อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

พระเถรีสมัยพุทธกาล

<< < (3/12) > >>

ฐิตา:



บวชแล้วยังถูกข่มขืน

ฝ่ายนันทมาณพ ผู้เป็นลูกชายของลุงของพระเถรีนั้น มีจิตหลงรักนางตั้งแต่ยังไม่บวช
เมื่อทราบข่าวว่าพระเถรีมาพักที่ป่าอันธวันใกล้เมืองสาวัตถี

จึงได้ถือโอกาสขณะที่พระเถรีเข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถีนั้น ได้เข้าไปในกระท่อม
หลบซ่อนตัวอยู่ใต้เตียง

เมื่อพระเถรีกลับมาแล้ว เข้าไปในกระท่อมปิดประตูแล้วนั่งลงบนเตียง ขณะที่สายตา
ยังไม่ปรับเข้ากับความมืดในกระท่อม

นันทมาณพก็ออกมาจากใต้เตียงตรงเข้าปลุกปล้ำข่มขืนพระเถรี ถึงแม้พระเถรี
จะร้องห้ามว่า:-
“เจ้าคนพาล เจ้าอย่าพินาศฉิบหายเลย เจ้าคนพาล เจ้าอย่าพินาศฉิบหายเลย”

นันทมาณพ ก็ไม่ยอมเชื่อฟัง ได้ทำการข่มขืนพระเถรีสมปรารถนาแล้วก็หลีกหนีไป
พอเขาหลบหนีไปได้ไม่ไกล แผ่นดินใหญ่ก็มีอาการประหนึ่งว่า

ไม่สามารถจะรองรับน้ำหนักของเขาเอาไว้ได้ จึงอ่อนตัวยุบลง แล้วนันทมาณพ
ก็จมดิ่งลงในแผ่นดิน ไปเกิดในอเวจีมหานรก

ฝ่ายพระอุบลวรรณาเถรี ก็มิได้ปิดบังเรื่องราวที่เกิดขึ้น ได้บอกแจ้งเหตุที่เกิดขึ้น
กับตนนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ต่อจากนั้นเรื่องราวของพระเถรีก็ทราบถึงพระบรมศาสดา



พระพุทธองค์ได้ตรัสพระคาถาภาษิตว่า:-

“คนพาล ย่อมร่าเริงยินดีในบาปกรรมลามกที่ตนกระทำ ประดุจว่าดื่มน้ำผึ้งที่มีรสหวาน
จนกว่าบาปกรรมนั้นจะให้ผลจึงจะได้ประสบกับความทุกข์ เพราะกรรมนั้น”

ฐิตา:


พระขีณาสพเหมือนไม้แห้งไม้ผุ

เมื่อกาลเวลาล่วงไปภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์
ของพระอุบลวรรณาเถรี นั้นว่า:-

“ท่านทั้งหลาย เห็นทีพระขีณาสพทั้งหลาย คงจะยังมีความยินดีในกามสุข
คงจะยังจะพอใจในการเสพกาม

ก็ทำไมจะไม่เสพเล่า เพราะท่านเหล่านั้นมิใช่ไม้ผุ มิใช่จอมปลวก อีกทั้งเนื้อหนังร่างกายทั่วทั้งสรีระ
ก็ยังสดอยู่ ดังนั้น แม้จะเป็นพระขีณาสพก็ชื่อว่ายังยินดีในการเสพกาม”



พระบรมศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามทรงทราบเนื้อความที่พวกภิกษุเหล่านั้นสนทนากันแล้ว
จึงตรัสว่า:-

“ภิกษุทั้งหลาย พระขีณาสพทั้งหลายนั้นไม่ยินดีในกามสุข ไม่เสพกาม เปรียบเสมือนหยาดน้ำ
ตกลงในใบบัวแล้วไม่ติดอยู่

ย่อมกลิ้งตกลงไป และเหมือนกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด ย่อมไม่ติดตั้งอยู่บนปลายเหล็กแหลม ฉันใด
ขึ้นชื่อว่ากามก็ย่อมไม่ซึมซาบ ไม่ติดอยู่ในจิตของพระขีณาสพ ฉันนั้น”

