สุนทรียสนทนาJuly 6, 2008
สวัสดีค่ะ
สืบเนื่องจากการอบรม
“สุนทรียสนทนา” เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน พบว่าตัวเองมีความรู้สึกเหมือนถูกปลุก
หัวใจ ให้ตื่นจากการหลับไหล เหมือนต้นหญ้ากลางทะเลทรายได้รับเม็ดฝน เหมือนคนหลงทางพบแผนที่และเข็มทิศยังไงยังงั้นเลยทีเดียว
(
ภาพ - วัดราษฎร์บำรุง สถานที่จัดการอบรมครั้งนี้ค่ะ )
ทางโรงพยาบาลมีมติให้จัดการอบรม 100 เปอร์เซนต์ จึงแบ่งเจ้าหน้าที่เข้ารับการอบรมเป็น 2 รุ่น ตัวเองนั้นได้เข้าอบรมในรุ่นที่ 2 แต่ได้พบปะพูดคุยกับทีมกระบวนกร ( ทีมวิทยากรผู้จัดให้มีกระบวนการเรียนรู้ ) ตั้งแต่ครั้งที่มีการอบรมรุ่นแรกเนื่องจากได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในทีมประสานงานการอบรมของรุ่นถัดไป
ทีมกระบวนกรนำโดย
นายแพทย์วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ท่านเป็นศัลยแพทย์ที่สนใจสุขภาพองค์รวม และ เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม อาทิ หัวใจใหม่ชีวิตใหม่ , จับจิตดัวยใจ 1 และ 2 , บายพาสอารมณ์ , วิถีแห่งกอล์ฟ 1 และ 2 ( เล่ม 3 กำลังอยู่ระหว่างจัดพิมพ์ค่ะ ) , สวยด้วยใจ ฯลฯ ส่วนตัวเคยอ่านบทความของอาจารย์จากเวปไซต์ต่าง ๆ มาก่อนด้วยค่ะ การได้พบกับอาจารย์วิธานครั้งแรกจึงตื่นเต้นมาก ทั้งปลื้มใจสุด ๆ ที่อาจารย์จำและเรียกชื่อของฉันได้ถูกต้องหลังจากถูกแนะนำไปครั้งเดียว ( การจดจำชื่อคนได้เป็นเสน่ห์ที่ร้ายกาจของคนเราจริง ๆ 555+ )
ท่านที่ 2 คือ
นายแพทย์วรวุฒิ โฆวัชรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกระบวนกรผู้เล่าเรื่องราวอย่างได้อรรถรส น่าฟัง และ น่าคิดตามอย่างยิ่ง อีกทั้งเป็นทีมหลักในการดูแลเวปไซต์
http://newheartnewlife.net/wordpress/ ด้วยค่ะ
ท่านที่ 2 คือ
อาจารย์พัฒนา แสงเรียง ที่ฉันเรียกติดปากว่า
พี่แอ๊ด ท่านที่ 3 คือ
พี่หนึ่ง และ ท่านสุดท้ายคือ
พี่แอน ทั้งคู่ไม่ยอมให้ข้อมูลส่วนตัวอื่นใดเพิ่มเติม สงสัยกลัวฉันเอาไปขายนั่นเอง ( ฮา )
หลังพิธีเปิดและแนะนำกระบวนกรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวกเราก็นั่งล้อมกันเป็นวงบนพื้นพรม อาจารย์ให้นั่งนิ่ง ๆ หลับตาฟังเสียงเพลงที่เปิดบรรเลงเบา ๆ อยู่ครู่ใหญ่ แล้วมีเสียงระฆังกังวานใสดังขึ้น จากนั้นก็ให้พวกเราเปิดสมุดบันทึกแล้วเขียนสิ่งที่เห็น เสียงที่ได้ยินลงไป มีข้อแม้อยู่ว่า
