ริมระเบียงรับลมโชย > สุนทรียสนทนา - ไดอะล็อก (Dialogue)
สุนทรียสนทนา กับ สันติสุข ครอบครัว ( สิบวันเปลี่ยนชีวิต )
มดเอ๊กซ:
* หลาย ๆ ตอนอยู่ในหนังสือ แล้วนะ 2 เล่มล่าสุด จาก http://webboard.wongnamcha.com/index.php?topic=228.0
มดเอ๊กซ:
สุนทรียสนทนา กับ สันติสุขในครอบครัว
ท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านบทความชิ้นนี้ อาจเคยได้รับข้อมูลความรู้มาหลายร้อยหน้าเกี่ยวกับไดอะล็อค หรือ สุนทรียสนทนา แต่ไม่ว่าจะอ่านหนังสืออีกสักกี่เล่ม ท่านรู้สึกแน่ใจจริงๆหรือว่า กระบวนการนี้จะเป็นยาวิเศษดังที่ใครๆกล่าวขวัญถึง อันจะนำมาซึ่ง ความสุข สันติสุข ความรู้อันก้าวพ้นตัวบุคคล การพัฒนาตัวตนภายใน และอื่นๆ แม้กระทั่งคนที่ศึกษาทฤษฎีมาแล้วเป็นอย่างดี ก็อาจตั้งคำถามอยู่ลึกๆว่า ถ้าตัวเองทำไปแล้วมันจะได้ผลดีจริงหรือไม่ ต้องไปอบรมที่ไหนก่อนไหม ถ้าจะจัดให้มีขึ้นที่บ้าน หรือที่ทำงาน ต้องเริ่มต้นอย่างไร แล้วผู้เข้าร่วมในวงสนทนาล่ะ จะต้องมีพื้นฐานสักแค่ไหน แล้วพวกเขาจะสามารถนำไปใช้ได้มากน้อยสักเท่าใดในชีวิตประจำวัน ที่สุดแล้วเราก็มิอาจแน่ใจได้เลย ถ้าไม่ได้ลองนำไปใช้ในชีวิตจริงกับคนรอบๆตัวเรา
บทความนี้จะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในครอบครัวของผมเอง ที่ได้นำสุนทรียสนทนาเข้ามาเป็นวาระพิเศษในบ้าน สมาชิกในวงอันประกอบไปด้วยพี่น้องสี่คนเห็นพ้องต้องกันว่า อยากจะแบ่งปันในบางแง่มุมของพวกเรา เพื่อจะได้บอกเล่าเรื่องราวอันน่ารักที่เกิดขึ้นในบ้านเล็กๆหลังนี้ ตั้งแต่วันแรกเริ่มได้รู้จักไดอะล็อค ล้มลุกคลุกคลานผ่านมาตลอดสี่เดือน จนไดอะล็อคเข้ามาอยู่ในเนื้อในตัวพวกเราและเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปเสียแล้วในปัจจุบัน จึงร่วมมือกันช่วยกันเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมา บางทีพัฒนาการของวงไดอะล็อคของพวกเรา ก็อาจตอบคำถามต่างๆของท่านผู้อ่านที่มีข้างต้นได้มากขึ้น และกับประเด็นคำถามตามหัวข้อข้างบนที่ว่า ไดอะล็อค จะเป็นหนทางที่นำมาซึ่งสันติสุขในครอบครัวได้หรือไม่ มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
ตอนที่ ๑ :ปัญหาที่มองไม่เห็น
