แสงธรรมนำใจ > มหายาน
ทศกุศลกรรมบถสูตร
ฐิตา:
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ายังมีพุทธบรรหารกับนาคราชอีกว่า หากมีโพธิสัตว์ที่อาศัยกุศลกรรมนี้ เมื่อกาลที่บำเพ็ญมรรคธรรม แล้วสามารถไกลจากการประหัตประหารทำร้ายชีวิต ทั้งได้ให้ทานอีกจึงเป็นเหตุให้ร่ำรวยด้วยรัตนสมบัติอยู่เป็นนิจ ไม่มีผู้ใดช่วงชิงไปได้ มีอายุขัยยาวนานไม่วิบัติ ไม่ถูกทำร้ายช่วงชิงจากศัตรูและโจรทั้งปวง
ห่างไกลและไม่ถือเอาสิ่งของผู้อื่น ทั้งได้ให้ทานอีกจึงเป็นเหตุให้ร่ำรวยด้วยรัตนสมบัติอยู่เป็นนิจ ไม่มีผู้ใดช่วงชิงไปได้ เป็นผู้ประเสริฐเลิศยิ่งไม่มีผู้ใดยิ่งไปกว่า สามารถเป็นผู้ประชุมไว้ซึ่งพุทธธรรมปิฎก
ไกลจากความไม่ใช่พรหมจรรย์ ทั้งได้ให้ทานอีกจึงเป็นเหตุให้ร่ำรวยด้วยรัตนสมบัติอยู่เป็นนิจ ไม่มีผู้ใดช่วงชิงไปได้ มีตระกูลที่ผาสุก มารดา และภริยา บุตรของตน ก็ไม่มีผู้ใดแลมองด้วยราคะจิต
ไกลจากการพูดเท็จ ทั้งได้ให้ทานอีกจึงเป็นเหตุให้ร่ำรวยด้วยรัตนสมบัติอยู่เป็นนิจ ไม่มีผู้ใดช่วงชิงไปได้ ไกลจากการใส่ร้ายทั้งปวง สงเคราะห์ธำรงไว้ซึ่งพระสัทธรรม ตามปณิธานนั้นๆ สิ่งที่ทำทั้งปวงย่อมสำเร็จผล
ไกลจากการพูดส่อเสียด ทั้งได้ให้ทานอีกจึงเป็นเหตุให้ร่ำรวยด้วยรัตนสมบัติอยู่เป็นนิจ ไม่มีผู้ใดช่วงชิงไปได้ ตระกูลสามัคคีปรองดอง มีอัธยาศัยเดียวกัน ไร้ซึ่งวิวาทะเป็นนิจ
ไกลจากการพูดคำหยาบชั่วร้าย ทั้งได้ให้ทานอีกจึงเป็นเหตุให้ร่ำรวยด้วยรัตนสมบัติอยู่เป็นนิจ ไม่มีผู้ใดช่วงชิงไปได้ ในสมาคมแห่งชนทั้งปวง ก็จะน้อมโพธิสัตว์นี้เป็นที่พึ่งด้วยความยินดี จะกล่าวคำใดย่อมเป็นที่เชื่อถือ ไม่มีผู้คัดค้านได้
ไกลจากการกล่าวเพ้อเจ้อไร้ซึ่งประโยชน์ ทั้งได้ให้ทานอีกจึงเป็นเหตุให้ร่ำรวยด้วยรัตนสมบัติ อยู่เป็นนิจ ไม่มีผู้ใดช่วงชิงไปได้ วาจาที่กล่าวไม่ลวงหลอก ชนทั้งปวงต่างน้อมรับ สามารถในอุปายที่ชาญฉลาด ตัดขาดซึ่งกิเลสคือความสงสัยทั้งปวง
ไกลจากจิตโลภ ทั้งได้ให้ทานอีกจึงเป็นเหตุให้ร่ำรวยด้วยรัตนสมบัติอยู่เป็นนิจ ไม่มีผู้ใดช่วงชิงไปได้ สิ่งที่มีทั้งปวงก็สามารถสละได้ด้วยปัญญา เป็นมีผู้ศรัทธาอย่างยิ่งยวดมั่นคง แลสมบูรณ์ด้วยอำนาจใหญ่
ไกลจากจิตโกรธ ทั้งได้ให้ทานอีกจึงเป็นเหตุให้ร่ำรวยด้วยรัตนสมบัติอยู่เป็นนิจ ไม่มีผู้ใดช่วงชิงไปได้ จะสำเร็จซึ่งปัญญาแห่งจิตที่ไม่ข้องขัดเองอย่างรวดเร็ว มีอินทรีย์ทั้งปวงงามสง่า ผู้ที่ได้เห็นแล้วล้วนเคารพรัก
ไกลจากจิตวิปลาส(1) ทั้งได้ให้ทานอีกจึงเป็นเหตุให้ร่ำรวยด้วยรัตนสมบัติอยู่เป็นนิจ ไม่มีผู้ใดช่วงชิงไปได้ จะเกิดในตระกูลสัมมาทิฐิและมีศรัทธาอยู่เป็นนิจ ได้พบพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม ได้สักการะหมู่สงฆ์ ย่อมไม่วิบัติจากมหาโพธิจิตเป็นนิจกาล
นี่คือเมื่อสมัยที่มหาบุรุษบำเพ็ญโพธิสัตวมรรค ได้ประพฤติกุศลกรรมทั้งสิบ แล้วอลังการด้วยการให้ทาน จึงได้รับมหาประโยชน์ อย่างนี้แล
[1] วิปัลลาส หรือ วิปลาส (ความรู้เห็นคลาดเคลื่อน, ความรู้เข้าใจผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง - distortion)
วิปลาส มี 3 ระดับ คือ
1. สัญญาวิปลาส (สัญญาคลาดเคลื่อน, หมายรู้ผิดพลาดจากความเป็นจริง เช่น คนตกใจเห็นเชือกเป็นงู - distortion of perception)
2. จิตตวิปลาส (จิตคลาดเคลื่อน, ความคิดผิดพลาดจากความเป็นจริง เช่น คนบ้าคิดเอาหญ้าเป็นอาหาร - distortion of thought)
3. ทิฏฐิวิปลาส (ทิฏฐิคลาดเคลื่อน, ความเห็นผิดพลาดจากความเป็นจริง โดยเฉพาะเชื่อถือไปตามสัญญาวิปลาส หรือจิตตวิปลาสนั้น เช่น มีสัญญาวิปลาสเห็นเชือกเป็นงู แล้วเกิดทิฏฐิวิปลาส เชื่อหรือลงความเห็นว่าที่บริเวณนั้นมีงูชุม หรือมีจิตตวิลาสว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นต้องมีผู้สร้าง จึงเกิดทิฏฐิวิปลาสว่า แผ่นดินไหวเพราะเทพเจ้าบันดาล - distortion of views)
