แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
คำสอนของท่านเว่ยหล่าง 2
ฐิตา:
คำสอนของท่านเว่ยหล่าง 2
อหังการ
บุญ เป็นเครื่องที่ทำให้เกิดกิเลสในจิตฟูขึ้นจึงกลายเป็นความถือดีอวดดี ทำให้จิตหลงทางได้ง่ายที่สุด กุศล เป็นเครื่องตัดกิเลสมิให้ฟูขึ้น เพราะฉะนั้นจึงแสวงหาได้จากธรรมญาณ ซึ่งเป็นเรื่องภายใน ผู้สร้างบุญมิอาจตัดความยะโสโอหังได้เพราะเป็นสิ่งภายนอกที่ยั่วย้อมให้จิตหลงใหลลืมตัวและเป็นเรื่องที่สร้างได้ง่ายดายนัก ส่วนกุศลเป็นเรื่องที่ต้องค้นพบธรรมญาณแห่งตนจึงเป็นเรื่องยาก
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "การเห็นแจ้งในธรรมญาณเรียกว่า "กง"
ส่วนการที่สามารถกระทำให้คงที่สม่ำเสมอเรียกว่า "เต๋อ"
และเมื่อใดจิตที่เคลื่อนไหวแคล่วคล่องตามภาวะที่แท้จริง พร้อมทั้งทำหน้าที่อย่างประหลาดลี้ลับของใจเราเอง เมื่อนั้นได้ชื่อว่าเข้าถึงซึ่ง กงเต๋อ"
คำว่า "กงเต๋อ" มีความหมายว่า คุณธรรม หรือ กุศลกรรม เพราะการค้นพบธรรมญาณของตนเองเป็นการงานที่ต้องจัดการปัดกวาดกิเลสนานาประการออกไปให้หมดและสภาวะแห่งธรรรมญาณปรากฎจึงเรียกว่าคุณธรรม
การอธิบาย "กงเต๋อ" จึงมิใช่เรื่องยาก แต่การกระทำให้ปรากฏขึ้นมาจนเป็นธรรมชาติจึงเป็นเรื่องยากนัก พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "การระวังจิตภายในให้คงอยู่ในภาวะที่ปราศจากอหังการจึงเป็น "กง" แต่ที่เป็นภายนอกเกี่ยวกับการวางตัวไว้ในสภาพที่เหมาะสมทุกวิถีทางจึงเป็น "เต๋อ" การที่ว่าทุกสิ่งที่แสดงออกจากธรรมญาณ จึงเรียกว่า "กง" และรู้ว่าส่วนที่เป็นประธานของจิตซึ่งเป็นอิสระจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวงจึงเรียกว่า "เต๋อ" การที่ไม่ปล่อยให้จิตวิ่งเตลิดไปจาก ธรรมญาณ จึงเรียกว่า "กง" แต่การที่ใช้จิตให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่เผลอทำให้จิตมืดมัวเสียก่อนจึงเรียกว่า "เต๋อ"
สภาวะของจิตที่มีกุศลธรรรมจึงล้วนกระทำออกไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างแท้จริงเพราะยอมรับว่าทุกคนล้วนแต่มีสภาวะแห่งธรรมญาณเหมือนกันหมด และคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนจึงเปรียบได้เช่นน้ำพร่องแก้วสามารถเติมน้ำได้ตลอดเวลา แต่คนที่ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงเป็นเช่นน้ำล้นแก้ว ไม่อาจเพิ่มเติมน้ำได้อีก ผู้ที่ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงไม่อาจสร้างบุญกุศลใดๆ ได้เลยเพราะมีแต่ยโสโอหังดูแคลนผู้อื่นว่าต่ำกว่าตนเสมอ
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "ถ้าแสวงหากุศลภายในธรรมกายและทำตามที่ได้กล่าวนี้จริงๆ กุศลที่ได้รับย่อมเป็นกุศลจริงผู้ปฏิบัติเพื่อกุศลจะไม่หมิ่นผู้อื่น และในทุกที่ทุกโอกาสเขาปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความยำเกรงนับถือ ผู้ที่ดูหมิ่นผู้อื่นเป็นปกตินิสัยย่อมไม่สามารถขจัดมานะอหังการออกไปได้แสดงให้เห็นว่าเขาขาดซึ่ง "กง" ดังนั้น เขาจึงไม่อาจแจ้งต่อธรรมญาณของตนเองส่อสำแดงให้เห็นว่าเขายังขาด "เต๋อ" คำกล่าวของท่านฮุ่ยเหนิงย่อมชี้ให้เห็นชัดเจนถึงภาวะจิตของคนที่มีกุศลธรรมคือ "กงเต๋อ" ย่อมเป็นคนที่มีมารยาทยกย่องผู้อื่น คนเหล่านี้ย่อมได้รับการยกย่องนับถือตอบกลับคืนไป แต่คนที่เย่อหยิ่งจองหองล้วนได้รับความดูหมิ่นหรือตอบแทนด้วยความรังเกียจของชนทั้งปวง
