แสงธรรมนำใจ > จิตวิวัฒน์ กระบวนการนิวเอจ นิเวศแนวลึก

ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว : ภาค ๒ เกษตรธรรมชาติ

<< < (2/3) > >>

มดเอ๊กซ:



๒.๕

ไม้สวน


                ผมปลูกส้มไว้หลายพันธุ์แถบเชิงเขาใกล้บ้าน เมื่อผมกลับมาทำเกษตรอีกครั้งหลังสงครามโลก ผมเริ่มทำสวนส้มในที่ดิน ๑ ๓/๔ เอเคอร์ (๓.๙ ไร่) และทำนาในพื้นที่ ๓/๘ เอเคอร์ (๐.๘ ไร่) แต่ปัจจุบันเฉพาะสวนส้มกินเนื้อที่ถึง ๑๒ ๑/๒ เอเคอร์ (๓๑.๒ ไร่) ผมเป็นเจ้าของที่ดินแถบนี้โดยการจับจองที่ดินข้างเขาซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า หลังจากนั้นผมก็เริ่มถากถางมันด้วยมือของผมเอง

           ต้นสนตามที่ลาดเชิงเขาทั้งหลายถูกโค่นลงหลายปีก่อนหน้านี้ สิ่งที่ผมทำก็คือการขุดหลุมตามแนวสันเขา และปลูกชำต้นส้ม เมื่อเวลาผ่านไปกิ่งก้านก็เริ่มแตกออกจากตอต้นสน และหญ้าตระกูลแขมและเลา รวมทั้งหญ้าคาและผักกูดก็เติบโตขึ้น ต้นอ่อนของส้มก็ถูกกลืนหายไปท่ามกลางพงพฤกษชาติ

           ผมตัดต้นอ่อนของสนออกไปเป็นส่วนใหญ่ แต่เหลือบางส่วนไว้เป็นแนวกันลมทางด้านหลัง จากนั้นผมก็ตัดพุ่มไม้หนาแน่นออกบ้าง และถางหญ้าคลุมดินออกพร้อมกับปลูกพืชจำพวกถั่วเช่นโคลเวอร์แทน

           ๖-๗ ปีให้หลังต้นส้มก็เริ่มออกผล ผมขุดดินด้านหลังของต้นไม้ออก เพื่อทำให้เป็นขั้นบันได และสวนในตอนนี้ก็เริ่มดูแปลกตากว่าของผู้อื่นไปบ้าง

           ผมยังคงรักษาหลักการที่ว่าไม่มีการไถพรวนดิน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง และไม่กำจัดวัชพืช สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ เมื่อต้นอ่อนเติบโตขึ้นภายใต้ไม้ป่าที่เริ่มแตกยอดใหม่ ไม่ปรากฏว่ามีแมลงศัตรูพืชอย่างเพลี้ยหอยหัวธนู (arrowhead scale) ต่อเมือพุ่มไม้ที่หนาแน่นและต้นไม้ที่แตกยอดใหม่นั้นถูกถางออก จึงทำให้ที่ดินรกเรื้อน้อยลงและดูเป็นสวนมากขึ้น เมื่อนั้นแหละที่แมลงเหล่านั้นจะปรากฏขึ้น

           การปล่อยให้ไม้ผลเติบโตตามลักษณะธรรมชาติของมันตั้งแต่ต้นจะเป็นการดีที่สุด ต้นไม้จะให้ผลทุกปี และไม่มีความจำเป็นที่ต้องตัดแต่งกิ่งใบ ต้นส้มจะเติบโตในลักษณะเดียวกับต้นซีดาร์และต้นสน กล่าวคือ มีลำต้นกลางสูงตรงและมีกิ่งก้านงอกสลับสับหว่างกัน แน่นอน ส้มทุกพันธุ์ไม่ได้มีขนาดหรือรูปทรงแบบเดียวกันทั้งหมด อย่างเช่นส้มฮาซากุ และส้มโอ จะมีลำต้นสูงมาก ส้มอุนซูพันธุ์ฤดูหนาวจะมีลักษณะเตี้ยป้อม ส่วนส้มพันธุ์ซัทซูม่า ต้นเล็กแม้เมื่อโตเต็มที่แล้ว แต่ส้มทุกพันธุ์จะมีลำต้นกลางแบบเดียวกัน

อย่าฆ่าสัตว์กินแมลงตามธรรมชาติ

           ผมคิดว่าทุกคนคงจะรู้วา แมลงศัตรูพืชที่พบทั่วไปในสวน เช่นเพลี้ยหอยแดง(Ruby scale) และเพลี้ยหอยขี้ผึ้งมีเขา (horned wax scale) มีศัตรูตามธรรมชาติของมันอยู่จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อควบคุมศัตรูพืชเหล่านี้ เมื่อยาฆ่าแมลงเช่นฟูโซล (Fusol) ถูกนำมาใช้ในญี่ปุ่นสัตว์กินแมลงตามธรรมชาติจะถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิง และปัญหาจากผลลัพธ์ดังกล่าวยังคงมีอยู่ในหลายแห่ง จากประสบการณ์นี้ ผมคิดว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เริ่มจะตระหนักว่า การกำจัดศัตรูตามธรรมชาติของแมลงเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา เพราะว่าในระยะยาวแล้วความเสียหายจากแมลงจะเพิ่มมากขึ้น

           สำหรับตัวไรและเพลี้ยหอยที่เกิดขึ้น หากใช้น้ำมันเครื่องที่เจือจางประมาณ ๒๐๐-๔๐๐ เท่า ซึ่งเป็นสารเคมีที่ไม่มีอันตรายต่อศัตรูตามธรรมชาติของเเมลงเมื่อเทียบกับชนิดอื่น ฉีดพ่นบาง ๆ ในกลางฤดูร้อน และปล่อยให้ชุมชนแมลงปรับสมดุลตามธรรมชาติ หลังจากนั้นปัญหาต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ แก้ไขได้ด้วยตัวมันเอง แต่นี่จะไม่ได้ผล หากใช้อินทรีย์สารพวกฟอสฟอรัส* เป็นยาฆ่าแมลงในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม เพราะว่าศัตรูตามธรรมชาติของแมลงจะพลอยถูกฆ่าไปด้วย

