แสงธรรมนำใจ > วัชรยาน
ไตร่ ตรอง มอง หลัก…
ฐิตา:
ทบทวนใหม่นะครับ หลักวัชรยานนี้ที่จริงเป็นหลักแก่นแท้ ๆ พูดไปแล้ว แต่ก็ได้รวบรวมความเชื่อของหลักอุปนิษัทและขบวนการเคมีชีวภาพหมดสิ้น ลักษณะบางลักษณะเช่นเรื่องกามารมณ์ ที่จริงเป็นเรื่องเคมีชีวะเพราะขบวนการของกามารมณ์ เป็นขบวนการเปลี่ยนแปลงของเคมีชีวภาพจากการสัมผัส ในหลักของวัชรยานที่ว่าชีวิตเป็นดังห้วงความฝัน พระสูตรที่สำคัญของมหายานเช่น ปรัชญาปารมิตาก็ดี หรือหลาย ๆ สูตรของเราก็มี ในสูตรของเถรวาทสูตรหนึ่งบอกว่า รูปดุจดังฟองน้ำ เวทนาดุจดังน้ำค้าง ( ต่อมน้ำ ) สัญญาดุจดังพยับแดด สังขารดุจกาบกล้วย วิญญาณดุจมายากล
เมื่อวินิจฉัยถึงคำว่ามายา ผมอยากจะแก้ข้อเข้าใจบางอย่างเพราะศัพท์ภาษาไทยที่เรานำมาจากภาษาบาลีสันสกฤตไปใช้ เราใช้ในความหมายของอีกอันหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงตามนิรุกตินั้น ๆ เช่นคำว่ามายาของเราถือว่าหลอกลวงหรือมารยา ที่จริงมายานั้นไม่ใช่หลอกลวง มันเป็นอย่างนั้นเอง
คำว่ามายาหรือมยกังนั้นโดยรากศัพท์มันจะตรงกับคำ Magical ดังนั้นไม่ได้หมายถึงมันหลอกลวง คือมันเป็นดุจ Magic มันเป็นอยู่อย่างนั้น และอีกความหมายหนึ่งแปลว่า งามอย่างน่าพิศวงก็ได้ สมมติว่าเราไปในทะเลทรายหรือถนนในฤดูร้อนก็จะมีภาพปรากฎขึ้นเหมือนกับแอ่งน้ำบนถนนที่ร้อน แต่ว่าเมื่อเราเข้าไปใกล้มันจริง ๆ เข้าไปที่ศูนย์ไส้ ศูนย์กลางจริง ๆ มันไม่มีอย่างนั้น แต่พอกลับมายืนที่จุดนั้น ๆ ก็จะปรากฎอีกแล้ว มันไม่ได้หลอกลวงเรา แต่มันเป็นอย่างนั้นเอง เรียกว่าอัศจรรย์มาก ๆ นี่คือคำว่ามายา ดังนั้นมันเป็นอยู่1อย่างนี้สภาวะที่ว่าขันธ์ 5 เป็นมายา ดังนั้นมันเป็นอยู่อย่างนี้ สภาวะที่ว่าขันธ์ 5 เป็นมายา เป็นดุจห้วงของความฝัน ปัญหามันอยู่ที่ว่าเมื่อเราไม่เข้าถึงศูนย์กลางมัน มันก็หลอกให้เท่านั้นเอง หลอกว่าเป็นจริง เราไม่รู้ เราเห็นแอ่งน้ำ เราคิดว่ามีจริง ๆ หรือว่าคนเล่นกลให้เราคิดว่าจริง แต่ว่าถ้าเราเป็นคนเล่นเอง หรือว่าเราเข้าถึงความเป็นผู้เล่นเกมส์อันนั้น เราจะรู้ว่าเรื่องนี้มีความจริงอยู่อย่างไร ดังนั้นมายาไม่ใช่ว่าไม่จริง แล้วก็ไม่ใช่จริงด้วย เรียกว่ามันเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น ถ้าไม่รู้มัน มันก็หลอกให้ เมื่อรู้มัน มันก็เปิดเผยความจริงให้