ก่อนที่จะเริ่มเรื่องราวของไดอะล็อค ผมอยากจะบอกเล่าเรื่องราวโดยย่อ ถึงความเป็นอยู่ภายในบ้านของพวกเราให้ทุกท่านได้ทราบก่อน ครอบครัวของเราเป็นครอบครัวใหญ่ มีคุณตา คุณยายเป็นผู้ใหญ่ที่สุดในบ้าน ท่านมีลูกสี่คน อยากให้ได้มาเรียนในกรุงเทพ จึงได้ปลูกบ้านเป็นบ้านสองชั้นหลังใหญ่หลังเดียวให้ลูกๆก็อาศัยอยู่ร่วมกัน พอลูกโตเริ่มแต่งงานมีหลานเกิดไล่เลี่ยกัน หลานก็เป็นเพื่อนเล่นกัน มีพื้นที่เหลือเฟือให้เด็กๆวิ่งเล่นกัน นับว่าเป็นช่วงเวลาชื่นมื่น มีความสุข
ต่อมาลูกเริ่มมีครอบครัวกันครบทุกคน มีคนมาอยู่มากขึ้น ห้องที่มีอยู่เริ่มไม่พอ ลูกๆจะย้ายออกไปหาบ้านเช่า สองตายายปรารถนาดีอยากให้ลูกๆได้อยู่ร่วมกัน จึงได้แบ่งที่ดินผืนเดียวที่มีอยู่ให้ลูกเป็นสี่แปลง สร้างทาวน์เฮ้าส์สามหลังอยู่ติดกัน อีกหลังเป็นที่ว่างเนื่องจากลูกคนโตอยู่ต่างจังหวัดเลยไม่ได้ปลูก แต่เมื่อมีการทุบบ้านใหญ่และแบ่งแยกออก แต่ละครอบครัวต่างคนก็ต่างอยู่บ้านของตัวเอง มีความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของมากขึ้น นี่บ้านฉัน นั่นบ้านเธอ ความสุขสดชื่นปรองดองที่ตายายทั้งสองหวังไว้ ไม่ได้เป็นดังเก่าก่อนเสียแล้ว
อยู่มาวันหนึ่งสองบ้านที่อยู่หลังติดกัน มีปัญหาทะเลาะกันรุนแรง ไม่ไปมาหาสู่กัน ถึงกับก่อกำแพงสูงหนากั้นระหว่างบ้าน ทั้งหน้าบ้าน ลานหลังบ้าน แม้บนดาดฟ้า เอาแบบไม่ให้ต้องเห็นหน้ากัน หลานๆจึงพลอยห่างกันออกไปด้วย ทั้งนี้หลานๆก็เริ่มเข้าสู่วัยเรียนด้วยก็เลยต่างคนต่างไป บ้านก็จึงเป็นบ้านที่ไม่ครึกครื้นเหมือนเดิม ทุกคนเจอกันสวัสดีทักทายกันตามมารยาท แต่เราไม่เคยคุยกันจริงๆในทุกข์สุขของกันและกัน พ่อแม่แต่ละบ้านก็มักจะกล่าวถึงอีกบ้านในทางไม่ดี เด็กๆก็รับรู้ในแง่นั้น ใจก็รักน้ารักอา แต่พอได้ฟังทุกวัน บ่อยๆเข้าก็รู้สึกไม่ดีตามไปด้วย
คราวนี้ก็เป็นอันว่าเด็กๆก็เริ่มไม่ลงรอยกันเอง สิ่งเหล่านี้ผู้ใหญ่ไม่ได้สังเกต ว่ารอยร้าวนี้ลึกมากเพียงใด พวกเขาชาชินกับความสัมพันธ์แบบนี้ ถึงไม่ได้ดีเลิศแต่มันก็โอเค แต่สำหรับเด็กๆแล้ว พอไม่ได้สนิทกับพี่น้องเหมือนเก่า พวกเค้าโตก็ขึ้นมากับเพื่อน กับหนังสือ หรือกับตัวเองคนเดียว พวกเค้ารู้สึกว่า ผู้ใหญ่แก่เกินไปที่จะเข้าใจเค้า และพี่น้องก็ไม่ได้เป็นเพื่อนเล่นกันอีกต่อไป กาลเวลาผ่านมาสิ่งเหล่านี้มันก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาไป ไม่ได้มีใครรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติ ส่วนตัวละครในเรื่องนี้ก็จะเป็นพวกเรา ที่อยู่ในรุ่นหลานนี่เอง มีกันอยู่ 6 คน พวกเราก็ดำเนินชีวิตของตัวเองไป โดยไม่ได้คิดว่าต้องไปสนใจพี่น้อง จนกระทั่ง...
