หมวดหมู่ คอลัมน์ มองอย่างพุทธ บทความนี้โพสใน วันพุธที่ 4 สิงหาคม 2010 เวลา 17:09 น.
มติชน ฉบับเดือน กรกฎาคม 2553
เมื่อสองเดือนที่แล้วมีรายงานข่าวว่าศาลเกาหลีใต้ได้ตัดสินจำคุกสามีภรรยาคู่หนึ่งเป็นเวลาสองปี เนื่องจากทิ้งให้ลูกสาววัยสามเดือนอดอาหารจนตาย
ทารกที่น่าสงสารคนนี้มิได้ถูกทิ้งที่กองขยะอย่างที่มักจะเป็นข่าว หากถูกปล่อยไว้ที่บ้านของเธอเอง ส่วนคนที่หายไปจากบ้านคือผู้ที่เป็นพ่อแม่ ทั้งสองคนไปขลุกอยู่ที่ร้านอินเตอร์ทั้งวันเนื่องจากติดเกมอย่างหนัก รายงานข่าวไม่ได้แจ้งว่าทั้งสองมีเวลาไปทำมาหากินหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือทารกน้อยได้รับอาหารเพียงวันละมื้อเท่านั้น ซึ่งก็คงเป็นช่วงที่ทั้งสองกลับไปนอนบ้าน
ผู้เป็นพ่อนั้นมิใช่วัยรุ่น หากเป็นผู้ใหญ่วัย 41 ปี ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ เกมออนไลน์ที่เขาและภรรยาวัย 25 ปี ติดหนักจนโงหัวไม่ขึ้น
มิใช่เกมบู๊ล้างผลาญเต็มไปด้วยความรุนแรง หากเป็น เกมชื่อ “พริอุส” ซึ่งผู้เล่นจะต้องเพียรพยายามช่วยเหลือเด็กหญิงนาม “อะนิเมะ”
ให้สามารถฟื้นฟูความทรงจำและพัฒนาอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ของตนเอง
ใครจะคาดคิดว่า ขณะที่สามีภรรยาคู่นี้เอาจริงเอาจังกับการช่วยเด็กหญิงในจินตนาการ แต่กลับละทิ้งลูกน้อยของตัว ซึ่งมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานเนื่องจากคลอดก่อนกำหนด เท่านั้นยังไม่พอเมื่อกลับมาบ้าน ทั้งสองยังตีลูกน้อยของตัวด้วย
ข่าวนี้ตอกย้ำถึงอานุภาพของเกมออนไลน์ ซึ่งสามารถสะกดผู้คนให้ลุ่มหลงและเสพติดอย่างหนัก จนลืมได้แม้กระทั่งลูกตัวเอง
เกมออนไลน์หากเสพติดเมื่อใด ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งของตนเองและผู้อื่น
เมื่อปีที่แล้วก็มีข่าวว่า หนุ่มเกาหลีใต้ผู้หนึ่งติดเกมออนไลน์อย่างหนัก จนไม่สนใจการงาน ในที่สุดก็ถูกไล่ออกจากงาน แทนที่จะเสียใจ เขากลับดีใจที่ได้เล่นเกมเต็มที่ คราวนี้เขาขลุกอยู่แต่ในห้องเล่นเกมทั้งวันทั้งคืนไม่ได้หลับไม่ได้นอน อาหารก็กินหน้าจอ
คอมพิวเตอร์ หลังจากเล่นเกมแบบไม่หยุดติดต่อกันถึง 36 ชั่วโมง ร่างกายเขาก็ทนไม่ไหว ถึงกับช็อคและเสียชีวิตคาแป้น
เสน่ห์อย่างหนึ่งของเกมออนไลน์คือให้ความตื่นเต้น เพราะเต็มไปด้วยสิ่งท้าทายที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากเอาชนะ หากแพ้ก็อยากแก้มือเพื่อเป็นผู้ชนะให้ได้ ถ้าชนะก็ดีใจ อยากเล่นต่อเพราะติดใจในชัยชนะ (และรางวัลที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นคะแนนหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ) นี้คือเสน่ห์อย่างเดียวกับที่ทำให้คนติดการพนัน เป็นแต่ว่ารางวัลที่ได้จากการพนันนั้นสามารถเอาไปซื้อความสุข
อย่างอื่นได้อีกเพราะเป็นเงินจริง ๆ
แต่สิ่งหนึ่งที่การพนันไม่สามารถให้ได้ ก็คือความรู้สึกมีอำนาจมากกว่าเดิม เกมออนไลน์ได้สร้างโลกเสมือนจริงที่ผู้เล่นมีความสามารถนานัปการ ซึ่งสามารถเพิ่มพูนได้เรื่อย ๆ จนกลายเป็นยอดมนุษย์ มีอำนาจควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย ซึ่งมิอาจทำได้ใน
