ผู้เขียน หัวข้อ: เต๋าแห่งฟิสิกส์ : บทที่ 2 การรู้และการเห็น  (อ่าน 2131 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



บทที่ 2 การรู้และการเห็น


จากอสัตย์จงนำข้าฯสู่สัจจะ จากความมืดจงนำข้าฯสู่ความสว่าง จากความตายจงนำข้าฯสู่อมตะ อุปนิษัท ก่อนที่เราจะศึกษาความสอดคล้องระหว่างวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่และศาสนาตะวันออก เราจะต้องพิจารณาปัญหาว่า เราจะเปรียบเทียบอย่างไรระหว่างวิทยาศาสตร์ซึ่งถูกอธิบายด้วยภาษาทางคณิตศาสตร์อันสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง กับวินัยปฏิบัติในทางศาสนาซึ่งมีพื้นฐานอยู่ที่การภาวนา และยืนยันว่า แท้จริงความรู้แจ้งในภายในนั้นไม่อาจอธิบายได้ สิ่งที่จะนำมาเปรียบเทียบในที่นี้คือข้อความซึ่งกล่าวโดยนักวิทยาศาสตร์และนักปราชญ์ของตะวันออกเกี่ยวกับความรู้ของตน เพื่อที่จะให้การเปรียบเทียบนี้มีประสิทธิภาพ ประการแรก เราต้องถามตนเองก่อนว่า “ความรู้” ชนิดใดที่เรากำลังพูดถึง พระภิกษุจากนครวัดหรือเกียวโตพูดถึง “ความรู้” ชนิดเดียวกับที่นักฟิสิกส์จากออกซฟอร์ดหรือเบิร์กเคยพูดถึงหรือไม่ ประการที่สอง ข้อความหรือประโยคชนิดใดที่เรากำลังศึกษาเปรียบเทียบ เราจะเลือกเอาสิ่งใดจากข้อมูลของการทดลอง สมการ หรือทฤษฎีในด้านหนึ่ง และจากคัมภีร์ทางศาสนา เทพปกรณัม (myths)* โบราณ หรือตำราทางปรัชญาในอีกด้านหนึ่ง บทนี้มุ่งที่จะทำความกระจ่างในประเด็นทั้งสองนี้ คือ ธรรมชาติของความรู้ซึ่งเรากำลังพิจารณาและภาษาที่ใช้ในการอธิบายความรู้นั้น ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับกันว่า ความรู้ของมนุษย์นั้นมีสองลักษณะ คือ ความรู้ที่เกิดจากการคิดในแนวเหตุผล และความรู้ที่ผุดขึ้นในใจหรือญาณทัศน์ (rational and intuitive) ซึ่งเทียบได้กับวิทยาศาสตร์และศาสนาตามลำดับ ในตะวันตกความรู้ชนิดหลังถูกถือว่าด้อยกว่าความรู้ในเชิงเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ในตะวันออกความรู้นี้กลับตรงกันข้าม ความคิดของปราชญ์สองท่านของตะวันตกและตะวันออก ซึ่งแสดงออกในประโยคต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของความรู้สองลักษณะ โสเครติสของกรีกกล่าวประโยคซึ่งมีชื่อเสียงว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าไม่รู้อะไรเลย” และเหลาจื้อของจีนกล่าวว่า “การไม่รู้ว่าตนรู้อะไร เป็นการดีที่สุด” ในตะวันออกคุณค่าของความรู้ทั้งสองประการปรากฏชัดเจนในชื่อที่เรียก ตัวอย่างเช่น ในคัมภีร์อุปนิษัทกล่าวถึงความรู้อย่างสูงและความรู้สัมบูรณ์ หรือ “สมมติสัจจะ” และ “ปรมัตถสัจจะ” ในทางตรงกันข้ามปรัชญาจีนกลับสอนว่าความรู้ทั้งสองประการนั้นสนับสนุนซึ่งกันและกันซึ่งแสดงออกในคู่หยินและหยังอันเป็นพื้นฐานของความคิดจีน ดังนั้นปรัชญาเต๋าและขงจื้อจึงเกิดขึ้นในจีนยุคโบราณเพื่อรองรับความรู้ทั้งสองลักษณะไว้อย่างสอดคล้องกัน

2.1   ความรู้สัมพัทธ์
ความคิดเชิงเหตุผลได้มาจากประสบการณ์ซึ่งเราได้เกี่ยวข้องกับวัตถุ บุคคล หรือเหตุการณ์ในสภาพแวดล้อมประจำวัน เป็นฝักฝ่ายของปัญญาซึ่งทำงานในการจำแนก แบ่ง เปรียบเทียบ วัด และจัดหมวดหมู่สิ่งต่าง ๆ ลักษณะเช่นนี้จึง ก่อให้เกิดการแบ่งแยกในโลกของความคิด เกิดสิ่งตรงกันข้ามซึ่งต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเหตุที่ชาวพุทธเรียกความรู้ชนิดนี้ว่าความรู้สัมพัทธ์ การย่อสรุป (Abstraction) จึงเป็นลักษณะสำคัญของความรู้ชนิดนี้ เพราะว่าในการเปรียบเทียบ การจัดแบ่งหมวดหมู่ตามความแตกต่างที่สำคัญของรูปลักษณะโครงสร้างและปรากฏการณ์ต่าง ๆ รอบตัวเรานั้น เราไม่อาจจะนำเอาทุกลักษณะของสิ่งนั้นมาพิจารณาได้ แต่เราต้องเลือกเอาลักษณะที่สำคัญบางลักษณะเท่านั้น ดังนั้น เราได้สร้างแผนที่ของความจริงขึ้นในความคิดคำนึงของเรา โดยย่นย่อสิ่งต่าง ๆ ให้เหลือเพียงโครงร่างคร่าว ๆ ของมันเท่านั้น ความรู้ในเชิงเหตุผลจึงเป็นระบบของความคิดและสัญลักษณ์ที่ถูกย่นย่อสรุป มีลักษณะโครงสร้างแบบลำดับการณ์เชิงเส้นตรง ซึ่งเป็นแบบฉบับของความคิดและการพูดของเรา ในภาษาพูดส่วนใหญ่ โครงสร้างเชิงเส้นตรงเช่นนี้ แสดงออกอย่างชัดแจ้งโดยการใช้ตัวอักษร ซึ่งสื่อสารประสบการณ์และความคิดออกมาเป็นข้อความยาว ๆ ในทางตรงกันข้าม โลกธรรมชาติเป็นสิ่งหลากหลายและซับซ้อน โลกซึ่งกอปรด้วยมิติหลาย ๆ มิติ มิได้มีเส้นตรงหรือรูปร่างที่แน่นอนสม่ำเสมออย่างสมบูรณ์โลกซึ่งสิ่งต่าง ๆ มิได้ปรากฏเป็นลำดับ แต่ปรากฏพร้อม ๆ กัน โลกซึ่งวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่บอกเราว่า แม้อวกาศอันว่างเปล่าก็มีลักษณะโค้ง เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าระบบการย่อสรุปความคิดของเราไม่สามารถอธบายหรือเข้าใจความจริงนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ในการคิดเกี่ยวกับโลก เราต้องเผชิญกับปัญหาในลักษณะเดียวกันที่นักเขียนแผนที่เผชิญ เมื่อเขาจะเขียนแสดงผิวโค้งของโลกบนแผนที่แผ่นราบ เราคาดหวังได้แต่เพียงสิ่งที่ใกล้เคียงความจริงเท่านั้นในขบวนการดังกล่าว และดังนั้นความในเชิงเหตุผลทั้งหมดจึงอยู่ขอบเขตที่จำกัด อาณาเขตของความคิดในเชิงเหตุผล เป็นขอบเขตของวิทยาศาสตร์ซึ่งกอปรด้วยการวัดและกำหนดปริมาณ การจัดหมวดหมู่และวิเคราะห์ ข้อจำกัดของความรู้ใด ๆ ซึ่งได้มาโดยวิธีการเช่นนี้ปรากฏชัดเจนมากขึ้น ๆ ในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ ซึ่งได้แสดงให้เห็นดังคำกล่าวของเวอร์เนอร์ ไฮเซนเบิร์ก ว่า “คำพูดหรือความคิดที่กระจ่างชัดที่สุดก็มีขอบเขตการประยุกต์ใช้ได้อย่างจำกัด” (1)

