GM : โค้ชจะเป็นผู้ควบคุมการประชุม และสรุปแผนก่อนลงสนามไม่ได้หรือว่าวันนี้เราจะเล่นระบบ 4-3-3 หรือ 4-4-2
วิศิษฐ์ : ผมสนใจ ณ เวลาที่นักฟุตบอลอยู่ในสนามจริงมากกว่า เมื่อลูกบอลกำลังลอยอยู่ในอากาศ นักฟุตบอลจะทำอย่างไร ตอนนั้นพวกเขาใช้ระบบ 4-3-3 อยู่ใช่ไหม แต่พวกเขายังต้องมีอะไรมากกว่า 4-3-3 คือ ณ จุดนั้น พวกเขา Transcend and Include คือรวมการวางแผนแบบเดิมเอาไว้ แต่จะต้องก้าวข้ามไปสู่สิ่งใหม่ด้วย ทีมที่ดีที่สุดจะต้องเล่นฟุตบอลให้มากไปกว่าแผนการเล่นที่วางไว้อย่างตายตัว จากในห้องพักนักกีฬา นักฟุตบอลต้องยืดหยุ่นลื่นไหลตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสนาม และในระหว่างที่พวกเขากำลังเล่น พวกเขารับรู้กันได้อย่างไร สุนทรียสนทนาไม่ใช่แค่การมานั่งล้อมวงคุย หรือประชุมกัน แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ตรง ณ ขณะที่ลงมือทำงานกันอย่างสอดประสานได้ด้วย
GM : ในหนังสือกำลังภายใน เขาบอกว่ามือกระบี่ที่จะถึงจุดสุดยอดของพลังฝีมือ จะต้องเป็นมือกระบี่โดดเดี่ยว ตกลงแล้วคนเราควรจะโดดเดี่ยวหรือควรมานั่งคุยกัน
วิศิษฐ์ : (หัวเราะ) คุณต้องเข้าใจเรื่องวรรณกรรมนะว่ามันมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา แล้วต้องดูด้วยว่าใครเป็นคนเขียน โกวเล้งใช่ไหม โกวเล้งคนที่ริมฝีปากต้องประทับด้วยบรั่นดี ก่อนที่จะถูกฝังลงดิน มันเป็นยุคสมัยของวรรณกรรม และโกวเล้ง ก็เป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของยุคสมัยนั้น ไม่ใช่ความจริงของโลก ผมเชื่อว่าวมนุษย์เราเติบโตขึ้นมาอย่างนี้นะครับ วัยเด็กเราต้องพึ่งพาพ่อแม่ใช่ไหม คือเราต้อง Dependent พอโตขึ้นมาเราก็เป็น Independent คือดูแลตัวเอง มีเอกราช ปกครองตัวเอง แยกตัวเองออกจากคนอื่น โกวเล้งเดินมาถึงแค่จุดนี้เอง แต่เรายังต้องเติบโตต่อไปเป็น Independent-dent คือเราต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน กลับไปหาสังคมของเรา ชุมชนของเราภูมิปัญญาท้องถิ่นเราก็มีการทำงานแบบลงแขกใช่ไหม มนุษย์เราอยู่เป็นกลุ่ม เป็นสังคม ตั้งแต่เราวิวัฒนาการเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ผมว่าคนเขียนวรรณกรรมจะต้องเติบโตไปจนถึงขั้นสลายอัตตา และไม่ยึดติดอยู่กับความเป็นปัจเจก ภาพของมือกระบี่เดียวดายนั้นดูโรแมนติกดี นั่นเป็นภาพสะท้อนสังคมเมืองที่มีความเหงาหงอยเศร้าใจ หม่นหมอง ความโรแมนติกนั้นมันช่วยให้ความรู้สึก ความเหงาหงอยเศร้าใจ หม่นหมอง นั้นพอทานทนได้ขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง วรรณกรรมนั้นช่วยได้แค่ระดับนี้ แต่ผมว่าการเดินทางของชีวิตคุณ ไม่ควรจะมาสิ้นสุดแค่การเป็นปัจเจก แยกจากคนอื่นแล้วหงอยเหงาอย่างโรแมนติก คุณควรจะรวมกลับไปอยู่กับฝูงชน
