กรรมบถ ๑๐
กายกรรม ทำทางกาย ๓ ประการ
๑. ไม่ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ไม่ยุให้คนอื่นฆ่า และไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นฆ่าแล้ว
๒. ไม่ถือเอาทรัพย์สินของผู้อื่น โดยที่เจ้าของไม่อนุญาติด้วยตนเอง ไม่ยุให้คนอื่นถือเอา และไม่ยินดีเมื่อคนอื่นถือเอาของเขาแล้ว
๓. ไม่ละเมิดกามารมณ์ในบุตร ภรรยา สามี ของผู้อื่น ไม่ยุคนอื่นละเมิด และไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นละเมิดแล้ว
ทั้ง ๓ ประการนี้เป็นการปฏิบัติทางกาย ให้ละเว้นโดยเด็ดขาด
วจีกรรม กล่าวทางวาจา ๔ ประการ
๑. ไม่พูดวาจาที่ไม่เป็นความจริง
๒ . ไม่พูดวาจาหยาบคายให้เป็นที่สะเทือนใจของผู้รับฟัง
๓ . ไม่พูดวาจาส่อเสียด ยุยงให้ผู้อื่นแตกร้าวกัน หรือไม่นินทาคนอื่น
๔ . ไม่พูดจาที่ไม่มีประโยชน์ คือวาจาใดที่พูดไปไร้ประโยชน์จะไม่พูดวาจานั้น
ทั้ง ๔ ประการนี้ จะไม่พูดเองด้วย ไม่ยุให้คนอื่นพูดด้วย และไม่ยินดีเมื่อคนอื่นพูดแล้วด้วย
มโนกรรม คือการคิดทางใจ ๓ ประการ
๑ . ไม่คิดอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น โดยที่เจ้าของไม่อนุญาตให้ด้วยความเต็มใจ คือไม่คิดลักขโมย ยื้อแย่ง คดโกง เป็นต้น
๒ . ไม่คิดจองล้าง จองผลาญ จองเวร จองกรรม ผู้ใด คือไม่คิดประทุษร้ายผู้อื่นในทุกๆ กรณีนั่นเอง
๓ . มีความเห็นตรงต่อคำสอนพระพุทธเจ้า ไม่มีอารมณ์คัดค้านคำสอนของพระองค์ และปฏิบัติตามจนมีผลตามที่ต้องการ
ความรู้สึกนึกคิดทางใจ ๓ ประการนี้ไม่คิดเองด้วย ไม่ยุให้ผู้อื่นคิดด้วย และไม่ยินดีเมื่อมีผู้อื่นคิดแล้ว
จากหนังสือหนีนรก หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดจันทาราม (ท่าซุง) จ. อุทัยธานี
๏ อารมณ์ของความชั่ว คืออารมณ์ที่ชอบทำลายศีลด้วยตัวเอง หรือว่ายุชาวบ้านให้เขาทำลายศีล เมื่อเห็นบุคคลอื่นทำลายศีลแล้วดีใจว่า เขาไม่รักษาศีล ทำลายศีลเสียได้ก็ดี อารมณ์ชั่วอย่างนี้อย่าให้มี เราจะต้องควบคุมว่า เราจะไม่ทำลายศีลด้วยตัวเอง ศีลของใครมีเท่าไรรู้ไว้ด้วย เราจะไม่คิดยุยง ให้คนอื่นทำลายศีล เราจะไม่ดีใจในเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว
๏ ท่านพร่องในศีลด้วยเจตนาเพียงนิดเดียว ท่านไม่มีหวังที่จะทรงสมาธิเพื่อฌานสมาบัติได้เลย เพราะเพียงศีลมีการรักษาแบบหยาบๆ ท่านยังรักษาไม่ได้ ท่านจะเป็นผู้ทรงสมาธิที่มีอารมณ์ละเอียดกว่านี้ได้อย่างไร ผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานมาเป็นเวลาหลายสิบปีที่ไม่ได้สำเร็จผลใดๆ แม้แต่ฌานโลกีย์ก็ไม่ได้ ก็เพราะพร่องในศีลเป็นสำคัญ
๏ ตั้งใจกำหนดรักษาศีลจนรักศีลยิ่งกว่าชีวิต โดยกำหนดจิตรักษาศีลโดยมั่นคง อย่านั่งคิดนอนตรองเฉย ๆ ต้องรอการประสบการณ์ด้วย เมื่อประสบการณ์เกิดขึ้นจนคิดว่า นี่ถ้าเป็นในกาลก่อนแต่นี้ ถ้าเหตุการณ์อย่างนี้ปรากฏ เราเห็นจะยั้งใจไม่ไหว แต่นี่ถูกรุกรานขนาดนี้ อารมณ์ใจยังแจ่มใสเสมือนไม่มีอะไรมากระทบใจ ถ้าอารมณ์จิตใจเป็นอย่างนี้ จัดว่าพอใช้ได้แล้ว
๏ เราสมาทานศีลจงตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ อย่าสักแต่ว่าสมาทาน แล้วการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ก็ไม่ใช่เฉพาะเวลานี้ ถือว่าการสมาทานศีลครั้งแรกในชีวิต เราก็ต้องรักษากันไปตลอดจนวันตาย อย่างนี้จึงจะชื่อว่าใช้ได้ รวมทั้งพระเณรก็เหมือนกัน การเป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ย่อมเป็นปัจจัยตัดความเดือดร้อน เรามีศีลบริสุทธิ์นึกถึงศีลเป็นปกติ พระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นผู้เจริญ สีลานุสสติกรรมฐาน
๏ ถ้าจิตของเราทรงอยู่ใน พรหมวิหาร ๔ ศีลจะบริสุทธิ์ ไม่ต้องระมัดระวังศีล ความเป็นผู้มีเหตุมีผล มีความเคารพในองค์สมเด็จพระทศพลก็มีพร้อมบริบูรณ์ เพราะคนที่ทรงศีลบริสุทธิ์ ก็แสดงว่ามีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ รู้จักอายความชั่ว เกรงกลัวความชั่ว
๏ เมื่อมีศีลเป็นปกติแล้ว ก็พยายามกำจัดนิวรณ์ ๕ ประการ แล้วทรงฌานตามที่ได้ศึกษา โดยมีพรหมวิหาร ๔ เป็นอารมณ์ คอยควบคุมรักษาจิตใจให้ชุ่มชื่น เป็นการประคับประคองศีลและฌานสมาบัติผ่องใสไม่บกพร่อง ระดับของสมาธิที่จะทรงฌาน ทรงญาณให้ดีเด่นบริบูรณ์ไม่่บกพร่องต้องทำอย่างนี้
๏ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแนะนำให้วางนินทาและสรรเสริญทั้งสองประการเสีย ใครเขาจะว่าอย่างไรก็ช่าง ดูใจของเราว่ามันดีหรือมันชั่ว ดูใจของเราว่ามีพรหมวิหาร ๔ หรือเปล่า ศีล บริสุทธิ์ไหม จิตว่างจาก นิวรณ์ ไหม จิตเราเกาะอยู่ใน ขันธ์๕ ไหม จิตยังหวั่นไหวต่อนินทา และสรรเสริญไหม ถ้าเป็นอย่างนี้เราเลว
๏ นักบวชที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นบัณฑิต ก็คือท่านนักบวชที่ต้องทรงความดี ๓ ประการคือ
๑. อธิศีลสิกขา รักษาศีลบริสุทธิ์
๒. อธิจิตสิกขา ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ฌาน
๓. อธิปัญญาสิกขา มีวิปัสสนาญาณยอมรับนับถือกฎของธรรมดา
แล้วก็มีจิตใจมุ่งปรารถนาอย่างเดียวคือ ความดับไม่มีเชื้อ หมายความว่าดับกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ถึงแม้ว่าท่านจะยังดับกิเลสไม่หมด แต่ยังมุ่งเพื่อการดับกิเลส ปฏิบัติอยู่ในศีลดี สมาธิดี มีจิตใจดี ตามอารมณ์ของวิปัสสนาญาณ ไม่เมาในโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์
การมีศีลเป็นปัจจัยให้มีความสุข ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
การมีศีลเป็นปัจจัยให้มีความเจริญในโภคทรัพย์
การมีศีลเป็นปัจจัยให้เข้าถึงพระนิพพานได้โดยง่าย
จากหนังสือ รวมคำสอนธรรมปฏิบัติ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดจันทาราม (ท่าซุง) จ. อุทัยธานี
http://www.praruttanatri.com/meditation_club/sila/silabody.htm