แสงธรรมนำใจ > จิตวิวัฒน์ กระบวนการนิวเอจ นิเวศแนวลึก

ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว : ภาค ๒ เกษตรธรรมชาติ

(1/3) > >>

มดเอ๊กซ:



.......แต่นี่มิได้หมายความว่าความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติโดยตัวมันเองไม่เพียงพอ จึงต้องอาศัยวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย แต่หมายความว่าการช่วยเหลือจากวิทยาศาสตร์กลายเป็นสิ่งจำเป็นก็เพราะว่าความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติได้ถูกทำลายไปต่างหาก .......


ภาค ๒


หลัก ๔ ประการสำหรับเกษตรธรรมชาติ
เกษตรกรรมท่ามกลางวัชพืช
ทำการเกษตรด้วยฟาง
ปลูกข้าวในนาแห้ง
ไม้สวน

ดินสวน
ปลูกผักบ้านแบบผักป่า
เวลาแห่งการละเลิกสารเคมี
ข้อจำกัดของวิธีการทางวิทยาศาสตร์

มดเอ๊กซ:



๒.๑

หลักการ ๔ ประการสำหรับเกษตรกรรมธรรมชาติ


                ค่อย ๆ เดินอย่างระมัดระวังเข้าไปในท้องนา แมลงปอและผีเสื้อบินฮือขึ้นมาเมื่อมีเสียงแกรกกรากดังขึ้น ผึ้งจะโฉบไปมาจากดอกไม้ดอกหนึ่งไปอีกดอกหนึ่ง ลองแหวกใบไม้ออก คุณจะมองเห็นแมลงต่าง ๆ แมงมุม กบ กิ้งก่าและสัตว์เล็ก ๆอีกมากมายที่เบียดเสียดกันอยู่ในร่มเงาของต้นข้าว ตัวตุ่นและไส้เดือนจะขุดโพรงอยู่ในดิน

           นี่เป็นนาข้าวที่มีความสมดุลในระบบนิเวศน์ ชุมชนของแมลงและพืชช่วยรักษาความสัมพันธ์ที่มีเสถียรภาพเอาไว้ ไม่ใช่สิ่งผิดปกติอะไรถ้าจะเกิดมีโรคพืชระบาดในบริเวณนี้ แต่พืชผลในที่นาแห่งนี้กลับไม่ไดรับความกระทบกระเทือน

           ตอนนี้ลองมองดูที่นาของเพื่อนบ้านดูสักหน่อย วัชพืชถูกกำจัดออกไปหมดโดยยาปราบวัชพืช และการไถพรวน สัตว์ที่อาศัยอยู่ในดินและแมลงถูกกำจัดหมดไปด้วยยาพิษ อินทรีย์วัตถุ และจุลินทรีย์ในดินถูกทำลายจนเกลี้ยงเพราะปุ๋ยเคมี ในฤดูร้อนคุณจะเห็นเกษตรกรเหล่านี้ทำงานอยู่ในทุ่งนา ใส่หน้ากากป้องกันยาฆ่าแมลง และสวมถุงมือยางถึงข้อศอก ทุ่งนาข้าวเหล่านี้ซึ่งทำการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่องมามากกว่า ๑,๕๐๐ ปี ปัจจุบันถูกวิธีทางการเกษตรแบบใหม่ทำลายจนเสียหาย ซึ่งเกิดขึ้นภายในคนชั่วรุ่นเดียว

หลักการ ๔ ประการ

           หลักการประการแรก ไม่มีการไถพรวนดิน เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่เกษตรกรเชื่อว่าการไถเป็นสิ่งจำเป็นต่อการปลูกพืช อย่างไรก็ตาม การไม่ไถพรวนดินคือพื้นฐานของเกษตรกรรมธรรมชาติ พื้นดินมีการไถพรวนตามธรรมชาติด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว โดยการแทรกซอนของรากพืช และการกระทำของพวกจุลินทรีย์ทั้งหลาย สัตว์เล็ก ๆ และไส้เดือน

           หลักการประการที่ ๒ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี หรือ ทำปุ๋ยหมัก* คนเรามักจะเข้าไปวุ่นวายกับธรรมชาติ และเขาก็ไม่สามารถแก้ไขผลเสียที่เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะพยายามอย่างไร วิธีการเพาะปลูกที่เลินเล่อสะเพร่าทำให้สูญเสียหน้าดินอันอุดมสมบูรณ์ไป และดินก็จะจืดลงทุกปี แต่ถ้าปล่อยดินอยู่ในสภาพของมันเองดินจะสามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติเอาไว้ได้ ซึ่งเป็นไปตามวงจรชีวิตของพืชและสัตว์อย่างมีระเบียบ

           หลักการประการที่ ๓ ไม่มีการกำจัดวัชพืชไม่ว่าโดยการถางหรือใช้ยาปราบวัชพืช วัชพืชมีบทบาทสำคัญในการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินและช่วยให้เกิดความสมดุลในสิ่งแวดล้อมทางชีววิทยา ตามหลักการพื้นฐาน วัชพืชเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม แต่ไม่ต้องกำจัด การใช้ฟางคลุม และปลูกพืชคลุมดินจำพวกถั่วปนไปกับพืชผล ตลอดจนการปล่อยน้ำเข้านาเป็นครั้งคราว เป็นวิธีควบคุมวัชพืชได้อย่างดีในนาของผม

           หลักการประการที่ ๔ ไม่มีการใช้สารเคมี** เมื่อพืชอ่อนแอลงเพราะผลจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ อันได้แก่การไถพลิกดิน การใช้ปุ๋ยเป็นต้น ความไร้สมดุลของโรคพืช และแมลงก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในการเกษตร ธรรมชาตินั้นหากปล่อยไว้ตามลำพังจะอยู่ในสภาพสมดุล แมลงที่เป็นอันตรายและโรคพืชมักมีอยู่เสมอ แต่ไม่เคยเกิดขึ้นในธรรมชาติจนถึงระดับที่ต้องใช้สารเคมีที่มีพิษเหล่านั้นเลย วิธีการควบคุมโรคและแมลงที่เหมาะสม ก็คือการปลูกพืชที่แข็งแรงในสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์

การไถพรวนดิน

           เมื่อดินถูกไถพรวน สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติจะถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากเกินกว่าที่เราจะจดจำได้ ผลสะท้อนกลับที่เกิดจากการกระทำดังกล่าวทำให้เกษตรกรต้องตกอยู่ในฝันร้ายมาหลายชั่วรุ่น ยกตัวอย่างเช่นเมื่อดินถูกไถ วัชพืชที่ทนทานมากเป็นหญ้าตีนกา และผักกาดส้มจะงอกงามยิ่งกว่าพืชที่เราปลูกเสียอีก เมื่อวัชพืชเหล่านี้งอกคลุมพื้นที่ เกษตรกรก็จะต้องเผชิญกับงานอันเหลือรับ คือต้องคอยถอนวัชพืชเหล่านี้ทุก ๆ ปี บ่อยครั้งที่เดียวที่ที่ดินเหล่านี้จะถูกปล่อยทิ้งไปเลย

           ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีวิธีที่เหมาะสมเพียงวิธีเดียวก็คือ หยุดการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้นเสีย เกษตรกรต้องรับผิดชอบในการแก้ไขความเสียหายที่เขาก่อขึ้นด้วย การไถพรวนดินเป็นสิ่งที่ควรงดเว้น ถ้านำวิธีการอันอ่อนโยนเช่นการใช้ฟางโปรยคลุมพื้นที่ และการปลูกพืชคลุมดินมาปฏิบัติแทนการใช้สารเคมีที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นตลอดจนเครื่องจักรในการทำลายล้างแล้วละก็ สภาพแวดล้อมก็จะค่อย ๆ ฟื้นกลับสู่สภาพสมดุลตามธรรมชาติของมัน และแม้แต่วัชพืชที่ก่อความยุ่งยากให้ก็สามารถอยู่ในอำนาจของเราได้

ปุ๋ย

           จากการคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านความอุดมสมบูรณ์ของดิน ผมถามวา "ถ้าที่นาถูกปล่อยไว้ตามสภาพของมันเอง ความอุดมสมบูรณ์ของดินจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง" พวกเขามักจะหยุดไปชั่วครู่ แล้วก็ตอบในทำนองนี้ว่า "เออ คือว่า...มันจะลดน้อยลง แต่ถ้าข้าวปลูกอยู่ในนาแปลงเดิมมาเป็นเวลานานโดยไม่มีการใส่ปุ๋ย ผลผลิตของข้าวจะคงตัวในปริมาณ ๙ บูเชล (๒๓๘.๖ กิโลกรัม) ต่อพื้นที่ ๑/๔ เอเคอร์ (๐.๖ ไร่) ความอุดมสมบูรณ์ของดินจะคงสภาพคือไม่เพิ่มขึ้นและไม่ลดลง"

           ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้หมายถึงที่นาที่ใช้วิธีไถพรวน และปล่อยน้ำท่วมขัง ถ้าธรรมชาติถูกปล่อยไว้ตามสภาพของมัน ความอุดมสมบูรณ์จะเพิ่มขึ้น อินทรีย์สารจากการทับถมของพืชและสัตว์จะสลายตัวบนผิวดินจากการทำปฏิกิริยาของบักเตรีและเชื้อรา และน้ำฝนจะทำให้ธาตุอาหารเหล่านี้แทรกซึมลงไปยังเนื้อดินเบื้องล่าง กลายเป็นอาหารของจุลินทรีย์ ไส้เดือนและสัตว์เล็ก ๆอื่น ๆ อีกมากมาย รากพืชจะแทรกซอนลงไปยังใต้ดิน และนำธาตุอาหารนั้นกลับมาสู่ผิวดินอีกครั้งหนึ่ง

           หากคุณต้องการแลเห็นความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติของพื้นพิภพ ลองหาโอกาสเข้าไปเดินเล่นในป่าเขา และดูต้นไม้ยักษ์ที่เติบโตโดยปราศจากปุ๋ยและการไถพรวน ในป่า ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติอย่างที่มันเป็นนั้น อยู่พ้นขอบเขตแห่งจินตนาการ

           ป่าธรรมชาติเช่นไม้สนแดงญี่ปุ่น และป่าต้นซีดาร์ถ้าถูกตัดโค่นลง ภายในเวลาไม่กี่ชั่วอายุคนดินก็จะเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ลง และถูกชะล้างพังทลายได้อย่างง่ายดาย ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าลองปลูกป่าสนและป่าไม้ซีดาร์พร้อมกับพืชคลุมดินจำพวกถั่ว เช่นโคลเวอร์ และอัลฟัลฟ่าลงบนภูเขาที่แห้งแล้งเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ที่ดินกลายเป็นสีแดง ปุ๋ยพืชสด*** จะช่วยบำรุงดินและทำให้ดินร่วนซุย วัชพืชและไม้พุ่มจะเกิดภายใต้ไม้ใหญ่ และวงจรชีวิตใหม่อันอุดมสมบูรณ์ก็จะเริ่มต้นขึ้น ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าหน้าดินอันอุดมสมบูรณ์หนา ๔ นิ้ว เกิดขึ้นได้ในชั่วเวลาไม่ถึง ๑๐ ปี

           แม้การปลูกพืชผลทางการเกษตร ก็ฟังมารถที่จะงดไม่ใช้ปุ๋ยหมักด้วยเหมือนกัน เพราะเพียงปุ๋ยตามธรรมชาติที่ได้จากการปลูกพืชคลุมดินจำพวกถั่ว และการใช้ฟางตลอดจนแกลบโปรยคลุมดินก็เป็นสิ่งที่เพียงพอแล้ว การใส่ปุ๋ยมูลสัตว์เพื่อช่วยให้ฟางเปื่อยและสลายตัวดีขึ้น ผมจะใช้วิธีปล่อยให้เป็ดเข้าไปถ่ายในนาข้าว ถ้าเอาลูกเป็ดเข้าไปเลี้ยงในนาข้าวขณะที่ข้าวกล้ายังอ่อนอยู่ ลูกเป็ดก็จะโตไปพร้อมกับต้นข้าวด้วย เป็ดเพียง ๑๐ ตัวก็เพียงพอที่จะให้ปุ๋ยสำหรับพื้นที่ขนาด ๑/๔ เอเคอร์ (๐.๖ ไร่) และยังช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืชได้ด้วย

           ผมทำเช่นนี้เป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งมีการสร้างทางหลวงขึ้น จึงทำให้เป็ดไม่สามารถข้ามถนนกลับเข้าไปในเล้าของมันได้ ปัจจุบันผมใช้ขี้ไก่ช่วยทำให้ฟางเปื่อยและสลายตัว ในบางท้องที่เป็ดหรือสัตว์กินหญ้าขนาดเล็กอื่น ๆยังคงใช้การได้อยู่

           การใส่ปุ๋ยมากเกินไปก็จะทำให้เกิดปัญหาได้ มีอยู่ปีหนึ่ง หลังจากที่การ ปักดำเสร็จสิ้นลง ผมได้ขอเช่าที่นาที่ปักดำเสร็จแล้วใหม่ ๆ ๑ ๑/๔ เอเคอร์ (๓.๑ ไร่) เป็นเวลา ๑ ปี ผมปล่อยน้ำในนาออกจนหมด และไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ให้แค่ปุ๋ยจากขี้ไก่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่นา ๔ แปลงเป็นไปอย่างปกติ ยกเว้นแปลงที่ ๕ ไม่ว่าผมจะทำอย่างไรต้นข้าวก็กลับขึ้นอย่างหนาแน่นมากเกินไป จนเกิดโรคใบไหม้ (blast disease) เมื่อผมถามเจ้าของนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาจึงบอกว่า เขาได้ใช้ที่นาแปลงนี้เป็นที่กองขี้ไก่ตลอดฤดูหนาวที่ผ่านมา

การใช้ฟาง ปุ๋ยตามธรรมชาติจากพืชคลุมดิน และปุ๋ยมูลสัตว์เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ได้ผลผลิตในปริมาณสูงโดยไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยเคมีอีกเลย เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่ผมได้นั่งสังเกตดูวิธีการของธรรมชาติในการไถพรวนและบำรุงดิน และในการเฝ้าดูนี้ ผมก็ได้เก็บเกี่ยวพืชผลทั้งผักส้ม ข้าว และธัญพืชฤดูหนาวอย่างมากมาย เป็นของกำนัลจากความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติของพื้นพิภพ

การจัดการกับวัชพืช

           นี้คือประเด็นหลักบางประการที่ควรจดจำไว้เพื่อจัดการกับวัชพืช

           ทันทีที่เลิกการไถพรวนดิน จำนวนวัชพืชจะลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ประเภทของวัชพืชในที่ดินแปลงนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย

