขบวนการเล่นแร่แปรธาตุ  แต่ว่าเป็นขบวนการธาตุในภายใน คือเมื่อสามารถเปลี่ยนธาตุในภายในแล้ว  คนคนนั้นก็สามารถลอยตัว  ที่เรียกว่าวิชาตัวเบา  คนสามารถเปลี่ยนได้จากธรรมดาเป็นเซียนได้โดยเคลื่อนย้ายพลังชีวิตจากฐานเบื้องบน




          โยคะทั้งหลาย  วิธีปฏิบัติโยคะทั้งหมดก็เพื่อที่จะเปิดท่อธารของพลังชีวิตให้เคลื่อนขึ้นสู่เบื้องบน จากจุดนี้เราจะเข้าใจพลังทางเพศได้  ถ้าเราศึกษาศาสนาอินเดีย  จะรับทราบแนวคิดเรื่องการเคลื่อนย้ายจุดที่เรียกว่าจักรา  จักราแปลว่าศูนย์ คล้าย ๆ เนบิวล่า  ซึ่งเป็นพลังเคลื่อนอยู่ในรูปของวงแหวน  ดังนั้นเขาถือกันว่าคนสามารถเคลื่อนพลังชีวิตขึ้นไปสู่จักร  แล้วก็จะบรรลุถึงศิริ  หมายความว่าเมื่อเคลื่อนพลังชีวิตมาถึงจักรอันใดก็จะบรรลุถึงศิรินั้น  คือได้บรรลุถึงภูมิที่จะเห็นความงาม  บรรลุถึงกฤษณจิตมหรือกฤษณมนัส  เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วจะสามารถเห็นองค์พระเจ้า ทั้งได้รับการประสาทพรอภิเษก   ทั้งบริบูรณ์ทางปัญญาและเข้าถึงสุนทรียภาพที่เป็นทิพย์

         โครงสร้างเหล่านี้เป็นโครงสร้างที่เราจะเข้าใจวัชรยานได้  เพราะว่าวัชรยานนั้นใช้ภาพ ถังก้า ( Thanga ) คือภาพวาดของเทพต่าง ๆ เป็นเครื่องเพ่ง เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว  ก็จะสามารถบรรลุถึงความงามได้  ความงามไม่ใช่เป็นสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา   แต่เป็นการบรรลุถึงด้วยระดับของพลังชีวิตเป็นสภาวธรรมหรือภูมิแห่งชีวิต

         ที่นี้ก็โยงเข้าสู่ทฤษฎีสุนทรียภาพ สุนทรียภาพที่เรารู้จักนั้นเป็นเรื่องของทางตะวันตกทั้งสิ้น  ถ้าทางตะวันออกแล้ว  ความงามเป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าถึง  ดังนั้นภูมิที่เห็นความงามนั้นเป็นภูมิที่สร้างสรรค์ศิลปศาสตร์นั่นหมายความว่าฐานของพลังนี้เคลื่อนถึงจุดหนึ่งนั้น  บุคคลจะกลายเป็นศิลปินหรือกวี  โดยไม่ต้องผ่านสถาบันการศึกษาใดๆ  ก็ได้  ความเชื่อเช่นนี้นับว่าเราไม่ค่อยคุ้นมากนัก  ความเชื่อเหล่านี้เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ยุคไบเซนไทน์ ในยุโรป สมัยไบเซนไทน์เชื่อกันว่าศิลปิน ศิลปะเป็นเรื่องของพรสวรรค์  พระผุ้เป็นเจ้าบันดาลให้เขากลายเป็นศิลปิน  หรือนักกฎหมายหรือผุ้นำ ในแวดวงศิลปะนั้น ศิลปะเป็นเพียงของขวัญหรือพรจากพระเจ้าหรือเรียกว่า พรสวรรค์  แต่ว่าเมื่อถึงยุค Renaissance สามยักษ์ใหญ่ ลีโอนาโด ดาวินชี , ราฟาเอล และไม่เคิล แองเจโล  ได้ทำให้ศิลปะ , ศิลปินกลายเป็นเรื่องของสถาบัน  เป็นการเรียนผ่านทางระบบ และเป็นเป็นพลังความสามารถแสวงหาเอาได้ด้วยตัณหา มานะ และความทะยานอยาก คือเขาเชื่อว่าเขาจะฝึกคนให้เป็นศิลปินได้  สองช่วงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในยุโรป ในแวดวงของศิลปะและศิลปิน  ส่วนทางตะวันออกมีความเชื่อเช่นเดียวกับสมัยไบเซนไทน์  ดังนั้นผุ้คนที่เข้าถึงความเป็นศิลปินต้องภาวนา  เพื่อให้พลังชีวิตเคลื่อนถึงภูมิหนึ่งที่บรรละถึงภูมิแห่งการเห็นความงาม  ที่จริงในพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทก็มีครบ  พระสูตรนี้ชื่อว่าอภิภายตนะ  ว่าด้วยการครอบงำอายตนะเพื่อเข้าถึงวิโมกข์  เมื่อบุคคลสามารถครอบงำอายตนะแล้วสามารถเห็นความงามได้  หมวดนี้เรียกว่าหมวดวิโมกข์  การหลุดออกจากอันหนึ่งโดยสร้างสถานการณ์ใหม่ขึ้นข่ม




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ไตร่ ตรอง มอง หลัก…
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2010, 06:10:29 pm »



