ข่าวนํ้าท่วม น้ำท่วมกรุงเทพ
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยโพสต์
สถานการณ์ น้ำท่วมในหลายจังหวัดยังคงน่าเป็นห่วง สาเหตุที่ทำให้เกิดอุทกภัยครั้งนี้ เนื่องจากเกิดภาวะฝนตกหนัก ติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเข้าขั้นวิกฤติ มีปริมาณน้ำเกินกว่าระดับกักเก็บไว้ได้ และจำเป็นต้องระบายน้ำออกจากเขื่อน ทำให้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนทางภาคเหนือไหลลงมายังแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบกับช่วงวันที่ 24-27 ตุลาคม เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุน ด้วยเหตุนี้จึงอาจทำให้กรุงเทพฯ จมอยู่ใต้บาดาลได้
กทม. เผยวันนี้น้ำเหนือ-ทะเลหนุนยังไหว
ผอ.สำนักระบายน้ำ กทม. เผยน้ำเหนือไหลบ่าเจ้าพระยา บวกกับน้ำทะเลหนุนสูงสุดวันนี้ ยังไม่กระทบ กทม. เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง
นาย สัญญา ชีนิมิตร ผอ.สำนักระบายน้ำ กทม. เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำเหนือไหลบ่าผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบกับน้ำเหนือหนุนสูงสุด ในวันนี้ (21 ตุลาคม) ว่า ผ่านไปได้ด้วยดี น้ำเหนือที่ไหลลงเจ้าพระยา ยังอยู่ในปริมาณไม่มากเท่าไร สามารถรับน้ำได้ตลอด อย่างไรก็ตาม ทาง กทม.จะเฝ้าระวังเหตุน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่มีการประกาศเตือนให้ชาว กทม. เฝ้าระวังในช่วง 1-2 วันนี้ ที่น้ำเหนือจะไหลมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยปริมาณถึง 3,600 ลบ.ม.ต่อวินาที และจะมาสมทบกับน้ำทะเลที่จะหนุนขึ้นสูงที่สุดในช่วง 24-27 ตุลาคมด้วย ทั้งนี้ในวันนี้ (21 ตุลาคม) หลังเวลา 17.30 น. ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะระดับน้ำจะขึ้นมากกว่าวานนี้ที่ปากคลองตลาดวัดได้ 1.55 เมตร
ขณะที่ลำคลองในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ ได้แก่ เขตหนองจอก ลาดกระบัง มีนบุรี และคลองสามวา มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต และคลองระพีพัฒน์ ที่จะระบายน้ำส่งต่อไปยัง จ.สมุทรปราการ อย่างไรก็ตาม หากมีฝนตกหนักลงมาก็อาจสร้างปัญหาได้
ข่าวน้ำท่วม จ.นนทบุรี ประกาศไทรน้อยเขตภัยพิบัติ
สถานการณ์น้ำท่วม ใน จ.นนทบุรี ล่าสุดทางจังหวัดได้ประกาศให้ อ.ไทรน้อย เป็นเขตภัยพิบัติ แล้ว ขณะที่ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดค้างคาว ม.4 ต.บางไผ่ อ.เมืองนนทบุรี ต่างก็ได้รับผลกระทบเหตุน้ำท่วมเช่นกัน เนื่องจากบริเวณดังกล่าว อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อน้ำเหนือไหลบ่ามาประกอบกับช่วงน้ำทะเลหนุนสูง น้ำจะเอ่อทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน
นอกจากนี้ยังมีหลายจุดที่น้ำท่วมขังแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ที่ ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด ได้ถูกน้ำท่วมสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร เฉพาะเวลาน้ำขึ้นในช่วงเช้าและเย็น ทั้ง นี้ กรมชลประทาน คาดว่า สถานการณ์จะรุนแรงกว่าเดิม เนื่องจากน้ำเหนือจะไหลลงสมทบอีกระลอก ประกอบกับจะมีน้ำทะเลหนุนสูง ช่วง 25 - 27 ตุลาคมนี้
ปทุมธานี เร่งกั้นน้ำเข้า 3 ทิศทาง
ระดับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำเข้าท่วมวัด โรงเรียน บ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.สามโคก ซึ่งเป็น 2 อำเภอที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน โดยบางจุดมีน้ำท่วมขังสูงถึง 2.30 เมตร เจ้าหน้าที่และชาวบ้านต้องเร่งนำกระสอบทรายมาวางเป็นคันแนวกั้นน้ำที่เอ่อ จากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน จากชั้นนอกไม่ให้เข้าท่วมชั้นใน เพราะอาจจะมีการระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงแม่น้ำเจ้าพระยาอีก