2.2  นิ้วชี้ที่ดวงจันทร์หาใช่ดวงจันทร์ไม่
ผู้คนโดยมาก ยากที่จะตระหนักรู้อยู่ตลอดเวลาถึงข้อจำกัดและความเป็นสิ่งสัมพันธ์ของความรู้เชิงเหตุผล เนื่องจากการจัดฉวยเอาสิ่งที่เป็นตัวแทนของความจริงนั้นง่ายกว่าการจับฉวยเอาตัวความจริงมาก เราจึงมักจะสับสนเกี่ยวกับตัวแทนและความจริง และทึกทักเอาว่าความคิดและสัญลักษณ์ต่าง ๆ เป็นตัวความจริงศาสนาของตะวันออกมีเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งในการที่จะขจัดความสับสนอันนี้พวกนิกายเซนกล่าวว่า นิ้วที่ชี้ดวงจันทร์หาใช่ดวงจันทร์ไม่และจางจื้อกล่าวว่า ไซมีไว้สำหรับจับปลา แต่เมื่อได้ปลา คนก็ลืมไซ แร้วมีไว้สำหรับดักกระต่าย แต่เมื่อได้กระต่าย คนก็ลืมแร้ว คำพูดมีไว้ถ่ายทอดความคิด แต่เมื่อจับความคิดนั้นได้แล้ว คนก็ลืมคำพูด (2) ในตะวันตก อัลเฟรด คอร์เยฟซกี (Alfred Korzybski) นักภาษาศาสตร์ได้ชี้ประเด็นเดียวกันด้วยคำขวัญของเขาว่า “แผนที่มิใช่ตัวอาณาเขต” สิ่งที่นักปราชญ์ทางตะวันออกกล่าวถึงหรือสนใจ คือ ประสบการณ์โดยตรงแห่งสัจจะ ซึ่งล่วงพ้นทั้งความคิดและการรับรู้ในทางประสาทสัมผัส ในคัมภีร์อุปนิษัทกล่าวไว้ว่า สิ่งใดไร้ลักษณ์ ไร้สรรพสำเนียง สัมผัสมิได้ เป็นอมตะ สิ่งใดไร้รส ไร้กลิ่น ไม่เปลี่ยนแปร ไม่มีต้น ไม่มีปลาย ยิ่งใหญ่กว่ามหาราช คงสภาพอยู่นิรันดร์ เมื่อบุคคลหยั่งรู้สิ่งนั้น ย่อมรอดพ้นจากปากของมรณา (3) ชาวพุทธเรียกความรู้ซึ่งมาจากประสบการณ์เช่นนั้นว่า “ความรู้สัมบูรณ์” เพราะไม่ขึ้นกับการแบ่งแยก การย่อสรุป การจำแนกแจกแจงในทางปัญญา (ซึ่งเราก็ได้เห็นแล้วว่าเป็นความรู้สัมพัทธ์ และเป็นความรู้ซึ่งมาจากการประมาณ) ความรู้สัมบูรณ์เป็นประสบการณ์โดยตรงต่อ “ความเป็นเช่นนั้นเอง” (suchness) ซึ่งไม่มีการแบ่งแยก แตกต่าง ความเข้าใจอย่างสมบูรณ์ต่อความเป็นเช่นนั้นเองเป็นแกนสำคัญของศาสนาตะวันออกและของประสบการณ์ทางจิตวิญญาณในทุกสายวัฒนธรรม ศาสนาตะวันออกเน้นย้ำอยู่เสมอว่า สัจจะสูงสุดมิใช่วัตถุที่ตั้งแห่งการคิดคำนึงหรือการอรรถาธิบาย คำพูดมิอาจจะอธิบายถึงสัจจะได้ครบถ้วน ทั้งนี้ เพราะสัจจะนั้นอยู่เหนือการรับรู้ทางอายตนะ เหนือความนึกคิดซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทัศนะและคำพูด คัมภีร์อุปนิษัทกล่าวไว้ว่า ที่ซึ่งจักษุไม่อาจแลเห็น อธิบายไม่ได้ด้วยคำพูด จิตดำริไปไม่ถึง เราไม่อาจรู้ ไม่อาจเข้าใจ ใครจะสอนถึงมันได้อย่างไร (4)

2.3   เต๋าเตอจิง
เหลาจื้อเรียกสัจจะนี้ว่า “เต๋า” และบรรทัดแรกของคัมภีร์ เต๋าเตอจิง (Tao Te Ching) ของเหลาจื้อกล่าวไว้ว่า “เต๋าที่แสดงให้เห็นได้ มิใช่เต๋าอันเป็นนิรันดร์” ข้อเท็จจริงซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากหน้าหนังสือพิมพ์ที่ว่า มนุษยชาติมิได้มีปัญญามากขึ้น แต่อย่างใดตลอดเวลาสองพันปีที่ผ่านมา ซึ่งตรงกันข้ามกับความรู้เชิงเหตุผลที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างมากมาย เป็นสิ่งที่แสดงอย่างชัดเจนถึงการที่ไม่อาจถ่ายทอดความรู้สัมบูรณ์นั้นได้ด้วยคำพูด ดังที่จางจื้อกล่าวว่า “หาก (สัจจะ) เป็นสิ่งที่อธิบายได้ทุกคนก็คงจะบอกน้อง ๆ ของตัวแล้ว” (5) ดังนั้นความรู้สัมบูรณ์ จึงเป็นประสบการณ์แห่งสัจจะ ซึ่งนอกเหนือความคิดนึกโดยสิ้นเชิง เป็นประสบการณ์ซึ่งผุดโพลงขึ้นในสำนึกอันมิใช่สามัญ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าภาวะแห่ง “ฌาน” ภาวะดังกล่าวมีอยู่จริง ซึ่งได้รับการพิสูจน์ยืนยัน มิใช่แต่ในหมู่ศาสนิกของตะวันออกและตะวันตกเท่านั้น แต่ยังได้รับการชี้ชัดในการวิจัยทางจิตวิทยาด้วย ดังปรากฏในคำกล่าวของวิลเลียม เจมส์ว่า ความรับรู้สามัญของเรา ซึ่งเรียกกันว่าความรับรู้ในเหตุผล เป็นเพียงความรับรู้  ลักษณะหนึ่งเท่านั้น ยังมีความรับรู้อีกลักษณะหนึ่งซึ่งแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง  เป็นความรับรู้ซึ่งมีศักยภาพสูง แยกจากความรู้สามัญด้วยเพียงฉากกั้นที่บาง  ที่สุดเท่านั้นเอง (6)  ถึงแม้ว่านักฟิสิกส์จะสัมพันธ์กับความรู้เชิงเหตุผลมาก และศาสนิกจะสัมพันธ์กับญาณปัญญา ทว่าความรู้ทั้งสองลักษณะเกิดขึ้นในทั้งสองสาขา เราจะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเราตรวจสอบวิธีการได้มาและการแสดงออกซึ่งความรู้ทั้งในฟิสิกส์และในศาสนาตะวันออก