ฐิตา:




ห้ามภิกษุณีอยู่ป่า

ต่อมาพระบรมศาสดา ทรงพิจารณาเห็นภัยอันจะเกิดแก่กุลธิดา
ผู้เข้ามาบวชแล้วพักอาศัยอยู่ในป่า

อาจจะถูกคนพาลลามกเบียดเบียนประทุษร้าย ทำอันตราย
ต่อพรหมจรรย์ได้

จึงรับสั่งให้เชิญพระเจ้าปเสนทิโกศลมาเฝ้า ตรัสให้ทราบพระดำริ
แล้ว ขอให้สร้างที่อยู่อาศัย เพื่อนางภิกษุณีสงฆ์

ในที่บริเวณใกล้ ๆ พระนคร และตั้งแต่นั้นมา ภิกษุณีก็มีอาวาส
อยู่ในบ้านในเมืองเท่านั้น

พระอุบลวรรณาเถรี ปรากฏว่าเป็นผู้ชำนาญในการแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ดังจะเห็น
ได้ในวันที่ พระบรมศาสดาทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์นั้น

พระเถรีก็กราบทูลอาสาขอแสดงฤทธิ์เพื่อต่อสู้กับพวกเดียรถีย์แทนพระพุทธองค์ด้วย
และทรงอาศัยเหตุนี้จึงได้ทรงสถาปนาพระอุบลวรรณาเถรีนี้

ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้มีฤทธิ์ และเป็น
อัครสาวิกาฝ่ายซ้าย



ข้อมูลด้านล่างส่วนนี้นำมาจาก : http://www.atriumtech.com/cgi-bin/hilightcgi?Home=/home/InterWeb2000&File=/home2/searchdata/Forums/http/www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y3676330/Y3676330.html

พระอุบลวรรณาเถรีได้กล่าวแก่ที่ประชุมว่า พระพุทธเจ้าทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น จึงทรงตั้ง นางไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะในหมู่พุทธบริษัทว่า " อุบลวรรณา " " อุบลวรรณาภิกษุณี เป็นผู้เลิศกว่าบรรดาภิกษุณีที่มีฤทธิ์ " คราวหนึ่งพระอุบลวรรณาเถรี มีความสุขอยู่ด้วยณานและสมาบัติ วันหนึ่งท่านพิจารณาเห็นโทษของกามทั้งหลายที่โลกียชนพากันวุ่นวายเดือดร้อนในเรื่องดังกล่าวว่าเป็นเครื่องทำให้ตกต่ำเศร้าหมอง เป็นที่น่าสลดใจ  ยิ่งท่านระลึกถึงชาติหนหลังของท่าน ที่ได้ประพฤติตัวเลวทราม เพราะกามเป็นเหตุท่านได้เล่าชีวิตของท่านในชาติก่อนแก่เพื่อนภิกษุณีทั้งหลาย ( ปรากฏอยู่ในอรรถกถาแห่งเถรีคาถา )

ดังนี้...
กาม ทำความเสื่อมเสียให้แก่มนุษย์อย่างน่าสลดใจน่าขยะแขยง
เพราะกามไม่มีชาติ ไม่มีสกุล เป็นเรื่องเลวทราม

เมื่อครั้งที่นางอุบลวรรณายังท่องเที่ยวอยู่ในกาม ยังบริโภคกามอยู่ นางได้บุตรชายเป็นสามี และเกิดไปมีสามีคนเดียวกันกับลูกสาว ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว ก็เพราะกามนั้นแหละ การที่พระอุบลวรรณาเถรี สามารถระลึกชาติก่อน ๆ ได้ ทิพยจักษุ เจโตปริยญาณ และ ทิพโสต ธาตุชำระ ให้หมดจด กระทั่งฤทธิ์ก็ทำได้สำเร็จแล้ว ความสิ้นอาสวะ ก็ได้บรรลุแล้ว รวมทั้งได้อภิญญา ๖ ด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นพระอุบลวรรณาเถรีก็ได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าทรงทำยมกปาฏิหาริย์ พระอุบลวรรณาเถรีได้เนรมิตรถเทียมด้วยม้า ๔ ตัว นั่งเข้าไปถวายบังคมพระยุคลบาท ณ ที่นั้นด้วย เรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ย่อมแสดงถึงความเป็นยอดภิกษุณีของพระอุบลวรรณาเถรี ซึ่งมีฤทธิ์เทียบเท่ากับพระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย ของพระพุทธองค์

