แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์
มิลินทปัญหา
ฐิตา:
ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องพญาช้างฉัททันต์
" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าคราวเป็นพญาช้างฉัททันต์ได้กล่าวไว้ว่า
" เราได้จับนายพรานไว้ด้วยคิดว่าจะฆ่า แต่พอได้เห็นผ้ากาสาวะ อันเป็นธงของฤๅษีทั้งหลายเราก็นึกขึ้นได้ว่า ผู้ที่มีธงของพระอรหันต์เป็นผู้ไม่ควรฆ่า " ดังนี้
และมีกล่าวไว้อีกว่า " ครั้งพระองค์เป็น โชติปาลมาณพ ได้ด่าว่า สมเด็จพระพุทธกัสสป ด้วยคำว่า "สมณะศีรษะโล้น..." ดังนี้
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระโพธิสัตว์ถึงเป็นเดรัจฉานก็เคารพผ้ากาสาวะ ข้อที่ว่า " โชติปาลมาณพด่าว่าสมเด็จพระพุทธเจ้ากัสสปอย่างนั้น " ก็ผิดไป
ถ้าไม่ผิด ข้อว่า " พญาช้างฉัททันต์เคารพผ้ากาสาวะนั้น " ก็ผิด
เป็นเพราะเหตุใด พระโพธิสัตว์ผู้เป็นมนุษย์ ผู้มีญาณแก่กล้าแล้ว ได้เห็นสมเด็จพระพุทธกัสสป ผู้ล้ำเลิศในโลก ผู้ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวะจึงไม่เคารพ
ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ ขอได้โปรดแก้ไขด้วย "
พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร ทั้งสองเรื่องนั้นถูกทั้งนั้น ก็แต่ว่าเรื่องที่โชติปาลมาณพว่า สมเด็จพระพุทธกัสสปในคราวนั้น เป็นด้วยอำนาจ เขาถือชาติตระกูลของเขาเกินไป คือ โชติปาลมาณพเกิดในตระกูลที่ไม่มีศรัทธาเลื่อมใส มารดาบิดา พี่น้องหญิง พี่น้องชาย ทาสีทาสาคนใช้ คนบำเรอ และศิษย์ของมาณพนั้นทั้งสิ้น ล้วนแต่เคารพพรหม ถือว่าพวกพราหมณ์เท่านั้นประเสริฐสูงสุด แล้วติเตียนเกลียดชังบรรพชิตทั้งหลาย
โชติปาลมาณพได้เชื่อถือตามลัทธิของพวกพราหมณ์ ได้ฟังถ้อยคำของพวกพราหมณ์ที่ด่าว่าบรรพชิตอยู่เสมอ เวลาชาวปั้นหม้อ ชื่อว่า ฆฏิการะ ชวนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงได้ตอบว่า " ต้องการอะไรกับการที่จะพบสมณะศีรษะโล้น... " ขอถวายพระพร
ยาอมฤตเมื่อผสมกับยาพิษก็กลายเป็นรสขม ส่วนยาพิษเวลามาผสมกับยาอมฤต ก็กลายเป็นรสหวานฉันใด น้ำเย็นถูกไฟก็ร้อน คนเลวได้มิตรดีก็เป็นคนดี คนดีได้มิตรเลวก็เป็นคนเลวฉันใด โชติปาลมาณพเกิดในตระกูลที่ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสก็กลายเป็นอันธพาลไปตามตระกูลฉันนั้น
กองไฟใหญ่ที่ลุกรุ่งโรจน์อยู่ ก็มีแสงสว่างดี เวลาถูกน้ำก็หมดแสง กลายเป็นสีดำไป เหมือนกับผลไม้ที่หล่นจากขั้ว แก่งอมแล้วเน่าไปฉะนั้น
ด้วยเหตุนั้นแหละ มหาบพิตร โชติปาลมาณพผู้มีปัญญา มีแสงสว่าง ด้วยความไพบูลย์แห่งญาณอย่างนั้นก็จริง แต่เวลาเกิดในตระกูลที่ไม่มีศรัทธาเลื่อมใส ก็กลายเป็นอันธพาลไปถึงกับได้ด่าว่าพระพุทธเจ้า เวลาเช้าไปถึงพระพุทธเจ้าแล้วจึงรู้จักคุณของพระองค์ แล้วได้บรรพชาในพระพุทธศาสนา ทำอภิญญาสมาบัติให้เกิด แล้วก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก ขอถวายพระพร "
" สาธุ...พระนาคเสน โยมขอรับว่าถูกต้องดีแล้ว "
ฐิตา:
ปัญหาที่ ๖ ถามถึงเรื่องฆฏิการอุบาสก
" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