GM : แต่การอยู่ท่ามกลางฝูงชนก็เหงาได้ไม่ใช่หรือ
วิศิษฐ์ : ก็เพราะเวลานั้นคุณยึดความเป็นปัจเจกอยู่ คุณยังแยกตัวออกจากคนอื่นอยู่ ต่อให้เมื่อคุณอยู่คนเดียว แต่ถ้าคุณไม่ยึดความเป็นปัจเจก ไม่แยกตัวเองจากคนอื่นคุณก็ไม่หงอยเหงา
GM : การอยู่คนเดียวอาจจะเป็นธรรมชาติดั้งเดิมที่สุดของมนุษย์ก็ได้ เพราะมนุษย์เราเวลาเกิดก็เกิดมาคนเดียว ในขณะที่การรวมกลุ่มกันเป็นสังคมนั้น เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นภายหลัง
วิศิษฐ์ : ผมว่าการที่คุณคิดว่าคุณอยู่ตัวคนเดียวก็เกิดจากสังคมแล้วเพราะคุณคิดด้วยภาษา ภาษาก็เกิดจากการตกลงกันของคนในสังคม แล้วคุณคิดหรือว่าคุณสามารถหลุดออกไปจากภาษาได้ นักวิทยาศาสตร์ต่างประเทศเขาศึกษาเรื่องนี้กันแล้ว เขาบอกว่าตั้งแต่เราเป็นตัวอ่อนอยู่ในท้องแม่ เวลาที่แม่พูดอะไร ก็ส่งเสียงเข้าไปถึงตัวอ่อนตลอดเวลา คนเราเรียนรู้ภาษาตั้งแต่ก่อนจะคลอดออกมาจากท้องแม่แล้วด้วยซ้ำ แล้วคุณจะย้อนไปหาธรรมชาติดั้งเดิมแรกสุด และการอยู่คนเดียวได้ยังไง
GM : แต่ก็มีปรัชญาหลายๆ สำนัก ที่ให้คุณค่ากับการอยู่โดดเดี่ยว อย่างเช่นหนังสือชื่อ วะบิซะบิ ที่พูดถึงสุนทรียะของความโดดเดี่ยว หรือ The Aesthetics of Solitude
วิศิษฐ์ : ผมขอยกนิทานเซนเรื่องหนึ่งนำมาให้คุณไปคิดต่อ อาจารย์เซนสอนลูกศิษย์ เขาตั้งคำถามว่า การอยู่คนเดียวมีความหมายว่าอย่างไร ลูกศิษย์ก็ตอบว่า การอยู่คนเดียวก็คือการอยู่คนเดียว อาจารย์บอกว่า ไม่ใช่ๆ To be alone is to forget the one who is alone. การอยู่โดดเดี่ยวไม่ใช่หมายถึงการไปอยู่คนเดียวในกระท่อม แต่หมายถึงการไม่ติดยึดในตัวตนของเราต่างหาก คำว่า Solitude น่าจะตรงกับนิทานเรื่องนี้ และตรงกับคำว่าวิเวกมากกว่า คำว่าโดดเดี่ยวนะครับ ความวิเวกนั้นดีสำหรับจิตใจ แต่ไม่ใช่การหนีไปอยู่อย่างโดดเดี่ยว
ในสมัยพุทธกาลก็มีตำนานเล่าว่า มีพระอรหันต์องค์หนึ่ง ท่านมีปีติกับการทำสมาธิอยู่คนเดียว จนไม่มาร่วมประชุมกับกลุ่มสงฆ์ เพราะกฎของสงฆ์นั้นกำหนดว่าให้สงฆ์ต้องมาชุมนุมกัน คุยกัน คือต้องมี Dialogue ด้วย พระพุทธเจ้าก็เรียกพระอรหันต์องค์นี้มาสอน ว่าไม่ได้ คุณมีปีติกับความวิเวกได้ แต่คุณต้องมาร่วมประชุมด้วย และคุณต้องยังประโยชน์ให้ผู้อื่นด้วย ไม่ใช่ดูแลแค่ตัวเอง มีความสุขแค่ตัวเอง คือคุณต้องมีสมดุลระหว่างการวิเวกและการได้อยู่ร่วมกับกัลยาณมิตร