2.4   วิธีทางวิทยาศาสตร์
ในวิชาฟิสิกส์ความรู้ได้มาจากกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีสามขั้นตอน ขั้นตอนแรกเป็นการรวบรวมข้อเท็จจริงในการทดลองเกี่ยวกับปรากฏการณ์ซึ่งทำการศึกษา ขั้นตอนที่สองนำเอาข้อเท็จจริงจากการทดลองมาโยงเข้ากับคณิตศาสตร์ และสร้างเป็นโครงร่าง (scheme) ทางคณิตศาสตร์ขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงสัญลักษณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างกระชับและเที่ยงตรง โครงร่างนี้เรียกว่าแบบจำลอง (model) ทางคณิตศาสตร์ หรือหากว่ามันสื่อสารความเข้าใจได้มาก ก็จะเรียกว่า ทฤษฎี (theory) ทฤษฎีนี้ก็จะถูกใช้ในการทำนายผลของการทดลองอันต่อไป ซึ่งกระทำขึ้นเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ในแง่มุมต่าง ๆ ของทฤษฎีนั้น ในขั้นนี้นักฟิสิกส์อาจจะพึงพอใจเมื่อได้พบโครงร่างทางคณิตศาสตร์แล้ว และรู้วิธีที่จะใช้ทำนายการทดลองต่อ ๆ มา แต่กระนั้นก็ตาม เขาก็อาจจะต้องการที่จะแสดงผลของการทดลองของเขาแก่ผู้ที่มิใช่นักฟิสิกส์ ดังนั้นจึงต้องอธิบายมันในภาษาทั่ว ๆ ไป นั่นหมายความว่าเขาจะต้องสร้างแบบจำลองโดยอาศัยภาษาสามัญ ซึ่งจะอธิบายโครงร่างทางคณิตศาสตร์ของเขา แม้สำหรับนักฟิสิกส์เอง การสร้างแบบจำลองทางภาษาเช่นนั้น อันเป็นขั้นที่สามของการวิจัย จะเป็นบรรทัดฐานของความเข้าใจซึ่งเขาบรรลุถึง แน่นอนว่าในทางปฏิบัติ ขั้นตอนทั้งสามไม่ได้แยกจากกันอย่างสิ้นเชิง และไม่ได้เกิดตามลำดับเช่นนั้นเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น นักฟิสิกส์อาจจะคิดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ได้โดยอาศัยความเชื่อบางประการในทางปรัชญา ซึ่งเขาก็จะเชื่อในแนวคิดนั้น แม้ว่าจะมีการทดลองซึ่งแสดงผลในทางกันข้ามอยู่ก็ตาม ดังนั้นเขาจึงต้องพยายามดัดแปลงแบบจำลองของเขาให้ครอบคลุมถึงการทดลองใหม่ ๆ ดังกล่าวด้วย  แต่หากว่า ผลการทดลองยังคงขัดแย้งแบบจำลองของเขาเขาก็จะต้องทิ้งมันไป วิธีการสร้างทฤษฎีโดยอาศัยการทดลองเป็นพื้นฐานนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเราจะพบว่าในปรัชญาตะวันออกก็เป็นเช่นเดียวกันในทางตรงกันข้าม ปรัชญากรีกกลับมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป ถึงแม้ว่านักปรัชญากรีกหลายคนมีความคิดที่ลึกซึ้งมากเกี่ยวกับธรรมชาติ ซึ่งมักจะคล้ายคลึงเป็นอย่างยิ่งกับแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่ความแตกต่างอันสำคัญระหว่างวิทยาศาสตร์และปรัชญากรีกก็คือ ทัศนคติแห่งวิทยาศาสตร์ซึ่งถือการสังเกตเป็นหลัก อันเป็นสิ่งที่จิตใจแบบกรีกไม่คุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง ชาวกรีกสร้างแบบจำลองต่าง ๆ โดยอาศัยการคิดคำนึงเอาด้วยเหตุผลจากหลักการพื้นฐานหรือสัจพจน์บางประการ (deduction) มิใช่โดยการสรุปหลักการเอาจากสิ่งที่ถูกสังเกต (induction) ในทางตรงกันข้าม ศิลปะแห่งการคิดค้นหาความจริงเอาจากหลักเกณฑ์ทั่วไปของชาวกรีกนี้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับขั้นตอนที่ลองของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์คือการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่กระชับใจความสำคัญ ดังนั้นมันจึงเป็นส่วนสำคัญที่จำเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์ ความรู้และกิจกรรมต่าง ๆ ในเชิงเหตุผล เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทว่ามิใช่ทั้งหมด ส่วนที่เป็นเหตุผลในการวิจัยอาจจะเป็นสิ่งที่ไร้ค่าหากไม่ได้รับการเสริมประกอบด้วยส่วนที่เป็นญาณทัศน์ (intuition)   ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้น ญาณเช่นว่านี้มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด และมิใช่ขณะเมื่อนั่งคิดสมการที่โต๊ะทำงาน แต่มักจะเกิดขึ้นในขณะแห่งการพักผ่อนในอ่างอาบน้ำในระหว่างเดินเล่นอยู่ในป่าหรือบนหาดทรายในขณะแห่งการพักผ่อนเช่นนี้เอง หลังจากการคิดค้นอย่างหนัก จิตใจดูเหมือนจะเอาชนะอุปสรรคของความคิดได้ และญาณอันในกระจ่างเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งยังมีความปิติและรื่นเริงในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นอันมาก

2.5   ทุกสิ่งเป็นตัวเลข
อย่างไรก็ตาม ญาณดังกล่าวจะเป็นสิ่งไร้ค่าแก่วิชาฟิสิกส์ หากว่าไม่สามารถนำใปใช้สร้างสูตรทางคณิตศาสตร์ขึ้นและอธิบายเป็นภาษาสามัญได้ ลักษณะสำคัญของสูตรดังกล่าวก็คือการย่อสรุปดังที่ได้กล่าวแล้ว มันประกอบด้วยระบบของความคิดและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ก่อรูปขึ้นเป็นแผนที่ของความจริง แผนที่นี้แทนบางแง่มุมของความจริงเท่านั้น เราไม่อาจรู้ได้อย่างชัดเจนว่าความจริงคืออะไร เนื่องจากเรารวบรวมแผนที่ของเราทีละเล็กทีละน้อยตั้งแต่ในวัยเด็กโดยมิได้มีการวิเคราะห์อย่างจริงจัง ดังนั้นภาษาคำพูดของเราจึงไม่อาจระบุความหมายที่ชัดเจนได้ เมื่อเราได้ยินคำพูดสักคำหนึ่งซึ่งมักจะมีความหมายหลายประการส่วนมากมันจะผ่านเข้าไปในจิตใจของเราอย่างสลัว ๆ ไม่ชัดเจน และค้างอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ความที่ภาษาของเรามีความหมายกำกวมไม่ละเอียดชัดเจนนั้น จำเป็นสำหรับกวี ซึ่งรังสรรค์งานของเขาโดยอาศัยความหมายของภาษาที่แฝงฝังในจิตใต้สำนึก และสิ่งที่เกี่ยวโยงกับความหมายนั้นเป็นส่วนใหญ่ ในทางตรงกันข้ามวิทยาศาสตร์มุ่งที่จะจับฉวยภาษาที่มีความหมายชัดเจนและความเกี่ยวพันของภาษาที่ไม่กำกวม ดังนั้นจึงย่อสรุปภาษาอีกชั้นหนึ่ง โดยจำกัดความหมายของคำทำให้โครงสร้างของมันเป็นมาตรฐานเดียวกันโดยกฏของตรรกศาสตร์การย่อสรุปดังกล่าวถึงขึ้นสัมบูรณ์ในคณิตศาสตร์เมื่อคำพูดถูกแทนด้วยสัญลักษณ์และความเกี่ยวโยงระหว่างสัญลักษณ์ต่าง ๆ ถูกกำหนดอย่างชัดเจนตายตัว ในลักษณะเช่นนี้ นักวิทยาศาสตร์สามารถสรุปเอาข้อมูลต่าง ๆ ลงในสมการทางคณิตศาสตร์เพียงสมการเดียว กล่าวคือสรุปลงเป็นสัญลักษณ์บรรทัดเดียว ซึ่งหากจะอธิบายเป็นภาษาธรรมดาอาจใช้ความยาวหลายหน้ากระดาษ ทัศนะที่ว่าคณิตศาสตร์มิใช่อะไรอื่นนอกจากภาษาซึ่งย่นย่อสรุปและถูกอัดแน่นเท่านั้น ได้รับการท้าทายเช่นกัน โดยแท้จริงนักคณิตศาสตร์หลายคนเชื่อว่าคณิตศาสตร์มิใช่เพียงภาษาซึ่งใช้อธิบายธรรมชาติ หากทว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติเองแล้ว ผู้ริเริ่มความคิดนี้คือ ปิทากอรัส ( Pythagoras) ผู้ซึ่งกล่าวประโยคที่มีชื่อเสียงว่า “ทุกสิ่งเป็นตัวเลข” และได้พัฒนารหัสยลัทธิอันมีลักษณะพิเศษในเชิงคณิตศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้ง ปรัชญาของปิทากอรัสได้เสนอเหตุผลเชิงตรรกะเข้าสู่ขอบเขตของศาสนา จนพัฒนามาเป็นพื้นฐานที่มั่นคงของปรัชญาศาสนาตะวันตก เบอร์ทรันด์ รัสเซล กล่าวว่า การเชื่อมโยงเอาคณิตศาสตร์และเทวศาสตร์เข้าด้วย ซึ่งเริ่มขึ้นโดยปิทากอรัส  ได้เป็นลักษณะสำคัญของปรัชญาศาสนาในกรีก ในยุคกลางและในสมัยปัจจุบัน  เรื่อยมาจนถึงคานต์...ในเพลโต เซนต์ออกุสติน, โทมัส อควินา, เดคาร์ต, สปิโนชา  และเลียบนิซ มีการผสมผสานอย่างแนบแน่นระหว่างศาสนาและเหตุผล ระหว่าง  ศีลธรรมและตรรกะของสิ่งซึ่งเป็นนิรันดร ซึ่งมาจากปิทากอรัส และเป็นสิ่งที่แยก  เทวศาสตร์ของยุโรปที่เต็มด้วยเหตุผลความคิดนึก จากศาสนาของเอเชียซึ่งมี  ลักษณะตรงไปตรงมามากกว่า (7)