ทีนี้ขันธ์ 5 เป็นดุจดังห้วงฝันดุจมายาคืออันนี้เอง ข้อปฏิบัติที่ฝ่ายเถรวาทถือว่าขันธ์ 5 ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา พระนิพพานเป็นเป้าหมาย ดังนั้นพยายามจะแยกสังสารวัฏออกจากพระนิพพาน อันนี้วัชรยานหรือมหายานถือว่าเป็นวิกัลปะ เป็นเรื่องเพี้ยนไปเท่านั้นเอง เพราะว่าเมื่อคนติดอยู่ในห้วงสังสารวัฎแล้ว ไม่รู้จักสังสารวัฏตามที่เป็นจริง ก็จะสร้างพระนิพพานขึ้นมา แล้วพยายามที่จะหลุดพ้นจากสังสารวัฏ เพื่อเข้าสู่พระนิพพานและนั่นก็คือความฝัน ฝันซ้อนอยู่ในความฝันนั่นเอง เปรียบประดุจคนขาเสียก็ฝันถึงขาดี ดังนั้นในความฝันนั้นเป็นการไม่รู้จักตื่นเอาทีเดียววัชรยานถือว่าอาการเช่นนี้เปนวิกัลปะ เป็นเรื่องวิปลาสไป ที่สอนกันเรื่องพระนิพพาน สอนให้หนีสังสารวัฏเช่นนี้
แต่ว่าการวนเวียนในสังสารวัฏ โดยไม่ตื่นก็ไม่ใช่เนื้อหาของวัชรยานหรือมหายานด้วย วัชรยานเป็นนิกายที่พัฒนาขึ้นในกลุ่มมหายาน ดังนั้นแทนที่จะหนีสังสารวัฏ เพื่อบรรลุพระนิพพาน คติของวัชรยานก็คือต้องประจักษ์แจ้งสังสารวัฏ จุดนี้ผมกำลังนำเข้าสู่เนื้อหาแล้วที่ว่า แทนที่จะเข้าสู่พระนิพพาน จะต้องประจักษ์แจ้งสังสารวัฏ เพราะว่าเมื่อเข้าสู่ใจกลางขันธ์ 5 แล้ว ก็จะประจักษ์ต่อความจริงได้ พูดอีกทีว่าความจริงนี้ไม่เคยเข้าสู่สำนึกของมนุษย์ได้เลย เพราะว่ามนุษย์นั้นตกอยู่ในห้วงของความฝันเปรียบประดุจคนเมาจะพูดถึงภาวะปกติที่ไม่เมาให้ฟังนั้น ก็ย่อมเข้าใจภาวะไม่เมาโดยความมอมเมาอย่างนั้น
ฐิตา:
พุทธศาสนามองชีวิตเป็นขณะ ดังภาษิตที่ว่า “ ขโณ มาโว อุปัจจคา “ อย่าล่วงขณะเสียเลย ล่วงขณะหนึ่งแล้วก็จะยัดเยียดลงในนรก หมายถึงการปฏิบัติต้องมาถึงจุดที่สอดคล้องกับพลวัตของจักรวาล คำว่า “ ขณะ “ ของพุทธศาสนาเราใช้คำว่า “ ขณะจิต “ เราไม่ได้พูดขณะที่แปลว่าครู่หนึ่ง ยามหนึ่ง พักหนึ่ง ขณะจิตหนึ่งนี้สั้นเท่าใดไม่มีใครรู้ จนกว่าสติจะทันท่วงที
ดังนั้นเองฐานที่สำคัญของวัชรยาน ก็เพื่อที่จะชำแรกให้พ้นจากความไม่รู้และก็ตื่นขึ้นในห้วงของความฝัน ส่วนความคิดที่ว่ามีพระนิพพานเป็นจุดที่สมบูรณ์ที่สุดนั้น นี่เป็นอุดมคติ มนุษย์จะเอามโนคติมาเป็นตัวตนอยู่เรื่อย ทั้ง ๆ ที่ตัวเองหรือตัวตนนั้นอยู่เหนืออุดมคติโดยประการทั้งปวง แต่ว่าเมื่อมนุษย์ไขว่คว้าเอามโนคติมาเป็นตัวเอง เช่น เที่ยวคิดว่าตัวเองเป็นนั้นตัวเองเป็นนี่ แม้ตัวเองเป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย ถ้าคิดว่าเราเป็นคนก็หมายว่าเราเป็นคนที่ดีนั่นเป็นธรรมดา ฉันเป็นผู้หญิง ก็หมายความว่าฉันต้องเป็นผู้หญิงตามแบบฉบับของผู้หญิง ในความหมายเช่นนี้ เมื่อมนุษย์มีชีวิตอยู่เช่นนี้ นั่นคือความงมงาย
แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือว่า ตนซึ่งอยู่นอกเหนืออุดมคตินั้นกลับไม่ถูกรู้ถูกเห็น หรือกลับเห็นไปอย่างผิดเพี้ยนว่าการไร้อุดมคตินั้นเป็นการตกต่ำ ที่จริงการไร้อุดมคติและการอยู่เหนืออุดมคติคนละอัน คือตัวเรานี่อยู่เหนืออุดมคติโดยประการทั้งปวง คือเราจะสร้างตัวเราขึ้นไม่ได้ ตัวเรานี่ว่าโดยหลักของวัชรยานแล้ว ตัวเรานี่เป็นสภาพพ้นอยู่แล้ว แต่พลังของสติที่จะเข้าไปรู้นี้ไม่เพียงพอ ปัญหาอยู่ที่ว่า ทุกคนมีธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่เรียบร้อยแล้ว ถ้าพูดโดยเค้าของมหายานว่าชีวิตก็คือพุทธะ พุทธะย่อมหมายถึงความสมบูรณ์ ซึ่งอันที่จริงสอดคล้องกับหลักคิดของอุปนิษัทที่ว่า มนุษย์นี้เป็นพรหมอยู่แล้ว ทีนี้ก็เมื่อจะรู้ให้ประจักษ์ จริง ๆ แล้วต้องปลุกพลังสติขึ้นให้พอเพียง ซึ่งหมายถึงพลังศักติ ศักติเข้าไปคลุกคลีส้องเสพกับสภาพสูงสุด จึงจะสามารถตื่นได้
ในเมื่อทุก ๆ คนคือพุทธะ หรือทุก ๆ คนมีธรรมชาติที่จะเบ่งบานเป็นพุทธได้อยู่เรียบร้อยแล้ว การมองหานอกตัวก็ดี ความเชื่อที่นอกระบบอันนี้ก็ดี ถือเป็นการผิดพลาด เป็นการฝันเฟื่องไปเท่านั้นเอง รวมไปถึงความพยายามที่จะหลุดพ้นด้วย ความพยายามใดที่จะหลุดพ้นแสดงว่าเป็นทาสของความพยายามที่ผิด ๆ วัชรยานไปไกลมาก ในขณะที่มหายานนั้นเชื่อแต่เพียงว่ามนุษย์มีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ แต่วัชรยานเห็นว่าทุกคนคือพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว และความพยายามจะหลุดพ้นเป็นความโง่เปล่า ๆ
ดังนั้นจะต้องเป็นการตื่นขึ้นในตัวเองอย่างสมบูรณ์เท่านั้น เป็นการบรรลุถึงความไม่มีอะไรให้บรรลุถึง เป็นเพียงความแจ่มแจ้งหมดจดสิ้นเชิงเท่านั้น
เมื่อครู่ผมคุยกับอาจารย์ทวีวัฒน์ ที่ว่า เรื่องฉัพพรรณรังสีก็ดี หรืออะไรก็ดี ปัจจุบันเป็นเรื่องพิสูจน์ทางวิชาการแล้วว่า เมื่อมนุษย์อารมณ์เปลี่ยนไป มันจะเปล่งรังสีชนิดหนึ่งออกมา เช่นความริษยาเป็นสีหนึ่ง ความโกรธเป็นสีหนึ่ง ดังนั้นฉัพพรรณรังสีก็ดี สีที่ใช้ในศิลปะของทิเบตก็ดี มีความหมายทั้งสิ้น ถ้าของจีนผมพอจะจับเค้าได้ ถ้าของทิเบตต้องสารภาพว่ายังไม่ได้ศึกษา จีนถ้าสีเขียวหมายถึงตัณหา อ่านหนังสือ ไซอิ๋ว ดูนะครับที่จริง ไซอิ๋ว เป็นการเลียนเรื่องรามายณะ จีนแต่งเป็นสัญลักษณ์ทางธรรม ถ้าเจอปีศาจหน้าเขียวแปลว่ากามราคะ ปีศาจบางตัวสีดำ บางตัวสีแดง ซึ่งเป็นที่มาของสีงิ้วทุกวันนี้ ผมไปถามนักปราชญ์จีนที่ยังมีชีวิตอยู่ในเมืองไทยกลับไม่รู้เสียแล้ว ผมอยากจะรู้แต่ท่านบอกไม่มีความหมายซึ่งผมไม่เชื่อ สีเหล่าเป็นสัญลักษณ์ของการอธิบายสภาวะ