" ที่อยู่ของช่างหม้อชื่อว่า ฆฏิการะ กระทำอากาศให้เป็นหลังคา ฝนตกลงมาไม่รั่วตลอด ๓ เดือนฤดูฝน "
แต่ตรัสไว้อีกว่า " พระคันธกุฎีของพระพุทธกัสสปฝนรั่ว "
โยมจึงขอถามว่า เหตุไรพระคันธกุฎีของพระพุทธกัสสป ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยพระบารมีแล้วฝนจึงรั่ว
ถ้าที่อยู่ของฆฏิการช่างหม้อไม่มีหลังคา แต่ฝนไม่รั่วตลอด ๓ เดือนเป็นของถูกแล้ว คำที่ว่า " พระคันธกุฎีของพระพุทธกัสสปฝนรั่วนั้น " ก็ผิด
ถ้าคำว่า " พระคันธกุฎีของพระพุทธกัสสปรั่ว " นั้นถูก คำที่ว่า " เรือนของฆฏิการช่างหม้อไม่มีหลังคา แต่ฝนตกลงมาไม่รั่ว ไม่เปียกนั้น " ก็ผิด
ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิโปรดแก้ไขให้สิ้นสงสัยเถิด "
พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร คำทั้งสองนั้นถูกทั้งนั้นแต่ว่าฆฏิการช่างหม้อ เป็นคนมีศีล มีธรรมอันดีได้สร้างสมบุญกุศลไว้มากแล้ว ได้เลี้ยงมารดาบิดาผู้ชราตาบอดอยู่ เวลาที่เขาไม่อยู่ ได้มีคนไปรื้อเอาหญ้าที่มุงหลังคาเรือนของเขา ไปมุงพระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าเสีย เวลาเขากลับมารู้เข้า เขาก็เกิดปีติโสมนัสเต็มที่ว่า เป็นอันว่า เราได้สละหลังคาถวายแก่พระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสูงสุดในโลกแล้วเขาจึงได้รับผลเห็นทันตาอย่างนั้น
องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ย่อมไม่ทรงหวั่นไหว ด้วยอาการแปลกเพียงเท่านั้น เหมือนกับพระยาเขาสิเนรุราช อันไม่หวั่นไหวด้วยลมใหญ่อันพัดเอาตั้งแสน ๆ ฉะนั้น
หรือเหมือนกับมหาสมุทรอันไม่รู้จักเต็ม ไม่รู้จักพร่อง ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง ด้วยน้ำที่ไหลไปจากคงคาใหญ่ ๆ ตั้งหลายหมื่นหลายแสนสายฉะนั้น
การที่พระคันธกุฎีรั่วนั้น ย่อมเป็นด้วยทรงพระมหากรุณาแก่มหาชน คือสมเด็จพระทศพลเจ้าทั้งหลาย ย่อมเล็งเห็นประโยชน์ ๒ ประการ จึงไม่ทรงรับปัจจัยที่ทรงเนรมิตขึ้นเอง ด้วยทรงเห็นว่า เทพยดามนุษย์ทั้งหลายได้ถวายปัจจัยแก่พระพุทธเจ้าด้วยความเลื่อมใสว่า เป็นผู้ควรแก่การถวายอย่างเลิศแล้ว ก็พ้นจากทุคติทั้งปวง
อีกประการหนึ่ง ทรงเห็นว่าอย่าให้คนอื่น ๆ ติเตียนได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงต้องการสิ่งใด ก็ทรงเนรมิตเอาเอง ดังนี้
ถ้าพระอินทร์หรือพระพรหม จะทำให้พระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าไม่รั่ว หรือถ้าหากพระพุทธเจ้าทรงทำเอง ก็จะมีผู้ติเตียนได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงทำสิ่งอันเป็นหน้าที่ของสัตว์โลกทั่วไป หาสมควรแก่พระองค์ไม่ พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่ทรงขอวัตถุสิ่งของใด ๆ ถึงไม่มีก็ไม่ทรงขอ จึงมีเทพยดามนุษย์สรรเสริญทั่วไป ขอถวายพระพร "
" สาธุ...พระนาคเสน ข้อนี้ถูกต้องดีแล้ว "
ฐิตา:
ปัญหาที่ ๗ ถามถึงความเป็นพระราชาของพระพุทธเจ้า
" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสได้ว่า
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราเป็นพราหมณ์ เป็นผู้ควรแก่การขอ "
แต่ตรัสไว้อีกว่า " ดูก่อนเสลพราหมณ์ เราเป็นพระราชา " ดังนี้