           ผมไม่ได้หมายความว่าจะสนับสนุนให้ใช้สิ่งที่เรียกว่ายาพ่นแบบ "อินทรีย์สาร" ที่ปราศจากอันตรายเป็นสารละลายเกลือกระเทียม หรือ น้ำมันขี้โล้ หรือมีความพอใจที่จะนำศัตรูธรรมชาติของแมลงพันธุ์ต่างประเทศเข้ามาในสวนผลไม้เพื่อควบคุมพวกแมลงน่ารำคาญเหล่านั้นแต่อย่างใด การที่ต้นไม้เกิดอ่อนแอและถูกรบกวนจากแมลง เพราะมันได้เบี่ยงเบนออกจากลักษณะตามธรรมชาติของมัน หากต้นไม้เติบโตในลักษณะที่ผิดธรรมชาติ แล้วถูกปล่อยปละละเลยในสภาพนั้นกิ่งก้านของมันจะงอกไขว้ซ้อนกันไปมา และผลก็คือแมลงจะรุมทำลาย ผมได้เล่าให้ฟังแล้วว่าผมได้ทำให้ต้นส้มตายไปหลายเอเคอร์เพราะการทำเช่นนี้

           แต่ถ้าเราค่อย ๆ แก้ไขให้ต้นไม้ได้เติบโตอย่างถูกต้องแล้ว มันก็จะกลับไปสู่ลักษณะตามธรรมชาติของมัน ต้นไม้จะแข็งแรงขึ้น และวิธีการควบคุมแมลงก็จะเป็นสิ่งไม่จำเป็น หากเราปลูกต้นไม้อย่างระมัดระวัง และปล่อยให้มันเป็นไปตามลักษณะธรรมชาติของมันตั้งแต่ต้น ไม่มีความจำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งใบหรือพ่นยาชนิดใดเลย ต้นอ่อนส่วนใหญ่จะได้รับการตัดแต่งกิ่ง หรือมิฉะนั้นรากของมันก็จะถูกทำให้เสียหายตั้งแต่อยู่ในเรือนเพาะก่อนที่จะนำมาปักชำในสวน ซึ่งทำให้การตัดแต่งกิ่งเป็นสิ่งจำเป็นตั้งแต่เริ่มต้น

           ผมพยายามปลูกพืชหลายชนิดเพื่อปรับปรุงดินในสวน ในบรรดาพืชเหล่านี้ผมปลูกต้นโมริชิม่า อะคาเซีย ต้นไม้ชนิดนี้เติบโตตลอดทั้งปี แตกตาใหม่ทุกฤดูกาล เพลี้ยอ่อนชนิดต่าง ๆ (aphids) ที่กินตาอ่อนของต้นไม้ก็เริ่มขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว แมลงเต่าลาย (lady bug) ที่อาศัยกินเพลี้ยอ่อนเหล่านี้ ในไม่ช้าไม่นานก็แพร่ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น เมื่อมันกินเพลี้ยอ่อนจนหมด มันจะไต่ลงมาหาต้นส้มและเริ่มกินแมลงชนิดอืน เช่น ไร เพลี้ยหอยหัวธนู และเพลี้ยหอยนวมสาย (cottony - cusion scale)

           การปลูกไม้ผลโดยไม่ตัดแต่งกิ่งใบ ไม่ใช้ปุ๋ย และไม่ใช้ยาพ่นจำพวกสารเคมีจะเป็นไปได้ก็แต่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติเท่านั้น

 

--------------------------------------------------------------------------------

* สารพวก organs-phosphate เช่น พาราไธออน มาลาไธออน ฯลฯ : ผู้แปล

มดเอ๊กซ:
๒.๖
ดินสวน


                การปรับปรุงดินถือเป็นเรื่องพื้นฐานของการจัดการเกี่ยวกับสวน หากว่าคุณใช้ปุ๋ยเคมีต้นไม้จะโตขึ้นก็จริงอยู่ แต่ปีแล้วปีเล่าดินจะจืดลงตามลำดับ ปุ๋ยเคมีจะสูบเอาความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไปจนหมด และด้วยการทำเพียงเท่านั้นแค่ชั่วรุ่นเดียว ดินจะเสียหายอย่างเห็นได้ชัด

           ไม่มีวิธีการในการทำเกษตรที่สุขุมรอบคอบยิ่งกว่าหนทางที่ช่วยให้เกิดการฟื้นฟูสภาพดินอย่างสมบูรณ์ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว โฉมหน้าของภูเขาลูกนี้เป็นเขาหัวโล้นดินเป็นสีแดง แข็งกระด้างจนคุณไม่สามารถใช้จอบหรือเสียมลงบนดินได้เลย ที่ดินรอบ ๆ บริเวณนี้ก็มีลักษณะเดียวกัน ชาวบ้านแถบนี้ปลูกมัน จนกระทั่งดินหมดสภาพอุดมสมบูรณ์ และหลังจากนั้นที่ดินแถบนี้ก็ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า อาจพูดได้ว่า ผมช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินที่นี้ขึ้นมาอีกครั้งยิ่งกว่าจะพูดว่าผมมาปลูกส้มและพืชผักที่นี่

           เรามาพูดกันถึงวิธีที่ผมได้ฟื้นสภาพอ้นแห้งแล้งของที่ลาดเชิงเขาแห่งนี้กันสักหน่อย หลังสงครามโลก เทคนิคในการไถพลิกดินขนาดลึกเพื่อทำสวนส้มและขุดหลุมเพื่อเติมปุ๋ยอินทรีย์เป็นเทคนิคที่ได้ร้บการสนับสนุน เมื่อผมออกจากศูนย์วิจัย ผมได้ลองใช้วิธีนี้กับสวนของผมเอง หลายปีต่อมา ผมได้ข้อสรุปว่าวิธีการเช่นนี้ นอกจากจะทำลายสภาพทางกายภาพแล้ว ยังไม่มีส่วนในการช่วยฟื้นฟูสภาพดินเอาเสียเลย

           ตอนแรกผมเอาฟางและต้นเฟิร์น ซึ่งผมนำลงมาจากหลังเขามาใส่หลุมฝังไว้ การขนของหนักถึง ๙๐ ปอนด์ (๔๐.๙ กิโลกรัม) หรือกว่านั้นเป็นงานใหญ่มาก แต่หลังจากนั้น ๒-๓ ปี ก็ไม่มีแม้เพียงฮิวมัสสักฝ่ามือหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น หลุมที่ผมขุดไว้ใส่อินทรีย์วัตถุก็พังยุบไป กลายเป็นเพียงหลุมโล่ง ๆ

           ต่อมาผมพยายามใหม่ด้วยการฝังเศษไม้ ดูเหมือนว่าฟางจะเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดในการฟื้นฟูสภาพดิน แต่ถ้าพิจารณาจากปริมาณขององค์ประกอบของดิน เศษไม้จะดีกว่า วิธีนี้จะดีตราบเท่าที่ยังมีไม้ไห้ตัด แต่สำหรับบางคนที่ไม่มีต้นไม้ใกล้ ๆ ย่อมเป็นการดีกว่าที่จะปลูกต้นไม้ในสวนโดยตรง ยิ่งกว่าจะไปขนไม้มาจากที่ไกล ๆ