ฐิตา:
ในภาพเขียนทิเบตที่เรียก “ ทังก้า “ จะมีอยู่สองประเภท ประเภทหนึ่งสวยสดงดงามมีลักษณะเป็นทิพย์ ( Divine ) สูง เพื่อให้เพ่งพร้อม ๆ กับมนตรา “ โอมมณีปัทเมฮูม “ อีกประเภทหนึ่งนั้นดูแล้วดุดัน มีพลวัตสูงรุนแรงและภาพโดดเด่นคือ “ ยับ-ยุม “ ภาพอวโลกิเตศวรกำลังเสพเมถุนกับศักติอย่างดื่มด่ำ ศักติที่รู้จักกันแพร่หลายมาก คือตาราวสุนทรา ตารานี่เป้นสัญลักษณ์ของพลังที่จะมาประกอบกันเข้าแล้วก็กระทำความสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นให้ปรากฎ
ภาพบางชนิดของทิเบตทำเป็นรูปหัวกระโหลกและก็มีเลือดอยุ่ในนั้นแล้วพระโพธิสัตว์กำลังกินเลือด ดูแล้วน่าขยะแขยง แต่ว่าโดยความหมายแล้วก็ถือกันว่าจะเข้าถึงการตรัสรู้ที่สมบูรณ์ได้นั้น ชีวิตต้องมาถึงจุดของความตาย ราคาของชีวิตต้องเสมอตาย จุดใดระดับใดที่ทำให้บุคคลปฏิญาณตัวเองได้ว่าเป็น่ชาววัชรยานอย่างสมบูรณ์ ทุกวันนี้ที่เป็นอาจารย์ชาววัชรยานที่ลือลั่นมีชื่อเสียงมากคือ โชกยาง ตรุงปะ ผมไม่เคยเจอตัวแต่เคยฟังเทศน์ ท่านเคยเป็นลามะที่สำคัญองค์หนึ่ง เป็นสหชาติขององค์ดาไลลามะ ที่เรียกว่า รินโปเช่ ต่อมาไปสหรัฐ ฯ แล้วก็แต่งงาน ตั้งสถาบันนโรปะขึ้น ในวันเปิดงานนั้นตรุงปะก็ดื่มเหล้าเมาตกเก้าอี้ มีคนนับถือมาก ผมว่ามีสานุศิษย์คิดว่าเป็นแสน ทำไม ก็โยงกลับไปสู่ลัทธิศักติครับ หรือตันตระที่ว่า ตันตระถือว่าปลุกพลังชีวิตให้ตื่น ไม่ใช่พลังเพศอย่างเดียว พลังเพศเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น
สำหรับตันตระมีหลัก 5 ประการ คือการเสพมัจฉา มังสะ เมรยะ เมถุน และข้าวสาลี กินเหล้าดื่มสุราเพื่อปลุกพลังชีวิตให้ตื่นตัวขึ้นให้มีพลังขึ้น เป็นเพียงพลังหนึ่ง แล้วก็กินเนื้อ กินปลา แล้วกกินข้าวสาลีอย่างดี คือให้อาหารเหล่านั้นเข้าไปเป็นพลัง ( Energy ) เพื่อทำให้ชีวิตมี “ ไฟ “ สูง ชาวตันตระนอกเหนือเวลาปฏิบัติแล้ว เป็นผู้มีระเบียบวินัยชั้นสูง ดังนั้นอาการที่มีพลัง ยุ่งกับพลังต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ใช่ความเหลวแหลก แต่ว่าข่าวสารที่เราทราบนั้น กระทำให้บุคคลเหล่านั้นเหลวแหลกทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการโจมตีที่อคติมาก ๆ เท่าที่ผมทราบ ชาววัชรยานตันตระนั้น เป็นผู้ที่มีระเบียบวินัยชั้นสูง ควบคุมตัวเองได้อย่าดี มีพลังสติสมปฤดี มีพลังสุตะสูงส่ง พลังเหล่านี้คือ สุตพละ สติพละ ปัญญาพละสูง ต่อแต่นั้นก็คือ การปฏิบัติวัชรยานเพื่อให้เกิดญาณสายฟ้า