เมื่อได้เข้าใจที่มาภูมิหลังวัชรยาน  สัญลักษณ์ต่าง ๆ ทฤษฎีกุณฑลินี ตันเถียน ผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะโยงไปถึงวิชาอัลเคมีในอียิปต์ด้วย  เราพบว่ากุณฑลินีนั้นมีความเชื่อซึ่งแสดงด้วยสัญลักษณ์ว่า  ในร่างกายของคนที่เบื้องล่างสุดของกระดูกสันหลังมีงูอยู่ตัวหนึ่งที่ชื่อว่ากุณฑลินี  งูตัวนั้นนิ่งอยู่ งูตัวนั้นเป็นสัญลักษณ์ของพลังจักรวาล  เมื่อใดทำถูกวิธีเข้า  งูตัวนั้นจะแผ่พังพานผงาดขึ้นเบื้องบน  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการบานขึ้น  เป็นรหัสแห่งการรู้แจ้งแทงตลอดสภาวะ  ผมเชื่อว่าจะโยงถึงอียิปต์โบราณ  เพราะว่าอียิปต์ก็มีความเชื่อเช่นนี้อยู่ด้วย  งูสองตัวที่พันคบเพลิงเป็นสัญลักษณ์ของกรมการแพทย์นั้น เป็นพ่อลูกกัน ชื่อนินาซูกับนินิซิดา  เกี่ยวพันกันมากกับการรักษาโรค  จีนเชื่อว่าโรคเกิดจากพลังชีวิตอับเฉา  คนที่ป่วยเพราะพลังชีวิตนี้อ่อนแอ  การฟื้นฟูพลังชีวิตคือการบำบัด

          ถ้าเราเพ่งมองมาที่นี่  เรารู้ว่าการบรรลุภูมิธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องทางจริยธรรม โปรดตราสิ่งนี้ไว้ด้วย  การบรรลุธรรมเป็นการเปลี่ยนแปลงขบวนการเคมีชีวภาพ  ไม่ใช่การบรรลุถึงความคิดทางจริยธรรม  เช่นว่า  คนเป็นคนดี  เช่นความกตัญญูรู้คุณคนก็เชื่อกันว่าเป็นคุณธรรม  ความกตัญญูนั้นไม่เป็นหนึ่งในบารมี นั่นหมายความว่า เอาความกตัญญูมาปฏิบัติโลกุตรธรรมไม่ได้  แต่ว่าความกตัญญูเป็นสิ่งที่ดีในทางจริยธรรม  บารมีนั้นเป็นเรื่องกระทำให้ถึงฝั่งและเป็นองค์คุณใหญ่หลวง  การเปลี่ยนแปลงที่บารมีเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มูลฐานของชีวิต

         ดังนั้นในพระสูตรของเถรวาทจึงบอกไว้ว่า  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนั้น  ความร้อนในกายจะลดลง  ระบบหายใจจะเปลี่ยนไป  อันนี้ผมชี้ให้เห็นข้อต่างระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางจริยธรรมกับการบรรลุธรรม เช่น แต่ก่อนเคยเป็นเด็กขี้เกียจ  เป็นคนอกตัญญู  เดี๋ยวนี้กตัญญูรู้คุณคนขึ้นเป็นคนเรียบร้อย สุภาพ รู้ที่สูงที่ต่ำ อันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทางจริยธรรมซึ่งเรียนกันได้  และก็สอนกันได้ด้วย  สอนให้เป็นเด็กดีก็ดี  ดีเท่าที่จะดีได้และทั้งสามารถเสแสร้งทำท่าทีเป็นคนดีคนซื่อเพื่อหลอกลวงกันได้ด้วย แต่ว่าเรื่องของสัจธรรมหรือโลกุตรธรรมนี้ไม่ใช่อันนี้  เรื่องโลกุตรธรรมนั้นเป็นเรื่องกระทำจำเพาะเนื่องด้วยสิ่งที่เรียกว่บารมี  บารมีเป็นองค์คุณใหญ่เพื่ออนุเคราะห์โลก  เป็นกิจกรรมจำเพาะเพื่อสิ่งนั้น ๆ

           หลักของวัชรยานต่อการวินิจฉัยโลกทั้งหมดนั้น  ที่จริงคือหลักอุปนิษัทที่ว่าโลก  ปรากฏการณ์ชีวิตทั้งหมดเป็นดุจห้วงของความฝัน  ขันธ์ 5 เป็นดุจมายาและความฝัน  ตัวสภาวะของชีวิตเป็นช่วงที่เรียกว่า Dreamtime  ถือว่าชีวิตเป็น Dreamtime ที่จริงสอดคล้องกันมากกับคำสอนของพระพุทธเจ้าและหลักอุปนิษัทที่ว่า ชีวิตเป็นห้วงแห่งความฝัน ขันธ์ 5 นั้นเป็นห้วงแห่งความฝัน ทีนี้เมื่อจะปฏิบัติธรรมมันก็เลยฝันซ้อนฝัน มีประการเดียวเท่านั้นคือต้องตื่นอะไรก็ได้ที่ช่วยให้ตื่น  นั่นคือความรับผิดชอบ




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ไตร่ ตรอง มอง หลัก…
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2010, 06:12:10 pm »



          ทบทวนใหม่นะครับ หลักวัชรยานนี้ที่จริงเป็นหลักแก่นแท้ ๆ พูดไปแล้ว  แต่ก็ได้รวบรวมความเชื่อของหลักอุปนิษัทและขบวนการเคมีชีวภาพหมดสิ้น  ลักษณะบางลักษณะเช่นเรื่องกามารมณ์ ที่จริงเป็นเรื่องเคมีชีวะเพราะขบวนการของกามารมณ์ เป็นขบวนการเปลี่ยนแปลงของเคมีชีวภาพจากการสัมผัส ในหลักของวัชรยานที่ว่าชีวิตเป็นดังห้วงความฝัน  พระสูตรที่สำคัญของมหายานเช่น ปรัชญาปารมิตาก็ดี หรือหลาย ๆ สูตรของเราก็มี  ในสูตรของเถรวาทสูตรหนึ่งบอกว่า  รูปดุจดังฟองน้ำ เวทนาดุจดังน้ำค้าง ( ต่อมน้ำ ) สัญญาดุจดังพยับแดด สังขารดุจกาบกล้วย วิญญาณดุจมายากล