           ในสวนของผมมีต้นซีดาร์ ต้นสน ต้นสาลี่อยู่ ๒-๓ ต้น ตนพลับ ปี่แปั ต้นเชอริ่ญี่ปุ่น และไม้ผลพื้นบ้านอีกหลายชนิดขึ้นปะปนอยู่กับต้นสน ต้นไม้ที่น่าสนใจที่สุดต้นหนึ่งซึ่งแม้จะไม่ใช่ไม้พื้นบ้าน คือต้นโมริชิม่า อะคาเซีย เป็นต้นเดียวกับที่ผมกล่าวถึงก่อนหน้านี้ ที่มีส่วนสัมพันธ์กับการสงวนรักษาศัตรูตามธรรมชาติของแมลงรวมทั้งแมลงเต่าลาย ต้นไม้ชนิดนี้เป็นไม้เนื้อแข็ง ดอกของมันจะดึงดูดผึ้งมาหาน้ำหวาน ใบของมันเหมาะสำหรับเลี้ยงสัตว์ ทั้งยังช่วยป้องกันแมลงในสวนและช่วยกันลม นอกจากนี้บักเตรีที่อาศัยอยู่ในรากยังช่วยทำให้ดินอุดมสมบูรณ์

           ต้นไม้พันธุ์นี้นำเข้ามายังญี่ปุ่นจากประเทศออสเตรเลียเมื่อหลายปีก่อนและเป็นไม้โตเร็วกว่าต้นไม้ชนิดใดที่ผมเคยพบมา รากของมันจะหยั่งลึกลงในดินเพียงชั่วเวลาไม่กี่เดือน และเพียง ๖-๗ ปีให้หลังลำตัวของมันจะสูงเท่า ๆ กับเสาโทรศัพท์ทีเดียว นอกจากนี้ ต้นไม้พันธุ์นี้ยังเป็นตัวตรึงไนโตรเจน ดังนั้นหากปลูกต้นไม้ชนิดนี้สัก ๖-๑๐ ต้นในพื้นที่ ๑/๔ เอเคอร์ (๐.๖ ไร่) มันจะช่วยให้เกิดการฟื้นฟูสภาพดินจนถึงชั้นดินที่อยู่ลึกลงไป และก็ไม่มีความจำเป็นต้องทนหลังขดหลังแข็งในการขนลากไม้จากภูเขาเพื่อมาทำปุ๋ย

           สำหรับการบำรุงหน้าดิน ผมจะหว่านเมล็ดไวท์ โคลเวอร์ และหญ้าอัลฟัลฟ่าบนพื้นดินที่แห้งแล้ง เป็นเวลาหลายปีกว่าพืชคลุมดินเหล่านี้จะสามารถเกาะหน้าดินได้ แต่ในที่สุดมันก็สามารถขึ้นครอบคลุมพื้นที่ในสวนบริเวณเชิงเขาแห่งนี้ ผมปลูกหัวไชเท้าญี่ปุ่นที่เรียกว่าไดกอนไว้ด้วย รากของมันจะชอนไชลึกลงไปในดิน นำเอาอินทรีย์สารลงไปในดิน และเปิดทางให้การหมุนเวียนของอากาศและน้ำดีขึ้น มันขยายพันธุ์ได้ง่าย และหลังจากหว่านไปแล้วครั้งหนึ่งคุณก็แทบจะลืมมันไปได้เลย

           เมื่อดินมีความอุดมสมบูรณขึ้น วัชพืชก็เริ่มจะกลับมาอีกครั้ง ๗-๘ ปีให้หลัง พืชจำพวกถั่วที่ปลูกไว้คลุมดินก็แทบจะกลืนหายไปท่ามกลางวัชพืช ผมจึงหว่านเมล็ดโคลเวอร์เพิ่มลงไปอีกเล็กน้อย ในตอนปลายฤดูร้อนหลังจากตัดวัชพืชออกไป* ผลจากพืชคลุมดินจำพวกถั่วและวัชพืชที่ขึ้นหนาแน่นเป็นเวลากว่า ๒๕ ปีทำให้หน้าดินในสวนแห่งนี้ที่เคยแข็งกระด้างและมีสีแดงค่อย ๆ อ่อนตัวลงและมีสีดำ ทั้งยังอุดมไปด้วยไส้เดือนและอินทรีย์วัตถุ

           เมื่อพืชคลุมดินได้ช่วยฟื้นสภาพหน้าดิน ในขณะเดียวกันรากของต้นโมริชิมา อะคาเซีย ก็ช่วยฟื้นฟูสภาพดินที่อยู่ลึกลงไป คุณก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยและไถพลิกดินระหว่างไม้ผลในสวนอีก สภาพในสวนผลไม้จะมีต้นไม้สูง ๆ สำหรับกันลม ต้นส้มอยู่ตรงกลาง และพืชคลุมดินอยู่เบื้องล่าง ผมได้พบวิธีที่จะอยู่อย่างสบาย ๆ และปล่อยให้สวนจัดการทุกอย่างด้วยตัวมันเอง

 

--------------------------------------------------------------------------------

* ระหว่างฤดูร้อน ฟูกูโอกะจะตัดวัชพืช ไม้หนาม และต้นอ่อนของพืชที่ขึ้นอยู่ใต้ไม้ผลในสวนโดยใช้เคียว

มดเอ๊กซ:
๒.๗
ปลูกผักบ้านแบบผักป่า


                เรามาพูดถึงการปลูกพืชผักสักหน่อย เราอาจจะใช้สวนหลังบ้านเป็นที่ปลูกผักสวนครัว เพื่อเลี้ยงดูคนในครอบครัว หรือมิฉะนั้นก็อาจจะปลูกบนที่ดินว่าง ๆ ที่ไม่ใช้ประโยชน์ก็ได้

           สำหรับสวนหลังบ้าน ขอแนะนำว่าคุณควรปลูกผักสวนครัวชนิดที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะเจาะ ในแปลงที่เตรียมด้วยปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกตามธรรมชาติ วิธีการปลูกพืชผักตามตารางสวนครัวแบบเก่าของญี่ปุ่นนั้นสอดคล้องเป็นอย่างดีกับแบบแผนตามธรรมชาติของชีวิต เด็ก ๆ จะเล่นกันใต้ต้นไม้ในสวนหลังบ้าน ส่วนหมูก็กินเศษอาหารที่เหลือจากครัวและรากไม้ตามดิน หมาจะเล่นและส่งเสียงเห่า ในขณะที่เกษตรกรจะหว่านเมล็ดพืชในดินอันอุดม ตัวหนอนและแมลงเติบโตขึ้นพร้อมกับพืชผัก ไก่จิกหนอนและวางไข่ไว้ไห้เด็ก ๆ ได้กิน