วัชรแปลว่า เพชรหรือวิเชียร เชื่อกันว่าวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น พระพุทธเจ้าไม่รู้อะไรมาล่วงหน้า และอาการไม่รู้อะไรเลยอันยิ่งใหญ่นั่นเอง เป็นสถานะที่คาดไม่ถึง ก็ตื่นในขณะนั้น การตรัสรู้นั้นเป็นไปอย่างฉับพลันทันใด โดยไม่มีการรู้ล่วงหน้ามาก่อน ดังนั้นสาระสำคัญที่สุดของวัชรยานก็คือ ญาณสายฟ้าแล
ดังนั้นเราคงพอจะเห็นเค้าว่า การใช้พลังทางเพศก็ดี กินเนื้อก็ดี ดื่มสุราก็ดี ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นมีเป้าหมายสำคัญคือการทำให้เกิดวัชรญาณความรุ้แจ้งอย่างฉับพลันและหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจึงไม่ใช่การกระทำซึ่งเหยาะแหยะ ชาวตันตรวัชรยานจึงพูดกันว่า สิ่งนี้ไม่เป็นสาธารณะต่อผู้ที่ขาดสติ ดังนั้นสายนี้จึงเรียกตัวเองว่า สายกระซิบความหูต่อหู ( Whispering Line ) เป็นการกระซิบตัวต่อตัวเท่านั้น ไม่ใช่การสอนในที่สาธารณะ ซึ่งผู้ไม่มีพลังพอเพียงก็จะถูกทำลายย่อยยับ สายของวัชรยานองค์ที่เด่น ๆ ในอดีตก็คือ มิลาเรปะ ติโลปะ นโรปะ กัมโบปะ บุคคลเหล่านี้ดูไปทั่วๆ ไปแล้วเป็นผู้ซึ่งถ่ายทอดวิธีการจำเพาะตัวออกมา เรียก Whispering Line โดยเฉพาะกัมโบปะ ซึงเป็นภิกษุที่เป็นเยี่ยมทางการศึกษา มิลาเรปะ ทดสอบถึงกับเอาเท้าตั้งบนหัวในวันที่กัมโบปะ ซึ่งเป็นภิกษุ จะมาเรียนธรรมะ ซึ่งปรากฎว่ากัมโบปะภิกษุนั้นไม่ได้รังเกียจอาจารย์ตัวเอง ซึ่งเป็นเพียงโยคี ไม่ได้บวชพระ
ทีนี้ก็มาถึงหลักในการดำรงจิตในการปฏิบัติของวัชรยาน ส่วนนี้ผมถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุด กล่าวได้ว่านี่เองคือสาระในการปฏิบัติ เรียกกันว่า มนสิการ 4 มนสิการ 4 นั้น เป็นการดำรงจิตไว้ในฐานะที่จะก่อเกิดวัชรญาณ และก็เมื่อดำรงจิตไว้ในฐานทั้ง 4 นี้ได้แล้ว กิเลสตัณหาจะกลับเป็นเครื่องเร้าให้ถึงที่สุดได้
เมื่อกี้ผมได้ปูรากฐานแล้วว่า กิเลสตัณหาไม่ใช่อะไรอื่น แท้จริงเป็นรูปหนึ่งของปัญญา แต่ว่าพลังไม่พอมันก็จะทำลายเอา เมื่อกิเลสปรากฎขึ้นในจิตใจมนุษย์ เกิดฟั่นเฟือนทางสติทันที ต่อจากนั้นก็คือการยึดถือความทุกข์ทรมานต่าง ๆ แต่ถ้าหากกิเลสสัมผัส ในขณะที่กิเลสสัมผัสมีความไม่ฟั่นเฟือน มีความตั้งมั่นของสติ มีสมปฤดี มีเจตนารมย์บริสุทธิ์มีเจตนาที่ผ่องแผ้ว มีศรัทธาอันไม่โยกคลอนอีกแล้วต่อทางของการตรัสรู้ในขณะเช่นนั้นเอง พลังของสติสมปฤดีนั้นก็จะทวีขึ้นตามพลังของกิเลส กิเลสมาก กิเลสลึก ปัญญาก็จะมาก ปัญญาก็จะลึก
ฐิตา:
ดังนั้นปัญหามันไม่ได้อยู่ตรงกิเลส เพราะว่าตามธรรมดานี่ ไม่ว่าชาววัชรยาน ชาวทิเบต ชาวเซ็น ก็มีกิเลสกันอยู่แล้ว พูดง่าย ๆ ว่าคนทั่วไปก็ร่วมเพศกันอยู่แล้ว พูดตรง ๆ นะ เพียงแต่ว่ามนุษย์ ไม่รู้จักใช้พลังอันนั้นให้ก่อเกิดประโยชน์ทางศาสนธรรม ทีนี้พอได้ยินว่าเอาเรื่องเมถุนมาเป็นทางของการปฏิบัติ ก็กลับไม่ชอบไม่พอใจ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ร่วมกันอยู่แล้ว ก็เป็นกันอยู่แล้ว แต่ว่าไม่เข้าใจต่อขบวนการเหล่านี้ ไม่มีเจตนาบริสุทธิ์ต่อธรรมะ ไม่มีความมุ่งมั่น ไม่ศรัทธาต่อทางของความหลุดรอดและข้อสำคัญคือ ไม่มีพลังของสติพอเพียงที่จะเดินผ่านสิ่งเหล่านี้อย่างอิสระและดังนั้นเองจึงเป็นการปฏิบัติการที่หนีกิเลส การที่เราหลบเลี่ยงกิเลสไปโดยที่เราไม่สามารถเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ นั่นคือ เมื่อมันหวนกลับมาใหม่ก็ทวีขึ้น แต่วิธีการของวัชรยานคือการเข้าไปสัมผัสกับกิเลส ราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี กิเลสชนิดหนึ่งชนิดใดที่ปรากฏขึ้นเมื่อเข้าไปสัมผัสมัน เป็นอันเดียวกับมัน เมื่อเป็นเช่นนี้พลังของสติปัญญาจะดูดพิษร้ายออกมาได้ เรื่องนี้ไม่สู้จะเป็นสาธารณะต่อผู้ที่ไม่เจริญภาวนา คิดเอาด้วยเหตุผลสามัญย่อมเข้าใจได้ไม่สมบูรณ์ ผมว่าอย่างนั้นนะ เพราะว่าเราคิดด้วยระบบตรรกะระบบหนึ่ง
เมื่อกิเลสเข้ามามันก็ไม่ปัญญาแล้วคนมีกิเลสหนา ก็คือคนโง่ คนมีตัณหาก็คือคนที่ใช้ไม่ได้ คนหลง แต่ระบบตรรกะที่ผมกำลังใช้อยู่ขณะนี้เป็นอีกระบบหนึ่ง หมายความว่าเมื่อมีสติสมปฤดี เมื่อกิเลสเข้ามาสัมผัส ความไม่ฟั่นเฟือน ความตั้งมั่น สมาธิ เจตนาที่ดี ความเข้าใจที่ถ่องแท้และพอเพียง ก็สามารถทำให้กิเลสถูกดูดพิษร้ายออกได้ ไม่กลายเป็นปัญหาอีก เมื่อไม่เป็นปัญหาพลังก็เสริมสร้าง ดังนั้นกิเลสนั่นเอง ที่กลับกลายเป็นปัญญา ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับมนสิการ 4
มนสิการ 4 คืออะไร ฐานของสติฐานแรกคือ มีสติอยู่บนฐานบนนิเวศน์แห่งใจ สติกลับไปสู่ใจได้แล้ว คือรู้จักใจแล้ว รู้ว่าใจอยู่ที่ไหนซึ่งคนธรรมดาทั่วไปไม่รู้ ดังนั้นฐานแรกนี้เป็นฐานที่สำคัญมาก คือต้องบรรลุถึงฐานแรกก่อนหรือมโนนิเวศน์ กลับเข้าในนิเวศน์แห่งมโนได้แล้ว มนสิการอยู่ที่นี่แล้ว อะไรจะเข้ามากระทบสัมผัสก็ล้วนแต่ก่อเกิดสติปัญญาทั้งสิ้น คล้าย ๆ กับมันรู้เสียแล้ว อะไรเข้ามากระทบมันยิ่งรู้ยิ่งขึ้น