คนสมัยนี้ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนเพราะเทคโนโลยีที่เจริญกลายเป็นกิเลสทำให้เขาลืมตัวว่าเก่งกาจกว่าใครๆ ที่ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น หรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ คนเหล่านี้จึงเจริญด้วย อหังการ เพราะฉะนั้นคนในยุคที่เจริญด้วยเทคโนโลยีจึงเป็นผู้ที่อวดดีโดยปราศจากความดีและไร้มารยาทและพร้อมที่จะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและกลายเป็นผู้ที่ประจบสอพลอต่อผู้ที่มีความรู้เหนือกว่าเขา โลกจึงตกต่ำและตกอยู่ในอันตรายเพราะ "คุณธรรม" มิได้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอีกต่อไป แต่อำนาจแห่ง "อหังการ" ครอบงำโลกเอาไว้
ผู้ที่บ้าคลั่งแต่เทคโนโลยีจึงกลายเป็นคนหลงอย่างแท้จริงเพราะเขาเกิดความเข้าใจผิดว่าการครอบครองเทคโนโลยีจึงกลายเป็นผู้ที่มีอำนาจอันแท้จริงสามารถบงการชีวิตของผู้อื่นได้ ความจริงเขาเหล่านั้นแม้ชีวิตของตนเองยังไม่อาจบงการได้เลย และวิทยาศาสตร์เจริญก้าวล้ำหน้าไปเท่าไรแต่ก็ยังไม่สามารถสร้างต้นหญ้าจริงๆ หรือแม้แต่มดตัวน้อยสักตัวหนึ่งได้ มนุษย์ตกอยู่ในอำนาจของวิทยาศาสตร์จึงเป็นผู้ที่ตกอยู่ในภาวะแห่งความมืดมนอย่างแท้จริงและน่าสงสารนัก
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงสรุปเกี่ยวกับ "กงเต๋อ" ว่า "เมื่อใดความเป็นไปแห่งจิตทำหน้าที่โดยไม่มีติดขัดเมื่อนั้นเรียกว่ามี "กง" เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่โดยตรงแน่ว เมื่อนั้นเรียกว่ามี "เต๋อ" เพราะฉะนั้น กุศล จึงเป็นเรื่องของการแสวงหาภายในจิตเดิมแท้หรือธรรมญาณ และหาไม่ได้ด้วยการโปรยทาน ถวายภัตตาหารเจ จึงต้องแยกแยะให้ออกระหว่างความปิติอิ่มใจกับกุศลกรรมอันแท้จริง" การสร้างบุญกับ แสวงหากุศลจึงไม่เหมือนกันจริงๆ
ที่มาภาพจาก : Google
ที่มาของพระสูตรท่านเว่ยหล่าง: http://www.baanjomyut.com/main.html
Credit by: http://www.sanyasi.org/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=6&Category=sanyasiorg&No=288051
ฐิตา:
ดินแดนแห่งอมิตาภะ
พระพุทธองค์ตรัสย้ำให้ทรงปฏิบัติแต่ปัจจุบันกาลมากกว่าอดีตแลอนาคตกาล เพราะทั้งสองกาลเวลานั้นหาได้เกิดประโยชน์โภคผลแต่ประการใดไม่ รู้อดีตก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ อนาคตที่มาถึงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ปัจจุบันกาลจึงเป็นตัวกำหนดอนาคตที่แท้จริง เพราะฉะนั้นการเอาใจใส่ต่อปัจจุบันจึงเป็นผู้ไม่ประมาท
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้ตอบปัญหาของข้าหลวงอุ๋ยที่สงสัยว่าบรรพชิตและฆราวาสต่างเอ่ยพระนามของพระอมิตาภะโดยหวังว่าจะไปบังเกิดในดินแดนทางทิศตะวันตกอันเป็นดินแดนบริสุทธิ์ได้หรือไม่ว่า "เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสพระสูตรที่กรุงสาวัตถีเป็นที่กระจ่างชัดแล้วว่า แดนบริสุทธิ์นั้นมิได้อยู่ไกลไปจากที่นี่เลย เพราะถ้าติดตามระยะทางเป็นไมล์ก็ได้ 108,000 ไมล์เท่านั้น ซึ่งความหมายที่แท้จริงของระยะทางนี้คือ อกุศล 10 และ มิจฉัตตะ 8 ภายใน ตัวเรานั่นเอง สำหรับพวกที่มีใจต่ำมันย่อมอยู่ไกลแสนประมาณ แต่สำหรับพวกมีใจสูงอยู่ใกล้นิดเดียว"