แม้จะต้องผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตขนาดถูกข่มขืนในกุฏิของท่านเอง แต่ท่านหาได้หวั่นไหวหรือท้อถอยแต่ประการใดไม่ ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าช่วยประกาศพระศาสนาแก่มวลพุทธบริษัททั้งหลาย จนมีผลงานเป็นที่ยอมรับทั่วไปได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นอัครสาวิกา เบื้องซ้ายของพระบรมศาสดาทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพราะท่านเป็นพระองค์อรหันต์ที่แท้จริงนั่นเอง

ฐิตา:




พระปฏาจาราเถรี

พระปฏาจาราเถรี เป็นธิดาของมหาเศรษฐีในเมืองสารวัตถี
เมื่ออายุย่างได้ ๑๖ ปี เป็นหญิงมีความงดงามมาก

บิดามารดาทะนุถนอมห่วงใยให้อยู่บนปราสาท ชั้น ๗ เพื่อป้องกัน
การคบหากับชายหนุ่ม



ดอกฟ้าได้ยาจก

แม้กระนั้น เพราะนางเป็นหญิงโลเลในบุรุษ จึงได้คบหาเป็นภรรยาคนรับใช้
ในบ้านของตน ต่อมาบิดามารดาของนางได้ตกลงยกนางให้แก่ชายคนหนึ่ง

ที่มีชาติสกุลและทรัพย์เสมอกัน เมื่อใกล้กำหนดวันวิวาห์ นางได้พูดกับ
คนรับใช้ผู้เป็นสามีว่า:- “ได้ทราบว่า บิดามารดาได้ยกฉันให้กับลูกชายสกุลโน้น
ต่อไปท่านก็จะไม่ได้พบกับฉันอีก ถ้าท่านรักฉันจริง ท่านก็จงพาฉันหนีไป
จากที่นี่ แล้วไปอยู่ร่วมกันที่อื่นเถิด”

เมื่อตกลงนัดหมายกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วชายคนรับใช้ผู้เปลี่ยนฐานะมาเป็นสามีนั้น
ได้ไปรออยู่ข้างนอก แล้วนางก็หนีบิดามารดาออกจากบ้าน

ไปร่วมครองรักครองเรือนกันในบ้านตำบลหนึ่งซึ่งไม่มีคนรู้จัก ช่วยกันทำไร่ ไถนา
เข้าป่าเก็บผักหักฟืนหาเลี้ยงกันไปตามอัตภาพ นางต้องตักน้ำตำข้าว
หุงต้มด้วยมือของตนเอง ได้รับความทุกข์ยากแสนสาหัส เพราะตนไม่เคยทำมาก่อน

ฐิตา:





คลอดลูกกลางทาง

กาลเวลาผ่านไป นางได้ตั้งครรภ์บุตรคนแรก เมื่อครรภ์แก่ขึ้นนางจึงอ้อนวอนสามี
ให้พานางกลับไปยังบ้านของบิดามารดาเพื่อคลอดบุตร เพราะการคลอดบุตรในที่ไกล

จากบิดามารดาและญาตินั้นเป็นอันตราย แต่สามีของนางก็ไม่กล้าพากลับไป
เพราะเกรงว่าจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง จึงพยายามพูดจาหน่วงเหนี่ยวเธอไว้