           เมื่อเมล็ดพันธุ์ถูกหว่านลงในนาขณะที่พืชที่ปลูกก่อนหน้านั้นเริ่มจะสุก เมล็ดพันธุ์ที่หว่านลงไปใหม่จะเริ่มงอกขึ้นก่อนพวกวัชพืช วัชพืชฤดูหนาวจะงอกหลังจากเกี่ยวข้าวแล้วเท่านั้น แต่ระหว่างนั้นธัญพืชฤดูหนาวได้งอกขึ้นมาก่อนแล้ว วัชพืชฤดูร้อนจะงอกทันทีหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์แล้ว แต่ข้าวเจ้าก็ได้เจริญเติบโตขึ้นแล้วในตอนนั้น การกำหนดระยะเวลาในการหว่านเช่นนี้ ทำให้ไม่มีช่วงว่างระหว่างพืชผลที่ปลูกตามมา จึงทำให้พืชผลอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกว่าบรรดาวัชพืช

           ถ้าทุ่งนาทุกตารางนิ้วถูกกลุ่มด้วยฟางข้าวทันทีหลังการเก็บเกี่ยว วัชพืชจะหยุดการเจริญเติบโต พืชจำพวกถั่วที่หว่านพร้อม ๆ กับเมล็ดธัญพืชเพื่อให้เป็นพืชคลุมดินนั้น มีส่วนในการช่วยควบคุมวัชพืชด้วย

           วิธีการโดยทั่วไปในการจัดการกับวัชพืชก็คือการไถพรวนดิน แต่เมื่อคุณไถพรวนดิน เมล็ดที่อยู่ลึกในดินซึ่งไม่มีโอกาสงอกอยู่แล้วก็จะถูกพรวนให้ขึ้นมาอยู่ที่ผิวดิน และเป็นโอกาสให้มันได้งอกขึ้นมา ยิ่งกว่านั้นการไถพรวนดินก็เป็นวิธีที่ทำให้วัชพืชที่งอกไวโตเร็วทั้งหลายแพร่ขยายตัวยิ่งขึ้น ดังนั้น คุณอาจพูดได้ว่าเกษตรกรที่พยายามควบคุมการเติบโตของวัชพืชโดยการไถพรวนดินนั้น แท้จริงแล้วเป็นผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความโชคร้ายด้วยตัวเขาเอง

การควบคุมแมลง

           ยังมีคนไม่น้อยที่คิดว่าถ้าไม่ใช้สารเคมี ไม้ผล และพืชผลของเขาจะเหี่ยวเฉาตายไปต่อหน้าต่อตาอย่างแน่นอน แต่ความเป็นจริง คือ การใช้สารเคมีเหล่านี้ต่างหากที่กลายเป็นการทำให้สถานการณ์อันไม่มีมูลความจริงดังกล่าวข้างต้นเป็นจริงขึ้นมาโดยที่ผู้ใช้ใม่มีเจตนา

           เมื่อไม่นานมานี้ ไม้สนแดงญี่ปุ่นต้องประสบกับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่เกิดจากการระบาดของโรคด้วงงวงเจาะเปลือกสน (pine bark weevils) ปัจจุบันพนักงานป่าไม้ต้องใช้เฮลิคอปเตอรขึ้นไปฉีดยาพ่นบนอากาศ เพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่เกิดจากการระบาดนี้ ผมไม่ปฏิเสธว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในระยะสั้น แต่ผมรู้ว่ามันจะต้องมีวิธีอื่นอีก

           จากงานวิจัยล่าสุดกล่าวว่าโรคใบแห้งที่มีด้วงงวงเป็นพาหะ (Weevil blights) ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดขึ้นจากไส้เดือนฝอย (nematode) เป็นสื่อ ไส้เดือนฝอยแพร่พันธุ์ภายในลำต้น ทำให้ท่อน้ำเลี้ยงเกิดการอุดตัน ทำให้ไม้สนเหี่ยวเฉาลงและตายไปในที่สุดสาเหตุที่แท้จริงยังไม่เป็นที่เข้าใจกันอย่างแจ่มชัด

           ไส้เดือนฝอยได้อาหารจากเชื้อราในลำต้นของต้นไม้ เหตุใดเชื้อราจึงขยายตัวอย่างมากมายในลำต้นของต้นไม้ได้ เชื้อราได้ขยายตัวหลังจากมีไส้เดือนฝอยเกิดขึ้นแล้ว หรือว่าไส้เดือนฝอยเกิดขึ้นเพราะมีเชื้อราเกิดขึ้นก่อนกันแน่ คำถามนั้นสรุปลงที่ว่าอะไรเกิดก่อน เชื้อราหรือไส้เดือนฝอย

           ยิ่งกว่านั้น ยังมีสัตว์เล็ก ๆ พวกจุลชีพอีกประเภทหนึ่ง ที่มักจะมาพร้อมกับเชื้อรา และยังมีเชื้อไวรัสที่เป็นพิษต่อเชื้อรา ผลที่เกิดขึ้นกระทบต่อเนื่องกันทุกทิศทาง แต่มีเพียงสิ่งเดียวที่อาจกล่าวได้ด้วยความแน่นอน ก็คือ ไม้สนจะเหี่ยวเฉาลงเป็นจำนวนที่มากจนผิดปกติ

           ไม่มีใครรู้สาเหตุที่แน่ชัดของโรคใบแห้งของสน (pine blight) ทั้งไม่มีใครรู้ผลที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากการหายจากโรค ถ้าเราเข้าไปยุ่งกับสถานการณเช่นนี้โดยที่ยังรู้ไม่ชัดเจน ก็เท่ากับได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความหายนะที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมไว้ในอนาคต ผมไม่อาจรู้สึกยินดีกับการที่ความเสียหายที่เกิดจากด้วงเจาะนั้นลดลงอย่างฉับพลันเพราะผลจากการฉีดพ่นสารเคมีทางอากาศ การใช้สารเคมีทางการเกษตรเป็นวิธีการที่ไม่สมควรที่สุดในการจัดการกับปัญหาเช่นนี้ วิธีนี้จะนำไปสู่ปัญหาที่ยุ่งยากมากขึ้นในอนาคต

           หลักการ ๔ ประการของเกษตรกรรมธรรมชาติ (ไม่ไถพรวนดิน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยหมัก ไม่กำจัดวัชพืชโดยการไถกลบหรือใช้ยาปราบวัชพืช และไม่ใช้สารเคมี เป็นการเดินตามหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ และจะเป็นวิธีบำรุงธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ผมได้คลำทางมาโดยอาศัยแนวคิดนี้เป็นตัวนำ และนี่คือหัวใจของวิธีการในการปลูกพืชผัก ธัญพืช และส้มของผม

 

--------------------------------------------------------------------------------

* ฟูกูโอกะเตรียมปุ๋ยโดยการปลูกพืชคลุมดินจำพวกถั่ว และใช้ฟางข้าวคลุมพื้นที่ จากนั้นก็ใส่ขี้เป็ดขี้ไก่ลงไปเล็กน้อย
** ฟูกูโอกะปลูกธัญพืชโดยปราศจากการใช้สารเคมีไม่ว่าชนิดใด แต่สำหรับไม้ผลบางครั้งเขาจะใช้น้ำมันขี้โล้เพื่อควบคุมเพลี้ยหอยชนิดต่าง ๆ (Insect scale) และไม่มีการใช้ยาที่มีพิษตกค้าง หรือออกฤทธิ์กว้าง และไม่มีตารางการใช้ยาฆ่าแมลง
*** พืชคลุมดิน เช่น โคลเวอร์ เว็ทซ์ และอัลฟัลฟ่าจะเป็นตัวปรับสภาพดินและทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์