       เมื่อวินิจฉัยถึงคำว่ามายา  ผมอยากจะแก้ข้อเข้าใจบางอย่างเพราะศัพท์ภาษาไทยที่เรานำมาจากภาษาบาลีสันสกฤตไปใช้  เราใช้ในความหมายของอีกอันหนึ่ง  ซึ่งไม่ตรงตามนิรุกตินั้น ๆ  เช่นคำว่ามายาของเราถือว่าหลอกลวงหรือมารยา  ที่จริงมายานั้นไม่ใช่หลอกลวง มันเป็นอย่างนั้นเอง

        คำว่ามายาหรือมยกังนั้นโดยรากศัพท์มันจะตรงกับคำ Magical ดังนั้นไม่ได้หมายถึงมันหลอกลวง คือมันเป็นดุจ Magic  มันเป็นอยู่อย่างนั้น  และอีกความหมายหนึ่งแปลว่า งามอย่างน่าพิศวงก็ได้  สมมติว่าเราไปในทะเลทรายหรือถนนในฤดูร้อนก็จะมีภาพปรากฎขึ้นเหมือนกับแอ่งน้ำบนถนนที่ร้อน  แต่ว่าเมื่อเราเข้าไปใกล้มันจริง ๆ เข้าไปที่ศูนย์ไส้ ศูนย์กลางจริง ๆ มันไม่มีอย่างนั้น  แต่พอกลับมายืนที่จุดนั้น ๆ ก็จะปรากฎอีกแล้ว มันไม่ได้หลอกลวงเรา  แต่มันเป็นอย่างนั้นเอง เรียกว่าอัศจรรย์มาก ๆ นี่คือคำว่ามายา  ดังนั้นมันเป็นอยู่1อย่างนี้สภาวะที่ว่าขันธ์ 5 เป็นมายา  ดังนั้นมันเป็นอยู่อย่างนี้ สภาวะที่ว่าขันธ์ 5 เป็นมายา เป็นดุจห้วงของความฝัน ปัญหามันอยู่ที่ว่าเมื่อเราไม่เข้าถึงศูนย์กลางมัน มันก็หลอกให้เท่านั้นเอง  หลอกว่าเป็นจริง  เราไม่รู้ เราเห็นแอ่งน้ำ  เราคิดว่ามีจริง ๆ หรือว่าคนเล่นกลให้เราคิดว่าจริง  แต่ว่าถ้าเราเป็นคนเล่นเอง  หรือว่าเราเข้าถึงความเป็นผู้เล่นเกมส์อันนั้น  เราจะรู้ว่าเรื่องนี้มีความจริงอยู่อย่างไร ดังนั้นมายาไม่ใช่ว่าไม่จริง แล้วก็ไม่ใช่จริงด้วย  เรียกว่ามันเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น  ถ้าไม่รู้มัน  มันก็หลอกให้  เมื่อรู้มัน มันก็เปิดเผยความจริงให้

         ทีนี้ขันธ์ 5 เป็นดุจดังห้วงฝันดุจมายาคืออันนี้เอง  ข้อปฏิบัติที่ฝ่ายเถรวาทถือว่าขันธ์ 5 ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา  พระนิพพานเป็นเป้าหมาย  ดังนั้นพยายามจะแยกสังสารวัฏออกจากพระนิพพาน  อันนี้วัชรยานหรือมหายานถือว่าเป็นวิกัลปะ  เป็นเรื่องเพี้ยนไปเท่านั้นเอง  เพราะว่าเมื่อคนติดอยู่ในห้วงสังสารวัฎแล้ว  ไม่รู้จักสังสารวัฏตามที่เป็นจริง  ก็จะสร้างพระนิพพานขึ้นมา   แล้วพยายามที่จะหลุดพ้นจากสังสารวัฏ เพื่อเข้าสู่พระนิพพานและนั่นก็คือความฝัน  ฝันซ้อนอยู่ในความฝันนั่นเอง  เปรียบประดุจคนขาเสียก็ฝันถึงขาดี  ดังนั้นในความฝันนั้นเป็นการไม่รู้จักตื่นเอาทีเดียววัชรยานถือว่าอาการเช่นนี้เปนวิกัลปะ เป็นเรื่องวิปลาสไป ที่สอนกันเรื่องพระนิพพาน สอนให้หนีสังสารวัฏเช่นนี้

          แต่ว่าการวนเวียนในสังสารวัฏ  โดยไม่ตื่นก็ไม่ใช่เนื้อหาของวัชรยานหรือมหายานด้วย  วัชรยานเป็นนิกายที่พัฒนาขึ้นในกลุ่มมหายาน  ดังนั้นแทนที่จะหนีสังสารวัฏ  เพื่อบรรลุพระนิพพาน คติของวัชรยานก็คือต้องประจักษ์แจ้งสังสารวัฏ จุดนี้ผมกำลังนำเข้าสู่เนื้อหาแล้วที่ว่า แทนที่จะเข้าสู่พระนิพพาน  จะต้องประจักษ์แจ้งสังสารวัฏ  เพราะว่าเมื่อเข้าสู่ใจกลางขันธ์ 5 แล้ว  ก็จะประจักษ์ต่อความจริงได้  พูดอีกทีว่าความจริงนี้ไม่เคยเข้าสู่สำนึกของมนุษย์ได้เลย  เพราะว่ามนุษย์นั้นตกอยู่ในห้วงของความฝันเปรียบประดุจคนเมาจะพูดถึงภาวะปกติที่ไม่เมาให้ฟังนั้น  ก็ย่อมเข้าใจภาวะไม่เมาโดยความมอมเมาอย่างนั้น