2.6   ตัวเลขที่คับแคบและอึดอัด
“ศาสนาของเอเชียซึ่งมีลักษณะตรงไปตรงมามากกว่า” ย่อมไม่ได้รับเอาทัศนะทางคณิตศาสตร์ของปิทากอรัสไปอย่างแน่นอน ในทัศนะของตะวันออกคณิตศาสตร์ซึ่งมีโครงสร้างซึ่งแตกแขนงออกไปมากมายและสื่อความหมายอย่างชัดเจนนั้น เป็นส่วนของแผนที่ซึ่งเกิดขึ้นจากความคิดมิใช่ภาพของตัวสัจจะเอง สัจจะในประสบการณ์ของนักปราชญ์ตะวันออกนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจวัดคำนวณเอาได้ ไม่อาจแบ่งแยกได้ วิธีการย่อสรุปในทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพ ทว่าเราต้องสูญเสียอะไรบางอย่างเป็นสิ่งทดแทน เมื่อเราจำกัดระบบความคิดของเราให้ชัดเจนเพียงไร เมื่อเราจัดให้มันประสานสอดคล้องกันอย่างมีระบบ ก็ยิ่งไกลออกไปจากโลกที่แท้จริงมากเพียงนั้น ย้อนมาดูข้อเปรียบเทียบเรื่องแผนที่และอาณาเขตของคอร์เยฟซกี เราอาจกล่าวได้ว่าภาษาสามัญเป็นแผนที่แผ่นหนึ่งซึ่งในขอบเขตแห่งความเที่ยงตรงของมัน มีความยืดหยุ่นแก่การอธิบายหรือคิดโค้งไปตามอาณาเขตจริง ๆ ได้พอสมควร แต่เมื่อเราทำให้มันเป็นระบบที่จริงจังมากขึ้น ความยืดหยุ่นค่อย ๆ หายไปทีละน้อยและด้วยภาษาของคณิตศาสตร์เราได้มาถึงจุดซึ่งการเชื่อมโยงกับความจริงมีอยู่เพียงบางเบาจนกระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างสัญลักษณ์และประสบการณ์ในการรับรู้ของเราไม่ปรากฏนี่คือเหตุผลที่เราจำต้องให้คำอธิบายด้วยภาษาธรรมแก่แบบจำลองทางคณิตศาสตร์และทฤษฎี แม้จะกำกวมและไม่ชัดเจนเท่าภาษาทางคณิตศาสตร์ก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะเข้าใจความแตกต่างระหว่างแบบจำลองทางคณิศาสตร์และความหมายในภาษาพูดของมัน แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เป็นภาษาที่มีโครงสร้างกระชับและแน่นอนมาก ทว่าสัญลักษณ์ในภาษาที่ใช้ไม่สัมพันธ์โดยตรงกับประสบการณ์ของเรา ในทางตรงกันข้าม ภาษาพูดซึ่งอธิบายแบบจำลองนั้น เป็นการใช้แนวคิดเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจโดยไม่ผ่านความคิดนึกในทางคณิตศาสตร์ แต่มักจะไม่ชัดเจนและค่อนข้างกำกวม ในแง่นี้ทั้งสองไม่ต่างไปจากแบบจำลองของความจริงทางปรัชญา และสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้เป็นอย่างดี หากว่ามีส่วนซึ่งเป็นญาณทัศน์ในวิทยาศาสตร์ ก็ย่อมมีส่วนที่เป็นเหตุผลในศาสนาตะวันออกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ระดับความสำคัญของเหตุผลและตรรกะก็ต่างกันออกไปในคำสอนของศาสนาต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในคัมภีร์พระเวทของฮินดู หรือคัมภีร์มัธยมิกะ (Madhyamika) ของพุทธมีคำสอนซึ่งเป็นเหตุเป็นผลอยู่มาก ในขณะที่เต๋าไม่ให้ความเชื่อถือต่อเหตุผลและตรรกะ เซนซึ่งแตกแขนงจากพุทธศาสนาโดยได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเต๋ากลับเน้นที่การ “ไร้คำพูด ไร้อรรถาธิบาย ไร้คำสอน ไร้ความรู้” เซนมุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่ประสบการณ์ของการรู้แจ้ง และให้ความสำคัญน้อยมากกับการอธิบายประสบการณ์ ดังกล่าว วลีของเซนซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีกล่าวว่า “ในขณะที่ท่านกล่าวถึงสิ่ง ๆ หนึ่ง ท่านก็พลาดจากสิ่งนั้นเสียแล้ว” แม้ว่าศาสนาตะวันออกอื่น ๆ จะไม่เน้นไปในด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจนก็ตาม แต่ตัวประสบการณ์โดยตรงยังเป็นแกนสำคัญของทุกศาสนา แม้แต่ศาสนิกที่มีความสนใจในการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างลึกซึ้ง ก็มิได้ยึดความนึกคิดเป็นแหล่งที่มาของความรู้ ทว่าใช้ความนึกคิดเพื่อวิเคราะห์และอธิบายประสบการณ์โดยตรงในการปฏิบัติศาสนธรรมของตน ความรู้ทั้งมวลตั้งอยู่บนประสบการณ์เช่นที่ว่านี้ ดังนั้นธรรมเนียมปฏิบัติของตะวันออกจึงมีลักษณะสำคัญอยู่ที่การเฝ้าสังเกต ซึ่งผู้สอนมักจะเน้นอยู่เสมอ ดังเช่นที่ ดี.ที. สีซึกิ เขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนาว่า ประสบการณ์ของบุคคลเป็น...รากฐานของพุทธปรัชญา ในแง่นี้พุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งการสังเกตและทดลอง เหตุผลต่าง ๆ เกิดขึ้นภายหลัง เพื่อหยั่งถึง ความหมายของประสบการณ์แห่งการรู้แจ้ง (8)