โลกแห่งความเป็นจริง มันยังทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่าเป็นพระเอก หรือวีรชนเพราะได้ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก หรือปราบปรามศัตรูผู้หมายทำลายโลก ความรู้สึกอย่างนี้มีความหมายต่อผู้เล่นมาก เพราะไม่อาจหาได้ในชีวิตจริง ใคร ๆ ก็อยากเป็นคนเก่ง เป็นพระเอกนางเอก
หรือวีรชนทั้งนั้น ในอดีตคนส่วนใหญ่ทำได้อย่างมากก็แค่ฝันกลางวัน แต่เกมออนไลน์ได้สร้างโลกเสมือนจริงที่ตอบสนองความต้องการดังกล่าว ทำให้ความรู้สึกว่า “กูแน่”นั้นดูเข้มข้นสมจริงยิ่งกว่าเดิม สำหรับคนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้แพ้ คนไม่เก่ง ไร้อำนาจในชีวิตจริงอะไรจะทำให้มีความสุขและชวนลุ่มหลงเท่ากับการหลุดเข้าไปในโลกแบบนี้
พูดง่าย ๆ เสน่ห์ที่สำคัญที่สุดของเกมออนไลน์ ก็คือการสนองและปรนเปรออัตตาของผู้เล่น ทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวยหรือมีชีวิตชีวาขึ้นมา (ซึ่งสัมพันธ์กับสารเคมีบางอย่างที่หลั่งออกมาด้วย) ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขันกันอย่างรุนแรง คนส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นผู้ชนะ ขณะที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเป็นผู้แพ้ ไร้ความสามารถ ไม่มีน้ำยา (ที่จริงแค่รู้สึกว่าเป็นคนธรรมดาก็ยากที่คนสมัยนี้จะรับได้
เพราะถูกปลูกฝังว่าชีวิตนี้จะมีคุณค่า ก็ต่อเมื่อเป็นผู้ชนะหรือคนเก่งเท่านั้น)
ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจ ที่มีผู้คนเป็นอันมากจมหายเข้าไปในโลกเสมือนผ่านเกมออนไลน์ จนลืมโลกแห่งความเป็นจริง หลายคนเพลินกับการเป็นวีรบุรุษช่วยเด็กที่น่าสงสารในโลกเสมือนจริง จนลืมลูกน้อยของตัวที่บ้านไป ในที่สุดจึงกลายเป็นผู้ร้ายในโลกแห่งความเป็นจริง ดังสามีภรรยาในเรื่องข้างต้น
เกมออนไลน์เมื่อเล่นมาก ๆ ย่อมทำให้ผู้คนลืมตัว และเมื่อลืมตัวแล้ว ก็สามารถลืมทุกอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นลูกเมียพ่อแม่หรือหน้าที่ความรับผิดชอบ ทำให้เกิดความเสียหายตามมามากมาย แต่คนเราไม่ได้ลืมตัวเพราะเกมออนไลน์เท่านั้น มีอีกมากมายที่ทำให้เราลืมตัวได้ แต่ไหนแต่ไรมาสิ่งที่ทำให้ลืมตัวมีชื่อเรียกรวม ๆ ว่า “อบายมุข” พุทธศาสนาได้จำแนกออกเป็น 6 อย่าง คือสุรายาเสพติดการพนัน การเที่ยวกลางคืน การเที่ยวดูการละเล่น การคบคนชั่ว และความเกียจคร้าน แต่ในปัจจุบันการจำแนกเท่านี้ ย่อมไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะช่องทางแห่งความเสื่อม อันเนื่องจากความลืมตัวนั้นได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น นอกจากเกมออนไลน์แล้ว โทรทัศน์ภาพยนตร์ หรือแม้แต่การช็อปปิ้งก็สามารถทำให้เกิดการเสพติดจนลืมตัวได้
ทุกวันนี้สำหรับคนจำนวนไม่น้อย การช็อปปิ้งเป็นมากกว่ากิจวัตร เพราะกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว เลิกเรียน