มดเอ๊กซ:
๒.๒
เกษตรกรรมท่ามกลางวัชพืช


                วัชพืช หลายชนิดได้เติบโตขึ้นร่วมกับธัญพืช และพืชคลุมดินจำพวกถั่วในที่นาแห่งนี้ ฟางข้าวที่โปรยคลุมดินตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงที่แล้ว ได้สลายตัวกลายเป็นฮิวมัสอันอุดม ปริมาณผลผลิตที่ได้จะประมาณ ๒๒ บูเชล (๕๒๐.๙ กิโลกรัมต่อที่ดิน ๑ ๑/๔ เอเคอร์ (๐.๖ ไร่)

           เมื่อวานนี้ศาสตราจารย์คาวาเอะ ซึ่งถือกันว่าเป็นผู้รู้ชั้นนำทางด้านทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และศาสตราจารย์ ฮิโรเอะ นักวิจัยด้านพันธุ์พืชโบราณ แวะมาหาผมที่นา เมื่อทั้งสองท่านแลเห็นข้าวบาร์เลย์ และพืชคลุมดินแพร่ขยายอย่างงดงามในที่นาของผม ท่านทั้งสองเรียกมันว่า เป็นงานศิลป์อันวิจิตรพิสดาร เกษตรกรเพื่อนบ้านที่คาดหมายว่าทุ่งนาของผมคงจะมีแต่วัชพืชขึ้นรกเต็มพื้นที่ ต่างพากันประหลาดใจที่พบว่าข้าวบาร์เลย์เติบโตอย่างแข็งแรงมากท่ามกลางพืชชนิดอื่น ๆ ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคก็มาที่นี่ด้วย พอมองเห็นวัชพืช ผักกาดน้ำ และโคลเวอร์งอกเต็มไปหมดทั้งพื้นที่ ก็ส่ายหัวก่อนจากไปด้วยความพิศวงงงงวย

           เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ตอนที่ผมสนับสนุนให้ปลูกพืชคลุมดินถาวรในสวนผลไม้ ในตอนนั้นไม่มีใบหญ้าสักใบให้เห็นในสวน หรือในนาสักแห่งในประเทศ ต่อเมื่อมาเห็นสวนผลไม้ของผม คนจึงค่อยเข้าใจว่าไม้ผลจะปลูกได้ดีท่ามกลางวัชพืชและหญ้า ปัจจุบันสวนผลไม้ที่มีหญ้าปกคลุมกลายเป็นสิ่งธรรมดาในญี่ปุ่น สวนผลไม้ที่ไม่มีหญ้าขึ้นเลยเสียอีกที่กลายเป็นสิ่งหายาก

           นาข้าวก็เป็นเช่นเดียวกัน ข้าวเจ้า ข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์ สามารถปลูกได้ผลดีท่ามกลางพืชคลุมดิน และวัชพืชที่ขึ้นตลอดทั้งปี

           ผมจะลองทบทวนรายละเอียดในการปลูกพืชประจำปี และกำหนดการเก็บเกี่ยวในนาของผม ตอนต้นเดือนตุลาคมก่อนการเก็บเกี่ยว ไวท์ โคลเวอร์ พืชคลุมดินจำพวกถั่ว และเมล็ดธัญพืชฤดูหนาวที่โตไวหลายชนิดจะถูกหว่านลงไปในท่ามกลางต้นข้าว* ที่กำลังสุกงอม

           ถ้าข้าวเจ้าถูกหว่านในฤดูใบไม้ร่วง และปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีอะไรหุ้มเอาไว้เมล็ดข้าวมักจะถูกหนูหรือนกกินไป หรือมิฉะนั้นก็อาจจะเน่าเปื่อยไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงหุ้มเมล็ดข้าวในกระสุนดินเหนียวเล็ก ๆ ก่อนหว่าน วิธีทำคือ เอาเมล็ดข้าวใส่ในจานแบนหรือกระด้งแล้วฝัด จากนั้นเอาผงดินเหนียวละเอียดมาคลุกกับเมล็ดข้าว พรมน้ำเล็กน้อยพอให้ดินจับตัวกัน ปั้นเป็นกระสุนเล็ก ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางครึ่งนิ้ว

           ยังมีวิธีทำกระสุนเมล็ดข้าวด้วยวิธีอื่นอีก เบื้องแรกนำข้าวเปลือกมาแช่น้ำสักหลายชั่วโมง จากนั้นเอาเมล็ดข้าวมาคลุกกับดินเหนียวหมาด ๆ ใช้มือหรือเท้านวดให้เข้ากัน เอาดินเหนียวมากดผ่านตะแกรงลวดให้เป็นก้อนเล็ก ๆ ก้อนดินเล็ก ๆ เหล่านี้ควรปล่อยไว้ราว ๑-๒ วันให้แห้ง หรือจนกว่าจะสามารถเอามาคลึงด้วยฝ่ามือให้กลมเป็นกระสุนได้ง่าย ๆ กระสุนที่ดีที่สุดควรมีเมล็ดเพียงเมล็ดเดียว ในวันหนึ่ง ๆ สามารถทำกระสุนเมล็ดข้าวนี้ได้พอสำหรับที่ดินหลายเอเคอร์

           บางครั้งผมจะใช้วิธีนี้กับเมล็ดพันธุอย่างอื่น และเมล็ดผักด้วยก่อนหว่านซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์และเงื่อนไข

           ระหว่างกลางเดือนพฤศจิกายน และกลางเดือนธันวาคม เป็นเวลาที่เหมาะแก่การหว่านกระสุนเมล็ดข้าวเหล่านี้ลงไปในนาข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์ ซึ่งยังเป็นต้นอ่อนอยู่ แต่จะรอไว้หว่านในฤดูใบไม้ผลิ* ก็ได้เช่นกัน ปุ๋ยมูลสัตว์จากขี้ไก่จะนำมาโปรยบาง ๆ ไว้ทั่วที่นา เพื่อช่วยให้ฟางข้าวสลายตัว งานเพาะปลูกในแต่ละปีก็เป็นอันเสร็จสิ้นสมบูรณ์

           ในเดือนพฤษภาคม ธัญพืชฤดูหนาวจะถูกเก็บเกี่ยว หลังจากนวดข้าวแล้วฟางทั้งหมดจะนำไปแผ่คลุมที่นาไว้

           น้ำจะถูกปล่อยให้ขังอยู่ในนาประมาณ ๑ อาทิตย์ - ๑๐ วัน มันจะทำให้วัชพืช และพืชคลุมดินอ่อนแอลง และปล่อยให้เมล็ดข้าวงอกออกมาจากฟางที่คลุม น้ำฝนเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอ สำหรับต้นข้าวในระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พอถึงเดือนสิงหาคมผมจะปล่อยน้ำเข้านาอาทิตย์ละครั้ง โดยไม่ต้องให้น้ำขัง จากนั้นงานเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วงก็กำลังเริ่มต้น

           นี่คือวงจรประจำปีของการปลูกข้าวเจ้าและธัญพืชฤดูหนาวด้วยวิธีธรรมชาติ การหว่านเมล็ดและการเก็บเกี่ยวดำเนินตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติอย่างใกล้ชิด จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ ยิ่งกว่าเป็นเทคนิคทางการเกษตร