2.7  นอกเหนือจากประสาทสัมผัส
โจเซฟ นีดแฮมได้นำเอาทัศนคติแห่งการเฝ้าสังเกตของเต๋ามาเป็นจุดเด่นในงานเขียนของเขาชื่อ Science and Civilization in china เขาได้ค้นพบว่าทัศนคติเช่นนี้ได้ส่งให้เต๋าเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน นีดแฮมกล่าวเกี่ยวกับนักปรัชญาเต๋ารุ่นแรก ๆ ว่า เป็นผู้ที่ “ถอนตัวออกจากสังคม มุ่งสู่ถิ่นกันดาร ป่าเขา เพื่อภาวนาให้แจ้งต่อกฎของธรรมชาติและสรรพสิ่งอันหลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งปรากฏแสดงของธรรมชาติ” (9) จิตวิญญาณทำนองเดียวกันได้แสดงออกในวลีของเซน ผู้ที่อาจจะเข้าใจในความหมายของธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ คือผู้ที่เฝ้าสังเกต ฤดูกาลและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย (10) ฐานของความรู้ซึ่งตั้งอย่างมั่นคงอยู่บนประสบการณ์ในศาสนาตะวันออกสอดคล้องกับฐานแห่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่บนการทดลอง ความสอดคล้องนี้มีมากยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาธรรมชาติของประสบการณ์ในทางศาสนา ซึ่งได้รับการอธิบายในศาสนธรรมของตะวันออกว่าเป็นญาณทัศนะ ซึ่งเกิดขึ้นโดยตรง อยู่นอกขอบเขตของความคิดนึกและได้มาด้วยการเฝ้าดูมิใช่ด้วยการคิดคำนึง ได้มาด้วยการมองด้านในและการเฝ้าสังเกต ในลัทธิเต๋า ความคิดในเรื่องการเฝ้าสังเกตได้ปรากฏในชื่อของโบสถ์แห่งเต๋า กูอัน (Kuan) ซึ่งมีความหมายเดิมว่า “การดู” พวกเต๋าจึงถือเอาโบสถ์เป็นสถานที่แห่งการเฝ้าสังเกต ในธยาน ซึ่งเป็นชื่อเรียกนิกายเซนในจีน การรู้แจ้งมักจะถูกอธิบายว่า “การเห็นซึ่งเต๋า” และการเห็นถือเป็นฐานของความรู้ในพุทธศาสนาทุกนิกาย คำสอนของพระพุทธเจ้าในอริยมรรคมีองค์แปด มรรคองค์แรกคือ การเห็นชอบ ตามด้วยการรู้ชอบ ดี.ที. สีซึกิ เขียนเกี่ยวประเด็นนี้ว่า การเห็นเป็นสิ่งที่สำคัญที่ในญาณวิทยาของชาวพุทธ เพราะการเห็นเป็นพื้นฐาน ของการรู้ การรู้จะเป็นไปไม่ได้ถ้าปราศจากการเห็น ความรู้ทั้งมวลเริ่ม  จากการเห็น ดังนั้นการรู้และการเห็นจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในคำสอนของพระพุทธองค์  พุทธธรรมในขั้นปรมัตถ์จึงมุ่งสู่การเห็นสัจจะตามที่มันเป็น  การเห็น คือ การมีประสบการณ์ของการรู้แจ้ง (11) ข้อความข้างบนนี้คล้ายคลึงกับคำสอนของดอน ฮวน อาจารย์แห่งเผ่ายาคี ซึ่งกล่าวว่า “ความพึงพอใจของข้าอยู่ที่การเห็น...เพราะด้วยการเห็นเท่านั้นที่มนุษย์ผู้ทรงปัญญาจะรู้ได้” (12) มีข้อควรระวังที่จุดนี้คือ ไม่ควรถือการเน้นที่การเห็นในธรรมเนียมปฏิบัติของศาสนาตะวันออกนั้นอย่างเถรตรงเกินไป แต่ต้องเข้าใจในเชิงเปรียบเทียบเนื่องจากประสบการณ์ต่อสัจจะในทางศาสนาโดยเนื้อแท้มิใช่ประสบการณ์ของประสาทสัมผัส เมื่อปราชญ์ทางตะวันออกกล่าวถึงการเป็น หมายถึงขบวนการรับรู้ซึ่งอาจรวมการมองเห็น แต่โดยสาระแล้วมีความหมายเลยพ้นออกไปถึงประสบการณ์ต่อสัจจะที่นอกเหนือจากประสาทสัมผัส อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท่านเหล่านั้นมุ่งเน้นเมื่อกล่าวถึงการเห็น การดู หรือการสังเกต คือลักษณะการที่ได้ความรู้จากการสังเกต ท่าทีการแสวงหาความรู้จากการสังเกตเช่นนี้ของปรัชญาตะวันออกได้เตือนให้ระลึกถึงการมุ่งเน้นอยู่ที่การสังเกตในวิทยาศาสตร์ โดยที่เป็นประเด็นแห่งการศึกษาเปรียบเทียบของเรา ขั้นตอนการทดลองในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อาจเทียบได้กับการมองด้านในของศาสนาตะวันออก และแบบจำลองและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ก็อาจเทียบได้กับการอธิบายความหมายของญาณทัศนะ ซึ่งเกิดจากการมองนั้นในหลาย ๆ แบบ

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Re: เต๋าแห่งฟิสิกส์ : บทที่ 2 การรู้และการเห็น
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 16, 2010, 05:22:12 pm »
2.8  ความซับซ้อนที่คล้ายๆกัน 
ความคล้ายคลึงระหว่างการทดลองทางวิทยาศาสตร์และประสบการณ์ทางศาสนา ดูเป็นสิ่งน่าประหลาดเมื่อพิจารณาความแตกต่างของกระบวนการสังเกต ทดลองทั้งสองฝ่าย นักฟิสิกส์ทำการทดลองโดยมีผู้ร่วมงานซึ่งทำงานอย่างละเอียดลออและอาศัยเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมาก ในขณะที่ศาสนิกได้ความรู้จากการพิจารณาใคร่ครวญ โดยมิได้อาศัยเครื่องจักรใด ๆ ในช่วงเวลาแห่งการภาวนายิ่งไปกว่านั้น การทดลองทางวิทยาศาสตร์จะกระทำซ้ำและได้ผลอย่างเต็มได้ ณ เวลาใด หรือโดยบุคคลใดก็ตาม ในขณะที่ประสบการณ์ทางศาสนาที่ลึกซึ้งดูจะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่อาจเข้าใจถึงได้ และในโอกาสพิเศษเฉพาะเท่านั้น อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งลงไปก็จะพบว่า ข้อแตกต่างของการเฝ้าสังเกตสองแนวนั้น อยู่ที่วิธีการมากกว่าอยู่ที่ความเชื่อถือได้ หรือความซับซ้อนของมัน ใครก็ตามที่ต้องการทำการทดลองซ้ำและได้ผลเช่นเดิมนั้นในการทดลองทางฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม จะต้องผ่านการฝึกอบรมเป็นเวลาหลายปีผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถตั้งคำถามพิเศษเฉพาะแก่ธรรมชาติโดยผ่านทางการทดลองและสามารถเข้าใจคำตอบนั้นได้ โดยนัยเดียวกัน การจะได้ประสบการณ์ทางศาสนาที่ลึกซึ้ง ธรรมดาแล้วบุคคลนั้นจะต้องผ่านการฝึกฝนเป็นเวลาหลายปี โดยมีอาจารย์ที่ชำนาญคอยแนะนำให้ และเช่นเดียวกับการฝึกอบรมทางวิทยาศาสตร์ ระยะเวลาในการฝึกฝนมิได้เป็นสิ่งเดียวที่จะประกันความสำเร็จได้ หากว่านักศึกษาเหล่านั้นประสบผลสำเร็จ เขาก็สามารถที่จะทำการทดลองที่ให้ผลเช่นเดิมได้ การที่จะสามารถเข้าสู่ประสบการณ์ซึ่งได้บรรลุถึงแล้วได้อีกนั้น โดยเท็จจริงแล้วเป็นสิ่งจำเป็นของการฝึกฝนปฏิบัติธรรมทุกรูปแบบและเป็นเป้าหมายอันสำคัญของคำสอนในทุกศาสนา ดังนั้น ประสบการณ์ทางศาสนาจึงมิใช่สิ่งพิเศษเฉพาะมากกว่าการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ในทางตรงกันข้ามซับซ้อนไม่น้อยไปกว่ากัน แม้ว่าความซับซ้อนที่ปรากฏในรายละเอียดนั้นเป็นคนละชนิดกัน ความซับซ้อนและประสิทธิภาพของเครื่องมือทางเทคนิคของนักฟิสิกส์อาจเทียบกับความตระหนักรู้ในการปฏิบัติธรรมทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ ในขณะแห่งการภาวนาอันหยั่งลงอย่างลึกซึ้ง ดังนั้นทั้งนักวิทยาศาสตร์และผู้ปฏิบัติธรรม ได้พัฒนาวิธีการที่มีรายละเอียดซับซ้อนในการเฝ้าสังเกตธรรมชาติซึ่งมิใช่วิสัยของสามัญชนจะเข้าใจได้