อกุศล 10 ประการนั้นเกิดจาก จิต ถึงสามประการคือ โลภ โกรธ หลง
เกิดจากวาจา มีถึงสี่ประการคือ โกหก หยาบ นินทา และเพ้อเจ้อ
และกายกระทำชั่ว สามอย่างคือ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักขโมยและผิดในกามตัณหา
ส่วนมิจฉัตตะหมายถึงหนทางที่ตรงกันข้ามกับ มรรคมีองค์แปดคือมิจฉาปัญญา มิจฉาสมาธิ มิจฉาสติ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวาจา เป็นต้น เพราะฉะนั้นในขณะที่คนมีปัญญาชำระใจของตนเองให้บริสุทธิ์เพราะพระพุทธองค์ตรัสว่า "เมื่อใจบริสุทธิ์ดินแดนแห่งพระพุทธเจ้าก็บริสุทธิ์พร้อมกัน" แต่คนที่ไร้ปัญญาต่างพากันออกนามพระอมิตาภะและอ้อนวอนขอไปเกิดในแดนบริสุทธิ์ย่อมเป็นไปมิได้
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้อธิบายอย่างแยบยลว่า "แม้เป็นชาวตะวันออก ถ้าใจบริสุทธิ์ก็ย่อมเป็นคนไม่บาป แต่ต่อให้ชาวตะวันตกเสียเองแต่ใจโสมมก็ไม่อาจช่วยให้เป็นคนหมดบาปได้ ถ้าในกรณีที่เป็นคนตะวันออกทำบาปแล้วออกนามพระอมิตาภะแล้วอ้อนวอนเพื่อให้ไปเกิดทางทิศตะวันตก แต่ถ้าคนบาปนั้นเป็นชาวตะวันตกเสียเอง เขาจะอ้อนวอนให้ไปเกิดที่ไหนอีกเล่า"
"คนสามัญและคนโง่ไม่เข้าใจในธรรมญาณ และไม่รู้จักว่าแดนบริสุทธิ์มีอยู่พร้อมแล้วในตัวของตัวเอง ดังนั้นจึงปรารถนาไปเกิดทางทิศตะวันออกบ้าง ทางทิศตะวันตกบ้าง แต่สำหรับคนที่มีปัญญาแล้วที่ไหนๆก็เหมือนกันทั้งนั้น ตามที่พระพุทธองค์ ตรัสเอาไว้ว่า "เขาจะไปเกิดที่ไหนไม่สำคัญเขาคงมีความสุขและบันเทิงรื่นเริงอยู่เสมอ" พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "เมื่อใจบริสุทธิ์จากบาป ทิศตะวันตกก็อยู่ไม่ไกลจากที่ตรงนี้แต่มันลำบากอยู่ที่คนใจโสมมต้องการไปเกิดที่นั่น"
"สิ่งที่ควรทำเป็นข้อแรกก็คือ จัดการกับอกุศล 10 ประการเสียให้หมดสิ้นเมื่อนั้น ก็เป็นอันว่าเราได้เดินทางเข้าไปแล้ว 100,000 ไมล์ขั้นต่อไปเราจัดการกับมิจฉัตตะ 8 เสียให้เสร็จสิ้นก็เป็นอันว่าหนทางอีก 8,000 ไมล์นั้นเราได้เดินผ่านทะลุไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้แดนบริสุทธิ์จะหนีไปไหน ถ้าเราสามารถเห็นแจ้งชัดในธรรมญาณอยู่เสมอ และดำเนินการตรงแน่วอยู่ทุกขณะแล้ว พริบตาเดียวเราก็ไปถึงแดนบริสุทธิ์ได้และพบอมิตาภะอยู่ที่นั่น"
พระวจนะตรงนี้น่าจะเป็นเครื่องยืนยันว่าการเข้าถึงดินแดนอันบริสุทธิ์ถูกต้องนั้นอยู่ที่การบำเพ็ญให้เห็นแจ้งชัดในธรรมญาณของตนเองเพียงสถานเดียวจึงเป็นการที่ตนเองอย่างแท้จริงตรงตามพระพุทธวจนะที่กล่าวว่า ตนเองเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่ความเข้าใจของสาธุชนในสมัยปัจจุบันเชื่อว่า ผู้อื่นสามารถพาเราไปยังแดนบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นจึงคลั่งไคล้ใหลหลงต่อผู้ที่มีวัตรปฏิบัติแปลกประหลาดมหัศจรรย์มากกว่าที่หันมาบำเพ็ญตนเอง โดยหวังว่าผู้วิเศษเหล่านั้นจักนำพาเข้าไปสู่แดนสวรรค์โดยที่ตนเองมิต้องบำเพ็ญปฏิบัติแต่อย่างใด พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "ถ้าท่านทั้งหลายเพียงแต่ประพฤติกุศล 10 ประการเท่านั้นท่านก็หมดความจำเป็นที่จะต้องไปเกิดที่นั่น ในฝ่ายตรงกันข้าม ถ้าท่านไม่จัดการกับอกุศล 10 ประการให้เสร็จสิ้นไปแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ไหนเล่าที่จะพาท่านไปที่นั่น