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ไตร่ ตรอง มอง หลัก…
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2010, 06:14:11 pm »



             พุทธศาสนามองชีวิตเป็นขณะ ดังภาษิตที่ว่า “ ขโณ มาโว อุปัจจคา “ อย่าล่วงขณะเสียเลย ล่วงขณะหนึ่งแล้วก็จะยัดเยียดลงในนรก หมายถึงการปฏิบัติต้องมาถึงจุดที่สอดคล้องกับพลวัตของจักรวาล  คำว่า “ ขณะ “ ของพุทธศาสนาเราใช้คำว่า “ ขณะจิต “ เราไม่ได้พูดขณะที่แปลว่าครู่หนึ่ง ยามหนึ่ง พักหนึ่ง ขณะจิตหนึ่งนี้สั้นเท่าใดไม่มีใครรู้ จนกว่าสติจะทันท่วงที

           ดังนั้นเองฐานที่สำคัญของวัชรยาน  ก็เพื่อที่จะชำแรกให้พ้นจากความไม่รู้และก็ตื่นขึ้นในห้วงของความฝัน  ส่วนความคิดที่ว่ามีพระนิพพานเป็นจุดที่สมบูรณ์ที่สุดนั้น  นี่เป็นอุดมคติ  มนุษย์จะเอามโนคติมาเป็นตัวตนอยู่เรื่อย  ทั้ง ๆ ที่ตัวเองหรือตัวตนนั้นอยู่เหนืออุดมคติโดยประการทั้งปวง แต่ว่าเมื่อมนุษย์ไขว่คว้าเอามโนคติมาเป็นตัวเอง  เช่น เที่ยวคิดว่าตัวเองเป็นนั้นตัวเองเป็นนี่  แม้ตัวเองเป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย  ถ้าคิดว่าเราเป็นคนก็หมายว่าเราเป็นคนที่ดีนั่นเป็นธรรมดา  ฉันเป็นผู้หญิง ก็หมายความว่าฉันต้องเป็นผู้หญิงตามแบบฉบับของผู้หญิง  ในความหมายเช่นนี้ เมื่อมนุษย์มีชีวิตอยู่เช่นนี้ นั่นคือความงมงาย

           แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือว่า  ตนซึ่งอยู่นอกเหนืออุดมคตินั้นกลับไม่ถูกรู้ถูกเห็น  หรือกลับเห็นไปอย่างผิดเพี้ยนว่าการไร้อุดมคตินั้นเป็นการตกต่ำ ที่จริงการไร้อุดมคติและการอยู่เหนืออุดมคติคนละอัน  คือตัวเรานี่อยู่เหนืออุดมคติโดยประการทั้งปวง  คือเราจะสร้างตัวเราขึ้นไม่ได้  ตัวเรานี่ว่าโดยหลักของวัชรยานแล้ว  ตัวเรานี่เป็นสภาพพ้นอยู่แล้ว  แต่พลังของสติที่จะเข้าไปรู้นี้ไม่เพียงพอ  ปัญหาอยู่ที่ว่า ทุกคนมีธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่เรียบร้อยแล้ว  ถ้าพูดโดยเค้าของมหายานว่าชีวิตก็คือพุทธะ พุทธะย่อมหมายถึงความสมบูรณ์  ซึ่งอันที่จริงสอดคล้องกับหลักคิดของอุปนิษัทที่ว่า มนุษย์นี้เป็นพรหมอยู่แล้ว  ทีนี้ก็เมื่อจะรู้ให้ประจักษ์ จริง ๆ แล้วต้องปลุกพลังสติขึ้นให้พอเพียง ซึ่งหมายถึงพลังศักติ ศักติเข้าไปคลุกคลีส้องเสพกับสภาพสูงสุด  จึงจะสามารถตื่นได้

         ในเมื่อทุก ๆ คนคือพุทธะ หรือทุก ๆ คนมีธรรมชาติที่จะเบ่งบานเป็นพุทธได้อยู่เรียบร้อยแล้ว  การมองหานอกตัวก็ดี  ความเชื่อที่นอกระบบอันนี้ก็ดี ถือเป็นการผิดพลาด เป็นการฝันเฟื่องไปเท่านั้นเอง รวมไปถึงความพยายามที่จะหลุดพ้นด้วย  ความพยายามใดที่จะหลุดพ้นแสดงว่าเป็นทาสของความพยายามที่ผิด ๆ วัชรยานไปไกลมาก ในขณะที่มหายานนั้นเชื่อแต่เพียงว่ามนุษย์มีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ  แต่วัชรยานเห็นว่าทุกคนคือพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว  และความพยายามจะหลุดพ้นเป็นความโง่เปล่า ๆ

  ดังนั้นจะต้องเป็นการตื่นขึ้นในตัวเองอย่างสมบูรณ์เท่านั้น เป็นการบรรลุถึงความไม่มีอะไรให้บรรลุถึง  เป็นเพียงความแจ่มแจ้งหมดจดสิ้นเชิงเท่านั้น