2.9   ญาณทัศนะ 
โดยทั่ว ๆ ไป แม้ว่าประสบการณ์อันลึกซึ้งในทางศาสนาจะไม่ปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติธรรมที่มิได้ฝึกฝนมาอย่างเพียงพอก็ตาม ญาณทัศนะซึ่งเจาะตรงสู่ธรรมชาติของสรรพสิ่งก็เป็นที่ประจักษ์แก่ในเราได้ในชีวิตประจำวัน เราทุกคนคุ้นเคยกับสภาวะที่เราได้ลืมชื่อของบุคคล หรือสถานที่หรือคำพูดบางคำ และไม่อาจนึกถึงมันได้แม้จะใช้สมาธิมากที่สุดก็ตาม มัน “ติดอยู่แค่ริมฝีปากของเรา” แต่ก็นึกไม่ออก จนเราเลิกใส่ใจกับมันและหันไปสนใจสิ่งอื่น และทันทีทันใดนั้นในชั่วพริบตา เราก็จำชื่อซึ่งหลงลืมไปนั้นได้ ไม่มีความคิดร่วมอยู่ด้วยในกระบวนการนี้ หากเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ฉับพลัน ตัวอย่างของการระลึกได้อย่างฉับพลันเช่นนี้เป็นที่ประจักษ์ชัด โดยเฉพาะแก่พุทธศาสนา ซึ่งมีคำสอนว่าธรรมชาติเดิมของเราเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะ และเราได้หลงลืมมันไป นักศึกษาเซนจะได้รับ โกอัน (Koan) ว่า “หน้าตาดั้งเดิมของเธอเป็นอย่างไร” และการ “ระลึกได้” อย่างฉับพลันถึงหน้าตาดั้งเดิมนี้ ถือเป็นการรู้แจ้งของผู้นั้น อีกตัวอย่างหนึ่งของญาณทัศนะอันเกิดขึ้นและเป็นไปเอง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีก็คือเรื่องขำขัน ในวินาทีที่คุณเข้าใจเรื่องขำขันนั้น ๆ คุณได้ประสบกับขณะแห่งการรู้แจ้งเป็นที่ทราบกันดีว่าขณะแห่งเหตุการณ์เช่นนี้ต้องเกิดขึ้นเอง มิได้เกิดจากการ “อธิบาย” เรื่องขำขันเรื่องนั้น นั่นคือ มิได้เกิดจากการวิเคราะห์ด้วยคิด ด้วยความรู้ที่ผุดขึ้นในใจอย่างฉับพลันถึงแก่นของเรื่องขำขันเท่านั้น เราจึงจะหัวเราะได้อย่างเต็มที่ตามที่ความมุ่งหมายของเรื่องนั้นประสงค์ ความคล้ายคลึงระหว่างญาณทัศนะในทางจิตวิญญาณและความเข้าใจในเรื่องขำขัน ต้องเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้บรรลุธรรม เนื่องจากท่านเหล่านั้นส่วนมากแสดงอารมณ์ขันออกมาในลักษณะต่าง ๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเซนซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องตลกและเกร็ดขำขันต่าง ๆ และในคัมภีร์เต๋าเตอจิงกล่าวไว้ว่า “หากไม่ถูกหัวเราะเยาะนั้นก็มิใช่เต๋า” (13) ในชีวิตประจำวันของเรา ญาณทัศนะซึ่งเจาะตรงสู่ธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ นั้น โดยปกติจะเกิดขึ้นจำกัดอยู่ในระยะเวลาที่สั้นยาวนาน และในขั้นสัมบูรณ์จะกลายเป็นความหยั่งรู้อย่างต่อเนื่อง การตระเตรียมจิตใจให้พร้อมสำหรับการหยั่งรู้นี้ –การหยั่งรู้ในสัจจะโดยฉับพลัน ปราศจากความคิดปรุงแต่ง –เป็นวัตถุประสงค์สำคัญของทุกศาสนาและของแนวคำสอนอื่น ๆ ในตะวันออก ตลอดระยะเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของอินเดีย จีน และญี่ปุ่น ได้มีการพัฒนาเทคนิค พิธีกรรม และศิลปะในแบบต่าง ๆ เพื่อนำให้บุคคลบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเรียกรวมว่า การภาวนา ในความหมายที่กว้างที่สุดได้ จุดมุ่งหมายขั้นพื้นฐานของเทคนิคเหล่านี้ คือการทำให้ใจที่เต็มไปด้วยความนึกคิดเงียบสงบลง เปลี่ยนความตระหนักรู้จากฐานของเหตุผลมาเป็นฐานของญาณทัศน์ ในการทำใจให้สงบนั้น วิธีภาวนาหลาย ๆ แบบได้แนะนำให้จดจ่อความสนใจอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว เช่น ลมหายใจ เสียงสวดมนต์ หรือนิมิตของมณฑล (ในพวกธิเบต) ในการภาวนาแบบอื่น ๆ แนะให้ใส่ใจในการเคลื่อนไหวของร่างกายซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปเองโดยไม่ถูกความคิดรบกวน นี่คือ วิธี โยคะ ของฮินดู และไท้จิฉวน (T’ai Chi Ch’uan) ของเต๋า การเคลื่อนไหวเป็นจังหวะเช่นนี้นำไปสู่ความรู้สึกสงบและสติเช่นเดียวกับวิธีการภาวนาแบบแรกความรู้สึกเช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้ในการเล่นกีฬาบางชนิด เช่น การเล่นสกี เป็นต้น

2.10   ผู้แสวงหาเต๋าจะลดลง
ศิลปะของตะวันออกก็เช่นกัน เป็นศิลปะของการภาวนา ซึ่งมิใช่สื่อของการแสดงความคิดของศิลปินเท่านั้น แต่ยังมีความหมายมากกว่า คือเป็นวิถีทางแห่งการเข้าใจตนเองโดยผ่านการพัฒนาของญาณทัศนะ ดนตรีอินเดียไม่ได้เรียนกันด้วยการอ่านโน้ตคนตรีแต่โดยการฟังครูผู้สอนเล่นดนตรีซึ่งจะพัฒนาความรู้สึกในดนตรี เช่นเดียวกับไท้จีซึ่งไม่ได้สอนด้วยคำพูดแต่โดยการให้ฝึกร่วมกับครูซ้ำแล้วซ้ำอีกพิธีชงชาของญี่ปุ่นกอปรด้วยการเคลื่อนไหวที่แช่มช้าและเป็นพิธีกรรมมาก การเขียนตัวอักษรจีนต้องใช้มือที่เคลื่อนไหวอย่างไม่มีสิ่งยับยั้งและเป็นไปเอง ในตะวันออกความชำนิชำนาญเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาความรู้สึกตัวทั่วพร้อม สำหรับคนส่วนมากโดยเฉพาะนักคิด ปัญญาชน ความรู้สึกตัวเช่นนี้เป็นประสบการณ์ใหม่ซึ่งไม่เคยรับรู้มาก่อนเลย นักวิทยาศาสตร์คุ้นเคยกับความรู้แจ้งโดยตรงในภายในจากงานวิจัยของเขา เพราะว่าการค้นพบใหม่ ๆ ทุกอันเริ่มจากความรู้ที่แวบขึ้นมาในทันทีทันใด โดยปราศจากการคิดนึกมาก่อน ทว่าปรากฏการณ์เหล่านี้สั้นมาก และเกิดขึ้นเมื่อจิตใจเต็มไปด้วยข้อมูลและความคิด ตรงกันข้ามในการภาวนา จิตใจถูกทำให้ว่างจากความคิดทั้งมวล พร้อมสำหรับการรับรู้อันแจ่มชัดอย่างต่อเนื่องยาวนาน ข้อแตกต่างระหว่างการคิดค้นวิจัย และการภาวนาอาจเปรียบเทียบจากคำของเหลาจื้อว่า ผู้แสวงหาการเรียนรู้จะเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน ผู้แสวงหา เต๋า จะลดลงทุกวัน (14)

2.11  วิถีแห่งนักรบ
เมื่อความคิดนึกเงียบสงบลง ความรับรู้ก็ชัดเจนขึ้น การรับรู้สภาพแวดล้อมก็ตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องกรองของความคิดนึก ในคำของจางจื้อ “จิตที่สงบนิ่งของผู้รู้ คือกระจกเงาสะท้อนภาพของสวรรค์และโลก –กระจกสะท้อนสรรพสิ่ง” (15) การหยั่งรู้ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติรอบข้างเป็นลักษณะสำคัญของการภาวนาขั้นนี้ เป็นภาวะการรับรู้ที่การแบ่งแยกในรูปแบบต่าง ๆ ยุติลง และรับรู้ความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง ในการภาวนาขั้นลึก จิตตื่นตัวอย่างเต็มที่ นอกจากความรู้เข้าใจในสัจจะ ซึ่งมิใช่ความรับรู้ทางประสาทสัมผัสแล้ว จิตก็ยังรับรู้เสียง ภาพ และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ โดยปราศจากการวิเคราะห์วิจารณ์ ความตั้งใจตื่นตัวของจิตไม่สูญเสียไปภาวะความตระหนักรู้เช่นนั้นเป็นเช่นเดียวกับภาวะจิตใจของนักรบ ที่มุ่งจู่โจมศัตรูด้วยความตื่นตัวเต็มที่โดยไม่ให้ทุกสิ่งรอบข้างมาหันเหความสนใจไปได้ อาจารย์เซน ยาสึตานิ โรชิ (Yasutani Roshi) ใช้ภาพพจน์อันนี้ในการอธิบายชิกัน ทะซะ (Shikan-taza) การฝึกภาวนาแบบเซนว่า ชิกัน ทะซะเป็นสภาวะของสติขั้นสูง ในภาวะนั้นปราศจากความเครียดหรือเร่งรีบและไม่เกียจคร้าน เป็นจิตใจของผู้เผชิญหน้ากับความตาย ให้ลองนึกว่าเรากำลังอยู่ในการต่อสู้ระหว่างซามูไรสองคน ขณะที่ท่านเผชิญหน้ากับศัตรู ท่านต้องมีจิตใจจดจ่อมั่นคงและพร้อมอยู่ตลอดเวลา หากท่านผ่อนความระมัดระวังลงแม้เพียงแวบเดียว   ท่านก็อาจจะถูกฟันทันที ฝูงชนได้มามุงดูการต่อสู้ ในเมื่อท่านมิได้ตาบอด ท่านก็เห็นพวกเขาจากทางตาของท่าน ในเมื่อท่านหูไม่หนวก ท่านย่อมได้ยินเสียงของพวกเขา แต่ไม่มีแม้ขณะเดียวที่จิตใจของท่านถูกจับอยู่ด้วยสิ่งเหล่านี้ (16) เพราะความคล้ายคลึงของภาวะในการภาวนากับกรอบของจิตใจของเหล่านักรบ ภาพพจน์ของนักรบจึงมีบทบาทสำคัญในชีวิตทางจิตวิญญาณและทางวัฒนธรรมของตะวันออก คัมภีร์ภควัทคีตา ของอินเดียซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสงคราม ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในวัฒนธรรมและประเพณีของจีนและญี่ปุ่น อิทธิพลอันมากมายของเซนต่อวิถีชีวิตของซามูไรก่อให้เกิด บึชิโด “วิถีแห่งนักรบ” ศิลปะแห่งการใช้ดาบ ซึ่งญาณทัศนะของนักดาบได้บรรลุสมบูรณ์ถึงที่สุด ไท้จิฉวนของเต๋าซึ่งเป็นศิลปะการป้องกันตัวขั้นสุดยอดของจีน ได้โยงเอาการเคลื่อนไหวที่ช้าและเป็นจังหวะของโยคะเข้ากับความตื่นตัวเต็มที่แห่งจิตใจของนักรบได้อย่างประสิทธิภาพ