ถ้ายังไม่รู้ อะไรเข้ามากระทบมันก็ยิ่งไม่รู้ยิ่งขึ้น คล้าย ๆ นักมวยชกชิงแชมป์กัน พอเจอหมัดสักหมัดเดียวเมาติดหมัดเลย แล้วจะงงเมื่องงก็ถูกต่อย เมื่อถูกต่อยก็ยิ่งงงยิ่งขึ้น ในที่สุดก็ทรุด ในฝ่ายผู้ต่อยนั้นตรงข้าม เมื่อต่อยไปที่คางคู่ต่อยได้แล้ว หมัดแรง ๆ ก็ยิ่งตามเป็นชุด ๆ ยิ่งขึ้น อันนี้ผมเปรียบเทียบเท่านั้น ฐานแรกนี่สำคัญมาก ผู้ที่ไม่ผ่านการพัฒนาตามลำดับย่อมฟั่นเฟือนได้ง่าย ดังนั้นข้อคิดที่ว่า แรกควรสมาทานหินยานจิต ต่อมามหายาน ต่อมาวัชรยานนั้น ใช้ได้ทีเดียว ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องพัฒนาสมปฤดีมาตามลำดับ รักษาศีล มีระเบียบวินัยมาตามลำดับ วัชรยานไม่ใช่เรื่องศีลเรื่องวินัยภายนอก แต่เป็นเรื่องศีลวินัยภายใน ซึ่งขึ้นกับเจตนาและสติปัญญาชั้นสูง
ฐิตา:
ฐานที่สอง คำว่าฐานในที่นี้หมายถึงว่ามีสติอยุ่บนฐานทั้งสี่นี้วนเวียนเปลี่ยนแปร ซึ่งใช้ได้ทั้งนั้น ฐานที่สอง คือ มีสติมนสิการอยู่ในขณะที่ยังมีถ้อยคำอยู่ข้างใน มีวาจาอยู่ข้างใน ถ้าพูดอีกภาษาหนึ่งคือเห็นความคิด หรือภาษาเถรวาทเรียกว่า สมาธิในระดับวิตกวิจาร คือยังมีวิตกวิจารอยู่ นี่คือฐานที่สอง
ฐานที่สามนั้น ไม่มีคำพูด ไม่มีภาษาในภายใน ไม่มีวิตกวิจาร ดังนั้นเป็นความเงียบเชียบของหัวใจ ภายใต้ฐานอันนี้กิเลส ตัณหา ราคะ ที่เข้ามาแปรเปลี่ยนเป็นพลังที่บริสุทธิ์หมดสิ้น ความเงียบในหัวใจหมายถึงอะไร ความเงียบที่เราได้ยินทางหู เสียงแอร์คอนดิชั่น เสียงนกหรือเสียงผมพูด ถ้าผมไม่พูดก็เงียบไปนี่ไม่ใช่ นี่มันเงียบเพราะเราฟังด้วยหู แต่ความเงียบที่หัวใจนี่ไม่ใช่อันนั้น เพราะสิ้นวิตกวิจารคือปราศจากเรื่องราวใด ๆ หรือความคิดอยู่ห่างหายแผ่วเบา เรียกว่าวิเวกก็เรียก เรียกว่าจิตนั้นไปแล้วสู่วิเวก
ดังนั้นที่ฐานนี้เองไม่มีความทรงจำเรื่องอัตตา ไม่มีมโนคติ เรื่องอัตตาใหญ่ ไม่มีเรื่องนิพพาน ไม่มีเรื่องสังสารวัฏ ไม่มีมโนคติ เรื่องอัตตาใหญ่ ไม่มีเรื่องนิพพาน ไม่มีเรื่อสังสารวัฏ ไม่มีเรื่องความดี ความชั่ว ไม่มีเรื่องอดีต ไม่มีเรื่องอนาคต นี่คือฐานที่สาม
ฐานที่สี่เป็นฐานที่สำคัญที่สุด ตรงนี้เองที่เป็นจุดที่วัชรยานถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งชาวเถรวาทมักเอามาพูดกัน สิ่งที่เรียกว่าสักแต่รู้ สักแต่เห็น สักแต่เป็น แต่ว่านั่นเป็นผล ตาเห็นรูป สักแต่ว่าเห็น หูได้ยินเสียงสักแต่ว่าได้ยิน ไม่ยินดียินร้าย จิตรู้ธรรมารมณ์ไม่ยินดียินร้าย แต่เราพูดกันในฐานะที่มันเป็นผล โดยประโยคนี้เองที่พระพาหิยะเข้าถึงการตรัสรู้ ท่านจับข้อเท้าพระพุทธเจ้าอยู่ ถามว่าปฏิบัติธรรมที่สุดนั้นทำอย่างไร