เมื่อครู่ผมคุยกับอาจารย์ทวีวัฒน์ ที่ว่า  เรื่องฉัพพรรณรังสีก็ดี หรืออะไรก็ดี ปัจจุบันเป็นเรื่องพิสูจน์ทางวิชาการแล้วว่า เมื่อมนุษย์อารมณ์เปลี่ยนไป มันจะเปล่งรังสีชนิดหนึ่งออกมา  เช่นความริษยาเป็นสีหนึ่ง ความโกรธเป็นสีหนึ่ง  ดังนั้นฉัพพรรณรังสีก็ดี  สีที่ใช้ในศิลปะของทิเบตก็ดี  มีความหมายทั้งสิ้น  ถ้าของจีนผมพอจะจับเค้าได้ ถ้าของทิเบตต้องสารภาพว่ายังไม่ได้ศึกษา จีนถ้าสีเขียวหมายถึงตัณหา อ่านหนังสือ ไซอิ๋ว ดูนะครับที่จริง ไซอิ๋ว เป็นการเลียนเรื่องรามายณะ จีนแต่งเป็นสัญลักษณ์ทางธรรม  ถ้าเจอปีศาจหน้าเขียวแปลว่ากามราคะ  ปีศาจบางตัวสีดำ บางตัวสีแดง ซึ่งเป็นที่มาของสีงิ้วทุกวันนี้ ผมไปถามนักปราชญ์จีนที่ยังมีชีวิตอยู่ในเมืองไทยกลับไม่รู้เสียแล้ว  ผมอยากจะรู้แต่ท่านบอกไม่มีความหมายซึ่งผมไม่เชื่อ สีเหล่าเป็นสัญลักษณ์ของการอธิบายสภาวะ





ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ไตร่ ตรอง มอง หลัก…
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2010, 06:17:22 pm »



         ในภาพเขียนทิเบตที่เรียก “ ทังก้า “ จะมีอยู่สองประเภท ประเภทหนึ่งสวยสดงดงามมีลักษณะเป็นทิพย์ ( Divine ) สูง เพื่อให้เพ่งพร้อม ๆ กับมนตรา “ โอมมณีปัทเมฮูม “ อีกประเภทหนึ่งนั้นดูแล้วดุดัน มีพลวัตสูงรุนแรงและภาพโดดเด่นคือ “ ยับ-ยุม “ ภาพอวโลกิเตศวรกำลังเสพเมถุนกับศักติอย่างดื่มด่ำ  ศักติที่รู้จักกันแพร่หลายมาก  คือตาราวสุนทรา ตารานี่เป้นสัญลักษณ์ของพลังที่จะมาประกอบกันเข้าแล้วก็กระทำความสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นให้ปรากฎ

        ภาพบางชนิดของทิเบตทำเป็นรูปหัวกระโหลกและก็มีเลือดอยุ่ในนั้นแล้วพระโพธิสัตว์กำลังกินเลือด  ดูแล้วน่าขยะแขยง  แต่ว่าโดยความหมายแล้วก็ถือกันว่าจะเข้าถึงการตรัสรู้ที่สมบูรณ์ได้นั้น  ชีวิตต้องมาถึงจุดของความตาย  ราคาของชีวิตต้องเสมอตาย  จุดใดระดับใดที่ทำให้บุคคลปฏิญาณตัวเองได้ว่าเป็น่ชาววัชรยานอย่างสมบูรณ์ ทุกวันนี้ที่เป็นอาจารย์ชาววัชรยานที่ลือลั่นมีชื่อเสียงมากคือ  โชกยาง  ตรุงปะ  ผมไม่เคยเจอตัวแต่เคยฟังเทศน์ ท่านเคยเป็นลามะที่สำคัญองค์หนึ่ง  เป็นสหชาติขององค์ดาไลลามะ ที่เรียกว่า รินโปเช่  ต่อมาไปสหรัฐ ฯ  แล้วก็แต่งงาน  ตั้งสถาบันนโรปะขึ้น  ในวันเปิดงานนั้นตรุงปะก็ดื่มเหล้าเมาตกเก้าอี้  มีคนนับถือมาก  ผมว่ามีสานุศิษย์คิดว่าเป็นแสน ทำไม ก็โยงกลับไปสู่ลัทธิศักติครับ หรือตันตระที่ว่า ตันตระถือว่าปลุกพลังชีวิตให้ตื่น ไม่ใช่พลังเพศอย่างเดียว พลังเพศเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น

          สำหรับตันตระมีหลัก 5 ประการ คือการเสพมัจฉา มังสะ เมรยะ เมถุน และข้าวสาลี กินเหล้าดื่มสุราเพื่อปลุกพลังชีวิตให้ตื่นตัวขึ้นให้มีพลังขึ้น  เป็นเพียงพลังหนึ่ง แล้วก็กินเนื้อ กินปลา แล้วกกินข้าวสาลีอย่างดี คือให้อาหารเหล่านั้นเข้าไปเป็นพลัง ( Energy ) เพื่อทำให้ชีวิตมี “ ไฟ “ สูง ชาวตันตระนอกเหนือเวลาปฏิบัติแล้ว เป็นผู้มีระเบียบวินัยชั้นสูง ดังนั้นอาการที่มีพลัง ยุ่งกับพลังต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ใช่ความเหลวแหลก  แต่ว่าข่าวสารที่เราทราบนั้น กระทำให้บุคคลเหล่านั้นเหลวแหลกทั้งสิ้น  ซึ่งเป็นการโจมตีที่อคติมาก ๆ  เท่าที่ผมทราบ ชาววัชรยานตันตระนั้น เป็นผู้ที่มีระเบียบวินัยชั้นสูง  ควบคุมตัวเองได้อย่าดี มีพลังสติสมปฤดี มีพลังสุตะสูงส่ง พลังเหล่านี้คือ สุตพละ สติพละ  ปัญญาพละสูง ต่อแต่นั้นก็คือ การปฏิบัติวัชรยานเพื่อให้เกิดญาณสายฟ้า

         วัชรแปลว่า  เพชรหรือวิเชียร  เชื่อกันว่าวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น พระพุทธเจ้าไม่รู้อะไรมาล่วงหน้า  และอาการไม่รู้อะไรเลยอันยิ่งใหญ่นั่นเอง  เป็นสถานะที่คาดไม่ถึง  ก็ตื่นในขณะนั้น  การตรัสรู้นั้นเป็นไปอย่างฉับพลันทันใด  โดยไม่มีการรู้ล่วงหน้ามาก่อน  ดังนั้นสาระสำคัญที่สุดของวัชรยานก็คือ  ญาณสายฟ้าแล

