1. ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของ Phung Thi Le Ly Hayslip เด็กสาวชาวนาจากหมู่บ้านคีล่า ในตอนกลางของเวียตนาม ในยุคต้นทศวรรษที่ 1950 ซึ่งคีล่า ตกอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศสมา 70 ปี ในฐานะอาณานิคมแถบอินโดจีน ซึ่งผู้ปกครองชาวฝรั่งเศสมีที่มั่นอยู่ใน ไซ่ง่อน ฮานอย และ ปารีส ในขณะที่ในหมู่บ้านคีล่า ชีวิตยังคงดำเนินไปเหมือนเมื่อพันปีก่อน นับถือเทพบิดรแห่งสวรรค์ Ong Troi (องตรอย) และมารดาแห่งโลก พระแม่ธรณี Me dat (เมดัท) ตรงกลางระหว่างสวรรค์กับโลก Troi va Dat คือมนุษย์ผู้ดิ้นรนอยู่รอดและปฏิบัติตามคำสอนพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ความคิดเห็นที่ 98
แวะมาเพิ่มเติมบทวิจารณ๋ ส่วนตัวของผมเอง
ก่อนอื่นขอขอบคุณเพื่อนๆทุกท่านที่เข้ามาให้กำลังใจนะครับ กลัวเหมือนกันว่าฉายหนังdrama เชิงธรรมะ กึ่งๆหนังโหดแบบนี้จะไม่มีคนดู
สิ่งที่ผมชอบหนังเรื่องนี้มากคือ หนังมีข้อคิดเยอะมากที่ไม่ได้ยัดเยียดใส่ เพราะมันสร้างจากเรื่องจริง และเป็นเรื่องจริงที่ไม่ค่อยได้รับการสร้างเป็นหนัง คือเรื่องจริงจากมุมมองของชาวเวียดนามเอง ไม่ใช่จากมุมมองของฝรั่งในฮอลลีวู้ด
เนื้อหาหนึ่งในสี่ของเรื่องที่โพสเสร็จไป ผมขอเรียกว่า บทที่1 "เมื่อสวรรค์กับนรกเปลี่ยนที่กัน"
ส่วนตัวแล้วสิ่งที่ผมสัมผัสได้ในบทนี้คือ "อนิจจัง"ล้วนๆ
ในตอนต้นจะเห็นว่านางเอกรักหมู่บ้านของเธอมาก ผู้คนมีน้ำจิตน้ำใจใสซื่อตามประสาชาวบ้านชนบทอันสมถะ ปราศจากความโลภและการแก่งแย่งชิงดี จิตใจงดงามราวกับชาวฟ้าชาวสวรรค์
แต่แล้วสวรรค์บนดินของเธอก็เปลี่ยนไป ผ้าขาวเหล่านั้น ถูกรัฐบาลและเวียตกง แย่งกันย้อมสีด้วยคราบเลือดและสิ่งโสโครก จนเหล่าเทพบุตร นางฟ้าแปรเปลี่ยนกลายเป็นปีศาจเดินดิน
สิ่งโสโครกที่ใช้ย้อมผ้าขาวเหล่านั้นคือคำกล่าวอ้างถึง "ความถูกต้อง"นั่นเอง
ทำให้ผมนึกถึงคำสอนของท่านเจ้าคุณพุทธทาสภิกขุว่า
"คนเราทะเลาะกัน เข่นฆ่ากัน เพราะต่างฝ่ายต่างยึดว่าตัวเองถูก"
ใช่แล้ว มีสงครามและการทะเลาะเบาะแว้งที่ไหนบ้าง ที่รบกันทั้งที่รู้ว่าตัวเองผิด ทุกคนต่างคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกทั้งนั้นมันถึงจะฆ่ากันไง
เหมือนสถานการณ์บ้านเมืองเราที่เพิ่งผ่านไปและยังคุกรุ่นอยู่
บ่อยครั้งที่คำว่า "ความถูก ความผิด / ความดี ความชั่ว" ถูกใช้ในทางที่ผิด
บ่อยครั้งที่คนที่พูดถึง "ความถูก ความผิด / ความดี ความชั่ว" พูดไปด้วยกิเลส ไม่ได้พูดด้วยปัญญาและคุณธรรม