           ครอบครัวชนบทที่เป็นแบบฉบับของญี่ปุ่นจะปลูกพืชผักในลักษณะเช่นนี้จนเมื่อราวไม่เกิน ๒๐ ปีให้หลังมานี้เอง

           โรคพิษจะป้องกันได้ด้วยการปลูกผักพื้นบ้านในเวลาที่เหมาะสม รักษาดินให้อุดมด้วยการนำของเหลือที่เป็นอินทรีย์สารใส่กลับไปในดิน และปลูกพืชหมุนเวียน แมลงที่ทำอันตรายต่อพืชจะถูกจับทิ้งบ้าง โดนไก่จิกกินไปบ้าง ในภาคใต้ของเกาะชิโกกุ มีไก่พันธุ์หนึ่งที่จะกินเฉพาะตัวหนอนและแมลงที่อยู่บนพืชผัก โดยไม่คุ้ยเขี่ยทำลายต้นผักและรากของมัน

           ชาวบ้านบางส่วนอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ในตอนแรกเกี่ยวกับการใช้มูลสัตว์และมูลคนว่าเป็นวิธีการโบร่ำโบราณและสกปรก ปัจจุบันผู้คนนิยมพืชผักที่ "สะอาด" ด้วยเหตุนี้เกษตรกรจึงปลูกพืชผักในเรือนกระจกโดยไม่ต้องอาศัยดินเลย การปลูกพืชผักในกรวด ในทราย และในน้ำโดยไม่อาศัยดินเลยกลายเป็นสิ่งที่ทันสมัยกว่า พืชผักเหล่านี้ปลูกโดยอาศัยสารเคมีเป็นธาตุอาหาร และอาศัยแสงซึ่งส่องผ่านผ้าคลุมเส้นใยสงเคราะห์ เป็นสิ่งที่น่าประหลาดที่ประชาชนมองพืชผักเหล่านี้ว่าเป็นของ "สะอาด" และปลอดภัยที่จะนำมากิน อาหารที่ปลูกในดินที่มีความสมดุลระหว่างการทำงานของไส้เดือน จุลินทรีย์ และการเน่าเปื่อยของมูลสัตว์นั้น เป็นสิ่งที่สะอาดที่สุด และมีความอุดมสมบูรณ์ในตัวมันเองที่สุดยิ่งกว่าสิ่งอื่น ๆ

           การปลูกพืชผักในลักษณะ "กึ่งผักป่า" จะทำให้ที่ว่างที่มีอยู่มากมายริมฝั่งแม่น้ำ หรือที่ดินโล่ง ๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นั้นเกิดเป็นประโยชน์ขึ้นมา ในความคิดของผม วิธีปลูกพืชชนิดนี้ก็คือ เพียงแต่โยนเมล็ดผักไปตามที่เหล่านี้และปล่อยให้มันโตขึ้นพร้อมกับวัชพืช ตัวผมเองปลูกผักอยู่ข้างภูเขาในที่ว่างระหว่างต้นส้ม

           สิ่งที่สำคัญคือต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะปลูก สำหรับพืชผักในฤดูใบไม้ผลิเวลาที่ควรปลูกคือ เมื่อวัชพืชฤดูหนาวเริ่มเหี่ยวเฉาตายไป และก่อนที่วัชพืชในฤดูร้อนจะทันงอก* ออกมา การหว่านเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วงควรหว่านเมื่อหญ้าในฤดูร้อนกำลังเฉาตาย และวัชพืชฤดูหนาวยังไม่งอกออกมา

           เป็นการดีที่สุดที่จะรอฝนซึ่งจะตกติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ตัดวัชพืชที่คลุมอยู่ออกและหว่านเมล็ดพันธุ์ผัก ไม่จำเป็นต้องใช้ดินกลบ เพียงแต่เอาวัชพืชที่ตัดแล้วคลุมลงไปบนเมล็ดผักเหล่านั้นเหมือนกับคลุมด้วยฟาง วิธีนี้จะซ่อนเมล็ดผักเหล่านั้นจากนกและไก่ จนกว่ามันจะงอกเป็นต้นอ่อน ปกติแล้วควรตัดวัชพืชออกสัก ๒-๓ ครั้ง นี่เป็นการเปิดทางให้ต้นอ่อนของพืชผักได้งอกแต่บางครั้งการตัดหนเดียวก็เพียงพอแล้ว

           ที่ที่วัชพืชและพืชคลุมดินจำพวกถั่วไม่ขึ้นหนาแน่นเกินไป คุณสามารถหว่านเมล็ดพันธุ์ผักลงไป ไก่จะจิกกินไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะงอกเป็นต้นอ่อน แต่ถ้าคุณปลูกเป็นแนว หรือยกคันร่อง ก็มีโอกาสที่แมลงปีกแข็งและแมลงชนิดต่าง ๆ จะพากันมากินเมล็ดผักเหล่านั้นเสียเป็นจำนวนมาก เพราะแมลงพวกนี้เดินเป็นเส้นตรง ไก่ก็จะจดจำพื้นที่หย่อมที่เราได้ถางไว้ แล้วก็จะมาคุ้ยเขี่ยหาอาหารบริเวณนั้น มันเป็นประสบการณ์ของผมที่พบว่า จะเป็นการดีที่สุดที่จะหว่านเมล็ดไว้ที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง

           พืชผักที่เติบโตในลักษณะนี้จะแข็งแรงเกินกว่าที่เราคิด หากว่ามันงอกเป็นต้นอ่อนก่อนวัชพืช มันก็จะไม่ถูกวัชพืชขึ้นปกคลุมในภายหลัง มีผักบางชนิดเช่น ผักป๋วยเล้ง และแครอท ซึ่งจะงอกได้ไม่เร็วนัก ควรเอาเมล็ดแช่น้ำไว้ ๑-๒ วัน แล้วเอาดินเหนียวหุ้มเมล็ดไว้ วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้

           ถ้าหว่านเมล็ดหัวไชเท้า ผักกาดหัว และผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ ที่ขึ้นในฤดูใบไม้ร่วง ให้มากสักหน่อย ก็จะสามารถสู้กับวัชพืชฤดูหนาวและต้นฤดูใบไม้ผลิ จะมีบางส่วนที่ไม่ถูกเก็บเกี่ยว และจะแตกหน่อใหม่ด้วยตัวมันเองปีแล้วปีเล่า พวกนี้จะมีรสชาติแปลกออกไป และกินอร่อยเป็นพิเศษ