           เกษตรกรหนึ่งคนจะใช้เวลาเพียง ๑-๒ ชั่วโมงในการหว่านเมล็ด และโปรยฟางคลุมพื้นที่ขนาด ๑ ๑/๔ เอเคอร์ (๐.๖ ไร่) ยกเว้นงานเก็บเกี่ยวแล้ว ธัญพืชฤดูหนาวสามารถปลูกโดยอาศัยคนเพียงคนเดียว และเพียงคน ๒-๓ คนก็สามารถทำงานที่จำเป็นทั้งหมดในการปลูกข้าวเจ้า โดยอาศัยเพียงเครื่องไม้เครื่องมือพื้นบ้านของญี่ปุ่นเท่านั้น อาจจะไม่มีวิธีการปลูกธัญพืชที่ง่ายดายยิ่งกว่านี้อีกแล้วก็ได้ ยังมีเรื่องอื่นที่นอกเหนือจากการหว่านเมล็ดพืช และโปรยฟางคลุมพื้นที่อยู่อีกเล็กน้อย แต่ผมต้องใช้เวลามากกว่า ๓๐ ปีกว่าจะเข้าถึงความเรียบง่ายที่ว่านี้ได้

           วิธีทางการเกษตรแบบนี้ได้พัฒนาตามเงื่อนไขทางธรรมชาติ ของพื้นที่ที่เป็นเกาะของญี่ปุ่น แต่ผมรู้สึกว่าเกษตรกรรมธรรมชาติสามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่น ๆ และในการปลูกพืชพื้นบ้านชนิดอื่น ๆ ด้วย ในบริเวณที่น้ำอาจจะไม่ค่อยสมบูรณ์ ก็อาจปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ข้าวไร่ หรือปลูกธัญพืชชนิดอื่น ๆ เช่น บั๊ควีท ข้าวฟ่าง หรือข้าวมิลเล็ท พืชคลุมดินจำพวกถั่วก็มีหลายชนิดที่สามารถใช้ปลูกทดแทนกันได้ เช่น โคลเวอร์ อัลฟัลฟ่า เวทซ์ หรือ ลูปิน เกษตรกรรมธรรมชาติมีรูปแบบที่แตกต่างออกไปเป็นพิเศษจากวิธีการอื่น โดยจะเป็นไปตามสภาวะและเงื่อนไขที่เป็นเฉพาะตัวของแต่ละสถานที่ที่ใช้วิธีการดังกล่าว

           ในช่วงผ่านก่อนที่จะมาใช้วิธีทางการเกษตรชนิดนี้ การกำจัดวัชพืช การใช้ปุ๋ยหมัก หรือการตัดแต่งกิ่งใบ อาจจะยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ในระยะแรกแต่วิธีการเหล่านี้จะต้องค่อย ๆ ลดลงในแต่ละปี ว่าถึงที่สุดแล้ว เทคนิคในการปลูกไม่ใช่ปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดกลับเป็นสภาพจิตใจของ เกษตรกร

 

--------------------------------------------------------------------------------

* ในที่ดิน 1/4 เอเคอร์ (0.6 ไร่) จะใช้เมล็ดพันธุ์ไวท์ โคลเวอร์ ประมาณ 0.4 กิโลกรัม ส่วนธัญพืชฤดูหนาวจะใช้ประมาณ 2.9-5.9 กิโลกรัม เกษตรกรที่ยังไม่มีประสบการณ์หรือที่นาซึ่งดินยังแข็ง และไม่อุดมสมบูรณ์ การหว่านเมล็ดพันธุ์ให้มากกว่านี้ในตอนเริ่มต้นจะเป็นการปลอดภัยกว่า เมื่อดินค่อย ๆ ปรับสภาพดีขึ้นจากการสลายตัวของฟางและปุ๋ยธรรมชาติจากพืชคลุมดิน และเมื่อเกษตรกรค่อย ๆ คุ้นกับวิธีการหว่านเมล็ดโดยตรงลงในดินที่ไม่ต้องไถพรวนแล้ว เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการปลูกก็จะลดลง

** ที่ดิน 1/4 เอเคอร์ (0.6 ไร่) ให้เมล็ดข้าว 2-4.1 กิโลกรัม ในปลายเดือนเมษายน ฟูกูโอกะจะตรวจดูการงอกของต้นข้าวที่ได้หว่านในฤดูใบไม้ร่วง และจะหว่านแซมลงไปเท่าที่จำเป็น


มดเอ๊กซ:

๒.๓
ทำการเกษตรด้วยฟาง


                การ โปรยฟางคลุมที่นาอาจจะดูไม่สลักสำคัญอะไร แต่มันเป็นพื้นฐานของวิธีปลูกข้าวและธัญพืชฤดูหนาวของผม มันเกี่ยวข้องกับทุกสิ่ง ตั้งแต่เรื่องความอุดมสมบูรณ์ การงอกของต้นอ่อน การควบคุมวัชพืชและป้องกันนกมาจิกกิน ทั้งยังเกี่ยวกับการจัดการระบบนาด้วย การใช้ฟางในการเกษตรเป็นเรื่องที่สำคัญมากทั้งในภาคปฏิบัติและทฤษฎี นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนผมจะไม่สามารถทำให้คนเข้าใจมันได้

โปรยฟางที่ไม่ได้สับ

           ศูนย์ทดลองการเกษตรที่โอคายาม่ากำลังทดลองปลูกข้าว โดยการหว่านเมล็ดโดยตรงถึงร้อยละ ๘๐ ของแปลงทดลอง เมื่อผมแนะให้เขาโปรยฟางที่ไม่ได้สับ พวกเขาก็ทำท่าในทำนองว่าเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็ยังคงทำการทดลองต่อไปโดยใช้ฟางที่สับโดยเครื่องจักร ผมแวะไปเยี่ยมศูนย์ทดลองนี้เมื่อหลายปีก่อน ผมได้พบว่า เขาแบ่งแปลงทดลองออกเป็นแปลงที่ใช้ฟางสับแล้ว แปลงที่ใช้ฟางไม่สับ และแปลงที่ไม่ใช้ฟางเลย นี่เป็นสิ่งเดียวกับที่ผมเคยทดลองทำมาก่อนหน้านี้นานแล้ว และเมื่อผมพบว่าการใช้ฟางที่ไม่ได้สับดีที่สุด ผมก็เลยใช้วิธีนี้ คุณฟูจิอิ อาจารย์ในวิทยาลัยเกษตรกรรมยาซูกิที่จังหวัดชิมาเนะ ต้องการทดลองการปลูกธัญพืชด้วยการหว่านเมล็ดโดยตรง ได้แวะมาเยี่ยมผมที่นา ผมแนะนำให้เขาโปรยฟางที่ไม่ได้สับคลุมพื้นที่นา เขากลับมาอีกครั้งในปีรุ่งขึ้นและบอกว่าผลการทดลองนั้นล้มเหลว หลังจากที่ผมฟังเขาอธิบายถึงเรื่องต่าง ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ผมก็รู้ว่าเขาได้วางฟางอย่างเป็นระเบียบประณีตเหมือนในแปลงสวนครัว ถ้าคุณทำเช่นนั้น เมล็ดข้าวจะงอกได้ไม่ดีเลย เช่นเดียวกับการโปรยฟางข้าวบาร์เลยหรือข้าวไรย์ ถ้าเราโปรยฟางอย่างเป็นระเบียบเกินไปต้นข้าวกล้าก็จะงอกได้ยากเช่นกัน วิธีที่ดีที่สุดคือการโปรยฟางไปทั่ว ๆ ให้เหมือนกับฟางนั้นตกลงมาอย่างเป็นธรรมชาติ