2.12   ข้อจำกัดของนิวตัน
ศาสนาตะวันออกมีพื้นฐานอยู่บนการเห็นแจ้งโดยตรงต่อสัจจะ ส่วนฟิสิกส์มีพื้นฐานอยู่บนการสังเกตปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในสาขาทั้งสองการสังเกตได้ถูกแปลความหมาย และความหมายนั้นถูกสื่อสารด้วยภาษาคำพูด ในเมื่อภาษาคำพูดเป็นแผนที่ซึ่งย่อสรุปสัจจะอย่างคร่าว ๆ ดังนั้น การแปลความหมายการทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือความเข้าใจภายในทางศาสนาออกเป็นภาษาคำพูดจึงเป็นสิ่งที่ไม่สมบูรณ์และไม่ละเอียดเพียงพออย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งฟิสิกส์สมัยใหม่ และศาสนาตะวันออกต่างตระหนักในความจริงข้อนี้เป็นอย่างดี ในฟิสิกส์ การอธิบายความหมายของการทดลองนั้นเรียกว่าแบบจำลอง (model) หรือทฤษฎี (Theory) และความเข้าในที่ว่าแบบจำลองและทฤษฎีทั้งหมดเป็นประมาณการ (approximation) นั้น ถือเป็นพื้นฐานของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นคำพังเพยของไอน์สไตน์ที่ว่า “ตราบเท่าที่กฎทางคณิตศาสตร์อ้างโยงถึงความจริง มันก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน และหากว่ามันเป็นสิ่งที่แน่นอนตายตัว มันก็ไม่อาจอ้างโยงถึงความจริงได้” นักฟิสิกส์รู้ว่าวิธีการวิเคราะห์และการใช้เหตุผลเชิงตรรกไม่อาจอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งหมดในทันทีได้ดังนั้นนักฟิสิกส์จึงเลือกเอาปรากฏการณ์เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และพยายามสร้างแบบจำลองขึ้นมาอธิบายปรากฏการณ์กลุ่มนั้น ในการกระทำดังกล่าว พวกเขาได้ละเลยปรากฏการณ์ส่วนอื่น แบบจำลองที่สร้างขึ้นจึงไม่อาจอธิบายถึงสภาพการณ์ทั้งหมดได้ อาจจะเนื่องจากปรากฏการณ์ส่วนที่มิได้นำมาศึกษานั้น ส่งผลน้อยมากจนกระทั่งว่าหากนำมารวมศึกษาด้วยก็จะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงทฤษฎีอย่างมีนัยสำคัญ หรือไม่เช่นนั้น ก็เพราะมันไม่เป็นที่ทราบกันในระยะเวลาที่มีการทฤษฎีสร้างขึ้น เพื่อให้เห็นประเด็นอย่างชัดเจน ลองดูแบบจำลองทางฟิสิกส์ที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดอันหนึ่ง ก็คือวิชากลศาสตร์สมัยเดิมของนิวตัน ผลของความต้านทานหรือแรงเสียดสีของอวกาศ มิได้ถูกนำมาเกี่ยวข้องในแบบจำลองนี้ เพราะโดยทั่ว ๆ ไปมันมีค่าน้อยมาก แต่ถึงแม้จะละเลยจุดนี้ไป กลศาสตร์แบบนิวตันก็ถูกถือว่าเป็นทฤษฎีสุดท้าย ที่จะอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งหมดมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก จนกระทั่งมีการค้นพบปรากฏการณ์ของไฟฟ้าและแม่เหล็กซึ่งไม่ปรากฏเลยในทฤษฎีของนิวตัน การค้นพบปรากฏการณ์เหล่านี้ ได้แสดงให้เห็นว่าแบบจำลองดังกล่าวไม่สมบูรณ์ และเราอาจประยุกต์ไปใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ได้เพียงบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของของแข็งเท่านั้น การศึกษาปรากฏการณ์ที่จำกัดอยู่บางกลุ่มอาจหมายความถึงการศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของมันในขอบเขตที่จำกัดอันหนึ่งเท่านั้นซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทฤษฎีเป็นเรื่องของการประมาณการประมาณนี้เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง เพราะเราไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าข้อจำกัดของทฤษฎีนั้นอยู่ตรงจุดใดเราต้องอาศัยประสบการณ์เท่านั้นจึงอาจจะบอกได้ ดังนั้นภาพพจน์ของกลศาสตร์สมัยเก่าจึงถึงเซาะทำลายมากขึ้นไปอีก   เมื่อฟิสิกส์ในศตวรรษที่ 20   ได้แสดงให้เห็นข้อจำกัดของมันในปัจจุบันเรารู้ว่าทฤษฎีของนิวตันใช้ได้สำหรับวัตถุซึ่งประกอบด้วยอะตอมจำนวนมาก ๆ และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่ต่ำเมื่อเทียบกับความเร็วของแสง หากไม่ตรงกับเงื่อนไขประการแรกกลศาสตร์ต้องถูกแทนที่ด้วยทฤษฎีควอนตัม (Quantum Theory) หากไม่ตรงกับเงื่อนไขประการที่สองต้องหันมาใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Relativity Theory) นี่มิได้หมายความว่าทฤษฎีนิวตันนั้น “ผิด”หรือว่าทฤษฎีควอนตันและทฤษฎีสัมพัทธภาพนั้น “ถูก” ทุกทฤษฎีต่างเป็นการประมาณซึ่งจะใช้ได้ในขอบเขตหนึ่งๆ ของปรากฏการณ์ หากเลยขอบเขตนั้นไป   มันก็ไม่อาจให้คำอธิบายที่น่าพอใจเกี่ยวธรรมชาติ จึงต้องหาทฤษฎีใหม่มาแทนทฤษฎีหรือขยายขอบเขตของทฤษฎีเก่าออกไป