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าคำที่ว่า " เราเป็นพราหมณ์ " นั้นถูก คำที่ว่า " เราเป็นพระราชา " ก็ผิด
ถ้าคำที่ว่า " เราเป็นพระราชา " ถูก คำที่ว่า " เราเป็นพราหมณ์ " ก็ผิด เพราะเหตุว่าในชาติ ๆ เดียว จะมี ๒ วรรณะ คือเป็นทั้งกษัตริย์ทั้งพราหมณ์ไม่ได้
ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ โปรดแก้ไขด้วย "
พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร ถูกทั้งสองอย่าง คือเหตุที่ให้เป็นพราหมณ์ก็มี เหตุที่ให้เป็นพระราชาก็มี"
" ข้าแต่พระนาคเสน เหตุอะไรทำให้เป็นพราหมณ์ เหตุอะไรทำให้เป็นพระราชา ? "
" ขอถวายพระพร เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงละบาปอกุศลทั้งสิ้นนั้นแหละ ทำให้เป็นพราหมณ์ ธรรมดาผู้ชื่อว่า พราหมณ์ ย่อมล่วงพ้นความสงสัยทั้งสิ้นด้วยตนเอง
อีกอย่างหนึ่ง ธรรมดาพราหมณ์ย่อมพ้นจาก ภพ คติ กำเนิด ทั้งสิ้น พ้นจากมลทินทั้งสิ้น ไม่มีใครเสมอเหมือน เป็นผู้มากไปด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งการเรียน การสอน การขวนขวาย การทรมานตน สำรวมตน มีนิยมเป็นกำหนดการ เป็นผู้รักษาไว้ซึ่งคำสอนและประเพณีอันดีทั้งปวง เป็นผู้อยู่ด้วยฌาน เป็นผู้ทรงทราบซึ่งความเป็นไปในภพน้อย ภพใหญ่ และคติทั้งปวง เป็นผู้ที่ได้พระนามขึ้นเองว่า เป็น พราหมณ์ พร้อมกับเวลาที่ได้สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณ ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิ
ข้อที่ได้พระนามว่าเป็น พระราชา นั้นเพราะธรรมดาพระราชา ย่อมสั่งสอนนรชนในอาณาเขตของตน พระพุทธเจ้าก็ทรงสั่งสอนสัตว์โลกทั้งสิ้น
ธรรมดาพระราชา ย่อมครอบงำมนุษย์ทั้งหลาย ทำให้หมู่ญาติรื่นเริง ทำให้หมู่ศัตรูทุกข์โศก ทรงยกเศวตฉัตรอันขาวสะอาดปราศจากมลทิน มีซี่ไม่ต่ำกว่าร้อย มีคันไม้แก่นแน่นหนา นำมาซึ่งพระเกียรติยศและศิริอันใหญ่ฉันใด พระพุทธเจ้าก็ทรงยกเศวตฉัตรอันบริสุทธิ์คือวิมุตติ มรรค ผล นิพพาน แล้วทรงทำหมู่เสนามารที่ปฏิบัติผิดให้เศร้าโศก ทรงทำเทพยดามนุษย์ที่ปฏิบัติถูกให้รื่นเริง ทรงยกเศวตฉัตรอันมีซี่ คือพระปรีชาญาณอันประเสริฐ มีคันไม้แก่นแน่นหนา แข็งแรง คือพระขันติอันนำมาซึ่งยศและศิริอันใหญ่ ในหมื่นโลกธาตุฉันนั้น
ธรรมดาพระราชา ย่อมเป็นที่กราบไหว้ของประชาชนผู้พบเห็นฉันใด พระพุทธเจ้าควรเป็นที่กราบไหว้ของเทพยดามนุษย์ทั้งหลายฉันนั้น
ธรรมดาพระราชา ย่อมทรงโปรดปรานแก่ผู้ทำถูกฉันใด พระพุทธเจ้าก็ทรงโปรดปรานผู้ปฏิบัติถูกฉันนั้น
ธรรมดาพระราชาย่อมทรงเคารพนับถือโบราณพระราชาประเพณี ดำรงราชสกุลวงศ์ไว้ให้ยั่งยืนฉันใด พระพุทธเจ้าก็ทรงเคารพนับถือ ซึ่งพระพุทธประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน ไว้ให้ดีฉันนั้น
ด้วยเหตุนี้แหละ มหาบพิตร สมเด็จพระธรรมสามิสร์จึงได้พระนามว่าเป็น พระราชา ด้วยพระคุณธรรมของพระองค์เอง เหตุที่จะให้พระตถาคตเจ้าได้พระนามว่าเป็น พราหมณ์ และเป็น พระราชา นั้นมีอยู่มาก ถึงจะพรรณนาไปตลอดกัปก็ไม่รู้จักสิ้น ไม่จำเป็นอะไรที่จะพูดให้มากเกินไป เชิญรับไว้เพียงย่อ ๆ เท่านี้เถิด ขอถวายพระพร "