คุณเคยดูหนังเรื่อง Samsara ไหม เขาตั้งปริศนาธรรมว่า ถ้าคุณมีน้ำ 1 หยด จะทำอย่างไรไม่ให้มันแห้งไป คำตอบคือ ก็ให้น้ำ 1 หยดนั้นไปรวมกับน้ำทั้งมหาสมุทร ถ้าคุณพิจารณาจิตของตนเองในระดับผิวๆ คุณจะคิดว่ามีอยู่จิตเดียว โดดเดี่ยว แต่จริงๆ แล้วจิตที่คุณเห็นว่ามีจิตเดียวนั้น เป็นแค่จิตสำนึก ซึ่งภายในนั้นยังมีจิตไร้สำนึกอันกว้างใหญ่ มันเป็นจิตของมนุษย์ทั้งหมดที่เชื่อมโยงถึงกันได้ อย่างเช่น ทำไมวัยรุ่นถึงนิสัยเหมือนกัน ทำไมวัยกลางคนแล้วเราถึงได้เจอ Mid-life Crisis เหมือนกัน ทำไมพอแก่ไปแล้วเรามีอาการวัยทองเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้มันดำรงอยู่ในตัวมนุษย์ร่วมกันทุกคน
GM : คนเมืองจะหาเพื่อนร่วมวงสุนทรียสนทนาได้อย่างไร ในเมื่อไม่ค่อยจะมีเวลา
วิศิษฐ์ : คุณเอาแต่บ่นว่าไม่มีเวลาๆ พวกผู้บริหารหรือคนระดับสูงเข้าถึงแนวความคิดสุนทรียสนทนาได้ยากกว่า มีอุปสรรคมากกว่า เพราะอะไรๆ ก็บ่นแต่ไม่มีเวลา เทียบกับคนระดับพนักงาน คนที่ทำงานปากกัดตีนถีบ กลับเข้าถึงแนวความคิดนี้ได้เร็วกว่า ที่คุณบ่นว่าไม่มีเวลานั้นไม่จริงนะครับ มันเป็นมายาคติ เป็นความจริงที่คุณสร้างขึ้นมา เป็นกำแพงที่คุณสมมุติขึ้นมาเองว่ามีอยู่ประการแรกเลยสำหรับคนเมือง คำว่าไม่มีเวลานี่ต้องเปลี่ยนแล้ว คุณสะกดจิตตัวเองก็ได้ว่ามีเวลา มีเวลา ใครมาขอให้คุณทำอะไร คุณบอกเขาเลยว่ามีเวลา คุณก็จะมีเวลาขึ้นมาจริงๆ
มีนิทานเรื่องหนึ่งที่ผมเคยอ่านนานแล้ว จำไม่ได้ว่าชื่อเรื่องอะไร เขาตั้งคำถามกับผู้อ่านว่าเราควรจะทำอะไร กับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ ในที่สุดก็ได้คำตอบว่าทำทุกสิ่งที่อยู่ตรงหน้า กับคนที่อยู่ต่อหน้าที่นี่ เดี๋ยวนี้ นั่นคือคุณสามารถสุนทรียสนทนากับเพื่อนที่ทำงานก็ได้ หันหน้าเข้าหากัน หรือจะไปสุนทรียสนทนากับเจ้านายคุณด้วยก็ได้ ไม่ต้องไปกลัวเขา เวลาประชุมงาน คุณก็ใช้หลักสุนทรียสนทนาก็ได้ เวลาคนหนึ่งกำลังพูด คุณก็ตั้งใจฟังเขาจริงๆ อย่ามัวแต่นั่งซุบซิบแอบคุย อย่ามัวแต่เอางานตัวเองมานั่งทำ อย่าแทรกเวลาใครพูด ปล่อยให้เขาพูดให้จบ กลับบ้านก็สุนทรียสนทนากับพ่อแม่ ภรรยา ลูก ดูแลคนที่บ้านดุจดังเขาเป็นแขกของเรา นัดหมายกับคนในครอบครัวอาทิตย์ละครั้งก็ได้ ล้อมวงนั่งคุยกัน เริ่มต้นที่ครึ่งชั่วโมงก่อนก็ได้
GM : แนวความคิดเรื่องสุนทรียสนทนา ถ้านำไปใช้กับเรื่องเศรษฐกิจล่ะ มันจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบไหน
วิศิษฐ์ : มันคงไม่เป็นแบบทุนนิยมแน่ๆ เพราะคนรวยเท่านั้นที่มีสิทธิ์ ผมว่าสุนทรียสนทนาจะทำให้คนตระหนักรู้และเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของระบบเศรษฐกิจ ถามว่าคนที่ชอบทักษิณ เขาเข้าใจระบบเศรษฐกิจตอนนี้หรือเปล่า เขาคงไม่ค่อยเข้าใจ การได้สุนทรียสนทนากันเกี่ยวกับเศรษฐกิจจะทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น เขาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์สังคมมากขึ้น เห็นความเชื่อมโยงว่าถ้านายกฯ ทำนโยบายแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้นตามมา