มีคนต้องหลั่งเลือดให้กับ "ความถูก ความผิด / ความดี ความชั่ว" มาเท่าไหร่แล้วบนประวัติศาสตร์โลกใบนี้
ผมจึงขออ้างคำของท่านเจ้าคุณพุทธทาสอีกครั้งว่า "เป้าหมายของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ แค่ทำดีละเว้นชั่ว ไม่ใช่แค่ทำบุญละเว้นบาป อันนั้นมันอ่อนไป เป็นแค่เปลือกการกระทำภายนอก แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือทำจิตให้บริสุทธิ์ หลุดจากความยึดติดทั้งความดีความชั่ว ( โอวาทปาฏิโมกข์ ) คือสันติ คือ นิพพานนั่นเอง"
( พระในสวนโมกข์เคยสอนผมว่า เคยดูบ้านทรายทองมั้ย พจมานเป็นคนดีมั้ย? แล้วทำไมพจมานมีบทร้องไห้มากที่สุดล่ะ? (เหมือนนางเอกเรื่องนี้) ความจริงที่เราเห็นในโลกก็เป็นอย่างนี้เสมอๆ
ความเป็นคนดี ไม่เพียงพอที่จะทำให้มนุษย์มีความสุข
แต่ต้องเป็นคนดีที่ไม่ยึดติดกับความดีความชั่ว
มีสติปัญญา พิจารณาอนิจจังจนยอมรับ จึงจะเข้มแข็ง ต้อนรับทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิตได้โดยสงบ ไม่ร้อนรุ่มเคียดแค้นเศร้าโศกน้อยอกน้อยใจ เวลาเจอความทุกข์
โอวาทปาฏิโมกข์ ( ทำดีละเว้นชั่ว ทำจิตบริสุทธิ์ให้พ้นจากความยึดติดทุกอย่าง) จึงเป็น เอกลักษณ์ของพุทธศาสนาที่ไม่เหมือนใคร คือไม่ใช่แค่ให้ทำความดีไม่ทำชั่ว แต่จิตใจต้องอยู่เหนือดีเหนือชั่ว ทำดีแล้วคนอื่นไม่เข้าใจคิดร้ายกับเราก็ต้องปลงวางใจได้ไม่นองน้ำตาเหมือนนางเอกหนังทั้งหลาย
[ โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าสอนพระอรหันต์ 1250 รูปในวันมาฆะ พระอรหันต์เหล่านั้นหมดกิเลสแล้ว ไม่มีอะไรให้ขัดเกลาแล้ว พระพุทธเจ้าจึงสอน character ของพุทธศาสนาให้ว่า เมื่อพวกเธอไปเผยแพร่ศาสนา ถ้าใครถามว่าศาสนาเราต่างจากลัทธิของเขาอย่างไร ให้ตอบได้เลยว่า ศาสนาเรามีเอกลักษณ์อย่างนี้ๆ ]
บทแรกของภาพยนตร์ได้ สะท้อนภาพสัจธรรมที่เคยได้ยินบ่อยๆว่า "สวรรค์นรกถูกกำหนดที่ใจคน" แต่คราวนี้ชัดเจนทั้งนามธรรม(จิตใจชาวบ้าน ที่กลายเป็นคุ้มคลั่ง ฆ่าแกงข่มขืนกันเป็นว่าเล่น) และรูปธรรม (สังคมหมู่บ้านที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด)
ขอไปแคปภาพต่อก่อนครับ โปรโมตไว้ก่อนว่ามี 4 บทจบ + 1 บทสรุปส่งท้าย
พรุ่งนี้จะมาต่อบทที่2 "เล่ห์ร้าย และ รักลวง ในเมืองหลวง"
บทที่ 3 "รักแท้ ความสุข และ ความหวัง"
บทที่ 4 " วิมานทลาย "
บทส่งท้าย "ความรู้แจ้ง"
จากคุณ : หล่อใสไร้รัก - [ 29 เม.ย. 52 21:38:27 ]