" สาธุ...พระนาคเสน ท่านแก้ปัญหาข้อนี้ถูกต้องดีแล้ว "
ฐิตา:
ปัญหาที่ ๘ ถามถึงเหตุที่ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นพร้อมกัน ๒ พระองค์
" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
" พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เกิดพร้อมกันในโลกธาตุอันเดียว " ก็พระตถาคตเจ้าทั้งปวง เมื่อจะทรงแสดงธรรม ก็ทรงแสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ อริยสัจ ๔ เมื่อจะให้ศึกษาก็ให้ศึกษาในไตรสิกขา ( ศีล สมาธิ ปัญญา ) เมื่อจะทรงพร่ำสอนก็ทรงพร่ำสอนในอัปปมาทปฏิบัติ (การเป็นผู้ไม่ประมาท) เหมือนกันทั้งสิ้น แต่เหตุไรจึงไม่เกิดพร้อมกัน ๒ องค์
โยมเห็นว่า ถ้ามีพระพุทธเจ้าเกิดพร้อมกันหลายองค์ จะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่โลกมากยิ่งขึ้น แต่เหตุไรจึงเกิดพร้อมกับ ๒ องค์ไม่ได้ โยมสงสัย ? "
พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร หมื่นโลกธาตุนี้ ทรงไว้ได้เพียงพระคุณธรรมของพระพุทธเจ้า คราวละพระองค์เดียวเท่านั้น ถ้ามีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นพร้อมกันถึง ๒ พระองค์ หมื่นโลกธาตุนี้ก็จะทรงอยู่ไม่ไหว จักถล่มทะลายไป เรือที่พอนั่งคนเดียวได้ เมื่อมีผู้มานั่ง ๒ คน เรือนั้นจะทรงอยู่ได้หรือไม่ ? "
" ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า เรือนั้นต้องจม "
" ข้อนี้ก็อุปมาฉันนั้นแหละ มหาบพิตรอีกประการหนึ่ง บุรุษกินข้าวอิ่มแล้ว มีผู้ให้กินข้าวอีกเท่านั้นลงไป บุรุษนั้นจะเป็นสุขหรือไม่ ? "
" ไม่เป็นสุข พระผู้เป็นเจ้า ถ้าเขาขืนกินลงไปให้มากอีกเท่านั้น เขาก็ต้องตาย "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร อีกอย่างหนึ่ง มีเกวียนอยู่ ๒ เล่ม บรรทุกเต็มไปด้วยรัตนะเหมือนกัน แต่เมื่อมีผู้มาขนเอารัตนะจากเกวียนอีกเล่มหนึ่ง ขึ้นไปบรรทุกรวมเกวียนเล่มเดียวกัน เกวียนเล่นนั้นจะทรงไหวไหม ? "
" ไม่ไหว พระผู้เป็นเจ้า เกวียนเล่มนั้นดุมต้องแตก กำต้องหัก กงต้องทรุดลง เพลาต้องหัก เพราะหนักเกินไป "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร แต่ขอให้พระองค์ทรงสดับเหตุอื่นต่อไปอีก คือถ้ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นพร้อมกัน ๒ พระองค์ ความวิวาทของพุทธบริษัทก็จักมีขึ้นคือ ต่างฝ่ายก็จะยกย่องพระพุทธเจ้าของตน เปรียบเหมือนบริวารของอำมาตย์ผู้ใหญ่ ๒ คน ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ยกย่องนายของตนฉะนั้น
อนึ่ง ถ้ามีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นพร้อมกันถึง ๒ พระองค์ คำว่า อัคโค พุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นอัครบุคคลนั้น คำนี้มิผิดไปหรือ เชฏโฐ พุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นผู้เจริญที่สุดก็จะผิด วิสิฏโฐ พุทโธ พระพุทธเจ้าประเสริฐกว่าเทพยดามนุษย์นั้นก็ผิด อุตตโม พุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นผู้อุดมก็จะผิดไปสิ้น ดังนี้ เป็นต้น