พระพุทธเจ้าปฏิเสธ 2 ครั้ง เพราะที่ไม่เหมาะที่จะสอน แต่พระพาหิยะจับข้อเท้าพระพุทธเจ้าคล้าย ๆ อยากรู้ให้ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นพระพุทธเจ้าก็พูดโดยย่อ “ ดูก่อนพาหิยะ เมื่อตาเห็นรูป สักแต่เห็น หูได้ยินเสียง สักแต่ได้ยิน จิตรู้ธรรมารมณ์ใด สักแต่รู้ เมื่อนั้นเธอจะไม่ปรากฏในโลกนี้ โลกหน้า ในโลกทั้งสอง “ ที่จริงนี่คือหลักของวัชรยานญาณสายฟ้าแลบ ในทันใดนั้นเอง พระพาหิยะก็ตรัสรู้ในระดับนั้นที่ตรงนั้น กรณีเช่นนี้เกิดกับองคุลีมาล พาหิยะ พระยศกุลบุตร ญาณสายฟ้านั้นเกิดในขณะพระยศไม่ได้บวช เป็นคนเดียวที่พระพุทธเจ้าขอให้มาบวชด้วยถ้อยคำซึ่งไม่เหมือนคนอื่น ปกติพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ เธอจงมาเป็นภิกษุ มาทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด “ เพราะยังไม่ถึงที่สุดทุกข์ แต่กรณีพระยศกุลบุตรทรงบอก “ เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด “ ไม่ได้บอกว่าให้มาทำที่สุดทุกข์ เพราะว่าท่านถึงแล้วในขณะที่นั่งฟังพระพุทธเจ้าสอนพ่อของท่านอยู่ ท่านไม่ได้เป็นนักบวชด้วย
ว่าที่จริงแล้วพุทธศาสนาทั้งหมด ไม่ว่าในจีน ในทิเบต ในไทย ที่เป็นแก่นเป็นเรื่อง วัชรยานทั้งสิ้นคือ การเข้าถึงอย่างแบบพลันทันใด วัชรยานดูไปแล้วละม้ายคล้ายกับการเอาหนามบ่งหนาม เอาน้ำกรอกหูเมื่อน้ำเข้าไปในหู เป็นการกระทำซึ่งดูคล้าย ๆ ว่าต้องทำเข้าไปอย่างนั้น เพื่อไล่สิ่งนั้นที่ค้างคาอยู่ หรือเหมือนวัคซีนที่ฉีดเข้าไป เขาฉีดเชื้อโรคเข้าไปนั่นเอง เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรค วัคซีนก็คือเชื้อโรคที่ฉีดเข้าไปและเพื่อที่จะให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน หรือพูดง่าย ๆ อีกทีว่าภายในช่วงที่เร่าร้อนด้วยกิเลสตัณหา ถ้าในขณะนั้นสามารถดำรงสติสมปฤดีไม่ให้ฟั่นเฟือนได้ นั่นคือทางออก เพราะว่านักกระโดดข้ามรั้วที่ไม่มีรั้วแล้วบอกว่า เป็นนักกีฬาข้ามรั้วคงไม่ได้แน่ ความสำคัญของวัชรยานไม่ได้อยู่ตรงการใช้กามารมณ์ หรือกินเนื้อ หรือกินเหล้า อย่าเข้าใจผิดไป มันไปอยู่ตรงมนสิการนี่แหละ เพราะว่าเมื่อมนสิการอันนี้ได้แล้ว ต่อจากนั้นอะไรก็ตามในชีวิตประจำวันย่อมใช้ได้ ทั้งเรื่อกาม เรื่องอื่น ๆ ทุก ๆ เรื่อง เพราะว่าโดยธรรมดามันก็เป็นอยู่แล้ว คนก็ร่วมเพศกันอยู่แล้ว คนก็ดื่มกันอยู่แล้ว แต่เขาไม่สามารถทำให้อุปสรรคให้เป็นอุปการะได้
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version