เดี๋ยวนี้เราจะจ่ายมากกว่ารับ เราล้มละลาย ในระดับหมู่บ้าน วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปล้าสมัยที่สุดแล้ว มันได้ผลแค่ระยะสั้น เพราะคุณเอาทรัพยากรในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน เราเลยมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ผมว่าถ้าปล่อยไปแบบนี้อีกไม่นาน เราจะไม่เหลืออะไรที่เป็นของเราอีกเลย เราจะเป็นทาสทางเศรษฐกิจของเขาหมดทุกคน ไม่ยกเว้น
GM : ในเมื่อสังคมเป็นแบบนี้ไปแล้ว ราคาบ้านและที่ดินก็อยู่ในระดับนี้แล้ว รถก็ติดกันแบบนี้แล้ว เราจะทำอะไรได้
วิศิษฐ์ : ทำได้สิครับ เพราะว่านี่ไม่ใช่ธรรมชาติ ไม่ใช่ความจริงของโลก คุณต้องย้อนกลับไปมองเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว สังคมไทยเป็นอย่างไร กรุงเทพฯ เป็นอย่างไร เวลาผ่านมาไม่กี่สิบปีเราเปลี่ยนแปลงได้ถึงขนาดนี้ แล้วอีก 30-40 ปีข้างหน้า เราจะเป็นไปแบบไหน ผมว่ามนุษย์เลือกได้ เราต้องเลือก หรือไม่ก็ยอมปล่อยให้คนอื่นเลือกแทนเรา คุณจะเลือกชีวิตตามคนอื่นไป ทำงานรับเงินเดือนไป แล้วก็จ่ายเงินผ่อนไปทุกเดือนๆ หรือ มีเพื่อนคนหนึ่งเคยพูดเอาไว้ เขาพูดได้ดีมาก บอกว่าเรามักจะไปด่าโสเภณีว่าเขาขายตัว แท้ที่จริงแล้ว เราก็ขายตัวเหมือนกันทั้งนั้น เขามองว่าการขายตัวคือการยอมทำสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ เพียงเพื่อแลกกับเงิน มนุษย์เราทุกวันนี้ เราขายวิญญาณไป และระบบเงินผ่อนก็ยิ่งกดให้เราเป็นทาสหนักขึ้นไปอีก ทั้งหมดนี้เราถูกสอนมาทั้งหมด และเราก็เชื่อ และเราก็ทำตามนั้น คุณต้องเริ่มถามตัวเองว่าคุณต้องการอะไรจริงๆ ความสุขที่แท้จริงคืออะไร
GM : เราเปลี่ยนแปลงแค่ตัวเราเองคนเดียว แล้วจะไปรอดหรือ ในขณะที่คนอื่นก็ยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนมาแบบเรา
วิศิษฐ์ : นี่มันเป็นวาทกรรมของผู้ที่ไม่กล้าเปลี่ยน ที่อยู่ในสังคมที่ไม่อยากให้มีการเปลี่ยน เป็นวาทกรรมของกระแสหลักที่พยายามจะไม่ให้ใครออกไปนอกกระแส แต่ขอโทษนะ ผมจะบอกให้ ในกระแสหลักมีอะไร นอกกระแสก็มีเหมือนกันนั่นแหละ ผู้เปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่ผู้โดดเดี่ยว นอกกระแสนั้นยังมีชุมชน มีเครือข่ายที่มีพลังมหาศาล ประเด็นคือเมื่อคุณออกมาแล้ว คุณจะไปอยู่ในชุมชนไหน เครือข่ายไหน กระแสหลักน่ะกำลังทำให้คุณรู้สึกเหมือนกับว่าไม่มีพละกำลัง ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำอะไร มองสังคมว่าเป็นเครื่องจักร และมองคุณเป็นนอตตัวหนึ่ง ถ้าคุณมองใหม่ว่าสังคมไม่ใช่เครื่องจักร มนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่นอต ไม่ใช่ฟันเฟือง สิ่งมีชีวิตมีความหมาย ถึงแม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม เมื่อมารวมกันเป็นชุมชนใหม่ เครือข่ายใหม่ มันจะปะทุประกายขึ้นมา ระเบิดพลังออกมาได้ มนุษย์เล็กๆ ความคิดเล็กๆ ก็อาจจะกลายเป็นวาระแห่งชาติ วาระแห่งโลก วาระแห่งจักรวาลได้เหมือนกัน ถ้าคุณเลือกชีวิต ไม่ใช่เลือกเงิน เงินเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต เงินไม่ใช่ทั้งชีวิต