           ฟางจากข้าวเจ้าเหมาะที่จะใช้คลุมพื้นที่ปลูกธัญพืชฤดูหนาว เช่นเดียวกันฟางจากธัญพืชฤดูหนาวก็เหมาะกับข้าวเจ้าด้วย ผมต้องการให้สิ่งนี้เป็นที่เข้าใจกันอย่างแจ่มชัด มีโรคหลายชนิดที่ทำอันตรายต่อต้นข้าวเจ้าถ้าใช้ฟางสดจากข้าวชนิดเดียวกันคลุมที่นา แต่โรคของข้าวเจ้าจะไม่ทำอันตรายธัญพืชฤดูหนาว และถ้านำฟางจากข้าวเจ้ามาแผ่คลุมที่นาตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง มันก็จะเปื่อยได้ที่ เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นเวลาที่ข้าวกล้าเริ่มงอก ฟางสดของข้าวเจ้าจะปลอดภัยสำหรับธัญพืชชนิดอื่น เช่นเดียวกับฟางจากข้าวบั๊ควีท และธัญพืชพันธุ์อื่น ๆก็สามารถนำมาใช้คลุมข้าวเจ้าและข้าวบั๊ควีทด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปฟางสดจากธัญพืชฤดูหนาว เช่น ข้าวสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลยไม่ควรนำมาใช้กับธัญพืชฤดูหนาวพันธุ์อื่น ๆ เพราะว่าจะเกิดโรคระบาดก่อความเสียหายขึ้นได้

           ฟางและแกลบทั้งหมดที่เหลือจากการนวดในการเก็บเกี่ยวที่เพิ่งผ่านพ้นไปควรนำกลับไปใส่ไว้ในที่นา

ฟางข้าวบำรุงดิน

           การโปรยฟางเป็นวิธีรักษาโครงสร้างของดินและบำรุงดิน ดังนั้นปุ๋ยที่เกิดจากการเตรียมจึงเป็นสิ่งไม่จำเป็น วิธีนี้ย่อมเกี่ยวข้องกับการไม่ไถพรวนดินด้วย ที่นาของผมอาจจะเป็นที่แห่งเดียวในญี่ปุ่น ที่ไม่เคยไถพรวนเลยตลอดเวลากว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา และคุณภาพของดินดีขึ้นทุกฤดูกาล ผมคาดว่าหน้าดินที่อุดมด้วยฮิวมัสมีความหนามากกว่า ๔ นิ้วในระหว่างหลายปีนี้ นี่คือผลโดยตรงจากการที่นำสิ่งต่าง ๆ ที่ปลูกได้ในนาข้าว ยกเว้นธัญญาหารใส่กลับเข้าไปในที่นาอีกครั้งหนึ่ง

ไม่จำเป็นต้องทำปุ๋ยหมัก

           ไม่มีความจำเป็นต้องทำปุ๋ยหมัก ผมไม่ได้พูดว่าคุณไม่ต้องใซ้ปุ๋ยหมักเพียงแต่ว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำงานมากขึ้นเพื่อการนี้ ถ้าปล่อยให้ฟางคลุมพื้นที่นาในระหว่างฤดูใบไม้ผลิ หรือฤดูใบไม้ร่วง และใส่ปุ๋ยมูลสัตว์จากขี้ไก่หรือขี้เป็ดเพียงเล็กน้อย ภายใน ๖ เดือนมันจะเปื่อยได้ที่

           ในการทำปุ๋ยหมักด้วยวิธีทั่วไปนั้น เกษตรกรจะต้องทำงานอย่างเป็นบ้าเป็นหลังท่ามกลางแสงอาทิตย์อันร้อนระอุ ตั้งแต่สับฟางให้เป็นชิ้น ๆ เติมน้ำเติมปูนขาว พลิกชั้นปุ๋ยและลากเอาปุ๋ยที่หมักได้ที่แล้วมาใช้ในนา เขาทำตัวให้ลำบากเช่นนี้เพราะคิดว่ามันเป็น "วิธีที่ดีกว่า" ผมอยากเห็นเกษตรกรโปรยฟางหรือแกลบ หรือขี้เลื่อยบนที่นาของพวกเขามากกว่า

           ระหว่างที่เดินทางไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่นโดยรถไฟสายฮ็อกไคโด ผมสังเกตเห็นว่าเริ่มมีการสับฟางอย่างหยาบ ๆ มากขึ้นกว่าเมื่อครั้งที่ผมเริ่มเสนอให้มีการโปรยฟางที่ไม่ต้องสับ ผมรู้สึกเลื่อมใสในเกษตรกรเหล่านั้น แต่ในปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญยังคงกล่าวว่า วิธีที่ดีที่สุดควรใช้ฟางหลายร้อยปอนด์ต่อที่ดิน ๑/๔ เอเคอร์ (๐.๖ ไร่) ทำไมเขาไม่บอกว่าให้เอาฟางทั้งหมดที่ได้จากการเก็บเกี่ยวใส่กลับเข้าไปในนาข้าว เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่าง คุณจะเห็นเกษตรกรเอาฟางมาสับและโปรยฟางประมาณครึ่งหนึ่งลงไปในนา ส่วนที่เหลือก็ปล่อยทิ้งไว้ไห้มันผุพังไปเมื่อถูกฝนชะ

           ถ้าหากเกษตรกรทั้งหมดในญี่ปุ่นร่วมมือกัน และเริ่มเอาฟางทั้งหมดใส่กลับเข้าไปในที่นา ผลของมันก็คือปุ๋ยจำนวนมหาศาลจะกลับสู่พื้นโลก

การงอก

           เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่เกษตรกรต้องเตรียมแปลงเพาะกล้า เพื่อที่จะได้ต้นกล้าที่แข็งแรง แปลงเพราะเล็ก ๆ น่าจะได้รับการดูแลอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ราวกับเป็นแท่นบูชาของครอบครัวเลยทีเดียว ดินจะถูกไถพรวน ทรายและขี้เถ้าจากการเผาแกลบจะถูกนำมาโปรยไว้ทั่วแปลง มีการสวดมนตร์เพื่อให้ ต้นกล้า เจริญงอกงาม

           นี่มิใช่สิ่งไร้เหตุผลที่เพื่อนบ้านข้างเคียงจะคิดว่าผมสติไม่ดี ที่หว่านเมล็ดในขณะที่ธัญพืชฤดูหนาวยังอยู่ในนา ทั้งยังเต็มไปด้วยวัชพืช และเศษฟางที่กำลังเปื่อยกระจัดกระจายอยู่เต็มท้องนา

           เมล็ดจะงอกได้ดีเมื่อหว่านลงในที่นาทีมีการไถอย่างดีก็จริงอยู่ แต่ถ้าฝนตกและที่นากลายเป็นโคลน คุณก็จะลงไปเดินในที่นาไม่ได้ และการหว่านก็ต้องเลื่อนออกไป วิธีไม่ไถพรวนดินจึงได้เปรียบกว่าในแง่นี้ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็มีปัญหากับพวกสัตว์เล็ก ๆ เช่น ตัวตุ่น จิ้งหรีด หนู และทาก ซึ่งชอบกินเมล็ดพืช การใช้กระสุนดินเหนียวหุ้มเมล็ดไว้จึงช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้

           การหว่านเมล็ดธัญพืชฤดูหนาว วิธีการโดยทั่วไปมักจะใช้วิธีหว่านเมล็ดแล้วเอาดินกลบ แต่ถ้าหยอดเมล็ดไว้ลึกเกินไป มันก็จะเน่าเปื่อยไป ผมเคยทดลองหยอดเมล็ดลงในหลุมเล็ก ๆ หรือใช้วิธียกร่องเป็นคันดินขึ้นมาไม่เอาดินกลบ แต่ผมก็ประสบกับความล้มเหลวหลายครั้งทั้งสองวิธี