มดเอ๊กซ:
ตอนที่ ๒ : รักแรกพบกับสุนทรียสนทนา
ความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มมาจากน้องชายของผม หมอโอเปิ้น ซึ่งได้มีโอกาสเข้าอบรมสุนทรียสนทนากับ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาแพทย์อยู่ที่ ม.สงขลานครินทร์ มีความประทับใจมากและก็ได้ทำไดอะล็อคเรื่อยมากับเพื่อนๆของเขา ไปอยู่หาดใหญ่นานถึง 6 ปี พอเรียนจบกลับมา เห็นบ้านเราที่ต่างคนต่างอยู่กันในช่วงนั้น ก็คงรู้สึกไม่สบายใจนัก เห็นบรรยากาศที่แต่ละคนแทบจะไม่ได้คุยกันเลยในแต่ละวัน ไปทำงานกลับมาบ้าน กับข้าวตั้งไว้บนโต๊ะ ต่างคนต่างกิน เสร็จแล้วก็ขึ้นห้อง อาบน้ำ นอน เช้าก็รีบตื่นไปทำงาน ซึ่งผมเองก็ชินเสียแล้ว ชีวิตมันก็โอเคนะ ไม่ได้ทะเลาะเบาะแว้งอะไรกันนี่ แต่น้องชายผมกลับไม่คิดเช่นนั้น
พอกลับมาเค้าก็พยายามพูดคุยกับทุกคนในบ้าน คุยอยู่ครั้งละนานๆ ด้วยความที่ผู้ใหญ่มักจะเห็นเราเป็นเด็กตลอด ผมเห็นน้องชายถูกดุบ้าง ไม่ค่อยมีใครฟังเค้านัก เค้าเป็นฝ่ายฟังเสียมากกว่า ผมมองว่าเสียเวลาเปล่านะ ผู้ใหญ่ก็มีอยู่สองอย่าง ไม่พร่ำบ่นแต่เรื่องเก่าๆ ก็เทศน์สั่งสอน ผมไม่เห็นว่ามันจะน่าฟังสักเท่าไหร่ อยู่ของเราเฉยๆนี่แหละสบายดีแล้ว ผมคิด แต่น้องบอกผมว่า เค้ากำลังทำไดอะล็อค หรือสุนทรียสนทนาให้เกิดขึ้นในครอบครัวเรา มันจะนำมาซึ่งความสุข และสันติสุขของทุกคนในครอบครัว แต่ละคนจะฟังกันมากขึ้น โต้เถียงกันน้อยลง ผมก็งงว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร ก็มองดูอยู่ห่างๆ ไม่ได้สนใจเท่าใดนัก
ก็น่าแปลกที่ไม่นานนัก เริ่มมีเสียงหัวเราะเกิดขึ้นในบ้านมากขึ้น บรรยากาศเปลี่ยนไป เนื่องจากเรานอนห้องเดียวกัน โอเปิ้นมาเล่าเรื่องราวต่างๆของผู้คนในบ้านให้ผมฟังบ่อยๆ ซึ่งผมเองอยู่กับพวกเค้ามาหลายปี เรื่องบางเรื่องก็ไม่เคยรู้มาก่อน ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าหลายๆคนสนิทกับโอเปิ้นมากกว่าผมอีก ทั้งที่เพิ่งกลับมาได้ไม่นาน มีหลายคนฝากโอเปิ้นมาบอกว่าพวกเค้ามีความเป็นห่วงผมอยู่บ่อยๆในเรื่องต่างๆ แล้วทำไมไม่มาบอกผมเองนะ เอ...ชักจะยังไงๆแล้วนะเนี่ย