         ดังนั้นเราคงพอจะเห็นเค้าว่า  การใช้พลังทางเพศก็ดี  กินเนื้อก็ดี ดื่มสุราก็ดี  ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นมีเป้าหมายสำคัญคือการทำให้เกิดวัชรญาณความรุ้แจ้งอย่างฉับพลันและหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิง  ดังนั้นจึงไม่ใช่การกระทำซึ่งเหยาะแหยะ  ชาวตันตรวัชรยานจึงพูดกันว่า  สิ่งนี้ไม่เป็นสาธารณะต่อผู้ที่ขาดสติ  ดังนั้นสายนี้จึงเรียกตัวเองว่า  สายกระซิบความหูต่อหู ( Whispering Line ) เป็นการกระซิบตัวต่อตัวเท่านั้น ไม่ใช่การสอนในที่สาธารณะ  ซึ่งผู้ไม่มีพลังพอเพียงก็จะถูกทำลายย่อยยับ  สายของวัชรยานองค์ที่เด่น ๆ ในอดีตก็คือ มิลาเรปะ  ติโลปะ  นโรปะ  กัมโบปะ  บุคคลเหล่านี้ดูไปทั่วๆ ไปแล้วเป็นผู้ซึ่งถ่ายทอดวิธีการจำเพาะตัวออกมา  เรียก Whispering Line โดยเฉพาะกัมโบปะ  ซึงเป็นภิกษุที่เป็นเยี่ยมทางการศึกษา  มิลาเรปะ  ทดสอบถึงกับเอาเท้าตั้งบนหัวในวันที่กัมโบปะ  ซึ่งเป็นภิกษุ จะมาเรียนธรรมะ ซึ่งปรากฎว่ากัมโบปะภิกษุนั้นไม่ได้รังเกียจอาจารย์ตัวเอง ซึ่งเป็นเพียงโยคี ไม่ได้บวชพระ

           ทีนี้ก็มาถึงหลักในการดำรงจิตในการปฏิบัติของวัชรยาน  ส่วนนี้ผมถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุด   กล่าวได้ว่านี่เองคือสาระในการปฏิบัติ เรียกกันว่า มนสิการ 4  มนสิการ 4 นั้น เป็นการดำรงจิตไว้ในฐานะที่จะก่อเกิดวัชรญาณ และก็เมื่อดำรงจิตไว้ในฐานทั้ง 4 นี้ได้แล้ว กิเลสตัณหาจะกลับเป็นเครื่องเร้าให้ถึงที่สุดได้

        เมื่อกี้ผมได้ปูรากฐานแล้วว่า กิเลสตัณหาไม่ใช่อะไรอื่น แท้จริงเป็นรูปหนึ่งของปัญญา  แต่ว่าพลังไม่พอมันก็จะทำลายเอา  เมื่อกิเลสปรากฎขึ้นในจิตใจมนุษย์  เกิดฟั่นเฟือนทางสติทันที  ต่อจากนั้นก็คือการยึดถือความทุกข์ทรมานต่าง ๆ  แต่ถ้าหากกิเลสสัมผัส ในขณะที่กิเลสสัมผัสมีความไม่ฟั่นเฟือน  มีความตั้งมั่นของสติ มีสมปฤดี มีเจตนารมย์บริสุทธิ์มีเจตนาที่ผ่องแผ้ว  มีศรัทธาอันไม่โยกคลอนอีกแล้วต่อทางของการตรัสรู้ในขณะเช่นนั้นเอง  พลังของสติสมปฤดีนั้นก็จะทวีขึ้นตามพลังของกิเลส กิเลสมาก กิเลสลึก  ปัญญาก็จะมาก  ปัญญาก็จะลึก




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ไตร่ ตรอง มอง หลัก…
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2010, 06:19:15 pm »



          ดังนั้นปัญหามันไม่ได้อยู่ตรงกิเลส  เพราะว่าตามธรรมดานี่ ไม่ว่าชาววัชรยาน ชาวทิเบต  ชาวเซ็น  ก็มีกิเลสกันอยู่แล้ว  พูดง่าย ๆ ว่าคนทั่วไปก็ร่วมเพศกันอยู่แล้ว  พูดตรง ๆ นะ เพียงแต่ว่ามนุษย์ ไม่รู้จักใช้พลังอันนั้นให้ก่อเกิดประโยชน์ทางศาสนธรรม ทีนี้พอได้ยินว่าเอาเรื่องเมถุนมาเป็นทางของการปฏิบัติ  ก็กลับไม่ชอบไม่พอใจ  ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ร่วมกันอยู่แล้ว ก็เป็นกันอยู่แล้ว  แต่ว่าไม่เข้าใจต่อขบวนการเหล่านี้  ไม่มีเจตนาบริสุทธิ์ต่อธรรมะ  ไม่มีความมุ่งมั่น  ไม่ศรัทธาต่อทางของความหลุดรอดและข้อสำคัญคือ ไม่มีพลังของสติพอเพียงที่จะเดินผ่านสิ่งเหล่านี้อย่างอิสระและดังนั้นเองจึงเป็นการปฏิบัติการที่หนีกิเลส  การที่เราหลบเลี่ยงกิเลสไปโดยที่เราไม่สามารถเข้าใจมันอย่างถ่องแท้  นั่นคือ  เมื่อมันหวนกลับมาใหม่ก็ทวีขึ้น  แต่วิธีการของวัชรยานคือการเข้าไปสัมผัสกับกิเลส  ราคะก็ดี โทสะก็ดี  โมหะก็ดี  กิเลสชนิดหนึ่งชนิดใดที่ปรากฏขึ้นเมื่อเข้าไปสัมผัสมัน  เป็นอันเดียวกับมัน  เมื่อเป็นเช่นนี้พลังของสติปัญญาจะดูดพิษร้ายออกมาได้  เรื่องนี้ไม่สู้จะเป็นสาธารณะต่อผู้ที่ไม่เจริญภาวนา  คิดเอาด้วยเหตุผลสามัญย่อมเข้าใจได้ไม่สมบูรณ์   ผมว่าอย่างนั้นนะ  เพราะว่าเราคิดด้วยระบบตรรกะระบบหนึ่ง