โดยนายชาญ พวงเพ็ชร นายก อบจ.ปทุมธานี ได้สั่งเฝ้าระวังทิศทางและเตรียมการป้องกันน้ำที่จะเข้าปทุมธานี ทั้ง 3 ทางอย่างเต็มที่ ทั้งจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และฝั่ง อ.หนองเสือ ที่รับการระบายน้ำมาจาก จ.สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี เพื่อลงสู่คลองระพีพัฒน์ เพื่อเตรียมป้องกันและรับมือ
ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้สร้างคันกั้นน้ำบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีก เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมเข้ามาในเขตคันกั้นน้ำ บริเวณบ้านกระเเชงและบ้านกลาง ซึ่งขณะนี้ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และคาดว่าประมาณ 4-5 วัน น้ำจะลดลงในที่สุด
สำหรับ พื้นที่กรุงเทพฯ ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมมากที่สุด คือ รัชดาภิเษก ลาดพร้าว บางนา ศรีนครินทร์ ส่วนพื้นที่เสี่ยงหลังแม่น้ำเหนือไหลทะลักลงมากรุงเทพฯ คือ ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหหาสวัสดิ์ ทั้งหมด 13 เขต ดังนี้
1. เขตบางซื่อ ได้แก่ ชุมชนพระราม 6 (ฝั่งติดแม่น้ำ) และชุมชนปากคลองบางเขนใหญ่
2. เขตดุสิต ได้แก่ ชุมชนเขียวไข่กา ชุมชนราชผาทับทับทิมร่วมใจ (เชิงสะพานกรุงธน) ชุมชนซอยสีคาม (ซอยสามเสน 13) และชุมชนวัดเทวราชกุญชร (ถนนศรีอยุธยา)
3. เขตพระนคร ได้แก่ ชุมชนท่าวัง ชุมชนท่าช้าง และชุมชนท่าเตียน
4. เขตสัมพันธวงศ์ ได้แก่ ชุมชนวัดปทุมคงคา (ท่าน้ำสวัสดิ์) และชุมชนตลาดน้อย
5. เขตบางคอแหลม ได้แก่ ชุมชนวัดบางโคล่นอกชุมชนหน้าวัดอินทร์บรรจง ชุมชนซอยมาตานุสรณ์และชุมชนหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
6. เขตยานนาวา ได้แก่ ชุมชนโรงสี (ถนนพระราม 3)
7. เขตคลองเตย ได้แก่ ชุมชนสวนไทรริมคลอง พระโขนง
8. เขตบางพลัด ได้แก่ ชุมชนวัดฉัตรแก้ว
9. เขตบางกอกน้อย ได้แก่ ชุมชนสันติชนสงเคราะห์ ชุมชนปากคลองน้ำตาล-คลองพิณพาทย์ ชุมชนครอกวังหลัง และชุมชนดุสิต-นิมิตรใหม่
10. เขตธนบุรี ได้แก่ ชุมชนปากคลองบางกอกใหญ่
11. เขตคลองสาน ได้แก่ ชุมชนเจริญนครซอย 29/2
12. เขตราษฎร์บูรณะ ได้แก่ ชุมชนดาวคะนอง
13. เขตทวีวัฒนา ได้แก่ ชุมชนวัดปรุณาวาส
ขณะที่นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ พร้อมคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ตรวจการเรียงกระสอบทราย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนทรงวาด และตรวจงานก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม ริมคลองบางกอกน้อย บริเวณชุมชนสันติชนสงเคราะห์ พร้อมระบุว่า กรุงเทพฯ มีความพร้อมเต็มที่ในการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ขณะ นี้กรมชลประทาน ได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระราม 6 รวม 3,655 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากแนวป้องกันน้ำท่วมที่มีอยู่ สามารถรับน้ำได้ที่ระดับความสูงประมาณ 2.5 เมตร จากระดับน้ำทะเล และจากการตรวจวัดปริมาณน้ำ ในช่วงเช้ามีความสูงประมาณ 1.5 เมตร ยังสามารถรับน้ำเพิ่มได้อีก 1 เมตร โดยโครงการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีความยาวรวม 77 กิโลเมตร ก่อสร้างเสร็จแล้วกว่า 75 กิโลเมตร