ถ้าท่านเข้าใจหลักธรรมอันกล่าวถึงธรรมชาติที่ไม่มีการเกิด ก็จะพาท่านไปให้เห็นทิศตะวันตกได้ในอึดใจเดียว แต่ถ้าท่านไม่เข้าใจ ท่านจะไปถึงที่นั่นด้วยลำพังการออกนามพระอมิตาภะได้อย่างไรกันหนอเพราะหนทาง 108,000 ไมล์นั้นมันไกลไม่ใช่เล่น" หลักธรรมอันกล่าวถึงการไม่เกิดนั้นเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ร่างกายสังขารมีวันเกิดจากพ่อแม่ แต่ธรรมญาณของเราซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงนั้นไม่มีวันเกิดเพระฉะนั้นจึงไม่มีวันดับ ความเข้าใจเช่นนี้ย่อมทำให้เข้าใจถึงการเวียนว่ายตายเกิดและหักวงจรของการเวียนว่ายเช่นนี้เสียได้ การหลุดพ้นไปจากการเวียนว่ายจึงมิได้อยู่ที่การทำบุญแต่อยู่ที่การปฏิบัติตนเองให้พบสภาวะแห่งธรรมญาณอันเป็นธรรมชาติแท้ที่ไม่เกิดดับ และที่ตรงนั้นในตัวเราจึงเป็นดินแดนแห่งอมิตาภะซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอมตะนิรันดรนั่นเอง
ฐิตา:
มนุษย์นคร
ความว่างก่อกำเนิดสรรพสิ่ง ถ้าปราศจากความว่างเสียแล้วสรรพสิ่งมิอาจถือกำเนิดขึ้นมาได้เลย เพราะฉะนั้นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ดาวน้อยใหญ่ในจักรวาลนี้ล้วนมีความว่างเป็นปัจจัยสำคัญ จึงกำเนิดขึ้นมาและดำรงอยู่ได้ ธรรมญาณของมนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกัน เพราะมีความว่างจึงสามารถปรุงแต่งสรรพสิ่งได้มากมายจนมิอาจประมาณได้เลย ใครสามารถเข้าถึงความสามารถเดิมแท้แห่งธรรมญาณได้ก็จักเข้าใจจักรวาลนี้เช่นเดียวกัน เพราะอำนาจการปรุงแต่งมิได้แตกต่างไปจากความว่างอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติเลย
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวเปรียบเทียบเอาไว้อย่างน่าศึกษาว่า "ตัวของเรานี้เป็นนครแห่งหนึ่ง ตา หู จมูก ลิ้น เป็นเฉกเช่นประตูเมือง ประตูนอกมี 4 ประตู ซึ่งเป็นอำนาจการปรุงแต่งสำหรับนึกคิด ใจนั้นเป็นแผ่นดิน ส่วนธรรมญาณเป็นเช่นพระเจ้าแผ่นดินอาศัยอยู่ในมณฑลแห่งใจ ถ้าธรรมญาณยังอยู่ข้างในก็หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินยังอยู่ กายและใจของเราก็ยังคงอยู่ แต่เมื่อธรรมญาณออกไปเสียแล้วซึ่งหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินมิได้อยู่ กายและใจของเราก็แตกสลายสาบสูญไป"
ถ้อยความเปรียบเทียบเช่นนี้ย่อมเห็นชัดเจนว่า สิ่งที่เป็นตัวตนแท้ที่จริงของมมนุษย์นั้นคือ ธรรมญาณ ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอันแท้จริงตามธรรมชาติเดิมแท้และมีความบริสุทธิ์สะอาดชัดเจนชนิดที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้อีกเลย แต่เพราะตกอยู่ในอำนาจของความดีชั่ว มืดสว่างแห่งโลกนี้ กิเลสทั้งปวงที่วิ่งเข้าสู่ประตูทั้ง 4 จึงก่อให้เกิดการปรุงแต่งไม่มีที่สิ้นสุด จนลืมเลือนธรรมญาณอันแท้จริงของตนเองไปเสียสิ้น พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "เราต้องปฏิบัติเพื่อความเป็นพุทธะในภายในธรรมญาณและจักไม่แสวงหาธรรมญาณในที่อื่นนอกจากตัวเราเอง ผู้ที่ถูกความเขลาครอบงำมองไม่เห็นธรรมญาณนั้นจัดเป็นคนสามัญปุถุชน
ผู้ที่มีความสว่างมองเห็นธรรมญาณของตนเองจัดเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
ผู้ที่มีความเมตตากรุณาย่อมเป็นพระอวโลกิเตศวร