วิปลาส 3 ระดับนี้ ที่เป็นพื้นฐาน เป็นไปใน 4 ด้าน คือ
1. วิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง (to regard what is impermanent as permanent)
2. วิปลาสในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข (to regard what is painful as pleasant)
3. วิปลาสในสิ่งที่ไม่เป็นตัวตน ว่าเป็นตัวตน (to regard what is non-self as a self)
4.. วิปลาสในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม (to regard what is foul as beautiful)
ฐิตา:
ดูก่อนนาคราช ดังคำที่ยกขึ้นกล่าวนี้ว่า เมื่อประพฤติกุศลมรรคทั้งสิบ
เพราะอลังการด้วยศีลเป็นเหตุให้สามารถก่อเกิดประโยชน์แห่งพระพุทธธรรมทั้งปวง บริบูรณ์พร้อมด้วยมหาปณิธาน
เพราะอลังการด้วยขันติเป็นเหตุให้บรรลุถึงพุทธโฆษะ และสมบูรณ์ด้วยมงคลลักษณะทั้งปวง
เพราะอลังการด้วยวิริยะเป็นเหตุให้สามารถทำลายมารร้าย แล้วเข้าสู่พุทธธรรมปิฎก
เพราะอลังการด้วยสมาธิเป็นเหตุให้สามารถเกิดสติปัญญา ความละอายต่อบาป(หิริ) ความเกรงกลัวต่อบาป(โอตตัปปะ) เบาและเป็นสุข
เพราะอลังการด้วยปัญญาเป็นเหตุให้สามารถตัดความเห็นแยกแยะที่ไม่จริงทั้งปวงได้สิ้น
เพราะอลังการด้วยเมตตาเป็นเหตุให้ไม่ทำร้ายหมู่สัตว์
เพราะอลังการด้วยกรุณาเป็นเหตุให้สงสารหมู่สัตว์ไม่เมินเฉยอยู่เป็นนิจ
เพราะอลังการด้วยมุฑิตาเป็นเหตุให้เมื่อพบผู้ทำดี ดวงจิตไม่อิจฉาริษยา
เพราะอลังการด้วยอุเบกขาเป็นเหตุ ไม่ว่าจะคล้อยตามหรือขัดแย้ง ก็ไม่เกิดจิตรักหรือชัง
เพราะอลังการด้วยสังคหวัตถุสี่(1)เป็นเหตุให้เพียรสงเคราะห์หมู่สัตว์ทั้งหลาย
เพราะอลังการด้วยสติปัฐฐานเป็นเหตุให้ช่ำชองสติปัฐฐานสี่(2)
เพราะอลังการด้วยปธาน(3)เป็นเหตุให้สามารถกำจัดอกุศลธรรมทั้งปวงได้สิ้น แล้วสำเร็จในกุศลธรรมทั้งปวง
เพราะอลังการด้วยอิทธิบาท(4)เป็นเหตุให้สามารถยังให้กายใจเบาและเป็นสุขอยู่เป็นนิจ
ฐิตา:
[1]สังคหวัตถุ ๔ (ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว คือยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี, หลักการสงเคราะห์
- bases of sympathy; acts of doing favors; principles of service; virtues making for group integration and leadership)
๑. ทาน (การให้ คือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของตลอดถึงให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน
- giving; generosity; charity)
๒. ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจ หรือวาจาซาบซึ้งใจ คือกล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้นิยมยอมตาม
- kindly speech; convincing speech)
๓. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์ คือ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม
- useful conduct; rendering services; life of service; doing good)
๔. สมานัตตตา (ความมีตนเสมอ คือ ทำตนเสมอด้วยปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี
- even and equal treatment; equality consisting in impartiality, participation and behaving oneself properly in all circumstances)
[2] สติปัฏฐาน ๔ (ที่ตั้งของสติ, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมันเอง
- foundations of mindfulness)
๑. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็นตามเป็นจริง ว่า เป็นเพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
- contemplation of the body; mindfulness as regards the body)
ท่านจำแนกปฏิบัติไว้หลายอย่าง คือ อานาปานสติ
กำหนดลมหายใจ ๑
อิริยาบถ กำหนดรู้ทันอิริยาบถ ๑
สัมปชัญญะ สร้างสัมปชัญญะในการกระทำความเคลื่อนไหวทุกอย่าง ๑
ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบอันไม่สะอาดทั้งหลายที่ประชุมเข้าเป็นร่างกายนี้ ๑
ธาตุมนสิการ พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ ๑
นวสีวถิกา พิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ อันแปลกกันไปใน ๙ ระยะเวลา ให้เห็นคติธรรมดาของร่างกาย
ของผู้อื่นเช่นใด ของตนก็จักเป็นเช่นนั้น ๑
๒. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
- contemplation of feelings; mindfulness as regards feelings)
คือ มีสติรู้ชัดเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิสตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
๓. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
- contemplation of mind; mindfulness as regards thoughts)
คือ มีสติรู้ชัดจิตของตนที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ ฯลฯ อย่างไรๆ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
๔. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
- contemplation of mind-objects; mindfulness as regards ideas)
คือ มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจ ๔ ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ.
D.II.290.315. ที.ม.๑๐/๒๗๓-๓๐๐/๓๒๕-๓๕๑.
ฐิตา:
[3] ปธาน ๔ (ความเพียร - effort; exertion)
๑. สังวรปธาน (เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น
- the effort to prevent; effort to avoid)
๒. ปหานปธาน (เพียรละหรือเพียรกำจัด คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
- the effort to abandon; effort to overcome)
๓. ภาวนาปธาน (เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี
- the effort to develop)
๔. อนุรักขนาปธาน (เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์
- the effort to maintain)
ปธาน ๔ นี้ เรียกอีกอย่างว่า สัมมัปธาน ๔ (ความเพียรชอบ, ความเพียรใหญ่
- right exertions; great or perfect efforts.)
A.II.74,16,15. องฺ.จตุกฺก.๒๑/๖๙/๙๖; ๑๔/๒๐; ๑๓/๑๙.
[4] อิทธิบาท ๔ (คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ, คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย
- path of accomplishment; basis for success)
๑. ฉันทะ (ความพอใจ คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป - will; aspiration)
๒. วิริยะ (ความเพียร คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย - energy; effort; exertion)
๓. จิตตะ (ความคิด คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป - thoughtfulness; active thought)
๔. วิมังสา (ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น - investigation; examination; reasoning; testing)
D.III.221.Vbh.216. ที.ปา.๑๑/๒๓๑/๒๓๓; อภิ.วิ.๓๕/๕๐๕/๒๙๒.[/color]
ฐิตา:
เพราะอลังการด้วยอินทรีย์ห้า(5)เป็นเหตุให้มีศรัทธามั่งคงลึกซึ้ง
พากเพียรไม่เกียจคร้าน ย่อมเป็นผู้ไม่หลงลืมเป็นนิจ เป็นผู้สงบ ตัดขาดกิเลสทั้งปวง.
เพราะอลังการด้วยพละเป็นเหตุให้หมู่ศัตรูสิ้นสูญ ไม่มีผู้ใดทำลายได้
เพราะอลังการด้วยโพชฌงค์(6)เป็นเหตุให้รู้แจ้งสรรพธรรม
เพราะอลังการด้วยสัมมามรรค(7)เป็นเหตุให้บรรลุปัญญาญาณที่ถูกต้องปรากฏอยู่เฉพาะหน้าเป็นนิจศีล
เพราะอลังการด้วยสมถะ( 8 )เป็นเหตุให้สามารถชำระสังโยชน์(9)ทั้งปวง
เพราะอลังการด้วยวิปัสสนา(1)เป็นเหตุให้สามารถรู้ชัดสภาวธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง
เพราะอลังการด้วยอุปายะ(11)เป็นเหตุให้สำเร็จสมบูรณ์ในสุขของอสังขตะ(12) ได้อย่างรวดเร็ว
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version