จริงๆแล้วโอเปิ้นก็ยังคงพูดถึงสุนทรียสนทนาอีกหลายครั้ง อยากให้เราเริ่มจากชวนลูกพี่ลูกน้องที่อยู่ในบ้านหลังข้างๆ มานั่งคุยกัน เรามีกันอยู่ทั้งหมด 6คน แต่ผมก็ยังเฉยๆ ปกติก็ได้เจอเห็นหน้ากันทุกวัน จะต้องไปนัดมานั่งคุยอีกทำไม จนกระทั่งวันหนึ่งเห็นบทความเกี่ยวกับสุนทรียสนทนาวางอยู่บนโต๊ะ เลยหยิบมาอ่านดู เป็นงานเขียนของ นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ซึ่งกล่าวถึง ไดอะล็อคกับวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ มีงานวิจัยจากต่างประเทศอ้างอิงมากมาย มีความน่าสนใจและอ่านง่ายมาก ทำให้ผมพอเข้าใจและเห็นภาพรางๆ ว่ามันจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้จริงๆ พอเห็นดังนี้ก็เลยบอกโอเปิ้นว่า ผมโอเคแล้ว แต่ส่วนน้องคนอื่นๆต้องไปคุยเอาเองนะ ไม่นานนักสุนทรียสนทนาครั้งแรกของบ้านเราก็เกิดขึ้นในห้องนอนของผมในค่ำคืนหนึ่ง มีผม โอเปิ้น และ กิ๊บก๊าบ น้องสาววัยรุ่นของเราที่รู้สึกจะมีเรื่องไม่เข้าใจกันอยู่บ้างทำให้มองหน้ากันไม่ติด และระยะหลังก็เลยไม่ค่อยได้คุยกับผมนัก
สำหรับช่วงแรก โอเปิ้นก็เกริ่นว่าเราต้องทำอะไรบ้างในวงสนทนานี้ มีกฎอยู่หลายข้อ เริ่มจากเราต้องพูดทีละคน รอให้เค้าพูดจบก่อน เราถึงจะยกมือและพูดได้ ต้องรับฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ตัดสิน ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ ทุกอย่างเป็นความคิดเห็นของแต่ละคน ไม่มีผิดหรือถูก ต้องวางเฉยหรือที่เรียกว่าห้อยแขวนการตัดสินไว้ การพูดจะไม่เฉพาะเจาะจงไปที่ใคร ให้พูดกับทุกคนในวง ไม่ต้องสนับสนุน คัดค้าน หรือพยายามให้เหตุผลกับเรื่องที่ผู้อื่นพูดไปแล้ว บางทีถ้าในวงเงียบก็ไม่จำเป็นต้องหาเรื่องพูดทำลายความเงียบนั้น ให้อยู่กับความเงียบจนกว่าจะรู้สึกว่ามีอะไรต้องพูดถึงค่อยพูด และที่แปลกที่สุดก็คือ ไม่มีหัวข้อเริ่มต้นในการพูด ใครอยากจะคุยเกี่ยวกับอะไรก็ได้ คนต่อไปจะคุยเรื่องเดิมหรือเปลี่ยนเรื่องใหม่ก็ได้อีกเช่นกัน แล้วมันจะรู้เรื่องกันไหมนี่ เอากะเขาสิ ทำไงได้ หลวมตัวมาแล้วนี่นา ผมบ่นงึมงำ...
เริ่มการสนทนาด้วยการนั่งหันหน้าเข้าหากันเป็นวงกลม เปิดเพลงบรรเลงคลอเบาๆ แล้วให้หลับตา ผ่อนคลายส่วนต่างๆของร่างกาย ดึงสติกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ ทำสมาธิสักสองสามนาที เฮ้อ...พิธีกรรมเยอะเสียจริงๆ ผมยังคงวิพากษ์ในใจ พอได้ยินเสียงให้ลืมตา แล้วเราก็เริ่มคุยทีละคน ผมรู้สึกว่าการได้นั่งนิ่งๆเมื่อสักครู่ ทำให้บรรยากาศการคุยมันช้าลง ดูผ่อนคลายดีเหมือนกัน ผมเองจำเนื้อหาการสนทนาครั้งนั้นได้ไม่ทั้งหมด แต่ที่ตราตรึงฝังใจคือ ความรู้สึกที่ร่วมของเราสามคน ที่อบอวลอุ่นไอไปด้วยความรัก เราคุยกันเรื่องในวัยเด็ก ตอนที่เราได้เล่นกันอย่างสนุกสนาน