เมื่อกิเลสเข้ามามันก็ไม่ปัญญาแล้วคนมีกิเลสหนา ก็คือคนโง่  คนมีตัณหาก็คือคนที่ใช้ไม่ได้  คนหลง แต่ระบบตรรกะที่ผมกำลังใช้อยู่ขณะนี้เป็นอีกระบบหนึ่ง  หมายความว่าเมื่อมีสติสมปฤดี  เมื่อกิเลสเข้ามาสัมผัส  ความไม่ฟั่นเฟือน ความตั้งมั่น สมาธิ เจตนาที่ดี  ความเข้าใจที่ถ่องแท้และพอเพียง ก็สามารถทำให้กิเลสถูกดูดพิษร้ายออกได้ ไม่กลายเป็นปัญหาอีก  เมื่อไม่เป็นปัญหาพลังก็เสริมสร้าง   ดังนั้นกิเลสนั่นเอง  ที่กลับกลายเป็นปัญญา  ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับมนสิการ 4

       มนสิการ 4 คืออะไร ฐานของสติฐานแรกคือ  มีสติอยู่บนฐานบนนิเวศน์แห่งใจ  สติกลับไปสู่ใจได้แล้ว คือรู้จักใจแล้ว  รู้ว่าใจอยู่ที่ไหนซึ่งคนธรรมดาทั่วไปไม่รู้  ดังนั้นฐานแรกนี้เป็นฐานที่สำคัญมาก   คือต้องบรรลุถึงฐานแรกก่อนหรือมโนนิเวศน์  กลับเข้าในนิเวศน์แห่งมโนได้แล้ว  มนสิการอยู่ที่นี่แล้ว อะไรจะเข้ามากระทบสัมผัสก็ล้วนแต่ก่อเกิดสติปัญญาทั้งสิ้น   คล้าย ๆ กับมันรู้เสียแล้ว อะไรเข้ามากระทบมันยิ่งรู้ยิ่งขึ้น  

ถ้ายังไม่รู้ อะไรเข้ามากระทบมันก็ยิ่งไม่รู้ยิ่งขึ้น  คล้าย ๆ นักมวยชกชิงแชมป์กัน พอเจอหมัดสักหมัดเดียวเมาติดหมัดเลย  แล้วจะงงเมื่องงก็ถูกต่อย  เมื่อถูกต่อยก็ยิ่งงงยิ่งขึ้น  ในที่สุดก็ทรุด  ในฝ่ายผู้ต่อยนั้นตรงข้าม  เมื่อต่อยไปที่คางคู่ต่อยได้แล้ว หมัดแรง ๆ ก็ยิ่งตามเป็นชุด ๆ ยิ่งขึ้น อันนี้ผมเปรียบเทียบเท่านั้น  ฐานแรกนี่สำคัญมาก  ผู้ที่ไม่ผ่านการพัฒนาตามลำดับย่อมฟั่นเฟือนได้ง่าย  ดังนั้นข้อคิดที่ว่า แรกควรสมาทานหินยานจิต  ต่อมามหายาน  ต่อมาวัชรยานนั้น ใช้ได้ทีเดียว  ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องพัฒนาสมปฤดีมาตามลำดับ  รักษาศีล  มีระเบียบวินัยมาตามลำดับ  วัชรยานไม่ใช่เรื่องศีลเรื่องวินัยภายนอก  แต่เป็นเรื่องศีลวินัยภายใน  ซึ่งขึ้นกับเจตนาและสติปัญญาชั้นสูง




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ไตร่ ตรอง มอง หลัก…
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2010, 06:20:59 pm »



        ฐานที่สอง คำว่าฐานในที่นี้หมายถึงว่ามีสติอยุ่บนฐานทั้งสี่นี้วนเวียนเปลี่ยนแปร ซึ่งใช้ได้ทั้งนั้น  ฐานที่สอง คือ มีสติมนสิการอยู่ในขณะที่ยังมีถ้อยคำอยู่ข้างใน มีวาจาอยู่ข้างใน ถ้าพูดอีกภาษาหนึ่งคือเห็นความคิด  หรือภาษาเถรวาทเรียกว่า สมาธิในระดับวิตกวิจาร คือยังมีวิตกวิจารอยู่  นี่คือฐานที่สอง

            ฐานที่สามนั้น ไม่มีคำพูด ไม่มีภาษาในภายใน ไม่มีวิตกวิจาร  ดังนั้นเป็นความเงียบเชียบของหัวใจ  ภายใต้ฐานอันนี้กิเลส  ตัณหา ราคะ ที่เข้ามาแปรเปลี่ยนเป็นพลังที่บริสุทธิ์หมดสิ้น  ความเงียบในหัวใจหมายถึงอะไร   ความเงียบที่เราได้ยินทางหู เสียงแอร์คอนดิชั่น เสียงนกหรือเสียงผมพูด  ถ้าผมไม่พูดก็เงียบไปนี่ไม่ใช่  นี่มันเงียบเพราะเราฟังด้วยหู  แต่ความเงียบที่หัวใจนี่ไม่ใช่อันนั้น เพราะสิ้นวิตกวิจารคือปราศจากเรื่องราวใด ๆ  หรือความคิดอยู่ห่างหายแผ่วเบา เรียกว่าวิเวกก็เรียก เรียกว่าจิตนั้นไปแล้วสู่วิเวก