ผู้ที่มีความเพลินเพลินในการโปรยทานย่อมเป็นพระมหาสถามะอันเป็นพระโพธิสัตว์อีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งคู่กับพระโพธิสัตว์กวนอิม
ผู้ที่สามารถทำให้ชีวิตบริสุทธิ์ก็คือพระศากยมุนีพุทธเจ้า
ผู้ที่มีความสม่ำเสมอตรงแน่วคือพระอมิตาภะ"
อานุภาพแห่งธรรมญาณที่เปล่งประกายออกมาเช่นนี้ย่อมดำเนินอยู่บนเส้นทางแห่งพระพุทธพระโพธิสัตว์โดยแท้จริง แต่ถ้าตกอยู่ในอำนาจการปรุงแต่งทางด้านอบายคติย่อมกลับกลายเป็นภัยอันใหญ่หลวงของตนเอง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงเปรียบเทียบว่า "ผู้ที่ติดอยู่ในตัวตนและความมีความเป็น คือเขาพระสุเมรุ ใจที่สามานต่ำช้าได้แก่ มหาสมุทร มีกิเลสเป็นระลอกคลื่นมีความชั่วเป็นเช่นมังกรร้าย ความเท็จคือผีห่า อารมณ์ภายนอกเป็นเช่นสัตว์น้ำต่างๆ ความโลภและโกรธคือ นรกโลกันต์ อวิชชาและความมัวเมาทั้งปวงคือสัตว์เดรัจฉานทั่วไป"
อำนาจการปรุงแต่งจึงมีกำลังอยู่สองประการคือ ร้ายกับดี เพราะฉะนั้นขณะที่มีกายอยู่จึงมิต้องแสวงหา สวรรค์ นรก นอกกายเลย แต่จงค้นหาภายในจิตของตนเอง ครั้งหนึ่งมีนายพลท่านหนึ่งสะพายดาบเข้าไปหาพระอาาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งชอบแสดงธรรมเกี่ยวกับนรกสวรรค์ โดยกล่าวกับพระอาจารย์ท่านนั้นว่า "วันนี้หลวงพ่อต้องแสดง นรก สวรรค์ ให้ชัดเจนมิเช่นนั้นจักต้องได้เห็นดีกันแน่แท้"
"เธอหรือคือนายพล รูปร่างอ้วนพีดั่งหมูตัวหนึ่งแล้วจักสำแดงฝีมือขับไล่ศัตรูได้อย่างไร"
นายพลได้ยินพระอาจารย์กล่าวดังนี้ บันดาลโทสะเพราะถูกสบประมาท จึงชักดาบออกจากฝัก พระอาจารย์ยกมือขึ้นแล้วกล่าวว่า "อมิตาพุทธ ประตูนรกเปิดแล้วเชิญท่านเดินเข้าไปได้" นายพลได้สติหากฆ่าฟันพระอาจารย์ถึงแก่มรณภาพย่อมมีนรกเป็นที่ไปจึงสอดดาบกลับคืนสู่ฝัก พระอาจารย์จึงกล่าวต่อไปว่า "อมิตาพุทธ ประตูสวรรค์เปิดแล้ว เชิญท่านก้าวเข้าไปได้"
นิทานเรื่องนี้จึงชี้ให้เห็นความจริงว่า ตราบใดกายสังขารยังอยู่ นรกย่อมอยู่ในอกสวรรค์ย่อมอยู่ในใจ อาการที่จิตสำแดงออกมานั้นเป็นไปตามความเคยชินแห่งการอาศัยอยู่ในนรกและสวรรค์อย่างแท้จริง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "ถ้าประพฤติในกุศล 10 ประการอย่างมั่นคง แดนสุขาวดีก็ปรากฏแก่ตัวเราทันที เมื่อขจัดความเห็นแก่ตัวตนและปรุงแต่งเป็นนั่นเป็นนี่ทิ้งไปเสียภูเขาพระสุเมรุก็พังทลายลงมา เมื่อใดจิตพ้นไปจากความชั่วน้ำในมหาสมุทรย่อมเหือดแห้งไปสิ้น เมื่อเป็นอิสระอยู่เหนือกิเลสทั้งปวงคลื่นลมทั้งหลายก็สงบเงียบ เมื่อใดความชั่วมิกล้าเผชิญหน้า เมื่อนั้นปลาร้ายมังกรร้ายก็ตายสิ้น" ผู้มีปัญญาจึงแสวงหาหนทางแห่งความพ้นทุกข์ภายในธรรมญาณของตนเองแต่เพียงสถานเดียว
ฐิตา:
แสงแห่งพระพุทธะ
มนุษย์ปุถุชนซึ่งถูกกิเลสครอบงำ "ธรรมญาณ" อย่างหนาแน่นจึงไม่อาจพบแสงแห่งพระพุทธะได้ บุคคลเหล่านี้จึงมีแต่ศรัทธาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก เมื่อเห็นสิ่งใดที่ตัวเองปฏิบัติไม่ได้ แต่ผู้อื่นกระทำได้จึงพากันกราบไหว้อ้อนวอนให้ผู้นั้นปกปักรักษา เขาจึงกลายเป็นผู้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน สาธุคุณจิม โจนส์ เจ้าลัทธิวิปริตแห่งสหรัฐอเมริกา เผยแพร่วันสิ้นสุดของโลกจนได้สาวกมากมายและกำหนดหมายให้สาวกทั้งปวงฆ่าตัวตาย เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าปรากฏว่ามีผู้ยอมฆ่าตัวตายหลายพันคน