ภาพตอนนั้นบ้านของเราเป็นบ้านหลังใหญ่หลังเดียว มีพื้นที่ให้วิ่งเล่นมากมาย ช่วงเวลานั้นเรามีความสุขกันมากมาก เราแปลกใจระคนตกใจที่เรื่องราวเหล่านั้นกลับเป็นอดีตที่เลือนลางจางหายไปนานแล้ว ไม่นานต่อมาพอบ้านใหญ่ถูกรื้อแล้วแบ่งออกเป็นสามหลัง เราก็ต่างคนต่างอยู่ในบ้านของตนเอง ความสุขเหล่านั้นมันหายไปพร้อมๆกับความสัมพันธ์ที่แย่ลงด้วย เราเติบโตขึ้น แยกย้ายกันไปเรียนตามที่ต่างๆ เราคุยกันน้อยลงเรื่อยๆ ในที่สุดก็เหลือแค่การทักทายกันตามมารยาทเท่านั้น ไม่เฉพาะเด็กๆเท่านั้น เราเห็นพ้องกันว่า ระหว่างผู้ใหญ่ในครอบครัวของเราก็เป็นเช่นเดียวกัน
ทันใดนั้น เราก็กลับมาเชื่อมกันอีกครั้ง วงสนทนาเริ่มมีความร่าเริงสนุกสาน เราเกิดความคิดที่จะทุบกำแพงบ้านแต่ละหลัง เชื่อมต่อให้เป็นหลังเดียวกันอีกครั้ง เราจะได้เดินไปหากันได้ตลอดเวลา ไม่ใช่อยู่รั้วเดียวกันแต่โทรมือถือหากันแบบนี้ เมื่อเห็นภาพนั้นแล้ว เราซาบซึ้งกับมิตรภาพที่กลับมาจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เราเริ่มวางแผนที่จะค่อยๆชวนเด็กๆอีกสามคนมาร่วมวงไดอะล็อคด้วยในครั้งต่อๆไป ส่วนตัวผมเองรู้สึกดีมากที่ได้กลับมาคุยดีๆกับน้องสาวอีกครั้ง โดยเรื่องราวที่มีประเด็นต่อกันนั้นกลายเป็นเรื่องขำๆไปซะแล้ว ภายในเวลาสามชั่วโมง มันทำให้พวกเราหัวเราะและร้องไห้ไปด้วยกันได้ แถมด้วยมิตรภาพที่กลับมาอย่างง่ายดาย จริงๆแล้วไดอะล็อคมันก็มีข้อดีเหมือนกันนะ ผมเริ่มเปิดใจมากขึ้นและหลงรักมันเข้าให้ซะแล้วสิ
มดเอ๊กซ:
ตอนที่ ๓ : ล้มลุกคลุกคลานกับวงไดอะล็อคในห้องนอน
หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็ได้มีโอกาสขึ้นไปเรียนรู้กระบวนการสุนทรียสนทนากับ อ.วิศิษฐ์ ที่สถาบันขวัญเมือง จ.เชียงราย เป็นเวลา 10 วัน ได้เขียนบทความขึ้นมาชิ้นหนึ่งจากการเรียนรู้ในครั้งนั้น ชื่อว่า “ 10 วันที่เคล้าข้นกับชุมชนบ้านอิงดอย” ลงในกระทู้ของเวบ วงน้ำชาดอทคอม ด้วยนามปากกา “เรือรบ” การได้กลับมาใคร่ครวญกับสิ่งที่สัมผัสมา กลั่นกรองร้อยเรียงเสียงในหัวออกเป็นตัวหนังสือ ก็ทำให้ผมได้ลึกซึ้ง มั่นใจในประโยชน์และข้อดีของไดอะล็อคมากขึ้น การอยู่ในวงสนทนากับผู้คนอันหลากหลาย ทำให้ผมได้เติบโตภายในและมีการเปลี่ยนแปลงในตัวเองมากมาย อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งมุมมองแนวคิด อุปนิสัย จิตใจอารมณ์ และเริ่มสามารถเป็นผู้นำพากระบวนการไดอะล็อคให้ดำเนินได้อย่างราบรื่น และรู้สึกว่ามันไม่ยากเลย