           เป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นพืชผักที่ไม่คุ้นเคยหลายชนิด เติบโตงอกงามขึ้นที่โน่นบ้างที่นี่บ้างบนภูเขา หัวไชเท้าและผักกาดหัวจะงอกพ้นดินครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งซ่อนตัวอยู่ในดิน แครอทและเบอร์ด๊อกส์ จะมีลักษณะอ้วน เตี้ย และมีรากมากมาย ผมเชื่อว่ารสฝาดและขมเล็กน้อยของมัน คือลักษณะเดิมของมันเมื่อครั้งยังเป็นผักป่า กระเทียม หอมเล็ก และกระเทียมต้นเมื่อปลูกแล้วครั้งหนึ่ง มันก็จะสามารถขยายพันธุ์ด้วยตัวมันเองปีแล้วปีเล่า

           พืชจำพวกถั่วที่ใช้บริโภคฝักหรือเมล็ด เหมาะที่จะหว่านในฤดูใบไม้ผลิ ถั่วฝักยาว และถั่วแดงหลวง เป็นพืชที่ปลูกง่ายและให้ผลผลิตสูง การปลูกถั่วจำพวกถั่วแดงอาซูกิ ถั่วเหลือง ถั่วลาย และถั่วแดงหลวง การงอกเป็นต้นอ่อนได้เร็วเป็นสิ่งที่จำเป็น มันจะงอกได้ยากถ้าขาดน้ำฝน และคุณก็ต้องคอยดูแลมันให้พ้นจากนกและแมลง

           มะเขือเทศและมะเขือยาว ไม่แข็งแรงพอที่จะสู้กับวัชพืชเมื่อมันยังเป็นต้นอ่อนอยู่ ดังนั้นจึงควรปลูกในแปลงเพาะก่อนจนโตพอจึงค่อยย้ายลงดิน มะเขือเทศควรปล่อยให้เลื้อยตามดินแทนที่จะทำร้านให้ รากจะงอกออกจากตาตามแนวลำต้นใหญ่ ส่วนยอดอ่อนก็จะงอกออกมาและให้ผล

           สำหรับแตงกวาพันธุ์ที่งอกเลื้อยตามดินจะดีที่สุด คุณจะต้องดูแลตอนที่ยังเป็นต้นอ่อนอยู่ โดยการตัดวัชพืชให้เป็นครั้งคราว แต่หลังจากนั้นมันจะแข็งแรง เอาไม้ไผ่หรือกิ่งไม้ปักไว้ให้มันเลื้อยพัน วิธีนี้จะช่วยให้ลูกของมันอยู่พ้นดินเป็นการปัองกันไม่ให้ลูกเน่าเปื่อย

           วิธีปลูกแตงกวานี้ก็ใช้กับการปลูกแตงเทศและน้ำเต้าด้วย

           มันและเผือกเป็นพืชที่แข็งแรงมาก ปลูกเพียงครั้งเดียวมันก็จะขึ้นในที่เดิมทุกปีและไม่เคยถูกวัชพืชขึ้นปกคลุม เวลาที่คุณเก็บเกี่ยวให้ทิ้งบางส่วนไว้ในดิน ถ้าดินแข็งควรปลูกหัวไชเท้าก่อน เพราะเมื่อรากของมันโต มันจะช่วยพรวนดินและทำให้ดินอ่อนนุ่มขึ้น และเพียงไม่กี่ฤดูก็สามารถปลูกมันแทนได้

           ผมพบว่าพืชคลุมดินจำพวกถั่วเช่นไวท์ โคลเวอร์ มีประโยชน์ในการยับยั้งการเติบโตของวัชพืช มันจะขึ้นอย่างหนาแน่น และสามารถกำจัดวัชพืชที่แข็งแรง เช่น มักเวิร์ท และหญ้าตีนกา ถ้าหว่านเมล็ดโคลเวอร์คลุกเคล้ากับเมล็ดพันธุ์ผัก มันจะทำหน้าที่เป็นวัตถุคลุมดินที่มีชีวิต ที่ช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์และรักษาความชื้นในดิน ทั้งช่วยให้การระบายอากาศเป็นไปได้ดี

           การหว่านเมล็ดโคลเวอร์ก็เช่นเดียวกับพืชผัก กล่าวคือสิ่งสำคัญอยู่ที่การเลือกเวลาที่เหมาะสม การหว่านในปลายฤดูร้อนหรือฤดูใบไม้ร่วงจะดีที่สุด รากจะค่อยเติบโตในระหว่างเดือนที่หนาวเย็น จนในที่สุดลำต้นจะโผล่ขึ้นมาสู้กับวัชพืชในฤดูใบไม้ผลิ พืชคลุมดินจะทำงานได้ดีเช่นกันถ้าหว่านตอนต้นฤดูใบไม้ผลิ จะใช้วิธีหว่านหรือปลูกเป็นแถวห่างกันช่วงละ ๑๒ นิ้วก็ได้ เมื่อพืชคลุมดินสามารถขึ้นปกคลุมพื้นที่ คุณก็ไม่จำเป็นต้องหว่านเมล็ดเพิ่มอีกเป็นเวลาถึง ๕-๖ ปี

           จุดประสงค์หลักในการปลูกผักในลักษณะกึ่งผักป่าเช่นนี้ ก็เพื่อให้การปลูกผักเป็นธรรมชาติมากเท่าที่จะเป็นได้ในที่ดินซึ่งถูกทิ้งไว้ไม่ใช้ประโยชน์อยู่แล้ว ถ้าคุณพยายามใช้วิธีการที่พัฒนามากกว่านี้ หรือเพื่อจะเพิ่มผลผลิต คุณจะพบกับความล้มเหลว ความล้มเหลวส่วนใหญ่จะเกิดจากแมลงและโรค ถ้าสมุนไพรและพันธุ์ผักหลายชนิดถูกนำมาคลุกเคล้ากัน และปลูกท่ามกลางพืชพันธุ์ธรรมชาติอื่น ๆ ความเสียหายจากแมลงและโรคพืชจะมีน้อย และไม่จำเป็นต้องใช้ยาพ่นหรือจับแมลงเจาะกินพืชผัก

           คุณสามารถปลูกผักที่ไหนก็ได้ที่มีวัชพืชหลายชนิดขึ้นอยู่มากมาย ความสำคัญอยู่ที่ต้องคุ้นเคยกับวงจรในแต่ละปี และแบบแผนการเติบโตของวัชพืชและหญ้าจากการดูความหลากหลายและขนาดของวัชพืชในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง คุณก็จะสามารถรู้ชนิดของดิน และสภาพว่ามีความอุดมสมบูรณ์หรือไม่

           ในสวนของผม ผมปลูกเบอร้ด๊อกซ์ กะหล่ำปลี มะเขือเทศ แคร็อท ผักโสภณ ถั่ว ผักกาดหัว และสมุนไพรหลายชนิด รวมทั้งพืชผักจำนวนมากในลักษณะกึ่งผักป่าเช่นนี้

 