ความหลงที่ปิดบัง "ธรรมญาณ" แห่งตนได้ก่อให้เกิดการกระทำที่น่าหัวเราะเยาะมากมาย เช่น ผู้คนพากันเช่ารถบัสมุ่งหน้าไปที่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคใต้เพราะข่าวเล่าลือว่าหมาออกลูกเป็นคนต่างจึงกราบไหว้บูชาเพียงเพื่อขอเลขแทงหวย ทั้งๆ ที่ลูกหมานี้พิการมีสองขาหน้าแบนๆ และตายแล้ว ข่าวเช่นนี้ปรากฏขึ้นบ่อย บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หมูออกลูกเป็นหมาหรือเป็นช้าง ต้นไม้แปลกประหลาดพิสดาร ล้วนเครื่องชี้ให้เห็นว่าความหลงมิได้เหือดแห้งไปจากโลกนี้ แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่นับถือตัวเองชนิดหลงใหลในความดีงามหรือความสามารถที่เหนือผู้อื่น บุคคลเหล่านี้ก็มีพฤติกรรมไม่ต่างไปจากผู้หลงสิ่งอื่นเช่นกัน เขาเหล่านั้นจักสร้างบาปเวรกรรมอย่างประมาณมิได้
มีแต่ผู้พบ "ธรรมญาณ" เท่านั้นจึงมีความเสมอภาคเพราะเห็นผู้อื่นมีทุกอย่างเหมือนตนเอง พระพุทธองค์ทรงยืนยันถึงความเสมอภาคของเวไนยสัตว์ว่ามิได้มีอะไรแตกต่างกันเลย เพราะแต่เดิมมา "ธรรมญาณ" มีแหล่งกำเนิดที่เดียวกันแลมีสภาวะ คุณสมบัติเหมือนกันทุกประการ พระอริยเจ้ากล่าวว่า "วางมีดลงจึงเป็นพระพุทธะ"
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงให้คำอธิบายเกี่ยวกับ "ความรู้แจ้ง" เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า "ภายในธรรมญาณย่อมมีองค์ตถาคตแห่งความตรัสรู้ ซึ่งสามารถส่องแสงอันแรงกล้าออกมาทำความสว่างที่ประตูภายนอกทั้งหกประตูและควบคุมมันให้บริสุทธิ์" พระวจนะนี้มีความหมายว่าทุกคนมีความสามารถรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง ควบคุมความเคลื่อนไหวแห่งจิตมิให้เกิดกิเลสคือความสกปรกมาทำลายความบริสุทธิ์แห่งพุทธจิต ประตูทั้งหกซึ่งเปรียบเสมือนมหาโจรคือ ตา หู จมูก ปาก กาย และจิต ซึ่งเป็นหนทางพาให้ความโลภ โกรธ หลง ไหลวนเวียนเข้าไปในธรรมญาณจนกลายเป็นคนหลง อายตนะทั้งหกประการนี้ล้วนเป็นต้นกำเนิดก่อให้เกิดอารมณ์สามระดับ คือ หยาบ กลาง ละเอียด แล้วแต่อำนาจการปรุงแต่งของจิตญาณที่สั่งสมเอาไว้มากมาย ทั้งปัจจุบันชาติและอดีตชาติ จิตที่ปรุงแต่งอารมณ์ทั้งปวงและสั่งสมจนกลายเป็นอนุสัยนอนเนืองอยู่ในขันธสันดานได้กลายเป็นวาสนาบารมีติดตามไปชาติแล้วชาติเล่าแม้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว วาสนาบารมีก็ติดตามมา
เช่น พระสารีบุตร ครั้งหนึ่งมีเศรษฐีท่านหนึ่งเกิดจิตศรัทธาใคร่ถวายผ้าจีวรสามผืนแด่พระสารีบุตร จึงนิมนต์ให้พระสารีบุตรไปรับประเคนที่บ้านของตนระหว่างทางต้องข้ามท้องร่อง พระสารีบุตรกระโดดข้ามด้วยความว่องไวเศรษฐีรู้สึกขัดใจจึงคิดว่า สมณะรูปนี้ไม่สำรวมเลย "เราจักถวายผ้าเพียงสองผืนเท่านั้น" เศรษฐีคิดในใจ เมื่อเดินทางผ่านท้องร่องที่สอง พระสารีบุตรก็ยังคงกระโดดข้ามอีก เศรษฐีจึงกำหนดหมายว่าจักถวายผ้าเพียงผืนเดียวเท่านั้น แต่พอผ่านมาถึงท้องร่องที่สาม พระสารีบุตรไม่กระโดดข้ามกลับเดินอ้อมไปอย่างสำรวม เศรษฐีจึงถามด้วยความแคลงใจว่า "ทำไมท้องร่องนี้พระคุณเจ้าจึงไม่กระโดดเล่า ขอรับ" "อ้าว ถ้าอาตมากระโดดข้ามท้องร่องนี้โยมก็ไม่ได้ถวายผ้า น่ะซี" พระสารีบุตรในอดีตชาติได้ถือกำเนิดเป็นวานร เพราะฉะนั้นนิสัยกระโดดโลดเต้นจึงติดตัวมา แม้ในปัจจุบันชาติสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วยังไม่อาจตัดวาสนาแห่งวานรได้อย่างหมดจด