           ท้ายสุดผมเกิดความขี้เกียจ และแทนที่จะยกร่องหรือขุดหลุมปลูก ผมใช้วิธีหุ้มเมล็ดไว้ในกระสุนดินเหนียวและโยนเมล็ดเหล่านั้นลงไปยังที่นาโดยตรงเลย การงอกเป็นไปได้ดีบนผิวดิน เพราะได้ออกซิเจน ผมพบว่าบริเวณที่กระสุนเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ถูกปกคลุมด้วยฟาง มันจะงอกได้ดีและไม่เน่าเปื่อยแม้ในปีที่มีฝนตกหนักมากก็ตาม

ฟางช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับวัชพืชและนก

           ที่ดิน ๑/๔ เอเคอร์ (๐.๖ ไร่) การจะได้ฟางจากข้าวบาร์เลย์ประมาณ ๙๐๐ ปอนด์ (๔๐๙.๑ กิโลกรัม) ซึ่งนับเป็นเกณฑ์ที่ดีที่สุด ถ้านำฟางทั้งหมดไปโปรยในนามันจะสามารถคลุมที่นาได้ทั้งหมด แม้แต่วัชพืชที่สร้างความยุ่งยากเช่นหญ้าตีนกาซึ่งเป็นปัญหาที่ลำบากมากสำหรับการเพาะปลูกด้วยวิธีหว่านเมล็ดโดยตรงและไม่ไถพรวนดิน ก็จะสามารถควบคุมได้

           นกกระจอกสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ผมมาก การหว่านเมล็ดโดยตรงจะไม่สำเร็จ ถ้าไม่มีวิธีทีวางใจได้ในการจัดการกับพวกนก และในหลาย ๆ ที่ที่การเพาะปลูกด้วยการหว่านเมล็ดโดยตรง ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายก็เพราะสาเหตุเรื่องนี้ พวกคุณหลายคนก็คงประสบปัญหากับบรรดานกกระจอกแบบเดียวกัน และคุณก็คงเข้าใจว่าผมหมายถึงอะไร

           ผมยังจำได้ถึงตอนที่บรรดานกพวกนี้บินตามหลังผมและกินเมล็ดที่ผมเพิ่งหว่านไปหยก ๆ จนหมด ก่อนที่ผมจะทันหว่านให้เสร็จอีกฟากหนึ่งของที่นาด้วยซ้ำ ผมลองใช้ทั้งหุ่นไล่กา ตาข่าย และใช้เชือกผูกกระป๋องให้มันเกิดเสียงเวลากระทบกัน แต่ดูเหมือนไม่มีวิธีใดที่ใช้ได้ผลดี แม้ว่าบางวิธีจะใช้ได้ผลแต่ก็ได้ผลไม่นานกว่า ๑-๒ ปีเท่านั้น

           ประสบการณ์ส่วนตัวของผมได้แสดงให้เห็นว่า การหว่านเมล็ดในขณะที่พืชผลอีกชนิดก่อนหน้านี้ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว เป็นการฉวยให้เมล็ดเหล่านี้สามารถซ่อนตัวอยู่ในพงหญ้าและพืชคลุมดิน ทั้งการแผ่คลุมที่นาด้วยฟางข้าวทันทีที่การเก็บเกี่ยวสิ้นสุดลง ปัญหาเรื่องนกก็จะสามารถแก้ตกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

           ผมได้ทำผิดพลาดไว้มากขณะทำการทดลองระหว่างหลายปีที่ผ่านมาและก็มีประสบการณ์เกี่ยวกับความล้มเหลวของวิธีการทั้งหลาย ผมอาจจะรู้ดีกว่าทุกคนในญี่ปุ่นด้วยซ้ำว่าวิธีการทำการเกษตรแบบใดที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เมื่อผมประสบความสำเร็จในการปลูกข้าว และธัญพืชฤดูหนาวด้วยวิธีไม่ไถพรวนดินเป็นครั้งแรกนั้น ผมมีความเบิกบานใจเป็นที่สุด คงจะเหมือนกับที่โคลัมบัสรู้สึกเมื่อเขาค้นพบทวีปอเมริกา

มดเอ๊กซ:
๒.๔
ปลูกข้าวในนาแห้ง


                เมื่อถึงต้นเดือนสิงหาคม ต้นข้าวในที่นาของเพื่อนบ้านจะสูงขนาดเอวในขณะที่ข้าวในนาของผมจะสูงเพียงครึ่งหนึ่งของเพื่อนบ้านเท่านั้น คนที่มาดีเยี่ยมในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมมักจะเกิดความสงสัย และถามว่า "คุณฟูกูโอกะข้าวพวกนี้จะออกรวงได้แน่หรือครับ" "แน่นอน" ผมตอบ "ไม่ต้องเป็นกังวลเลย ครับ "

           ผมไม่พยายามที่จะปลูกข้าวที่ต้นโตเร็วและใบใหญ่ แต่พยายามให้ต้นมีขนาดย่อมและแข็งแรงมากที่สุดที่จะเป็นไปได้ พยายามให้ช่วงบนเล็ก ไม่บำรุงต้นข้าวมากเกินไป และปล่อยให้มันเติบโตตามลักษณะที่เป็นธรรมชาติของต้นข้าว

           โดยทั่วไปต้นข้าวสูงประมาณ ๓-๔ ฟุต จะให้ใบงามอุดมสมบูรณ์ และให้ความรู้สึกว่าจะให้เมล็ดมาก แต่ที่จริงแล้วมันเพียงแต่ให้ใบและลำต้นที่แข็งแรงเท่านั้น ผลผลิตของแป้งจะมีสูงแต่ประสิทธิภาพต่ำ พลังงานส่วนใหญ่จะหมดไปกับการบำรุงให้ต้นเจริญเติบโต จึงไม่มีเหลือพอให้เก็บกักไว้ในเมล็ด ตัวอย่างเช่น ต้นข้าวที่สูงเกินขนาดจะให้ฟางได้หนัก 2,000 ปอนด์ (๙๐๙.๑ กิโลกรัม) ส่วนผลผลิตข้าวจะได้เพียง ๑,๐๐๐-๑,๒๐๐ ปอนด์ (๔๕๗-๕๔๕.๔ กิโลกรัม) ส่วนข้าวต้นเตี้ยที่ปลูกในนาของผม จะได้ฟางหนัก ๒,๐๐๐ ปอนด์ (๙๐๙.๑ กิโลกรัม)และผลผลิตข้าว 2,000 ปอนด์เช่นกัน ในบางปีที่การเพาะปลูกได้ผลดี ผลผลิตข้าวจากนาของผมจะได้ถึง ๒,๔๐๐ ปอนด์ (๑.๐๙๐.๙ กิโลกรัม) ซึ่งแสดงว่าผลผลิตข้าวที่ได้มีน้ำหนักมากกว่าฟางถึงร้อยละ ๒๐

           ต้นข้าวที่ปลูกในนาแห้งจะไม่สูงมากนัก แสงอาทิตย์จะส่องถึงโคนต้นและใบที่อยู่ต่ำสุด ขนาดใบกว้าง ๑ ตารางนิ้วก็เพียงพอที่จะให้เมล็ดข้าว ๖ เมล็ด ใบเล็ก ๆ เพียง ๓-๔ ใบก็เพียงพอทีจะให้เมล็ดข้าวเป็นร้อยเมล็ด ผมหว่านเมล็ดข้าวค่อนข้างหนา ซึ่งให้ผลผลิตราวต้นละ ๒๕๐-๓๐๐ เมล็ด (๒๐-๒๕ ต้น) ต่อพื้นที่ ๑ ตารางหลาถ้าคุณมีต้นข้าวมากและไม่พยายามปลูกให้ต้นใหญ่ คุณจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น การปลูกข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบั๊ควีท ข้าวโอ๊ตและข้าวมิลเล็ท รวมทั้งธัญพืชอื่น ๆ ก็เป็นเช่นเดียวกัน