และแล้วเราก็เริ่มจัดไดอะล็อคในห้องนอนอาทิตย์ละครั้ง ในครั้งที่สอง เราเริ่มคุยในสิ่งที่แต่ละคนสนใจ ผมคุยเรื่องเศรษฐกิจและการลงทุน โอเปิ้นคุยเรื่องสุขภาพจิต กิ๊บก๊าบคุยเรื่องหนังสือนิยายที่ชอบ เราต่างพูดออกมาจากองค์ความรู้ของแต่ละคน แล้วก็พบว่ามันน่าเบื่อและไม่สนุกเลย แม้หัวข้อเรื่องจะน่าสนใจใคร่รู้แต่พอพูดแล้วมันขาดชีวิตชีวา ไม่ใช่เราพูดไม่ดีพูดไม่เก่งนะ แต่เราเริ่มเข้าใจในคำว่า “ความสดใหม่” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากได้ยินในวงไดอะล็อค เรื่องราวความรู้มันเป็นเชิงทฤษฎี แต่คนเราอยากฟังเรื่องเล่าและประสบการณ์ตรงซึ่งมีความสดมากกว่า มีชีวิต มีอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า นั่นก็เป็นการค้นพบร่วมกันและมีค่าอย่างไม่น่าเชื่อ
ในครั้งที่สาม ก็ได้ชวน ปอ น้องชายวัยรุ่นอีกคนเข้ามาด้วย จริงๆแล้วเราพยายามชวนปออยู่หลายอาทิตย์ แต่เค้าติดไปเที่ยวกับเพื่อน และไม่ค่อยสนใจจะมานั่งคุยกับพี่น้องสักเท่าใดนัก มันเป็นผลพวงมาจากที่เราห่างเหินกันไปนานมากแล้วนั่นเอง ในที่สุดปอก็ทนความตื๊อของพวกเราไม่ไหว มานั่งร่วมในคืนหนึ่งอย่างเสียไม่ได้ ซึ่งในครั้งนั้นก็ปรากฎว่า ปอต่อต้านมาก ไม่พูดอะไรเลยตลอดสามชั่วโมง ก่อนจบก็ขอให้เค้าพูดอะไรก็ได้สักหน่อยก็ยังดี ปอสีหน้าบึ้งตึงตลอด กอดอกพลางพูดว่า พี่... ผมไม่ชอบการคุยแบบนี้ที่จะต้องมาให้พูดทีละคน มันดูไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นกันเอง ต้องรอให้คนอื่นพูดจบ ผมก็ลืมเรื่องที่อยากพูดพอดี แล้วถ้าอีกคนพูดยืดเยื้อน่าเบื่อจะทำไง แล้วทำไมต้องมาเปิดเพลงช้าๆด้วย ผมชอบฟังเพลงฮิพฮอพ ทำไมเปิดให้ผมไม่ได้ แบบนี้ไปนั่งกินเหล้าคุยกับเพื่อนยังจะสนุกกว่า... เอาละวา ผมกับโอเปิ้นรับมือแทบไม่ทันเลย ก็ได้แต่นั่งรับฟังไปโดยไม่ตัดสิน
ในที่สุด พอปอพูดจบหมด ผมก็น้อมรับความคิดเห็นน้องเข้ามา บอกว่าคราวหน้าจะให้ปอเลือกเพลงเองนะ แล้วก็ถ้ามีช่วงไหนที่ปออยากพูดจริงๆก็สามารถยกมือขอพูดได้ ไม่ได้ห้ามเด็ดขาดขนาดนั้น ผมเองก็พอมองออกว่าปอรู้สึกอย่างไร คงเหมือนผมครั้งแรก พวกเราไม่ชอบอยู่ในกฎเกณฑ์กันอยู่แล้ว อยากจะให้ผ่อนคลายก็ไม่ควรทำให้มันดูเป็นกฎเกณฑ์จนเกินไป อันนี้คงต้องยืดหยุ่นกันตามสถานการณ์ ไดอะล็อคครั้งนี้ก็เลยลงเอยได้ด้วยความเข้าใจแบบใจหาย แม้ระหว่างทางจะไม่ราบรื่นนักก็ตาม
มดเอ๊กซ:
:yoyo014: ไปล่ะ ง่วงงงงงง หาอ่านเองใน ลิ้ง นะ
ว่าง ๆ จะมาลง จนครบ :yoyo109:
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version