“ช่วงที่เขียน ไม่ว่าจะคิดไม่ได้ จะเขียนไม่ออก หรือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะไม่ยกปากกาขึ้นจากกระดาษ” ด้วยกิจกรรมที่ให้เปิดสมุดขีด ๆ เขียน ๆ นี่เอง ทำให้ตัวฉันได้หยุดฟังเสียงหัวใจตัวเอง ทั้งไม่ได้ฟังเปล่าแต่ยังได้บันทึกเสียงที่ผุดออกมาจากใจไว้อีกด้วย แรก ๆ ก็เขียนไม่คล่องนัก หลัง ๆ กลับรัวได้ทีละหลายบรรทัด เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมก็พบว่าฉันเขียนอะไรต่อมิอะไรไปตั้งเกือบสี่สิบหน้ากระดาษเชียว ไม่น่าเชื่อเลยค่ะว่าจะทำได้
การอบรมครั้งนี้ท่านกระบวนกรให้เรานั่ง ๆ นอน ๆ ได้ตามสบาย แต่มีกติกาอยู่ 2 ข้อคือ
1. เมื่อได้ยินเสียงระฆัง ให้หยุดกิจกรรมทุกอย่างแล้วกลับมาอยู่กับตัวเอง
2. ให้ปิดโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือไม่ก็ให้เปิดในระบบสั่น ด้วยเหตุผลที่ว่า
“มือถือ คืออุปกรณ์ที่ทำให้คนรอบข้างไม่มีตัวตน” กระบวนการเรียนรู้ เริ่มด้วยการจับคู่นั่งคุยกับคนแปลกหน้า เล่าเรื่องราววัยเด็กให้อีกคนหนึ่งฟัง ฟังโดยไม่มีการถามขัดจังหวะการเล่าเรื่องโดยเด็ดขาด เมื่อระฆังดังขึ้นให้สิ้นสุดการเล่า จากนั้นแทนที่จะให้อีกคนหนึ่งเล่าเรื่องวัยเยาว์ของตัวเองบ้าง กระบวนกรกลับให้คนฟังเล่าในสิ่งที่ยินมาอีกครั้ง โดยเจ้าของเรื่องแปลงร่างเป็นผู้ฟังเรื่องของตัวเอง เอาละสิ ! ทีนี้ก็สนุกกันเสียไม่มี และนี่คือบทเรียนแรก
“จงฟัง ฟังอย่างตั้งใจ และ ฟังต่อไปให้จบ” แล้วเราจะเป็นผู้ฟังที่มีคุณภาพ ทำให้เกิดการสนทนาที่พึงประสงค์
หัวใจหลักของการอบรมครั้งนี้ฉันว่าน่าจะเป็นเรื่อง
“สี่ระดับของการสนทนา” ลองคลิกเข้าไปดูเนื้อหากันเองนะคะ
เรื่องราวดี ๆ จากการอบรมครั้งนี้มีเยอะมากค่ะ ทั้งจากการบอกเล่าของกระบวนกร จากการบอกเล่าของ “เพื่อน” ผู่ร่วมเข้ารับการอบรม และ จากการบอกเล่าของตัวเองในช่วงที่เปิดโอกาสให้ได้ฟังเสียงหัวใจตัวเอง ซึ่งคงไม่สามารถนำมาเล่าให้อ่านได้หมด ( ไม่ผ่านเซนเซอร์ด้วยค่ะ 555+ ) ถ้าหากสนใจก็เปิดเข้าไปอ่านในเวปไซต์ข้างต้นได้ค่ะ
ท้ายนี้ มีของฝากจาก
สุนทรียสนทนา มาให้คือประโยคที่ว่า
“คนที่อยู่ตรงหน้า คือ คนที่สำคัญที่สุด” และ
“
การไม่ด่วนตัดสิน เป็นการเยียวยาซึ่งกัน” (
ภาพ – น้องหมาในวัด )
อย่าลืมเปิดหัวใจ ให้ความรู้สึกได้สนทนากันนะคะ
ราตรีสวัสดิ์ค่ะ ..
http://bysoul.wordpress.com/2008/07/06/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%B2/