ดังนั้นที่ฐานนี้เองไม่มีความทรงจำเรื่องอัตตา  ไม่มีมโนคติ  เรื่องอัตตาใหญ่ ไม่มีเรื่องนิพพาน  ไม่มีเรื่องสังสารวัฏ ไม่มีมโนคติ  เรื่องอัตตาใหญ่ ไม่มีเรื่องนิพพาน  ไม่มีเรื่อสังสารวัฏ  ไม่มีเรื่องความดี ความชั่ว ไม่มีเรื่องอดีต ไม่มีเรื่องอนาคต นี่คือฐานที่สาม

            ฐานที่สี่เป็นฐานที่สำคัญที่สุด  ตรงนี้เองที่เป็นจุดที่วัชรยานถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด  ซึ่งชาวเถรวาทมักเอามาพูดกัน  สิ่งที่เรียกว่าสักแต่รู้ สักแต่เห็น สักแต่เป็น แต่ว่านั่นเป็นผล  ตาเห็นรูป สักแต่ว่าเห็น หูได้ยินเสียงสักแต่ว่าได้ยิน  ไม่ยินดียินร้าย  จิตรู้ธรรมารมณ์ไม่ยินดียินร้าย  แต่เราพูดกันในฐานะที่มันเป็นผล โดยประโยคนี้เองที่พระพาหิยะเข้าถึงการตรัสรู้ ท่านจับข้อเท้าพระพุทธเจ้าอยู่  ถามว่าปฏิบัติธรรมที่สุดนั้นทำอย่างไร  พระพุทธเจ้าปฏิเสธ 2 ครั้ง  เพราะที่ไม่เหมาะที่จะสอน แต่พระพาหิยะจับข้อเท้าพระพุทธเจ้าคล้าย ๆ อยากรู้ให้ได้  เมื่อเป็นเช่นนั้นพระพุทธเจ้าก็พูดโดยย่อ “ ดูก่อนพาหิยะ  เมื่อตาเห็นรูป สักแต่เห็น หูได้ยินเสียง สักแต่ได้ยิน  จิตรู้ธรรมารมณ์ใด สักแต่รู้ เมื่อนั้นเธอจะไม่ปรากฏในโลกนี้  โลกหน้า  ในโลกทั้งสอง “    ที่จริงนี่คือหลักของวัชรยานญาณสายฟ้าแลบ  ในทันใดนั้นเอง  พระพาหิยะก็ตรัสรู้ในระดับนั้นที่ตรงนั้น  กรณีเช่นนี้เกิดกับองคุลีมาล  พาหิยะ  พระยศกุลบุตร  ญาณสายฟ้านั้นเกิดในขณะพระยศไม่ได้บวช  เป็นคนเดียวที่พระพุทธเจ้าขอให้มาบวชด้วยถ้อยคำซึ่งไม่เหมือนคนอื่น  ปกติพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ เธอจงมาเป็นภิกษุ มาทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด “  เพราะยังไม่ถึงที่สุดทุกข์  แต่กรณีพระยศกุลบุตรทรงบอก “ เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด “ ไม่ได้บอกว่าให้มาทำที่สุดทุกข์  เพราะว่าท่านถึงแล้วในขณะที่นั่งฟังพระพุทธเจ้าสอนพ่อของท่านอยู่ ท่านไม่ได้เป็นนักบวชด้วย

             ว่าที่จริงแล้วพุทธศาสนาทั้งหมด ไม่ว่าในจีน ในทิเบต ในไทย  ที่เป็นแก่นเป็นเรื่อง วัชรยานทั้งสิ้นคือ การเข้าถึงอย่างแบบพลันทันใด  วัชรยานดูไปแล้วละม้ายคล้ายกับการเอาหนามบ่งหนาม  เอาน้ำกรอกหูเมื่อน้ำเข้าไปในหู  เป็นการกระทำซึ่งดูคล้าย ๆ ว่าต้องทำเข้าไปอย่างนั้น  เพื่อไล่สิ่งนั้นที่ค้างคาอยู่ หรือเหมือนวัคซีนที่ฉีดเข้าไป เขาฉีดเชื้อโรคเข้าไปนั่นเอง  เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรค  วัคซีนก็คือเชื้อโรคที่ฉีดเข้าไปและเพื่อที่จะให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน หรือพูดง่าย ๆ อีกทีว่าภายในช่วงที่เร่าร้อนด้วยกิเลสตัณหา  ถ้าในขณะนั้นสามารถดำรงสติสมปฤดีไม่ให้ฟั่นเฟือนได้  นั่นคือทางออก  เพราะว่านักกระโดดข้ามรั้วที่ไม่มีรั้วแล้วบอกว่า เป็นนักกีฬาข้ามรั้วคงไม่ได้แน่  ความสำคัญของวัชรยานไม่ได้อยู่ตรงการใช้กามารมณ์ หรือกินเนื้อ หรือกินเหล้า อย่าเข้าใจผิดไป มันไปอยู่ตรงมนสิการนี่แหละ เพราะว่าเมื่อมนสิการอันนี้ได้แล้ว ต่อจากนั้นอะไรก็ตามในชีวิตประจำวันย่อมใช้ได้ ทั้งเรื่อกาม เรื่องอื่น ๆ ทุก ๆ เรื่อง เพราะว่าโดยธรรมดามันก็เป็นอยู่แล้ว  คนก็ร่วมเพศกันอยู่แล้ว  คนก็ดื่มกันอยู่แล้ว  แต่เขาไม่สามารถทำให้อุปสรรคให้เป็นอุปการะได้