อีกประการหนึ่ง ธรรมดามีอยู่ว่า ในแผ่นดินใหญ่หนึ่ง ๆ ก็มีสาครใหญ่เพียงหนึ่ง เขาสิเนรุราชเพียงหนึ่ง อากาศเพียงหนึ่ง ท้าวสักกะเพียงหนึ่ง มารเพียงหนึ่ง มหาพรหมเพียงหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุเหล่านี้แหละ จึงไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดพร้อมกันถึง ๒ พระองค์ ขอถวายพระพร "
" ข้าแต่พระนาคเสนปัญหาข้อนี้ พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขดีด้วยเหตุการณ์หลายอย่าง โยมขอรับว่าถูกต้องดีทั้งนั้น "
ฐิตา:
ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องสัมมาปฏิบัติของคฤหัสถ์และบรรพชิต
" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
" เราสรรเสริญสัมมาปฏิบัติ ทั้งของคฤหัสถ์และบรรพชิต เพราะถ้าคฤหัสถ์และบรรพชิตปฏิบัติชอบ ก็ได้สำเร็จเญยยธรรม อันเป็นกุศล " ดังนี้
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าหากคฤหัสถ์ผู้เกลือกกลั้วด้วยบุตร ภรรยา ผู้ได้นุ่งห่มดี ผู้ได้ตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอมเครื่องย้อมทา ผู้ยินดีในเงินทอง ผู้ประดับผมด้วยเครื่องประดับมีค่า ได้สำเร็จธรรมที่พึงรู้ได้เหมือนกับบรรพชิต ผู้นุ่งห่มผ้าย้อมฝาด อาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ ทำให้บริบูรณ์ในสีลขันธ์ทั้ง ๔ ยึดมั่นในสิกขาบททั้งหลาย ประพฤติธุดงคคุณ ๑๓ แล้ว คฤหัสถ์และบรรพชิต ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรกัน
การบรรพชาทนอดอยาก ก็ไม่เห็นจะมีประโยชน์อันใด สู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ได้ประโยชน์อะไรที่จะทำตัวให้ลำบาก เพราะผู้ทำให้ตัวเป็นสุข ก็ได้สุขเหมือนกัน "
พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร สมเด็จพระชินวรเจ้าได้ตรัสไว้ว่า " เราสรรเสริญสัมมาปฏิบัติทั้งของคฤหัสถ์และบรรพชิต คฤหัสถ์ก็ตามบรรพชิตก็ตาม เมื่อปฏิบัติชอบแล้วก็ได้สำเร็จธรรมที่พึงรู้ทั้งนั้น " ข้อนี้ ทรงมุ่งการปฏิบัติชอบเป็นใหญ่ เพราะถึงเป็นบรรพชิตถ้าไม่ปฏิบัติชอบ ก็ห่างไกลจากคุณวิเศษ ไม่ต้องพูดถึงคฤหัสถ์ ถึงจะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม ถ้าปฏิบัติชอบก็สำเร็จธรรมที่พึงรู้ได้เหมือนกับบรรพชิต ก็แต่ว่าบรรพชิตเป็นใหญ่แห่งสามัญผล เพราะการบรรพชาเป็นของมีคุณมาก มีคุณเป็นเอนก มีคุณหาประมาณมิได้ ไม่อาจประมาณคุณของบรรพชาได้ เหมือนกับแก้วมณีโชติของพระเจ้าจักรพรรดิ ที่ไม่มีใครอาจตีราคาได้ หรือเหมือนกับลูกคลื่นในมหาสมุทร ซึ่งไม่มีใครประมาณได้ฉะนั้น สิ่งที่ควรทำทุกสิ่ง บรรพชิตเป็นผู้มักน้อย ผู้สันโดษ ผู้เงียบสงัด ผู้ไม่คลุกคลี ผู้มีความเพียรแรงกล้า ผู้ไม่มีห่วงใย ผู้มีศีลบริสุทธิ์ผู้มีอาจาระ ขัดเกลาแล้ว ฉลาดในการปฏิบัติธุดงค์ ย่อมสำเร็จคุณวิเศษได้เร็ว เหมือนกับลูกศรที่ไม่มีข้อมีปมที่เหลาเกลี้ยงเกลาดี ที่ตรงดี เวลายิงไปย่อมไปได้รวดเร็วฉันนั้น เป็นอันว่า สิ่งที่ควรทำทั้งสิ้น บรรพชิตทำให้สำเร็จได้เร็วกว่าคฤหัสถ์ ขอถวายพระพร "
" ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน "
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version