แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์
มิลินทปัญหา
ฐิตา:
องค์ ๒ แห่งช่างไม้
" ขอถวายพระพร องค์ ๒ แห่งช่างไม้ได้แก่อะไร ?"
" ขอถวายพระพร ธรรมดา ช่างไม้ ดีดบรรทัดแล้วจึงถากไม้ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรดีดบรรทัดลงในคำสั่งสอนของสมเด็จพระชินวรเจ้า แล้วยืนอยู่ที่เหนือพื้นปฐพีคือศีล จับเอามีดคือปัญญาด้วยมือ คือศรัทธาแล้วถากกิเลสทั้งหลายให้สูญหายไปฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งช่างไม้
ธรรมดาช่างไม้ถากเปลือกกระพี้ออกทิ้งถือเอาแต่แก่นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรถากซึ่งลัทธิต่าง ๆ เช่น มีความเห็นว่าโลกเที่ยงบ้าง เห็นว่าตายแล้วสูญบ้าง เป็นต้น แล้วถือเอาแต่แก่น คือความเป็นเองแห่งสังขารทั้งหลายว่า ไม่มีอะไรเป็นสัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา มีแต่ของว่างเปล่า เป็นของที่ไม่เที่ยงทั้งนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งช่างไม้
ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน สุตตนิบาต ว่า
" ท่านทั้งหลายควรปัดเป่าเสียซึ่งความมืด ควรกวาดเสียซึ่งหยากเยื่อเชื้อฝอย ควรทิ้งเสียซึ่งผู้ไม่ใช่สมณะแต่ถือตัวว่าเป็นสมณะ ควรทิ้งเสียซึ่งผู้มีนิสัยลามก มีความประพฤติและโคจรลามก ควรเป็นผู้บริสุทธิ์ อยู่กับผู้บริสุทธิ์ ควรเป็นผู้มีสติ อยู่กับผู้มีสติ " ดังนี้ ขอถวายพระพร "
จบมักกฏวรรคที่ ๖
ฐิตา:
อุปมากถาปัญหา
กุมภ วรรคที่ ๗
องค์ ๑ แห่งหม้อน้ำ
" ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งหม้อน้ำได้แก่อะไร? "
" ขอถวายพระพร ธรรมดา หม้อน้ำ มีน้ำเต็มแล้วย่อมไม่มีเสียงดังฉันใด พระโยคาวจรเมื่อได้ความรู้ความดีเต็มแล้ว ก็ไม่มีเสียง ไม่มีมานะ ไม่ดูถูกผู้อื่น ไม่ปากกล้า ไม่โอ้อวด ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งหม้อน้ำ
ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า
" หม้อที่มีน้ำพร่องย่อมมีเสียงดัง หม้อที่มีน้ำเต็มย่อมเงียบ คนโง่เปรียบเหมือนน้ำครึ่งหม้อ บัณฑิตเปรียบเหมือนน้ำเต็มหม้อ" ดังนี้ ขอถวายพระพร "
ฐิตา:
องค์ ๒ แห่งกาลักน้ำ
" ขอถวายพระพร องค์ ๒ แห่งกาลักน้ำได้แก่อะไร ? "
" ขอถวายพระพร ธรรมดา กาลักน้ำ ย่อมดูดน้ำขึ้นมาฉันใด พระโยคาวจรก็ควรดูดใจขึ้นมาไว้ในโยนิโสมนสิการฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งกาลักน้ำ
ธรรมดากาลักน้ำดูดน้ำขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ปล่อยน้ำลงไปฉันใด พระโยคาวจรเกิดความเลื่อมใสขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ควรปล่อยความเลื่อมใสนั้นเสีย ควรทำให้เกิดความเลื่อมใสยิ่งขึ้นใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่า
" คุณแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาเลิศประเสริฐยิ่ง คุณแห่งพระธรรมทั้งพระองค์ทรงสั่งสอนไว้เป็นอันดี และพระอริยสงฆ์ผู้ทรงคุณ คือปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วใช้ปัญญาพิจารณาว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง "
ครั้นเห็นดังนี้แล้วก็ไม่ควรปล่อยการพิจารณานั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งกาลักน้ำ
ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า
" ผู้บริสุทธิ์ในความเห็น ผู้แน่ในอริยธรรม ผู้ถึงคุณวิเศษ ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยสิ่งใด ย่อมเป็นผู้คงที่ในที่ทั้งปวง" ดังนี้ ขอถวายพระพร "
ฐิตา:
องค์ ๓ แห่งร่ม
" ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๓ แห่งร่มได้แก่อะไร ? "
" ขอถวายพระพร ธรรมดา ร่ม ย่อมอยู่บนศีรษะฉันใด พระโยคาวจรก็ควรอยู่บนกิเลสฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งร่ม
ธรรมดาร่มย่อมคุ้มกันศีรษะฉันใด พระโยคาวจรก็ควรคุ้มกันตนด้วยโยนิโสมนสิการฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งร่ม
ธรรมดาร่มย่อมกำจัด ลม แดด เมฆ ฝนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรกำจัดลัทธิสมณพราหมณ์ภายนอก และควรกำจัดเครื่องร้อน คือไฟ ๓ กอง ควรกำจัดฝน คือกิเลสฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งร่ม
ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า
" ร่มใหญ่อันไม่ขาด ไม่ทะลุ แน่นหนา แข็งแรง ย่อมกันลม กันแดด กันฝนห่าใหญ่ได้ฉันใด พระพุทธบุตรผู้กั้นร่มคือศีล ผู้บริสุทธิ์ก็กันฝนคือกิเลส กันไฟ ๓ กอง อันทำให้เร่าร้อนได้ฉันนั้น" ขอถวายพระพร"
ฐิตา:
องค์ ๓ แห่งนา
" ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๓ แห่งนาได้แก่สิ่งใด ? "
" ขอถวายพระพร ธรรมดา นา ย่อมมีเหมือง ชาวนาย่อมไขน้ำจากเหมืองเข้าไปสู่นาเลี้ยงต้นข้าวฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีเหมือง คือสุจริตด้วยข้อวัตรปฏิบัติฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนา
ธรรมดานาย่อมมีคันนา ชาวนาย่อมรักษาน้ำให้อยู่เลี้ยงต้นข้าวด้วยคันนาฉันใด พระโยคาวจรก็ควรสมบูรณ์ด้วยคันนาคือศีลควรรักษาความเป็นสมณะไว้ด้วยคันนาคือศีลจึงจักได้สามัญผล ๔ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งนา
ธรรมดาซึ่งเป็นนาดี ย่อมทำให้เกิดความดีใจแก่เจ้าของ ถึงหว่านข้าวลงไปน้อยก็ได้ผลมาก ยิ่งหว่านลงไปมากก็ยิ่งได้ผลมากฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นนาดี ควรเป็นผู้ให้ผลมาก ให้เกิดความดีใจแก่พวกทายกถึงเขาจะถวายทานน้อยก็ให้เขาได้ผลมาก อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งนา
ข้อนี้สมกับคำของ พระอุบาลีเถระ ผู้เป็นวินัยธรว่า
" พระภิกษุควรเป็นผู้เปรียบด้วยนา ควรให้ผลอันไพบูลย์เหมือนกับนาดี ผู้ใดให้ผลอันไพบูลย์ได้ ผู้นั้นชื่อว่านาประเสริฐ" ดังนี้ ขอถวายพระพร "
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version