จนนางเห็นว่าสามีไม่พาไปแน่ วันหนึ่ง เมื่อสามีออกไปทำงานนอกบ้าน
นางจึงสั่งเพื่อนบ้าน
ใกล้เคียงกัน ให้บอกกับสามีด้วยว่านางไปบ้านของบิดามารดาแล้วนางก็ออกเดินทาง

ไปตามลำพัง เมื่อสามีกลับมาทราบความจากเพื่อนบ้านแล้ว ด้วยความห่วงใยภรรยาจึงรีบ
ออกติดตามไปทันพบนางในระหว่างทาง แม้จะอ้อนวอนอย่างไรนางก็ไม่ยอมกลับ

ทันใดนั้น ลมกัมมัชวาต คือ อาการปวดท้องใกล้คลอด ก็เกิดขึ้นแก่นาง จึงพากัน
เข้าไปใต้ร่มริมทาง
นางนอนกลิ้งเกลือกทุรนทุรายเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างหนัก ในที่สุดก็คลอดบุตรออกมา

ด้วยความยากลำบาก เมื่อคลอดบุตรโดยปลอดภัยแล้ว ก็ปรึกษากันว่า “กิจที่ต้องการ
ไปคลอด ที่เรือนของบิดามารดานั้นก็สำเร็จแล้ว
จะเดินทางต่อไปก็ไม่มีประโยชน์” จึงพากันกลับบ้านเรือนของตน อยู่ร่วมกันต่อไป




สามีถูกงูกัดตาย

ต่อมาไม่นานนักนางก็ตั้งครรภ์อีก เมื่อครรภ์แก่ขึ้นตามลำดับนางจึงอ้อนวอนสามี
เหมือนครั้งก่อน
แต่สามีก็ยังคงไม่ยินยอมเช่นเดิม นางจึงอุ้มลูกคนแรกหนีออกจากบ้านไป

แม้สามีจะตามมาทันชักชวนให้กลับก็ไม่ยอมกลับ จึงเดินทางร่วมกันไป เมื่อเดินทาง
มาได้อีกไม่ไกลนัก เกิดลมพายุพัดอย่างแรงและฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก
พร้อมกันนั้นนางก็ปวดท้องใกล้จะคลอดขึ้นมาอีก จึงพากันแวะลงข้างทาง ฝ่ายสามีได้ไป
หาตัดกิ่งไม้ เพื่อมาทำเป็นที่กำบังลมและฝน แต่เคราะห์ร้ายถูกงูพิษกัดตายในป่านั้น

นางทั้งปวดท้องทั้งหนาวเย็น ลมฝนก็ยังคงตกลงมาอย่างหนัก สามีก็หายไป
ไม่กลับมา ในที่สุดนางก็คลอดบุตรคนที่สองอย่างน่าสังเวช ลูกของนางทั้งสองคน
ทนกำลังลมและฝนไม่ไหว ต่างก็ร้องไห้กันเสียงดังลั่นแข่งกับลมฝน
นางต้องเอาลูกทั้งสองมาอยู่ใต้ท้อง โดยนางใช้มือและเข่ายืนบนพื้นดิน
ในท่าคลาน ได้รับ ทุกขเวทนาอย่างมหันต์สุดจะรำพันได้

เมื่อรุ่งอรุณแล้วสามีก็ยังไม่กลับมา จึงอุ้มลูกคนเล็กซึ่งเนื้อหนังยังแดง ๆ อยู่
จูงลูกคนโตออกตามหาสามี เห็นสามีนอนตายอยู่ข้างจอมปลวก จึงร้องไห้รำพันว่า
สามีตายก็เพราะ นางเป็นเหตุ เมื่อสามีตายแล้ว ครั้นจะกลับไปที่บ้านทุ่งนา
ก็ไม่มีประโยชน์ จึงตัดสินใจไปหาบิดามารดาของตนที่เมืองสาวัตถี
โดยอุ้มลูกคนเล็ก และจูงลูกคนโต
เดินไปด้วยความทุลักทุเล เพราะความเหนื่อยอ่อนอย่างหนักดูน่าสังเวชยิ่งนัก



นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version