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวถึงแสงแห่งการตรัสรู้ว่า "แสงนี้แรงมากพอที่จะผ่านสวรรค์ชั้นกามาวจรทั้งหก และเมื่อมันย้อนกลับเข้าไปภายในธรรมญาณมันจะกลับธาตุอันเป็นพิษทั้งสามประการให้หมดไป และชำระล้างบาปที่ทำให้ตกนรกหรืออบายภูมิและทำความสว่างไสวให้เกิดขึ้นแก่เราภายใน ภายนอก จนกระทั่งไม่มีอะไรแตกต่างจากพวกที่เกิดในแดนบริสุทธิ์ ทางทิศตะวันตก แต่ถ้าไม่ฝึกตัวเสียแล้วเราจักบรรลุถึงแดนบริสุทธิ์นั้นได้อย่างไร"
ความหมายที่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวไว้เช่นนี้เพราะการรู้แจ้งธรรมญาณแห่งตนเปรียบประดุจดังการตรัสรู้ และตัดการเวียนว่ายตายเกิด หกช่องทาง ได้เด็ดขาด แม้พิษร้ายสามประการอันได้แก่ โลภ โกรธ หลง ก็ขจัดให้หมดสิ้น การเกิดในแดนบริสุทธิ์ทิศตะวันตกนั้นได้กำหนดหมายเอาไว้ว่าเป็นดินแดนแห่งพุทธเกษตร แต่พระธรรมาจารย์ได้ชี้ให้เห็นว่า แท้ที่จริงถ้าไม่พบธรรมญาณของตนเอง มณฑลแห่งจิตของตนเองก็มืดมิดมิใช่พุทธเกษตร ให้กราบไหว้พระพุทธเจ้ากี่แสนพระองค์ก็ไม่อาจพบพุทธภูมิ พิษร้ายสามประการและการเวียนว่ายทาง หู ตา จมูก ปาก สะดือ และกระหม่อม จึงเป็นหนทาง หลง ซึ่งไม่มีผู้วิเศษใดสามารถดลบันดาลให้ พ้น ไปได้เลย
ฐิตา:
บำเพ็ญในครัวเรือน
การบำเพ็ญธรรมที่ติดอยู่ในรูปแบบได้ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและปฏิบัติผิดกันมาจนกลายเป็นวิถีชีวิตสองแบบกล่าวคือ ผู้บำเพ็ญธรรมต้องบวชและอยู่ในอารามเฉพาะส่วน แยกออกจากชาวบ้านอย่างหนึ่ง กับชีวิตชาวบ้านที่อาศัยคำสอนของนักบวชเหล่านั้นมาปฏิบัติซึ่งก็เชื่อกันว่าวิถีชีวิตของปุถุชนเต็มไปด้วยบาปไม่มีทางพ้นจากนรก อีกอย่างหนึ่ง วิถีชีวิตในครัวเรือนเป็นเรื่องของชาวโลกีย์เพราะฉะนั้นครัวเรือนจึงเป็นเสมือนหนึ่งสะพานทอดเดินไปสู่นรกสถานเดียว ชาวพุทธจึงเชื่อว่าผู้ครองเรือนไม่อาจบำเพ็ญธรรมได้
ความเชื่อเช่นนี้เป็นมิจฉาทิฐิคือ ความเห็นผิดโดยแท้ เพราะธรรมะมิใช่ของนอกตัว แต่มีอยู่ในตัวทุกคน พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวเอาไว้อย่างชัดเจนเมื่อประมาณพันกว่าปีมาแล้วว่า "ผู้ใดอยากบำเพ็ญธรรมหรือปฏิบัติทางจิต จะทำอยู่ที่บ้านก็ได้ไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในสังฆาราม พวกที่ปฏิบัติตนอยู่กับบ้านนั้น อาจเปรียบได้กับชาวบ้านทางทิศตะวันออกที่ใจบุญ ส่วนพวกที่อยู่ในสังฆารามแต่ละเลยปฏิบัติธรรมก็ไม่แตกต่างอะไรกับชาวบ้านที่อยู่ทางทิศตะวันตกแต่ใจบาป เพราะฉะนั้นไม่ว่า อยู่ที่ใด ถ้าจิตบริสุทธิ์ ณ ที่นั้นก็เป็นแดนบริสุทธิ์ทางทิศตะวันตก ซึ่งหมายถึง ธรรมญาณ ของบุคคลนั้นเอง" ความหมายแห่งวจนะของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงย่อมเป็นที่สอดรับกับความเป็นจริงว่า การปฏิบัติบำเพ็ญธรรมมิได้อยู่ที่รูปแบบและสถานที่
เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เป็นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ มาถึงแม่น้ำอโนมาก็เพียงเปลื้องเครื่องทรงของกษัตริย์ออกและตัดพระเมาฬีและนำผ้าห่อศพมาพันพระวรกาย และมุ่งหน้าหาความรู้เพื่อพ้นจากทะเลทุกข์ การดำรงชีพของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ บัดนี้ไม่ต่างอะไรกับขอทานปราศจากเครื่องอำนวยความสะดวกและผู้คนทั้งปวง เหตุไฉนจึงต้องทรงปฏิบัติเช่นนี้ เพราะเป็นไปตามกาลกำหนดของเบื้องบนและความผันแปรของธรรมกาลซึ่งแบ่งออกเป็นสามยุค ยุคแรก เป็นยุคเขียว ผู้บำเพ็ญปฏิบัติคือ ฮ่องเต้ ซึ่งได้ชื่อว่าโอรสสวรรค์ ยุคสอง เป็นยุคแดง ผู้บำเพ็ญปฏิบัติคือ อริยะบุคคล ซึ่งได้ชื่อว่า ปราชญ์ เมธี ยุคสาม เป็นยุคขาว ผู้บำเพ็ญปฏิบัติคือ สาธุชน ซึ่งได้ชื่อว่า นักธรรม
พระพุทธองค์ทรงมีพระภารกิจตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อนำพาเวไนยสัตว์ทั้งปวงให้ข้ามพ้นไปจากทะเลทุกข์ ในครั้งนั้นสังคมของชมพูทวีปยังแบ่งแยกออกเป็นวรรณะชั้นแตกต่างกันไม่ยอมมีสังคมร่วมกันคือ กษัตริย์ พราหมณ์ ไวทยะ ศูทร และ วรรณะ ที่ต่ำสุดอันเกิดจากการผสมข้ามวรรณะกันก็ได้ลูกออกมาเป็นจัณฑาลจึงเป็นความจำเป็นที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดรูปแบบใหม่ให้ทุกวรรณะสามารถหลอมละลายกลายเป็นชนชั้นเดียวกันได้
รูปแบบนักบวชของพระพุทธองค์ทรงมีความหมายเช่นนี้มิได้มีไว้เพื่อติดยึดแต่ประการใด แต่ในชั้นหลังต่างไม่เข้าใจความมุ่งหมายแต่กลับกลายเป็นรูปแบบที่ยึด และเชื่อกันว่าการสำเร็จธรรมต้องอยู่ในรูปแบบของนักบวช และสัจธรรมก็แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์พยานว่า แม้อยู่ในรูปแบบของนักบวชแต่ไม่ปฏิบัติบำเพ็ญยังต้องจรลีลงนรกโลกันต์มากมายสุดคณานับ ข้าหลวงอุ๋ยได้กราบเรียนถามพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงว่า "พวกเราทั้งลายที่เป็นคฤหัสควรฝึกอย่างไร เมื่ออยู่ที่บ้านจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ"
ครั้งนั้นพรระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงตอบว่า
"อาตมาจะสอนโศลกว่าด้วยนิรรูปให้สักหมวดหนึ่ง ถ้าท่านทั้งปวงเก็บเอาไปศึกษาและนำข้อความเหล่านี้ออกมาปฏิบัติแล้ว ก็จักเป็นเช่นเดียวกับพวกที่อาศัยอยู่กับอาตมาเนืองนิตย์ เหมือนกันในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ปฏิบัติท่านก็หาความเจริญทางจิตไม่ได้ แม้ว่าท่านจะโกนหัวสละบ้านเรือนออกแสวงหาบุญ"
เมื่อการบำเพ็ญธรรมติดอยู่ที่รูปแบบมิได้ค้นคว้าสนใจปฏิบัติที่จิตความฟั่นเฝือผิดเพี้ยนจึงเกิดขึ้นมากมาย เพราะรูปแบบมิได้อยู่ที่การมองเห็นจับต้องได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่รูปแบบที่จิตสร้างขึ้นยังมีอีกมากมายจนประมาณมิได้ ผู้บำเพ็ญปฏิบัติจึงเดินผิดหนทางไปตามที่อาจารย์ต่างๆ ได้กำหนดแบบ และเหมาเอาว่าเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเอาไว้ นักบวชฉลาดแต่งตัวประหลาดกว่าคนอื่นๆ ก็กลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์จึงแห่แหนกันไปกราบไหว้บูชา นักบวชแสดงวัตรปฏิบัติเคร่งแต่รูป ส่วนจิตใจสกปรกคนก็แห่แหนกันไปกราบกราน อาการผิดเพี้ยนทางพระพุทธศาสนาปรากฏขึ้นมากมายจนหนทางแห่งการพ้นทุกข์ก็ลบเลือนไป มีแต่หนทางสร้างลาภยศสรรเสริญกันสถานเดียว เพราะมิได้ปฏิบัติกันที่จิตอันถูกต้อง นักบวชจึงหันมาเอาแบบอย่างของฆราวาสจนศาสนาได้เหลือแต่เพียงรูปแบบ กลายเป็นพุทธพาณิชย์สร้างความร่ำรวยและกิเลสกองท่วมทับพุทธศาสนิกชน การบำเพ็ญธรรมจึงต้องหันมาที่ตัวเองและในครัวเรือน
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version