--------------------------------------------------------------------------------

* วิธีปลูกผักเช่นนี้ได้พัฒนามาโดยอาศัยการทดลองของฟูกูโอกะ ซึ่งสัมพันธ์กับเงื่อนไขของท้องถิ่น ที่ที่เขาอยู่อาศัยจะมีฝนในฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นเรืองแน่นอน และอากาศอุ่นพอที่จะปลูกผักได้ทุกฤดูกาล อาศัยการทดลองเป็นเวลาหลายปี เขาเรียนรู้วามีผักชนิดไหนทีสามารถขึ้นพร้อมกับวัชพืชชนิดใด และต้องการดูแลแบบไหน
           วิธีการเฉพาะของฟูกูโอกะในการปลูกพืชผักนี้ ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ส่วนใหญ่ทางอเมริกาเหนือ การปลูกผักในลักษณะกึ่งผักป่าเช่นนี้ต้องขึ้นอยู่กับเกษตรกรแต่ละคน ที่จะพัฒนาวิธีการให้เหมาะสมกับที่ดินและพืชผักตามธรรมชาติในท้องถิ่นของตน

มดเอ๊กซ:



๒.๘

เวลาแห่งการละเลิกสารเคมี


                ทุกวันนี้การปลูกข้าวเจ้าญี่ปุ่นกำลังอยู่ ณ ทางแยกที่สำคัญ ทั้งเกษตรกรและผู้เชี่ยวชาญล้วนอยู่ในความสับสนว่าควรจะเดินไปบนเส้นทางใด จะใช้วิธีปักดำหรือเปลี่ยนไปใช้วิธีหว่านเมล็ดโดยตรง และถ้าเป็นวิธีหลัง จะเลือกการไถพรวนดินหรือไม่ไถพรวนดิน ผมได้พูดมาเป็นเวลา ๒๐ ปีแล้วว่า การหว่านเมล็ดโดยตรงลงไปในดินที่ไม่ไถพรวน จะค่อย ๆ พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ความแพร่หลายอย่างรวดเร็วของวิธีหว่านเมล็ดโดยตรง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในจังหวัดโอคายาม่าเป็นสิ่งยืนยันได้อย่างดี

           อย่างไรก็ตาม ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่กล่าวว่าการเปลี่ยนไปทำการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี เพื่อสนองตอบความจำเป็นทางอาหารในระดับชาตินั้น เป็นเรื่องเหลือเชื่อ พวกเขากล่าวว่า การใช้สารเคมีเป็นสิ่งจำเป็นในการควบคุมโรคข้าวที่สำคัญ ๓ ชนิด คือ โรคลำต้นเน่า (stem rot) โรคใบไหม้และโรคขอบใบแห้ง (bacterial leaf blight) แต่ถ้าเกษตรกรเลิกใช้พันธุ์ข้าว "ปรับปรุง" ที่อ่อนแอพวกนั้น ไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไปในดิน และลดปริมาณน้ำขังเพื่อให้รากสามารถเติบโตแข็งแรงขึ้น โรคเหล่านี้จะหมดไป และยาพ่นสารเคมีเหล่านี้ก็จะกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็น

           ในตอนแรก ดินสีแดงในที่นาของผมขาดความอุดมและไม่เหมาะที่จะปลูกข้าว โรคใบจุดสีน้ำตาล (brown spot) ก็มักจะเกิดขึ้น แต่เมื่อที่นาค่อย ๆอุดมสมบูรณ์ขึ้น โรคใบจุดสีน้ำตาลก็ลดน้อยลง หลังจากนั้นก็ไม่เคยปรากฏว่ามีโรคระบาดเลย

           ปัญหาการรบกวนจากแมลงก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องไม่ฆ่าศัตรูตามธรรมชาติของแมลง การปล่อยให้ที่นาจมอยู่ในน้ำขังที่นิ่งและเน่าเสียทำให้เกิดปัญหาทางด้านแมลงด้วยเป็นกัน แมลงศัตรูพืชที่ก่อความยุ่งยากที่สุดคือ เพลี้ยจักจั่นในหน้าร้อนกับฤดูใบไม้ร่วงพวกนั้น สามารถควบคุมได้ถ้าไม่ปล่อยให้น้ำขังในนาข้าว

           เพลี้ยจักจั่นสีเขียว (Green rice leaf-hoppers) ที่อาศัยอยู่กับวัชพืชตลอดฤดูหนาวอาจกลายเป็นพาหะของไวรัส ถ้าหากสิ่งนี้เกิดขึ้น ผลคือเราต้องสูญเสียข้าวไปราวร้อยละ ๑๐-๒๐ จากโรคใบไหม้ของข้าว ถ้าเราไม่พ่นสารเคมี จะมีแมงมุมเกิดขึ้นมากมายในที่นา และเราก็สามารถปล่อยให้แมงมุมเหล่านี้จัดการกับปัญหาดังกล่าว แต่แมงมุมนั้นอ่อนไหวมาก การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมันแม้เพียงเล็กน้อยก็มีผลร้ายต่อมันได้ ดังนั้น จึงควรระมัดระวังอยู่เสมอในแง่นี้

           คนส่วนใหญ่คิดว่า ถ้าไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ปริมาณผลผลิตทางเกษตรกรรมจะตกต่ำลงจากระดับปัจจุบันมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงประมาณความสูญเสียในปีแรกหลังจากเลิกใช้ยาฆ่าแมลงว่า จะตกประมาณร้อยละ ๕ และการเลิกใช้ปุ๋ยเคมีก็จะเพิ่มความสูญเสียอีกราวร้อยละ ๕ อย่างไม่ต้องสงสัย

           นั่นคือถ้ามีการลดปริมาณน้ำขังในนาข้าว และเลิกใช้ปุ๋ยเคมีตลอดจนยาฆ่าแมลง ซึ่งสนับสนุนให้ใช้โดยสหกรณ์การเกษตรแล้วละก็ ความสูญเสีย โดยเฉลี่ยในในปีแรกจะตกประมาณร้อยละ ๑๐ พลังแห่งการฟื้นตัวของธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ และหลังจากการสูญเสียในระยะเริ่มแรกนี้ ผมเชื่อว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น และค่อย ๆ ก้าวหน้าพ้นระดับเดิมเสียอีก

           เมื่อผมทำงานอยู่ที่สถานีวิจัยในจังหวัดโคชิ ผมได้ทดลองวิธีการป้องกันหนอนกอข้าว (stem borers) แมลงเหล่านี้เจาะลำต้นข้าวและอยู่อาศัยในนั้น ทำให้ลำต้นกลายเป็นสีขาวและเฉาตาย วิธีประเมินความเสียหายนั้นทำได้ง่าย ๆ คุณนับจำนวนต้นข้าวที่กลายเป็นสีขาวว่ามีอยู่เท่าไหร่ ในจำนวนข้าว ๑๐๐ ต้นประมาณร้อยละ ๑๐-๒๐ ของมันจะกลายเป็นสีขาว ในกรณีที่รุนแรง มองดูเหมือนว่าต้นข้าวจะเสียหายหมดทั้งแปลง แต่ความเสียหายที่แท้จริงจะประมาณร้อยละ ๓๐

           ความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสียเช่นนี้ ผมใช้วิธีพ่นยาฆ่าแมลงเพื่อฆ่าหนอนกอข้าวในที่นาแปลงหนึ่ง ส่วนนาอีกแปลงจะปล่อยไว้เช่นนั้น เมือมาคำนวณผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ปรากฏว่านาแปลงที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงที่มีลำต้นเฉาอยู่เป็นจำนวนมากกลับมีผลผลิตสูงกว่า ครั้งแรกผมแทบไม่เชื่อตัวเอง และคิดว่ามันเป็นความผิดพลาดของการทดลอง แต่ข้อมูลที่เก็บได้นั้นถูกต้องแน่นอน ดังนั้นผมจึงทำการทดลองต่อ

           สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อหนอนกอข้าวทำลายต้นข้าวที่อ่อนแอ ทำให้ความหนาแน่นของต้นข้าวลดน้อยลง การเฉาตายของต้นข้าวทำให้เกิดที่ว่างมากขึ้นสำหรับข้าวที่เหลือ ด้วยเหตุนี้ แสงแดดจึงสามารถส่องลงไปจนถึงใบที่อยู่ต่ำสุด ผลก็คือต้นข้าวที่เหลือเติบโตแข็งแรงกว่าเก่า แตกต่างมากขึ้น และให้เมล็ดข้าวมากกว่าตอนที่ต้นข้าวยังหนาแน่น เมื่อต้นข้าวขึ้นอย่างหนาแน่นมาก และแมลงไม่ได้รบกวนทำให้ต้นข้าวดูอุดมสมบูรณ์ดี แต่ในหลายกรณีการเก็บเกี่ยวจะให้ผลต่ำกว่า

           ถ้าอ่านรายงานการวิจัยหลาย ๆ ชิ้นของสถานีวิจัยทางการเกษตร คุณจะได้เห็นบันทึกผลการใช้ยาพ่นสารเคมีแต่ละชนิด แต่โดยทั่วไปมักไม่รู้กันว่า รายงานดังกล่าวจะบันทึกผลการใช้ไว้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น แน่นอนล่ะ ไม่ใช่ความจงใจที่จะปิดบังอะไรไว้ แต่เมื่อผลการใช้เหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์เพอการโฆษณาโดยบริษัทผลิตสารเคมีเหล่านั้น ก็ดูเหมือนว่าข้อมูลที่ขัดแย้งกันจะถูกปิดบังไม่เปิดเผยออกมา ผลลัพธ์ที่แสดงปริมาณผลผลิตต่ำดังที่เกิดขึ้นในการทดลองเกี่ยวกับหนอนกอข้าวนั้น ถูกคัดออกไปด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นการทดลองที่ให้ผลขัดแย้งกัน และไม่ได้รับความใส่ใจ แน่นอนที่ย่อมจะมีกรณีที่แมลงถูกกำจัดแล้วผลผลิตมีปริมาณสูงขึ้น แต่ก็มีกรณีที่ผลผลิตลดต่ำลงด้วยเช่นกัน รายงานเกี่ยวกับผลทดลองประการหลังมักจะไม่ค่อยได้ปรากฏออกมาทางสิ่งตีพิมพ์

           ในบรรดาสารเคมีเกี่ยวกับการเกษตร ยาปราบวัชพืชดูจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่จะยับยั้งเกษตรกรไม่ให้ใช้ นับตั้งแต่อดีตมาเกษตรกรต้องประสบความยุ่งยากกับสิ่งที่เรียกว่า "การทำสงครามกับวัชพืช" การไถ การพรวน และแบบแผนในการปักดำนั้น ทั้งหมดล้วนเป็นไปเพื่อกำจัดวัชพืช ก่อนที่จะมีการคิดค้นยาปราบวัชพืช เกษตรกรต้องเดินเป็นระยะทางหลายไมล์ตามที่นาที่มีน้ำท่วมขังในแต่ละฤดูกาล เข็นเครื่องมือตัดหญ้าขึ้น ๆ ลง ๆ ไปตามแนวร่อง หรือใช้วิธีถอนวัชพืชด้วยมือ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ง่ายว่า เหตุใดสารเคมีเหล่านี้จึงได้รับการยอมรับราวกับของขวัญที่สวรรค์ประทานมาให้ จากการใช้ฟาง และพืชคลุมดิน ตลอดจนการปล่อยให้น้ำขังในนาข้าวเพียงชั่วคราว ผมได้พบวิธีง่าย ๆ ในการควบคุมวัชพืช โดยไม่ต้องทนตรากตรำถอนวัชพืชหรือใช้สารเคมีเลย

มดเอ๊กซ:

๒.๙
ข้อจำกัดของวิธีการทางวิทยาศาสตร์


                ก่อนที่นักวิจัยจะเป็นนักวิจัย เขาควรเป็นนักปรัชญาเสียก่อน เขาควรจะได้พิจารณาว่า อะไรคือเป้าหมายของมนุษย์ อะไรคือสิ่งที่มนุษยชาติควรสร้างสรรค์ขึ้นมา แพทย์ก็ควรตัดสินใจในระดับพื้นฐานให้ได้เสียก่อนว่า อะไรที่เป็นปัจจัยให้แก่การดำรงชีวิตของมนุษย์

           ในการประยุกต์ทฤษฎีของผมเข้ากับการทำเกษตรกรรม ผมได้ทดลองปลูกพืชอยู่หลายวิธี ซึ่งล้วนอิงกับความคิดที่จะพัฒนาวิธีการที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ผมได้ทำโดยการลดทอนวิธีการทางการเกษตรที่ไม่จำเป็นลงเสีย

           ในด้านหนึ่งเกษตรกรรมวิทยาศาสตร์แผนใหม่ไม่มีทัศนวิสัยเช่นนี้ การวิจัยเคลื่อนไปอย่างไร้เป้าหมาย นักวิจัยแต่ละคนจะมองเพียงเหตุปัจจัยเดียวของกระบวนแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติอันไม่สิ้นสุด ที่มีผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต ยิ่งกว่านั้น เหตุปัจจัยของธรรมชาติยังมีความเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด

           แม้ว่าจะเป็นที่นาแปลงเดิม เกษตรกรก็จะปลูกพืชในแต่ละปีต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงด้านอากาศ ประชากรของแมลง สภาพของดินและเหตุปัจจัยทางธรรมชาติอื่น ๆ ธรรมชาติในทุกหนแห่งจะมีความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งเสมอ เงื่อนไขต่าง ๆ ไม่มีลักษณะคงที่หรือเหมือนกันเลย ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบระหว่างปีใด

           การวิจัยแบบสมัยใหม่จะแบ่งแยกธรรมชาติออกเป็นส่วนเล็กส่วนน้อย แล้วทำการทดลองซึ่งไม่มีความละม้ายเหมือนทั้งในแง่ของกฎธรรมชาติ หรือประสบการณ์ทางการปฏิบัติเลย ผลของมันถูกกำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกของการวิจัย มากกว่าจะเป็นไปตามความจำเป็นของเกษตรกร และการคิดว่าข้อสรุปดังกล่าวสามารถนำไปใช้ไนท้องนาอย่างมีความสำเร็จเป็นนิจสินนั้น ถือว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง

           เมื่อเร็ว ๆ นี้ศาสตราจารย์ ทซึโนะ แห่งมหาวิทยาลัยอิไฮมิ ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างระบบเมตาบอลิซึม* ของพืชกับผลผลิตของข้าวไว้อย่างยืดยาว ศาสตราจารย์ผู้นี้มักจะแวะมาเยี่ยมที่นาของผม ท่านจะขุดดินลึกลงไปสัก ๒-๓ ฟุตเพื่อตรวจดูดิน บางที่ก็พานักศึกษามาวัดมุมที่แสงอาทิตย์ตกลง และร่มเงา และอะไรต่ออะไรอีกมาก นอกจากนี้ก็เก็บตัวอย่างพืชกลับไปยังห้องทดลองเพื่อจำแนกแยกแยะดู ผมมักจะถามท่านว่า เมื่อท่านกลับไป ท่านจะทดลองการหว่านเมล็ดโดยตรงลงไปในที่นาที่ไม่ไถพรวนหรือเปล่า" ท่านจะตอบหัวเราะ ๆ ว่า "ไม่หรอก ผมปล่อยการปฏิบัติเป็นหน้าที่ของคุณ ส่วนผมจะทุ่มเทให้กับการวิจัย"

           ดังนั้นทุกอย่างก็จึงเป็นเช่นนี้ คุณศึกษาถึงหน้าที่ของระบบเมตาบอลิซึมของพืช และความสามารถในการดูดซึมสารอาหารจากดิน แล้วเขียนเป็นตำราจากนั้นก็จะได้รับปริญญาเอกในสาขาวิทยาศาสตร์ทางการเกษตร แต่อย่าถามว่าทฤษฎีเกี่ยวกับการดูดซึมนั้นสอดคล้องกับผลผลิตหรือไม่

           แม้คุณจะสามารถอธิบายได้ว่าระบบเมตาบอลิซึมมีผลต่อการออกรวงของใบบนสุดได้อย่างไร เมื่ออุณหภูมิโดยเฉลี่ยเท่ากับ ๘๔ องศาฟาเรนไฮต์ แต่มันก็ยังมีสถานที่หลายแห่งซึ่งอุณหภูมิไม่ถึง ๘๔ องศา และถ้าอุณหภูมิในปีนี้ที่อิไฮมิเป็น ๘๔ องศา ปีหน้าอุณหภูมิอาจจะเหลือเพียง ๗๕ องศาเท่านั้นก็ได้ การกล่าวถึงการเพิ่มเมตาบอลิซึมอย่างโดด ๆ ว่าจะช่วยเพิ่มคาร์โบไฮเดรทและทำให้ผลผลิตสูงขึ้นนั้นเป็นความเข้าใจผิด ภูมิศาสตร์และผังภูมิของที่ดิน สภาพของที่ดิน โครงสร้างของดิน เนื้อดิน การระบายน้ำ การรับแสง ความสัมพันธ์ของแมลง ชนิดของเมล็ดพันธุ์พืชที่ใช้ วิธีการในการเพาะปลูก ซึ่งล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดความแตกต่างกันอย่างไม่สิ้นสุด ทั้งหมดนี้ล้วนต้องนำมาพิจารณาทั้งสิ้น วิธีการทดลองแบบวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถนำเหตุปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเหล่านี้มาร่วมพิจารณาได้

           ทุกวันนี้คุณคงจะได้ยินการพูดถึงผลประโยชน์จาก "ขบวนการข้าวพันธุ์ดีและ "การปฏิวัติเขียว" อยู่บ่อย ๆ เพราะวิธีการเหล่านี้ล้วนขึ้นอยู่กับพันธุ์ข้าว "ปรับปรุง" ที่อ่อนแอ จึงจำเป็นที่เกษตรกรต้องใช้สารเคมี และยาฆ่าแมลง ๘-๑๐ ครั้งในระหว่างฤดูเพาะปลูก เพียงชั่วเวลาอันสั้น อินทรีย์วัตถุและจุลินทรีย์ในดินจะถูกทำลายหมดเกลี้ยง อายุของดินก็ถูกบั่นทอนไปด้วย และพืชผลก็ต้องพึ่งพิงสารอาหารจากภายนอกในรูปของปุ๋ยเคมี

           ดูเหมือนว่าทุกอย่างดีขึ้นตั้งแต่เกษตรกรเริ่มหันมาใช้เทคนิคแบบ "วิทยาศาสตร์" แต่นี่มิได้หมายความว่าความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติโดยตัวมันเองไม่เพียงพอ จึงต้องอาศัยวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย แต่หมายความว่าการช่วยเหลือจากวิทยาศาสตร์กลายเป็นสิ่งจำเป็นก็เพราะว่าความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติได้ถูกทำลายไปต่างหาก

           การใช้ฟางคลุมพื้นที่ ปลูกพืชคลุมดิน และนำอินทรีย์วัตถุที่เหลือใช้ใส่ลงในดิน จะช่วยให้ที่นาค่อย ๆ มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการปลูกข้าวและธัญพืชฤดูหนาวปีแล้วปีเล่าในผืนนาผืนเดิม และเกษตรกรรมธรรมชาติจะช่วยให้ที่นาที่เสียหายจากการเพาะปลูก หรือสารเคมีทางการเกษตรสามารถฟื้นตัวขึ้นใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ

 

--------------------------------------------------------------------------------

* เมตาบอลิซึม (metabolism) มาจากคำกรีกว่า metabole แปลว่า "การเปลี่ยนแปลง" ซึ่งหมายกึงผลรวมของการเปลี่ยนแปลงทางเคมีต่าง ๆ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นภายในหน่วยชีวิต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในเซลซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมี เหล่านี้จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ได้

http://olddreamz.com/bookshelf/onestraw/onestraw.html

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version