หรือเลิกงานเมื่อไร เป็นต้องไปเที่ยวห้าง มิใช่เพื่อเสพสิ่งปรนเปรอทางผัสสะทั้งห้า หรือสนองความอยากทางกามเท่านั้น หากยังเพราะ
รู้สึกมีอำนาจเมื่อได้ซื้อสิ่งของตามใจนึกและได้รับบริการจากผู้คน ดังนั้นเมื่อไปเที่ยวห้างแล้วไม่ซื้ออะไรเลย (ไม่ว่าสินค้าหรือบริการ)
ก็เหมือนกับไม่ได้ไป แม้จะไม่มีเงินก็ต้องดิ้นรนหาบัตรเครดิตมาจนได้ ยิ่งจ่ายเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุข และยิ่งมีความสุขก็ยิ่งจ่ายจนหนี้ล้นพ้นตัว ของที่ซื้อมานั้นจำนวนมากอาจจะไม่ได้ใช้เลย แต่ก็ยังซื้ออีก เพราะความสุขอยู่ที่การซื้อและได้มา หาได้อยู่ที่การใช้ไม่
ถ้าถามว่านักช็อปปิ้งเสพติดอะไร ก็ต้องตอบว่าเสพติดประสบการณ์การช็อปปิ้ง ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงทุรนทุราย กระสับกระส่าย
เป็นอย่างยิ่งเมื่อคนเสื้อแดงยึดราชประสงค์ เพราะทำให้ไม่สามารถไปช็อปปิ้งในศูนย์การค้าชื่อดังบริเวณนั้น นานถึงเดือนครึ่ง
กระแสบริโภคนิยม ดูเหมือนจะทำให้เรามีเสรีภาพมากขึ้น ในการเสพและแสวงหาความสุข แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือผู้คนมีอิสรภาพในทางจิตใจน้อยลง เพราะตกเป็นทาสของอบายมุขทั้งเก่าและใหม่มากขึ้น ชีวิตจึงติดอยู่ในกับดักแห่งความทุกข์ ยากจะไถ่ถอนออกมา
ได้ แม้จะได้รับความสุขอยู่บ้างจากการเสพวัตถุ แต่ก็ชโลมใจชั่วคราว เพราะเป็นสุขที่เจือด้วยทุกข์ และทำให้ลุ่มหลงหรือลืมตัวหนักขึ้น
หากปรารถนาชีวิตที่เป็นสุขอย่างแท้จริง จะต้องพยายามยกจิตให้เป็นอิสระจากอบายมุขทั้งหลาย รวมทั้งพึ่งพาความสุขจากวัตถุให้น้อยลง เริ่มต้นด้วยการลดการเสพจนสามารถเลิกได้ในที่สุด ตั้งแต่อบายมุขอย่างหยาบ (สุรา ยาเสพติด การพนัน สถานเริงรมย์) จนถึงอบายมุขอย่างละเอียด (เกมออนไลน์ การช็อปปิ้ง ละครโทรทัศน์) ขณะเดียวกันก็มีความสุขอย่างประณีตมาทดแทน เช่น สุขจากสมาธิภาวนา สุขจากการทำบุญสร้างกุศล สุขจากการบำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น ยิ่งได้สัมผัสกับความสุขประณีตมากเท่าไร ก็ยิ่งเห็นชัดว่าสุขจากอบายมุขและวัตถุนั้นเต็มไปด้วยโทษ ไม่น่าพัวพันลุ่มหลง หากทำได้มากกว่านั้นคือฝึกฝนจิตใจให้รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ
ก็จะไม่ถูกกิเลสครอบงำจนลืมตัว หรือมัวแต่ปรนเปรออัตตาจนถลำสู่ความเสื่อม สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ปัญญาที่ตระหนักชัดว่าความสุขที่แท้อยู่ที่ใจซึ่งโปร่งโล่ง สงบเย็น เป็นอิสระ ไม่หลงใหลติดยึดในตัวตน ความตระหนักชัดดังกล่าว จะเป็นทั้งฐานที่มั่นคงและพลังขับเคลื่อน ให้ชีวิตเป็นอิสระอย่างแท้จริง
วิธีการดังกล่าวพุทธศาสนาเรียกว่าไตรสิกขา หรือการฝึกฝนพัฒนาตนอย่างเป็นระบบครบถ้วนทั้งสามด้าน คือด้านพฤติกรรม (ศีล) ด้านอารมณ์(สมาธิ) และด้านความเข้าใจ(ปัญญา) ไตรสิกขามิใช่สิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่ลุ่มหลงในวัตถุเท่านั้น หากยังจำเป็นสำหรับทุกคนที่ปรารถนาชีวิตที่ดีงาม ดังนั้นจึงควรทำเป็นประจำในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตามในชีวิตประจำวันนั้น คนทั่วไปมักทำได้ไม่ต่อเนื่องเพราะมีภารกิจรัดตัว ดังนั้นจึงควรจัดหาเวลาเพื่อการฝึกฝนพัฒนาตน