           วิธีโดยทั่วไป มักจะเก็บกักน้ำไว้ในนาข้าวสูงหลายนิ้วตลอดฤดูการเพาะปลูก เกษตรกรปลูกข้าวในที่น้ำท่วมขังเป็นเวลาหลายศตวรรษ จนกระทั่งคนส่วนใหญ่เชื่อว่าไม่มีการปลูกข้าวด้วยวิธีอื่นอีกแล้ว ข้าวนาลุ่มนานาพันธุ์จะแข็งแรงเมื่อปลูกในที่นาที่น้ำท่วมขัง แต่การปลูกวิธีนี้ไม่เป็นผลดีต่อต้นข้าว ต้นข้าวจะเติบโตได้ดีที่สุด เมื่อมีน้ำอยู่ในดินในระหว่างร้อยละ ๖๐-๘๐ ของจุดอิ่มตัวของดินในการรับน้ำ เมื่อไม่ปล่อยให้น้ำท่วมขัง ต้นข้าวจะมีรากแข็งแรง และจะสามารถสู้กับการรุกรานของเชื้อโรคและแมลง

           เหตุผลหลักในการปลูกข้าวในที่น้ำท่วมขัง ก็เพื่อควบคุมวัชพืชโดยการจัดสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้วัชพืชเพียงไม่กี่ชนิดสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ แต่กระนั้นก็ยังต้องอาศัยการถอนด้วยมือ หรือเครื่องมือในการไถกลบ วิธีแบบพื้นบ้านเป็นนี้เป็นงานที่กินเวลาและทำให้ปวดหลัง ซึ่งเป็นงานที่ต้องทำแล้วทำเล่าหลายครั้งหลายหนในทุกฤดูกาลเพาะปลูก

           ในเดือนมิถุนายนอันเป็นหน้ามรสุม ผมจะปล่อยให้น้ำท่วมขังในนาประมาณ ๑ อาทิตย์ มีวัชพืชเพียงไม่กี่ขนิดที่สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้แม้ไม่มีออกซิเจนในช่วงเวลาสั้น ๆ พืชคลุมดินก็พลอยเหี่ยวเฉาและกลายเป็นสีเหลืองไปด้วย นี่ไม่ใช่ความคิดที่จะกำจัดพืชคลุมดิน เพียงแต่ทำให้มันอ่อนแอลง และเปิดโอกาสให้ต้นกล้าเติบโตหยั่งรากมั่นคง เมื่อปล่อยน้ำออก (เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้) พืชคลุมดินพวกนี้จะฟื้นตัวขึ้นใหม่ และแพร่ขยายไปคลุมพื้นที่นาอีกครั้งภายใต้ต้นข้าวที่โตขึ้น หลังจากนั้นผมก็แทบไม่ทำอะไรเลยเกี่ยวกับระบบน้ำ ช่วงครึ่งแรกของฤดูผมจะไม่ให้น้ำเลยแม้ในปีที่มีฝนตกน้อยมาก เพราะดินที่อยู่ใต้ชั้นฟางและพืชคลุมดินก็ยังคงมีความชุ่มชื้น พอถึงเดือนสิงหาคม ผมจะปล่อยน้ำเข้านาเล็กน้อยเป็นครั้งคราว แต่ไม่ปล่อยให้น้ำท่วมขัง

           หากคุณเอาต้นข้าวจากนาของผมไปให้เกษตรกรดู เขาก็จะรู้ได้ทันทีว่ามันมีลักษณะของต้นข้าวอย่างที่ควรจะเป็น และยังมีรูปทรงที่เหมาะสมที่สุด เขารู้อีกว่าเมล็ดข้าวนั้นงอกขึ้นมาตามธรรมชาติ และไม่ใช่การปักดำ ต้นข้าวนั้นไม่ได้เติบโตขึ้นมาในที่ที่มีน้ำมาก อีกทั้งยังไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี เกษตรกรคนไหนก็ได้สามารถบอกสิ่งเหล่านี้จากการมองดูรูปทรงโดยรวมของต้นข้าว รูปทรงของราก และระยะห่างของข้อที่ลำต้น หากคุณรู้จักรูปทรงที่เป็นเลิศ ก็มาถึงเรื่องว่าจะมีวิธีปลูกพืชให้มีรูปทรงเช่นนั้นภายใต้เงื่อนไขเฉพาะของที่นาของคุณได้อย่างไร

           ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดของศาสตราจารย์มัทซึชิม่าที่ว่า ต้นข้าวที่ดีที่สุดนั้นใบที่ ๔ นับจากยอดจะเป็นใบยาวที่สุด บางครั้งใบที่ ๒ หรือ ๓ ยาวที่สุดแต่ได้ผลที่ดีที่สุดเช่นกัน ถ้าควบคุมการเจริญเติบโตของต้นข้าวขณะที่ยังเล็กอยู่ใบบนสุดหรือใบที่ ๒ มักจะยาวที่สุด แต่ปริมาณผลผลิตก็ยังคงสูงอยู่เช่นเดิม

           ทฤษฎีของศาสตราจารย์มัทซึชิม่า มาจากการทดลองปลูกข้าวที่อ่อนแอในแปลงเพาะและใช้ปุ๋ยช่วย หลังจากนั้นก็นำมาปักดำ ในอีกด้านหนึ่ง ข้าวของผมปลูกตามวงจรชีวิตของต้นข้าวตามธรรมชาติ เหมือนกับว่ามันเติบโตของมันเอง ผมรอคอยอย่างอดทนให้ต้นข้าวเติบโต และสุกเต็มที่ตามวิถีทางของมันเอง

           หลายปีมานี้ ผมลองปลูกข้าวเหนียวพันธุ์เดิมจากทางภาคใต้ แต่ละเมล็ดที่หว่านในฤดูใบไม้ร่วง จะงอกเป็นต้นโดยเฉลี่ย ๑๒ ต้น และให้เมล็ดถึงรวงละ ๒๕๐ เมล็ด จากข้าวพันธุ์นี้ ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งผมจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ใกล้เคียงกับปริมาณ ซึ่งคำนวณกันว่าเป็นขีดสูงสุดเท่าที่พลังงานแสงอาทิตย์ในท้องนาจะสามารถผลิตได้ ที่นี่บางแปลงของผมได้ผลผลิตจากข้าวพันธุ์นี้ถึง ๒๗ ๑/๒ บูเชล (๗๕๐ กิโลกรัม) ต่อที่ดิน ๑/๔ เอเคอร์ (๐.๖ ไร่)

           เมื่อมองจากสายตาที่ลังเลสงสัยของนักเทคนิค วิธีการปลูกข้าวของผมอาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องระยะสั้น หรือผลชั่วคราว พวกเขาอาจจะพูดว่า "หากการทดลองนี้กินเวลาต่อเนื่องยาวนานขึ้น ปัญหาบางอย่างจะต้องปรากฏขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย" แต่ผมได้ปลูกข้าวด้วยวิธีเช่นนี้มากว่า ๒๐ ปีแล้ว ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดินก็อุดมสมบูรณ์ขึ้นทุกปี

 

--------------------------------------------------------------------------------

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version