เราส่วนใหญ่ถูกฝึกมาให้เห็นอย่างเดียว แนวทางเดียว เราเลยไม่เห็นความพยายามเล็กๆ ของคน ว่าสามารถเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในเมือง เราเลือกได้ แม้กระทั่งใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เราเลือกได้ แม้กระทั่งถึงแม้ว่าคุณเป็นพนักงานกินเงินเดือน คุณก็เลือกชีวิตของคุณได้
GM : วันหนึ่งๆ แค่เลือกว่าจะเลือกไปดูหนังเรื่องไหน หรือเลือกดื่มกาแฟยี่ห้ออะไร บางทีก็หมดแรงแล้ว เพราะมีหนัง มีกาแฟให้เลือกเยอะเหลือเกิน
วิศิษฐ์ : ทางเลือกเยอะๆ แบบนี้ มันหลอกเราว่าได้เลือก แต่ผมว่าถ้าชีวิตคุณมีสิ่งที่ให้คุณเลือกได้แค่เรื่องของกินของใช้ ชีวิตคุณนี่ถือว่ายากจนมากเลยนะ คุณลองไปรวมกลุ่มกับเพื่อน ตั้งเป็นชมรมดูก่อนดีกว่า อาจจะทำหนังขึ้นมาสักเรื่อง ทำกันเอง ดูกันเอง วิจารณ์กันเองก่อนก็ได้ หรือตั้งชมรมสภากาแฟ ชงกันเอง กินกันเอง แล้วนั่งคุยกัน หรือไปทำอะไรอย่างอื่นก็ได้เยอะแยะ
GM : มาอยู่ในจังหวัดเงียบๆ แบบนี้ เกิดความเหงาบ้างไหม
วิศิษฐ์ : ไม่หรอก มีเพื่อนแวะๆ เวียนๆ มาหาผมประจำ และผมก็มีเรื่องให้ทำเยอะนะ ถ้ามีงานให้ทำก็ไม่เหงาหรอก คนสูงอายุเมื่อปลดเกษียณและไม่มีอะไรทำแล้วจะเหงานะ ก็นั่งอยู่หน้าทีวีไปวันๆ แต่สำหรับผม ผมทำงานทางด้านความคิด ทางด้านจิตวิญญาณ ทางด้านการพัฒนาตัวเอง งานด้านนี้มันไม่มีวันจบอยู่แล้ว ไม่มีวันเกษียณอายุ และนอกจากจะพัฒนาตัวเอง การได้ออกไปช่วยคนอื่นให้พัฒนาด้วยก็ยิ่งเป็นงานที่มีความสุข ผมว่าในสังคมเอเชีย คนสูงอายุถ้าคุณไม่เลอะเลือน ถ้าคุณไม่เป็นอัลไซเมอร์ คุณจะยังมีงานให้ทำไปได้เรื่อยๆ เพราะเรายังให้ความเคารพผู้สูงอายุ
GM : ถึงทุกวันนี้ คุณว่าคุ้มไหม กับการที่ออกจากบ้าน ออกจากมหาวิทยาลัยเมื่อตอนอายุ 19
วิศิษฐ์ : เคยมีเพื่อนถามคำถามนี้กับผม ผมตอบเขาไปว่า ถ้าผมย้อนเวลาได้ ย้อนไปวันนั้นที่ผมตัดสินใจ และรู้ว่าทุกวันนี้จะเป็นแบบทุกวันนี้ ผมก็ยังทำแบบเดิมครับ มันคุ้ม ชีวิตมีความเข้มข้นมากๆ
GM : สำหรับคุณ ความสุขในชีวิตคืออะไร
วิศิษฐ์ : อืมม์... (คิดนาน) คือการได้ทำสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราเห็นคุณค่า ได้ทุ่มเทความพยายาม ได้พบความท้าทายที่จะทำสิ่งนั้น มีเพื่อน มีมิตรภาพ มีชุมชน มีสังคม ซึ่งเราได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง และสิ่งที่เราทำนั้นมีคุณค่าต่อสังคมนั้น