อย่างจริงจัง ในประเพณีของพุทธศาสนา ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการฝึกฝนพัฒนาตนก็คือ ช่วงเข้าพรรษา ในช่วงสามเดือนดังกล่าวกุลบุตรจึงนิยมบวชพระเพื่อศึกษาปฏิบัติธรรม ส่วนผู้ที่ยังครองเพศคฤหัสถ์อยู่ ก็เข้าวัดถือศีล บำเพ็ญภาวนา ตลอดพรรษาเช่นกัน
หรืออย่างน้อยก็ทุกวันพระ
ในอดีตการถือศีลช่วงเข้าพรรษา มักเป็นการถือศีลตามประเพณี เช่น ถือศีล 5 หรือศีล 8 ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อการการละอบายมุขหรือ
ห่างไกลจากกามสุข (เช่น ถือพรหมจรรย์ ไม่กินอาหารหลังเที่ยง ไม่ดูหนังฟังเพลงหรือละเล่น) แต่ทุกวันนี้มีอบายมุขอย่างใหม่เข้ามาพัวพันในชีวิตของเรามากขึ้น จึงควรใช้ช่วงเวลาดังกล่าว ในการลดละอบายมุขอย่างใหม่เหล่านี้ด้วย เช่น ลดการช็อปปิ้ง พักการเล่นเกมออนไลน์ ชมรายการบันเทิงทางโทรทัศน์ให้น้อยลง หรือมีวันปลอดความบันเทิงอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยอาจทำเป็นส่วนตัวหรือร่วมกันทำในครอบครัว ใครที่อยากละเลิกนิสัยไม่ดีบางประการ เช่น ตื่นสาย ติดกาแฟ ชอบนินทา ขี้บ่น ก็น่าจะทำในช่วงนี้ด้วย
เช่นกัน
นอกจากการลดละอบายมุขและพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นโทษแล้ว ทุกวันควรมีเวลาเจริญสมาธิ ทำจิตให้สงบผ่องใสอย่างน้อยวันละ
5-10 นาที หรือสวดมนต์ทบทวนพุทธวัจนะทุกคืนก่อนนอน กิจกรรมเหล่านี้หากทำร่วมกันเป็นกลุ่ม (หรือผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์
ก็จะช่วยให้เกิดกำลังใจและความมุ่งมั่นที่จะทำต่อเนื่องทั้งพรรษา
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตน แต่จะดียิ่งขึ้นหากมีการบำเพ็ญประโยชน์ท่านให้มากขึ้นด้วย เช่นบริจาคเงินเพื่อสนับสนุน
กิจกรรมที่มีประโยชน์ หรือเสนอตัวเป็นจิตอาสา ช่วยเหลือส่วนรวมหรือเกื้อกูลผู้ตกทุกข์ได้ยาก อันที่จริงกิจกรรมดังกล่าวไม่เพียงช่วยให้ผู้อื่นมีความสุขเท่านั้น หากยังนำความสุขมาสู่ผู้กระทำด้วย ก่อให้เกิดความปลื้มปีติและภาคภูมิใจ หลายคนได้พบว่าชีวิตที่เคยว่างเปล่านั้นได้รับการเติมเต็ม รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะรู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่า ผู้คนจึงพยายามไขว่คว้าความสุขทางวัตถุมาชดเชย หรือไม่ก็หนีปัญหาด้วยการไปหมกมุ่นกับอบายมุข รวมทั้งจมอยู่ในโลกเสมือนจากเกมออนไลน์ แต่เมื่อใดก็ตามที่จิตใจไม่รู้สึกว่างเปล่าอีกต่อไป สิ่งยั่วยวนเหล่านั้นก็จะไร้ความหมาย
หากชาวพุทธร่วมกันทำเทศกาลเข้าพรรษา ให้มีความหมายต่อการฝึกฝนพัฒนาตน โดยประยุกต์ให้สอดคล้องกับยุคสมัยแล้ว ไม่เพียง
ชีวิตจะบังเกิดความสงบเย็นและเป็นอิสระเท่านั้น แต่ยังจะช่วยให้สังคมไทยน่าอยู่กว่านี้มาก
โดย…..พระไพศาล วิสาโล
http://www.budnet.org/article/?p=462