2.13   เทพปรกรณัม
การที่จะชี้เฉพาะลงไปถึงข้อจำกัดของทฤษฎีหนึ่ง ๆ นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากหากเป็นงานที่สำคัญชิ้นหนึ่งในการสร้างทฤษฎีขึ้นมา จอฟฟรีย์ ชิว ผู้สร้างทฤษฎี “บูตแสตรป” ซึ่งจะเป็นเนื้อหาในการพิจารณาของเราในบทต่อไปนั้นได้กล่าวว่า เมื่อมีการสร้างแบบจำลองหรือทฤษฎีขึ้น เราจำเป็นจะต้องตั้งคำถามเสมอว่า เพราะเหตุใดมันจึงเป็นทฤษฎีที่ใช้การได้ อะไรเป็นข้อจำกัดของมันโดยแท้จริงมันเป็นการประมาณในลักษณะใด ชิวคิดว่าคำถามเหล่านี้เป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น ศาสนาตะวันออกตระหนักในความจริงที่ว่า คำอธิบายสัจจะทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงตรงและไม่สมบูรณ์ ประสบการณ์โดยตรงในการหยั่งรู้สัจจะไปพ้นขอบเขตของความคิดและภาษา และในเมื่อศาสนาทั้งมวลมีพื้นฐานอยู่บนประสบการณ์โดยตรงนี้ คำอธิบายในลักษณะต่าง ๆ เกี่ยวกับประสบการณ์นั้นจึงเป็นจริงเพียงบางส่วน ในวิชาฟิสิกส์ ลักษณะที่ทุกประโยคสามารถอธิบายความจริงที่ต้องการพูดถึงได้เพียงโดยประมาณเท่านั้น ถูกกำหนดเป็นจำนวนและความก้าวหน้าก็คือ การปรับปรุงลักษณะการประมาณอย่างเป็นขั้นตอนหลาย ๆ ขั้นตอนต่อเนื่องกัน ดังนั้น ในทำนองเดียวกัน ศาสนาตะวันออกจะจัดการอย่างไรกับปัญหาของการถ่ายทอดด้วยภาษาคำพูด แรกทีเดียวศาสนิกต่างมุ่งความสนใจส่วนใหญ่ไปที่ประสบการณ์ในการหยั่งรู้สัจจะมิใช่ที่คำอธิบายประสบการณ์ ดังนั้น โดยทั่วไปพวกเขาจึงไม่สนใจในการวิเคราะห์คำอธิบายนั้น ๆ และดังนั้น แนวคิดที่ชัดเจนจึงไม่ปรากฏมีในความคิดแบบตะวันออก ในทางตรงกันข้าม หากศาสนิกชาวตะวันออกต้องการจะถ่ายทอดประสบการณ์ของตน ก็จะต้องเผชิญกับข้อจำกัดของภาษา จึงได้มีการพัฒนาวิธีการหลาย ๆ อย่างเพื่อจัดการกับปัญหานี้ ศาสนาในอินเดียและโดยเฉพาะศาสนาฮินดู สร้างคำอธิบายในลักษณะของเทพปกรณัม โดยการใช้อุปมาอุปไมยและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ภาพพจน์ในเชิงกวีและนิทานต่าง ๆ ภาษาของเทพปกรณัมถูกจำกัดด้วยตรรกะและสามัญสำนึกน้อยกว่าภาษาสามัญ มันเต็มไปด้วยเรื่องราวปาฏิหาริย์และสิ่งที่ผกผันผิดธรรมดา ร่ำรวยด้วยภาพพจน์ และไม่เคยสื่อความหมายได้อย่างชัดเจน ดังนั้นจึงสามารถเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดการประจักษ์แจ้งในสัจจะได้ดีกว่าภาษาสามัญ สวามีอานันทะกุมารกล่าวว่า “เทพปกรณัมเป็นวิธีแสดงสัจจะที่ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่ภาษาจะอำนวยให้”(17) จินตนาการอันมั่งคั่งของชาวอินเดียได้ก่อกำเนิดแก่เทพและเทพีจำนวนมากซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับการจุติและการปราบยุคเข็ญของโลกของเทพเหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญ   ซึ่งถูกรวบรวมไว้ในมหากาพย์ต่าง ๆ ชาวฮินดู ซึ่งกอปรด้วยญาณทัศนะที่ลึกซึ้งทราบดีว่า เทพเหล่านี้ล้วนกำเนิดจากการสร้างสรรค์ของจิต ภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเทพปกรณัมเหล่านี้มุ่งแสดงสัจจะในลักษณะต่าง ๆ กัน ในอีกแง่หนึ่ง ชาวฮินดูมิได้สร้างเทพปกณัมเหล่านี้เพียงเพื่อให้เป็นเรื่องที่ดึงดูดความสนใจเท่านั้น แต่เป็นสื่อกลางที่จำเป็นในการแสดงหลักปรัชญาซึ่งมีรากฐานจากประสบการณ์ในทางจิตใจ ในจีนและญี่ปุ่น นักปฏิบัติธรรมใช้วิธีการที่แตกต่างออกไปในการแก้ปัญหาข้อจำกัดของภาษา แทนที่จะแสดงสัจจะ ซึ่งโดยธรรมชาติขัดกับความรู้สึกสามัญในรูปสัญลักษณ์และภาพต่าง ๆ ในเทพปกรณัมซึ่งรับได้ง่าย ท่านเหล่านั้นกลับมุ่งแต่แสดงสัจจะโดยใช้ภาษาแห่งข้อเท็จจริง ดังนั้น พวกเต๋าจึงใช้คำผกผันผิดธรรมดาบ่อยครั้ง เพื่อที่จะให้เห็นข้อจำกัดและความไม่อาจวางใจได้ในการใช้ภาษาคำพูดวิธีการเช่นนี้ได้ถูกถ่ายทอดไปยังพุทธศาสนาในจีนและญี่ปุ่น ซึ่งได้พัฒนาวิธีการขึ้นไปอีก จนถึงจุดสูงสุดในพุทธศาสนาแบบเซนในรูปโกอันปริศนาธรรม ซึ่งดูเหมือนเรื่องตลก แต่อาจารย์เซนหลาย ๆ ท่านได้ใช้มันในการถ่ายทอดคำสอนของตน โกอันเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะพิจารณากันต่อไป

2.14   เหนือจากภาษา
ในญี่ปุ่น ยังมีวิธีการอื่นอีกที่ใช้ในการแสดงทัศนะทางปรัชญา อาจารย์เซนนิยมใช้บทกวีซึ่งกระชับและมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวมาก ชี้ตรงไปที่ความเป็น “เช่นนั้นเอง” ( suchness) ของสัจจะ เมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งถามท่านฟิเกจิ เอนโช (Fuketsu Ensho) ว่า “ในเมื่อทั้งคำพูดและความเงียบต่างไม่น่าเชื่อถือ เราจะผ่านมันไปโดยไม่พลาดได้อย่างไร” อาจารย์เซนได้ตอบว่า ฉันจำเกียวชูในเดือนมีนาคมได้เสมอ เสียงร้องของนกกระทา มวลบุปผาชาติซึ่งส่งกลิ่นหอมฟุ้ง(18) บทกวีแห่งจิตวิญญาณนี้ได้ถึงจุดสมบูรณ์ใน ไฮขึบทกวีดั้งเดิมของญี่ปุ่น อันมีเพียงสิบเจ็ดพยางค์ ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเซน ญาณทัศนะที่หยั่งรู้ธรรมชาติแห่งชีวิตซึ่งแสดงออกในบทกวีไฮขึนี้ยังสามารถรู้สึกสัมผัสได้ แม้เมื่อได้รับการถ่ายทอดมาเป็นอีกภาษาหนึ่ง ใบไม้ร่วง กองทับถมกัน สายฝนกระหน่ำ (19)  เมื่อใดก็ตามที่นักปราชญ์ชาวตะวันออกแสดงความรู้ของตนออกมาเป็นภาษาพูด ไม่ว่าจะในรูปของเทพปกรณัม สัญลักษณ์ต่าง ๆ บทกวีหรือถ้อยคำผกผันผิดธรรมดาก็ตาม ท่านเหล่านั้นต่างตระหนักดีในข้อจำกัดของภาษาและความเชิงเส้นตรง ฟิสิกส์สมัยใหม่มีทัศนะเกือบจะเช่นเดียวกันในการใช้ภาษาพูดในแบบจำลองและทฤษฎี แบบจำลองและทฤษฎีก็เป็นสื่อที่แสดงออกของสิ่งที่ประสงค์ได้อย่างคร่าว ๆ และไม่ชัดเจน มันเป็นสื่อในแนวทางเดียวกับเทพปกรณัมสัญลักษณ์ และบทกวีต่าง ๆ และสิ่งที่ข้าพเจ้ามุ่งแสดงก็คือความคล้ายคลึงในระดับนี้ ตัวอย่างเช่น ความคิดอย่างเดียวกันในเรื่องวัตถุ ซึ่งชาวฮินดูแสดงออกในรูปการเริงรำของศิวะเทพ ในขณะที่นักฟิสิกส์แสดงออกในทฤษฎีสนามควอนตัมทั้งเทพและทฤษฎีทางฟิสิกส์ต่างเป็นสิ่งสร้างสรรค์ของจิต เป็นแบบจำลองที่จะอธิบายญาณทัศนะในสัจจะของแต่ละบุคคล
 
               
คัดลอกจาก ::
http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/tao%20of%20physics
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: เต๋าแห่งฟิสิกส์ : บทที่ 2 การรู้และการเห็น
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 19, 2010, 11:14:51 pm »
 :45: ขอบคุณครับพี่มด
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~