GM : เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรารักที่จะทำอะไร
วิศิษฐ์ : มันเหมือนการเดินทาง มันเหมือนสิ่งมีชีวิต มันเหมือนการปลูกต้นไม้ ในวัยหนึ่งสิ่งที่เรารักอาจจะเป็นอย่างหนึ่ง อีกวัยหนึ่งก็เปลี่ยนไป ไม่ตายตัว ผมว่าสังคมทุกวันนี้ให้โอกาสแก่เราในการเดินทางแสวงหาสิ่งที่เรารักน้อยเกินไป คุณเลยตั้งคำถามแบบนี้ได้ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ทำการศึกษาเรื่องวัยของคน เขาบอกว่าคนวัยทำงานที่เริ่มทำงาน เพิ่งจบมาจากมหาวิทยาลัยอายุ 21-28 ปี สไตเนอร์บอกว่านี่ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการแสวงหาอยู่เลย คนเราในวัยนี้ยังไม่นิ่ง เขายังไม่พร้อมที่จะทำงานที่ใดที่หนึ่ง หรืองานแบบใดแบบหนึ่งไปตลอดชีวิต แต่ด้วยระบบการศึกษา ทำให้ในวัยนี้เราเลือกไปแล้ว บางคนเลือกไปเป็นหมอแล้ว มันก็ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ คุณจำตัวเองตอนอายุ 21-28 ได้ไหมล่ะ คุณอยากลองนั่นลองนี่ อยากเปลี่ยนงานใช่ไหม อยากเปลี่ยนบริษัทใช่ไหม ถ้าคุณยังค้นไม่พบสิ่งที่รัก และบังเอิญว่าปักหลักทำอะไรไปแล้วตั้งแต่ 21-28 แบบนี้พอคุณเกษียณปุ๊บ คุณจะรู้สึกว่าชีวิตที่ผ่านมานั้นไม่มีค่าอะไรเลย คุณไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน คุณไม่ได้ทำอะไรที่เป็นคุณูปการที่มอบไว้แก่โลกนี้ คุณก็ใช้ชีวิตวัยชราไปด้วยความน่าเบื่อ นั่งแช่ดูทีวีไปทั้งวัน สักพักหนึ่งความจำก็เลือนแล้ว คุณจะเริ่มเป็นอัลไซเมอร์ ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมนี้เป็นอย่างนี้ เราจะเรียกได้ไหมว่าสังคมนี้ไม่มีคุณภาพ
GM : คุณมองคนทำงานออฟฟิศทั่วไปอย่างไร
วิศิษฐ์ : คนน่ะไม่มีปัญหาหรอก ระบบต่างหากที่มีปัญหา คนทุกคนนั่นโอเคอยู่แล้ว ธรรมชาติเราเหมือนกัน แต่คนเราไม่ได้เข้มแข็งมากพอ เรายังต้องพึ่งระบบ ไม่มากก็น้อย ผมเองทำงานก็ต้องพึ่งระบบ ผมไม่ได้หลุดจากระบบมาอย่างสิ้นเชิงหรอก ผมว่าตอนนี้ปัญหาอยู่ที่ระบบ มันเอื้อให้คนแสวงหาศักยภาพและแรงบันดาลใจน้อยเกินไป คนปัจจุบัน มีปัญหากับคำว่า “ความรัก” เราไม่เข้าใจว่าความรักคืออะไร อย่างเช่น งานที่ทำอยู่เรารักหรือเปล่า หรือผู้หญิงคนนี้ เรารักเขาหรือเปล่า คือทุกอย่างเราเข้าโหมดอัตโนมัติไง คือตื่นเช้ามาก็รีบอาบน้ำแต่งตัวไปทำงาน หอมแก้มภรรยาทีหนึ่ง แล้วก็ขับรถออกจากบ้านมา มันเป็นไปอย่างอัตโนมัติทุกอย่าง จนเราไม่ตระหนักรู้และลืมไปหมดแล้วว่าเรารู้สึกอย่างไร ถ้าคุณได้เริ่มตระหนักรู้ และเริ่มศึกษาหนทางการมีชีวิตที่ดี ก็จะค่อยๆ ดีขึ้น
http://www.wongnamcha.com/index.php?option=com_content&task=view&id=149&Itemid=88888927