ส่วน ที่เหลือคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2554 โดยจุดที่ยังไม่เสร็จทางกรุงเทพฯ ได้นำกระสอบทรายกว่า 2 แสนใบ มาวางเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราวที่ความสูง 2.5 เมตร เช่นเดียวกัน พร้อมทั้งเตรียมเครื่องสูบน้ำ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยงต่าง ๆ ด้วย นอกจากนี้ ได้เตรียมเวชภัณฑ์ ยา และสถานที่พักชั่วคราว บรรเทาความเดือดร้อน ให้ประชาชนหากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ
อย่าง ไรก็ตาม จากการพยากรณ์อากาศและคาดการสถานการณ์น้ำ ในระหว่างวันที่ 26 - 27 ต.ค. คาดว่า จะมีน้ำเหนือไหลบ่าและน้ำทะเลหนุนสูง จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่เชื่อว่ายังสามารถรับมือได้
ด้าน ผอ.สำนักระบาดวิทยา ได้ออกมาเตือนประชาชนลงเล่นน้ำท่วม หวั่นติดเชื้อที่มากับน้ำ หรืออุบัติเหตุ อาทิ ตาแดง จมน้ำ ไฟฟ้าดูด
เบอร์โทรศัพท์ติดต่อสอบถาม ประสานงานเหตุอุทกภัย
- ศูนย์กลางช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ติดต่อ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร 1784
- ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องการความช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วม โทร.1555 และ 0 2248 5115 ตลอด 24 ชั่วโมง
- ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย จ.นครราชสีมา โทร 044-342-652 ถึง 4 และ 044-342-570 ถึง 7
- ประสานงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ โทรฟรี 1669 หรือ 02-591-9769 ตลอด 24 ชั่วโมง
- สอบถามเส้นทางรถไฟ และเวลาเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร 1690
- สอบถามสภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 02-398-9830
- กฟภ.ตั้งศูนย์ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 นครราชสีมา โทร.044214334-5 หรือ CallCenter1129
- สอบถามน้ำท่วม ถ.มิตรภาพ ที่แขวงการทางต่าง ๆ ได้ที่โทร 044-242047 ต่อ 21, 044-212200, 037-211098, 036-461422, 036-211105 ต่อ 24
การเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วม
1. หมั่นติดตามข่าวสาร และประกาศเตือนทุกช่องทาง เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เสาสัญญาณ เป็นต้น
2. เตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง แก๊ชสำหรับหุงต้ม ยารักษาโรค ไฟฉาย เทียน ไม้ขีดไฟ และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่น ๆ เพื่อเอาตัวรอดในยามน้ำท่วม
3. เตรียมกระสอบทรายไว้เพื่อทำผนังกั้นน้ำ (แต่ห้ามวางไว้พิงกำแพง เพราะจะเพิ่มแรงดันให้น้ำทะลักเข้ามาได้ง่าย)
4. หมั่นทำความสะอาดพื้น ไม่ให้มีของอันตรายหากเกิดน้ำท่วมสูง
5. เก็บของมีค่า และสัตว์เลี้ยง รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า ไปไว้ชั้นบนของบ้าน
6. เตรียมเบอร์ติดต่อ หน่วยงานของรัฐ เผื่อต้องการความช่วยเหลือ
7. ชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารให้พร้อม
8. หากเกิดน้ำท่วมให้หนีขึ้นที่สูง และปิดวงจรไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร
9. พยายามหาส่วนแห้งเพื่อหลบภัย และป้องกันไฟดูด
10. ห้ามรับประทานน้ำที่ท่วมสูง หากขาดแคลนน้ำดื่ม ให้ต้มก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคระบาด
11. หากน้ำท่วมไม่สูงมาก ให้ระวังการใช้รถใช้ถนน และดูแลเด็กเล็กไม่ให้ออกจากบ้าน
12. ระวังสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ หากถูกกัดให้ล้างแผลด้วยน้ำต้มสุกและเช็ดแอลกอฮอล์รอบแผล จากนั้นหาทางไปโรงพยาบาลทันที
13. เตรียมน้ำสะอาดไว้ดื่ม และชำระร่างกาย
14. เตรียมถุงดำเล็ก - ใหญ่ ไว้ทิ้งขยะและปลดทุกข์
15. เตรียมอุปกรณ์สำหรับขอความช่วยเหลือ เช่น นกหวีด ชูชีพ
16. หากน้ำท่วมเป็นเวลานาน อาจเกิดแผ่นดินทรุดตัวได้ แนะนำให้อยู่ห่างตึกหรืออาคารสูง ๆ
.